Skip to main content
sharethis

‘ศรีประภา เพชรมีศรี’ เล่าแนวโน้มการย้ายถิ่นเพื่อหางานของประชากรในอาเซียน สังคมสูงวัยจะต้องการแรงงานมากขึ้นแต่ยังขาดนโยบายรับมือการย้ายถิ่นระยะยาว แม้อาเซียนจะคุ้มครองสิทธิแรงงานย้ายถิ่นแต่คนตัดสินยังคงเป็นชาติสมาชิก หลักการใหญ่ของอาเซียนเป็นปัญหาต่อประสิทธิภาพและความรวดเร็วในการดำเนินการ

ศรีประภา เพชรมีศรี (ที่มา:Facebook/YALPI 2018)

8 ก.พ. 2561 ที่อาคารเฉลิมราชกุมารี 60 พรรษา โครงการ Young ASEAN Leaders Policy Initiative (YALPI) จัดเวทีอภิปรายของนักศึกษาคณะรัฐศาสตร์นานาชาติภายใต้หัวข้อ “การสร้างเสริมความเป็นธรรมทางสังคมที่เข้มแข็งผ่านการจัดทำเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน” โดยมี ศรีประภา เพชรมีศรี อาจารย์ประจำศูนย์สิทธิมนุษยชนศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้แทนไทยในคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (AICHR) คนแรก มาเป็นวิทยากรในประเด็น“Migration including statelessness and citizenship in ASEAN (การย้ายถิ่นรวมถึงสภาวะไรรัฐและสัญชาติในอาเซียน)”

ศรีประภากล่าวว่า แนวโน้มประชากรในอาเซียนในอีกสองทศวรรษข้างหน้าคาดว่าจะยังคงมีการเติบโตขึ้น แต่จะต่ำกว่าค่าอัตราค่าเฉลี่ยของโลก ภายในปี ค.ศ.2030 (พ.ศ.2573) ประเทศอาเซียนที่จะมีประชากรมากกว่า 100 ล้านคนคืออินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์และเวียดนาม อัตราการเกิดในเอเชียและอาเซียนที่ลดลงในอนาคตและพัฒนาการในด้านสาธารณสุขที่ทำให้คนมีอายุยืนขึ้นหมายถึงการกลายสภาพเป็นสังคมสูงวัย โดยคาดว่าไทยและสิงคโปร์จะเป็นประเทศที่มีอัตราผู้สูงวัยมากที่สุด ส่วนลาวและฟิลิปปินส์จะมีอัตราประชากรสูงวัยต่ำที่สุด

ศรีประภากล่าวต่อว่า แนวโน้มอัตราส่วนประชากรบ่งชี้ว่าประเทศที่มีอัตราส่วนผู้สูงอายุน้อยจะเป็นประเทศที่ยังคงส่งออกแรงงานออกไปในตลาดแรงงานภูมิภาคและระดับโลก แต่ว่าเหตุผลที่เป็นปัจจัยในการตัดสินใจของแรงงานให้ออกนอกประเทศนั้นคงมีมากไปกว่าเรื่องอัตราส่วนประชากร ทางองค์การแรงงานระหว่างประเทศหรือ ILO รายงานว่า ปัจจัยเรื่องเศรษฐกิจและสังคมก็มีผลเช่น เหตุผลเรื่องความไม่เท่าเทียมกันของรายได้และโครงสร้างพื้นฐานในแต่ละประเทศ ประเทศอย่างบรูไน มาเลเซีย ไทย สิงคโปร์ กำลังพบเจอกับปัญหาการขาดแคลนแรงงานจากคนในท้องถิ่น ไม่เพียงแต่อัตราส่วนผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้น การเติบโตของเศรษฐกิจทำให้ความต้องการแรงงานเพิ่มขึ้น และงานในบางภาคส่วนเช่น ประมง เกษตรกรรม สิ่งทอ ที่แรงงานในประเทศไม่ต้องการทำงานต่อไป ก็เป็นปัจจัยผนวกที่ทำให้แรงงานในประเทศที่มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจน้อยกว่าเลือกย้ายถิ่นเพื่อหางานทำ ตามรายงานพบว่า แรงงานมักเลือกเดินทางไปยังประเทศเพื่อนบ้านเพราะความใกล้เคียงทางภูมิศาสตร์ ชาติพันธุ์ วัฒนธรรม และการควบคุมเขตแดนอย่างไม่มีประสิทธิภาพของประเทศปลายทาง

สืบเนื่องจากการย้ายถิ่นดังกล่าว ถ้าประเทศสมาชิกอาเซียนขาดนโยบายรับมือกับแรงงานข้ามชาติในระยะยาว  แรงงานที่เข้ามาแบบไม่เป็นทางการ หรือเข้ามาอย่างผิดกฎหมายจะเจอปัญหาหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นการส่งกลับ การเลือกปฏิบัติหรือการถูกกักตัว ทั้งนี้ แรงงานข้ามชาติจำนวนราวครึ่งหนึ่งนั้นทำงานอยู่ในภาคเศรษฐกิจที่ไม่เป็นทางการ จึงทำให้สถานการณ์ของแรงงานอยู่ในสภาวะเปราะบาง

อาเซียนไม่ใช่ของเรา #1: รัฐแสดงนำ ภาคประชาชนที่ไม่มีส่วนร่วม และเอ็นจีโอปลอม

อาเซียนไม่ใช่ของเรา#2: อธิปไตย กติกาภูมิภาคกับสิทธิมนุษยชนในฐานะเสือกระดาษหลับ

อาจารย์จาก ม.มหิดล กล่าวว่า แม้การย้ายถิ่นไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่อาเซียนก็ไม่มีนโยบายที่แน่ชัดเพื่อพิทักษ์สิทธิของแรงงานข้ามชาติ หากพิจารณาตามเสาหลักของประชาคมอาเซียนทั้งสามเสาจะเห็นว่า เสาด้านการเมืองและความมั่นคงมีการติดตามการย้ายถิ่นของมนุษย์ แต่ก็ทำเพื่อป้องกันอาชญากรรมและการค้ามนุษย์ข้ามชาติ เสาด้านเศรษฐกิจอำนวยความสะดวกในการเคลื่อนย้ายของแรงงานที่มีทักษะบางประเภท เสาสังคมและวัฒนธรรมให้ความสำคัญกับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ส่งเสริมให้มีสวัสดิการต่างๆ แต่สถานการณ์ของแรงงานในภาคส่วนเศรษฐกิจที่ไม่เป็นทางการ และแรงงานข้ามชาติที่ไม่จดทะเบียนยังคงพบเจอปัญหาเรื่องการกดขี่และตกเป็นเหยื่อของกลุ่มค้ามนุษย์  แม้กรอบข้อตกลงของอาเซียนได้ให้คำมั่นสัญญากับกรอบข้อตกลงด้านสิทธิมนุษยชนในระดับนานาชาติแล้ว แต่ข้อตกลงไม่มีข้อผูกพันให้ต้องปฏิบัติจริง สิทธิของแรงงานข้ามชาติยังคงผูกพันอยู่กับกฎหมายและข้อบังคับของแต่ละประเทศสมาชิกอยู่ ดังนั้น อาเซียนจึงต้องพยายามให้มากกว่านี้ เพื่อให้คำมั่นสัญญาที่ให้ไว้สัมฤทธิ์ผล ทั้งนี้ ปัญหาและข้อท้าทายเกี่ยวกับเรื่องแรงงานข้ามชาติจะไม่ได้รับการแก้ไข ถ้าทัศนคติของชาติสมาชิกยังคงมองว่าแรงงานข้ามชาติเป็นบุคคลไม่พึงประสงค์

ต่อคำถามที่ว่า หลักสำคัญของอาเซียนสามประการ (การไม่แทรกแซงกิจการชาติสมาชิกอื่น การปรึกษาและตัดสินใจด้วยฉันทามติ และหลักการร่วมมือแต่ไม่เผชิญหน้า) มีผลกับการที่อาเซียนประสบความล้มเหลวในการบังคับใช้ข้อตกลงระหว่างประเทศต่างๆ ที่ลงนามไว้หรือไม่ ศรีประภาตอบว่าหลักการทั้งสามเป็นปัญหาอย่างยิ่ง หลักการไม่แทรกแซงทำให้สิทธิของแรงงานข้ามชาติไปอยู่ในพื้นที่การพิจารณาตามกฎหมายของแต่ละชาติสมาชิก ไม่ใช่บนกรอบข้อตกลงระหว่างประเทศ อาเซียนเข้าไปแทรกแซงไม่ได้ หลักการเรื่องการตัดสินใจบนฐานของฉันทามติ ทำให้ชาติสมาชิกได้ข้อตกลงบนพื้นฐานที่ต่ำที่สุดที่ทุกคนเห็นด้วย ซึ่งออกมาในลักษณะที่ไม่ใช่ข้อบังคับทางกฎหมาย เป็นข้อบังคับทางศีลธรรม (Moral obligation) ภายใต้กลไกดังกล่าว อาเซียนใช้เวลา 10 ปี ในการตกลงเรื่องสิทธิของแรงงานข้ามชาติ และใช้เวลา 16 ปี ในการจัดตั้งคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (AICHR) และคณะกรรมาธิการอาเซียนว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิเด็กและสตรี (ACWC) หลักการไม่เผชิญหน้าก็เป็นเรื่องที่ตีความได้ เช่น ถ้าพม่าตั้งข้อสงสัยว่าแรงงานพม่าในไทยถูกละเมิดสิทธิไม่ว่าโดยรัฐหรือเอกชน ทางการไทยก็ตีความได้ว่าพม่ามีจุดยืนที่จะเผชิญหน้ากับไทย ด้วยเงื่อนไขเช่นนี้ทำให้ประเทศสมาชิกอาเซียนมักจะทำข้อตกลงแบบทวิภาคีมากกว่าอิงตามข้อตกลงระดับภูมิภาค จึงเห็นได้ว่ากลไกอาเซียนไม่ได้ทำให้สถานการณ์ด้านสิทธิของแรงงานข้ามชาติในภูมิภาคดีขึ้นมากเท่าไหร่ 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net