ความคล้ายของ คสช. กับระบบของพรรคในสังคมนิยม

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

ในระบบสังคมนิยมจะมีคณะกรรมการกรมการเมืองศูนย์กลางพรรค ของพรรคประชาชนปฎิวัติลาว เมื่อพิจารณาดูแล้วมีความละม้ายคล้ายคลึงกับรัฐธรรมนูญแห่ง สปป.ลาว อยู่หลายประการ ทั้งนี้เพราะการที่หัวหน้า คสช.กับนายกฯ และเป็นคนๆ เดียวกัน (แต่เดิมมีตำแหน่ง ผบ.ทบ. ด้วย)

จึงไม่แปลกช่วงที่ผ่านมาจึงมีการแชร์ข่าวเรื่องการที่นายกและ ครม.บางคนรับเงินหลายทาง เพราะมีตำแหน่ง คสช. ด้วย

แต่เรื่องที่เขียนนี้เป็นเรื่อง "อำนาจ" ที่ผูกขาด

ผมเคยเขียนหนังสือ เรื่อง "สถาบันการเมืองลาว" กับคณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ เลยคิดถึงโฉมหน้าของโครงสร้างอำนาจทางการเมืองของประเทศลาว ในระบบสังคมนิยม ซึ่งตำแหน่งก็มักจะซ้ำซ้อนอยู่ในคนๆ เดียวกัน

ซึ่งเป็นระบบที่พัฒนาและเติบโตสั่งสมบ่มเพาะจนสุกงอมจากพรรคคอมมิวนิสต์ในเวียดนาม

และเมื่อดูในรายละเอียดซึ่งจะเจตนาหรือบังเอิญก็ไม่อาจทราบได้ เมื่อศูนย์กลางอำนาจของสถาบันการเมืองไทยละม้ายคล้ายคลึงกับสถาบันการเมืองลาวซึ่งเป็นการปกครองแบบสังคมนิยมค่อนข้างมาก

เบื้องต้นจะขอเล่าเรื่องศูนย์กลางอำนาจลาวให้ฟังก่อน โดยประเทศลาว หรือ สปป.ลาว ปกครองโดยหลักการนำพาประเทศ ด้วยพรรคประชาชนปฏิวัติลาว โดยรัฐธรรมนูญลาวได้กำหนดว่าให้พรรคประชาชนปฏิวัติลาวเป็นผู้ชี้นำ นำพา ซึ่งพรรคจะเป็นผู้กำหนดแนวทาง นโยบาย และแต่งตั้งบุคคลของพรรคไปบริหารในนามรัฐบาลโดยมีการรวมศูนย์อำนาจการปกครองอยู่ที่พรรคประชาชนปฏิวัติ ซึ่งผู้มีอำนาจสูงสุดของพรรคประชาชนปฎิวัติคือ คณะกรรมการกรมการเมืองศูนย์กลางพรรค

และแม้รัฐธรรมนูญของประเทศลาวจะกำหนดให้มีการแยกองค์กรนิติบัญญัติ คือ สภาแห่งชาติ ฝ่ายบริหาร คือรัฐบาล และฝ่ายตุลาการ คือศาลประชาชน ออกจากกัน แต่รัฐธรรมนูญ และกฎหมายต่างๆ ก็ให้อำนาจพรรคประชาชนปฏิวัติลาวเป็นผู้กำหนดนโยบาย รวมถึงการแต่งตั้งตำแหน่งสำคัญๆ ของรัฐบาลก็จะเป็นบุคคลกลุ่มเดียวกับคณะกรรมการกรมการเมืองศูนย์กลางพรรคทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นประธานประเทศ ก็เป็นเลขาธิการใหญ่ นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีกระทรวงต่างๆ ก็มักจะมีตำแหน่งในคณะกรรมการกรมการเมืองศูนย์กลางพรรคประชาชนปฎิวัติด้วย

นอกจากนั้นตำแหน่งสำคัญไม่ว่าจะเป็นประธานศาลประชาชนสูงสุด และอัยการประชาชนสูงสุดก็มาจากการแต่งตั้งของประธานประเทศ ส่วนผู้พิพากษาและอัยการก็มาจากการแต่งตั้งของคณะประจำสภาแห่งชาติ ซึ่งคณะประจำสภาเป็นตัวแทนของฝ่ายนิติบัญญัติที่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ประจำ ณ สภาแห่งชาติ ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญลาว มาตรา 5 ที่กำหนดให้ดำเนินการตามหลักการประชาธิปไตยแบบรวมศูนย์ (Centralization)

กล่าวโดยสรุป สปป.ลาว มีพรรคประชาชนปฏิวัติลาวเป็นพรรคที่ยึดกุมอำนาจ เพียงแต่การปฏิบัติงานได้มีการ "แบ่งงาน" ออกเป็นฝ่ายนิติบัญญัติ (the legislative) บริหาร (the executive) และตุลาการ (the judiciary) แต่ยังไม่มีการ "แบ่งอำนาจ" โดยสภาแห่งชาติซึ่งนอกจากทำหน้าที่ด้านนิติบัญญัติแล้ว สภาแห่งชาติยังมีอำนาจแต่งตั้งฝ่ายบริหาร กับฝ่ายตุลาการอีกด้วย เช่นนี้ จึงเห็นได้ว่าระบบการปกครองของ สปป.ลาว จึงยังมิได้มีการแยกอำนาจเป็นอิสระต่อกันเพื่อให้เกิดการตรวจสอบและถ่วงดุลแต่อย่างใด ทั้งนี้ เพราะระบบการปกครองของ สปป.ลาว ยังเป็นระบบสังคมนิยมอยู่นั่นเอง

ครั้นเมื่อพิจารณาในส่วนของประเทศไทยก็จะเห็นได้ว่า คสช. คือผู้มีอำนาจสูงสุดผู้กำอำนาจ คล้ายๆ กับคณะกรรมการกรมการเมืองศูนย์กลางพรรคประชาชนปฎิวัติลาว และหัวหน้า คสช. ก็ได้รับตำแหน่งที่สำคัญคือนายกรัฐมนตรี คนใน คสช. เองก็ได้รับตำแหน่งสำคัญๆ ในรัฐบาล(ทำให้ได้เงินเดือนหลายทาง) เช่นเดียวกับกรณีกรรมการของศูนย์กลางพรรคที่ได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีที่สำคัญๆ 

และเมื่อพิจารณาจากรัฐธรรมนูญก็ให้อำนาจ คสช. สั่งการคณะรัฐมนตรีได้ จึงทำให้เห็นได้ว่า คสช. เป็นผู้มีอำนาจสูงสุดในรัฐ และเรามักจะเห็นการใช้มาตรา 44 ในฐานะตัวแทนของอำนาจอยู่บ่อยครั้ง

ส่วนการให้อำนาจแก่หัวหน้า คสช. (ซึ่งเป็นคนๆ เดียวกับนายกรัฐมนตรี) มีอำนาจสั่งการแก่คณะรัฐมนตรี ดังเช่นที่พรรคประชาชนปฎิวัติลาวที่ประธานประเทศ กับเลขาธิการพรรคเป็นคนๆ เดียวกัน และพรรคจะเป็นผู้กำหนดนโยบายต่างๆ และมีอำนาจสั่งการแก่รัฐมนตรีกระทรวงต่างๆ ได้

ในส่วนของฝ่ายนิติบัญญัติเอง ประเทศไทยมีสภานิติบัญญัติแห่งชาติอันมีที่มาจากการแต่งตั้งโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ซึ่งส่วนนี้จะแตกต่างกับกรณีที่มาของสภาแห่งชาติของลาว ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน เพียงแต่ว่ารัฐธรรมนูญของลาวกำหนดให้คนที่ลงสมัครรับเลือกตั้งได้ต้องเป็นสมาชิกพรรคประชาชนปฎิวัติเพียงพรรคเดียวเท่านั้น (เว้นแต่เป็นผู้สมัครอิสระ)

แต่เราก็ยังโชคดีหน่อยที่ฝ่ายตุลาการไม่ถูกแต่งตั้งจาก สนช. โดยตรงแต่ คสช.ก็มีอำนาจโยกย้ายใด้ในฐานะผู้มีอำนาจรัฏฐาธิปัตย์ ซึ่งเคยเกิดขึ้นกับกรณีคำสั่งย้ายอัยการ

อย่างไรก็ตาม ด้วยเหตุผลข้างต้นทำให้พอเห็นได้ว่าอำนาจต่างๆ เกือบทั้งหมดใน สปป.ลาว จึงถูกผูกโยงอยู่ที่คณะกรรมการศูนย์กลางพรรคประชาชนปฎิวัติ ไม่ต่างกับประเทศไทยที่อำนาจเกือบทั้งหมดผูกโยงกับ คสช.

ซึ่งจะก่อให้เกิด “ผลประโยชน์ที่ขัดกัน” (Conflict Interest) ไม่สอดคล้องกับหลักการแบ่งแยกอำนาจ (Separation of powers) เช่นนี้หากฝ่ายบริหารที่ไม่มีคุณธรรมก็อาจใช้อำนาจนอกขอบเขตของกฎหมาย แน่นอนว่าการตรวจสอบถ่วงดุล (Checks and balances) ระหว่างอำนาจ ด้วยการใช้อำนาจหยุดยั้งอำนาจ หรือใช้อำนาจตรวจสอบอำนาจ เพื่อป้องกันมิให้มีการใช้อำนาจโดยมิชอบ ตามหลักการปกครองโดยกฎหมาย (the rule of law) ในรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ก็ย่อมมีน้อยลง และมีความไกล้เคียงกับสังคมนิยมของประเทศเทศลาวไม่มากก็น้อย

และสิ่งที่เราเห็นเป็นที่ประจักษ์อยู่ตอนนี้ก็คือ อำนาจต่างๆ ที่รวมอยู่ที่คนๆ เดียว ทั้งการใช้อำนาจ และการตรวจสอบการใช้อำนาจ ก็อาจทำให้ความน่าเชื่อถือของบางองค์กรถูกลดทอนลงไป ดั่งเช่นที่สังคมกำลังวิจารณ์หน่วยงานที่ทำหน้าที่ตรวจสอบอยู่ตอนนี้

 

เกี่ยวกับผู้เขียน: ผู้ช่วยศาสตราจารย์ตรีเนตร สาระพงษ์ เป็นอาจารย์ผู้สอนประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท