Skip to main content
sharethis

'สมชัย ศรีสุทธิยากร' โพสต์เฟสบุ๊คชี้ร่างกฎหมายเลือกตั้ง ส.ส.ที่ให้มีมหรสพในการหาเสียง ทำประเทศไทยถอยหลังไป 43 ปี ระบุพรรคใหญ่ได้เปรียบ

 
28 ม.ค. 2561 นายสมชัย ศรีสุทธิยากร คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)โพสต์เฟสบุ๊คกรณี สนช.ผ่านกฎหมายเลือกตั้ง ส.ส. ให้มีมหรสพในการหาเสียงว่าการให้มีมหรสพในการเลือกตั้งทำประเทศไทยถอยหลังแค่ 43 ปี การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 4 เม.ย. 2519 เป็นการเลือกตั้งครั้งสุดท้ายที่กฎหมายยอมให้ผู้สมัครและพรรคการเมืองสามารถใช้มหรสพในการหาเสียงได้ หลังจากนั้นนับตั้งแต่การเลือกตั้งวันที่ 22 เม.ย 2522 ก็มีการแก้ไขกฎหมายมิให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งใช้มหรสพในการหาเสียง และใช้บังคับตลอดมาจนถึงการพิจารณาของ สนช.เมื่อวันที่ 25 ม.ค.ที่ผ่านมา ที่ได้ตัดข้อความบังคับดังกล่าวออกไป หากการเลือกตั้งครั้งต่อไปเกิดขึ้นในต้นปี 2562 นั่นหมายความว่าเรากำลังกลับไปใช้กฎหมายที่ย้อนยุคไปถึง 43 ปี
 
นายสมชัย ระบุว่าส่วนเหตุผลหลักของการไม่ควรมีมหรสพในการหาเสียง น่าจะอยู่ที่ต้องการให้การหาเสียงของนักการเมืองเน้นในเรื่องการนำเสนอข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในการตัดสินใจของประชาชนในการเลือกตั้ง  เช่นได้สนใจนโยบายพรรคการเมือง  สนใจรายละเอียดของผู้สมัครว่ามีประวัติความเป็นมา มีแนวคิด อุดมการณ์  มีความสามารถในการสื่อสาร  มีความมุ่งมั่นตั้งใจ ไปจนถึงบุคลิกภาพที่เหมาะสมที่จะทำหน้าที่เป็นตัวแทนของปวงชนในสภาอันทรงเกียรติ  ให้ผู้สมัครและพรรคการเมืองพัฒนาการหาเสียงให้มีคุณภาพเป็นที่สนใจของประชาชนจากเนื้อหา มิใช่การนำสิ่งจูงใจที่เป็นเปลือก เช่นการจัดมหรสพมาใช้เพื่อดึงดูดคนมาฟังปราศรัยเท่านั้น 
 
นายสมชัย ระบุว่าขณะที่เหตุผลที่ลึกซึ้งขึ้น คือในการจัดมหรสพนั้น มีความได้เปรียบเสียเปรียบยิ่งระหว่างพรรคการเมืองขนาดใหญ่กับพรรคการเมืองขนาดเล็กหรือบางยุคอาจเป็นเพียงผู้สมัครอิสระ เนื่องจากพรรคใหญ่จะมีทุนในการจัดการมากกว่า หรืออาจมีความเกี่ยวพันกับธุรกิจบันเทิงทั้งในลักษณะการเป็นเจ้าของ หรือการทำธุรกิจร่วมมากกว่าพรรคเล็ก หรือพรรคที่มีฐานะเป็นรัฐบาลก็สามารถใช้ความได้เปรียบในการรัฐบาลใช้งบประมาณของหน่วยราชการที่มีจำนวนมหาศาลว่าจ้างดารานักร้อง มหรสพ เพื่อประชาสัมพันธ์งานในกิจการรัฐ ดังนั้นการไหว้วาน ขอร้อง หรือบังคับในธุรกิจบันเทิงเหล่านี้ให้มีหน้าหนึ่งในการรับงบประมาณของรัฐเพื่อประชาสัมพันธ์งานราชการ และอีกหน้าหนึ่งก็มาสนับสนุนการหาเสียงของพรรครัฐบาล จึงเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ และก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการเลือกตั้ง
 
"ผมเชื่อว่า การตัดสินใจของ สนช.คงมีเหตุผล อยากให้การเลือกตั้งครื้นเครง คึกคัก ให้ประชาชนมาสนใจการปราศรัยหาเสียงของนักการเมืองและพรรคการเมือง แม้จะกำหนดกรอบวงเงินที่เท่ากัน แต่คงยากในการกำกับดูแลของกกต.ชุดใหม่ให้เกิดความสุจริตเที่ยงธรรม  และเชื่อว่าคงเป็นการตัดสินใจเองของ สนช. มิได้มีใบสั่งจากใคร เพราะหากมีใครก็ตามที่สั่งเรื่องนี้ หรือ กุนซือคนใดที่แนะนำในเรื่องนี้ โดยคิดว่า พรรคที่เขาจะสนับสนุนจะได้เปรียบในการหาเสียง  พอถึงเวลานั้นจริง จะรู้ว่าตัวเองโง่มากที่ไปยื่นเครื่องมือที่ทรงประสิทธิภาพให้กับพรรคการเมืองใหญ่ที่มีทั้งทุนและความสัมพันธ์กับธุรกิจบันเทิง และยังสามารถใช้เครื่องมือดังกล่าวอย่างถูกกฎหมายเพื่อผลการเลือกตั้งที่ตื่นตาตื่นใจได้" นายสมชัยระบุ
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net