Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

ปัญหาใหญ่หรือเปล่า? เมื่อแบงก์พาณิชย์ไทยบางแห่งประกาศ ลดคน ลดสาขา ลงเพื่อลดต้นทุน ทั้งๆ ที่ตัวแบงก์เองยังมีผลประกอบการที่เป็นกำไรปีละเป็นหมื่นล้านบาทอยู่ ซึ่งก็แน่นอนว่า แม้เป็นการดำเนินการเชิงนโยบายภาพรวมแค่แบงก์สองแบงก์ แต่นี่ถือเป็นการเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงระบบการทำงานของแบงก์ไทยอีกหลายแบงก์ ซึ่งต่อไปน่าจะทยอยปรับลดพนักงานที่มีอยู่อย่างเหลือล้นลง ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมท่ามกลางโลกเทคโนโลยีการสื่อสารที่รุ่งเรืองถึงขั้นขีดสุด

พนักงานแบงก์จึงจะถูกประเมินความสามารถหรือประสิทธิภาพการทำงานเป็นรายหัวหรือรายบุคคลนับแต่นี้ ไม่รวมถึง การเตรียมโละทิ้งเฉยๆ แบบ “จ้างออก” ตามกฎหมายแรงงานของไทย

ทั้งๆ ที่หลายธนาคารของไทยมีหน่วยงานวิจัย แต่ก็ยังไม่เห็นงานวิจัยเกี่ยวกับพนักงานของธนาคารเองแบบชัดๆ เสียที  ผมคิดว่า ใครๆก็ย่อมทราบด้วยสัญชาตญาณและการคาดการณ์ว่า ด้วยเหตุที่แบงก์ทุกแบงก์ของไทยมีสาขาทั่งประเทศ พนักงานหรือลูกจ้างของแบงก์ก็ย่อมพลอยมีจำนวนมากไปด้วยเช่นกัน

และก็อย่างที่เห็นครับ หากเปรียบเทียบกับแบงก์ในประเทศที่พัฒนาแล้ว การทำงานพนักงานแบงก์ของไทยถือว่ามีมากเกินความจำเป็น ที่สำคัญที่สุดก็คือ ปัจจุบันธนาคารส่วนใหญ่ต่างนำเทคโนโลยีมาใช้แทนคนกันมากขึ้น 

นอกจากแบงก์ไทยจะมีปัญหาเรื่องบุคลากรหรือพนักงานล้นแบงก์แล้ว จนเกินความจำเป็นแล้ว ในอนาคตแบงก์ไทยจะมีปัญหาเรื่องการทำธุรกรรมที่ก่อให้เกิดรายได้หลักอีกด้วย บนฐานการเอาเปรียบลูกค้ามาเนิ่นนาน

นั่นก็คือ การมุ่งฟันค่าธรรมเนียมจากการทำธุรกรรมรายวันของลูกค้าแบบ “หากินง่ายๆ” โดยมีธนาคารแห่งประเทศไทยยืนดูอยู่เฉยๆ ไม่ทำอะไรทั้งสิ้น เช่น ค่าธรรมเนียมการถอนเงินจากตู้เอทีเอ็ม ค่าธรรมเนียมการโอนเงิน ข้ามแบงก์หรือข้ามเขต ค่าขอดูทรานสเซคชั่น ค่าทำบัตรเอทีเอ็ม ฯลฯ ซึ่งค่าธรรมเนียมเหล่านี้ แบงก์ทั้งหลายในยุโรปและอเมริกา เลิกเอาเปรียบชาวบ้านไปหมดแล้ว  ในอเมริกาลูกค้าต้องจ่ายค่าธรรมเนียม ก็ต่อเมื่อลูกค้าแบงก์ทำธุรกรรมข้ามแบงก์ ทุกอย่างแม้แต่การเปิดเชคกิ้ง แอคเค้าน์ ฟรี !!!

ทุนนิยมที่สมบูรณ์หมายถึงการแข่งขันที่สมบูรณ์ฉันใด ทุนนิยมในเมืองไทยที่คิดว่ามันสมบูรณ์ หากแท้จริง คือการฮั้วกันในบรรดานายทุนต่างหากหรือไม่? โปรดดูการทำงานของสมาคมธนาคารไทยที่ดีลกับแบงก์ชาติและกระทรวงการคลัง

ผลแห่งการดีล ก็ดังที่ทราบกันดีตลอดหลายปีที่ผ่านมา แบงก์ไทยสร้างผลกำไรสูงสุดจากค่าธรรมเนียม หาใช่การกำไรด้วยเหตุแห่งวาณิชธนกิจ (investment Banking) ก็หาไม่ นี่ถือว่าเป็นภาวะแห่งการเอาเปรียบลูกค้าที่เลวร้ายที่สุดในประเทศพัฒนาแล้ว อย่างเช่นกลุ่มประเทศ OECD เป็นต้น โดยแบงก์ชาติและรัฐบาลไทยได้แต่ยืนดูตาปริบๆ มิทราบว่าจะช่วยเหลือชาวบ้านอย่างไรได้บ้าง เป็นแบบนี้มาหลายยุคหลายสมัยแล้ว

ทั้งนี้อาจเป็นเพราะแบงก์ไทย ผ่านสมาคมธนาคารไทย เปรียบประดุจเงาของรัฐบาล แบงก์สนับสนุนรัฐบาลรัฐบาลอยู่ได้ เพราะแบงก์ทั้งโดยทางอ้อมและทางตรง

ที่น่าขบขันที่สุดที่ผมคุยกับชาวต่างชาติที่เป็นนักธุรกิจหรือผู้ลงทุน ซึ่งเป็นคำตอบว่า ทำไมแบงก์ไทยถึงล้มเหลวในการทำวาณิชธนกิจและฟันค่าธรรมเนียมอย่างโหดเหี้ยมโดยประการเดียว พวกเขาบอกว่าการวิเคราะห์สินเชื่อของแบงก์ไทยไร้มาตรฐานถึงขั้นเลวร้ายอยู่ 2 ส่วน

ส่วนแรก คือ การไม่ใช้หลักการหรือวิชาการวิเคราะห์สินเชื่ออย่างมีมาตรฐาน หากแต่ใช้ระบบเส้นสายและระบบอุปถัมภ์ในการปล่อยสินเชื่อ ส่วนแรกนี้ระบบธนาคารไทยทำมาอย่างเป็นวัฒนธรรมหลายปีมาแล้ว ถ้าคุณไม่ใช่ซัมบอดี้ หรือเป็นพรรคพวกของเจ้าหน้าที่วิเคราะห์ฯ หรือผู้จัดการสาขา พวกวิเคราะห์สินเชื่อจะไม่เชื่อเครดิตของคุณและย่อมแน่นอนว่าคุณจะไม่ได้รับอนุมัติสินเชื่อ ประเด็นแรกนี้ เป็นสาเหตุที่ทำให้แบงก์และสถาบันการเงินของไทยประเภทอื่นๆ ของไทยประสบความวิบัติในยุคสมัยตุ้มยำกุ้งช่วงปี 2540 ตามที่เห็นๆ กัน

ส่วนที่สอง คือ การไม่มีความรู้และไม่มีทักษะในการวิเคราะห์สินเชื่อของเจ้าหน้าที่แบงก์  เช่น ไม่รู้แบบลึกๆ ว่า ธุรกิจอีคอมเมิร์ซ หรือสตาร์ทอัพ คืออะไร เขาทำอะไรกันบ้าง พูดง่ายๆ คือเจ้าหน้าที่วิเคราะห์สินเชื่อขาดความรู้เกี่ยวกับธุรกิจนวัตกรรม (Innovative Business)  ซึ่งหากไปดูการทำงานของซอฟท์แบงก์ออฟเจแปน จะเห็นเลยว่า การวิเคราะห์สินเชื่อของแบงก์ญี่ปุ่นกับแบงก์ไทยนั้นต่างกันลิบลับ และด้วยเหตุนี้ สตาร์ทอัพ หรือธุรกิจนวัตกรรมของไทยจึงเกิดขึ้นไม่ได้ ทั้งๆ ที่ คนไทยหรือนักธุรกิจไทยไม่ใช่คนที่ไม่มีความคิดสร้างสรรค์

ทั้งๆ ที่หากมองในส่วนของธุรกิจสตาร์ทอัพแล้ว ธุรกิจประเภทนี้ไม่ได้ต้องการลงทุนมากมายอะไรเลย เพราะใช้คนหรือแรงงานน้อยมาก แต่ในเมื่อเจ้าหน้าที่วิเคราะห์สินเชื่อและกฎเกณฑ์ของธนาคารในการอนุมัติสินเชื่อมีปัญหา เช่น การถามหาผลสำเร็จของธุรกิจใหม่ (โถ... ถ้าเป็นธุรกิจที่เคยมีผู้ทำมาก่อนจะเรียกว่า สตาร์ทอัพหรือนวัตกรรมได้อย่างไรเล่า แบงก์ต้องวิเคราะห์จนเชื่อว่า ธุรกิจสตาร์ทอัพมีทางที่จะประสบผลสำเร็จ ไม่ใช่เชื่อว่า ไม่เคยมีผู้ทำธุรกิจนี้มาก่อน มันจะต้องไปไม่ไหวแน่...) เรื่องนี้ทำให้นโยบายของรัฐบาลผ่านธนาคารเอสเอ็มอี กลายเป็น “ดีแต่พูด”เท่านั้น เพราะเจ้าหน้าที่วิเคราะห์สินเชื่อของแบงก์รัฐแห่งนี้ ไม่มีความรู้เรื่องสตาร์ทอัพและนวัตกรรม 4.0 เอาเลย

ขอท้าให้กลับไปดูเลยครับว่า โครงการลงทุนสตาร์ทอัพเชิงนวัตกรรมกี่โครงการที่ได้รับการอนุมัติสินเชื่อจากแบงก์เอสเอ็มอีหรือบรรษัทสินเชื่อขนาดย่อมของรัฐบาลไทย โดยที่สามารถอนุมานได้เลยว่า โครงการที่อนุมัตินั้น นอกจากเจ้าของโครงการมีเงินทุนหนักอยู่แล้ว ชื่อเจ้าของโครงการย่อมเป็นที่รู้จักกันเป็นอย่างดีในสังคมไทยในระดับหนึ่งในฐานะเครือข่ายระบบอุปถัมภ์

ความย้อนแย้งการปล่อยกู้ของแบงก์เอสเอ็มอีของรัฐไทย ที่แปลกประหลาดอย่างมาก ที่ผมอยากฝากไปถึงรองนายกฯ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ก็คือ คนคุมนโยบายและเจ้าหน้าที่แบงก์รัฐแห่งนี้ ต้องเข้าใจลักษณะเฉพาะของธุรกิจสตาร์ทอัพ หรือตัวนวัตกรรมว่า มันคือธุรกิจที่สามารถทำในบ้านหรือในโรงรถได้ ในอเมริกาธุรกิจประเภทนี้กำเนิดมาจากโรงรถแทบทั้งสิ้น มันไม่ใช่แบบแผนของการยื่นกู้ขอสินเชื่อเพื่อสร้างโรงงานฯ ในยุค 3.0

และถ้าเป็นไปได้ช่วยกลับไปดูระบบการทำงานของซอฟท์แบงก์ออฟเจแปนว่าเขาวิเคราะห์สินเชื่อธุรกิจสตาร์ทอัพในฐานะนวัตกรรมกันอย่างไร แจ๊ค หม่า เป็นใคร มาจากไหน? ขืนเอสเอ็มอีวิเคราะห์สินเชื่อแบบโครงการในแบบฉบับการสร้างโรงงานอุตสากรรมแบบเดิมๆ ความล้าหลัง สิ่งตรงข้ามกับนวัตกรรมย่อมเกิดขึ้นอย่างเลี่ยงไม่ได้แน่นอนเท่ากับนโยบายของรัฐบาลในการพัฒนาและส่งเสริมนวัตกรรมล้มเหลวชัดๆ

การรีเชฟ (reshape) ของแบงก์ไทยคราวนี้ ยังไม่รวมเรื่องน่าสยองในสังคมไทยที่จะตามมาระลอกใหญ่ครับ นั่นคือ จำนวนของคนตกงานในสังคมไทยที่จะเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะบัณฑิตจบใหม่ซึ่งปกติไหลเข้าไปอยู่ในธุรกิจแบงก์จำนวนไม่น้อยแต่ละปี พวกเขาจะไปทำงานที่ไหน ใครจะแบ่งเบาภาระพ่อแม่ได้ทันท่วงที ?

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net