Skip to main content
sharethis

31 ม.ค. 2561 บัลลังก์ 1 ศาลชั้นต้น จังหวัดพล ขอนแก่น ได้อ่านคำพิพากษาจำคุก 6 วัยรุ่น ชาวอำเภอ ชนบท จ.ขอนแก่นในคดีเผาซุ้มเฉลิมพระเกียรติ โดยเหตุเกิดที่ อ.พล ตามความผิดประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และข้อหาเป็นอั้งยี่, เป็นซ่องโจร, ร่วมกันวางเพลิงเผาทรัพย์ของผู้อื่น และทำให้เสียทรัพย์ ทั้งสิ้น 5 ข้อหา รวมทั้งสิ้น 10 ปี แต่เนื่องจากจำเลยทั้ง 6 คน ให้การรับสารภาพ จึงให้ลดลงกึ่งหนึ่ง และจำเลยที่ 1,3-6 มีอายุ 18 ปี ไม่เกิน 20 ปี จึงให้ลดอีก 1 ใน 3 เหลือ 2 ปี 16 เดือน ส่วนจำเลยที่ 2 ในขณะที่เกิดเหตุมีอายุครบ 20 ปีแล้ว จึงไม่ได้ลดโทษจากเกณฑ์อายุให้จำคุก 5 ปี โดยไม่รอลงอาญา

คดีนี้ มีผู้ถูกกล่าวหาทั้งสิ้น 11 คน ส่วนใหญ่เป็นเด็กและวัยรุ่น อายุ 14 ปี ถึง 20 ปี 

สำหรับกรณีการเผาซุ้มเฉลิมพระเกียรติ ในจังหวัดขอนแก่น ถูกแยกออกเป็น 3 คดี จาก 3 เหตุการณ์คือ กรณีการเตรียมการวางเพลิงที่ศาลได้ตัดสินไปแล้ว และคดีเผาซุ้มอีก 2 กรณี ซึ่งศาลได้ตัดสินในวันนี้เป็นกรณีแรกโดยมีจำเลย 6 คน ในส่วนของกรณีการเผาในจุดที่สอง มีจำเลย 4 คน ศาลยังไม่ได้ตัดสิน

ในส่วนของเยาวชนอายุ 14 ปี ถูกแยกไปพิจารณาความผิดในฐานที่เป็นเยาวชน เป็นการพิจารณาลับ จึงไม่มีรายงานความคืบหน้าคดีเผยแพร่ในทางสาธารณะ

(เพิ่มเติม) หลังจบการพิจารณาคดีแรก เวลาประมาณ 11.00 น. ได้มีการเบิกตัวจำเลยที่ 1-4 ไปยังห้องพิจารณาคดีที่ 2 เพื่ออ่านคำพิพากษาในข้อหาเดียวกัน แต่เหตุเกิดที่พื้นที่ อ.ชนบท จ.ขอนแก่น โดยศาลได้อ่านคำพิพากษา ให้จำคุกจำเลยทั้งหมดจาก 4 ข้อหา 3 กระทง เป็นเวลา 13 ปี จำเลยทั้งหมดให้การรับสารภาพลดกึ่งหนึ่ง เหลือ 6 ปี 6 เดือน จำเลยที่ 1,3,4 อายุเกิน 18 แต่ยังไม่เกิน 20 ปี ให้ลดอีก 1/3 คงเหลือ 4 ปี 4 เดือน โดยให้นับโทษต่อจากคดีแรก

โดยสรุปแล้ว  จำเลยที่ 1,3,4 ต้องโทษจำคุกทั้งหมดเป็นเวลา  7 ปี 8 เดือน จำเลยที่ 2 ต้องโทษจำคุก 11 ปี 6 เดือน ในส่วนจำเลยที่ 5,6 มีความผิดในเหตุการณ์เดียว ต้องโทษจำคุก 3 ปี 4 เดือน โดยทั้งหมดไม่ให้รอลงอาญา

สำหรับคดี ม.112 นับรวมกับข้อหาวางเพลิงเผาทรัพย์ ถือเป็นกรรมเดียวผิดกฏหมายหลายบท ให้ลงโทษตาม ม.112 อันเป็นกฎหมายบทที่มีโทษสูงสุด ในคดีแรก ศาลสั่งให้จำคุก 7 ปี ในส่วนของคดีที่สอง ศาลพิพากษาจำคุก 10 ปี ก่อนที่จะลดหย่อนจากการยอมสารภาพ และจากช่วงวัยของจำเลย

ก่อนการอ่านคำพิพากษา ผู้พิพากษาได้อ่านรายงานของพนักงานคุมประพฤติได้รับมอบหมายให้ไปทำรายงานสืบเสาะและพินิจประวัติของจำเลยเพื่อประกอบคำตัดสิน โดยการไปพูดคุยกับตัวผู้ต้องขัง จำเลยและคนในชุมชน ในรายงานดังกล่าว มีความสนับสนุนให้ลงโทษโดยการจำคุกเพื่อให้หลาบจำโดยการนำประวัติการดื่มสุรา การเสพย์ยาเสพติดของผู้ต้องขังมาเป็นเหตุผลประกอบ ซึ่งข้อมูลดังกล่าวส่วนหนึ่งผู้ต้องขังได้เล่าให้ฟังด้วยความไว้วางใจว่าการสืบเสาะความประพฤติเป็นไปเพื่อช่วยเหลือให้โทษหนักเป็นเบา

อีกทั้งการพิพากษา ยังได้ตัดสินในส่วนแพ่งของคดีอาญา โดยได้ให้จำเลยที่  1-4 ได้ชำระค่าเสียหายของซุ้มเฉลิมพระเกียรติที่ อ.ชนบท เป็นเงินจำนวน 958,000 บาท โดยที่ศาลได้พิจารณาเรื่องการขอให้หักค่าเสื่อมสภาพทรัพย์สินจากทนายแล้ว แต่เห็นว่า  ซุ้มฯ ดังกล่าวสร้างขึ้นเพื่อให้ประชาชนแสดงความจงรักภักดีต่อสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ เป็นที่เคารพสักการะ ย่อมไม่อาจนำค่าเสื่อมราคามาพิจารณาได้เยี่ยงวัสดุหรือสิ่งปลูกสร้างทั่วไป ไม่มีเหตุลดหย่อนค่าเสียหายทางแพ่ง ให้กับจำเลยทั้ง 4 

ทั้งนี้ตลอดทุกนัดในการพิจารณาคดี ได้มีการตีตรวนขนาดใหญ่ผู้ต้องขังในคดีนี้ทั้งหมด โดยไม่ได้มีเชือกผูกเพื่อให้ใช้มือดึงตรวนขึ้นในขณะที่เดินมาศาล ผู้ต้องขังจึงต้องก้มตัวลงมาจับตรวนยกขึ้นเพื่อให้การเคลื่อนตัวไปข้างหน้าเป็นไปได้โดยสะดวก 

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ให้ข้อมูลภูมิหลังของจำเลยทั้ง 6 คนว่า จำเลยที่ 1 อาศัยอยู่กับแม่เพียงคนเดียว เนื่องจากพ่อเสียชีวิตตั้งแต่เขายังเล็ก จำเลยที่ 2, 4 และ 5 พ่อแม่หย่าร้างกันนานมาแล้ว จำเลยที่ 2 และ 4 อยู่กับแม่และน้อง ขณะจำเลยที่ 5 อาศัยอยู่กับยาย และจำเลยที่ 6 อาศัยอยู่อา เนื่องจากพ่อและแม่ไปทำงานอยู่ที่กรุงเทพฯ ครอบครัวทั้งหมดมีอาชีพรับจ้างทั่วไป และทำนา มีรายได้ไม่มากนัก ทำให้จำเลยที่ 1 และ 2 ซึ่งจบ ปวช.แล้ว ไม่ได้เรียนต่อ และได้ขวนขวายทำงานเลี้ยงตัวเองและช่วยเหลือครอบครัว โดยจำเลยที่ 1 รับจ้างซ่อมรถจักรยานยนต์อยู่กับบ้าน ส่วนจำเลยที่ 2 เข้ากรุงเทพฯ ทำงานรับจ้างได้ 1 ปี เพิ่งกลับมาบ้านก่อนกระทำผิด ขณะจำเลยที่ 3 ยังเรียน ปวช. อยู่ และจำเลยที่ 4 เพิ่งสมัครเข้าเรียน ปวส. ส่วนจำเลยที่ 5 และ 6 กำลังเรียน กศน.
 
ศูนย์ทนายฯ ระบุด้วยว่า จากการสอบถามข้อเท็จจริงในคดี จำเลยทั้ง 6 เปิดเผยว่า พวกเขาไม่เคยสนใจเรื่องการเมือง ไม่เคยดูข่าว ที่รับทำงานเพราะแค่อยากได้ค่าจ้าง และถ้าหมู่บ้านจะพัฒนาขึ้นก็ดี แต่ไม่ได้ทำเพราะเห็นคล้อยตามผู้ว่าจ้างที่ชักจูงหว่านล้อมให้พวกเขาทำงานด้วยการโจมตีรัฐบาล คสช. หรือวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ พวกเขากลับเห็นว่าเป็นเรื่องใหญ่เกินตัว จนถึงไร้สาระ และไม่ได้ให้ความสนใจ ส่วนผู้ว่าจ้างนั้นเป็นคนบ้านเดียวกับจำเลยที่ 1-4  เคยเห็นกันมาตั้งแต่เป็นเด็ก แต่ไม่เคยได้พูดคุยกัน มีเพียงจำเลยที่ 1 และ 2 ที่เคยทำงานที่โรงงานผลิตเครื่องดื่มสมุนไพรของเขาในช่วงสั้นๆ แต่ก็แค่ทักทายกัน ไม่ได้ถึงขั้นพูดคุยสนิทสนม ส่วนจำเลยที่ 5 และ 6 ไม่เคยรู้จักผู้ว่าจ้างเลย
 
ศูนย์ทนายฯ ตั้งข้อสังเกตว่า คดีทั้งสองนี้ อาจไม่ใช่กรณีที่จำเลยใช้เสรีภาพในการแสดงออกโดยสันติ แต่อย่างไรก็ดี หากประมวลเรื่องราวในคดีแล้ว ก็พอจะเห็นได้ว่า นี่เป็นผลพวงของความขัดแย้งทางการเมืองที่คุกรุ่นอยู่ในสังคมไทยอยู่ในปัจจุบัน หากแต่ฝ่ายที่ตรงข้ามกับรัฐ ถูกกดปราบ ปิดกั้น ไม่ได้รับการส่งเสริมให้แสดงออกอย่างสันติ และเท่าเทียมกับฝ่ายรัฐ โดยเฉพาะในช่วงหลังรัฐประหาร 3 ปีกว่ามานี้ ทำให้คนกลุ่มแรกหันไปเลือกใช้วิธีการที่ไม่ได้อยู่ในกรอบของกฎหมาย ซึ่งทำให้ต้องปกปิดการกระทำโดยการใช้ผู้อื่นทำแทน จนนำมาสู่การที่วัยรุ่นกลุ่มหนึ่ง ซึ่งเป็นวัยที่มีอนาคตและเป็นกำลังในการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม ต้องถูกดำเนินคดีและคุมขังอยู่ในเรือนจำแทนอย่างน่าเสียดาย
 
รายละเอียดคำพิพากษาจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน
 

คดีหมายเลขดำที่ อ.1267/2560

โจทก์  นายบุญช่วง สุโพธิ์ พนักงานอัยการจังหวัดพล 

จำเลย  นายไตรเทพ (นามสมมติ) และพวกรวม 6 คน 

ผู้พิพากษา  นายเพิ่มศักดิ์ สุริยวนากุล

ข้อหา เป็นอั้งยี่, เป็นซ่องโจร, ร่วมกันวางเพลิงเผาทรัพย์ของผู้อื่น, ร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ และร่วมกันหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ฯ (มาตรา 112) 

พฤติการณ์ วางเพลิงเผาซุ้มเฉลิมพระเกียรติรัชกาลที่ 10 ใน ต.หินตั้ง อ.บ้านไผ่ จนซุ้มได้รับความเสียหายบางส่วน

คำให้การของจำเลย   รับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา

คำพิพากษา จำเลยทั้ง 6 มีความผิดตามฟ้อง (ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, 217, 358, 209 วรรคแรก, 210 วรรคสอง) การกระทำของจำเลยทั้ง 6 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ขณะกระทำผิด จำเลยที่ 1, 3-6 มีอายุเกิน 18 ปี แต่ไม่เกิน 20 ปี ลดมาตราส่วนโทษให้กระทงละ 1 ใน 3 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 76 ฐานเป็นอั้งยี่ จำคุกจำเลยที่ 1, 3-6 คนละ 8 เดือน จำเลยที่ 2 จำคุก 1 ปี, ฐานเป็นซ่องโจร จำคุกจำเลยที่ 1, 3-6 คนละ 1 ปี 4 เดือน จำเลยที่ 2 จำคุก 2 ปี, ฐานร่วมกันวางเพลิงฯ, ทำให้เสียทรัพย์ และหมิ่นประมาทฯ พระมหากษัตริย์ฯ เป็นกรรมเดียวผิดกฏหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานหมิ่นฯ พระมหากษัตริย์ฯ อันเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด จำคุกจำเลยที่ 1, 3-6 คนละ 4 ปี 8 เดือน ส่วนจำเลยที่ 2 จำคุก 7 ปี รวมโทษจำคุกจำเลยที่ 1, 3-6 คนละ 5 ปี 20 เดือน ส่วนจำเลยที่ 2 รวมจำคุก 10 ปี  จำเลยรับสารภาพลดโทษให้ครึ่งหนึ่ง คงเหลือโทษจำคุกจำเลยที่ 1, 3-6 คนละ 2 ปี 16 เดือน ส่วนจำเลยที่ 2 คงจำคุก 5 ปี พิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดี ประกอบรายงานการสืบเสาะและพินิจเห็นว่า จำเลยทั้ง 6 ร่วมกันวางเพลิงเผาซุ้มเฉลิมพระเกียรติซึ่งประดิษฐานพระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ 10 อันเป็นที่เคารพสักการะของปวงชนชาวไทย นับเป็นการกระทำที่อุกอาจร้ายแรง ไม่มีเหตุรอการลงโทษ

คำพิพากษาส่วนแพ่ง อบต.หินตั้ง ได้รับค่าเสียหายจำนวน 3,000 บาท จากจำเลยทั้ง 6 แล้ว จึงถอนคำร้องที่ขอให้ศาลบังคับให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหาย

 

คดีหมายเลขดำที่ อ.1268/2560

โจทก์  นายธนสิทธิ์ สีดา พนักงานอัยการจังหวัดพล

จำเลย นายไตรเทพ (นามสมมติ) และพวกรวม 4 คน 

ผู้พิพากษา  นายสรายุทธ อุทุมพร

ข้อหา เป็นอั้งยี่, เป็นซ่องโจร, ร่วมกันวางเพลิงเผาทรัพย์ของผู้อื่น และร่วมกันหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ฯ  

พฤติการณ์ วางเพลิงเผาซุ้มเฉลิมพระเกียรติรัชกาลที่ 9 จำนวน 2 ซุ้ม ใน ต.ชนบท อ.ชนบท จนซุ้มได้รับความเสียหาย ไม่สามารถใช้การได้อีก

คำให้การของจำเลย   รับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา

คำพิพากษา จำเลยทั้ง 4 มีความผิดตามฟ้อง (ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, 217, 209 วรรคแรก, 210 วรรคสอง) การกระทำของจำเลยส่งผลกระทบต่อสถาบันพระมหากษัตริย์อันเป็นที่เคารพเทิดทูนของปวงชนชาวไทย จำเลยกระทำความผิดโดยไม่ยำเกรงต่อกฎหมาย พฤติการณ์มีความร้ายแรง เพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่างจึงสมควรให้ลงโทษสถานหนัก การกระทำของจำเลยทั้ง 4 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ขณะกระทำผิด จำเลยที่ 1, 3 และ 4 มีอายุเกิน 18 ปี แต่ไม่เกิน 20 ปี ลดมาตราส่วนโทษให้กระทงละ 1 ใน 3 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 76 ฐานเป็นอั้งยี่ จำคุกจำเลยที่ 1, 3 และ 4 คนละ 8 เดือน จำเลยที่ 2 จำคุก 1 ปี, ฐานเป็นซ่องโจร จำจำคุกเลยที่ 1, 3 และ 4 คนละ 1 ปี 4 เดือน จำเลยที่ 2 จำคุก 2 ปี, ฐานร่วมกันวางเพลิงฯ และหมิ่นประมาทฯ พระมหากษัตริย์ฯ เป็นกรรมเดียวผิดกฏหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานหมิ่นฯ พระมหากษัตริย์ฯ อันเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด จำคุกจำเลยที่ 1, 3 และ 4 คนละ 6 ปี 8 เดือน จำเลยที่ 2 จำคุก 10 ปี รวมโทษจำคุกจำเลยที่ 1, 3 และ 4 คนละ 7 ปี 20 เดือน ส่วนจำเลยที่ 2 รวม 13 ปี  จำเลยรับสารภาพลดโทษให้ครึ่งหนึ่ง คงเหลือโทษจำคุกจำเลยที่ 1, 3 และ 4 คนละ 3 ปี 16 เดือน ส่วนจำเลยที่ 2 คงเหลือจำคุก 6 ปี 6 เดือน ให้นับโทษต่อจากคดีหมายเลขดำที่ 1267/2560 ริบของกลางคราบน้ำมันดีเซล 1 กระป๋อง

คำพิพากษาส่วนแพ่ง  เห็นควรกำหนดค่าเสียหายตามสัญญาจ้าง ที่จำเลยต่อสู้ว่า ค่าเสียหายไม่เป็นความจริง ต้องนำค่าเสื่อมราคามาคิดด้วยนั้น เห็นว่าการกำหนดค่าเสื่อมราคาต้องพิจารณาจากวัตถุประสงค์ในการก่อสร้างประกอบด้วย เมื่อซุ้มฯ ดังกล่าวสร้างขึ้นเพื่อให้ประชาชนแสดงความจงรักภักดีต่อสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และเคารพสักการะ ย่อมไม่อาจนำค่าเสื่อมราคามาพิจารณาได้เยี่ยงวัสดุหรือสิ่งปลูกสร้างทั่วไป ไม่มีเหตุลดหย่อนค่าเสียหายทางแพ่ง ให้จำเลยทั้ง 4 ร่วมกันชำระค่าเสียหายจำนวน 958,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 12 พ.ค. 60 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่เทศบาลตำบลชนบท  


หมายเหตุ: แก้ไขพาดหัว เพิ่มเติมข้อมูลผลการพิจารณาคดีที่ 2 เมื่อ 1 กุมภาพันธ์ 2561 เวลา 12.00 น.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net