Skip to main content
sharethis

กรรมการผู้จัดการบริษัทหลักทรัพย์ ซี แอล เอส เอ จำกัด ระบุ การศึกษาต้องสอนการจัดการเทคโนโลยี ค้นหาข้อเท็จจริง ใช้ประโยชน์จากข้อมูลออนไลน์ให้ได้ กฎหมาย ข้อบังคับบางอย่างเป็นตัวขัดขวางนวัตกรรมเสียเอง ยกตัวอย่างบริษัทนอกจดทะเบียนไทยต้องขอใบอนุญาตถึง 4 ใบ


ปริญญ์ พานิชภักดิ์ (ที่มา: Facebook:YALPI 2018)

8 ก.พ. 2561 ที่อาคารเฉลิมราชกุมารี 60 พรรษา โครงการ Young ASEAN Leaders Policy Initiative (YALPI) จัดเวทีอภิปรายของนักศึกษาคณะรัฐศาสตร์นานาชาติภายใต้หัวข้อ “การสร้างเสริมความเป็นธรรมทางสังคมที่เข้มแข็งผ่านการจัดทำเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน” โดยมี ปริญญ์ พานิชภักดิ์ กรรมการผู้จัดการบริษัทหลักทรัพย์ ซี แอล เอส เอ จำกัด และกรรมการบริหารสถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่ กระทรวงพาณิชย์ มาเป็นวิทยากรในประเด็น“Tackling Disruptive Technology (การรับมือกับการขัดขวางที่เกิดจากเทคโนโลยี)”

ปริญญ์กล่าวว่า เทคโนโลยีใหม่จุดประเด็นและวิสัยทัศน์ใหม่ๆ ให้กับทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรม บริการด้านสุขภาพ การศึกษา ฯลฯ เช่นการเกิดขึ้นของระบบ World Wide Web (www.) ที่เชื่อมต่อทุกสิ่งทุกอย่างให้เร็วขึ้นบนแพลตฟอร์มอินเทอร์เน็ต การใช้เทคโนโลยีเพื่อให้มนุษย์มีความสามารถมากขึ้น ฉลาดมากขึ้นเป็นสิ่งที่ระบบการศึกษาต้องปลูกฝัง จากเดิมที่เน้นการสร้างไอคิวและอีคิว ตอนนี้ระบบการศึกษาต้องสร้าง "ดีคิว" หรือความฉลาดด้านเทคโนโลยี คือการทำให้คนรุ่นใหม่สามารถค้นหาข้อเท็จจริงและใช้ประโยชน์จากข้อมูลที่มีอยู่จำนวนมากที่อยู่บนโลกออนไลน์ได้

กรรมการผู้จัดการบริษัทหลักทรัพย์ ซี แอล เอส เอ จำกัดยังระบุว่า การขัดขวางนวัตกรรมและการเกิดธุรกิจใหม่ๆ ไม่ได้เกิดขึ้นจากเทคโนโลยีอย่างเดียว กระบวนการทางกฎหมายเองก็เป็นตัวขัดขวางเอาเสียเอง ประเทศที่มีกฎหมายหรือใบอนุญาตที่เกี่ยวข้องกับการเปิดธุรกิจมากมีแนวโน้มที่จะมีการคอร์รัปชันสูง และมีประสิทธิภาพต่ำ เช่น กรณีการขอจดทะเบียนเปิดบริษัทสินวัฒนะในประเทศไทย สินวัฒนะเป็นบริษัทให้บริการระดมทุนสาธารณะ (Crowdfunding) จากประเทศสิงคโปร์ซึ่งผู้ถือหุ้นใหญ่เป็นชาวต่างชาติ การจดทะเบียนเพื่อดำเนินธุรกิจในไทยต้องผ่านขั้นตอนหลายขั้นตอนมาก เพราะว่าประเทศไทยยังมีกฎหมายห้ามไม่ให้ชาวต่างชาติถือหุ้นมากกว่าร้อยละ 51 ในธุรกิจฟินเทค (Financial Technology - FinTech) ซึ่งกว่าจะเสร็จก็กินเวลานาน เทียบกับการเปิดธุรกิจฟินเทคในสหรัฐฯ ที่ไม่มีเขตแดนแบ่งกั้น แม้รัฐบาลพูดอยู่เสมอว่าจะเป็นไทยแลนด์ 4.0 แต่ข้อบังคับเช่นนี้ยังคงมีอยู่

เขาชี้ว่า อีกหนึ่งตัวอย่างที่ดูย้อนแย้งคือกรณีบริษัทโอมิเซะ ผู้ให้บริการระบบรับชำระเงินออนไลน์ ที่ได้รับรางวัลธุรกิจสตาร์ทอัพดีเด่นจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แต่ในเดือนถัดมาประยุทธ์ก็ออกมากล่าวว่าอย่าเชื่อมั่นในสกุลเงินดิจิทัล (Cryptocurrencies) เพราะว่ามีแต่เรื่องการต้มตุ๋น แต่บริษัทโอมิเซะเองก็หาทุนทำบริษัทจากสกุลเงินดิจิทัล แต่ก็ยังเป็นเรื่องดีที่สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ มีความเข้าใจในเรื่องสกุลเงินดิจิทัลกับการใช้ระดมทุนในลักษณะการซื้อขายเหรียญในระยะเริ่มต้น (Initial Coin Offering: ICO)

ปริญญ์กล่าวต่อว่า การศึกษาเป็นตัวแสดงสำคัญในการชี้นำว่าจะใช้เทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์ได้อย่างไร หุ่นยนต์จะไม่สามารถเข้ามาแทนที่การทำงานของมนุษย์ได้ในมิติการเข้าใจอารมณ์ ความรู้สึก การคิดนอกกรอบ ทักษะแบบพหุวัฒนธรรม เป็นหน้าที่ของการศึกษาที่จะสร้างทักษะเหล่านี้ให้กับมนุษย์ เพื่อให้มนุษย์นำเทคโนโลยีไปใช้ในทางที่เกิดประโยชน์ เป้าหมายของการก้าวไปเป็น 4.0 ในอาเซียนจึงเป็นการใช้เทคโนโลยีเสริมสร้างจุดแข็งของคุณลักษณะ ประชากร และเครือข่ายของภูมิภาคเอง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net