Skip to main content
sharethis

ศาลอุทธรณ์พิพากษาจำคุกอดีตนายกสมาคมประมงจังหวัดตรังและพวก 6 คน คนละ 10 ปี ปรับห้างหุ้นส่วนจำกัดบุญลาภการประมง 5 แสนและชดใช้ค่าสินไหมทดแทนรวมจำนวน 1.99 ล้าน ข้อหาร่วมกันค้ามนุษย์แรงงานประมงชาวพม่าจำนวน 15 คน ในพื้นที่อำเภอกันตัง

31 ม.ค. 2561 มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา รายงานว่า วานนี้ (30 ม.ค.61) ศาลจังหวัดตรังได้อ่านคำพิพากษาอุทธรณ์ คดีค้ามนุษย์เลขคดี คม 5-6/2560 ระหว่างพนักงานอัยการ โจทก์ และ ซอหรือเมียวซอเทียนกับพวกรวม 15 คน โจทก์ร่วม กับ สมจิตร ศรีสว่างหรือแมซอ อดีตนายกสมาคมประมงจังหวัดตรัง กับพวกรวม 10 คนและห้างหุ้นส่วนจำกัดบุญลาภการประมง ในข้อหาร่วมกันเป็นธุระจัดหา จัดให้อยู่อาศัย รับไว้ซึ่งบุคคลใด หรือหน่วงเหนี่ยวกักขัง โดยข่มขู่ใช้กำลังบังคับหลอกลวง ผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ ซึ่งเป็นแรงงานข้ามชาติชาวเมียนมาร์ จำนวน 15 คน ซึ่งมีทั้งเด็กที่มีอายุเกินกว่า 15 ปี แต่ไม่เกิน 18 ปี อันมีลักษณะเป็นการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบบังคับใช้แรงงาน จนผู้เสียหายมีความกลัวว่าจะเกิดอันตรายแก่ชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ จึงยินยอมอยู่ในความควบคุมของจำเลยทั้ง 10 คน โดยปราศจากเสรีภาพในร่างกาย และยินยอมเป็นคนทำงานในเรือประมง และความผิดฐานเอาคนลงมาเป็นทาสหรือให้มีฐานะคล้ายทาส

ศาลอุทธรณ์ได้พิพากษาลงโทษจำเลยที่ 6 คนได้แก่ สมจิตร ศรีสว่าง, ไพวงค์ ไชยพลฤทธิ์, สมพล จิโรจน์มนตรี, เมมิว, กัลยาณี ชุมอิน และวิชัย เรียบร้อย มีความผิดอาญา ข่มขืนใจผู้อื่นโดยมีอาวุธ ฐานหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้อื่นหรือกระทำด้วยประการใดให้ผู้อื่นปราศจากเสรีภาพในร่างกาย ฐานเอาคนลงเป็นทาส และฐานร่วมกันค้ามนุษย์โดยร่วมกันกระทำด้วยกันตั้งแต่สามคนขึ้นไป จำคุกคนละ 10 ปี และให้ร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนกับผู้เสียหายเป็นเงิน 1,992,000 บาท และปรับห้างหุ้นส่วนจำกัดบุญลาภการประมง 500,000 บาท นอกจากนี้ ไพวงค์ ไชยพลฤทธิ์ ยังต้องรับโทษตามความผิดฐานครอบครองอาวุธปืนโดยไม่ได้รับอนุญาตอีก 1 ปี รวมจำคุก 11 ปี

โดยคดีนี้ศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาลงโทษจำเลย 6 คน คนละ 14 ปี และให้ชดใช้ค่าเสียหายให้กับผู้เสียหาย รวมเป็นเงินจำนวนทั้งสิ้น 1,992,000 บาท สำหรับห้างหุ้นส่วนจำกัดบุญลาภการประมง ศาลพิพากษาปรับเป็ นเงินจำนวน 600,000 บาท นอกจากนี้ ไพวงค์ ยังต้องรับโทษในข้อหาความผิดฐานมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตจึงต้องรับโทษจำคุกเพิ่มอีก 1 ปี

ณิชกานต์ อุสายพันธ์ ผู้ช่วยผู้ประสานงานโครงการต่อต้านการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน แสดงความเห็นว่า คำพิพากษาอุทธรณ์นี้แสดงให้เห็นถึงวิธีการในการจัดหางานประมงในอุตสาหกรรมประมงไทย ซึ่งมักกระทำโดยผ่านกระบวนการนายหน้าและมีค่าใช้จ่ายในอัตราสูงสำหรับแรงงาน ทำให้แรงงานตกเป็นกลุ่มเสี่ยงในการถูกแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรูปแบบของการสร้างภาระหนี้ที่มากกว่าความเป็นจริงเพื่อบังคับขู่เข็ญให้แรงงานต้องทำงานชำระหนี้ต่อไป รูปแบบการจัดหางานและสร้างภาระหนี้ลักษณะหนี้มีอยู่แพร่หลายในอุตสาหกรรมประมง แต่มักถูกมองว่าเป็นวิธีปฏิบัติทั่วไปเพื่ออำนายความสะดวกในจัดหาแรงงานของนายหน้าและนายจ้าง มากกว่าจะเป็นการใช้ช่องทางเพื่อเอารัดเอาเปรียบและบังคับใช้แรงงาน คำพิพากษาอุทธรณ์นี้เป็นเครื่องยืนยันและชี้เตือนให้ผู้ปฏิบัติหน้าที่ที่เกี่ยวข้องมีความระมัดระวังมากยิ่งขึ้นในการให้ความคุ้มครองช่วยเหลือผู้ที่ตกอยู่ในสภาวะดังกล่าว

มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา ได้สรุปใจความคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ ไว้ดังนี้
 
1.       คำเบิกความของผู้เสียหายเกี่ยวกับพฤติกรรมชักชวน หน่วงเหนี่ยว กักขัง สร้างหนี้ของนางสมจิตร ศรีสว่าง จำเลยที่ 1 และ ไพวงศ์ ไชยพลฤทธิ์ จำเลยที่ 2  มีความสอดคล้องกันและตรงไปตรงมา เชื่อได้ว่าเป็นความจริง การให้ยืมเงินและให้ที่พักไม่ใช่การให้ความช่วยเหลือตามที่อ้าง อีกทั้งฝ่ายจำเลยเป็นผู้เสนอให้ผู้เสียหายอาศัย ใช้บริการต่างๆ และยืมเงินเพื่อให้ผู้เสียหายตกเป็นหนี้ ทั้งยังไม่เคยแสดงบัญชีหนี้ค้างชำระให้ดู จึงมิใช่เรื่องทางการค้าทั่วไประหว่างเจ้าหนี้และลูกหนี้ และเป็นการสร้างภาระหนี้เกินจริงเพื่อเอื้อประโยชน์ต่อการจัดหาแรงงาน อีกทั้งจำเลยที่ 1,2 ก็ได้รับประโยชน์จากค่าแรงของผู้เสียหาย จึงเป็นการร่วมกันกระทำความผิดตามที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัย ส่วนนางสาวกัลยาณี ชุมอิน จำเลยที่ 9 และ แมมิว จำเลยที่ 10 ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้มีความผิดฐานร่วมกันค้ามนุษย์ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
 
2.       คำเบิกความของผู้เสียหายแสดงให้เห็นว่า สมพล จิโรจน์มนตรี จำเลยที่ 3  และห้างหุ้นส่วนจำกัดบุญลาภการประมง จำเลยที่ 10 ว่าได้รับประโยชน์จากนางสมจิตร ในการจัดหาแรงงาน และนางสมจิตรกับสามีก็ได้รับเงินค่าจ้างที่จำเลยที่3 และ 10 จากการจ่ายให้กับผู้เสียหาย ทั้งนี้จำเลยที่ 3 และ 10 ประกอบกิจการประมงมานานย่อมทราบถึงปัญหาเรื่องการบังคับใช้แรงงาน และต้องใช้ความระมัดระวัง การที่จำเลยที่ 3 และ 10 รับแรงงานมาจากนางสมจิตร ก็เพื่ออาศัยประโยชน์ในการควบคุมแรงงาน หากไม่มีผลประโยชน์ร่วมคงไม่ยอมให้นางสมจิตรและ ไพวงศ์ เข้ามาอยู่ในบริเวณพื้นที่ของตน ฟังได้ว่าจำเลยที่ 3 และ 10 ร่วมกับจำเลยอื่น ๆ กระทำความผิด
 
3.       คำเบิกความผู้เสียหายมีน้ำหนักฟังได้ว่า วิชัย เรียบร้อย จำเลยที่ 4 มีพฤติการณ์ทำร้ายผู้เสียหาย ให้เกรงกลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิตหากหลบหนี อีกทั้งยังมีหลักฐานการติดต่อกับนางสมจิตร จึงเห็นได้ว่าการกระทำของจำเลยที่ 4 ไม่ใช่การทำหน้าที่รักษาความปลอดภัยโดยทั่วไป เนื่องจากจำเลยที่ 4 ไม่มีอำนาจใดๆ จะหน่วงเหนี่ยว กักขัง ใช้กำลังประทุษร้ายโจทก์ร่วม พฤติการณ์เหล่านี้จึงแสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 4 ร่วมกระทำความผิดค้ามนุษย์ จากเดิมที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
 
4.       คำเบิกความของโจทก์ร่วมว่าพฤติการณ์ของ ประวิทย์ กิ้มซ้าย จำเลยที่ 8 ที่ใช้ปืนขู่แรงงานบนเรือนั้นเกิดจากมีแรงงานที่เมาสุรา จำเลยที่ 8 จึงต้องใช้ปืนขู่ระงับเหตุ และฟังได้ว่าเหตุการณ์เกิดขึ้นครั้งเดียว ฟังไม่ได้ว่าเป็นการบังคับใช้แรงงาน ให้พิพากษายกฟ้อง
 
5.       จำเลยอีก 4 คนที่เหลือศาลอุทธรณ์พิพากษาตามศาลชั้นต้นกล่าวคือ ไต๋ก๊งที่ทำหน้าที่อยู่บนเรือนั้นไม่มีหลักฐานยืนยันว่ามีส่วนร่วมกระทำความผิดให้พิพากษายกฟ้อง

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net