Skip to main content
sharethis

เอคเซนเชอร์ตั้งเป้ามีสัดส่วนพนักงานชาย-หญิงสมดุลภายในปี 2025

“อินทิรา เหล่ามีผล” กรรมการผู้จัดการ กลุ่มธุรกิจ Resource Operating Group เอคเซนเชอร์ ประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบันเอคเซนเชอร์มีพนักงานหญิง 150,000 คน หรือเกือบร้อยละ 40 ของพนักงานทั้งหมดทั่วโลก ซึ่งในช่วงหลายปีที่ผ่านมา บริษัทได้ตั้งเป้าหมายและแผนงานที่ทำให้เกิดความเสมอภาคทางเพศ

โดยตั้งเป้าบรรจุพนักงานใหม่ผู้หญิงให้ได้ร้อยละ 40 ในพ.ศ. 2560 ซึ่งทำได้สำเร็จก่อนที่ตั้งเป้าไว้หนึ่งปี พร้อมทั้งสนับสนุนพนักงานหญิงจำนวนร้อยละ 30 ให้ก้าวหน้าไปจนถึงระดับกรรมการผู้จัดการ ภายในพ.ศ. 2559 ขณะเดียวกัน จะเพิ่มสัดส่วนกรรมการผู้จัดการผู้หญิงทั่วโลกให้ถึงร้อยละ 25 ภายในพ.ศ. 2563

“ความหลากหลายจะทำให้ธุรกิจของบริษัทแข็งแกร่งขึ้น มีความสร้างสรรค์มากยิ่งขึ้น ที่สำคัญที่สุดคือ ทำให้โลกนี้น่าอยู่มากขึ้น เมื่อตั้งเป้าหมายใหม่แล้ว บริษัทจึงสื่อสารอันสำคัญนี้ไปถึงพนักงานและลูกค้า เพื่อแสดงเจตจำนงที่มุ่งมั่นในการทำให้โครงสร้างพนักงานเท่าเทียมและสมดุล กัน”

ทั้งนั้น เอคเซนเชอร์ได้ดำเนินการต่าง ๆ เพื่อจูงใจพนักงานหญิง รักษาพนักงาน ส่งเสริมให้ก้าวหน้า และสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการพัฒนาด้านต่าง ๆ เพื่อให้องค์กรมีโครงสร้างที่สมดุล เสริมสร้างความเสมอภาค อาทิ สนับสนุนพนักงานหญิงระดับอาวุโสให้ก้าวหน้าในสายงานการเงินและบัญชี โดยตั้งแต่เริ่มโครงการเมื่อ 6 ปีที่แล้ว ซึ่งร้อยละ 80 ของผู้หญิงที่เคยเข้าร่วมโครงการพัฒนาความเป็นผู้นำระดับโลก ได้รับการเลื่อนขั้นหรือมีขอบข่ายความรับผิดชอบมากขึ้น

นอกจากนี้ มีการประกาศเจตนารมณ์ด้านความโปร่งใส โดยกำหนดเป้าหมายที่ชี้วัดได้ และเผยแพร่ให้ทราบโดยทั่วกัน เพื่อเพิ่มจำนวนผู้หญิงในบริษัท และยังเผยแพร่สถิติจำนวนและสัดส่วนพนักงานในหลาย ๆ ประเทศ อาทิ สหรัฐอเมริกา แคนาดา แอฟริกาใต้ ญี่ปุ่น อินเดีย และประเทศกลุ่มอาเซียน

เอคเซนเชอร์ยังริเริ่มโครงการเพิ่มพูนทักษะที่ตลาดต้องการให้แก่ผู้หญิง เช่น โครงการ Women in Technology ที่ช่วยผลักดันให้ผู้หญิงที่มีความสามารถได้พัฒนาและเติบโตในสายอาชีพได้ เร็วขึ้นในฐานะสถาปนิกด้านเทคนิค ซึ่งเป็นสาขาที่ขาดแคลนและตลาดมีความต้องการมาก

ขณะเดียวกัน ได้ร่วมมือกับภาคธุรกิจและภาครัฐ เพื่อส่งเสริมให้เกิดความเสมอภาคทางเพศในที่ทำงาน โดยมีหลายโครงการที่แสดงเจตจำนงสอดคล้องกัน อาทิ The White House Equal Pay Pledge, Paradigm for Parity และ Catalyst CEO Champions for Change

“เราสนับสนุนความหลากหลายในที่ทำงาน ซึ่งเป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดความสร้างสรรค์และความได้เปรียบเชิงแข่งขัน การพัฒนาไปสู่เป้าหมาย 50 by 25 หรือเพิ่มบทบาทของสตรีในที่ทำงานและในระดับบริหารนั้น เราได้สร้างบรรยากาศที่ทำให้ทุกคนรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของที่ทำงาน เป็นที่ที่ทุกคนอยากมาทำงานทุกวัน สามารถเป็นตัวของตัวเอง และแสดงความสามารถได้เต็มที่ ทั้งในด้านการงานและเรื่องส่วนตัว”

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 11/2/2561

รมว.แรงงาน ย้ำนายจ้างไปตรวจสุขภาพแรงงานต่างด้าวก่อนเข้าศูนย์ OSS

นายอนุรักษ์ ทศรัตน์ อธิบดีกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานสั่งการให้กรมการจัดหางานเร่งทำความเข้าใจกับนายจ้างเกี่ยวกับการตรวจสุขภาพของแรงงานต่างด้าวกัมพูชา ลาว เมียนมาว่าให้ไปดำเนินการตรวจสุขภาพ ณ โรงพยาบาลที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดก่อนที่จะเข้ามาดำเนินการในศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ (OSS) ก่อนแล้วจึงนำใบรับรองแพทย์หรือใบนัดหมายการตรวจสุขภาพมาเป็นหลักฐานยื่นที่ศูนย์ฯ ต่อไป โดยในกรุงเทพมหานครแรงงานต่างด้าวสามารถตรวจสุขภาพได้ในโรงพยาบาล 7 แห่งคือ 1. โรงพยาบาลกลาง 2. โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี 3. โรงพยาบาลเลิศสิน 4. โรงพยาบาลราชวิถี 5. โรงพยาบาลตากสิน 6. โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ 7. โรงพยาบาลวชิระพยาบาล

ศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ (OSS) ได้เปิดให้แรงงาน กัมพูชา ลาวเมียนมา 3 กลุ่มคือ กลุ่มที่ 1 แรงงานในกิจการประมงทะเลและแปรรูปสัตว์น้ำ ที่พิสูจน์สัญชาติและยังไม่พิสูจน์สัญชาติ ซึ่งบัตรหมดอายุเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2560 กลุ่มที่ 2 แรงงานที่ผ่านการคัดกรองความสัมพันธ์นายจ้าง-ลูกจ้าง (กลุ่มใบจับคู่) แบ่งเป็นกลุ่มพิสูจน์สัญชาติแล้วและได้รับใบแทนใบอนุญาตทำงานถึงวันที่ 31 มีนาคม 2561 และกลุ่มที่ยังไม่พิสูจน์สัญชาติ มีเพียงใบจับคู่เท่านั้นและได้รับการผ่อนผันให้ทำงานถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2560 และกลุ่มที่ 3 แรงงานที่ถือบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย (บัตรสีชมพู) ซึ่งใบอนุญาตทำงานหมดอายุวันที่ 31 มีนาคม 2561 มีทั้งกรณีที่พิสูจน์และไม่พิสูจน์สัญชาติ เริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 5 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ภายในศูนย์ฯ มีขั้นตอนคือ ขั้นตอนที่ 1 จุดคัดกรอง เจ้าหน้าที่จะตรวจสอบเอกสารหากครบถ้วนจะให้บัตรคิว ขั้นตอนที่ 2 กรมการปกครองจัดทำหรือปรับปรุงทะเบียนประวัติ กำหนดเลข 13 หลัก ถ่ายรูปใบหน้า สแกนลายนิ้วมือ ค่าใช้จ่าย 80 บาท ขั้นตอนที่ 3 สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองตรวจลงตรา (Visa) ให้อยู่ในราชอาณาจักร ค่าใช้จ่าย 500 บาท ทั้งนี้ หากแรงงานต่างด้าวยังไม่ได้พิสูจน์สัญชาติไม่ต้องดำเนินการในขั้นตอนนี้ ข้ามไปขั้นตอนที่ 3 ได้เลย ขั้นตอนที่ 4 กรมการจัดหางานอนุญาตให้ทำงาน แบ่งเป็น กลุ่มที่ 1 แรงงานประมง : ยังไม่พิสูจน์สัญชาติอนุญาตถึง 30 มิถุนายน 2561 ค่าใช้จ่าย 550 บาท พิสูจน์สัญชาติแล้วอนุญาตถึง 1 พฤศจิกายน 2562 ค่าใช้จ่าย 1,900 บาท กลุ่มที่ 2 ใบจับคู่ : ยังไม่พิสูจน์สัญชาติอนุญาตถึง 30 มิถุนายน 2561 ค่าใช้จ่าย 550 บาท ส่วนพิสูจน์สัญชาติแล้วและใบอนุญาตทำงานเดิมหมด 30 ธันวาคม 2560 จะอนุญาตถึง 31 มีนาคม 2563 ค่าใช้จ่าย 2,225 บาท ส่วนกลุ่มที่ใบอนุญาตทำงานเดิมหมด 31 มีนาคม 2561 จะอนุญาตถึง 31 มีนาคม 2563 ค่าใช้จ่าย 1,900 บาท และกลุ่มที่ 3 บัตรสีชมพู : ยังไม่พิสูจน์สัญชาติอนุญาตถึง 30 มิถุนายน 2561 ค่าใช้จ่าย 325 บาท หากพิสูจน์สัญชาติแล้วอนุญาตถึง 31 มีนาคม 2563 ค่าใช้จ่าย 1,900 บาท ขั้นตอนที่ 5 สำนักงานประกันสังคมขึ้นทะเบียนผู้ประกันตนให้กับแรงงานต่างด้าวที่ทำงานในกิจการของนายจ้างที่เข้าประกันสังคมและแรงงานต่างด้าวที่เคยขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกันตนแล้ว กระทรวงสาธารณสุขทำประกันสุขภาพให้กับแรงงานต่างด้าวที่ยังไม่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติและผ่านการพิสูจน์สัญชาติ แบ่งเป็น 2 กรณีคือ กรณีที่ 1 ทำงานในกิจการที่เข้าข่ายประกันสังคม และขึ้นทะเบียนผู้ประกันตน ต้องทำประกันสุขภาพเพื่อคุ้มครองก่อนเกิดสิทธิประกันสังคม 3 เดือน ค่าใช้จ่าย 500 บาท กรณีที่ 2 ทำงานในกิจการไม่เข้าข่ายประกันสังคม (ผู้รับใช้ในบ้าน และกิจการประมง) ทำประกันสุขภาพ 2 ปี ค่าใช้จ่าย 3,200 บาท และขั้นตอนที่ 6 ชำระค่าบริการ (ค่าขึ้นทะเบียนประวัติ , ค่าตรวจลงตรา , ค่าใบอนุญาตทำงาน , ค่าประกันสุขภาพ) และรับบัตรประจำตัว/ใบอนุญาตทำงาน เอกสารที่ใช้คือ นายจ้างเตรียมเอกสารได้แก่ 1. สำเนาบัตรประชาชน 2. สำเนาทะเบียนบ้าน หากนายจ้างเป็นนิติบุคคลใช้สำเนาหนังสือรับรองจดทะเบียนบริษัทและทะเบียนบ้าน 3. ท.บ.1 ส่วนแรงงานต่างด้าว เตรียมเอกสารได้แก่ 1. ใบจับคู่ หรือ บัตรสีชมพู 2. เอกสารที่ประเทศต้นทางออกให้ เช่น CI TD 3. ใบรับรองแพทย์ หรือใบนัดหมายการตรวจสุขภาพ 4. สำเนาบัตรประกันสังคม (ถ้ามี) สำหรับสถานที่ตั้งศูนย์ OSS มี 78 ศูนย์ทั่วประเทศ แบ่งเป็นกรุงเทพมหานคร 2 แห่งคือที่ศูนย์การค้าไอทีสแควร์ หลักสี่พลาซ่า เขตหลักสี่ และอาคารเพชรเกษมทาวเวอร์ เลขที่ 1759/3 ถ.เพชรเกษม เขตบางแค (ใกล้ห้างบิ๊กซี เพชรเกษม) และส่วนภูมิภาค 76 จังหวัดทั่วประเทศ

นายอนุรักษ์ กล่าวเสริมว่า ศูนย์ OSS จะเปิดดำเนินการไปจนถึงวันที่ 31 มีนาคม 2561 นี้เท่านั้น ซึ่งตั้งแต่วันที่ 5 – 10 กุมภาพันธ์ 2561 มีแรงงานมาดำเนินการแล้ว 29,420 เป็นกัมพูชา 11,652 คน เมียนมา 14,901 คน ลาว 2,867 คน ทั้งนี้ รมว.แรงงาน กำชับให้นายจ้างรีบพาแรงงานมาดำเนินการที่ศูนย์ OSS ตั้งแต่บัดนี้ อย่ารอให้ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2561 เพราะหากมาในช่วงใกล้หมดเวลาอาจไม่ได้รับความสะดวก รวดเร็ว หากมีผู้มาใช้บริการเป็นจำนวนมาก สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นทื่ 1-10 หรือสายด่วนกระทรวงแรงงาน 1506 กด 2 กรมการจัดหางาน

ที่มา: กระทรวงแรงงาน, 10/2/2561

เครือข่ายประกันสังคมค้านใช้ ม.44 “เลือกตั้ง” บอร์ด สปส.ชุดใหม่

นายมนัส โกศล ประธานเครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน (คปค.) กล่าวว่า พ.ร.บ.ประกันสังคม ฉบับที่ 4 พ.ศ.2558 ได้ระบุชัดในมาตรา 8 ให้มีการเลือกตั้งคณะกรรมการประกันสังคม แต่จนบัดนี้ก็ยังไม่มีการร่างเกณฑ์การเลือกตั้ง ซึ่งก็เข้าใจว่าทางกระทรวงแรงงาน และสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กำลังดำเนินการ ซึ่งกรณีที่ทาง พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อมวลชนว่าจะมีการพิจารณาเรื่องนี้ แต่ติดที่ใช้งบถึง 3,000 ล้านบาท ข้อเท็จจริงแล้ว งบดังกล่าวเป็นตัวเลขคร่าวๆ ที่ก่อนหน้านี้เคยเข้าไปหารือกับทางคณะกรรมการการเลือกตั้ง (ก.ก.ต.) ซึ่งกำหนดตัวเลขจากการเลือกตั้งทั่วไปอยู่ที่ประชากรรายละ 87 บาทต่อคน งบประมาณเลือกตั้งทั้งหมดก็น่าจะประมาณ 3,000 ล้านบาท

นายมนัสกล่าวว่า ตัวเลขผู้ประกันตนจริงๆ มีอยู่ที่ 13 ล้านคน ก็จะเท่ากับ 1,131 ล้านบาท ซึ่งตนไม่แน่ใจว่าตัวเลขที่รัฐมนตรีฯให้สัมภาษณ์อาจหมายถึงตัวเลขภาพรวมการเลือกตั้ง หรือมีการคำนวณอย่างไร แต่จริงๆแล้ว ทาง คปค.เสนอทางออก ซึ่งประหยัดงบได้มากกว่าครึ่งหนึ่ง โดยที่ผ่านมา คปค.ได้ทำหนังสือเสนอไปยัง นายจรินทร์ จักกะพาก ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานกรรมการประกันสังคม เกี่ยวกับโมเดลระเบียบการเลือกตั้ง โดยการเลือกบอร์ดครั้งนี้ จะแตกต่างจากบอร์ดชุดเดิม ที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แต่งตั้งไว้เมื่อปี 2558 ซึ่งหมดวาระไปแล้วเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2560 วาระละ 2 ปี และเดิมกรรมการมีจำนวน 15 คน ฝั่งละ 5 คน ทั้งฝ่ายรัฐ ฝ่ายนายจ้าง และฝ่ายลูกจ้าง แต่ในกฎหมายใหม่ระบุให้มีทั้งหมด 21 คน ฝ่ายละ 7 คน

ประธาน คปค. กล่าวอีกว่า โดยโมเดลของ คปค.เสนอว่า ให้จังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง 77 เขต ใช้สำนักงานประกันสังคมจังหวัดในการดำเนินการ และผู้ประกันตนมีสิทธิออกเสียงได้ 1 เสียง สำหรับการเลือกนั้น จะแบ่งออกเป็นฝ่ายลูกจ้าง และฝ่ายนายจ้าง อย่างฝ่ายลูกจ้างจะทำการเลือกผู้แทนเข้าไปในบอร์ดฯจำนวน 7 คน โดยใช้วิธีคัดเลือกจากพื้นที่แบ่งเป็นขั้นต่ำพื้นที่ไหนมีผู้ประกันตน 150,000 คน ให้มีผู้แทน 1 คนลงสมัครเป็นตัวแทนเข้าบอร์ด ขณะที่นายจ้างให้พิจารณาว่าพื้นที่ไหนมีนายจ้างรวม 5,000 คนให้มีผู้แทน 1 คนเชิง ซึ่งรวมทั้งประเทศจะมีผู้แทนทั้งฝั่งนายจ้างและลูกจ้าง ฝ่ายละ 125 คน หลังจากนั้นก็ให้มีการเลือกออกมาให้ได้ฝ่ายละ 7 คน

“ส่วนที่ว่าต้องมีการพิจารณา เพื่อให้ประหยัดงบประมาณ อาจมีข้อเสนอเรื่อง ม.44 แต่งตั้งบอร์ดสปส. อีกครั้งนั้น ทางเราไม่เห็นด้วย เพราะที่ผ่านมาบอร์ดชุดเดิมก็มาจาก ม.44 ซึ่งไม่จำเป็นแล้ว และเราก็มีพ.ร.บ.ประกันสังคม ฉบับที่ 4 พ.ศ.2558 ในม.8 ก็ระบุชัดว่าต้องเลือกตั้ง จึงควรปฏิบัติตามกฎหมาย” นายมนัสกล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่าใน พ.ร.บ.ประกันสังคมฯ ม.8 ให้มีการจัดทำระเบียบเลือกตั้งภายใน 180 วันแต่จนขณะนี้ยังไม่มี ถือว่าผิดหรือไม่ นายมนัสกล่าวว่า ก็เข้าใจว่าอาจติดปัญหาหลายอย่าง ซึ่งเราก็ไม่อยากต้องไปฟ้องศาลปกครอง แต่เราใช้วิธีในการเจรจากันก่อน ทราบว่ามีการดำเนินการอยู่

ผู้สื่อข่าวถามว่างบการเลือกตั้งใช้จากกองทุนประกันสังคมจะไม่กระทบหรืออย่างไร นายมนัสกล่าวว่า จากที่เคยหารือกันทราบว่าจะใช้งบบริหารจัดการของสำนักงานฯประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นการเอามาจากดอกผลของเงินสมทบทั้ง 3 ฝ่าย ซึ่งดอกผลดังกล่าวปกติก็นำมาใช้ในเรื่องของการบริหารจัดการของสำนักงานอยู่แล้ว เช่น เบี้ยประชุม หรือการไปศึกษาดูงานต่างประเทศ ไม่ได้กระทบผู้ประกันตน ในทางกลับกัน การมีการเลือกตั้งเช่นนี้จะส่งผลดีต่อผู้ประกันตน เพราะทำให้เกิดการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง เนื่องจากที่ผ่านมาการคัดเลือกกรรมการเข้ามานั่งในบอร์ดฯ ในส่วนของผู้ประกันตนจะมาจากสหภาพแรงงานแห่งละ 1 เสียง ซึ่งถือว่าน้อยเกินไป เพราะบางสหภาพก็อาจมีคนไม่ถึงพันก็มี ดังนั้น การเลือกตั้งจะทำให้ผู้ประกันตนทุกคนมีสิทธิมีเสียงในการเลือกผู้แทนเพื่อมารักษาสิทธิประโยชน์ของตน

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 9/2/2561

หนุนนร.-นศ.ทำงานช่วงปิดเทอม มีรองรับกว่า 7,000 อัตรา

วันที่ 8 ก.พ. เวลา 10.30 น. พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รมว.แรงงาน เป็นประธานการประชุมเพื่อขับเคลื่อนการส่งเสริมการมีงานทำให้นักเรียน นักศึกษา ในช่วงปิดภาคเรียนหรือช่วงว่างจากการเรียน ระหว่างภาครัฐและเอกชน ตามโครงการ “ประชารัฐรวมพลัง สร้างยุวแรงงาน” ณ ห้องประชุมเทียน อัชกุล กรมการจัดหางาน โดยกล่าวว่า การประชุมในวันนี้เป็นการหารือร่วมกับภาครัฐและเอกชน เพื่อขับเคลื่อนการส่งเสริมการมีงานทำให้แก่นักเรียนนักศึกษาในช่วงปิดภาคเรียนหรือช่วงว่างจากการเรียน ระหว่างปลายเดือนก.พ.- พ.ค.ของทุกปี เป็นการส่งเสริมให้นักเรียน นักศึกษาได้ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ เสริมสร้างประสบการณ์การทำงานจริง มีรายได้ระหว่างเรียน จากการประกอบอาชีพที่เหมาะสม สามารถแบ่งเบาภาระของผู้ปกครองได้ ซึ่งเป็นผลดีต่อเยาวชนและสังคม

โครงการประชารัฐรวมพลัง สร้างยุวแรงงาน เป็นการทำงานในรูปแบบประชารัฐ ที่มีการบูรณาการร่วมกันระหว่างหน่วยงานต่างๆ ในกระทรวงแรงงานกับภาคเอกชนและสถานศึกษา นักศึกษาที่จะทำงานได้ต้องมีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป หากทำงานในหน่วยงานราชการ ปฏิบัติงานไม่น้อยกว่า 7 ชั่วโมงต่อวัน ไม่รวมเวลาหยุดพัก จะได้รับค่าตอบแทนไม่เกินวันละ 300 บาท ปฏิบัติงานไม่น้อยกว่า 3 ชั่วโมงครึ่งต่อวัน จะได้รับค่าตอบแทนไม่เกิน 150 บาท กรณีทำงานในสถานประกอบการภาคเอกชน กำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำรายชั่วโมงไม่ต่ำกว่า ชั่วโมงละ 40 บาท เป็นต้น ซึ่งงานที่สามารถทำได้ต้องเป็นงานที่มีความปลอดภัยและไม่เสี่ยงอันตราย โดยมีสถานที่ที่นักเรียน นักศึกษาไม่สามารถทำงานได้ เช่น สถานที่เล่นการพนัน โรงฆ่าสัตว์ สถานเต้นรำ ร้านอาหารที่มีการจำหน่ายแอลกอฮอล์ เป็นต้น

ได้ประสานกับสถานประกอบการในกรุงเทพฯและต่างจังหวัดทั่วประเทศแล้วกว่า 400 แห่ง มีตำแหน่งงานรองรับในเบื้องต้นกว่า 7,000 อัตรา แบ่งเป็นกรุงเทพฯ 1,700 อัตราและต่างจังหวัด 6,000 อัตรา ตำแหน่งงานว่าง ได้แก่ พนักงานต้อนรับ พนักงานบริการ พนักงานจัดเรียงสินค้า แคชเชียร์ เป็นต้น มีกำหนดเริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 8 มีนาคม 2561 และเมื่อเสร็จสิ้นการทำงานจะได้รับวุฒิบัตรพร้อมกับคู่มือในการปฏิบัติงาน โดยสามารถสอบถามรายละเอียดหรือติดต่อได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1- 10 หรือ โทรสายด่วนกระทรวงแรงงาน 1506 กด 2

ที่มา: ข่าวสด, 8/2/2561

แรงงานไทย 1 รายบาดเจ็บจากเหตุแผ่นดินไหวในไต้หวัน

เมื่อวันที่ 8 ก.พ. ที่กระทรวงการต่างประเทศ น.ส.บุษฎี สันติพิทักษ์ อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวถึงความคืบหน้าเหตุแผ่นดินไหวที่เมืองฮวาเหลียน ไต้หวัน ว่า สำนักงานเศรษฐกิจการค้าไทยประจำไทเป รายงานว่ามีแรงงานไทย 1 คน คือนายประเทียม บุนยัง อายุ 46 ปี ประสบอุบัติเหตุแผ่นหินที่ผลิตของโรงงานผลิตแผ่นหินแกรนิตลื่นหล่นทับข้อเท้า ในช่วงที่เกิดเหตุแผ่นดินไหวระหว่างกำลังทำงานกะกลางคืนของคืนวันที่ 6 ก.พ.ที่ผ่านมา ส่งผลให้กระดูกข้อเท้าร้าว แต่ได้รับการผ่าตัดแล้ว และออกจากโรงพยาบาลเมื่อช่วงเช้าวันนี้ (8 ก.พ.) โดยนายจ้างให้การดูแลอย่างดี สำหรับยอดผู้ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวในไต้หวันล่าสุดมีผู้เสียชีวิต 9 รายเป็นชาวไต้หวันและจีน ได้รับบาดเจ็บ 265 คน ในจำนวนนี้เป็นชาวต่างชาติ 19 คน ซึ่งรวมถึงคนไทย 1 คน ขณะที่ยังคงมีผู้สูญหายอยู่ระหว่างการค้นหาอีก 62 คน

ที่มา: เดลินิวส์, 8/2/2561

อพท.ชูจ้างงาน‘สูงวัย’หนุนท่องเที่ยวชุมชน

นายนาฬิกอติภัค แสงสนิท ผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. กล่าวว่า หลังจาก อพท.นำเกณฑ์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก (Global Sustainable Tourism Criteria : GSTC) ที่ให้ความสำคัญกับการจ้างงานในผู้สูงวัยและผู้พิการเพื่อสร้างความเท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจและลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมมาใช้ประยุกต์กับพื้นที่พิเศษ ได้ร่วมมือกับคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศึกษาวิจัยการจ้างแรงงานในพื้นที่พิเศษในปี 2560 เพื่อประเมินผลความสำเร็จ

หากเทียบธุรกิจท่องเที่ยวที่เป็นภาคีเครือข่ายและที่ไม่ได้เป็นภาคีเครือข่าย พบว่า การจ้างแรงงานท้องถิ่นในกลุ่มที่เป็นภาคีเครือข่ายมีอัตราสูง 62.46% หรือเติบโต 33% คิดเป็นจำนวนคนที่เพิ่มขึ้นจาก 1,095 คน เป็น 1,456 คน เพิ่มขึ้นสวนทางการจ้างงานในพื้นที่ซึ่งไม่ใช่เครือข่ายมีอยู่ในอัตรา 34.25% ลดลง 30% จากที่เคยสูง 5 หมื่นคนในปี 2559 ลดลงเหลือ 4.17 หมื่นคน

หากพิจารณาประเภทแรงงานในพื้นที่พิเศษปีที่ผ่านมาแรงงาน 100 คน มีการจ้างแรงงานท้องถิ่น 34คน ผู้พิการ 1 คน ผู้สูงอายุ 6 คน แต่พื้นที่พิเศษที่เป็นภาคีเครือข่ายมีการจ้างงานท้องถิ่น 62 คน ผู้พิการ 1 คน แต่ผู้สูงอายุจะต่ำกว่าที่ 1 คน

“มีแผนที่ส่งเสริมให้ผู้สูงอายุมีส่วนช่วยเสริมแรงงานด้านท่องเที่ยวในพื้นที่พิเศษมากขึ้นในระดับ 5-6% ของผู้สูงอายุทั้งหมด แต่ขึ้นอยู่กับความพร้อมของชุมชนและความเหมาะสมของประเภทกิจกรรมด้วย"

อพท.มองว่าเครื่องมือที่จะใช้ส่งเสริมการทำงานของคนสูงวัยได้คือการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์(ครีเอทีฟทัวริสซึ่ม) นำร่อง 39 กิจกรรม สอดคล้องกับภูมิปัญญาและความเชี่ยวชาญของผู้อาวุโสหรือ ปราชญ์ท้องถิ่น โดยพื้นที่ที่เห็นผลเร็ว เช่น จ.น่าน ที่มีบริบทด้านการท่องเที่ยวในวิถีพุทธบูชา

ในปีนี้ อพท. จะให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนภายใต้แนวคิด“ทัวริสซึ่มฟอร์ออล”หรือการท่องเที่ยวเพื่อคนทั้งมวล นำร่องสร้างแหล่งท่องเที่ยวและกิจกรรมสำหรับผู้สูงอายุผู้พิการที่พัทยา จากการร่วมพัฒนาของภาคธุรกิจเอกชนที่เห็นโอกาส หลังจากนี้ เมื่อ อพท.ได้ผ่านกระบวนการรับมอบให้ขยายการดูแลจากพื้นที่พิเศษ 6 แห่ง เป็น 9 คลัสเตอร์ 38 จังหวัด ได้เข้าไปเตรียมความพร้อมรองรับกลุ่มประชากรเหล่านี้

สำหรับการสำรวจในไทย มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป 14 ล้านคน คิดเป็น 17% ภายในปี 2568 จะเข้าสู่สังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์แบบขณะที่กลุ่มผู้พิการมีกว่า 1.8 ล้านคน

นายธีระสิน เดชารักษ์ ผู้ช่วยอธิการบดีและอาจารย์ประชุมคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ภาวะการมีงานทำของประชากรสูงอายุของไทยมีค่าเฉลี่ย 38-40% แต่ภาพรวมด้านการจ้างงานผู้สูงอายุภาคท่องเที่ยวมีเพียง 5-6% จึงมีช่องว่างอีกมากให้เร่งพัฒนาศักยภาพหรือหาที่ว่างในตลาดแรงงานส่งเสริมผู้สูงวัยมีส่วนร่วม โดยมี 2 ข้อเสนอแนะสำหรับผู้ประกอบการ คือ หางานให้สอดคล้องกับความเหมาะสมภาวะร่างกายหรือจิตใจของผู้สูงวัย และให้จ้างแบบพาร์ทไทม์ เพราะยืดหยุ่นและลดต้นทุนจากการมีภาระจ้างพนักงานประจำของธุรกิจ

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 9/2/2561

แรงงาน ปั้นรายการทีวีสร้างงาน คล้าย 'เทคมีเอาท์' -ตีแผ่ชีวิตต่างด้าว

เมื่อวันที่ 7 ก.พ. 2561 ที่กระทรวงแรงงาน พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รักษาราชการแทนอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ กล่าวภายหลังเข้าพูดคุยกับ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รมว.แรงงาน ถึงแนวทางการประชาสัมพันธ์และสร้างการรับรู้งานของกระทรวงแรงงาน และนโยบายของรัฐบาลด้านแรงงานว่า ได้หารือแนวทางการสนับสนุนงานด้านประชาสัมพันธ์ของกระทรวงแรงงาน โดยกรมประชาสัมพันธ์จะเป็นตัวกลางในการบอกกล่าวไปถึงประชาชนที่เป็นแรงงานทั้งในและต่างประเทศ จะต้องปฏิบัติตนอย่างไร ให้สามารถอยู่ในระบบการคุ้มครองดูแลจากรัฐบาล ไม่ถูกละเมิดสิทธิและถูกเอารัดเอาเปรียบจากนายจ้าง และการเข้าถึงบริการด้านอื่นๆ

ด้าน พล.ต.อ.อดุลย์ กล่าวว่า ทีมโฆษกรัฐบาลได้หารือการขับเคลื่อนการประชาสัมพันธ์ สร้างการรับรู้ด้านแรงงานให้สังคม เพื่อสื่อไปยังประชาชนและพี่น้องแรงงานอย่างเป็นระบบ มีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาได้มีงานออกไปมากมาย อาทิ การจัดระเบียบแรงงานต่างด้าว แก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน ส่งเสริมการมีงานทำ รวมถึงคนพิการ คนสูงอายุ ตลอดจนส่งเสริมการทำงานพาร์ทไทม์ของนักศีกษาระหว่างปิดภาคเรียน ซึ่งตอนที่ตนเป็น รมว.พัฒนาสังคมฯ ก็ร่วมมือกันในด้านการรับรู้กระบวนการช่วยเหลือทางสังคม ผู้พิการ การก่อสร้างโครงการดินแดง ซึ่งวันนี้สร้างแปลงแรกแล้ว รวมทั้งโครงการบ้านริมคลอง ในคลองลาดพร้าว ทางทีมโฆษกจะมาช่วยเสริมให้สังคมรับรู้มากขึ้น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พล.ท.สรรเสริญ ได้นำเสนอถึงการผลิตรายการทีวีรูปแบบใหม่ เพื่อประชาสัมพันธ์นโยบายกระทรวงต่างๆ ทางช่องเอ็นบีที โดยเห็นว่ากระทรวงแรงงานมีภารกิจเพื่อการบริหารจัดการแรงงานทั้งไทยและต่างด้าว ซึ่งมีความเกี่ยวข้องทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคง จึงต้องประชาสัมพันธ์นโยบายให้ถึงประชาชน โดยการผลิตรายการทีวีในรูปแบบที่ทันสมัยและน่าสนใจ 2 รายการ จะเป็นรายการส่งเสริมให้คนไทยทุกคนมีงานทำ มีคุณภาพชีวิตดีขึ้น กับรายการที่นำเสนอคุณภาพชีวิตที่ดีของแรงงานต่างด้าว ที่ลงทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งรูปแบบจะเป็นการแข่งขันกลุ่มคนทำงาน ในรูปแบบคล้ายรายการดัง "เทคมีเอาท์ ไทยแลนด์" หรือ "กบนอกกะลา" แต่เป็นการแข่งขันด้านความสามารถในด้านอาชีพ ความรู้ ความสามารถ ซึ่งผู้ชนะจะได้ทำงานกับนายจ้างหรือบริษัทที่เข้าร่วมรายการ

ทั้งนี้นายจรินทร์ จักกะพากษ์ ปลัดกระทรวงแรงงานแสดงความเห็นด้วย และพล.ต.อ.อดุลย์ ได้มอบหมายให้สำนักงานประกันสังคมที่มีเงินกองทุนจำนวนมาก ไปหารือในรายละเอียดกับกรมประชาสัมพันธ์

ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์, 8/2/2561

เผยอาชีพที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง

นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง คือโรคความบกพร่องอย่างเรื้อรังในการไหลผ่านของอากาศในระบบทางเดินหายใจ และมักจะแย่ลงเมื่อเวลาผ่านไป อาการที่พบบ่อยได้แก่ มีเสมหะ เหนื่อย อ่อนเพลีย หายใจเสียงวี๊ด และไอ อาการเหล่านี้จะเกิดขึ้นเป็นเวลานาน และโดยมากจะแย่ลงเรื่อยๆ ซึ่งสาเหตุของโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังนั้น ยังไม่ทราบแน่ชัด แต่เชื่อว่ามีปัจจัยเสี่ยงหลายประการด้วยกัน ได้แก่ การสูบบุหรี่ มลพิษในอากาศ การสูดควันบุหรี่มือสอง พันธุกรรม การติดเชื้อของทางเดินหายใจ และทำงานสัมผัสกับความเสี่ยงที่มีในโรงงานอุตสาหกรรม

อาชีพที่มีความเสี่ยงต่อโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง ได้แก่ บุคคลที่ทำงานในเหมืองถ่านหิน โรงงานทอฝ้าย โรงงานทำเซรามิค โรงสีข้าว โรงโม่แป้ง โรงหลอมโลหะ โรงเลื่อยไม้ งานที่เกี่ยวกับสีย้อมต่างๆ ช่างก่อสร้างหรือผสมปูนซีเมนต์ ชาวนา รวมไปถึงพนักงานดับเพลิง ล้วนมีความเสี่ยงต่อโรคดังกล่าว ดังนั้นประชาชนที่มีอาชีพดังกล่าวข้างต้น ควรดูแลสุขภาพโดยการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ งดการสูบบุหรี่ที่ทำให้มีโอกาสเกิดโรคมากขึ้น พร้อมสวมอุปกรณ์ป้องกันก่อนการปฏิบัติงาน และถ้ามีอาการข้างต้นควรไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อรับการตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาต่อไป

นพ.สมบูรณ์ ทศบวร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลนพรัตนราชธานี กล่าวว่า แนวทางการรักษาโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังประกอบด้วย การหยุดสาเหตุที่ทำให้เกิดโรค และการรักษาประคับประคองตามอาการ โดยการให้ยาขยายหลอดลม การให้ยาลดการอักเสบ/ยาแก้อักเสบกลุ่มสเตียรอยด์ การทำกายภาพบำบัด โดยเลือกวิธีออกกำลังกายให้เหมาะสมในผู้ป่วยแต่ละราย เพื่อฝึกความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ทำให้ออกแรงใช้งานได้มากขึ้น ไม่เหนื่อยง่าย การฝึกวิธีหายใจออก เพื่อไม่ให้อากาศคั่งค้างอยู่ในปอดมากเกินไป พร้อมกับการดูแลด้านโภชนาการ ให้ผู้ป่วยได้รับพลังงานจากอาหารที่เพียงพอในแต่ละวัน ไม่ให้น้ำหนักลดหรือผอมลงเรื่อยๆ เพราะจะทำให้ยิ่งเหนื่อย

“ผู้ปฏิบัติงานในอาชีพที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง เมื่อพบมีอาการเหนื่อย การไอเรื้อรัง มีเสมหะ และมีประวัติของการได้รับสัมผัสกับปัจจัยเสี่ยงของโรค ควรตรวจสมรรถภาพปอด เพื่อยืนยันการวินิจฉัย หยุดสาเหตุที่ทำให้เกิดโรค และจะได้รักษาอาการต่อไป แต่เหนือสิ่งสำคัญใด ๆ ทั้งหมดนั้นคือ การป้องกันตนเองก่อนเริ่มต้นปฏิบัติงาน”นพ.สมบูรณ์กล่าว

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 7/2/2561

ผู้บริหารชุดใหม่เนชั่นยกเลิกนโยบายเออร์รี่รีไทร์ เล็งปิด นสพ.คมชัดลึก-กรุงเทพธุรกิจ ทำออนไลน์แทน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะผู้บริหารชุดใหม่บริษัทเนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ได้แจ้งขอพบพนักงานในเครือเนชั่น เมื่อวันที่ 6 ก.พ. 2561 ที่ผ่านมา โดยถือเป็นการชี้แจงทิศทางและนโยบายการบริหารงาน ครั้งแรก

ผู้บริหารชุดใหม่ประกอบด้วย 'มารุต อรรถไกวัลวที' ประธานเนชั่น ,นายสมชาย มีเสน เข้าดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เข้ารับตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ. 2561

นอกจากนี้ ยังรวมถึง สนธิญาณ ชื่นฤทัยในธรรม ดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการ บมจ.เนชั่น มัลติมีเดีย และนายประกิต ประกิต ชมภูคํา ผู้ช่วยประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทเนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)

ส่วนนายเทพชัย หย่อง อดีตประธานเครือเนชั่น ได้ยื่นหนังสือลาออกจากตำแหน่ง เพราะต้องไปผ่าตัดหัวเข่าไปแล้วก่อนหน้านี้

ทางผู้บริหารชุดใหม่ได้แจ้งต่อพนักงานว่า ในช่วงการดำเนินธุรกิจ 2 ปีที่ผ่านมา บริษัทเนชั่นฯ แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ว่าประสบปัญหาขาดทุนหลายพันล้านบาท จึงทำให้บริษัทเนชั่นมีหนี้สินที่ต้องชำระทั้งหมด 1,580 ล้านบาท

โดยสาเหตุการขาดทุนมาจากภาวะถดถอยของสื่อที่ผู้บริโภคหันไปเสพข่าวโซเชียลแทน การบริโภคสื่อประเภทอื่น โดยเฉพาะช่อง NOW 26 ที่ขาดทุนมาโดยตลอด ผู้บริหารชุดใหม่ จึงต้องตัดให้เหลือทีวีเพียงช่องเดียวคือ Nation 22

ทั้งนี้ผู้บริหารชุดใหม่กำลังคิดแผนดำเนินธุรกิจใหม่ โดยจะตัดธุรกิจที่ไม่ก่อให้เกิดกำไรออกไป คือ ธุรกิจที่ประกาศขายไปก่อนหน้านี้ เช่น มหาวิทยาลัยเนชั่น โลจิสติก สื่อสิ่งพิมพ์ ที่ดิน โดยสื่อสิ่งพิมพ์ทั้ง หนังสือพิมพ์คมชัดลึก และหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ กำลังพิจารณาว่าจะตัดออกหรือไม่ แต่แม้ตัดออกก็จะหันไปทำสื่อออนไลน์แทนเพื่อให้ยังคงชื่ออยู่

ส่วน ทีวีเนชั่น 22 มีรายได้ 35 ล้านบาทต่อเดือน รายจ่าย 42 ล้านบาทต่อเดือน ต้องวางแผนเพื่อให้รายได้กับรายจ่ายสมดุลกัน ในอนาคตจะมีการนำเนื้อหาข่าวทั้งหมดมาทำอีเว้นท์ และนำอีเว้นท์มาสร้างรายได้อีกที ซึ่งหากดูบริษัทอื่น ก็มีการทำอีเว้นท์เพิ่มเช่นกัน เพราะพึ่งพาการขายโฆษณาคงทำได้ยาก

ผู้บริหารชุดใหม่ตั้งเป้าว่าจะหยุดการขาดทุนได้ในปี 2561 และถ้าทำได้จะทำให้มีกำไรในปี 2562 และยกเลิกนโยบายเออร์รี่รีไทน์พนักงาน เพราะก่อนหน้านี้ได้จ่ายเงินชดเชยไปกว่า 300 ล้านบาท ทำให้คนเก่งๆรั่วไหลไปหมด และทำให้เสียงบประมาณ

ทั้งนี้จะไม่มีนโยบายนำพนักงานเก่าออก แต่อาจจะมีการเปลี่ยนรูปแบบการนำเสนอ เช่น บางคนที่เคยทำสื่อสิ่งพิมพ์ก็หันมาทำออนไลน์แทน แต่จะไม่เปลี่ยนตำแหน่งหน้าที่ แค่เปลี่ยนบทบาท การบริหารงาน เพราะต้องทำให้องค์กรอยู่ได้ก่อน

ส่วนโครงสร้างการทำงาน ผู้บริหารชุดใหม่ยืนยันว่าจะไม่ปรับเปลี่ยนทิศทางการนำเสนอข่าวอย่างแน่นอน ซึ่งก่อนหน้านี้มุ่งแต่เสนอข่าวเพื่อหวังให้เรตติ้งสูง หลังจากนี้จะปรับให้เป็นตามจุดแข็งเดิม ด้วยการเสนอข่าวตามรูปแบบของเนชั่นเดิม

บรรยากาศการพบปะครั้งนี้ ผู้บริหารชุดใหม่เปิดให้ตอบคำถามไม่ชัดเจนเช่นการควบรวมช่องข่าวระหว่างช่อง Spring News กับ Nation TV

ที่มา: VoiceTV, 7/2/2561

ประกันสังคมเผย 1,352 รพ./คลีนิก ในปี 2561 เข้าร่วมบริการทำฟันไม่ต้องสำรองจ่าย

นพ.สุรเดช วลีอิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน กล่าวถึงความสำเร็จของระบบทันตกรรมประกันสังคมแบบ “ไม่ต้องสำรองจ่าย” ว่า ในปี 2560 ที่ผ่านมา มียอดผู้ประกันตน ใช้บริการแล้วกว่า 1,311,927.00 ครั้ง สำนักงานประกันสังคมจ่ายประโยชน์ทดแทนไปแล้ว 880,981,002.78 ล้านบาท ทั้งนี้ แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของปัญหาสุขภาพในช่องปาก ของผู้ประกันตนรวมถึงความต้องการและความพึงพอใจ ในการเข้ารับบริการกรณีทันตกรรมของผู้ประกันตน

นพ.สุรเดช กล่าวอีกว่า ปัจจุบันได้มีการเพิ่มสิทธิประโยชน์กรณีทันตกรรม มาอย่างต่อเนื่อง โดยได้เพิ่มอัตราค่าบริการทางการแพทย์กรณี อุดฟัน ถอนฟัน ขูดหินปูน ผ่าฟันคุด ให้แก่ผู้ประกันตน เท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นแต่ไม่เกิน 900 บาทต่อคนต่อปี (จากเดิม 600 บาทต่อคนต่อปี) สำหรับการขอรับบริการ ทันตกรรมผู้ประกันตนสามารถใช้บัตรประชาชนเป็นหลักฐานเข้ารับบริการกรณีทันตกรรมกับสถานพยาบาล โดยไม่ต้องสำรองจ่ายเงิน วงเงินไม่เกิน 900 บาทต่อคนต่อปี

"และในปี 2561 มีจำนวนสถานพยาบาลเอกชน/คลินิกเข้าร่วมให้บริการจำนวน 1,352 แห่ง รวมถึงสถานพยาบาลรัฐทั่วประเทศ โดยสังเกตป้ายสติ๊กเกอร์ที่ระบุว่า “สถานพยาบาลแห่งนี้ให้บริการผู้ประกันตนกรณีทันตกรรม “ทำฟัน” ไม่ต้องสำรองจ่าย” กรณีผู้ประกันตนเข้ารับบริการกรณีทันตกรรมในสถานพยาบาลที่ไม่ได้ทำความตกลงเรื่องการเบิกจ่าย ผู้ประกันตนสามารถนำหลักฐานประกอบด้วย ใบเสร็จรับเงิน ใบรับรองแพทย์ พร้อมสำเนาสมุดบัญชีธนาคารของผู้ประกันตนมายื่นต่อสำนักงานประกันสังคมพื้นที่ / จังหวัด / สาขาทั่วประเทศ มายื่นขอรับประโยชน์ทดแทนตามกฎหมายประกันสังคมได้ภายใน 2 ปีนับแต่วันที่เข้ารับบริการที่ระบุไว้ในใบรับรองแพทย์"นพ.สุรเดช กล่าว

เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กล่าวเพิ่มเติมว่า สำนักงานประกันสังคมได้ดำเนินการตามนโยบายการทำงานของ พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รมว.แรงงาน ตามกรอบนโยบายเน้นหนัก ประจำปีงบประมาณ 2561 ที่เน้น 11 นโยบายเร่งด่วน 4 นโยบายระดับพื้นที่ 6 นโยบายบริหารการพัฒนา (11+4+6) พร้อมแนวทางในการสร้างการรับรู้ให้ประชาชนเข้าใจสิทธิประโยชน์ของการประกันสังคม

"รวมทั้งปรับปรุงและเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน อย่างไรก็ตามเพื่อเป็นป้องกันปัญหาทันตกรรมของผู้ประกันตน จึงขอเชิญชวนผู้ประกันตนหมั่นดูแลสุขภาพในช่องปาก และพบทันตแพทย์อย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอปีละอย่างน้อย 1-2 ครั้ง อย่างไรก็ดีหากเกิดปัญหาทันตกรรมกับผู้ประกันตน สำนักงานประกันสังคมพร้อมให้บริการ ทางการแพทย์กรณีทันตกรรมแก่ผู้ประกันตนเพื่ออำนวยความสะดวกในการเข้ารับบริการกรณีทันตกรรม แก่ผู้ประกันตนทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชน อย่างไม่หยุดนิ่ง ในอนาคตจะมีสถานพยาบาลที่รองรับผู้ประกันตน กรณีทันตกรรมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง"นพ.สุรเดช กล่าว

นพ.สุรเดช กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ถือเป็นภารกิจหลักของสำนักงานประกันสังคม และเป็นการคืนความสุขให้กับผู้ประกันตนตามนโยบายรัฐบาลที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับผู้ประกันตน ลูกจ้างให้ได้รับบริการที่ดีและได้รับประโยชน์สูงสุดต่อไป

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 6/2/2561

กสร.ย้ำนายจ้างปฏิบัติตามกฎหมาย ป้องกันและลดอันตรายจากเพลิงไหม้

กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกำชับนายจ้างปฏิบัติตามกฎหมายความปลอดภัย ช่วยป้องกันและลดความสูญเสีย กรณีเกิดจากเหตุอัคคีภัยในสถานประกอบกิจการ พร้อมส่งเจ้าหน้าที่สร้างความรู้ ความเข้าใจการปฏิบัติตามกฎหมาย

นายอนันต์ชัย อุทัยพัฒนาชีพ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) เปิดเผยว่า จากข่าวอัคคีภัยที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งในสถานประกอบกิจการก่อให้เกิดความสูญเสียทั้งทรัพย์สิน บางครั้งอาจก่อให้เกิดความสูญเสียต่อชีวิตของลูกจ้างในสถานประกอบกิจการ เพื่อป้องกันและลดความสูญเสียจากเหตุดังกล่าว กสร. จึงขอเตือนสถานประกอบกิจการ นายจ้าง ลูกจ้าง ให้ระวังเหตุเพลิงไหม้ โดยเน้นเฝ้าระวังจุดเสี่ยงภายในสถานประกอบกิจการ เช่น ห้องเก็บของ พื้นที่จัดเก็บสารเคมี สายไฟฟ้าที่ชำรุด เป็นต้น รวมถึงปฏิบัติตามกฎกระทรวง กำหนดมาตรฐานในการบริหาร จัดการ และดำเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับการป้องกันและระงับอัคคีภัย พ.ศ. 2555 อย่างเคร่งครัด ทั้งนี้กฎหมายดังกล่าวกำหนดให้นายจ้าง สถานประกอบกิจการ จัดมาตรการและดำเนินการในการป้องและระงับอัคคีภัย เช่น การกำหนดให้มีแผนป้องกันและระงับอัคคีภัย การฝึกซ้อมดับเพลิงและอพยพหนีไฟประจำปี เป็นต้น กรณีนายจ้างฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามก็จะมีความผิดตามกฎหมายโดยมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปีหรือปรับไม่เกิน 4 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ได้สั่งการให้พนักงานตรวจความปลอดภัยลงพื้นที่สร้างความรู้ ความเข้าใจ รวมทั้งให้คำแนะนำแก่นายจ้าง สถานประกอบกิจการในการปฎิบัติตามกฎกระทรวง กำหนดมาตรฐานในการบริหาร จัดการ และดำเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับการป้องกันและระงับอัคคีภัย พ.ศ. 2555 และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง สถานประกอบกิจการที่ต้องการข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อได้ที่ สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1 ถึง 10 ศูนย์ความปลอดภัยในการทำงานเขต 1 ถึง 12 หรือที่กองความปลอดภัยแรงงาน กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน 0 2448 9128-39

ที่มา: กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน, 6/2/2561

สหภาพฯ รถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงค์เชิญประชาชนลงนามสนับสนุนจัดหาขบวนรถแก้ปัญหาความเดือดร้อนผู้ใช้บริการ

5 ก.พ. 2561 ได้มีการแจกจ่ายเอกสารที่ใช้หัวหนังสือจากสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟฟ้า ซึ่งเป็น สหภาพแรงงานของบริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท จำกัด ซึ่งเป็นผู้ให้บริการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงค์ระบุถึงปัญหาของขบวนรถที่มีไม่เพียงพอต่อการให้บริการ ส่งผลให้เกิดความเดือดร้อนแก่ประชาชนที่ใช้บริการอย่างมาก และเพื่อให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2556 ที่มีมติเห็นชอบโครงการจัดหารถไฟฟ้าธรรมดา City LINE ของแอร์พอร์ตลิ้งจำนวน 7 ขบวน ดังนั้น สหภาพฯ จึงขอเชิญชวนประชาชนร่วมลงนามสนับสนุนให้มีการจัดหาขบวนรถไฟฟ้าเพิ่ม เพื่อส่งเป็นข้อมูลให้กับทางรัฐบาลได้ตระหนักถึงความพร้อมของผู้ใช้บริการ โดยเอกสารดังกล่าวได้เชิญชวนให้ประชาชนผู้ใช้บริการร่วมลงลายมือชื่อสนับสนุนด้วย

ทั้งนี้ ปัญหาการจัดซื้อขบวนรถแอร์พอร์ตลิงค์ 7 ขบวน วงเงิน 4,000 ล้านบาทที่ยืดเยื้อมานาน โดยนายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เคยสั่งการให้มีการเร่งรัดจัดซื้อให้มีขบวนรถหมุนเวียนให้บริการผู้โดยสารอย่างเพียงพอ โดยไม่ต้องรอการเปิดให้เอกชนเข้ามาเป็นผู้ประมูลให้บริการรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ซึ่งล่าสุดผู้บริหารการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ประกาศชัดเจนว่าจะมีการนําโครงสร้างพื้นฐานของแอร์พอร์ตลิงค์ปัจจุบันไปรวมอยู่ในโครงการด้วย โดยจะมีการเปิดประมูลโครงการให้เอกชนร่วมลงทุนแบบ PPP เดือนมีนาคมปีนี้ อย่างไรก็ตาม รฟท.เห็นด้วยกับแนวทางให้มีการเร่งจัดซื้อขบวนรถเข้ามาให้บริการ โดยไม่ต้องรอการประกวดราคาดังกล่าว

ที่มา: สำนักข่าวไทย, 5/2/2561

กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดตรัง หารือผู้บริหารโรงงานผลิตถุงมือยาง หลังจากเกิดเหตุเพลิงไหม้

เมื่อวันที่ 5 ก.พ.61 นางจิราพันธ์ จิโรภาส สวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จ.ตรัง เปิดเผย “ผู้สื่อข่าว” การเข้าไปดูแลพนักงานของบริษัทไทยกองจำกัดที่เกิดเพลิงไหม้ ว่า พรุ่งนี้จะเดินทางไปที่บริษัทเพื่อหารือกับผู้บริหารของบริษัท ในการดำเนินการส่วนของพนักงานว่าจะมีการดำเนินการอย่างไร

“จำนวนพนักงานทั้งหมดของบริษัทมีประมาณ 1,100 กว่าคน แยกเป็นพนักงานที่อยู่ในส่วนโกดังสินค้าที่ผลิตแล้วเพื่อเตรียมส่งออก ซึ่งเป็นจุดที่เกิดเพลิงไหม้ประมาณ 200 คน ส่วนที่เป็นการผลิตทราบว่าสามารถดำเนินการผลิตต่อไปได้ ส่วนการผลิตจึงไม่น่าจะกระทบ”

ฉะนั้นส่วนของพนักงานที่โกดังประมาณ 200 คน ก็ต้องหารือกับทางผู้บริหารของบริษัทว่าจะมีการดำเนินการอย่างไร ซึ่งกรณีอย่างนี้สถานประกอบการสามารถใช้มาตรา 75 เข้ามาดำเนินการ ตามพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน 2541 แก้ไขเพิ่มเติม 2551 กรณีเกิดเหตุที่เกี่ยวข้อง อย่างเช่น กรณีไฟไหม้หรือน้ำท่วมที่เป็นเหตุฉุกเฉิน สถานประกอบกิจการอาจจะมีต่อการประกอบกิจการ โดยนายจ้างไม่สามารถประกอบกิจการได้ตามปกติ ซึ่งไม่ใช่เหตุสุดวิสัย อาจจะต้องหยุดกิจการทั้งหมดหรือบางส่วน ให้นายจ้างจ่ายเงินให้กับลูกจ้างไม่น้อยกว่าร้อยละ 75 ของค่าจ้างในวันที่ลูกจ้างได้รับก่อนที่จะหยุด ตลอดระยะเวลาที่นายจ้างไม่มีงานให้ลูกจ้างทำงาน

ซึ่งหมายความว่าหากนายจ้างประสงค์จะใช้มาตรา 75 ลูกจ้างก็จะได้รับค่าจ้าง 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ในช่วงที่หยุดนายจ้างก็มีหน้าที่จ่าย และนายจ้างจะต้องแจ้งให้ทางเจ้าหน้าที่ทราบก่อนที่ให้ลูกจ้างหยุด แต่ขณะนี้ทางสถานประกอบการยังไม่ได้แสดงความประสงค์ว่าจะใช้มาตรา 75 หรือไม่ ก็คงต้องหารือกันพรุ่งนี้ว่าจะดำเนินการอย่างไร

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 5/2/2561

วางเป้าพิสูจน์สัญชาติต่างด้าวแล้วเสร็จก่อนสิ้นเดือน มิ.ย.

พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รมว.แรงงาน กล่าวว่า จากคำสั่งของ คสช. ได้สั่งการให้แรงงานต่างด้าวจำนวนเกือบ 2 ล้านคน ขึ้นทะเบียนประวัติและพิสูจน์สัญชาติให้แล้วเสร็จตามกำหนด ซึ่งปัจจุบันมีแรงงานต่างด้าวได้พิสูจน์สัญชาติไปแล้ว 1,187,411 คน ยังคงเหลือที่ยังไม่ได้พิสูจน์สัญชาติอีกกว่า 8 แสนคน อันเนื่องมาจากความล่าช้าในการบริหารจัดการและข้อจำกัดในการดำเนินงานของประเทศต้นทาง

ด้วยเหตุนี้ ครม.จึงมีมติเห็นชอบให้ขยายระยะเวลาการพิสูจน์แรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ ได้แก่ กัมพูชา ลาว และ เมียนมา ออกไปจนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2561 ซึ่งกระทรวงแรงงานได้จัดทำแผนปฏิบัติการสนับสนุนการพิสูจน์สัญชาติแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ และดำเนินการออกใบอนุญาตทำงานให้ถูกต้องตามกฎหมาย หรือ แผนตรีเทพ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการให้เกิดความสะดวก ลดระยะเวลา ลดขั้นตอนและดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะดำเนินการ 5 แนวทาง คือ

1.จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการ การบริหารจัดการเพื่อการทำงานของคนต่างด้าว 2.จัดตั้งคณะกรรมการบริหารจัดการ การทำงานของแรงงานต่างด้าวในประเทศไทยระดับจังหวัด 3.จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการ การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวในกรุงเทพมหานคร 2 ศูนย์ และ ระดับภูมิภาคอีก 11 ศูนย์ 4.จัดตั้งศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ (One Stop Service) ในกรุงเทพฯและทุกจังหวัด และ 5.ประสานความร่วมมือกับ เอกอัครราชทูตกัมพูชา ลาว และเมียนมา ในการบริหารจัดการการพิสูจน์สัญชาติให้เกิดประสิทธิภาพ

ที่มา: แนวหน้า, 5/2/2561

"กสร." สั่งจับตากรณี "ฟูจิ ซีร็อกซ์" ในญี่ปุ่นมีนโยบายปรับลดพนักงาน 1 หมื่นคน ด้านบริษัทลูกในไทยอยู่ระหว่างสำรวจ คาดไม่ได้รับผลกระทบ

นายอนันต์ชัย อุทัยพัฒนาชีพ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงกรณีบริษัท ฟูจิ ซีร็อกซ์ (ญี่ปุ่น) มีนโยบายปลดพนักงานจำนวน 10,000 คน ทั้งในและนอกประเทศญี่ปุ่น เพื่อปรับขนาดองค์กรให้มีความเหมาะสมกับธุรกิจ ว่า กสร.ได้สั่งการให้พนักงานตรวจแรงงานตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยสอบถามไปยังบริษัท ฟูจิ ซีร็อกซ์ (ประเทศไทย) จำกัด ทราบว่าขณะนี้อยู่ระหว่างการสำรวจ หน่วยงานที่มีภาวะคนล้นงาน หรือหน่วยงานที่มีลักษณะงานซ้ำซ้อนกัน หากมีบุคลากรที่ซ้ำซ้อนก็จะลดพนักงานและจะไม่รับคนทดแทน ขณะนี้อยู่ระหว่างเตรียมการสำรวจ คาดการณ์ว่าพนักงานที่มีลักษณะดังกล่าวจะเป็นในส่วนของฝ่ายวิจัยและพัฒนาและในสายการผลิต สำหรับบริษัท ฟูจิ ซีร็อกซ์ (ประเทศไทย) จำกัด ไม่มีโรงงานผลิตคาดว่าจะไม่ได้รับผลกระทบจากนโยบายดังกล่าว

อย่างไรก็ตามสั่งการให้พนักงานตรวจแรงงานติดตามสถานการณ์รวมทั้งความเคลื่อนไหวอย่างใกล้ชิด รวมทั้งชี้แจงข้อกฎหมายให้นายจ้างและลูกจ้างทราบ กรณีมีการเลิกจ้างให้เข้าไปตรวจสอบว่ามีการจ่ายสิทธิประโยชน์ให้กับลูกจ้างถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ หากพบว่าบริษัทปฏิบัติไม่ถูกต้องจะดำเนินการให้ความช่วยเหลือทันที รวมทั้งจะประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมการจัดหางานในการจัดหางานใหม่ทดแทน กรมพัฒนาฝีมือแรงงานกรณีที่ลูกจ้างต้องการฝึกอาชีพและสำนักงานประกันสังคมในการดูแลสิทธิประโยชน์ของลูกจ้างด้วย

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 5/2/2661

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net