Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาผมมีโอกาสได้ชมภาพยนตร์ที่ดีมากเรื่องหนึ่ง คือ “The Post” ซึ่งสร้างจากเรื่องจริงที่เกิดขึ้นในตอนต้นของทศวรรษที่ 1970s โดยเป็นการต่อสู้กันในเรื่องของเสรีภาพของสื่อตามรัฐธรรมนูญอเมริกันฉบับแก้ไขครั้งที่ 1(first amendment)กับอำนาจของฝ่ายบริหารในด้านความมั่นคงของชาติที่เกี่ยวข้องกับสงครามเวียดนาม จนนำไปสู่จุดจบของประธานาธิบดีนิกสันในกรณีอื้อฉาว คือ คดีวอเตอร์เกต ซึ่งเป็นผลให้นิกสันต้องลาออกก่อนถูกถอดถอน (impeachment) ในที่สุด

The Post สร้างและกำกับโดย Steven Spielberg และนำแสดงโดย Meryl Streepซึ่งแสดงเป็น Katherine Graham เจ้าของหนังสือพิมพ์ The Washington Postโดยสืบทอดมาจากบิดาของเธอและส่งต่อมายังสามีของเธอที่ฆ่าตัวตายไปและ Tom Hanks ซึ่งแสดงเป็น Ben Bradlee หัวหน้ากองบรรณาธิการ(editor in chief) โดยเรื่องราวของThe Post นี้เป็นเรื่องราวของการพยายามตีพิมพ์เอกสารของกระทรวงกลาโหม สหรัฐอเมริกา (Pentagon) ซึ่งเป็นเอกสารลับสุดยอดที่เกี่ยวกับรัฐบาลสหรัฐอเมริกาในสงครามเวียดนามที่รัฐบาลปกปิดความจริงที่ว่าสหรัฐฯ นั้นไม่มีทางชนะสงครามแต่ยังส่งคนไปตายอีกมากมาย

เรื่องเริ่มต้นจากการที่ Daniel Ellsberg นักวิเคราะห์ทางทหารของกระทรวงการต่างประเทศได้ร่วมเดินทางไปสังเกตการณ์จริงในการสู้รบของทหารอเมริกันกับทหารเวียดกงในภาคสนาม ซึ่งพบว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมในสมัยนั้นคือ Robert Macnamara ทั้งๆที่สอบถามความเห็นของตนเองในระหว่างการเดินทางกลับประเทศโดยเครื่องบินไปด้วยกัน แต่กลับให้สัมภาษณ์อย่างลวงโลกว่าสงครามเวียดนามของฝ่ายสหรัฐอเมริกากำลังก้าวหน้าไปด้วยดี จึงทำให้เขาผิดหวังมาก

อีกหลายปีต่อมาในขณะที่ Ellsberg เปลี่ยนหน้าที่ไปทำงานเป็นผู้ประสานงานกับทหารในฐานะพลเรือนของบริษัท RAND Corporation ได้ลักลอบถ่ายสำเนาเอกสารเกี่ยวกับสงครามเวียดนามซึ่งย้อนหลังไปกว่า 20 ปีครอบคลุมช่วงเวลาของประธานาธิบดีสหรัฐฯถึง 4 คน ตั้งแต่สมัยประธานาธิบดีทรูแมนเป็นต้นมาว่ารัฐบาลสหรัฐฯ จงใจส่งคนไปตายในสงครามทั้งๆ ที่รู้แต่ต้นว่าจะไม่มีทางชนะ เพียงเพื่อรักษาหน้าตาของประเทศ ซึ่งไม่ใช่เพียงประธานาธิบดีคนใดคนหนึ่ง แต่ลากไส้มาได้หมดทุกประธานาธิบดีที่ครองตำแหน่ง

โดย Ellsberg ได้ส่งสำเนานี้ให้แก่นักข่าวของนักหนังสือพิมพ์ The New York Times ตีพิมพ์ แน่นอนว่านิกสันย่อมไม่ยอมให้ใครทำลายความน่าเชื่อถือของเขา จึงใช้ทั้งพลังมืดและอำนาจตามกฎหมายสั่งให้สื่อหุบปากหยุดตีพิมพ์เรื่องดังกล่าวด้วยข้อหาภัยต่อความมั่นคง จน The New York Times ต้องระงับการพิมพ์โดยคำสั่งของศาลชั้นต้น

Ben Bagdikian ผู้ช่วยบรรณาธิการของ Bradlee แกะรอยจนเจอ Ellsberg และเขาก็ได้สำเนาเอกสารชุดเดียวกันที่ส่งให้ The New York Times ซึ่ง Bradlee ตัดสินใจที่จะตีพิมพ์ แต่ต้องผ่านการตัดสินใจอย่างยากลำบากเพราะต้องเผชิญกับอุปสรรคหลายด้าน โดยฝ่ายกฎหมายเห็นว่าแหล่งข่าวที่ได้มานี้เป็นแหล่งข่าวเดียวกันกับของ The New York Times ซึ่งถูกศาลห้ามไว้ และที่สำคัญก็คือในขณะนั้น Katherine ซึ่งเป็นเจ้าของ The Washington Post ได้นำหุ้นเข้าตลาดหลักทรัพย์เพื่อเสนอขายหุ้นใหม่แก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO - Initial Public Offering) ซึ่งเป็นการเสี่ยงมากที่จะประสบความล้มเหลวได้หากมีการตีพิมพ์ข่าวนี้ออกไป กอปรกับ Katherine เองก็เป็นเพื่อนสนิทของ Macnamara อีกด้วย

แต่ในท่ามกลางการสบประมาทเธอที่เป็นผู้หญิงซึ่งในยุคนั้นยังไม่ได้การยอมรับการเป็นผู้นำองค์กรโดยเฉพาะอย่างองค์กรสื่อและการคัดค้านจากกรรมการบริหารฯ ที่สำคัญอีกหลายคน  แต่ในที่สุดด้วยความกล้าหาญและจิตวิญญาณของความเป็นสื่อที่แท้จริง เธอตัดสินใจอนุญาตให้มีการตีพิมพ์ข่าวดังกล่าวและพร้อมเผชิญหน้าต่อผลที่ตามมา ซึ่งหนังสือพิมพ์ทั่วทั้งประเทศสหรัฐอเมริกาก็นำข่าวเหล่านี้ไปตีพิมพ์ต่ออย่างกว้างขวาง

แน่นอนว่าประธานาธิบดีนิกสันให้ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมติดต่อมาให้ระงับการตีพิมพ์โดยอ้างความมั่นคงของชาติ ซึ่งในที่สุดเรื่องของทั้ง The Washington Post และ The New York Times ก็ไปถึงการพิจารณาของศาลสูงสุดของสหรัฐอเมริกา (The Supreme Court of the United States – SCOTUS) (ซึ่งผู้พิพากษาฯถูกเสนอชื่อแต่งตั้งโดยประธานาธิบดีด้วยความเห็นชอบของวุฒิสภา) ได้มีมติ 6-3 วินิจฉัยว่าสื่อสามารถตีพิมพ์เอกสารดังกล่าวได้ นับว่าเป็นชัยชนะของสื่อและสิทธิเสรีภาพของประชาชนชาวอเมริกันที่มีต่อรัฐบาลของเขาที่ปกปิดและหลอกลวงประชาชนของตนเองมาโดยตลอด ที่น่าประทับใจที่สุดก็คือคำวินิจส่วนตนของผู้พิพากษาท่านหนึ่งซึ่งผมจำชื่อไม่ได้ (คงต้องไปดูอีกรอบ) ได้กล่าวว่า “สื่อต้องรับใช้ประชาชน มิใช่รัฐบาล”


มองเขา มองเรา

จากกรณีนี้เราจะเห็นได้ว่าสื่อที่แท้จริงหรือสื่อที่กล้าหาญและยืนหยัดต่ออุดมการณ์นั้นเป็นอย่างไร บทบาทและอำนาจหน้าที่ของรัฐบาลและศาลในสังคมเสรีประชาธิปไตยที่ประชาชนเป็นกำหนดตัวแทนของเขาด้วยบัตรเลือกตั้งนั้นเป็นอย่างไร สิทธิเสรีภาพของสื่อและประชาชนในสังคมประชาธิปไตยที่เป็นนิติรัฐนิติธรรมนั้นเป็นอย่างไร แน่นอนว่านักการเมืองของเขามีทั้งคนดีและคนไม่ดี แต่ระบบการตรวจสอบที่มีประสิทธิภาพสามารถเอาคนผิดมาลงโทษหรือเอาออกจากตำแหน่งได้

เมื่อหันกลับมาดูบ้านเราในขณะนี้ สื่อต่างประคับประคองตัวเพื่อให้ตนเองอยู่รอดปลอดภัยทั้งจากภาวะเศรษฐกิจและการคุกคามจากรัฐ มิหนำซ้ำบางรายหันไปซบกับรัฐเอาเสียดื้อๆ ส่วนรัฐนั้นเล่าก็ทำทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นกฎหมายธรรมดา กฎหมายพิเศษ มาตรการทั้งหนักและเบาที่จะจำกัดสิทธิเสรีภาพของสื่อและประชาชน ส่วนทางด้านศาลเองก็ตามหลังจากที่รับรอง “อำนาจรัฐประหารว่าเป็นอำนาจรัฎฐาธิปัตย์” มาอย่างยาวนาน แต่หลังๆก็เลี่ยงไม่ใช้คำนี้ โดยหันไปใช้คำว่า “รัฐธรรมนูญฯ (ชั่วคราว-ที่ออกโดยคณะรัฐประหาร) ได้รับรองไว้” แทน และบางคดีเช่นคดีประชามติก็มีการยกฟ้อง และล่าสุดที่พอจะเป็นความหวังเหมือนหยดน้ำกลางทะเลทรายก็คือการมีคำสั่งกำหนดวิธีการชั่วคราวก่อนการพิพากษาของศาลปกครองกลางในคดี We Walk ว่าสามารถทำได้

อำนาจมีได้ก็หมดได้ สื่อที่ประคองตัวโดยอ่อนลู่ไปตามลมอาจอยู่ได้แต่ไม่มั่นคงถาวร แต่สื่อที่มีจุดยืนที่มั่นคงและสิทธิเสรีภาพของประชาชนไม่ว่าจะผ่านสื่อหรือการชุมนุมหรือการแสดงความคิดเห็นนั้นย่อมดำรงอยู่ได้เสมอ แม้ในบางครั้งอาจจะต้องเจอแรงเสียดทานบ้าง

อย่าลืมว่านาฬิกานั้นแม้จะถูกหมุนกลับไปไกลเท่าใดหรือแม้ว่าจะถูกถอดปลั๊กออกก็ตาม แต่เมื่อเริ่มเดินใหม่หรือเสียบปลั๊กใหม่ย่อมเดินไปข้างหน้าเสมอครับ

 


หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกในกรุงเทพธุรกิจฉบับประจำวันพุธที่ 31 มกราคม 2561
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net