Skip to main content
sharethis

คณะรัฐมนตรีไฟเขียวขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ปี 61 7 ระดับ โดยให้มีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 2561 เป็นต้นไป พร้อมมาตรการลดผลกระทบจากการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำตามที่กระทรวงอุตสาหกรรม 

30 ม.ค. 2561 ความคืบหน้าการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำหลังคณะกรรมการค่าจ้างมีมติปรับเป็น 7 ระดับ แม้จะมีเสียงของกลุ่มคนงาน นำโดยคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) คัดค้าน พร้อมเรียกร้องให้ขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำควรเท่ากันทุกจังหวัดทั่วประเทศเพื่อให้สามารถเลี้ยงดูครอบครัวได้ได้ 3 คนตามหลักการของปฏิญญาสากลขององค์การสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและหลักการขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) นั้น

ล่าสุดวันนี้ คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติรับทราบการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ตามมติคณะกรรมการค่าจ้าง (ชุดที่ 19) ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอและมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงการคลัง กระทรวงพาณิชย์  และกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นต้น ดำเนินการตามมาตรการเพื่อลดผลกระทบจากการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำต่อไป 

รายงานข่าวจากเว็บไซต์ทำเนียบระบุด้วยว่า คณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 19 ได้ดำเนินการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ปี 2561 โดยได้มีการศึกษาข้อมูลตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด  และได้มีการกำหนดสูตรคำนวณอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่เหมาะสมสำหรับประเทศไทย โดยเทียบเคียงกับสูตรการคำนวณอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของต่างประเทศ  เช่น ฝรั่งเศส  มาเลเซีย บราซิล และคอสตาริกา ซึ่งองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization : ILO) ยอมรับว่าเป็นสูตรคำนวณอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่สามารถดูแลคุณภาพชีวิตของลูกจ้างได้ 

การขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ปี 2561 โดยให้มีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 2561 เป็นต้นไป  มีดังนี้

อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ

(บาท/วัน)

จำนวน

(จังหวัด)

จังหวัด

308

3

นราธิวาส ปัตตานี และยะลา

310

22

กำแพงเพชร  ชัยภูมิ ชุมพร เชียงราย ตรัง ตาก นครศรีธรรมราข พิจิตร  แพร่ มหาสารคาม แม่ฮ่องสอน ระนอง  ราชบุรี  ลำปาง ลำพูน ศรีสะเกษ สตูล สิงห์บุรี สุโขทัย หนองบัวลำภู  อำนาจเจริญ  และอุทัยธานี

315

21

กาญจนบุรี  ชัยนาท นครพนม  นครสวรรค์ น่าน บึงกาฬ บุรีรัมย์ ประจวบคีรีขันธ์  พะเยา  พัทลุง พิษณุโลก  เพชรบุรี  เพชรบูรณ์ ยโสธร  ร้อยเอ็ด  เลย สระแก้ว  สุรินทร์ อ่างทอง อุดรธานี  และอุตรดิตถ์

318

7

กาฬสินธุ์  จันทบุรี  นครนายก  ปราจีนบุรี  มุกดาหาร สกลนคร  และสมุทรสาคร

320

14

กระบี่ ขอนแก่น  เชียงใหม่ ตราด นครราขสีมา  พระนครศรีอยุธยา พังงา  ลพบุรี  สงขลา สระบุรี  สุพรรณบุรี  สุราษฎร์ธานี  หนองคาย  และอุบลราชธานี

325

7

กรุงเทพมหานคร  ฉะเชิงเทรา นครปฐม นนทบุรี  ปทุมธานี  สมุทรปราการ และสมุทรสาคร

330

3

ชลบุรี  ภูเก็ต  และระยอง

สำหรับมาตรการลดผลกระทบจากการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำนั้น  ครม.มีมติเห็นชอบและอนุมัติตามที่กระทรวงอุตสาหกรรม  เสนอ ดังนี้ 1. เห็นชอบมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและการบริหารธุรกิจ SMEs ในการลดผลกระทบจากการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ โดยให้ อก. เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินงาน โดยประสานกับหน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชน คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) สถาบันการศึกษา และสถาบันการเงินที่เกี่ยวข้องเป็นหน่วยงานร่วมดำเนินการ และ 2. อนุมัติกรอบวงเงินงบประมาณเพื่อดำเนินมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและการบริหารธุรกิจ SMEs ในการลดผลกระทบจากการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ วงเงิน 500 ล้านบาท ดำเนินการในปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 โดยให้สำนักงบประมาณพิจารณาจัดสรรงบประมาณจากแหล่งเงินที่เหมาะสม

ครม.ยังมีมติเห็นชอบมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการเพื่อลดผลกระทบด้านแรงงาน  ตามที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน เพื่อเป็นการลดภาระอันเนื่องมาจากการขาดแคลนแรงงานและค่าแรงที่ปรับสูงขึ้นสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนจึงเสนอมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการเพื่อลดผลกระทบด้านแรงงานโดยปรับปรุงเพิ่มเติมมาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อให้มีการดำเนินการเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตโดยการนำเครื่องจักรระบบอัตโนมัติหรือเทคโนโลยีมาใช้ รวมถึงเพิ่มประสิทธิภาพแรงงานโดยการพัฒนาบุคลากรมากยิ่งขึ้น 

รวมทั้ง ครม.ยังมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (มาตรการภาษีเพื่อบรรเทาผลกระทบจากการปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ) ตามที่กระทรวงการคลัง เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาเป็นเรื่องด่วน และดำเนินการต่อไปได้ 

ซึ่ง กระทรวงการคลัง เสนอว่า
 
1. ปัจจุบันนายจ้างที่เป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่จ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างสามารถนำรายจ่ายค่าจ้างมาหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ตามจำนวนที่จ่ายไปจริง (1 เท่า) เนื่องจากเป็นรายจ่ายที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการประกอบกิจการ สามารถพิสูจน์ตัวตนของผู้รับเงินได้ และไม่เข้าลักษณะเป็นรายจ่ายต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (9) (13) และ (18) แห่งประมวลรัษฎากร
 
2. โดยที่รัฐบาลมีนโยบายปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของลูกจ้างให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ตามสมควร เพื่อให้สอดคล้องและเหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจในแต่ละพื้นที่ และกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศให้ดีขึ้น นโยบายดังกล่าวได้ส่งผลทำให้ต้นทุนการผลิต ค่าใช้จ่ายในการขายและบริการของผู้ประกอบการสูงเพิ่มขึ้น ดังนั้น เพื่อบรรเทาภาระให้กับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลจากการปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำตามนโยบายของรัฐบาลดังกล่าว จึงสมควรกำหนดมาตรการภาษีเพื่อบรรเทาผลกระทบจากการปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ โดยให้สามารถนำรายจ่ายค่าจ้างรายวันที่ได้จ่ายให้แก่ลูกจ้างมาหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ เป็นจำนวน 1.15 เท่าของค่าจ้างรายวันที่จ่ายให้แก่ลูกจ้าง สำหรับค่าจ้างรายวันที่จ่ายให้แก่ลูกจ้างไปตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2561 จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2561
 
3. กค. ได้ดำเนินการวิเคราะห์ผลกระทบของมาตรการในเรื่องนี้ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2558 แล้ว ซึ่งมาตรการดังกล่าวข้างต้นจะมีผลกระทบ ดังนี้  3.1 เป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตของลูกจ้างให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม และเป็นการส่งเสริมให้แรงงานนอกระบบเข้าสู่ระบบมากขึ้น 3.2 คาดว่ามาตรการในเรื่องนี้จะทำให้ภาครัฐจะสูญเสียรายได้ประมาณ 5,400 ล้านบาท แต่อย่างไรก็ตาม มาตรการดังกล่าวจะช่วยบรรเทาภาระให้กับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีต้นทุนแรงงานเป็นส่วนสำคัญในการประกอบกิจการให้มีศักยภาพในการแข่งขันในประเทศได้อย่างยั่งยืน และจูงใจให้นายจ้างได้มีส่วนร่วมในการดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลในการกระตุ้นเศรษฐกิจให้ดีขึ้น
 
โดย สาระสำคัญของพระราชกฤษฎีกา กำหนดให้ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับเงินได้เป็นจำนวนร้อยละ 15 ของรายจ่ายที่ได้จ่ายเป็นค่าจ้างรายวันให้แก่ลูกจ้างให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีรายได้จากการขายสินค้าและการให้บริการในรอบระยะเวลาบัญชี ไม่เกิน 100 ล้านบาท และมีการจ้างแรงงานไม่เกิน 200 คน ในรอบระยะเวลาบัญชีที่ได้ใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ ทั้งนี้ สำหรับค่าจ้างรายวันที่จ่ายให้แก่ลูกจ้างไปตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2561 จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2561 โดยมีเงื่อนไข ดังนี้ 1. ค่าจ้างรายวัน หมายถึง เงินค่าจ้างที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงกันจ่ายเป็นค่าตอบแทนในการทำงานตามสัญญาจ้างสำหรับระยะเวลาการทำงานปกติเป็นรายวัน โดยค่าจ้างรายวันที่จ่ายให้แก่ลูกจ้าง ไม่รวมถึงค่าล่วงเวลา เบี้ยเลี้ยง ประโยชน์อื่นใดที่คำนวณได้เป็นเงินภาษีอากรที่ผู้จ่ายออกแทนให้ ที่ได้รับเนื่องจากการจ้างแรงงาน
 
2. บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ จะต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ และเงื่อนไข ดังนี้ 2.1 อัตราค่าจ้างรายวันที่ได้จ่ายให้แก่ลูกจ้างไปตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2561 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2561 ต้องสูงกว่าอัตราค่าจ้างรายวันเดิมที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นได้กำหนดและประกาศให้ทราบเป็นการทั่วไป หรือที่ได้มีการจ่ายค่าจ้างรายวันให้แก่ลูกจ้างก่อนวันที่ 1 เมษายน 2561 และ 2.2 ต้องไม่เป็นรายจ่ายค่าจ้างที่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net