Skip to main content
sharethis

ผอ.มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ตั้งคำถามกับผลสอบ ชี้แค่ "หมาหยอกไก่" ก็ถือว่าผิดทั้งหมด 'ทิชา ณ นคร' อัดมีทั้งคุกคามทางเพศ และความสัมพันธ์เชิงอำนาจ 'กสม. อังคณา' แนะสมาคมนักข่าว นำมติ ครม. มาตรการในการป้องกันล่วงละเมิดทางเพศในการทำงานมาปรับใช้ในการสอบสวนแสวงหาข้อเท็จจริง

30 ม.ค. 2561 จากกรณีวานนี้ (29 ม.ค.61) เว็บไซต์สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เผยแพร่คำแถลงผลการพิจารณารายงานการแสวงหาข้อเท็จจริง กรณีผู้บริหารองค์กรสื่อมีพฤติกรรมเข้าข่ายคุกคามทางเพศ ของคณะกรรมการบริหาร สมาคมนักข่าวฯ จากกรณีมีกระแสข่าวตามสื่อสังคมออนไลน์ พาดพิงถึงผู้บริหารองค์กรสื่อแห่งหนึ่งว่ามีพฤติกรรมเข้าข่ายคุกคามทางเพศ หลังจากคณะอนุกรรมการแสวงหาข้อเท็จจริงได้แสวงหาข้อเท็จจริงและเสนอให้คณะกรรมการบริหารสมาคมนักข่าวฯ ได้พิจารณาแล้ว สรุปได้ว่า ในช่วงกลางปี 2560 มีเหตุการณ์ระหว่างสองบุคคล ซึ่งบุคคลหนึ่งได้รับการปลูกฝังมาในเรื่องให้ความเคารพผู้บังคับบัญชา จึงมีการดูแลบุคคลอีกคนหนึ่งในลักษณะที่ใกล้ชิดสนิทสนม การให้ความไว้วางใจ ซึ่งมีบางเรื่องที่ความไว้วางใจเป็นเหตุทำให้เกิดความเข้าใจผิด ในลักษณะตีความเข้าข้างตัวเอง จนนำไปสู่ความสุ่มเสี่ยงต่อการคุกคามทางเพศ เพราะต่างตีความด้วยมุมมองที่แตกต่างกัน ต่อมามีการพูดคุยเพื่อทำความเข้าใจและขอโทษต่อกัน สุดท้ายฝ่ายหนึ่งลาออกจากองค์กรข่าวแห่งนั้นแล้ว ซึ่งหลังผลสอบได้เผยแพร่ออกไป ก็มีหลายบุคคลออกมาแสดงความผิดหวังต่อผลสอบและแสดงความคิดเห็นอย่างกว้างขวางนั้น

วันนี้ (30 ม.ค.61) อังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในฐานะผู้รับผิดชอบด้านสิทธิและความเสมอภาคทางเพศสภาพ  เปิดเผยว่า ขอชื่นชมสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยในการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการอิสระตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีการคุกคามทางเพศในการทำงานในฐานะสื่อมวลชน และขอยืนยันการเคารพในเสรีภาพของสื่อ อย่างไรก็ดี ในฐานะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ มีความเห็นว่าสาระสำคัญของรายงานการตรวจสอบที่ระบุว่า “บุคคลหนึ่งได้รับการปลูกฝังมาในเรื่องการให้ความเคารพต่อผู้ใหญ่ และวัฒนธรรมองค์กรที่ให้ความสำคัญกับผู้บังคับบัญชา จึงมีการดูแลบุคคลอีกคนหนึ่งในลักษณะที่ใกล้ชิดสนิทสนม การให้ความไว้วางใจ ซึ่งมีบางเรื่องที่ความไว้วางใจเป็นเหตุทำให้เกิดความเข้าใจในลักษณะที่เป็นการตีความเข้าข้างตนเองของอีกฝ่ายหนึ่ง จนอาจนำไปสู่ความสุ่มเสี่ยงต่อการคุกคามทางเพศ เพราะต่างตีความเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นด้วยมุมมองที่แตกต่างกัน”  นั้น  เป็นการแสดงให้เห็นถึงการนำวัฒนธรรมองค์กร การปฏิบัติระหว่างผู้บังคับบัญชาต่อผู้ใต้บังคับบัญชา ความคิดความเชื่อ รวมถึงทัศนคติทางเพศมาเป็นข้อสรุปว่าการคุกคามทางเพศ เป็นสิ่งที่ยอมรับได้

ทั้งนี้ อังคณา กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมา กสม. ได้พิจารณาเรื่องการคุกคามทางเพศหลายกรณีที่ส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจของผู้เสียหายจนเกิดภาวะเครียดที่ผิดปกติจากประสบการณ์ที่ถูกกระทำ (Post Traumatic Stress Disorder) ดังนั้น เพื่อเป็นการสร้างบรรทัดฐานในการเคารพความแตกต่างทางเพศ ขอเสนอให้สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยนำมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2558  เรื่อง มาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศในการทำงานมาปฏิบัติเพื่อคุ้มครองสิทธิมนุษยชนสื่อมวลชนหญิงทุกคน เยียวยาฟื้นฟูจิตใจผู้เสียหาย และลงโทษผู้กระทำผิด ไปใช้ประกอบการพิจารณา  รวมถึงการทำหน้าที่ตรวจสอบที่เกี่ยวข้องกับความผิดทางเพศ ควรคำนึงถึงความต่างในบริบทที่แตกต่างกัน และจำเป็นที่จะต้องมีความละเอียดอ่อนรอบด้าน อีกทั้งต้องกำหนดแนวทางในการแก้ไขปัญหาที่เหมาะสมด้วย

นอกจากนี้ กสม.ผู้รับผิดชอบด้านสิทธิและความเสมอภาคทางเพศสภาพ ยังเสนอให้สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ปรับปรุงประมวลจริยธรรมขององค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนให้มีการระบุถึงการตระหนักและคำนึงถึงความละเอียดอ่อนในมิติความแตกต่างระหว่างเพศ (Gender Sensitivity) และการกระทำความผิดเกี่ยวกับเพศไว้เป็นการเฉพาะ โดยควรคำนึงถึงความมีคุณธรรมและจริยธรรมทางเพศอย่างเคร่งครัด และควรกำหนดแนวนโยบายประเด็นการกระทำความผิดเกี่ยวกับเพศให้ชัดเจน

ข่าวสดออนไลน์ รายงานด้วยว่า จะเด็ด เชาว์วิไล ผอ.มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กล่าวว่า ตนเชื่อมั่นในคณะอนุกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงที่ดูเหมือนมีความเป็นกลาง แต่เมื่อผลออกมาแบบนี้เป็นเรื่องที่ต้องตั้งคำถามว่าข้อเท็จจริงมีอะไรบ้าง ต้องตีความคำว่า “คุกคามทางเพศ” ให้ดีเพราะเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ในแง่สากล “คุกคามทางเพศ”หมายถึงการใช้สายตา วาจา ก็ถือว่ามีปัญหาแล้ว ในส่วนของประเทศไทย มีกฎคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (กพ.) ที่ใช้ในหมู่ข้าราชการ ซึ่งหมายรวมถึงการใช้สายตา วาจา การใช้สื่อโซเชี่ยลแบบหมาหยอกไก่ ถือว่าผิดทั้งหมด แต่กฎดังกล่าวไม่คุ้มครองภาคเอกชนมากนัก

จะเด็ด กล่าวว่า ต้องตั้งคำถามว่าคณะอนุกรรมฯ ชุดนี้ตีความคำดังกล่าวแบบไหน ส่วนตัวอยากให้พิจารณาทบทวนอีกรอบ โดยให้ตีความคำว่า “คุกคามทางเพศ” ให้ชัดเจน จะได้ออกมาเป็นรายงานให้สังคมได้เข้าใจ ไม่คลุมเครือ

ขณะที่ ทิชา ณ นคร ผอ.ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน (ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก โพสต์เฟสบุ๊คส่วนตัว “Thicha Nanakorn” ถึงผลการพิจารณารายงานแสวงหาข้อเท็จจริงฯ ระบุว่า “อ่านเอกสารที่เป็นผลจากการแสวงหาข้อเท็จจริง กรณีผู้บริหารองค์กรสื่อมีพฤติกรรมเข้าข่ายคุกคามทางเพศ ค่อนข้างแปลกใจกับการให้ความหมายความสัมพันธ์ โดยเฉพาะย่อหน้าที่ 5 เอาล่ะต่อไปนี้ ไม่ต้องไปหวังอะไรในประเด็นคุกคามทางเพศที่เกิดขึ้น ณ หน่วยงานรัฐ การเมือง ศูนย์กลางอำนาจ ฯลฯ เพราะการคุกคามทางเพศมันแฝงอยู่ในความสัมพันธ์เชิงอำนาจ ที่ทางของมันและความเเข็งแกร่งของมันก็ที่นั่นแหละ ไม่ต่างจากเหรียญที่มี 2 ด้าน

ทิชา ระบุว่า ด้านหนึ่งคือ คุกคามทางเพศ ด้านหนึ่งคือความสัมพันธ์เชิงอำนาจ เมื่อให้ความหมายไม่ได้ เมื่อมองไม่เห็น จบกัน ตกลง …นี่ ไร้เดียงสาจริงหรือไร้เดียงสาเฉพาะกิจ หากทำไม่รู้ไม่ชี้กับประเด็นความสัมพันธ์เชิงอำนาจในบริบทการคุกคามทางเพศ ไม่ต่างกับการวินิจฉัยโรคคลาดเคลื่อน การให้ยาผิด การรักษาผิด และสังคมก็ต้องรับผลโรคดื้อยา โรครักษาไม่หาย โรคเรื้อรังนี้ต่อไป ในที่สุดถอยหลังเข้าคลองอีกประเด็นหนึ่ง 

ข่าวสดออนไลน์ ยังรายงานด้วยว่า ทิชา ให้สัมภาษณ์สั้นๆ ว่า การสอบสวนข้อเท็จจริงกรณีดังกล่าว เท่าที่ดูชื่อคณะอนุกรรมการฯ พบว่าเป็นคนกลางที่ได้รับการแต่งตั้งโดยชอบธรรม เพียงแต่ผลที่ออกมาน่าจะบิดเบือนไปจากนิยามความหมายของคำว่า “คุกคามทางเพศ” จึงเกิดเครื่องหมายคำถามว่าตั้งใจหรือไม่

 

คำแถลงของ คณะกรรมการบริหาร สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย : 

 

คำแถลงผลการพิจารณารายงานการแสวงหาข้อเท็จจริง กรณีผู้บริหารองค์กรสื่อมีพฤติกรรมเข้าข่ายคุกคามทางเพศ

สืบเนื่องจากกรณีมีกระแสข่าวตามสื่อสังคมออนไลน์ พาดพิงถึงผู้บริหารองค์กรสื่อแห่งหนึ่งว่ามีพฤติกรรมเข้าข่ายคุกคามทางเพศ และมีกลุ่มนักข่าวกลุ่มหนึ่งส่งจดหมายเปิดผนึกเผยแพร่ทางสื่อออนไลน์ เพื่อเรียกร้องให้สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ตรวจสอบข้อเท็จจริง และต่อมาเมื่อวันที่ 20 กันยายน 2560 คณะกรรมการบริหารสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการแสวงหาข้อเท็จจริงในกรณีดังกล่าว ประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิจากบุคคลภายนอกจำนวนหกท่าน  และดำเนินกระบวนการแสวงหาข้อเท็จจริงในทางลับเพื่อให้ปราศจากอิทธิพลหรือปัจจัยภายนอกใด ๆ เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ใกล้เคียงกับข้อเท็จจริงมากที่สุดภายหลังคณะอนุกรรมการใช้เวลาดำเนินการภายในกรอบเวลา 90 วัน  แล้วแจ้งผลให้คณะกรรมการบริหารสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยทราบ เพื่อพิจารณาต่อไปนั้น

คณะอนุกรรมการแสวงหาข้อเท็จจริงฯ ได้ส่งรายงานการแสวงหาข้อเท็จจริงให้แก่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2560 โดยระบุว่าได้มีการประชุม และพบผู้ให้ข้อมูลตั้งแต่ผู้เกี่ยวข้องกับการสื่อสารทางสาธารณะต่อกระแสข่าว ผู้ใกล้ชิดกับผู้ถูกกล่าวอ้างถึงทั้งฝ่ายชายและฝ่ายหญิง ผู้โพสต์ข้อความพาดพิงถึงผู้ถูกกล่าวอ้างถึงทั้งฝ่ายชายและฝ่ายหญิง ไปจนถึงผู้ถูกกล่าวอ้างถึงฝ่ายชายและผู้ถูกกล่าวอ้างถึงฝ่ายหญิง รวมผู้ให้ข้อมูลทั้งหมด 11 คน และการประชุมและการพบกับผู้ให้ข้อมูลทุกครั้งเป็นไปในทางลับตามกรอบมติที่คณะกรรมการบริหารสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยกำหนดไว้

นอกจากนี้ในระหว่างกระบวนการแสวงหาข้อเท็จจริง  สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ได้เปิดโอกาสให้ผู้มีข้อมูล  หรือผู้ที่คิดว่าจะได้รับความเสียหาย  ให้มายื่นข้อมูลกับสมาคมนักข่าวฯ โดยตรง  หรือผ่านตู้ ป.ณ. ที่ได้แจ้งต่อสาธารณะไว้   แต่ก็ไม่ปรากฏผู้ยื่นข้อมูลใด ๆ จากช่องทางดังกล่าว  และตลอดระยะเวลาของกระบวนการแสวงหาข้อเท็จจริง  ก็ไม่ปรากฏผู้แสดงความจำนงจะร้องทุกข์ต่อสมาคมฯ

ทั้งนี้ คณะอนุกรรมการแสวงหาข้อเท็จจริงฯ ตั้งประเด็นการพิจารณา ได้แก่ 1. การกล่าวอ้างว่ามีการคุกคามทางเพศเกิดขึ้นในที่ทำงาน  2. การสื่อสารการใช้สังคมออนไลน์ในการแพร่กระจายประเด็นและการนำเสนอของสื่อหลัก 3. ข้อเสนอต่อการป้องกันและการแก้ไขปัญหาการคุมคามทางเพศในองค์กรสื่อ และการทำหน้าที่ของสื่อต่อประเด็นนี้

คณะกรรมการบริหารสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ได้ประชุมพิจารณารายงานของคณะอนุกรรมการแสวงหาข้อเท็จจริงฯ เป็นรายประเด็นแล้ว มีมติดังต่อไปนี้

ประเด็นการกล่าวอ้างว่ามีการคุกคามทางเพศนั้น มีความเห็นสอดคล้องกับรายงานของอนุกรรมการแสวงหาข้อเท็จจริงฯ ที่ระบุว่า เรื่องที่เกี่ยวข้องกับผู้ถูกกล่าวอ้างฝ่ายชายและผู้ถูกกล่าวอ้างฝ่ายหญิง ได้ถูกนำมาพูดคุยสื่อสารกับบุคคลภายในองค์กรจำนวนหนึ่ง อันเป็นเหตุทำให้เรื่องราวที่น่าจะจบลงระหว่างบุคคลทั้งสอง กลายเป็นเรื่องที่ต้องมีบุคคลอื่นเข้ามาเกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นความจำเป็นที่องค์กรที่ต้องกำกับดูแลกันเอง เช่น สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย มีหน้าที่ต้องเข้ามาแสวงหาข้อเท็จจริง เป็นเหตุให้มีการตั้งคณะอนุกรรมการแสวงหาข้อเท็จจริงฯ จนได้นำไปสู่ข้อสรุปว่า พบว่ามีองค์กรข่าวแห่งหนึ่งที่บุคคลากรทำงานด้วยความใกล้ชิดสนิทสนม เมื่อยามสนทนากันหรือทำงานร่วมกัน ก็มีการหยอกล้อกันเล่น มีการถูกเนื้อต้องตัวกันบ้างตามประสาคนที่ใกล้ชิด แต่ในช่วงกลางปี 2560 มีเหตุการณ์เป็นประเด็นระหว่างบุคคลสองคน ซึ่งบุคคลหนึ่งได้รับการปลูกฝังมาในเรื่องการให้เคารพต่อผู้ใหญ่ และวัฒนธรรมองค์กรที่ให้ความสำคัญกับผู้บังคับบัญชา จึงมีการดูแลบุคคลอีกคนหนึ่งในลักษณะที่ใกล้ชิดสนิทสนม การให้ความไว้วางใจ ซึ่งมีบางเรื่องที่ความไว้วางใจเป็นเหตุทำให้เกิดความเข้าใจในลักษณะที่เป็นการตีความเข้าข้างตนเองของอีกฝ่ายหนึ่ง จนอาจนำไปสู่ความสุ่มเสี่ยงต่อการคุกคามทางเพศ  เพราะต่างตีความเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นด้วยมุมมองที่แตกต่างกัน ต่อมาได้มีการพูดคุยเพื่อทำความเข้าใจและขอโทษต่อกัน ซึ่งในท้ายที่สุดฝ่ายหนึ่งลาออกจากองค์กรข่าวแห่งนั้น  ต่อมามีบุคคลที่สามนำเรื่องราวที่ไม่ตรงข้อเท็จจริงไปเผยแพร่สู่สาธารณะ  ก่อให้เกิดผลกระทบต่อทั้งสองฝ่าย  โดยที่ทั้งสองฝ่ายยืนยันว่าไม่ติดใจที่จะเอาความต่อกันในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นระหว่างกัน  ทั้งยังกังวลแทนอีกฝ่ายจากการได้รับผลกระทบที่รุนแรงที่ได้รับจากกระแสข่าวที่เกิดขึ้นต่อมา

ประเด็นการสื่อสารการใช้สังคมออนไลน์ในการแพร่กระจายประเด็นและการนำเสนอของสื่อหลักมีความเห็นสอดคล้อง กับรายงานของคณะอนุกรรมการแสวงหาข้อเท็จจริงฯ ที่พบว่า ผู้เกี่ยวข้องในเหตุการณ์ที่ส่วนใหญ่เป็นนักวิชาชีพสื่อสารมวลชน ไม่ใช้การสื่อสารเชิงปรึกษาหารือ หรือการสอบถามข้อเท็จจริงจากคู่กรณีทั้งสองฝ่าย ทั้งอย่างเป็นทางการหรืออย่างไม่เป็นทางการ แต่กลับใช้วิธีการสอบสวนเรื่องราวหรือเหตุการณ์อย่างไม่ครบถ้วนรอบด้าน แล้วสื่อสารความเห็นสู่สาธารณะผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์ทั้งในพื้นที่ในชื่อส่วนบุคคลและชื่อองค์กร จนเป็นเหตุให้มีผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์จำนวนหนึ่งใช้สื่อสังคมออนไลน์สื่อสารขยายเรื่องราวจนเกินเลยไปกว่าข้อเท็จจริงมาก ทั้งในมิติความสัมพันธ์และพฤติกรรมการคุกคามทางเพศ ส่วนการสื่อสารของสื่อหลักพบว่า ส่วนใหญ่ใช้ภาษาที่หวือหวา โดยการเสนอข่าวเชิงกล่าวหาตัดสินพบมากที่สุดในสื่อเว็บไซต์  รองลงมาพบบ้างในสื่อหนังสือพิมพ์รายวัน ขณะที่สื่อโทรทัศน์มีความระมัดระวังในการใช้ภาษา

ประเด็นข้อเสนอต่อการป้องกันและการแก้ไขปัญหาการคุกคามทางเพศในองค์กรสื่อ และการทำหน้าที่ของสื่อต่อประเด็นนี้นั้น เห็นชอบกับข้อเสนอของคณะอนุกรรมการแสวงหาข้อเท็จจริงฯ ที่ว่า บุคลากรวิชาชีพสื่อ ต้องมีความเชื่อมั่นในกลไกการกำกับดูแลกันเอง และมีวิถีปฏิบัติต่อกลไกอย่างเป็นระบบ รวดเร็วทันกาลและด้วยความเสมอภาค ไม่ว่าผู้ถูกกล่าวหาจะมีตำแหน่งหน้าที่ใด ภายใต้หลักการเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่ากระบวนการสอบสวนและพิจารณาข้อเท็จจริงจะเป็นที่สิ้นสุด โดยเฉพาะไม่พึงทำการสื่อสารโดยตรงหรือโดยนัยทางพื้นที่สาธารณะอย่างขาดข้อเท็จจริงรอบด้านหรืออย่างต่อเติม และตัดสิน อันส่งผลต่อความน่าเชื่อถือในวิชาชีพ ขณะที่องค์กรสื่อและองค์กรวิชาชีพสื่อ จำเป็นต้องมีการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจในการปฏิบัติต่อกันอย่างเคารพในสิทธิแห่งตัวตนและร่างกาย โดยเฉพาะในมิติของความละเอียดอ่อนทางเพศภาวะ ทั้งในพฤติกรรมส่วนตัว ทั้งในการสื่อสารในพื้นที่ส่วนตัวแต่อย่างแสดงตัวตนความเป็นนักวิชาชีพสื่อ ไปจนถึงการสื่อสารในทางวิชาชีพทั้งด้านข่าวและอื่นๆ อีกทั้งยังเสนอให้องค์กรวิชาชีพสื่อ ร่วมกันพัฒนามาตรการหรือแนวทางปฏิบัติในทางจริยธรรม เกี่ยวกับการปฏิบัติอย่างเหมาะสมในทางความสัมพันธ์ในองค์กรวิชาชีพสื่อ วิธีการติดตามเฝ้าระวังการปฏิบัติอย่างเหมาะสมเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างเพศที่แตกต่างในองค์กรวิชาชีพสื่อ การปฏิบัติอย่างเที่ยงตรง เหมาะสม ชัดเจนในการสื่อสารทางออนไลน์ การทำหน้าที่ของสื่อเพื่อนำเสนอเนื้อหาในประเด็นทางเพศอย่างระมัดระวัง การนำข้อมูลจากสื่อออนไลน์ไปนำเสนอทางสื่อหลัก ที่หมายถึงสื่อหลักเดิมและสื่อออนไลน์ โดยเฉพาะการใช้สื่อออนไลน์เพื่อเปิดประเด็นหรือสร้างกระแส แล้วเชื่อมโยงหรือนำไปสู่การผลิตซ้ำในสื่อหลัก ที่ส่งผลในเชิงความเสื่อมเสียต่อชื่อเสียงของบุคคลและองค์กรวิชาชีพ

คณะกรรมการบริหารสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ได้ประชุมร่วมกันเพื่อพิจารณารายงานสรุปของอนุกรรมการแสวงหาข้อเท็จจริงฯ แล้ว และมีมติเห็นชอบกับข้อสรุปดังกล่าว

สมาคมนักข่าวฯ ยังตระหนักดีว่า กรณีนี้ได้ส่งผลกระทบต่อการทำหน้าที่ขององค์กรสื่อสารมวลชน นักวิชาชีพสื่อมวลชนโดยรวม จึงรับข้อเสนอแนะของคณะอนุกรรมการแสวงหาข้อเท็จจริงฯ ต่อการป้องกันและแก้ไขปัญหาการคุมคามทางเพศในองค์กรสื่อและการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน โดยจะส่งผลสรุปและข้อเสนอแนะของอนุกรรมการแสวงหาข้อเท็จจริงให้องค์กรวิชาชีพสื่อ เพื่อดำเนินการตามความเหมาะสม และจะมีการหารือกับองค์กรวิชาชีพสื่อที่เกี่ยวข้อง เพื่อดำเนินการสร้างความเชื่อมั่นในกลไกการกำกับดูแลกันเอง และมีวิถีปฏิบัติต่อกลไกอย่างเป็นระบบ รวดเร็วทันกาล ด้วยความเสมอภาคต่อไป

คณะกรรมการบริหาร สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

29 มกราคม 2561

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net