Skip to main content
sharethis

กก.นักนิติศาสตร์สากล-ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนยื่นข้อเสนอต่อ กก.ต่อต้านการทรมานแห่งสหประชาชาติ ชี้รัฐประหาร 22 พ.ค. 57 รธน.-กรอบกฎหมายไทยเพิ่มโอกาสให้เกิดการช่องว่างในการได้รับการยกเว้นความรับผิด

31 ม.ค. 2561 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 29 ม.ค.ที่ผ่านมา คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล (International Commission of Jurists หรือ ICJ) และศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน (Thai Lawyers for Human Rights หรือ TLHR) ได้ยื่นข้อเสนอแนะร่วมต่อคณะกรรมการต่อต้านการทรมานแห่งสหประชาชาติ 

รายงานข่าวแจ้งด้วยว่า คณะกรรมการต่อต้านการทรมานฯ จะทำการพิจารณาประเด็นก่อนการรายงาน (List of issues prior to reporting หรือ LoIPR) สำหรับประเทศไทยในการประชุมครั้งที่ 63 ช่วงวันที่ 23 เม.ย.- 18 พ.ค. นี้ และเมื่อคณะกรรมการต่อต้านการทรมาน รับรอง LoIPR แล้ว ประเด็นดังกล่าวจะถูกส่งไปยังประเทศสมาชิก โดยรายงานสถานการณ์ของประเทศไทยตามประเด็นที่ระบุใน LoIPR จะถือเป็นรายงานความก้าวหน้าของประเทศไทยตามวาระในครั้งที่ 2 ตามพันธกรณีในมาตรา 19 ของอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการประติบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี (Convention against Torture and Other Cruel, Inhuman or Degrading Treatment or Punishment หรือ CAT) 
 
สำหรับข้อเสนอแนะร่วมของ ICJ และ TLHR ต่อคณะกรรมการต่อต้านการทรมาน นี้ ได้เน้นย้ำถึงความกังวลบางประการต่อการปฏิบัติตามพันธกรณีของประเทศไทย โดยข้อเสนอแนะได้แนะคำถามและเสนอแนะให้คณะกรรมการต่อต้านการทรมานฯ รวมข้อคำถามเหล่านี้ไปใน LOIPR เพื่อส่งต่อให้รัฐบาลประเทศไทย ซึ่งรวมถึงประเด็นดังต่อไปนี้:
 
  • ความเป็นจริงที่ว่าตั้งแต่ได้มีการทำรัฐประหารในวันที่ 22 พ.ค. พ.ศ.2557 รัฐธรรมนูญและกรอบกฎหมายในประเทศไทยได้เพิ่มโอกาสให้เกิดการช่องว่างในการได้รับการยกเว้นความรับผิด (Impunity) 
  • ความล้มเหลวในการทำให้การทรมาน การประติบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี หรือการบังคับให้สูญหาย เป็นความผิดทางอาญาตามกรอบกฎหมายภายในประเทศ ตามพันธกรณีของประเทศไทยภายใต้อนุสัญญาฯ และกฎหมายระหว่างประเทศอื่นๆที่เกี่ยวข้อง
  • ความล้มเหลวในการสืบสวนสอบสวนอย่างรวดเร็ว เป็นกลาง และมีประสิทธิภาพ ในหลายกรณีที่น่าเชื่อว่าอาจมีการกระทำการบังคับให้บุคคลสูญหายและรายงานที่ระบุกรณีต้องสงสัยว่าอาจมีการกระทำการทรมานและปฏิบัติโหดร้ายอื่นๆอย่างกว้างขวาง และ
  • การข่มขู่หรือการตอบโต้ต่อบุคคลที่รายงานกรณีที่มีการกล่าวหาว่ามีการทรมาน การปฏิบัติโหดร้าย และการบังคับสูญหาย

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net