Skip to main content
sharethis

นายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวเกาะลันตาระบุ อยากขึ้นมาคุยกับรัฐบาลตรงๆ ให้พับแผนสร้างโรงไฟฟ้า อัดโฆษกรัฐบาลเรื่องไม่มีข้อมูลเพียงพอ ทั้งที่รัฐบาลจัดคณะกรรมการศึกษามานานแล้ว สร้างโรงไฟฟ้ากระทบสุขภาพ สิ่งแวดล้อม ตัดตอนการเป็นเมืองท่องเที่ยว ผู้ร่วมชุมนุมเผย โครงการทำคนแตกแยกถึงขั้นเรือล่ม

เป็นวันที่สามแล้วที่กลุ่มคัดค้านการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินใน จ.กระบี่ และใน อ.เทพา มาปักหลักชุมนุมอดอาหารกันที่หน้าอาคารที่ทำการองค์การสหประชาชาติ  ท่ามกลางแดดร้อนระอุของเมืองกรุงและข่าวคราวเรื่องอากาศที่ไม่สะอาดสำหรับการหายใจของมนุษย์ และพี่น้องที่ล้มฟุบลงจากการอดอาหาร แต่การชุมนุมเพื่อแสดงจุดยืนไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหินยังคงดำเนินต่อไป

ผู้ชุมนุมเป็นลมจากการอดอาหาร ในช่วงบ่ายวันนี้มีผู้อดอาหารเป็นลมไปแล้วจำนวนสองราย

ค้านโรงไฟฟ้าเทพา-กระบี่อดข้าวประท้วงหน้าตึกยูเอ็นต่อ เมินคำสั่ง ตร. ให้แยกย้าย

ธีรพจน์ กษิรวัฒน์ นายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวเกาะลันตา จ.กระบี่ กล่าวว่า ที่มาชุมนุมครั้งนี้เพราะต้องการพูดคุยกับรัฐบาลตรงๆ ว่าผู้ชุมนุมต้องการให้รัฐบาลยุติโครงการไฟฟ้าถ่านหินทั้งที่กระบี่และ อ.เทพา ส่วนตัวเขามีข้อสงสัยหลายประการเกี่ยวกับความดึงดันของรัฐบาลในการที่จะสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินให้ได้ แม้จะมีรายงานเรื่องผลกระทบครั้งแล้วครั้งเล่า และยังระบุว่า การสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินจะเป็นการตัดตอนศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจผ่านธุรกิจการท่องเที่ยวของจังหวัดในบริเวณทะเลอันดามัน

ธีรพจน์ กษิรวัฒน์

“มากกว่าในรอบ 3-4 ปีที่ผ่านมาก็มีการถกเถียงเรื่องเหตุผล ความจำเป็น ทางออกกรณีไฟฟ้าภาคใต้ไว้นานแล้ว ของกระบี่เองจริงๆ รัฐก็เคยตั้งคณะกรรมการไตรภาคีขี้นมาเพื่อหาข้อยุติกรณีโรงไฟฟ้าถ่านหินที่กระบี่ โดยมีคณะกรรมการ 3 ชุด แต่ 2 ชุดที่สำคัญคืออนุกรรมการศึกษารายงานผลกระทบ EIA ว่าถูกต้อง ครบถ้วน รองรับผลกระทบได้ขนาดไหน ซึ่งข้อมูลก็ออกมาชัดเจนว่าการศึกษาผลกระทบที่ผ่านมาของโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ไม่สามารถรองรับผลกระทบทางประมง สุขภาพ การท่องเที่ยว สิ่งแวดล้อมได้ บริบทในการมาทำการศึกษารอบใหม่แต่ยังใช้เกณฑ์การศึกษาแบบเดิมๆ มันก็ไม่สามารถตอบโจทย์ผลกระทบได้

“อีกชุดหนึ่งคืออนุกรรมการไตรภาคีที่ทำการศึกษาตามข้อเสนอของกระบี่ที่อยากเป็นที่แรกในประเทศไทยที่ใช้พลังงานหมุนเวียน 100 เปอร์เซ็นต์ รัฐบาลก็ให้ลองศึกษาดู ถ้าผลการศึกษามีศักยภาพมากพอที่จะผลิตไฟฟ้าได้ 100 เปอร์เซ็นต์ ก็ขอให้รัฐบาลสนับสนุนภายใต้เวลา 3 ปี เพื่อทดลองว่าทำได้จริงหรือไม่ ถ้าทำไม่ได้ก็ค่อยมาดูว่าโรงไฟฟ้าอื่นที่เหมาะสมคืออะไร ซึ่งผลประชุมของอนุกรรมการฯ 3 ฝ่ายก็ชัดเจนว่ากระบี่ใช้ไฟฟ้าสูงสุดอยู่ 150 เมกะวัตต์ แต่ศักยภาพของพลังงานหมุนเวียนอยู่ที่ 1,700 เมกะวัตต์ ซึ่งมากกว่า 10 เท่า แล้วพอข้อสรุปทุกชุดอนุกรรมการออกมาไม่เป็นคุณกับโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน รัฐบาลก็รวบรัดการทำงานของอนุกรรมการ 3 ฝ่าย แล้วหัวหน้าคณะกรรมการ 3 ฝ่ายที่เป็นนายทหารก็ระบุว่า เขาจะสรุปโดยอาศัยความเห็นของเขาเองแล้วนำเสนอต่อนายกฯ แล้วก็เงียบหายไป ประเด็นที่น่าสงสัยคือ ทำไมต้องสรุปตามความเห็นของท่าน ทำไมไม่สรุปตามความเห็นของชุดอนุกรรมการที่ทำไว้ ส่วนของเทพาก็มีเรื่องผลกระทบกับพื้นที่ สถานที่ที่ยังไม่สามารถสร้างได้จริง ผลกระทบกับสิ่งแวดล้อม มันก็เป็นเคสเดียวกันว่า ถ้ารัฐยังเลือกทำ (โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน) ไม่ว่าจะเป็นที่กระบี่หรือเทพา จะส่งผลกระทบกับการพัฒนาประเทศไทยในด้านมูลค่าการท่องเที่ยว ซึ่งศักยภาพที่กระบี่ พังงา ภูเก็ต ยังเป็นศักยภาพที่เห็นชัดว่าทำรายได้มากกว่าร้อยละ 30 ของรายได้จากการท่องเที่ยวของทั้งประเทศ แล้วก็ยังสามารถสร้างรายได้ได้มากกว่านี้ ศักยภาพของกระบี่ พังงา ตรัง ภูเก็ต ไปได้มากกว่านี้ แต่ถ้าจะถูกตัดตอนก็เหมือนภาคตะวันออกที่เอานิคมอุตสาหกรรมไปไว้ใกล้กับแหล่งท่องเที่ยว วันนี้ที่ภาคตะวันออกทำได้ก็คือทำแหล่งท่องเที่ยวแบบแมนเมด (มนุษย์สร้างขึ้นมา) ซึ่งเป็นการทำลายโอกาสของคนที่เป็นเจ้าของทรัพยากรในพื้นที่อย่างสิ้นเชิงอย่างกลับไปแก้ไขไม่ได้”

“เมื่อวานมีข่าวว่าทางคณะรัฐมนตรี (ครม.) จะบรรจุโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินภาคใต้ไว้ในการประชุม ครม. แต่โฆษกรัฐบาลออกมาแถลงว่าไม่มีวาระดังกล่าว และระบุว่าข้อมูลที่รัฐบาลมีในปัจจุบันยังไม่สามารถทำให้รัฐบาลตัดสินใจที่จะยุติโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินได้ เลยมีความเห็นเล็กๆ ว่า แล้วข้อมูลจากคณะกรรมการสามฝ่ายที่รัฐบาลจัดตั้งมาหายไปอยู่ที่ไหน ทำไมรัฐบาลไม่มีข้อมูล

ธีรพจน์ยืนยันว่า การเคลื่อนไหวของพี่น้องไม่มีเรื่องการเมืองมาเกี่ยวข้อง “คนที่ติดตามการเคลื่อนไหวเรื่องโรงไฟฟ้าถ่านหินภาคใต้มา จะพบว่าเราไม่มีเรื่องการเมืองมาเกี่ยวข้องเลย สิ่งที่เราพูดเป็นเรื่องผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ การประมง การท่องเที่ยว การพัฒนาที่ยั่งยืนของภาคใต้ เพราะฉะนั้น สิ่งที่ทางภาคใต้ต่อสู้ ไม่ว่าจะเป็นกระบี่หรือเทพา จะพบว่ายิ่งต่อสู้ก็ยิ่งได้รับการตอบรับจากกลุ่มที่เกี่ยวข้องจากนักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมที่จะเข้ามาให้ความร่วมมือในเรื่องนี้ค่อนข้างสูงมาก องค์กรอื่นก็แล้วแต่ว่ามีบทบาทเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ขนาดไหน หน่วยงานบางหน่วยงานก็มีความกังวลเรื่องผลกระทบเช่นกัน อย่างเช่นหน่วยงานสาธารณสุข ในหลายเวทีก็มีการพูดเรื่องผลกระทบ แต่บทบาทของหน่วยงานก็ไม่สามารถไปขัดแย้งกับหน่วยงานอื่นได้ ข้อกังวลก็เลยยังไม่มีมาตรการรองรับ ในเรื่องการท่องเที่ยว ที่ผ่านมาการศึกษาผลกระทบด้านการท่องเที่ยว”

ผู้ชุมนุมนำเพื่อนที่อดอาหารประท้วงขึ้นท้ายรถตำรวจเพื่อไปรับการรักษาพยาบาล

ระหว่างที่พูดคุยกับธีรพจน์ ทางกลุ่มผู้ชุมนุมได้เอาแหล่งกำเนิดกระแสไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ (โซลาร์เซลล์) มาติดตั้ง โดยธีรพจน์ระบุว่า ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจเคยขอรถสุขาจาก กทม. แต่ว่าไม่ได้ ทุกวันนี้ตอนกลางวันก็ยังไปใช้ตามห้องน้ำของหน่วยงานราชการ โรงพยาบาลรอบๆ ได้ แต่เวลากลางคืนต้องไปใช้ที่วัดซึ่งอยู่ไกล เป็นอุปสรรคกับพี่น้องที่อดอาหาร

อาโยบ มุเซะ จาก จ.สงขลา พักอาศัยห่างจากที่ตั้งโรงไฟฟ้า 5 กม. หนึ่งในผู้ต้องหากรณีเครือข่ายคนสงขลา-ปัตตานี ไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา จ.สงขลา ได้พยายามเดินเท้าเพื่อเข้ายื่นหนังสือต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. เมื่อวันที่ 27 พ.ย.60 จนถูกทหาร ตำรวจ และฝ่ายปกครอง ได้เข้าควบคุมการเดินเท้าพร้อมทั้งจับกุมตัว กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า ร่วมอดอาหารประท้วงมาเป็นวันที่สามแล้ว ผลจากการอดอาหารทำให้ตอนนี้มีอาการเวียนหัวนิดๆ  เขากล่าวว่า ชุมชนที่อาศัยเกิดความแตกแยกหลังมีโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน

อัยโยบ มุเซะ

“โครงการเข้ามาก็เกิดความแตกแยก มีฝ่ายที่สนับสนุนกับฝ่ายไม่สนับสนุน เรือหาปลาของฝ่ายสนับสนุนที่ได้ปลามาเต็มลำเรือ ขอความช่วยเหลือ ปรากฏว่าเรือล่มเพราะฝ่ายที่ไม่สนับสนุนไม่ไปช่วยเหลือ พี่น้องแตกแยกกัน ข้าราชการ ผญบ โต๊ะอิหม่ามส่วนมากจะอยู่ฝ่ายสนับสนุน”

อาโยบฝากถึงผู้อ่านประชาไทว่า ผลกระทบต่อพื้นที่จากการสร้างโรงไฟฟ้านั้นเป็นที่พูดถึงอย่างกว้างขวางในวงวิชาการ โรงไฟฟ้าถ่านหินขนาดใหญ่ที่มีกำลังการผลิตถึง 2,000 เมกะวัตต์จะส่งผลกระทบร้ายแรงแน่นอน  

“วันนี้เราไม่ยอม เพราะเรามีข้อมูลที่เด่นชัด นักวิชาการทั้งประเทศ ทั้งโลกเขาไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน เขามีทางเลือก วันนี้มันไม่ใช่ ถ้าเราเอาโรงไฟฟ้าถ่านหินเราได้รับผลกระทบทั้งเรื่องข้าว ต้นไม้ ขนาดโรงไฟฟ้าถ่านหิน 9 เมกะวัตต์ของโรงไฟฟ้าชีวมวลวันนี้ก็เกิดผลกระทบแล้ว มี 3-4 รายที่เป็นโรคผื่นคันแล้ว ลงแม่น้ำก็หาปลาไม่ได้ ปลาหนีหมด แล้วนี่สร้างโรงไฟฟ้า 2,000 เมกะวัตต์ จะเกิดอะไรขึ้น นอกจากนั้นพื้นที่ อ.เทพา มันมีลักษณะเป็นภูเขาล้อมรอบ แล้วก็เป็นอ่าว ถ้าลมพัดเข้ามาจากทะเลกระแสลมก็คลุมหมด ถ้าฝนตกก็จะเกิดฝนตก เกิดผลกระทบแน่ เพราะเวลาลมพัดมันพัดเข้าชายฝั่ง”

กนกวรรณ แซ่เอี่ยว มาจาก จ.กระบี่ มาที่นี่ได้วันที่ 3 แล้ว ก่อนสัมภาษณ์เธอพยายามเคลียร์ลำคอให้พูดจาได้สะดวกเนื่องจากไม่สบายและมีอาการไอตลอด เธอกล่าวว่า ยิ่งมาตากแดดตากลมก็ยิ่งทำให้อาการแย่ลง

กนกวรรณ แซ่เอี่ยว

กนกวรรณกล่าวว่า มาที่นี่เพราะไม่ยอมรับการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน ท่าเทียบเรือถ่านหินที่กระบี่

“เราเคยคัดค้านจนท่านนายกฯ สั่งยกเลิก EIA ไปแล้ว แต่ตอนนี้เขากลับมาทำใหม่ การกลับมาทำใหม่ พวกเราในฝ่ายคัดค้านโรงไฟฟ้าก็ไม่ยอมรับ”

กนกวรรณทิ้งท้ายว่า ตั้งแต่มาที่นี่ทางรัฐไม่มีแม้แต่จะมาเหลียวแล

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net