Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ศิลปะการละครกับความเป็นมนุษย์

ศิลปะการละครเป็นการเล่าเรื่องผ่านวัจนและหรืออวัจนภาษา เป็นช่องทางการสื่อสารความคิดของผู้ประพันธุ์ไปยังผู้ชม สร้างด้วยความประณีตและความพิถีพิถันเฉกเช่นงานศิลปะ ซึ่งมีลักษณะในเชิงพิธีกรรม ต้องทุ่มเททั้งกายใจ เพื่อทำทุกอย่างให้ช้าลง เกิดเป็นพื้นที่อันศักดิ์สิทธิของศิลปะการละคร ที่รวมสามสิ่งเข้าด้วยกันเป็นเอกภาพ คือ เวลา (Time) สถานที่ (Space) และการกระทำ (Action)

ละครเป็นเครื่องมือค้นหาความหมายอันลี้ลับของชีวิตและการดำรงอยู่ของมนุษย์ รวมไปถึงความสัมพันธุ์ขอองมนุษย์ ส่งผลให้เกิดการตั้งคำถามในลักษณะที่เล่นแร่แปรธาตุต่อสังคม เสมือนดังว่าสังคมเป็นห้องทดลองขนาดใหญ่ ปรากฏการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นเป็นสารเคมีนานาชนิด ละครเป็นกระบวนการทดลองที่คอยเล่นแร่แปรธาตุเร่งปฏิกิริยาให้เกิดผลการทดลองสิ่งใหม่ ในทัศนะสำหรับผู้ปกครองแล้วอาจมองละครเป็นสิ่งชั่วร้ายที่ล่อลวงชักนำบุตรหลานให้ประพฤติในทางที่ผิด หรือนำความเสื่อมโทรมสู่สังคม เมื่อละครเป็นเรื่องเกี่ยวกับมนุษย์และความสัมพันธุ์ของมนุษย์ จึงเป็นเรื่องเกี่ยวกับการเมืองทันที

ศิลปะการละครในประเทศไทย เป็นเครื่องมือที่สำคัญและมีบทบาทอย่างมากในการขับเคลื่อนสังคมตั้งแต่อดีต และได้เข้ามามีบทบาทอย่างมากมายในรั้วมหาวิทยาลัย ถ่ายทอดเรื่องราวทางสังคม โดยมีนิสิต นักศึกษา ปัญญาชนจำนวนหนึ่งที่มีความสนใจเกี่ยวกับปัญหาบ้านเมือง หลายคนเป็นสมาชิกอยู่ในกลุ่มอิสระต่างๆ และภายหลังได้แตกแขนงก่อเกิดเป้นกลุ่มก้อนที่รวมตัวกันเพื่อเสนอ ขับเคลื่อนประเด็นทางสังคมผ่านศิลปะการละคร  


กำเนิดกลุ่มพระจันทร์เสี้ยว

การเกิดขึ้นของกลุ่มพระจันทร์เสี้ยวนั้นมีความสัมพันธุ์กับสภาพบรรยากาศการเรียนในมหาวิทยาลัย เกิดขึ้นท่ามกลางกระแสของภาวะ สายลมแสงแดด ของนิสิต นักศึกษา ที่มีแต่กิจกรรมค่อนไปทางบันเทิงมากกว่ากิจกรรมทางวิชาการ หรือการสร้างสรรค์กิจกรรมทางสังคม กลุ่มพระจันทร์เสี้ยวเริ่มต้นจากกลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่สนใจงานด้านวรรณกรรม เมื่อพ.ศ. 2512 อาทิ สุชาติ สวัสดิ์ศรี, นิคม รายวา, เธียรชัย ลาภนันท์, วีรประวัติ วงศ์พัวพันธ์, วินัย อุกฤษ, วิทยากร เชียงกูล, ธัญญา ผลอนันต์ ซึ่งมีงานเขียนมากมายอยู่ในขณะนั้น ต่อมาสมาชิกบางคนได้เริ่มหันมาสนใจงานละครเวที จึงเขียนบทละครขึ้น เช่น ฉันเพียงอยากออกไปข้างนอก , งานเลี้ยง , นายอภัยมณี ของ วิทยากร เชียงกูร ชั้นที่ 7 ของ สุชาติ สวัสดิ์ศรี นกที่บินข้ามฟ้า ของ วิทยากร เชียงกูร และ คำรณ คุณะดิลก

ชื่อของกลุ่มพระจันทร์เสี้ยว แรกเริ่มเดิมทีใช้ชื่อว่า “ชมรมพระจันทร์เสี้ยว” อย่างไม่เป็นทางการมาก่อน โดยนิยมใช้ชื่อ “พระจันทร์เสี้ยว” ต่อท้ายนามปากกาของสมาชิกในกลุ่ม เช่น ดนัย เยาหะรี สมาชิกคนหนึ่งของกลุ่มใช้นามปากกาว่า “ดนัย เยาหะรีแห่งพระจันทร์เสี้ยวการละคร” (สิทธิเดช โรหิตะสุข, 2552)

วีรประวัติ วงศ์พัวพันธ์ เป็นคนเสนอตั้งชื่อกลุ่ม โดยเอามาจากชื่อ Crescent Moon ของกวีจีนรุ่นก่อนปฏิวัติ เดือนตุลาคม 2492 เพื่อให้ความรู้สึกเป็นกลุ่มเดียวกันจึงได้นำมาตั้งเป็นชื่อกลุ่มในปี 2512 การเกิดขึ้นของกลุ่มพระจันทร์เสี้ยวไม่ต่างจากการเกิดขึ้นของกลุ่มอิสระที่เคลื่อนไหวทางสังคมการเมืองทั่วไปในขณะนั้น แต่ที่แตกต่างคือ เป็นการรวมกันของนักศึกษา ปัญญาชน ที่สนใจด้านวรรณกรรม การถ่ายทอดผลงานด้านวรรณกรรม แต่เนื่องจากทางกลุ่มไม่ได้มีวารสารเป็นของตัวเองจริงจัง ทำให้ผลงานเขียนของกลุ่มพระจันทร์เสี้ยวได้กระจายไปอยู่ตามสิ่งพิมพ์ที่อยู่ในเครือปัญญาชนต่างๆ ภายหลังกลุ่มพระจันทร์เสี้ยวซึ่งมีสมาชิกจำนวนมาก ได้แยกตัวออกไปสร้างผลงานหรือสร้างกลุ่มใหม่ เช่น เกิดเป็นวงคาราวาน เป็นต้น ส่วน คำรณ คุณดิลก ได้ขยายวงของการสร้างสรรค์ออกไปในนาม “กลุ่มพระจันทร์เสี้ยวการละคร” ที่มีบทบาทสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน


การเคลื่อนไหวทางสังคมของกลุ่มพระจันทร์เสี้ยวยุคแรก

ลักษณะเฉพาะของของกลุ่มพระจันทร์เสี้ยวในขณะนั้นในสถานภาพของการเป็นการรวมตัวเพื่อสร้างงานศิลปะในแขนงวรรณกรรม เป็นผลที่ทำให้กลุ่มพระจันทร์เสี้ยวมีบทบาทอย่างมากในการนำผลงานวรรณกรรมมาเป็นส่วนในการสะท้อน นำเสนอปัญหาของสังคม กลุ่มพระจันทร์เสี้ยวนั้นถือได้ว่าเป็นผลผลิตหนึ่งของยุคแสวงหา การเคลื่อนไหวและการมีบทบาททางสังคมของกลุ่มนี้จึงอยู่ที่การเผยแพร่ผลงาน กระจายผลงานและนำเสนอผลงานของขบวนการนิสิตนักศึกษาปัญญาชน (สิทธิเดช โรหิตะสุข, 2552) 

สถานภาพและบทบาทของกลุ่มพระจันทร์เสี้ยวมีผลงานในการสร้างนักคิด นักเขียน ที่สร้างผลงานสืบต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน และลักษณะในการสร้างงานของกลุ่ม จากความสนใจในวรรณกรรมร่วมสมัยของนักเขียนหัวก้าวหน้าต่างประเทศ ทำให้บทบาทอีกประการของกลุ่มพระจันทร์เสี้ยว คือการเป็นกลุ่มที่สร้างสรรค์ผลงานวรรณกรรมในลักษณะที่แปลกใหม่จากขนบของเรื่องสั้นและบทกวีไทยในขณะนั้น ที่มีลักษณะการแสดงออกในเชิงการทดลองปรากฏอยู่

กระทั่งปี 2514 กลุ่มพระจันทร์เสี้ยวได้เข้าไปมีส่วนร่วมอย่างสำคัญยิ่งในกระบวนการผลิตละครเรื่อง อวสานเซลล์แมน (Death of Salesman) ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยรับผิดชอบด้านฉาก แสง เสียง รวมทั้งแสดงนำเป็นตัวละครเอก การตื่นตัวนี้เป็นช่วงเวลาหลังจากการอสัญกรรมของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และเป็นช่วงที่เข้าสู่ทศวรรษที่กิจกรรมของนักศึกษาในมหาวิทยาลัยนั้นแพร่หลายมีบทบาทอย่างมาก ซึ่งกลุ่มพระจันทร์เสี้ยวมีบทบาทสำคัญอย่างมากต่อเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ แม้จะไม่ได้ดำเนินการในนามกลุ่มพระจันทร์เสี้ยวชัดเจน แต่กลุ่มพระจันทร์เสี้ยวก็เป็นผู้อยู่เบื้องหลังในการจัดตั้ง “กลุ่มละครแฉกดาว” ซึ่งเป็นกลุ่มละครที่ขึ้นเล่นบนเวทีปราศรัยในสุดในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ก่อนมีการเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองครั้งใหญ่ ในวันที่ 14 ตุลาคม 2516 (สัมภาษณ์ป้าอ้อย กลุ่มแฉกดาว, 2560)

คำรณ คุณะดิลก หนึ่งในสมาชิก พระจันทร์เสี้ยว ได้เดินทางไปมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ในฐานะผู้สอนวิชาศิลปการละครและสื่อสารมวลชน เขาได้สร้างสรรค์ผลงานละครร่วมสมัยในลีลา POOR THEATRE ของ JERZY GROTOWSKY ชื่อชุด ชนบทหมายเลข 1 ความโดดเด่นก่อกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในเชิงชื่นชม และถือเป็นความแปลกสำหรับละครในยุคนั้นคือการไม่ให้ความสำคัญกับฉาก แสง เสียง แต่กลับเน้นหนักไปยังความสามารถของนักแสดงและความสัมพันธ์กับผู้ดู กลวิธีนี้นำมาจากต้นแบบของ BRECHTIAN THEATRE แนวละครแถวหน้าของละครร่วมสมัยในศตวรรษ 20 อิทธิพลนี้ได้ส่งผ่านไปยังกลุ่มละครในสถาบันการศึกษาซึ่งในยุคสมัยนั้นตกอยู่ท่ามกลางกระแสการเมืองที่ขึ้นสูง

ปี 2518 คำรณ คุณะดิลก และกลุ่มนักแสดงจากเชียงใหม่กลับลงมากรุงเทพฯ ทำการอบรมศิลปะการละครให้กับนักศึกษาจากหลายสถาบัน ผลิตงานละคร ชนบทหมายเลข 2 และ ชนบทหมายเลข 3 และ แซมมี่จอมยุ่ง ต่อมาจึงรวมตัวกันและก่อตั้งชมรมพระจันทร์เสี้ยวการละคร ร่วมกับคณะนักแสดงซึ่งเป็นนักศึกษาจากหลายมหาวิทยาลัย ต่อมามีผลงานเรื่อง แม่,ก่อนอรุณจะรุ่ง และ นี่แหละโลก พระจันทร์เสี้ยวการละครได้ผลิตผลงานละครอย่างต่อเนื่องหลายเรื่องในหลายรูปแบบ และบางครั้งใช้ชื่อคณะอื่น เพื่อหลบเลี่ยงกระแสรุนแรงทางการเมือง ประสบความสำเร็จทางด้านการนำเสนอได้รับคำวิจารณ์ในด้านบวกจากผู้ชม ทั้งทางเนื้อหาและวิธีการแสดง

การเคลื่อนไหวของกลุ่มพระจันทร์เสี้ยวได้ยุติลงในนามกลุ่มเมื่อเกิดเหตุการณ์รุนแรงทางการเมือง 6 ตุลาคม 2519 ซึ่งถือว่ายุติไปพร้อมๆกับการสลายลงของขบวนการเคลื่อนไหวในประเทศไทยอีกหลายกลุ่มหลายแขนงในขณะนั้น สมาชิกพระจันทร์เสี้ยวการละคร ต่างแยกย้ายกันไป คำรณ คุณะดิลก เดินทางไปยังประเทศฝรั่งเศสและได้เข้าร่วมกับคณะละคร THEATRE DE LA MANDRAGORE โดยเป็นนักแสดงและผู้ช่วยผู้กำกับ มีผลงานเรื่อง Antigone, Woyzeck, Leon&Lena, La Mort de Danton, L’ Avar, La Mort de Bucher, Escalade, La Libbration, L’ Eneme and Terminal โดยออกแสดงตามประเทศต่างๆ เช่น ฝรั่งเศส เบลเยี่ยม อียิปต์ จอร์แดน เลบานอน สวีเดน โมรอคโค ตูนิเซีย กอบอน การ์คาร์ และ ซูดาน (สัมภาษณ์ คำรณ คุณดิลก, 2560)

ละครของกลุ่มพระจันทร์เสี้ยวในช่วงแรกนั้นอาจถือได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งในการเคลื่อนไหวทางด้านศิลปวัฒนธรรม ในช่วงก่อนการเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ซึ่งมีการเชื่อมโยงกับกลุ่มพระจันทร์เสี้ยวในภาพรวม มีเป้าหมายในการเคลื่อนไหวทางสังคม การเมือง โดยใช้การเมืองวัฒนธรรมเป็นตัวผลักดัน


การเคลื่อนไหวทางสังคมของกลุ่มพระจันทร์เสี้ยวยุคปัจจุบัน

สิบปีหลังจากสั่งสมประสบการณ์จากต่างแดน คำรณ คุณะดิลก เดินทางกลับประเทศไทย และได้สร้างสรรค์ละครเวทีสามัญชนเรื่อง คือผู้อภิวัฒน์ เรื่องราวของรัฐบุรุษ ปรีดี พนมยงค์ ในนามกลุ่มพระจันทร์เสี้ยวการละครในปี 2530 ได้รับคำวิจารณ์ในด้านบวกว่านำกลวิธีละคร BRECHTIAN มาใช้พัฒนาต่อได้อย่างประสบความสำเร็จ

ในปี 2538 คือผู้อภิวัฒน์ ได้กลับมาแสดงอีกครั้งในวาระเปิดอาคารสถาบันปรีดี พนมยงค์ และเข้าร่วมเทศกาลละคร ครั้งที่ 1 จัดโดยศูนย์ศิลปะวัฒนธรรมแสงอรุณ และในปลายปีเดียวกันนั้นเอง พระจันทร์เสี้ยวการละครได้รับการสนับสนุนโดย ศูนย์ศิลปะวัฒนธรรมแสงอรุณจัดโครงการละครเวทีถาวรโดยมีผลงานต่อเนื่องในระยะเวลาหนึ่งปี มีผลงานเรื่อง กูชื่อพญาพาน, ความฝันกลางเดือนหนาว, มาดามเหมา, ตลิ่งสูงซุงหนัก และ กระโจมไฟ ในช่วงปี 2539-40 ส่งผลต่อการพัฒนาขยายองค์ความรู้ทางศิลปะการละครให้แก่สมาชิกรุ่นใหม่ ซึ่งมีผลงานในเวลาต่อมาอีกหลายเรื่อง

ตั้งแต่ปี 2541 เป็นต้นมาสมาชิกรุ่นใหม่ได้รับการสนับสนุนจากสถาบันปรีดี พนมยงค์ ในการใช้พื้นที่จัดกิจกรรมและสร้างสรรค์งานโดยมีผลงานหลายเรื่อง นอกจากนี้ยังทำงานและกิจกรรมในส่วนศิลปวัฒนธรรมของสถาบันปรีดี พนมยงค์ จัดกิจกรรมในนามคณะละครยายหุ่น (ครูองุ่น มาลิก) นอกจากยังสร้างสรรค์งานละครเวที อบรมละคร กิจกรรมทางศิลปวัฒนธรรม ในปี 2550 พระจันทร์เสี้ยวการละครได้เปิดพื้นที่ละครโรงเล็กเพื่อเป็นพื้นสำหรับคนรักละครเวที จัดกิจกรรมและการแสดงละครเวทีโรงเล็กที่ชื่อว่า Crescent Moon Space นอกจากจะมีผลงานการแสดงและอบรมละครในกรุงเทพฯ ต่างจังหวัดแล้ว พระจันทร์เสี้ยวการละครยังมีผลงานแสดงในต่างประเทศ เช่น ฝรั่งเศส, เนเธอแลนด์, สวีเดน, อเมริกา, เกาหลี, อินเดีย, ฟิลิปปินส์, เวียดนาม, กัมพูชา (crescentmoontheatre.wordpress.com)

พระจันทร์เสี้ยวการละครมุ่งสร้างสรรค์งานด้านศิลปะการละครเพื่อเป็นสื่อสะท้อนคนและสังคม โดยค้นหาความหมายและตั้งคำถามกับปัจเจกบุคคลเกี่ยวกับการมองโลกมองชีวิต มีแนวทางการทำงานที่เน้นใช้กระบวนการกลุ่ม (Devising Theatre) ผ่านการกลั่นกรองวิเคราะห์วิจารณ์จากข้อมูลที่ผ่านการศึกษา ค้นคว้า ทำการวิจัยแยกย่อย ร่วมกับการแลกเปลี่ยนทัศนคติของคนในกลุ่มที่นำเสนอความคิดเห็นร่วมกัน โดยนำเสนอผ่านผลงานในหลากหลายรูปแบบตามแนวทางการสื่อสารผ่านร่างกาย (Body Expression) และใช้การเคลื่อนไหวอย่างมีพลัง (Group Dynamic) ของนักแสดงเพื่อขับเคลื่อนองค์ประกอบอื่นๆ เช่น บท อุปกรณ์, ประกอบฉาก, ฉาก ให้มีชีวิตปรากฏบนเวที ภายใต้ความคิดอันสำคัญคือ มุ่งกระตุ้นให้ผู้ชมเกิดความคิด การตั้งคำถาม ต่อปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นตรงหน้า ซึ่งผสมผสานแนวความคิดของนักการละครเยอรมัน Bertolt Brecht กับแนวทาง Poor Theatre ของ Jerzy Grotowski การใช้การเคลื่อนไหวร่างกายของ Wolfram Mehring นักการละครชาวเยอรมัน และ คำรณ คุณะดิลก ซึ่งเป็นครูและผู้ก่อตั้งกลุ่ม มาคิดค้นต่อยอดกับการฝึกฝนค้นค้นคว้าของสมาชิกภายในกลุ่ม เพราะสมาชิกรุ่นใหม่ของพระจันทร์เสี้ยวการละครเชื่อว่า “ละครคือการฝึกฝน”

การเคลื่อนไหวทางสังคมของกลุ่มพระจันทร์เสี้ยวตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันมีความสำคัญในการเคลื่อนไหวทางการเมืองในฐานะการทำงานผ่านศิลปวัฒนธรรม มีบทกวีประจำกลุ่มคือ “เราเป็นนกประดับดงไม้ รับฟังบทเพลงที่เราร้อง อย่ากู่เรียกชื่อเราเลย” จะสังเกตได้ว่าทุกเหตุการณ์สำคัญๆทางการเมืองจะมีละครเข้าไปเกี่ยวข้องอยู่เบื้องหลังเสมอๆ อาจจะคิดต่อไปได้ว่า การเปลี่ยนแปลงสังคมในเชิงโครงสร้างที่รอวันพังครืนของความคิดและอำนาจเก่าแก่ในอนาคตอันใกล้ ศิลปะการละครอาจจะเป็นเครื่องมือสำคัญอีกครั้งก็เป็นได้

 

อ้างอิง

Griffin Emory A. A first look at communication theory. Boston : McGraw-Hill, 2006

Melkote, S.R., & Steeves, H.L. Communication for development in the third world- Theory and    Practice for empowerment. CA: Sage Thousand Oaks, 2001

Oddey, A. (1996). Devising theatre: A practical and theoretical handbook. London: Routledge.   Servaes, J., &

เกศินี จุฑาวิจิตร. การสื่อสารเพื่อพัฒนาท้องถิ่น. กรุงเทพมหานคร : มหาวิทยาลัยราชภัฎนครปฐม, 2548.

นันทนา นันทวโรภาส. สื่อสารการเมือง: ทฤษฏีและการประยุกต์ใช้. กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์แมสมีเดีย,  2549.

สิทธิเดช โรหิตะสุข. กลุ่มศิลปวัฒนธรรมในประเทศไทย : บทสำรวจสถานภาพและความเคลื่อนไหวในช่วง พ.ศ.  2516-2530. กรุงเทพมหานคร : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย, 2552.

ประวัติพระจันทร์เสี้ยวการละคร. www.crescentmoontheatre.wordpress.com


สัมภาษณ์:

สัมภาษณ์ คำรณ คุณดิลก วันที่ 20 พฤศจิกายน 2560

สัมภาษณ์ ป้าอ้อย กลุ่มละครแฉกดาว วันที่ 1 ธันวาคม 2560


เกี่ยวกับผู้เขียน: นลธวัช มะชัย เป็นนักศึกษาการละคร สมาชิกกลุ่มลานยิ้ม ปัจจุบันยังคงเรียนหนังสือในมหาวิทยาลัยพร้อมกับทำงานอยู่ที่หอประวัติศาสตร์ประชาชนภาคเหนือ บ้านครูองุ่น มาลิก (สวนอัญญา) มูลนิธิไชยวนา เชียงใหม่

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net