Skip to main content
sharethis

ศาล จ.ราชบุรียกฟ้อง 5 จำเลยคดี พ.ร.บ.ประชามติเหตุพยานหลักฐานไม่ชัดเจน ขณะที่ทนายขอบคุณศาลที่ไม่ลงโทษจำเลย แต่เสียดายคำพิพากษาไม่วินิจฉัยเรื่องการรณรงค์ประชามติ ขณะที่ผู้สื่อข่าวประชาไทยืนยันเบิกความในชั้นศาลว่าทำหน้าที่สื่อ เสียดายที่คำพิพากษาศาลไม่วินิจฉัยเรื่องนี้ จึงยังไม่อาจสร้างบรรทัดฐานให้นักข่าวภาคสนาม

[คลิป] ยอดภูเขาน้ำแข็งของคดี พ.ร.บ.ประชามติ บ้านโป่ง

จำเลยคดีประชามติบ้านโป่ง (จากซ้ายไปขวา) อนันต์ โลเกตุ, อนุชา รุ่งมรกต, ปกรณ์ อารีกุล ทวีศักดิ์ เกิดโภคา และภานุวัฒน์ ทรงสวัสดิ์ชัย ถ่ายรูปร่วมกันหลังฟังคำตัดสินของศาลจังหวัดราชบุรีที่ให้ยกฟ้องจำเลยทั้งหมดในคดี พ.ร.บ.ประชามติ เมื่อปี 2559

จำเลยคดีประชามติบ้านโป่ง ถ่ายรูปร่วมกับทีมทนายความ หลังศาลจังหวัดราชบุรียกฟ้องจำเลยทั้งหมดในคดี พ.ร.บ.ประชามติ เหตุเกิดปี 2559

ได้รับดอกไม้ให้กำลังใจจากประชาชนใน จ.ราชบุรี ที่เดินทางมาฟังคำพิพากษาคดี พ.ร.บ.ประชามติบ้านโป่ง

29 ม.ค. 2561 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 10.00 น. ที่ศาลจังหวัดราชบุรี มีการนัดอ่านคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่ 2418/2559 พนักงานอัยการจังหวัดราชบุรีเป็นโจทก์ ฟ้องปกรณ์ อารีกุล กับพวกรวม 5 คน ในข้อกล่าวหาตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559 ร่วมกันดำเนินการเผยแพร่ข้อความ ภาพ ในช่องทางอื่นใด ที่ผิดไปจากข้อเท็จจริง หรือมีลักษณะปลุกระดม โดยมุ่งหวังเพื่อให้ผู้มีสิทธิออกเสียงไม่ไปใช้สิทธิออกเสียง หรือออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่งหรือไม่ออกเสียง และขัดประกาศ คปค. 25/2549 ขัดคำสั่งพนักงานสอบสวนที่ให้พิมพ์ลายนิ้วมือ

โดยศาลตัดสินยกฟ้องความผิดตาม พ.ร.บ.ประชามติ เหตุพยานหลักฐานไม่ชัดเจน โดยในคำพิพากษาระบุด้วยว่า พยานโจทก์ไม่เห็นจำเลยทั้งห้าแจกสติ๊กเกอร์ รวมถึงไม่มีพยานบุคคลอื่นๆ พบเห็นด้วย

"แต่เมื่อพยานโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานที่บ่งชี้ชัดให้เห็นการกระทำแจกจ่ายอันเป็นการเผยแพร่ ซึ่งวัตถุที่เป็นความผิดต่อกฎหมายฉบับนี้ ลำพังเพียงพฤติการณ์ที่แสดงให้เห็นการช่วยเหลือ ลำเลียง ขนย้ายเอกสารหรืออุปกรณ์ทางการเมืองให้กับคนที่เป็นกลุ่มคนที่มีแนวความคิดเดียวกัน โดยพยานหลักฐานไม่แจ้งชัดว่าจะเป็นวัตถุของกลางที่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ประชามติ ซึ่งหมายถึงสติ๊กเกอร์คดีนี้ร่วมอยู่ด้วยจริงหรือไม่ อีกทั้งการที่บุคคลที่มีแนวความคิดทางการเมืองเดียวกันนำอุปกรณ์และเอกสารหรือวัตถุที่เป็นความผิดส่งมอบแก่กันย่อมไม่เกิดการชี้นำหรือจูงใจ โดยยังไม่มีหลักฐานการแจกจ่ายให้กับบุคคลภายนอก ยังไม่เพียงพอจะตีความได้ว่าจำเลยทั้งห้ามีเจตนากระทำเพื่อมุ่งหวังให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่พบเห็นข้อความไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ พยานหลักฐานโจทก์จึงไม่มีน้ำหนักมั่นคงเพียงพอรับฟังได้ว่าจำเลยทั้งห้ากระทำความผิดฐานร่วมกันเผยแพร่สติ๊กเกอร์ที่มีข้อความ "7 สิงหา ร่วมกันโหวตโน ไม่รับกับอนาคตที่ไม่ได้เลือก" ของกลาง อันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ประชามติ ตามฟ้อง" คำพิพากษาระบุ

ส่วนความผิดฐานขัดประกาศ คปค. เรื่องให้พิมพ์ลายนิ้วมือ ปรับจำเลยที่ 1-4 คนละ 1,000 บาท จำเลยสารภาพลดโทษเหลือคนละ 500 บาท อย่างไรก็ตามจำเลยที่ 1-4 ไม่ต้องเสียค่าปรับ 500 บาทอีก เนื่องจากในวันเกิดเหตุถูกตำรวจควบคุมตัวที่ สภ.บ้านโป่งไปแล้ว 1 คืน

รัษฎา มนูรัษฎา หนึ่งในทนายความกล่าวว่า ต้องขอบคุณศาลที่ไม่พิพากษาลงโทษ แต่สิ่งที่จำเลยในคดีต่อสู้โดยเฉพาะเรื่องเนื้อหาหรือข้อความเชิงรณรงค์ ไม่ใช้ข้อความที่เป็นเท็จหรือปลุกระดมก่อให้เกิดความวุ่นวาย ในต่างประเทศการออกเสียงลงประชามติ รณรงค์เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยมันมีในรัฐธรรมนูญ แต่เรื่องเนื้อหาเป็นส่วนที่ขาดหายไปที่ศาลไม่ได้พูดถึง นอกจากนี้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้สื่อข่าว ควรได้พิสูจน์ความบริสุทธิ์ว่าได้ทำหน้าที่สื่อมวลชน แม้จะนั่งรถร่วมกันกับจำเลยอื่นแต่ก็ไม่ได้มีกระทำร่วมตามที่โจทกกล่าวหา์กล่าวหา แต่ทั้งหมดไม่ปรากฎในคำพิพากษา

ภาณุวัฒน์ ทรงสวัสดิ์ชัย บัณฑิตจากมหาวิทยาลัยแม่โจ้ จำเลยที่ 5 ในคดีกล่าวหลังจากฟังคำพิพากษายกฟ้องว่า แม้จะรู้สึกดีใจที่ศาลยกฟ้องและพิพากษาอย่างยุติธรรม แต่เสียดายที่ในส่วนของเนื้อหาข้อความรณรงค์ "7 สิงหา ร่วมกันโหวตโนกับอนาคตที่ไม่ได้เลือก" ศาลกลับไม่ได้พิจารณาหรือกล่าวถึง ซึ่งเป็นส่วนที่ต่อสู้กันมาตลอดในชั้นศาล ตนหวังว่าหากมีการตัดสินในส่วนข้อความว่าไม่ผิดตามกฎหมาย คดีนี้อาจจะเป็นคดีที่สร้างบรรทัดฐานการตัดสินคดีเกี่ยวกับประชามติในคดีอื่นๆ นอกจากนี้คำว่า "ร่วมกัน" ซึ่งปรากฎในข้อความดังกล่าว ตนยังคิดว่าเป็นคำธรรมดาที่สามารถใช้ได้ทั่วไป ไม่ได้เป็นคำที่ปลุกระดมให้เกิดความวุ่นวาย

ส่วนทวีศักดิ์ เกิดโภคา ผู้สื่อข่าวประชาไท จำเลยที่ 2 ในคดีกล่าวว่าตอนที่ขึ้นเบิกความในชั้นศาล ตัวเขาก็พูดมาตลอดว่าเป็นนักข่าว ซึ่งศาลก็ได้ลงในบันทึกการสืบพยานการพิจารณาคดี แต่ในคำพิพากษาก็ไม่ได้พูดถึงเรื่องที่เขาเป็นนักข่าวเลย จึงคิดว่าคำพิพากษาของศาลยังไม่สามารถสร้างบรรทัดฐานในการทำงานของนักข่าวที่มาทำงานกับแหล่งข่าวได้ แต่ทั้งนี้ก็เข้าใจว่าในการพิพากษาอาจดูแค่องค์ประกอบของความผิด ว่าได้กระทำการเผยแพร่หรือไม่ เมื่อไม่เข้าองค์ความความผิด ศาลจึงไม่จำเป็นต้องลงรายละเอียดในเนื้อหาส่วนอื่น

สำหรับจำเลยทั้งห้าคนประกอบด้วย นักกิจกรรม 4 คน และนักข่าว 1 คน ได้แก่ ปกรณ์ อารีกุล, อนุชา รุ่งมรกต, อนันต์ โลเกตุ สมาชิกขบวนการประชาธิปไตยใหม่ ภานุวัฒน์ ทรงสวัสดิ์ชัย ในขณะนั้นเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยแม่โจ้ และทวีศักดิ์ เกิดโภคา ผู้สื่อข่าวประชาไท

โดยคดีดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อ 10 ก.ค. 2559 วันเกิดเหตุปกรณ์, อนุชา, และ อนันต์ นักกิจกรรมขบวนการประชาธิปไตยใหม่ เดินทางไปที่ สภ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี เพื่อให้กำลังใจผู้ที่ถูกออกหมายเรียกในคดีประชามติเนื่องจากเปิดศูนย์ปราบโกงประชามติ โดยมีทวีศักดิ์ ผู้สื่อข่าวประชาไท ติดรถไปทำข่าวด้วย

ต่อมาทั้ง 4 คนถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.บ้านโป่ง จับกุมและแจ้งข้อหาว่าร่วมกันแจกจ่ายสติกเกอร์โหวตโน ขณะที่ภานุวัฒน์ นักกิจกรรมนักศึกษาในเวลานั้น ซึ่งเป็นจำเลยอยู่ในคดีประชามติราชบุรีก่อนหน้านี้ ก็ถูกจับกุมมาด้วย รวมเป็น 5 คน

ทีมทนายฯ ต่อสู้ว่า จำเลยไม่ได้เผยแพร่ และตัวเอกสารไม่มีลักษณะไม่เป็นความจริงหรือปลุกระดม โดยตีกรอบเนื้อหาสติกเกอร์เข้ากับร่างรัฐธรรมนูญว่า "อนาคตที่ไม่ได้เลือก" หมายถึงที่มาของนายกฯ ที่อาจมาจากการเลือกของ ส.ส. และ ส.ว. ซึ่งไม่ยึดโยงกับประชาชน และส่วนของผู้สื่อข่าวประชาไทนั้น เป็นการเดินทางไปทำหน้าที่ผู้สื่อข่าวเท่านั้น ไม่ได้ไปร่วมรณรงค์เกี่ยวกับการลงประชามติแต่อย่างใด

ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559 มาตรา 61 วรรคสอง ระบุ "ผู้ใดดําเนินการเผยแพร่ข้อความ ภาพ เสียง ในสื่อหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ สื่ออิเล็กทรอนิกส์หรือในช่องทางอื่นใด ที่ผิดไปจากข้อเท็จจริงหรือมีลักษณะรุนแรง ก้าวร้าว หยาบคาย ปลุกระดม หรือข่มขู่โดยมุ่งหวังเพื่อให้ผู้มีสิทธิออกเสียงไม่ไปใช้สิทธิออกเสียง หรือออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือไม่ออกเสียง ให้ถือว่าผู้นั้นกระทําการก่อความวุ่นวายเพื่อให้การออกเสียงไม่เป็นไปด้วยความเรียบร้อย"

กรณีที่เป็นการกระทําความผิดของคณะบุคคลตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป ต้องระวางโทษจําคุกตั้งแต่ 1-10 ปี และปรับตั้งแต่ 20,000-200,000 บาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 10 ปี

ส่วนประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 25/2549 เรื่อง การดำเนินการเกี่ยวกับการยุติธรรมทางอาญา ระบุว่า ผู้ซึ่งถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดอาญา มีหน้าที่ต้องพิมพ์ลายนิ้วมือ ตามคำสั่งของพนักงานอัยการ ผู้ว่าคดี หรือพนักงานสอบสวน ผู้ใดฝ่าฝืนมีความผิดฐานกระทำความผิดเกี่ยวกับการยุติธรรม ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 1,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net