กสม.ชี้เลี้ยงหอยที่สาธารณะของเอกชน จ.ตรัง-สุราษฎร์ธานี ละเมิดสิทธิชุมชน

กสม. มีมติชี้กิจการเลี้ยงหอยในที่สาธารณะของเอกชนพื้นที่ จ.ตรัง-สุราษฎร์ธานี ละเมิดสิทธิชุมชนกระทบวิถีประมงพื้นบ้าน เสนอหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบังคับใช้กฎหมายจริงจัง-ร่วมดูแลทรัพยากรทะเล

9 ก.พ. 2561 รายงานข่าวจาก สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (สนง.กสม.) แจ้งว่า เตือนใจ ดีเทศน์ กสม. เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการตรวจสอบเรื่องร้องเรียนประเด็นสิทธิชุมชน กรณีมีผู้ร้องเรียนเมื่อปี 2559 ขอให้ตรวจสอบการดำเนินงานของสำนักงานประมงจังหวัด สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาค และส่วนจังหวัด เนื่องจากประชาชนได้รับผลกระทบจากการประกอบกิจการเลี้ยงหอยของผู้ประกอบการเอกชนโดยไม่ได้รับอนุญาตในพื้นที่จังหวัดตรัง และการเลี้ยงหอยแครงในที่สาธารณประโยชน์ในพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยระบุว่า

การร้องเรียนในสองกรณีดังกล่าวมีความคล้ายคลึงกันเนื่องด้วยการประกอบกิจการเลี้ยงหอยของเอกชนก่อให้เกิดผลกระทบต่อวิถีชีวิตและการทำมาหากินของประชาชนในพื้นที่ กล่าวคือ กรณีแรกในพื้นที่จังหวัดตรัง ประชาชนร้องเรียนว่าผู้ประกอบการเอกชนเข้ามาล้อมรั้วในแม่น้ำปะเหลียนช่วงรอยต่อกับทะเลเพื่อกั้นเป็นที่เพาะเลี้ยงหอย และทำการคราดหอยธรรมชาติด้วยเรือประกอบเครื่องยนต์ที่ไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมาย ทำให้ชาวบ้านไม่สามารถเข้าไปในเขตดังกล่าวเพื่อทำประมงพื้นบ้านและเก็บหอยตามธรรมชาติได้ จึงต้องสูญเสียรายได้จากการประกอบอาชีพ ขณะที่กรณีต่อมาในพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานีปรากฏข้อเท็จจริงว่า ชาวประมงพื้นบ้านอ่าวบ้านดอน ได้รับความเดือดร้อนจากกลุ่มนายทุนผู้ประกอบการเลี้ยงหอยแครงบุกรุกที่สาธารณประโยชน์ที่ประชาชนใช้ร่วมกันเพื่อประกอบกิจการเลี้ยงหอยแครงและขยายพื้นที่โดยผิดกฎหมาย ทำให้ชาวประมงพื้นบ้านไม่มีพื้นที่จับสัตว์น้ำและส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศชายฝั่งและป่าชายเลน ทั้งนี้ที่ผ่านมาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องระดับจังหวัดไม่สามารถแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นทั้งสองกรณีได้ จึงได้ร้องเรียนมายัง กสม. เพื่อตรวจสอบ

เตือนใจ กล่าวว่า กสม. ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงจากผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายแล้ว โดยในการประชุม กสม. ด้านการคุ้มครองและมาตรฐานด้านการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 7 ก.พ.ธ์ 2561 ที่ผ่านมานั้น กสม. พิจารณาแล้วมีความเห็นว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 57 กำหนดให้รัฐมีหน้าที่ในการอนุรักษ์ คุ้มครอง บำรุงรักษา ฟื้นฟู บริหารจัดการ และใช้หรือจัดให้มีการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และความหลากหลายทางชีวภาพ ให้เกิดประโยชน์อย่างสมดุลและยั่งยืน ในขณะที่มาตรา 43 ได้ให้การรับรองสิทธิของบุคคลและชุมชนในการมีส่วนร่วมในดำเนินการดังกล่าว และสามารถเสนอแนะต่อหน่วยงานของรัฐให้ดำเนินการใดอันจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนหรือชุมชน

ซึ่งข้อเท็จจริงปรากฏว่า ผู้ประกอบการเลี้ยงหอยในพื้นที่จังหวัดตรังได้เข้าไปกั้นพื้นที่เพื่อกำหนดบริเวณเพาะเลี้ยงหอยทะเลเพื่อประโยชน์ส่วนตนในแม่น้ำปะเหลียนอันมีสภาพอุดมสมบูรณ์และเป็นแหล่งอาหารของชุมชน โดยไม่ได้รับอนุญาตจากสำนักงานประมงจังหวัดตามกฎหมายว่าด้วยการประมง ส่งผลให้ผู้ร้องและประชาชนทั่วไป ซึ่งใช้สิทธิโดยสุจริตไม่สามารถเข้าใช้ประโยชน์ในการทำประมงพื้นบ้านและเข้าไปมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการทรัพยากรในชุมชนของตนเองได้ นอกจากนี้การสร้างแพพักอาศัยเพื่อเฝ้าดูแลหอยโดยไม่ได้รับอนุญาต และมีการคราดหอยธรรมชาติด้วยเรือยนต์ที่ทำลายหน้าดินยังเป็นการกระทำอันฝ่าฝืนประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง กำหนดเขตห้ามใช้เครื่องมือคราดที่ใช้กับเรือยนต์ทำการประมงหอยชนิดสองฝา ลงวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2517 การดำเนินการของผู้ประกอบการจึงเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนกฎหมายและกระทบต่อสิทธิของประชาชน อันถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน

ขณะที่ การร้องเรียนในกรณีคล้ายคลึงกันในพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานีนั้น ผู้ประกอบการหลายรายได้ดำเนินการเพาะเลี้ยงหอยทะเลนอกเขตเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำตามกฎหมายว่าด้วยการประมงโดยไม่ได้รับอนุญาตและดำเนินการสร้างสิ่งปลูกสร้างล่วงล้ำลำน้ำจริง ส่งผลกระทบต่อสิทธิของชุมชนและกลุ่มชาวประมงพื้นบ้านในการเข้าใช้ประโยชน์ในที่สาธารณะอันเป็นแหล่งอาหารที่อุดมสมบูรณ์ของชุมชน รวมทั้งกีดขวางทางเดินเรือจนส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของชาวประมงพื้นบ้าน การประกอบกิจการของเอกชนดังกล่าวนี้จึงถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนเช่นเดียวกัน

เตือนใจ กล่าวต่อว่า จากการตรวจสอบพบว่าทั้งสองกรณีนี้ หน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่โดยตรงในการแก้ไขปัญหาไม่สามารถดำเนินการให้เป็นไปตามหน้าที่ของรัฐที่จะคุ้มครองและบริหารจัดการการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติได้ตามนัยมาตรา 57 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ได้ กสม. จึงมีข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันหรือแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนดังนี้

1. กรมประมง กรมเจ้าท่า และส่วนจังหวัด ควรสั่งการให้เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจหน้าที่ในการตรวจสอบและบังคับใช้กฎหมาย ดำเนินการต่อผู้ประกอบกิจการที่เพาะเลี้ยงหอยนอกเขตเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยการประมง และเฝ้าระวังไม่ให้มีการเพาะเลี้ยงหอยหรือสร้างสิ่งปลูกสร้างนอกพื้นที่ที่คณะกรรมการประมงจังหวัดกำหนดรวมทั้งตรวจตราไม่ให้มีการคราดหอยธรรมชาติด้วยเรือยนต์ที่เป็นการฝ่าฝืนกฎหมายและส่งผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ

2. ควรมีการบูรณาการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานส่วนจังหวัด กรมประมง และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ในการฟื้นฟูพื้นที่ชายฝั่งซึ่งจะมีการรื้อถอนคอกหอยที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายให้กลับคืนสู่สภาพเดิมตามธรรมชาติ และควรอนุรักษ์ บำรุงรักษาและจัดการการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรสัตว์น้ำให้เป็นไปอย่างยั่งยืน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท