Skip to main content
sharethis

‘We Walk’ หรือ ‘เดินมิตรภาพ’ การเดินทางไกล 800,000 ก้าว 450 กิโลเมตร จากกรุงเทพฯ สู่ขอนแก่น เพื่อรณรงค์ใน 4 ประเด็นหลัก-หลักประกันสุขภาพที่จะสามารถดูแลทุกคนในประเทศ, นโยบายที่ไม่ทำลายความมั่นคงทางอาหารของเราเอง, กฎหมายที่จะไม่ลดทอนสิทธิมนุษยชน สิทธิชุมชน ดูแลให้เกิดการจัดสรรทรัพยากรอย่างเหมาะสม และนโยบายที่จะช่วยดูแลสิ่งแวดล้อมของเรา และรัฐธรรมนูญ กฎหมายสูงสุดที่น่าจะเกิดจากการมีส่วนร่วมและรับฟังรอบด้านอย่างแท้จริง เข้าสู่ช่วงสัปดาห์สุดท้ายของการเดิน

หากใครได้เดินร่วมทางหรือชะโงกหน้าออกมามองจากรั้วบ้านอย่างถูกจังหวะ อาจได้ยินเสียงตะโกนถาม-ตอบเป็นช่วงๆ ของคณะเดินว่า

“พี่น้องเอ๊ย...”

“เอ๊ย...”

“เราเดินไปไหน?”

“เดินไปขอนแก่น”

“เดินไปทำไม?”

“เดินมิตรภาพ”

คำสั่งคุ้มครองชั่วคราวของศาลปกครองช่วยให้พวกเขาและเธอเดินได้สะดวกขึ้น แม้ว่าต้องเจออุปสรรคจากเจ้าหน้าที่บางฝ่ายบ้างระหว่างเส้นทาง แต่โดยรวมถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ไม่ยุ่งยากนัก เวลานี้รอยเท้าเหล่านี้เข้าสู่เขตจังหวัดขอนแก่นแล้ว อีกประมาณ 1 สัปดาห์จากนี้พวกเขาจะถึงจุดหมายปลายทาง

ความคาดหวังและปัญหาที่พวกเธอและเขาแต่ละคนแบกสัมภาระติดไปด้วยระหว่างรอยก้าวอาจแตกต่างกันไป อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดล้วนพุ่งเป้าไปยังอำนาจรัฐที่เมินเฉยกับความทุกข์ร้อนที่พวกเขากำลังเผชิญ เมื่อเปล่งเสียงแล้วไม่ได้ยิน พวกเขาจึงพูดด้วยเท้าและการก้าวเดิน

00000

“มาเดินหาอนาคตที่ดีกว่าปัจจุบัน หลายเรื่องในประเทศต้องการการพัฒนา เรื่องการรักษาพยาบาล สวัสดิการยามแก่เฒ่า ซึ่งรัฐต้องจัดหาให้เพราะเป็นสิทธิที่ประชาชนทุกคนต้องได้รับ”

ธิติพร ดนตรีพงษ์ มูลนิธิเข้าถึงเอดส์
กรุงเทพฯ
 

“มาเดินหาเพื่อน เจอเพื่อนใหม่ แต่ประเทศยังมีปัญหาเก่า ปัญหาใหม่ที่ยังไม่ได้แก้ เดินให้เจ้าหน้าที่รัฐรู้ อย่างปัญหาที่เทศบาลกุดเชียงหมี คุกคามสิทธิที่ดินของเราโดยไม่ได้ขอใช้พื้นที่ตามขั้นตอน ที่ดินของประชาชนก็เอาโครงการไปลงในที่ทำกิน โดยไม่เคยไปดู ไปรับรู้ว่าชาวบ้านเดือดร้อนยังไง”

อาทิตย์ สังขศรี เครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน (คปอ.)
จากตำบลกุดเชียงหมี อำเภอเริงนกทา จังหวัดยโสธร
 

“เราเรียกร้องสิทธิชุมชน ยุค คสช. (คณะรักษาความสงบแห่งชาติ) ยิ่งบีบรัด นโยบายทวงคืนผืนป่าโดนเราเต็มๆ บางพื้นที่เราอยู่มาตั้งแต่ปู่ย่าตายาย ไล่เราออกแล้วเราจะไปอยู่ไหน พื้นที่บริษัทจิวกังจุ้ยหมดสัญญาปี 2543 พวกเราก็เข้าไปอยู่ แต่โดนนายทุนรื้อเผาทำลาย เราก็รวมกลุ่มเป็นสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้เรียกร้องให้ตรวจสอบตอนปี 2547 แล้ว ส.ป.ก. (สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม) ก็ฟ้องให้เราออกหาว่าเราเป็นบริวารของบริษัท แต่เราชนะ แต่นโยบายทวงคืนผืนป่าทำให้รัฐยึดพื้นที่คืนไป 500 ไร่ สิทธิชุมชนหายไป”

ชูศรี โอฬารกิจ จากสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้
ชุมชนคลองไทร จังหวัดสุราษฎร์ธานี
 

“ประเด็นหลักคือทรัพยากรในพื้นที่ เหมืองถ่านหินลิกไนต์ได้สัมปทาน 1 แปลง โดยที่ฝั่งผู้คัดค้านไม่ได้มีส่วนร่วมเลย ทั้งที่เราคัดค้านมาตลอด 7 ปี เคยมีเวทีประชาพิจารณ์ เขาก็อธิบายเรื่องเหมือง เสร็จแล้วก็ถามชาวบ้านว่าเข้าใจหรือไม่ ถ้าเข้าใจให้ยกมือ ชาวบ้านเข้าใจก็ยกมือ แต่คนที่ยกมือเขาเอาไปนับเป็นคนที่เห็นด้วย แต่คนที่ยกมือ 90 เปอร์เซ็นต์ไม่ใช่คนที่คัดค้าน เพราะฝ่ายที่คัดค้านไม่ได้เข้าไป อยู่ข้างนอก สุดท้ายก็มีอีไอเอผ่านออกมาโดยที่ผู้คัดค้านไม่มีส่วนร่วมในอีไอเอเลย”

ชุทิมา ชื่นหัวใจ กลุ่มรักษ์บ้านแหง
อำเภองาว จังหวัดลำปาง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net