Skip to main content
sharethis

การสัมภาษณ์ 'สมชัย ศรีสุทธิยากร' ครั้งนี้เกิดขึ้นเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ‘ประชาไท’ สนทนากับเขาในฐานะกรรมการการเลือกตั้งที่กำลังจะหมดวาระตามผลของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ในฐานะอดีตองค์กรกลางและอดีตอาจารย์ด้านบริหารรัฐกิจ ไล่เรียงตั้งแต่การทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2559 จนถึงสถานการณ์การเมืองปัจจุบัน

เราอยากให้คุณอ่านสิ่งที่อยู่ระหว่างบรรทัดไปพร้อมๆ กัน มันอาจทำให้คุณเห็นว่านับตั้งแต่การทำประชามติเป็นต้นมา คณะรักษาความสงบแห่งชาติทำอะไรไปบ้างและกำลังจะทำอะไรกับการเลือกตั้งในอนาคต

อย่างไรก็ตาม สมชัยก็เหมือนจะตักเตือนอยู่ในทีว่า สิ่งที่ผู้มีอำนาจคาดหวังอาจไม่ได้เป็นไปอย่างที่หวัง เพราะ

“ฝ่ายการเมืองไม่ได้กินหญ้า ผมใช้ประโยคนี้นะ ...คุณไม่รู้จักนักการเมืองเพียงพอ”
 

“ไม่ถูกใจ” การทำประชามติ

“การจัดการออกเสียงประชามติรัฐธรรมนูญที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2559 ถูกใจผมหรือไม่ คำตอบคือไม่ถูกใจ หนึ่ง เวลาน้อยเกินไป เวลาออกเสียงประชามติ โดยหลักสากลประชาชนควรมีโอกาสถกเถียง ได้ข้อมูลอย่างเพียงพอ มีการฟังความเห็นจากสองฝ่ายอย่างเท่าเทียมกัน แล้วจึงค่อยตัดสินใจว่าจะเอาหรือไม่เอา และระยะเวลาดังกล่าวต้องนานเพียงพอ สองคือการสร้างความเท่าเทียมในการให้เหตุผลต่อสาธารณะไม่เพียงพอ

“ตั้งแต่เริ่มต้น ผมใช้คำว่า แม้แต่คำถามประชามติในส่วนคำถามพ่วงก็เป็นคำถามที่ไม่เป็นกลาง ที่บอกว่าในระยะเริ่มแรกการเลือกนายกรัฐมนตรีต้องเป็นการเลือกร่วมกันระหว่างสองฝ่าย ส.ว. และ ส.ส. คำถามแบบนี้ถูกตั้งโดย สนช. (สภานิติบัญญัติแห่งชาติ) ซึ่ง กกต. (คณะกรรมการการเลือกตั้ง) เป็นฝ่ายที่ต้องรับมาและดัดแปลงแก้ไขคำถามต่างๆ ไม่ได้เลย ตอนนั้นผมได้แสดงความเห็นต่อสาธารณะว่า ยาวไป ซับซ้อนเกินไป มีถ้อยคำที่เข้าใจยากหลายคำ แถมยังมีคำถามนำอย่าง เพื่อประสบผลสำเร็จในการปฏิรูปทางการเมืองจึงสมควร อะไรทำนองนี้ โดยหลักวิชาการหรือหลักการออกเสียงประชามติสากล ไม่ควรตั้งคำถามแบบนี้

“ผมไปดูของต่างประเทศหลายที่ แม้รัฐบาลจะขอให้ทำประชามติในประเด็นนี้ แต่ กกต. จะเป็นฝ่ายกลั่นกรองและสร้างคำถามที่เป็นกลางที่สุด อาจถึงขนาดว่านำคำถามดังกล่าวโยนกลับไปในกลุ่มประชาชนก่อนว่าคำถามแบบนี้ใช้ได้หรือไม่ ถ้าไม่ได้ ต้องปรับปรุงแก้ไขคำถามอย่างไร เพื่อให้ทุกฝ่ายเห็นว่าเป็นคำถามที่เป็นกลาง เพราะฉะนั้นการตั้งคำถามเริ่มต้นผมก็ว่าไม่ค่อยดีแล้ว”

ประชามติแบบให้ข้อมูลด้านเดียว

“ในกระบวนการจัดการดังกล่าว สิ่งที่เราคิดและออกแบบไว้กับสิ่งที่อนุมัติมีความแตกต่างกัน เป็นการอนุมัติภายใต้กรอบของรัฐบาล รัฐบาลเป็นคนบอกว่าโครงการต่างๆ ที่เราเสนอขึ้นไปทำได้หรือไม่ได้ ถ้าไม่ให้เงินก็จบ สิ่งที่เราคิดในตอนต้น เช่น เราต้องการให้เอกสารที่ไปถึงประชาชนมีน้ำหนักของกลุ่มที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยอย่างเท่าเทียมกัน ท้ายสุดก็ทำไม่ได้ กลายเป็นเอกสารซีกเดียว ซึ่งเป็นข้อสรุปของ กรธ. (คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ) เราอยากให้มีการจัดสรรงบประมาณสัก 100 ล้านบาท ให้แต่ละฝ่ายมีเงินของตัวเองคนละ 50 ล้านบาท ฝ่ายใดที่ประสงค์รณรงค์รับหรือไม่รับก็ให้จดทะเบียนมา เพื่อให้ข้อมูลแก่ประชาชนอย่างเท่าเทียมกัน ซึ่งก็ไม่ได้รับการเห็นชอบ

“หรือประเด็นการดีเบต ซึ่งเป็นสิ่งที่เราต้องการให้เกิดตั้งแต่เริ่มต้น แต่ก็เป็นธรรมชาติของการดีเบต ไม่ว่ายุคสมัยไหน ใครก็ตามที่อยู่ในสถานะได้เปรียบก็จะหลีกเลี่ยงการดีเบต ผมพยายามดึง กรธ. มาดีเบต กรธ. ไม่ยอม ขอพูดฝ่ายเดียว ซึ่งมันทำให้รู้สึกว่าการที่จะจัดให้เกิดผลดีทำได้ไม่ได้เต็มที่

“ขณะเดียวกัน สังคมก็จับจ้องมาที่ผมว่าผมสร้างกฎ กติกาต่างๆ เพื่อจำกัดฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ผมต้องบอกว่าไม่ใช่ สิ่งที่ กกต. ทำ เราสร้างกติกาขอไม่ให้ทำ 3 อย่าง หนึ่ง-ไม่ให้มีการเผยแพร่ข้อความที่เป็นเท็จ สอง-ไม่หยาบคาย ก้าวร้าว รุนแรง หรือเป็นเฮทสปีช และสาม-อย่าใช้ประชามติเพื่อปลุกระดมความวุ่นวายในบ้านเมือง เป็นหลักการใหญ่ที่ กกต. วางไว้ ดังนั้น ถ้าใครละเมิดกติกานี้ กกต. ก็ต้องเป็นฝ่ายเข้าไปจัดการ

“ยกตัวอย่างผมไปแจ้งความดำเนินคดีผู้ที่ใช้ถ้อยคำก้าวร้าว รุนแรง หยาบคาย ทำให้บรรยากาศการทำประชามติดูอ่อนโยนขึ้น หรือฝ่ายที่รณรงค์ไม่เห็นด้วยกับการออกเสียงประชามติ ต้องบอกว่าผมดำเนินการอย่างจำแนกแยกแยะ ถ้าเมื่อใดก็ตาม คุณนำเสนอสิ่งที่ถูกต้อง เป็นเหตุเป็นผล เป็นหลักวิชาการ ทำได้ และผมปกป้องด้วยซ้ำ อย่างกรณีที่ราชบุรี บ้านโป่ง แล้วโดนตำรวจจับ ผมก็เป็นคนบอกกับนักศึกษาเองว่าผมยินดีที่จะเป็นพยานในฝ่ายท่านว่าไม่ผิด”
 

“ประชามติเป็นแค่กระบวนการสร้างความชอบธรรมให้กับรัฐธรรมนูญ”

“ประชามติในประเด็นใหญ่ๆ เป็นเรื่องยาก เมื่อใดก็ตามที่คุณเอารัฐธรรมนูญทั้งฉบับให้ประชาชนรับหรือไม่รับ คำถามคือใครที่สามารถอ่านกฎหมายละเอียดขนาดนั้น การรับหรือไม่รับของประชาชนแทบไม่ได้มาจากเหตุผลที่ดูจากเนื้อหาสาระ แต่มาจากความรู้สึกว่าถ้ารับหรือไม่รับจะช่วยทำให้ประเทศไทยเดินหน้าไปอย่างไร เขาประเมินจากสถานการณ์ตรงนั้นมากกว่า มันกลายเป็นว่าการทำประชามติเป็นแค่กระบวนการสร้างความชอบธรรมให้กับรัฐธรรมนูญ ประชาชนรับและไม่รับอย่างงงๆ ไม่ได้รับจากการเข้าใจเนื้อหาอย่างถ่องแท้

“ถึงจะมีเวลาเป็นปี ผมก็ไม่เชื่อว่าประชาชนจะเข้าใจ มันไม่เหมือนกับการทำประชามติเรื่องเฉพาะ อย่างเรื่อง สกอตแลนด์จะออกจากอังกฤษหรือไม่ ทำให้คนมีโอกาสถกเถียงกันอย่างเต็มที่ เขามีเวลาเกือบ 2 ปีเต็มๆ ให้ประชาชนได้ถกเถียงกัน มีหัวข้อต่างๆ ที่ประชาชนตั้งประเด็นขึ้นมา รวมแล้วกว่า 40 หัวข้อที่อยู่ในเว็บไซต์ ในแต่ละหัวข้อก็จะมีคนเข้ามาถกเถียงกัน เห็นด้วย ไม่เห็นด้วย และลงลึกไปเรื่อยๆ ท้ายที่สุดก็ตกผลึกความคิด บรรยากาศก็ดี ท้ายสุด เมื่อทุกคนลงประชามติด้วยเหตุผล จบคือจบ ยอมรับเสียงส่วนใหญ่ ซึ่งตัวแบบนี้ควรนำมาใช้ในประเทศไทยและให้โอกาสสองฝ่ายเท่าเทียมกัน แต่เสียดายที่สิ่งที่ กกต. คิดและเสนอไปถูกปฏิเสธและถูกให้ทำภายใต้กรอบที่จำกัด”
 

“ฝ่ายการเมืองไม่ได้กินหญ้า”

อ่านข่าวประกอบ ออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ขยายกรอบเวลาในการดำเนินการทางธุรการของพรรคการเมือง

“(กรณีคำสั่ง คสช. ที่ 53/2560) มันไม่สามารถทำให้เกิดความเท่าเทียม ผมใช้ประโยคนี้ตั้งแต่เริ่มต้นนะ เพราะว่าพรรคใหญ่ พรรคที่อยู่มานาน มีสมาชิกเยอะ มี ส.ส. เก่ามากมาย ได้เปรียบโดยธรรมชาติ จะบอกว่าทุกพรรคต้องเท่าเทียมกันตั้งแต่เริ่มต้นคงเป็นไปได้ยาก การที่จะกำหนดให้ทุกพรรคเกิดความเท่าเทียมกัน โดยบอกว่าให้มีการรายงานตัว ยืนยันการเป็นสมาชิก มันก็เป็นกระบวนการอย่างหนึ่ง ถ้าคิดในเชิงที่ว่าเพื่อให้จำนวนสมาชิกนิ่ง เป็นสมาชิกที่แท้จริง มันก็เป็นวิธีการที่ชอบโดยหลักการเหตุผล

“แต่กรอบเวลาในการดำเนินการต้องมีความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติ ไม่ใช่ว่าทุกอย่างให้ทำให้เสร็จภายใน 1 เดือน ถ้าทำไม่เสร็จต้องโดนโละกันไปหมด อย่างนี้ดูเหมือนว่าออกคำสั่งเร่งรัดมากเกินไป แล้วท้ายที่สุดก็เป็นไปไม่ได้ มันจะเกิดแรงกระเพื่อมด้วยซ้ำ แบบที่หนึ่ง ถ้าพรรคการเมืองคิดว่าเอาสมาชิกเท่าที่จำเป็น เท่าที่กฎหมายกำหนด เขาก็ทำให้เป็นพิธีกรรม ให้มีสมาชิกเพียงพอตามกรอบของกฎหมาย มันไม่ได้ยากอะไร แต่อีกมุมหนึ่ง ถ้าพรรคการเมืองคิดสู้ คิดว่าเป็นจังหวะของการระดมสมาชิก ทำให้เกิดการเคลื่อนไหวทางการเมืองเพื่อให้เกิดความตื่นตัวในหมู่สมาชิก มันก็จะเกิดการกระเพื่อมครั้งใหญ่ ผมก็ไม่ทราบว่าเจตนาของการออกคำสั่งแบบนี้เพื่ออะไร

“ในกรณีนี้ ผมมองว่าถ้าทำก็ทำได้ แต่กรอบเวลาต้องยืดหยุ่นและเหมาะสม แล้วอะไรบางอย่างที่เป็นภาระมากเกินไปก็อย่าทำ เช่น จะต้องยืนยันตัวตนพร้อมหลักฐาน ประโยคว่า ‘พร้อมหลักฐาน’ จะเอาที่ไหน คุณสมบัติสิบแปดข้อยี่สิบข้อ หลักฐานว่าไม่เป็นโรคนั้นโรคนี้ ไม่ล้มละลาย อะไรทำนองนี้ คุณไปติดต่ออะไรสักอย่าง แค่ขอสำเนาบัตรประชาชนหรือสำเนาทะเบียนบ้านยังวุ่นวายเลย ผมใช้คำว่าควรทำให้ง่ายมากกว่าทำให้ยาก ถ้าทำให้ยาก สุดท้ายแล้วจะไม่มีใครทำ และจะทำเป็นเพียงแค่พิธีกรรม ก็ไม่ได้อะไร

“พรรคใหม่ใช่ว่าจะได้เปรียบ พรรคเก่าเองที่จัดระบบดีๆ ผมเชื่อว่าที่โวยวายตอนนี้เพื่อให้เห็นถึงปัญหาที่เกิดขึ้น แต่พอถึงเวลา ผมเชื่อว่าเขาทำได้ เวลาจะสั้นแค่ไหน ผมเชื่อว่าเขาทำได้ คุณไม่มีสิทธิ์ทำให้เขาเกิดความวุ่นวายหรือทำให้เขารู้สึกยุ่งยาก ถึงเวลานักการเมืองทำได้หมด ฉะนั้น อย่าไปคิดหรือหาวิธีการ ฝ่ายการเมืองไม่ได้กินหญ้า ผมใช้ประโยคนี้นะ

“คุณออกกฎหมายอะไรมาก็แล้วแต่ สร้างกรอบเวลา กรอบกติกาต่างๆ มันไม่ได้ยุ่งยากสำหรับฝ่ายการเมืองเลย ผมคุยกับนักการเมืองบางท่าน เขาบอกว่าเราไม่ห่วงเลย อีกสองสัปดาห์เลือกตั้ง เราก็พร้อม เราพร้อมตลอดเวลา ทุกวันนี้ทุกคนลงพื้นที่หมด ทุกคนเตรียมการเลือกตั้ง เขารู้หมด นี่คือภาพที่แท้จริงของการเมืองไทย ฝ่ายที่ออกกฎหมายเพื่อจะบังคับเรื่องนั้นเรื่องนี้ ผมใช้คำว่า คุณไม่รู้จักนักการเมืองเพียงพอ”

“ส่วนเรื่องการปลดล็อก ผมว่าควรต้องปลดล็อกตั้งแต่วันที่ 8 ตุลาคม 2560 แล้ว คือวันที่ พ.ร.ป.พรรคการเมืองมีผลใช้บังคับ เพราะโดยเจตนาของ กรธ. ที่บอกว่าจะร่างกฎหมาย 2 ฉบับก่อนคือ กกต. กับพรรคการเมือง ก็เพื่อให้ กกต. และพรรคการเมืองเตรียมการให้เกิดความพร้อม แต่ถ้าไม่ปลด ถามว่าพรรคการเมืองเดือดร้อนหรือไม่ ผมก็เชื่อว่าท้ายที่สุดคุณจะปลดเมื่อไหร่ไม่เป็นปัญหา คุณจะเหลือเวลาน้อยเท่าไหร่ก็ตามแต่ ผมยังเชื่อว่าอย่าไปประมาทนักการเมือง เขาทำได้หมด วันนี้ที่พรรคการเมืองส่งเสียงดังก็เพื่อให้เห็นความไม่ชอบธรรมของการดำเนินการของฝ่ายที่มีอำนาจ”

บัตรใบเดียวเลือกสองอย่าง

“ระบบเลือกตั้งของทุกประเทศไม่เหมือนกัน ต้องยอมรับจุดนี้ก่อน แล้วประเทศไหนเลือกแบบไหนก็ต้องมั่นใจว่าระบบนั้นดีต่อประเทศเขา แต่หลักการของการเลือกตั้งคือจะทำอย่างไรให้คะแนนของประชาชนสะท้อนเจตนารมณ์ของปวงชนอย่างแท้จริง ทำให้ผู้แทนเป็นผู้แทนของปวงชนอย่างแท้จริง ฉะนั้น ระบบที่ออกแบบมา เช่นระบบที่ผู้ชนะคนเดียวได้เป็นผู้แทน ที่เหลือจะมีคะแนนใกล้เคียงแค่ไหนก็สอบตกหมด วิธีที่ 2 คือก็ให้คนที่ได้ที่ 1 ได้เป็น ส.ส. เขต แต่คะแนนที่ 2 ที่ 3 ต้องเอามารวมกันทั้งประเทศเพื่อคำนวณรวมว่าสัดส่วนของ ส.ส. ของพรรคนั้นในประเทศควรมีเท่าไหร่ แล้วก็จัดสรรไปอย่างเหมาะสม ผมเห็นว่าเป็นวิธีการที่รับได้ ในเชิงตรรกะอาจจะดูดีกว่าระบบที่หนึ่งได้คนเดียวด้วยซ้ำ

“ทีนี้จะใช้บัตรใบเดียวหรือสองใบดี เดิมมีบัตรสองใบ ใบหนึ่งเป็น ส.ส.เขต อีกใบเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ จะมีคะแนนพรรคและคะแนนบุคคล ตอนนี้บอกว่าไม่ต้องทำแบบนั้น เอามารวมเป็นใบเดียว คะแนนเขตที่ 1 ก็ได้ไป คะแนนที่จะกำหนดว่าพรรคนั้นจะได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อเท่าไหร่ ก็ให้เอาคะแนนของพรรคนั้นจากทุกเขตมารวมกัน คำนวณเสร็จแล้วควรได้ ส.ส. เท่าไหร่ สมมติว่าควรได้ ส.ส. 250 คน แต่ได้ ส.ส.เขต ไปแล้ว 200 คน คุณก็ควรได้จากบัญชีรายชื่อแค่ 50 ซึ่งผมคิดว่าเป็นวิธีการคิดที่เป็นไปได้

“เพียงแต่สิ่งหนึ่งที่ประชาชนต้องคิดตลอดเวลาคือ เมื่อเขากาหนึ่งครั้งมันสะท้อนสองอย่าง ทั้งเลือกใครด้วยและเป็นคะแนนของพรรคด้วย สิ่งที่จะเป็นปัญหาต่อมาคือบัตรเลือกตั้งต้องมีสาระสองอย่างนี้อยู่ด้วยกัน นี่คือหัวใจสำคัญ ต้องมีหมายเลขผู้สมัครและชื่อหรือสัญลักษณ์ของพรรคด้วย

“ถ้าเราอยากเลือกพรรคพรรคหนึ่ง แต่เลือกคนอีกคนหนึ่ง ก็ทำไม่ได้แล้ว เพราะเขาเอาสิ่งที่อยู่ภายในบัตรใบเดียวมาคำนวณสองอย่าง คุณไม่สามารถเลือกทีละอย่างได้ ซึ่งก็เป็นวิธีการออกแบบ เราอย่าไปวิจารณ์ว่ามันดีหรือไม่ดี เขาก็บอกว่ามีบางประเทศที่ใช้ ผมถึงบอกว่าเราไม่สามารถไปบอกได้ว่าออกแบบอย่างไรดีที่สุด เพราะเมื่อประเทศใดเลือกแบบนั้นก็แปลว่ามันดีสำหรับประเทศเขา

“ถามว่าการซื้อเสียง การทุจริตจะลดลงไหม ตอบยากเหมือนกัน เพราะในกรณีแบบนี้ทุกคะแนนมีความหมายหมด พรรคต้องทุ่มเต็มที่ในทุกเขต จะบอกว่าเขตนี้ยังไงเราก็แพ้ เราทิ้ง ไม่ได้ ตอนนี้ถึงเขตนี้จะแพ้ ผู้สมัครของพรรคนั้นก็ไม่ถูกทิ้ง พรรคต้องช่วยหนุนให้เขามีคะแนนมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อเอาคะแนนไปนับในบัญชีรายชื่อ ซึ่งนี่อาจเป็นข้อดี ดังนั้น การแข่งขันอาจจะรุนแรงขึ้นก็เป็นได้ เพราะทุกคะแนนมีความหมายและพรรคทุกพรรคแม้จะได้คะแนนที่สองที่สามก็เอาหมด และหลายพรรคก็คิดว่าจะเอาคะแนนที่สองที่สามเหล่านี้มารวมกันแล้วท้ายสุดจะทำให้ตัวเองมีคะแนน ส.ส. บัญชีรายชื่อเพิ่มขึ้น”
 

การออกแบบหมายเลขผู้สมัครของ กรธ. ไม่มีใครได้ประโยชน์

“แต่ปัญหาคือ กรธ. ออกแบบหมายเลขของผู้สมัครของแต่ละพรรคให้แตกต่างกันไปในแต่ละเขต นี่คือความพิสดารที่เกิดขึ้น ซึ่งผมไม่เข้าใจสาเหตุว่ามีข้อดีอย่างไร สมมติว่าพรรคเพื่อไทยลงสมัครในกรุงเทพฯ ซึ่งมี 30 เขต เขตหนึ่งต้องไปจับฉลากทีหนึ่ง คุณได้เบอร์ 7 อีกเขตจับได้เบอร์ 12 เพราะฉะนั้น 30 เขตจะเบอร์ไม่ตรงกันเลย ทั้งประเทศมีทั้งหมด 350 เขต

“การออกแบบแบบนี้อาจารย์มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ. บอกว่า เพื่อให้คนสนใจตัวบุคคลมากขึ้นแทนที่จะสนใจพรรคอย่างเดียว แต่ผมถามว่าใครได้ประโยชน์ พรรคการเมืองได้ประโยชน์ไหม พรรคการเมืองก็เสียประโยชน์ เพราะแทนที่จะพิมพ์โปสเตอร์เบอร์เดียวทั้งประเทศ เขาต้องพิมพ์แต่ละเขตๆ คนละเบอร์ สมมติพรรคประชาธิปัตย์ คุณอภิสิทธิ์จะหาเสียงทางทีวี พรรคประชาธิปัตย์บอกหมายเลขไม่ได้

“ประชาชนได้ประโยชน์ไหม ประชาชนไม่ได้ประโยชน์ สับสนด้วยซ้ำ นั่งรถเมล์จากบ้านถึงที่ทำงานอาจจะผ่าน 5 เขต เบอร์ก็สับสนไปหมด จำกันลำบาก ตัวเองอยู่เขตนี้ ญาติอยู่อีกเขตหนึ่ง จะบอกให้ญาติเลือกก็ไม่รู้จะบอกยังไง ความสับสนเกิดขึ้น

“กกต. ได้ประโยชน์ไหม กกต. ก็ไม่ได้ประโยชน์ เพราะ กกต. ต้องพิมพ์บัตรที่แตกต่างกัน 350 แบบ เพราะในแต่ละเขต หมายเลขและพรรคไม่เหมือนกัน กกต. สามารถพิมพ์บัตรเหมือนกันทั้ง 350 เขตได้ โดยมีแค่หมายเลขอย่างเดียว แต่ถ้า กกต. ทำแบบนี้จะมีคนฟ้องว่า กกต. ทำผิดรัฐธรรมนูญ คือทำบัตรเลือกตั้งที่ไม่สะท้อนถึงสองสาระในบัตรใบเดียว การพิมพ์ 350 แบบ ถามว่าจะไปหาโรงพิมพ์ที่ไหนพิมพ์ ในเวลาอันจำกัดก็ต้องกระจายโรงพิมพ์ เมื่อกระจายโรงพิมพ์ถามว่าโอกาสรั่วไหล โอกาสถูกปลอมแปลงบัตร โอกาสที่จะถูกทุจริตต่างๆ เหล่านี้มีมากขึ้นไหม มีมากขึ้น”
 

พรรคใหญ่ยังได้เปรียบ

“โดยประสบการณ์ที่เรามาอยู่ตรงนี้ เราเห็นหลายๆ อย่าง ต้องบอกว่าคนเขียนกฎหมายอาจจะคาดการณ์อย่างหนึ่ง แต่ประสบการณ์ที่ผมมองมาทั้งหมด ท้ายสุดจะไม่ได้ผลตามที่คุณต้องการ เพราะกติกาที่ออกมาทั้งหมด พรรคใหญ่ได้เปรียบ ภายใต้กฎหมายพรรคการเมืองท้ายสุดจะไม่มีพรรคเล็กเหลือเลย แม้กฎหมายจะมีเจตนาไปในทางหนึ่ง แต่พอเขียนมามีหลักการอีกแบบหนึ่ง ผลที่ตามมาอาจเป็นสิ่งที่ตรงกันข้ามหรือสิ่งที่ไม่อยากจะให้เกิดขึ้น

“ยกตัวอย่างเช่นตอนนี้เรามี 69 พรรคการเมือง พอใช้กฎหมายพรรคการเมืองใหม่เข้ามาจับ หนึ่งพรรคต้องมีสมาชิก 500 คนขึ้นไป สอง ถ้าเป็นพรรคใหม่ 500 คนต้องมีส่วนร่วมในการก่อตั้ง ถ้าเป็นพรรคเก่าก็ต้องมีทุนประเดิม 1 ล้านบาท ต้องมีการจัดตั้งสาขาพรรคในภูมิภาค 4 ภูมิภาค ต้องมีการจัดตั้งตัวแทนจังหวัดในแต่ละจังหวัดจึงจะส่งผู้สมัครได้ ถ้าแต่ละจังหวัดมีไม่ถึง 100 คน ทำไพรมารี่โหวตไม่ได้ ก็ไม่สามารถส่งผู้สมัครได้ในจังหวัดนั้นๆ กติกาต่างๆ เหล่านี้ไม่ได้เอื้อต่อพรรคเล็ก จะมีพรรคเล็กกี่พรรคที่จะทำตามกติการเหล่านี้ได้ ผมบอกเลยว่าจะเหลือไม่เกิน 20 พรรค แล้วพอเลือกตั้งไปเรื่อยๆ ก็จะเหลือออกมา 10 พรรค ไม่เกินนั้น โดยการอยู่รอดของพรรคการเมืองในระยะเวลา 4 ปีจะเหลือแค่ประมาณ 10 พรรค ท้ายสุดมันเป็นเรื่องของพรรคใหญ่ที่จะเกิดความได้เปรียบ มีพรรคไหนบ้างที่จะสามารถส่งผู้สมัครได้ 350 เขต คือพรรคใหญ่ เพราะค่าสมัครเขตหนึ่ง 10,000 บาท 350 เขต 3.5 ล้านบาท

“กฎหมายทั้งหมด หลายคนอาจบอกว่าเอื้อพรรคเล็ก ทำให้เกิดการกระจายได้คะแนนบัญชีรายชื่อ แต่คะแนนบัญชีรายชื่อจะมากจากไหน ถ้าคุณไม่สามารถส่งผู้สมัครได้ครบ 350 เขต ท้ายสุดพรรคใหญ่ยังได้เปรียบเสมอ พรรคกลางก็ยังไม่มีปัญญาส่ง 350 เขต พรรคกลางภูมิใจไทย ชาติพัฒนา ไทยพัฒนา ทั้งสามพรรคนี้ หรือพรรคภูมิภาคทั้งหลายไม่ต้องพูดถึง เพราะเขาจะตีกรอบภายใต้พื้นที่ของเขาเอง เขาจะเน้นเพียงได้ ส.ส.เขตและบัญชีรายชื่อเล็กน้อยเท่านั้นเอง”
 

อยู่เฉยๆ ดีกว่า ไม่ช้ำ

“ผมไม่ปฏิเสธ ถ้าทหารที่เกษียณอยากจะเล่นการเมือง ก็มีสิทธิ์เข้าสู่กระบวนการทางการเมืองได้ แต่คนที่เป็นคณะรัฐมนตรีทุกคน ถ้าไม่ลาออกหลังจากรัฐธรรมนูญมีผลใช้บังคับ 6 เมษายน 2560 ภายใน 90 วัน คุณลง ส.ส. ไม่ได้ ลงเลือกตั้งไม่ได้ นี่คือกติกาในรัฐธรรมนูญ จะมีสิทธิ์ได้ต่อเมื่อการจัดตั้งรัฐบาลในสภาไม่สำเร็จ นั่นคือภายหลัง ณ วันนั้น เมื่อคุณตกลงกันในสภาไม่ได้ ก็อาจเป็นคนนอก ซึ่งจะเป็นใครก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นนายกฯ คนปัจจุบัน ก็ไปเชิญมาทำหน้าที่ นี่คือสองกรณี

“ตราบใดที่การเลือกตั้งเป็นไปโดยเท่าเทียม ไม่เกิดการนำทรัพยากรของรัฐไปใช้ประโยชน์ให้เกิดการได้เปรียบ เสียเปรียบ ไม่มีใครว่าคุณ ถ้านายกฯ และคณะรัฐมนตรีปัจจุบันประสงค์จะกลับมา แล้วนำทรัพยากรไปสนับสนุนพรรคใดเป็นพิเศษหรือทำให้เกิดความนิยมพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง เพื่อหวังผลว่าตัวเองจะได้กลับมาในอนาคต อันนี้ไม่ได้ ต้องดู ถ้าไม่ทำอย่าไปว่าเขา ถ้าทำก็ต้องช่วยกันดู ถ้าเป็นผมก็ต้องเตือน ต้องระมัดระวังอย่างยิ่งในการทำสิ่งต่างๆ กฎหมายเขียนชัดเจนว่าใครก็ตามที่ไม่ใช่สมาชิกพรรคแล้วมามีอิทธิพลเหนือพรรค ถือเป็นการกระทำผิด

“จะเป็นไปได้หรือไม่ที่จะมีพรรคการเมืองไหนเสนอชื่อนายกฯ คนปัจจุบันเป็นหนึ่งในสามตัวเลือก ผมว่าไม่ฉลาดจะทำให้พรรคการเมืองนั้นได้คะแนนเสียงกลับมาท่วมท้นหรือ? ถ้าได้ก็น่าทำ แต่ถ้าไม่ได้ แล้วกลายเป็นประเด็นขัดแย้งทางการเมืองที่หยิบมาโจมตีกัน ช้ำเปล่าๆ ชื่อที่ถูกเสนอขึ้นมาจะช้ำเปล่าๆ นอกจากจะช้ำแล้ว ถ้าพรรคดังกล่าวได้คะแนนน้อยมาก ยิ่งเป็นการประทับตราลงไปว่าประชาชนไม่สนับสนุน สู้ไม่ถูกเสนอชื่อ อยู่เฉยๆ นิ่งๆ วางตัวเป็นกลาง แล้วหลังจากนั้นฝ่ายการเมืองคุยกันไม่ลงตัว เกิดวิกฤต แล้วคุณเข้ามากอบกู้ดีกว่า ทุกอย่างขึ้นอยู่กับการคิดและตัดสินใจ ถ้ายอมให้พรรคการเมืองหนึ่งชูชื่อขึ้นมาเป็นนายกฯ ซึ่งทำได้พรรคเดียว หนึ่งคนถูกเสนอได้จากพรรคเดียว ท่านจะให้พรรคไหนเสนอ แล้วชื่อของท่านจะกลายเป็นประเด็นในการหาเสียง จะกลายเป็นวิกฤตรอบใหม่ เอาหรือไม่เอาคนนี้ ชื่อนั้นจะช้ำ ถ้าได้คะแนนน้อยจะยิ่งช้ำมาก”

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net