ภาคสนามปฏิสัมพันธ์ระหว่างนักมานุษยวิทยากับ “คนอื่น”

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

1. เกริ่นนำ

ภาคสนามสำหรับนักมานุษยวิทยามีความสำคัญอย่างยิ่ง เพื่อที่จะให้เข้าใจโลกของคนอื่น และในขณะเดี่ยวกันยังเป็นพื้นที่ที่ทำให้เราสะท้อนย้อนคิด ตรึกตรอง และที่สำคัญคือเป็นพื้นที่ที่ทดสอบสติปัญญา การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า รวมถึงวิธีการที่จะเข้าถึงข้อมูล ซึ่งการลงภาคสนามจะเป็นประสบการณ์ที่นักมานุษยวิทยาใช้ไปจนกว่าจะเลิกล้มในฐานะนักมานุษยวิทยา หนังสือเรื่อง “Reflections on Fieldwork in Morocco” ของ Paul Rabinow[2] เป็นงานที่เสนอปฏิสัมพันธ์ระหว่างนักมานุษยวิทยา คือ ตัวของ Rabinow ขณะที่ทำภาคสนามในโมร็อกโก ในช่วงปี ค.ศ. 1968-1969 เป็นการเผยให้เห็นว่านักมานุษยวิทยาทำงานอย่างไรเพื่อให้ได้ข้อมูล มีปัญหาอุปสรรคอย่างไรในขณะที่ลงพื้นที่ภาคสนาม และนักมานุษยวิทยาแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า หรือจัดการปัญหานั้นๆ อย่างไร เพราะการลงภาคสนามของนักมานุษยวิทยาเป็น “พื้นที่แห่งการเปลี่ยนผ่าน” เพื่อที่จะได้เป็นนักมานุษยวิทยาอย่างแท้จริง พื้นที่จึงไม่ได้เป็นแต่ “สนาม” ของข้อมูลเท่านั้น ยังเป็นพื้นที่แห่งการใคร่ครวญ สะท้อนย้อนคิดให้เห็นว่านักมานุษยวิทยามี “ตัวตน” อย่างไร ซึ่งการลงพื้นที่ภาคสนามทำให้นักมานุษยวิทยาต้องเผชิญกับวัฒนธรรมที่แตกต่าง และจะเปลี่ยนผ่านอย่างไรเพื่อให้เข้าไปสู่ชุมชน และวัฒนธรรมที่ตนเองศึกษา

การที่ Rabinow เขียนหนังสือเล่มนี้มาเป็นการสะท้อนย้อนคิดให้เห็นว่าการลงภาคสนาม คือ การที่นักมานุษยวิทยาเข้าไปอยู่ในวัฒนธรรมอื่น และต้องเผชิญกับวิธีคิดแบบอื่นเพื่อที่จะเข้าใจมัน ยกตัวอย่างที่ Rabinow เล่าคือ การที่เขาเป็นคนตะวันตก ที่มีความเชื่อเรื่อง “ปัจเจกนิยม” แต่พอเข้าไปในพื้นที่เขากับพบวัฒนธรรมอื่น เช่น การยืมรถ หรือการที่จะมีเรื่องชกต่อยกับ Ali ในงานเลี้ยง เพราะอาลีคิดว่าเขาเป็นเพื่อนที่มีพันธะอะไรบางอย่างต่อกัน แต่ตัวของ Rabinow กลับมีความเชื่อเรื่องความเป็นปัจเจก ทำให้วัฒนธรรมความเชื่อปะทะกัน และสะท้อนให้เห็นว่านักมานุษยวิทยาแก้ไขปัญหาอย่างไร

Rabinow, Paul. Reflections on fieldwork in Morocco. CA. : University of California Press, 1977.


Clifford, James and George E. Marcus. (Edited). Writing Culture : The Poetics and Politics of Ethnography. CA. : University of California Press, 1986.

การเปิดเผยให้เห็นว่าขณะที่นักมานุษยวิทยาลงพื้นที่ต้องเผชิญกับ “ความเป็นอื่น” ในหลายระนาบ แล้วนักมานุษยวิทยาแก้ไข จัดการปัญหานั้นๆ อย่างไร เพื่อก้าวเข้าไปเป็นนักมานุษยวิทยาเต็มตัว
 

2. สนามของนักมานุษยวิทยาปฏิสัมพันธ์กับความเป็นอื่น

การศึกษามานุษยวิทยา มีมโนทัศน์เกี่ยวกับ field / champ (fr.) ของปิแอร์ บูร์ดิเยอ (Pierre Bourdieu, 1930-2002) หมายถึง สนาม, สนามประลองหรือวงการ (ตามการบัญญัติคำของ รศ.นพพร ประชากุล) สื่อถึงโครงสร้าง / พื้นที่ทางสังคมที่มีการประชันขันแข่งกันด้วยความรู้ รสนิยม หรือวัฒนธรรมระหว่างคนกลุ่มต่างๆ ในสังคม โดยการแสดงออกผ่านการปฏิบัติในรูปแบบต่างๆ ตัวอย่างเช่นในวงการบันเทิง วงการไฮโซ วงการการเมือง หรือแม้แต่ในวงการวิชาการ ตามความหมายดังกล่าวนี้ “สังคม” ที่เรามีชีวิตอยู่ จึงเป็นพื้นที่ของการซ้อนทับกันของ “สนาม” ในแบบต่างๆ ที่รอให้นักมานุษยวิทยา นักสังคมวิทยา และผู้สนใจปรากฏการณ์ทางสังคมได้ศึกษาเรียนรู้ สยบยอม เปลี่ยนแปลงหรือพยายามทำความเข้าใจ “สนาม” จึงเป็นพื้นที่สาธารณะอันเป็นที่มาแห่งความรู้ เห็นความซับซ้อนของอำนาจที่ไหลเวียนอยู่รายรอบ[3]

พื้นที่สนาม หรือ field ของนักมานุษยวิทยา ในอดีตมักเป็นพื้นที่หมู่บ้านขนาดเล็ก หรือไม่ก็ชนเผ่าที่ยังไม่มีความเปลี่ยนแปลงมากนัก สามารถกำหนดขอบเขตได้ เช่น การศึกษาชนเผ่าเบดูอิน ของ ของ Lila Abu-Lughod[4] ที่เข้าไปศึกษาเรื่องการใช้ ghinnawa หรือบทกวี ที่หญิงชาวเบดูอินใช้แสดงถึงอารมณ์ความรู้สึก เพื่อต่อต้านอำนาจของผู้ชาย หรือการศึกษาของ Nancy Eberhardt[5] ในพื้นที่หมู่บ้านบ้านชาวไทใหญ่ในแม่ฮ่องสอน ที่แสดงให้เห็นการเปลี่ยนผ่านในช่วงชีวิตของคนในหมู่บ้านภายใต้พิธีกรรมต่างๆ สนามจึงเป็นพื้นที่ที่เราเข้าไปมีปฏิสัมพันธ์ หรือไม่ก็มีความสัมพันธ์ของคนในลักษณะใดลักษณะหนึ่ง เป็นพื้นที่ที่เลื่อนไหล เปลี่ยนแปรได้ แต่อยู่ภายใต้พื้นที่จำกัดหนึ่ง เช่น หมู่บ้าน เป็นต้น

“สนามไม่ได้เป็นเพียงพื้นที่ทางกายภาพ แต่บรรจุเอาความสัมพันธ์ระหว่างผู้อยู่มาก่อน (เจ้าของวัฒนธรรม) ที่มีความสัมพันธ์และสำคัญต่อสนามในระดับที่แตกต่างกัน กับผู้มาใหม่ (นักมานุษยวิทยา) ที่ไม่ได้ถูกต้อนรับในฐานะแขกผู้มาเยือนอย่างเดียว แต่อาจถูกตรวจสอบข้อมูล ถูกตีความ ถูกเอาเปรียบ ถูกทดสอบความอดทนในรูปแบบต่าง ๆ จากผู้คนในสนามด้วย

Coleman, Simon and Peter Collins. Locating the Field : Space, Place and Context in Anthropology. Oxford ; NY. : Berg, 2006.


Lila Abu-Lughod. Veiled sentiments : honor and poetry in a Bedouin society. Berkeley : University of California Press, 1988.

เนื่องจากการเข้าไปศึกษาวัฒนธรรมนั้นไม่ได้เรียบง่ายและราบรื่น แต่ต้องผ่านการถูกทดสอบความสัมพันธ์ในลักษณะต่าง ๆ ทำให้ตัวตนของนักมานุษยวิทยานั้นถูกกระทบจากวัฒนธรรมและวิธีคิดที่ต่างไปจากสังคมที่ตนเองจากมา การปรับตัว การประนีประนอม ผ่อนปรน หรือยืนกราน คือกระบวนการที่ถูกปรับใช้ในสนาม นักมานุษยวิทยาไม่สามารถเป็นผู้รุกไล่เอาข้อมูลมาได้โดยง่ายตามใจต้องการ เพราะชุมชนไม่ได้เป็นฝ่ายรับที่รอการถูกค้นพบ แต่เป็นตัวของตัวเอง มีวัฒนธรรมของตนเอง มีพื้นที่ (สนาม) เป็นของตนเอง ซึ่งนักมานุษยวิทยาต่างหากคือผู้แปลกหน้าที่ก้าวเข้าไปยังพื้นที่ของชาวบ้าน การเรียนรู้ที่จะรู้จักวัฒนธรรมของชาวบ้าน จึงไม่ได้เป็นขั้นตอนหนึ่งของการเก็บข้อมูลแล้วจากมาอย่างประสบความสำเร็จโดยง่าย แต่เป็นกระบวนการต่อเนื่องของการทำความรู้จัก การเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ผิดหวัง สมหวัง ได้ข้อมูล เกิดความผิดพลาด ขัดแย้งและปรับตัว ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ไม่เพียงเกิดขึ้นกับนักมานุษยวิทยาเท่านั้น แต่ยังเกิดขึ้นกับชาวบ้าน (โดยเฉพาะผู้ให้ข้อมูลซึ่งทำงานร่วมกับนักมานุษยวิทยา) อีกด้วย ทั้งสองฝ่ายจึงมีโอกาสที่จะสะท้อนย้อนคิดทบทวนถึงตัวตนของตนเองหลังการปะทะดังกล่าว


ปริตตา เฉลิมเผ่า กออนันตกูล, บรรณาธิการ. คนใน ประสบการณ์ภาคสนามของนักมานุษยวิทยาไทย. กรุงเทพฯ : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน), 2545.

การปะทะทางวัฒนธรรมนั้นยังสะท้อนให้เห็นความพยายามของคนในที่จะตอบสนองต่อคนนอก ในการเปิดโอกาสให้นักมานุษยวิทยาทำความเข้าใจวัฒนธรรมของตนนั้น ไม่ได้เกิดจากความไม่รู้ แต่เกิดจากการจงใจในการเลือกที่จะสื่อความหมายบางอย่างที่คิดว่าจะทำให้คนนอกเข้าใจวัฒนธรรมของตนเอง ดังนั้นนอกจากการเรียนรู้ความแตกต่างของความเป็น Moroccan จากผู้ให้ข้อมูลทั้งหลายแล้ว ประสบการณ์ภาคสนามยังสะท้อนให้เห็นว่า วัฒนธรรมคือความจริงที่ถูกสร้าง และถูกตีความ ซึ่งเกิดขึ้นได้ทั้งจากคนในผู้เป็นเจ้าของวัฒนธรรม และคนนอกอย่างนักมานุษยวิทยา จึงไม่มีวัฒนธรรมไหนที่สมควรถูกตีความว่าดั้งเดิมหรือป่าเถื่อน (primitive) กว่าวัฒนธรรมอื่นเพราะทุกวัฒนธรรมก็คือระบบวิถีชีวิตของผู้คนที่มีความแตกต่างกัน ที่อาจจะถูกตีความแตกต่างกันไปในแต่ละครั้งตามสายตาและความเข้าใจของทั้งผู้เก็บข้อมูลและผู้ให้ข้อมูล”[6]

เรามักเข้าใจกันว่า นักมานุษยวิทยา คือ คนที่เข้าไปศึกษาวัฒนธรรมคนอื่น ทั้งด้านวัฒนธรรมความคิดความเชื่อ ในอดีต คือ การเข้าไปศึกษา “คนอื่น” หรือวัฒนธรรมอื่น อาทิเช่น วัฒนธรรมชนเผ่า แต่ในปัจจุบันก็มีการศึกษาสังคมวัฒนธรรมของตนเองมากขึ้น

นักมานุษยวิทยามิได้เข้าไปในพื้นที่ภาคสนามโดยปราศจากอคติ ความคิด ความเชื่อ แต่เรา “แบก” อารมณ์ความรู้สึกเข้าไปด้วย ซึ่งอารมณ์ความรู้สึกนั้นมีผลอย่างสำคัญต่อการเก็บข้อมูล วิเคราะห์ข้อมูล การที่ลงภาคสนามนักมานุษยวิทยาจึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต่อสู้กับ “ตัวตน” (Self) ของนักมานุษยวิทยากับข้อมูลที่ได้ 

การลงพื้นที่ภาคสนามจึงเป็นการใคร่ครวญ สะท้อนย้อนคิดของนักมานุษยวิทยา ซึ่งไม่ได้เป็นแต่การเข้าใจ “คนอื่น” แต่บางทีก็เป็นการเข้าใจ “ตนเองด้วย” การลงพื้นที่ภาคสนามจึงเป็นเหมือน Dialectic ที่เป็นปฏิสัมพันธ์ระหว่างตัวเรา และคนอื่น[7]

นอกจากนี้นักมานุษยวิทยายังต้องแบก (1) “หน้าที่” เพื่อทำความเข้าใจคนอื่น (2) เพื่อที่จะเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมที่เราศึกษา เป็นเสมือนบ้านหลังที่สองที่เราเข้าไปอยู่ (3) เรากลับมือเปล่าโดยที่ไม่รู้อะไรเลยไม่ได้ พื้นที่ภาคสนามเหมือนพื้นที่ที่เราเข้าไปเปลี่ยนผ่านเพื่อเป็น “นักมานุษยวิทยา” ซึ่งแตกต่างจากนักท่องเที่ยวที่เข้าไปในพื้นที่โดยไม่ต้องแบกรับ “หน้าที่” ของการศึกษาวัฒนธรรมอื่น และไม่ต้องคิดว่าพื้นที่เป็นบ้าน นักท่องเที่ยวสามารถอยู่อย่างที่บ้านนำพาบ้านจากที่อื่นมาในพื้นที่ที่ท่องเที่ยวได้ ไม่ต้องเปลี่ยนผ่านเพื่อที่จะเป็นคนในวัฒนธรรม และสามารถจากไปโดยไม่ต้องเรียนรู้อะไร หรือมีอะไรติดมือไปก็ได้ เพราะถือว่ามาเที่ยวแล้ว

พื้นที่ภาคสนามจึงมีความสำคัญอย่างมากต่อนักมานุษยวิทยาเพราะเราได้นำพาตัวตน วัฒนธรรมของเราไปสู่คนอื่น เพื่อทำความเข้าใจคนอื่น

แต่อย่างไรก็ดี นักมานุษยวิทยาก็ไม่ได้เป็นแต่ผู้ที่ถูกศึกษา แต่นักมานุษยวิทยายังเป็นผู้ที่ถูกศึกษาด้วย นักมานุษยวิทยามิได้เข้าไปอย่างเปลือยเปล่าในทางกลับกันคนในพื้นที่ก็ตรวจสอบนักมานุษยวิทยาเช่นกัน ตัวอย่างกรณีของ Rabinow ก็ถูกมองว่าเป็นหมอสอนศาสนาคริสต์ ที่จะเข้าไปเปลี่ยนศาสนาคนในพื้นที่ หรือถูกมองจากเจ้าหน้าที่รัฐว่าจะเป็นสายลับที่เข้าไปสืบความลับต่างๆ ในที่นี้นักมานุษยวิทยาจึง “เป็นคนแปลกหน้า” หรือ “คนอื่น” ของคนในพื้นที่ที่เราศึกษา ไม่ได้รับความไว้วางใจ เชื่อใจ

นักมานุษยวิทยาอาจเป็นเหมือน “แหล่งทรัพยากร” ที่คนในพื้นที่เข้าไปช่วงใช้ประโยชน์ เช่น Rabinow ก็ถูกคนในพื้นที่ยืมรถ หรือกรณีของ Ibrahim ที่มุ่งจะแสวงหาประโยคจาก Rabinow หรือกรณีประเทศไทยพบว่ามักมานุษยวิทยาได้กลายมาเป็นปากเสียง และเป็นแหล่งข้อมูลที่ชาวบ้านใช้ต่อสู้กับรัฐ ทุน ซึ่งทำให้เห็นว่าชาวบ้านเองก็ช่วงใช้นักมานุษยวิทยาในหลากหลายรูปแบบ

อาจกล่าวได้ว่าชาวบ้านในพื้นที่ก็มิได้เป็นเสมือนวัตถุที่แน่นิ่งที่นักมานุษยวิทยาเข้าไปศึกษา แต่ในทางตรงกันข้ามนักมานุษยวิทยาก็เป็นเสมือน “สิ่งของ วัตถุ วัฒนธรรม คนอื่น” ที่ชาวบ้านศึกษาด้วย ทั้งสองฝ่ายต่างศึกษาซึ่งกันและกัน และตัวของชาวบ้านก็ไม่ได้ใสซื่อบริสุทธิ์เหมือนผ้าขาว แต่ “มีการเมือง” ของพื้นที่ด้วย ฉะนั้น ในพื้นที่จึงมีทั้งสิ่งที่ทำได้และสิ่งที่ทำไม่ได้ บางอย่างนักมานุษยวิทยาทำได้ บางสิ่งทำไม่ได้

การที่เราเห็นอาจเป็นเหมือนหน้ากากที่มีข้างหลังฉากที่เราไม่รู้ อย่างกรณีของแบรีแมน ที่ศึกษาหมู่บ้านในเทือกเขาหิมาลัยต่ำ ทางตอนเหนือของอินเดีย เขาพบว่าสิ่งที่ชาวบ้านแสดงให้เห็นกับสิ่งที่อยู่หลังฉากบางครั้งไม่ใช่สิ่งเดี่ยวกัน สิ่งที่ชาวบ้านแสดง คือ สิ่งที่ต้องการให้เขารับรู้ แต่ข้างหลังฉากคือความจริงที่ต้องการซ่อนเร้น เช่น การกินเนื้อของพวกวรรณะพราหมณ์ หรือกรณีความขัดแย้งเรื่องที่ดินของคนในพื้นที่ ซึ่งเรื่องความขัดแย้งชาวบ้านมักไม่เล่าให้นักมานุษยวิทยา หรือคนอื่นฟัง การที่นักมานุษยวิทยาจะได้ข้อมูลต้องอาศัยการศึกษาจากสภาวะแวดล้อม หรือคนอื่นในพื้นที่ ซึ่งอยู่ที่เทคนิคของแต่ละคน อย่างไรก็ตามนักมานุษยวิทยาก็คือ “คนอื่น” “ที่ถูกศึกษา” ในพื้นที่ที่ศึกษา ซึ่งแบรีแมนก็พบเจอกับสถานการณ์เช่นนี้เหมือนกัน[8]

ความสัมพันธ์ระหว่างนักมานุษยวิทยากับ “พื้นที่/สนาม” จึงเป็นปฏิสัมพันธ์แบบ Dialectic หรือความสัมพันธ์สองทางที่ต่างก็ศึกษาเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ไม่ได้มีฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเป็นเหมือนวัตถุที่ให้ศึกษาแต่เพียงฝ่ายเดียว การลงพื้นที่ภาคสนามของนักมานุษยวิทยาจึงเป็นเสมือนพื้นที่แห่งการเปลี่ยนผ่านเพื่อเข้าใจโลกของตนเอง และโลกของคนอื่น
 

3. นักมานุษยวิทยา: โลกของ “ตน” หรือโลก “คนอื่น” ผ่านการเขียน “วัฒนธรรม”

ส่วนหนังสือเรื่อง Writing Culture: The Poetics and Politics of Ethnography ที่ James Clifford และ George E. Marcus[9] เป็นบรรณาธิการ ได้นำเสนอให้เห็นการศึกษาของนักมานุษยวิทยาทั้งการเขียน การลงภาคสนาม หรือการใช้มุมมองทางทฤษฎีเพื่อศึกษา “คนอื่น” โดยมานุษยวิทยาเป็นศาสตร์สาขาหนึ่งเพื่อทำความเข้าใจคนอื่น เพื่อที่จะเข้าใจ “โลกของเราเอง” บางครั้งเราก็เอาโลกของเราไปทาบทาโลกของคนอื่น โลกของคนอื่น จึงเป็นโลกที่เราสร้างขึ้น โดยรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ดี

นักมานุษยวิทยามักทึกทักเอาว่าเราเขียนสิ่งที่คนอื่นคิด แท้จริงแล้วเรากับเขียนเรื่องที่เราเป็นท่ามกลางการจัดเรียงข้อมูล เราเลือกที่จะเขียนเรื่องที่เราสนใจ ละเลยข้อมูลที่ไม่เข้าพวก

ธเนศ วงศ์ยานนาวา ได้ให้คำจำกัดความว่า “วิชามานุษยวิทยาก็เป็นวิชาที่ทะลุทะลวงพื้นที่ของความเป็นส่วนตัวอย่างมากเมื่อเปรียบเทียบกับวิชาทางสังคมศาสตร์แบบอื่นๆ จนทำให้เกิดคำกล่าวตลกๆ ในสมัยหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่งว่า อะไรคือครอบครัวของพวกอินเดียนแดงในทวีปอเมริกา ครอบครัวเดี่ยวของอินเดียนแดงประกอบไปด้วยพ่อแม่ลูกและนักมานุษยวิทยาอีกหนึ่งคน ครั้นเมื่อสังคมชนเผ่าหาได้น้อยลง ดินแดนอย่างปาปัวนิวกีนีก็เป็นสวรรค์ของนักมานุษยวิทยา ดังนั้นครอบครัวเดี่ยวของสังคมปาปัวนิวกีนี ก็ประกอบไปด้วยพ่อแม่ลูกและนักมานุษยวิทยาหนึ่งคน เพียงแต่คราวนี้หลากหลายชาติ”[10] วิชามานุษยวิทยาจึงเป็นศาสตร์ที่พยายามเข้าใจคนอื่น เพื่อส่องสะท้อนโลกของเราเอง

การศึกษาของนักมานุษยวิทยา คือ การศึกษาโลกที่ไกลโพ้น ที่มีสมมติฐานว่าแตกต่างจากเรา ซึ่งการศึกษา คือ การเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของ “ผู้ที่ถูกศึกษา” โดยเชื่อว่าจะเป็นกระจกที่ส่องสะท้อนความเป็นจริง (represent) ชีวิตวัฒนธรรมของผู้ถูกศึกษาสู่ผู้อื่น ซึ่งผู้ศึกษาจะต้องเรียนรู้ผู้ถูกศึกษาอย่างปลอดอคติ ความคิด ความเชื่อ และค่านิยมที่ตนเองมี หรือพูดได้ว่าเป็นเหมือนกระจกที่ส่องสะท้อนความจริงให้ผู้อื่นได้รับรู้[11]

แม้ภายหลังแนวคิดที่ว่าการศึกษาของนักมานุษยวิทยาได้แปรเปลี่ยนไป มิได้เป็นการศึกษาที่ปราศจากอคติ ความเชื่อเจือปน เป็นแต่การศึกษาชาติพันธุ์วิทยาที่ “สร้างภาพแทนความจริง” (representation) ของคนพื้นเมือง หรือผู้ถูกศึกษา ภายใต้บริบทของสังคม วัฒนธรรมของนักชาติพันธุ์วิทยา และงานชาติพันธุ์วิทยาก็เป็นแต่เพียงงานประพันธ์ของนักมานุษยวิทยา ที่มีฐานะไม่แตกต่างจาก “นวนิยาย” แม้มีความแตกต่างในแง่นักมานุษยวิทยาจะเอ่ยอ้างหลักวิชาการในการเก็บข้อมูล และเรียบเรียงข้อมูลให้ลงรอยกันเท่านั้น (Clifford 1986)

การศึกษาของนักมานุษยวิทยาจึงเป็นการศึกษาที่ก้าวเข้าไปอยู่โลกของคนอื่น ที่อาจเหมือน หรือต่างจากเรา แต่ไม่ใช่โลกของเราอย่างแน่แท้ “โลก” ในยุคแรกเป็นโลกที่ต้องการหาความเป็นแบบแผนเพื่อเข้าใจโลกที่เราอยู่ว่ามีพัฒนาการอย่างไร แม้ต่อมาจะก้าวหน้าจนศึกษาการใช้เหตุผลตรรกะ หรือการอธิบายโลกของผู้ศึกษาแล้ว แต่ก็เป็นโลกของผู้อื่นอยู่ดี

การศึกษามานุษยวิทยาจึงเป็นการศึกษา “คนอื่น” โดย “คนอื่น” นักมานุษยวิทยาจึงเป็นเหมือนผู้ข้ามโลกของตนเอง และโลกของผู้อื่น ซึ่งไม่อาจกล่าวได้ว่าการการข้ามไปสู่โลกของคนอื่น เราจะสามารถละทิ้งความเข้าใจโลกของตนเองได้ และฉายสะท้อนโลกของคนที่เราศึกษาได้อย่างหมดจดเหมือนกระจก

นำมาสู่การสร้างวิธีวิทยาที่หลากหลายเพื่อให้เข้าใจโลกของคนอื่น เช่น การเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของโลกที่เราศึกษา การลงภาคสนามอย่างเข้มข้น การสร้างทฤษฎีในการอธิบายอย่างซับซ้อน หรือแม้แต่เผยตัวตนของนักมานุษยวิทยาว่ามีฐานคติอย่างไร ก็เป็นวิธีการหนึ่งที่ทำให้ทราบตัวตนของนักมานุษยวิทยา หรือแม้แต่ให้ผู้ถูกศึกษาเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาก็เป็นวิธีการหนึ่ง ที่นักมานุษยวิทยาทำเพื่อให้เข้าใจโลกของคนอื่น

แต่อย่างใดก็ตามการข้ามโลกไม่ง่าย และการข้ามฐานคติของตนยิ่งไม่ง่ายอย่างที่คิด เพราะนักมานุษยวิทยาเมื่อลงภาคสนามย่อมมีเครื่องไม้เครื่องมือทางทฤษฎีอย่างมากมาย เพื่ออธิบายโลกที่เราไม่คุ้นชิน และ “แว่น” (ทฤษฎี) ที่เรานำติดตัวไปย่อมนำมาสู่การจัดเรียงข้อมูลภาคสนามที่เราศึกษา นำมาสู่ข้อมูลที่ไม่เข้าพวก และไม่สามารถอธิบายได้ สิ่งที่เราทำคือ เราเก็บข้อมูลนั้นไว้ หรือไม่ก็ทิ้งมันไป[12]

แล้วอะไรละคือความจริงที่เราศึกษา ก็ข้อมูลที่เข้าพวกเรียงร้อยออกมาในความเข้าใจของเรา ผ่านโลกของเราที่เรารับรู้ ผ่านตรรกะเหตุผลที่เราอธิบายได้

ส่วน “ความเป็นคนนอก – คนในนั้นไม่ได้ติด (fixed) อยู่กับตัวนักมานุษยวิทยาหรือผู้ให้ข้อมูลแต่เพียงอย่างเดียว เพราะมีองค์ประกอบอีกหลายอย่างในการกำหนดสภาวะดังกล่าว เช่น ตัวตนทางสังคม การได้รับการยอมรับ/ปฏิเสธ ระดับของความผ่อนปรนหรือความเข้มงวดของระบบทางวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน การสังเกตการณ์อย่างมีส่วนร่วมจึงเป็นกระบวนการทำงานที่จริง ๆ แล้ว อาจจะไม่เกิดขึ้นพร้อมกัน เพราะเมื่อเราสังเกตการณ์อย่างจริงจังเราอาจจะไม่สามารถมีส่วนร่วมได้เพราะเราต้องการเก็บรายละเอียด ขณะที่เมื่อเรามีส่วนร่วมอย่างจริงจังเราอาจจะไม่ทันสังเกตการณ์อะไรบางอย่างเพราะเราปล่อยตัวไปกับสภาวะการมีส่วนร่วมดังกล่าว

นอกจากนี้ความเป็นคนนอก หรือความเป็นกลางซึ่งเป็นอีกคุณสมบัติหนึ่งที่มักถูกระบุไว้ในความเป็นนักมานุษยวิทยา ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ปรากฏให้เห็นในงานชิ้นนี้ว่า มันอาจจะทำได้ไม่ง่ายนัก ความเป็นกลางหรือวางตัวเองออกนอกวัฒนธรรมที่กำลังศึกษา ซึ่งอาจหมายรวมถึง ตัวตนของนักมานุษยวิทยาถูกดึงออกมา และไม่ถูกกระทบหรือเข้าไป “อิน” กับชุมชนหรือพื้นที่”[13]

ฉะนั้น แม้นักมานุษยวิทยาจะพกพาเครื่องมือลงภาคสนาม เพื่อ “ข้ามโลก” ไปเข้าใจโลกของคนอื่นอย่างไรก็ตาม โลกที่เราศึกษาย่อมเป็นโลกที่ทาบทาด้วยโลกของเราอย่างไม่อาจส่องสะท้อนโลกของคนอื่นได้อย่างหมดจด 

แต่นั้นไม่ได้หมายความว่าการศึกษาของเราไร้ค่า หาแก่นสารไม่ได้ แต่มันแสดงว่าในฐานะมนุษย์ที่ไม่สามารถออกจากโลกของตนได้ เราได้สร้างโลกของเหรียญสองด้านคือการเข้าใจตนเอง และเข้าใจโลกของคนอื่น แม้ไม่สามารถส่องสะท้อนโลกของคนอื่นได้หมดจด แต่มันกลับส่องสะท้อนโลกที่เราอยู่ให้เข้าใจมากขึ้น
 

4. multi-sited ethnography สนามไร้พรมแดน

การเปลี่ยน “สนาม” ของนักมานุษยวิทยาที่หลุดไปจากพื้นที่ที่มีอาณาบริเวณจำกัด หรือมีพื้นที่ทางกายภาพที่แน่นอน เป็นพื้นที่เล็กๆ เช่น หมู่บ้าน ที่เราสามารถ ควบคุมปัจจัยต่างๆ ได้ เป็นพื้นที่ที่หลากหลาย ไม่มีขอบเขตแน่นอน เช่น พื้นที่ในโลกไซเบอร์ ที่คนที่มีปฏิสัมพันธ์อาจไม่เคยเห็นหน้าค่าตา เป็นโลกที่ไม่พรมแดนแน่นอน หนังสือเรื่อง Locating the field : space, place and context in anthropology โดย Simon Coleman and Peter Collins[14] เป็นบรรณาธิการ ได้เสนอให้เห็น Locating the Field พูดถึงการเปลี่ยนแปลงมุมมองในการมอง field แบบใหม่ จากการมอง สนาม เป็นพื้นที่ทางกายภาพ ไปสู่พื้นที่ที่มีความหลากหลาย ซึ่ง George Marcus ใช้คำว่า multi-sited field โดยคำนี้มีความหมาย 2 ด้าน ทั้งด้านพื้นที่และวิธีวิทยา ผ่านการที่นักมานุษยวิทยาศึกษาความสัมพันธ์ของผู้คนในพื้นที่ การมอง field แบบใหม่นี้ เปิดโอกาสให้มองพื้นที่แบบลื่นไหล ไม่ตายตัว ให้ความสำคัญกับการปรากฏขึ้นของ field แบบ emergence จากเดิมที่นักมานุษยวิทยามอง field หรือสนาม เป็นพื้นที่ขนาดเล็กที่มีอาณาเขต ผู้คน ที่มีลักษณะเฉพาะอย่างใดอย่างหนึ่ง ไปสู่การมองแบบไม่ยึดติดกับพื้นที่ ขยายไปสู่การมองสนามไม่จำกัดอยู่เพียงอาณาบริเวณ แต่ขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์ของผู้คนที่เข้าไปศึกษา เช่น การศึกษาความสัมพันธ์ของผู้คนบนโลกอินเตอร์เน็ต วิถีชีวิตของคนพลัดถิ่น (diaspora) เป็นต้น ไม่ได้เน้นตัวพื้นที่ศึกษาในลักษณะทางภูมิศาสตร์หรือกายภาพ แต่เป็นรูปแบบความสัมพันธ์ที่หลากหลาย

อย่างไรก็ตาม Locating the Field พยายามอธิบายความสำคัญของ field ในหลากหลายระดับ เช่น ระดับที่หนึ่งคือการมอง field ในระดับท้องถิ่น (local) ที่มีลักษณะเฉพาะทางวัฒนธรรม เช่น การศึกษาการใช้พื้นที่ใน South African City ระดับที่สองคือการมอง field ในลักษณะสากล เช่น ความสัมพันธ์ในโลก cyber ซึ่งเกิดขึ้นในทุกพื้นที่ทั่วโลกที่มีความสัมพันธ์ต่อกันผ่านสื่อสมัยใหม่ที่ไม่จำเป็นต้องเห็นหน้า field แบบนี้สะท้อนให้เห็นการไม่มีพื้นที่ทางกายภาพ แต่มีความสัมพันธ์ที่แตกต่างในโลกอินเตอร์เน็ต

นอกจากนี้ยังชี้ชวนให้เรามองไปยังมุมอื่นที่นักมานุษยวิทยามักจะละเลย คือ เวลาเราศึกษาเรามักมองเฉพาะพื้นในบ้าน และพื้นที่สาธารณะ แต่แท้จริงแล้วยังมีพื้นที่อื่นที่เราสามารถศึกษาหรือมองได้ เช่น พื้นที่ระเบียง ที่เป็นพื้นที่ระหว่างถนน กับบ้าน หรือบ้าน กับพื้นที่สาธารณะ ซึ่งการเปลี่ยนมุมมอง หรือจุดที่เรายืน ทำให้เราเห็น/เข้าใจโลกของคนอื่นเพิ่มมากขึ้น

ฉะนั้น งานชิ้นนี้จึงเป็นการชี้ชวนให้นักมานุษยวิทยาได้เปลี่ยนมุมมองจาการศึกษาพื้นที่ที่มีขอบข่ายที่แน่นอน มีขนาดไม่ใหญ่มากนัก เป็นการศึกษาที่ “ความสัมพันธ์” ของผู้คน ที่มีขอบข่ายโยงใยที่กว้างขวาง สัมพันธ์กับความเปลี่ยนแปลงในหลายระนาบ

อย่างไรก็ตามปรากฏการณ์ในโลกปัจจุบัน ผนวกกับแนวคิดหลังสมัยใหม่ ก่อให้เกิดความจำเป็นในการศึกษาแบบพหุสนามแทนการศึกษาแบบฝังตัวในพื้นที่ภาคสนามแห่งเดียวเป็นเวลานาน (Intensively-focus-upon single-site of ethnographic observation and participation) ที่เป็นขนบเดิมทางมานุษยวิทยา ในวัฒนธรรม/สังคมสมัยใหม่ ไม่ว่าจะเป็นผู้คนในเมืองหรือชนบทปัจจุบันล้วนมีวิถีชีวิตที่ผูกพันเข้ากระแสทุนนิยมและโลกาภิวัตน์มากขึ้นเรื่อยๆ แม้ในทางกายภาพอาจดูเหมือนว่าอยู่ห่างไกลจากกลุ่มอื่นๆ งานของ Appadurai[15] ชี้ให้เห็นการไหลเวียนของผู้คนสื่อ ที่ข้ามรัฐ ไม่มีพรมแดนที่แน่นอน แต่เทคโนโลยีการสื่อสารและระบบเศรษฐกิจทุนนิยมโลกาภิวัตน์ ตลอดจนบริบททางสังคมการเมืองต่างๆ ได้สร้างให้เกิดความสัมพันธ์ระหว่างกันกับท้องที่ที่อยู่ห่างไกล (ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ) อย่างแยกไม่ออก เช่น การเดินทางข้ามแดนเพื่อการศึกษา การทำงาน การแต่งงาน การตั้งถิ่นฐาน การท่องเที่ยว เป็นต้น การศึกษาจากจุดใดเพียงจุดเดียวย่อมทำให้เข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นได้เพียงบางส่วนเท่านั้น โดยเฉพาะในด้านการผลิตและบริโภคสินค้า ซึ่งกลายเป็นส่วนสำคัญในชีวิตประจำวันและแกนหลักของสังคมสมัยใหม่ไปแล้ว เช่นเดียวกับงานของ Aihwa Ong[16] ก็แสดงให้เห็นว่าการที่คนจีนโพ้นทะเล ในประเทศต่างๆ ต่างสร้างสายสัมพันธ์แบบใหม่ภายใต้การเป็นพลเมืองของโลก ที่ไม่ยึดติดกับพรมแดนประเทศใดประเทศหนึ่ง แต่ปรับตัว เปลี่ยนปรับความสัมพันธ์ให้เข้ากับบริบทของความเปลี่ยนแปลง ซึ่งการศึกษามานุษยวิทยาแบบยึดติดกับพื้นที่ไม่สามารถทำความเข้าใจความเปลี่ยนแปลงนี้ได้ แต่งานทั้งสองชิ้นข้างต้นได้ใช้การศึกษา multi-sited ethnography ที่ศึกษาการไหลเวียนของผู้คน ผ่าน “ความสัมพันธ์” มากกว่าขอบเขตของพื้นที่ ซึ่งเป็นจุดเด่นของการศึกษาด้วยวิธีการนี้[17]

สำหรับหัวใจของการศึกษาพหุสนามคือวิธีการของเลือกพื้นที่แบบต่างๆ Marcus เสนอว่า (1) การติดตามคนกลุ่มเดิมไปในสถานการณ์หรือสถานที่ต่างๆ (2) การติดตามเส้นทางการผลิตและการกระจายของสินค้า/ของขวัญ/เงิน/งานศิลปะ/ทรัพย์สินทางปัญญา/สิ่งอื่นๆ (3) การติดตามเส้นทางของสัญญะ สัญลักษณ์ และการอุปมาที่บ่งชี้ถึงร่องรอยความสัมพันธ์ภายในสังคม และพื้นฐานของความเชื่อมโยงกัน (4) การติดตามโครงเรื่อง เรื่องราว หรือการเปรียบเทียบ, (5) การติดตามประสบการณ์ชีวิตที่ต่อเนื่องของปัจเจกบุคคล (6) การติดตามคู่กรณีความขัดแย้ง และ (7) การศึกษาตามสถานการณ์อย่างมีกลยุทธ์[18]

การศึกษา multi-sited ethnography จึงเป็นการศึกษาที่ไม่มีขอบเขต พรมแดนพื้นที่ตายตัว แต่เน้นที่ความสัมพันธ์ระหว่างผู้คน สิ่งของ ความทรงจำ ฯลฯ ซึ่งเป็นการให้ความสนใจการไหลเวียน เคลื่อนไหว ไม่หยุดนิ่งติดตรึงพื้นที่

5. ภาคสนามในฐานะพื้นที่เปลี่ยนผ่าน: ข้ามโลกเพื่อส่องสะท้อนตัวเรา

การแปรเปลี่ยนของของสนามที่ทำให้ความเป็นคนใน คนนอก และพรมแดนพื้นที่พร่าเลือนนำมาสู่การศึกษาแบบ multi-sited ethnography ได้ทำให้พื้นที่สนามของนักมานุษยวิทยาเปลี่ยนไป จากมีพื้นที่ที่แน่นอน มาเป็นพื้นที่ที่มีความเลื่อนไหลตามแต่ “ความสัมพันธ์” ของผู้คนแทน ทำให้สนามของนักมานุษยวิทยาไร้พรมแดน แต่อย่างไรก็ดีการศึกษาแบบ multi-sited ethnography ก็ทำให้เราลงลึกในเรื่องที่ศึกษาได้น้อยลง เพราะไม่สามารถติดตามชีวิต และความสัมพันธ์ของบุคคลได้ แต่ในทางตรงกันข้ามก็ทำให้เกิดความรอบด้าน หลากหลายในการศึกษา ซึ่งเป็นทั้งจุดเด่นและข้อจำกัดของ multi-sited ethnography[19]

ส่วนการศึกษาในแบบ Rabinow แสดงให้เห็นถึงความแตกต่างของ informant แต่ละคน ซึ่งมีส่วนในการทำให้งานของนักมานุษยวิทยาเป็นอย่างมาก นอกจากนั้นยังช่วยให้เกิดความเข้าใจเรื่องการปะทะทางวัฒนธรรม การสะท้อนย้อนคิดถึงตัวตนของนักมานุษยวิทยาในระหว่างการทำงานภาคสนาม และได้ทบทวน ตั้งคำถามกับการทำงานของนักมานุษยวิทยาในสนาม จึงเป็นการส่องสะท้อนให้เห็นเบื้องหน้าเบื้องหลังของการทำงานของนักมานุษยวิทยา ที่ไม่ง่ายนักในการทำงานภาคสนาม ทั้งต้องเผชิญกับวัฒนธรรมที่ตนไม่คุ้นชิน เผชิญกับตัวตนของตัวเอง ที่ทั้งขัดและแย้งกับสิ่งที่เห็นและสิ่งที่วาดฝันไว้ งานชิ้นนี้จึงเป็นเหมือนการถ่ายทอดประสบการณ์ที่นักเรียนมานุษยวิทยาต้องเผชิญ เป็นงานที่ไม่ค่อยมีใครเขียนมากนักทั้งที่งานภาคสนามหรือประสบการณ์ภาคสนาม จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะว่าเรามักจะเห็นแต่เบื้องหน้าคือ เมื่องานเสร็จแล้ว แต่เราไม่เห็นการ “ถ่ายทำ” หรือเบื้องหลังการเก็บข้อมูล ซึ่ง Rabinow ได้สะท้อนให้เห็นการทำงานในภาคสนามซึ่งเป็นจุดแข็งที่สำคัญของงานชิ้นนี้ เพราะวิชามานุษยวิทยามิใช่ (1) เรื่องภาคสนามเพียงอย่างเดี่ยว (2) เพราะเรานำเอาปราชญา ความคิดไปศึกษาการกระทำ และวัฒนธรรมของมนุษย์ จึงเป็นเหมือนปฏิสัมพันธ์ระหว่างภาคสนามกับความคิดนามธรรมเพื่อให้เราเข้าใจ “มนุษย์” 

ภาคสนามเป็นพิธีกรรมหนึ่งที่ทำให้เราเป็นนักมานุษยวิทยาเต็มตัว[20] จึงเป็นการสะท้อนย้อนคิดให้เห็นว่าในฐานะนักมานุษยวิทยาที่ศึกษา “คนอื่น” “โลกของคนอื่น” จึงต้องตระหนักรู้ว่าเรากำลังทำอะไร ภายใต้ฐานคติอะไร เพื่อไม่ให้เราทึกทักว่าสิ่งที่เราศึกษาเป็น “ความจริง” ที่ไม่อาจโต้แย้งได้ แท้จริงแล้วสิ่งที่เราศึกษา หรือนิพนธ์ขึ้น เป็นเพียงเศษเสี้ยวของความจริงทั้งหมดตามที่เราเข้าใจ จึงทำให้นักเรียนมานุษยวิทยาไม่เอ่ยอ้างว่าเป็นผู้สถาปนาความจริง แท้จริงแล้วเราเป็นแต่เพียง “ผู้ข้ามโลก” ของเราและของคนอื่น เพื่อเข้าใจตัวเราและโลกเพียงเศษเสี้ยวเท่านั้น[21]

ฉะนั้น นักมานุษยวิทยาที่เป็นทั้งคนข้ามโลกเพื่อศึกษาคนอื่น แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นผู้ถูกศึกษาด้วยเช่นกัน

 

เชิงอรรถ

 

[1] เอกสารประกอบการบรรยายให้นักศึกษาสาขาพัฒนาชุมชน คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงใหม่ วันที่ 27 กันยายน 2560

[2] Rabinow, Paul. Reflections on fieldwork in Morocco. CA. : University of California Press, 1977.

[3] สุดแดน วิสุทธิลักษณ์. สนาม. ปีที่ 1 ฉบับที่ 1 (กุมภาพันธ์-กรกฎาคม 2555).

[4] Lila Abu-Lughod. Veiled sentiments : honor and poetry in a Bedouin society. Berkeley : University of California Press, 1988.

[5] Nancy Eberhardt. Imagining the course of life : self-transformation in a Shan Buddhist community / Nancy Eberhardt. Honolulu : University of Hawaii Press, 2006.

[6] เอามาจากการสรุปเพื่อส่งในวิชาสัมมนาระดับปริญญาเอกของ ผศ. ปรารถนา จันทรุพันธุ์ อ. มหาวิทยาลัยศิลปากร

[7] ดูข้อถกเถียงเรื่องนี้ใน, ปริตตา เฉลิมเผ่า กออนันตกูล, บรรณาธิการ. คนใน ประสบการณ์ภาคสนามของนักมานุษยวิทยาไทย. กรุงเทพฯ : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน), 2545.

[8] ดูเพิ่มใน, เจอรัลด์ ดี แบรีแมน, อู่ทอง ประศาสน์วินิจฉัย แปล. เบื้องหลังหน้ากาก = Behind many masks. กรุงเทพฯ : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน), 2549.

[9] Clifford, James and George E. Marcus. (Edited). Writing Culture : The Poetics and Politics of Ethnography. CA. : University of California Press, 1986.

[10] ธเนศ วงศ์ยานนาวา. ม(า)นุษย์โรแมนติค. สืบค้นจาก http://bookmoby.com/2013/02/14/romantic-anthropology/. [เข้าถึงวันที่ 3 มีนาคม 2557]

[11] ยุกติ มุกดาวิจิตร. อ่าน 'วัฒนธรรมชุมชน' วาทศิลป์และการเมืองของชาติพันธุ์นิพนธ์แนววัฒนธรรมชุมชน. กรุงเทพฯ : ฟ้าเดียวกัน, 2548.

[12] ดูเพิ่มใน, ปริตตา เฉลิมเผ่า กออนันตกูล, บรรณาธิการ. คนใน ประสบการณ์ภาคสนามของนักมานุษยวิทยาไทย. กรุงเทพฯ : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร. 2555.

[13] เอามาจากการสรุปเพื่อส่งในวิชาสัมมนาระดับปริญญาเอกของ ผศ. ปรารถนา จันทรุพันธุ์ ผศ. มหาวิทยาลัยศิลปากร

[14] Coleman, Simon and Peter Collins. Locating the Field : Space, Place and Context in Anthropology. Oxford ; NY. : Berg, 2006.

[15] Appadurai, Arjun. Modernity at Large Cultural Dimensions of Globalization. U of Minnesota Press, 1996. 

[16] Ong, Aihwa. Flexible citizenship : the cultural logics of transnationality. Durham, N.C. : Duke University Press, 1999.

[17] เบญจวรรณ นาราสัจจ์. เรียนรู้การทำงานแบบพหุสนาม. ค้นจาก http://tpir53.blogspot.com/2010/11/blog-post.html

[18] Marcus, George E. 1995. “Ethnography in/of the World System : The Emergence of Multi-Sited Ethnography” Annu.Rev. Anthropol. 24 : 95-117.

[19] Coleman, Simon and Peter Collins. Locating the Field : Space, Place and Context in Anthropology. Oxford ; NY. : Berg, 2006.

[20] Rabinow, Paul. Reflections on fieldwork in Morocco. CA. : University of California Press, 1977.

[21] Clifford, James and George E. Marcus. (Edited). Writing Culture : The Poetics and Politics of Ethnography. CA. : University of California Press, 1986.

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท