พบรัฐบาลฟิลิปปินส์จ้างเกรียน 'ดูเตอร์ตาร์ด' โจมตีไซเบอร์ทำเว็บข่าวล่ม

สื่อทางเลือกคาเดาโปรดักชันในฟิลิปปินส์ถูกโจมตีทางไซเบอร์ทำให้เข้าเว็บไซต์ไม่ได้มาตั้งแต่ต้นเดือนที่ผ่านมาจนถึงบัดนี้ ทางองค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดนระบุว่าเป็นสิ่งสะท้อนการละเมิดเสรีภาพสื่อของรัฐบาลฟิลิปปินส์ที่เป็นอริกับผู้เห็นต่าง โดยมีการสำรวจของ ม.ออกซ์ฟอร์ดพบว่าผู้นำฟิลิปปินส์จ้างวานกลุ่มเกรียน "ดูเตอร์ตาร์ด" ก่อเหตุโจมตีทางไซเบอร์

 
9 ก.พ. 2561 องค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน (RSF) รายงานว่า สื่อทางเลือกคาเดาโปรดักชั่น (Kodao) ถูกโจมตีทางไซเบอร์จนทำให้ใช้งานไม่ได้เป็นเวลาหลายวันแล้ว ทำให้ทาง RSF กังวลว่านี่จะเป็นการโจมตีเสรีภาพสื่อในฟิลิปปินส์อีกกรณีหนึ่งหรือไม่ หลังจากที่รัฐบาลฟิลิปปินส์มีท่าทีเป็นอริกับสื่อที่วิพากษ์วิจารณ์พวกเขา รวมถึงสื่อวิทยุคริสเตียนคาทอลิกอื่นๆ ด้วย
 
พวกเขาพบว่าเมื่อพยายามเข้าเว็บไซต์ของคาเดาจะพบแต่ข้อความแจ้งความผิดพลาดระบุว่า "เว็บไซต์ไม่สามารถใช้งานได้ในตอนนี้" เป็นผลมาจากการโจมตีทางไซเบอร์ด้วยวิธีการส่งโค้ดอันตรายเข้าสู่เว็บในช่วงเที่ยงคืนของวันที่ 1 ก.พ. ทำให้เว็บไซต์ไม่สามารถโพสต์ข่าวใหม่ได้และผู้อ่านไม่สามารถเข้าถึงเนื้อหาเก่าได้
 
การโจมตีในครั้งนี้เกิดขึ้นในช่วงที่มีความตึงเครียดจากความขัดแย้งระหว่างผู้เป็นพวกเดียวกับประธานาธิบดีโรดริโก ดูเตอร์เต กับสื่อจากหลากหลายแนวคิดอุดมการณ์ที่มักจะพร้อมวิจารณ์นโยบายของดูเตอร์เต ว่ามีการออกนโยบายด้วยอารมณ์ร้อนขาดการพิจารณา
 
นอกจากนี้ยังมีความเป็นห่วงเรื่องของการต่ออายุใบอนุญาตของเครือข่ายสื่อคาทอลิกหรือ 'คาทอลิกมีเดียเน็ตเวิร์ก' ของฟิลิปปินส์ที่ประกอบด้วยเครือข่ายวิทยุของนิกายคาทอลิก 54 นิกาย ซึ่งใบอนุญาตของพวกเขาหมดอายุเมื่อวันที่ 4 ส.ค. 2560 แต่เมื่อตอนที่พวกเขาขอต่ออายุสัญญาตั้งแต่เดือน ม.ค. 2560 กลับถูกสกัดกั้นการต่อสัญญาในการพิจารณาของรัฐสภา ทำให้เครือข่ายกังวลว่าสถานีวิทยุทั้ง 54 แห่งอาจจะถูกสั่งปิดเมื่อไหร่ก็ได้
 
แดเนียล บาสตาร์ด ประธาน RSF ฝ่ายเอเชีย-แปซิฟิก เรียกร้องให้รัฐสภาฟิลิปปินส์รับคำร้องขอต่อทะเบียนของเครือข่ายสื่อเพื่อให้พวกเขาต่อสัญญาได้ต่อไป ซึ่งกระบวนการต่อสัญญาไม่ใช่เรื่องยาก ขณะเดียวกันบาสตาร์ดก็พูดถึงกรณีของคาเดา โดยระบุว่าการเข้าถึงเว็บไซต์ของคาเดาไม่ได้ถือเป็นรูปแบบเด่นที่แสดงให้เห็นการทำลายเสรีภาพสื่อ
 
RSF ระบุว่าการโจมตีทางไซเบอร์ต่อเว็บไซต์สื่อในครั้งนี้มาจากกลุ่มเกรียนที่เรียกตัวเองว่า "ดูเตอร์ตาร์ด" (ซึ่งอาจจะเป็นการเล่นคำล้อชื่อของประธานาธิบดี "ดูเตอร์เต" กับคำว่า "โง่เง่า") โดยที่ในงานวิจัยของมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดที่ออกมาเมื่อไม่นานนี้ระบุว่าดูเตอร์เตใช้เงิน 200,000 ดอลลาร์ในการจ้างพวกเขา
 
คาเดาโปรดักชันเป็นสื่อที่จัดตั้งขึ้นในปี 2543 เป็นที่รู้จักดีในฐานะการทำข่าวด้านสิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อม รวมถึงเรื่องเกี่ยวกับการเจรจาสันติภาพระหว่างรัฐบาลกับพรรคเหมาอิสต์ฝ่ายซ้าย และการรายงานเรื่องการสังหารประชาชนนอกกระบวนการกฎหมายจากนโยบาย "สงครามยาเสพติด" จากดูเตอร์เตที่มียอดผู้เสียชีวิตแล้วราว 4,000 ราย
 
นอกจากกรณีคาเดาโปรดักชันแล้วเมื่อเดือน ม.ค. ที่ผ่านมายังมีกรณีที่หนึ่งในสื่อชั้นนำอย่าง Rappler ถูกถอนใบอนุญาต จนมีการพยายามอุทธรณ์ในเรื่องนี้ ทาง RSF ได้แจ้งเรื่องนี้ให้กับทางองค์การสหประชาชาติทราบ ทำให้อีก 10 วันหลังจากนั้นสหประชาชาติโต้ตอบในเรื่องนี้ว่าพวกเขาแสดงความเป็นห่วงอย่างมากต่อสถานการณ์การล่วงละเมิดเสรีภาพสื่อ
 
ฝ่ายสหภาพผู้สื่อข่าวแห่งชาติของฟิลิปปินส์ก็กำลังจัดตั้งการประท้วง "วันศุกร์สีดำ" เพื่อแสดงการสนับสนุนสื่อที่ถูกโจมตีจากรัฐบาล
 
ในดัชนีเสรีภาพสื่อโลกปี 2560 ฟิลิปปินส์เป็นประเทศที่ถูกจัดอยู่ในอันดับที่ 127 จากทั้งหมด 180 ประเทศ
 
 
 
เรียบเรียงจาก
 
New threats to outspoken Philippine media outlets, 06-02-2018
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท