Skip to main content
sharethis

ภาพจำของเพลงเพื่อชีวิตหนีไม่พ้นวงคาราวาน คาราบาว กรรมาชน ฯลฯ แต่ในปัจจุบันความเป็นเพลงเพื่อชีวิตก็มีพลวัตในตัวมันเอง แล้วความหมายของคำว่าเพลงเพื่อชีวิตจริงๆ แล้วคืออะไร วงเสวนา "เพลงกับการเมือง" ในเวทีสัมมนา Marxism 2018 อาจช่วยตอบคำถามนี้

เมื่อพูดถึง “เพลงเพื่อชีวิต” เราอาจนึกถึงเพลงที่มีความหมายเกี่ยวข้องกับปัญหาสังคม การเมือง การต่อสู้ทางชนชั้น การถูกกดขี่ ภาพจำของเพลงเพื่อชีวิตหนีไม่พ้นวงคาราวาน คาราบาว กรรมาชน ฯลฯ แต่ในปัจจุบันความเป็นเพลงเพื่อชีวิตก็มีพลวัตในตัวมันเอง แล้วความหมายของคำว่าเพลงเพื่อชีวิตจริงๆ แล้วคืออะไร กินความหมายกว้างแค่ไหน เพลงเพื่อชีวิตในปัจจุบันนอกเหนือจากภาพจำของเพลงในยุค 6 ตุลาแล้วคืออะไร เพลงเพื่อชีวิตจะเป็นวัฒนธรรมกระแสหลักได้หรือไม่

วงเสวนา "เพลงกับการเมือง" ในเวทีสัมมนา Marxism 2018 ที่จัดขึ้น ณ ห้อง 302 วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2561 ร่วมเสวนาโดย กิติภูมิ จุฑาสมิต แฟนพันธุ์แท้เดอะบีเทิลส์, ฮามีร อ่อนทอง วง Amata/Group of Comrades, ทักษภณ โฆษิตพิพัฒน์ วง Kalibut/Group of Comrades และผู้ร่วมฟังเสวนาที่อาจช่วยตอบคำถาม และขยายคำถามให้กว้างขึ้นไปอีก เพราะบางคำถามก็ยังคงต้องถูกถกเถียงกันต่อไป

ทำไมดนตรีถึงเกี่ยวข้องกับการเมือง?

 

กิติภูมิ จุฑาสมิต แฟนพันธุ์แท้เดอะบีเทิลส์ อธิบายว่า ความจริงแล้วคาร์ล มาร์กก็เป็นคนชอบศิลปะ ในทฤษฎีมาร์กซิสต์เองก็พูดเรื่องศิลปะอยู่ไม่น้อย โดยงานศิลปะส่วนใหญ่ที่มาร์กพูดคือหนังสือ เพราะเป็นศิลปะอย่างเดียวที่แพร่หลายในตอนนั้น แต่ปัจจุบันเราอยู่ในยุคที่มีสตรีมมิ่ง ที่หาเพลงอะไรก็ได้

กิติภูมิ กล่าวว่า มาร์กบอกว่าการต่อสู้ทางชนชั้นมีในทุกอย่าง เรามักนึกถึงการต่อสู้ด้วยมวลชน แต่มาร์กมองว่าการต่อสู้ไม่ได้มีแค่นั้น การต่อสู้สามารถอยู่ในอย่างอื่นได้ ปัญญาชนที่สนใจศิลปวัฒนธรรมสายมาร์กซิสต์ คือ อันโตนิโอ กรัมชี่ ซึ่งหันมาสนใจวรรณกรรมพื้นบ้านในฐานะการต่อสู้ทางชนชั้นของประชาชน วรรณกรรมของอิตาลี ‘เดกาเมรอน’ เป็นนิทานร้อยเรื่องที่ชาวบ้านช่วยกันแต่ง แต่ละเรื่องเป็นเรื่องลามกจกเปรต

กิติภูมิ เล่าว่า กรัมชี่ติดคุก เขียนหนังสือในคุกชื่อ ‘Prison Notebook’ เขียนถึงเดกาเมรอนว่าเป็นเครื่องมือของชาวบ้านในการต่อสู้ทางชนชั้นกับฝ่ายอมาตย์ เพราะในเรื่องมักให้อมาตย์ขุนนางดูอ่อนแอ ไม่มีสมรรถภาพทางเพศ ส่วนผู้หญิงชนชั้นสูงก็จะมีต้องการทางเพศสูง ชนชั้นไพร่จะมีความแข็งแรง หล่อ มีพลังตอบสนองความต้องการของผู้หญิงได้ ในที่สุดอมาตย์ก็จะแพ้เรื่องบนเตียง

วรรณกรรมพื้นบ้านจึงเป็นการต่อสู้ทางชนชั้น ในเมืองไทย เช่น ศรีธนญชัย พระราชาในเรื่องจะโง่ๆเซ่อๆ โดนศรีธนญชัยหลอก หรือนิยายจักรๆ วงศ์ๆ อย่างสังข์ทอง พระราชาก็มักโดนหลอก โดนปั่นหัว

ในส่วนของเพลงหรือดนตรีก็เช่นกัน ในทางมาร์กซิสต์ ศิลปินเป็นปัญญาชนชนิดหนึ่ง ถ่ายทอดอุดมการณ์ ให้ครอบงำสังคมได้

เพลงเพื่อชีวิตต้องดูที่เนื้อหา ดนตรีเป็นแค่ส่วนประกอบ?

 

ทักษภณ โฆษิตพิพัฒน์ วง Kalibut ยกตัวอย่างวงดนตรีเพื่อชีวิตสากลที่มีรูปแบบดนตรีหลากหลายแนวทั้งร็อก พังก์ แร็พ เมทัล เช่น Sepultura จากบราซิล, Anti-Flag, Dead Kennedys, Frank Zappa จากอเมริกา, Napalm Death เนื้อหาซ้ายสุดขั้ว แนวดนตรีหนักหน่วงรุนแรง, Public Enemy แนวแร็พยุคบุกเบิก ซาวน์มีเสียงสแครชท์แผ่น, Manic Street Preachers, Rage Against The Machine ที่ทำเพลงที่เกี่ยวกับการต่อสู้ทางชนชั้น และทำงานเป็นนักกิจกรรมไปด้วย ให้ความสนับสนุนฝ่ายซ้าย, Rise Against, System of a Down

กิติภูมิ กล่าวว่า จากตัวอย่างจะเห็นได้ว่าวงการเพลงเพื่อชีวิตของที่อื่นไม่ได้จำกัดเป็นโฟล์คหรือสามช่าแบบบ้านเรา แต่มีอื่นแนว เช่น เมทัล พังก์ แร็พ ดังนั้นถ้าจะดูความเป็นเพื่อชีวิตต้องดูที่เนื้อหา

ฮามีร อ่อนทอง วง Amata กล่าวว่า ในช่วงยุค 6 ตุลา เพลงส่วนใหญ่จะเป็นเพลงโฟล์ค แล้วเราก็เรียกเพลงเหล่านั้นว่าเพลงเพื่อชีวิต แต่ไม่ได้ให้ความหมายกับเพลงเพื่อชีวิตว่าคือความหมายหรือเนื้อหา อย่างอ.ศิลป์ พีระศรีมองว่าเนื้อหาคือศิลปะ ส่วนดนตรีเป็นแค่เทคนิค แต่ถ้ามองแบบเสรีนิยมก็จะมองว่าความงามของดนตรีก็เป็นศิลปะแบบหนึ่ง หรือถ้ามองแบบจิตร ภูมิศักดิ์ ก็จะมองว่าคำว่าเพื่อชีวิตคือเนื้อหา ไม่ใช่ดนตรี ซึ่งคนเรียนดนตรีเองก็ยังเข้าใจความหมายของเพลงเพื่อชีวิตผิดเพี้ยนไป

เขากล่าวว่า ส่วนตัวมองว่ารสนิยมด้านดนตรีเป็นปัจเจกในตัวเอง เรื่องดนตรีเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ในแต่ละพื้นที่ก็นิยมดนตรีที่ต่างกันไป ดังนั้นถ้าจะให้เข้าถึงในหลายพื้นที่ก็ต้องมีดนตรีหลากหลายแนว หากเล่นดนตรีที่ไม่คุ้นหูเขาก็จะไม่สนใจฟัง กลายเป็นว่าเนื้อหาของเพลงก็ไปไม่ถึงผู้รับด้วย แต่ทั้งนี้ก็ต้องโฟกัสที่เนื้อหาด้วยเช่นกัน

อมต หนึ่งในผู้เข้าร่วมฟังเสวนาแสดงความเห็นว่า ส่วนตัวคิดว่าการทำดนตรีของนักดนตรีก็มีความเป็นการเมืองในตัวของมันเองอยู่แล้ว ยกตัวอย่างเคสในโซเวียต มีกลุ่มอนาคิสต์ที่ทำเพลงอาวองการ์ด ด้วยตัวมันเองมันเป็นเหมือนเพลงคลาสสิกทั่วไป แต่สิ่งที่เขาทำคือเขาต่างคนต่างเล่น ไม่มีโน้ตร่วมกัน ซึ่งเขาพยายามตั้งคำถามกับวงดนตรีจัดตั้งของโซเวียต ที่เป็นวงดนตรีออเคสตรา เพลงปฏิวัติ ซึ่งเครื่องดนตรีทุกชิ้นต้องเล่นไปพร้อมกัน เพื่อความพร้อมเพรียง ความฮึกเหิม จึงคิดว่าด้วยตัวดนตรีเองมันก็มีสารของมันอยู่

อีกเรื่องหนึ่งคือเรื่องที่โรล็องด์ บาร์ตส์ (Roland Barthes) พูดว่าผู้สร้างงานศิลปะจะตายลงเมื่อสร้างงานศิลปะเสร็จแล้ว งานศิลปะแต่ละชิ้นมันมีความหมายและฟังก์ชันของมันที่ไม่จำเป็นต้องยึดโยงกับผู้สร้างเลยก็ได้ เหมือนถ้าเราพูดถึงเพลง “สู้ไม่ถอย” ที่ยุคหนึ่งเคยเป็นเพลงสมัย 14 ตุลา ก็กลายมาเป็นเพลงของ กปปส. มันถูกเปลี่ยนความหมายใหม่ไปเรื่อย ดังนั้นบางทีศิลปินเองก็ควบคุมเนื้อหาที่ต้องการจะสื่อออกไปไม่ได้เหมือนกัน

“นักกิจกรรมดนตรี” คืออะไร?

 

ทักษภณ กล่าวถึงแนวคิดที่ต่อยอดมาจากทฤษฎีการคงอยู่ของรัฐของกรัมชี่คือแนวคิดของ หลุยส์ อังทุสแซ (Louis Althusser) เรื่อง “กลไกทางกระบวนการของรัฐ” ว่า รัฐในสถานะหนึ่งเป็นเครื่องมือการกดขี่ทางชนชั้น การที่รัฐรัฐหนึ่งจะคงสภาพความเป็นรัฐอยู่ได้ ต้องมีกลไกด้านการปราบปราม และกลไกทางอุดมการณ์ โดยกลไกด้านการปราบปรามเป็นอำนาจแข็ง ประกอบไปด้วยทหาร ตำรวจ ศาล คุก เป็นต้น ส่วนกลไกทางอุดมการณ์ซึ่งเป็นอำนาจอ่อนประกอบด้วย โรงเรียน ครอบครัว วัด เป็นต้น เช่น การสวดมนต์ทุกวัน การร้องเพลงชาติทุกวัน ทำให้เราระลึกว่าตัวเราเป็นคนพุทธ เป็นคนไทย ซึ่งจะสังเกตได้ว่าชนชั้นผู้มีอำนาจ หรือฝ่ายขวาในสังคมได้ยึดกุมอำนาจส่วนนี้ไว้อย่างแข็งขัน

เขาชี้ว่า นักกิจกรรมในไทยจะต่อสู้ในด้านอำนาจแข็ง ออกมาประท้วงบนท้องถนน แต่ในขณะเดียวกัน กลับไม่มีกลไกทางอุดมการณ์ ในการเผยแพร่อำนาจอ่อนเลย อาจจะเคยมีในสมัย 6 ตุลา เช่น วงกรรมาชน วงคาราวาน หรือจิตร ภูมิศักดิ์ก็มีการแต่งเพลงออกมา แต่ในปัจจุบันวงเพื่อชีวิตถูกช่วงชิงความหมายไป ไม่ได้เป็นดนตรีเพื่อสังคม แต่เป็นดนตรีของคนที่แต่งตัวบ้านนอก

“นักกิจกรรมดนตรี” คือการเอานักกิจกรรมผู้ที่ต่อสู้ทางการเมืองมาผสมกับนักดนตรี เกิดเป็นนักกิจกรรมดนตรี ซึ่งหายไปจากหน้าประวัติศาสตร์นานมากตั้งแต่ยุคคาราวาน คาราบาว ซึ่งวงเหล่านี้หลังๆ มาก็ไม่ได้เป็นนักกิจกรรมดนตรีแล้ว แต่เป็นเพลงเพื่อชีวิตตัวเองมากกว่า จึงอยากให้เกิดการร่วมมือกันในการคืนชีพนักกิจกรรมดนตรี เพื่อให้ฝ่ายซ้ายเรามีเครื่องมือในการต่อสู้เกี่ยวกับศิลปะบ้าง

นักกิจกรรมดนตรีของเราอาจแบ่งเป็นสองฟังก์ชั่น ฟังก์ชั่นแรกคือด้านถ่ายทอดอุดมการณ์ ทำให้คนฟังเกิดการตั้งคำถามว่าสิ่งที่เราเคยเชื่อมันจริงรึเปล่า ฟังก์ชั่นสองคือถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึก มีคนตั้งข้อสังเกตว่าสถานการณ์การเมืองตอนนี้ทำให้นักกิจกรรมบางคนซึมเศร้า เราก็อาจจะทำเพลงที่ปลุกใจให้นักกิจกรรมออกมาสู้ใหม่

ฮามีร กล่าวถึงคำว่า “นักกิจกรรมดนตรี” ถ้าเป็นนักดนตรีเขาจะสนใจเรื่องดนตรีมาก่อนเนื้อหา ส่วนนักกิจกรรมคือคนที่สนใจขับเคลื่อนด้านการเมือง นักกิจกรรมดนตรีจึงมีวิถีของดนตรีอีกแบบหนึ่ง

ฮามีร มองว่าดนตรีในฐานะเป็นเครื่องมือต่อสู้ทางการเมืองนั้นแตกต่างจากศิลปะประเภทอื่น เช่น ภาพวาด ภาพเขียน ตรงที่ดนตรีมีความเหนือกว่าในการปลุกเร้าอารมณ์

เพลงเพื่อชีวิตเข้าไม่ถึงกลุ่มคนฟังอีกฝ่าย?  เพลงป๊อบ-ลูกทุ่ง ไม่ถือเป็นเพื่อชีวิต?

 

ผู้ร่วมฟังเสวนาท่านหนึ่งได้แสดงความเห็นว่า เราอาจต้องเริ่มจากการตั้งคำถามก่อนว่าเพลง ดนตรี ศิลปะ มันมีหน้าที่อะไรและสัมพันธ์อย่างไรกับการเมือง โดยอาจตั้งต้นว่าเพลงและดนตรีเป็นการสร้างความรับรู้ของผู้คนที่มาแชร์ความทรงจำของคนที่มีร่วมกัน มากกว่าเรื่องที่ว่าเพลงและดนตรีไปกวาดเอาผู้คนจากฝั่งซ้ายฝั่งขวามาไว้ นี่เป็นคุณค่ากลางของศิลปะที่ทำหน้าที่เป็นแพลตฟอร์ม ตัวดนตรีอาจเป็นแพลตฟอร์มที่เป็นกลาง แต่ตัวเนื้อหาของเพลงจะทำหน้าที่ และจะทำหน้าที่ได้ดีต่อเมื่อเราละเมียดละไมกับการประดิษฐ์คำใส่เข้าไปในดนตรี ประดิษฐ์จังหวะที่สร้างความเข้าถึงหรือมีอิทธิพลต่อการรับรู้ร่วมกันของผู้คนมากกว่า ซึ่งคิดว่าหน้าที่แบบนี้ฝ่ายขวาทำหน้าที่ได้ดีกว่าฝ่ายซ้ายเสียอีก

เขาชี้ว่า เราบอกเล่าความทุกข์ยากของผู้คน การถูกกดขี่ ขูดรีด ผ่านเพลงมันมีข้อจำกัด แต่ข้อดีของเพลงคือมันขยายผัสสะการรับรู้ ให้เห็นถึงความทุกข์ยากผ่านเสียง ซึ่งมากกว่าเป็นเพียงตัวหนังสือ แล้วจะทำอย่างไรให้คนเกิดความรับรู้ร่วมกัน เห็นตรงกัน เราละเมียดละไมพอที่จะทำให้เพลงของเราขยายไปสู่อีกฝั่งหนึ่งได้ไหม ให้เขาเห็นตรงกันกับเรา ซึ่งที่สุดแล้ว เขามองว่า คนอย่างดี้-นิติพงษ์ ห่อนาค ทำหน้าที่ได้ดีกว่า

อาทิตย์ ศรีจันทร์ ผู้ร่วมเสวนาอีกคนตั้งข้อสังเกตว่า ความจริงแล้วฝ่ายซ้ายก็มีความสามารถในการใช้ภาษาและวรรณกรรม แต่เป็นชุดคำที่เห็นแล้วจะรู้ทันทีว่าเป็นฝ่ายซ้าย เช่นคำว่า ชนชั้น สังคม กรรมมาชีพ แต่ดูเหมือนฝ่ายซ้ายจะไม่ค่อยพัฒนาการใช้ภาษาเอาเสียเลยทั้งดนตรีและวรรณกรรม

” อีกอย่างคือเวลาเราพูดถึงเพลงเพื่อชีวิต ผมอาจเข้าใจผิดก็ได้ แต่มันดูเหมือนมีท่าทีรังเกียจเพลงป๊อบและเพลงลูกทุ่งอยู่ในที เพลงเหล่านี้หายไปไหน ทั้งที่เพลงเหล่านี้คือวิถีชีวิตของผู้คนธรรมดา เราเอาไมค์ ภิรมย์พร เอาต่าย อรทัยไว้ตรงไหนของการต่อสู้ทางสังคม หรือแม้กระทั่งใบเตย อาร์สยาม หรือ BNK48” อาทิตย์ตั้งข้อสังเกต

ต่อคำถามของอาทิตย์ว่า เพลงลูกทุ่งอยู่ตรงไหนของการต่อสู้ทางชนชั้น ทักษภณ ตอบว่าเพลงลูกทุ่งควรเป็นส่วนหนึ่งในนั้น โดยเขาแบ่งเพลงออกเป็น 3 ประเภท หนึ่งคือถ่ายทอดอุดมการณ์ สองคือสะท้อนสังคม เช่น เพลงของต่าย อรทัย, ไมค์ ภิรมย์พร ฯลฯ สามคือจุดประเด็นความคิด วิพากษ์วิจารณ์ ซึ่งอันนี้นักดนตรีอาจต้องทำงานร่วมกับนักวิชาการในการจุดประเด็นที่แหลมคมขึ้นมา

ขณะที่กิติภูมิเสนอว่า นักดนตรีหรือศิลปินก็ต้องร่วมมือกับคนกลุ่มอื่น ทั้งนักวิชาการ เอ็นจีโอ นักกิจกรรม และต้องศึกษาเรื่องราวทางด้านอื่นทางสังคม ปัญหาความทุกข์ยากต่างๆ ควบคู่ไปด้วย ไม่ใช่ศึกษาเพียงดนตรีตัวโน้ต ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะสร้างเพลงหนึ่งเพลงให้ได้อะไรครบถ้วน ถ้าพูดถึงเพลงลูกทุ่ง ยกตัวอย่างเช่นเพลง “คนบ้านเดียวกัน” ก็ถือว่าประสบความสำเร็จที่ทำให้คนอีสานทั่วประเทศสามัคคีกันได้ แต่การสวนกระแสในเชิงศิลปวัฒนธรรมหรืออุดมการณ์มันยากเสมอ กปปส. พันธมิตรฯ ก็ใช้เวลานานกว่าจะทำให้อุดมการณ์ครอบงำสังคม และต้องร่วมประสานกันหลายๆ กลุ่มด้วยถึงทำได้สำเร็จ

เพลงเพื่อชีวิตในยุค 6 ตุลา หายไปแล้วในสังคมปัจจุบัน?

 

สมศักดิ์ อิสมันย์ อดีตนักดนตรีในวงของศรคีรี ศรีประจวบ นักร้องลูกทุ่งชื่อดังในอดีต เล่าถึงความประทับใจแรกที่ได้ฟังเพลง “คนกับควาย” ว่า ช่วงปี 2517-2518 คนไทยยังฟังเพลงสุนทราภรณ์อยู่ พวกที่เรียกว่าหัวใหม่จะไปฟังเพลงฝรั่ง ฮาร์ดร็อกเพิ่งเข้ามา

“ผมฟังวงคาราวาน ครั้งแรกตอนนั้นผมเล่นแตรวงในรำวง ผมฟังแล้ว เฮ้ย มันทำได้ยังไง คือต้องใช้คำว่าอหังการ์ เอาดนตรีอีสานซึ่งคนภาคกลางดูถูกมากมาเล่น แล้วร้องเรื่องราวที่มันพลิกไปจากสิ่งที่เราเคยถูกสั่งสอนมาว่าคนจนมันขี้เกียจ โง่ เลยต้องไปเลี้ยงควาย ชาวนาเป็นคนชนชั้นล่าง เป็นทาสที่ไม่เท่าเทียมกับคนในเมือง พอเราได้ยินเพลงคนกับควาย ‘คนกับคนทำนาประสาคน คนกับควายทำนาประสาควาย สำคัญมั่นคงคือความตาย’ มันเข้าไปถึงในใจ แล้วมันเปิดโลกทัศน์ใหม่ของเรา เราเคยมองโสเภณีว่าเป็นผู้หญิงไม่ดี มักมากเรื่องกาม เราถูกสอนมาแบบนั้น แต่เพลงทำให้ทัศนคติของเราเปลี่ยนไป

“ผมว่ามันอยู่ที่เวลาพวกเราทำเพลงเราคิดอะไร เราคิดจะเผยแพร่อะไรออกมา อย่าไปคิดว่าทำยังไงคนจะฟัง เราทำได้ยังไงเราทำไปอย่างนั้น อย่าไปกลัวว่าคนจะฟังไม่ฟัง” สมศักดิ์กล่าว

โชติศักดิ์ อ่อนสูง ผู้เข้าร่วมเสวนากล่าวว่า รู้จักคนหนึ่งที่ชอบเพลงเพื่อชีวิตมาก ผมไปนั่งคุยกับเขาเรื่องที่มาของเพลงแต่ละเพลง แล้วผมคิดว่าสิ่งที่คุยกันมันแทบไม่โยงอะไรกับสถานการณ์ปัจจุบันเลย ดังนั้นเวลาเราบอกว่าทำไมคนไม่ฟังเพลงคาราบาว ด้านหนึ่งอาจจะเพราะว่ามันพูดถึงช่วงที่เรายังไม่เกิด ถ้าเราเกิดไม่ทัน 6 ตุลา ไม่เคยดูวิดีโอเกี่ยวกับ 6 ตุลา เราอาจจะไม่อินกับมันเลยก็ได้ แต่ทำไมเพลง “คนบ้านเดียวกัน” ถึงแพร่หลายในหมู่คนจำนวนมาก เพราะมันตอบโจทย์กับชีวิตคน หรืออย่างเพลง “คุกกี้เสี่ยงคุก” ที่เป็นเพลงแปลงจากเพลง “คุกกี้เสี่ยงทาย” ของ BNK48 เนื้อหากลายเป็นคนละเรื่อง พูดเรื่องพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา มียอดวิวเกือบสามล้านวิว เราอาจเคลมได้ว่าคนที่ดูพวกนี้เป็นคนรุ่นใหม่ คำถามคือทำไมคนรุ่นใหม่ถึงดูเพลงนี้เยอะ แล้วไม่ไปฟังเพลงของคาราวาน

ทักษภณกล่าวว่า ทำไมคนรุ่นหลังถึงไม่ค่อยฟังเพลงเพื่อชีวิตสมัย 6 ตุลา ถ้าเราโยงเรื่องทฤษฎีของมาร์กซิสต์มา ผมคิดว่าน่าจะมีที่มาจากการเปลี่ยนไปของกระบวนการผลิต จากทฤษฎีวัตถุนิยมประวัติศาสตร์ โครงสร้างส่วนล่างจะกำหนดโครงสร้างส่วนบน หรือความสัมพันธ์ทางการผลิตจะกำหนดวัฒนธรรม ค่านิยม รวมถึงแนวเพลงที่ได้รับความนิยมด้วย ในสมัยก่อนผมรู้สึกว่ามีความหลากหลายของเพลงตลาดมากกว่า เพราะยังไม่เกิดการผูกขาดของกลุ่มทุน แต่ปัจจุบันเมื่อความสัมพันธ์ทางการผลิตเปลี่ยน การผลิตแผ่นซีดีออกมาขายเปลี่ยนเป็นการฟังจาก MP3 เปลี่ยนเป็นการโหลดฟรี แนวดนตรีที่ไม่ได้รับความนิยมในหมู่มากเช่นแนวเพื่อชีวิตก็ค่อยๆ ตายไป ทางแก้ก็คือนักกิจกรรมดนตรีควรเริ่มแต่งเพลงที่เข้าไปชิงพื้นที่ทางอารมณ์ผู้ฟัง

 กิติภูมิกล่าวว่า บางทีคำตอบมันอาจอยู่ที่คุณยืนหยัดเป็นตัวของตัวเองไม่ตามกระแส ถ้าคุณเชื่อมั่นในฝ่ายซ้าย คุณทำเพลงฝ่ายซ้ายออกมา คุณเชื่อมั่นในแจ๊ส คุณทำแจ๊สฝ่ายซ้ายออกมา ทำไปเรื่อยๆๆ 10 ปีเมื่อไหร่คุณจะกลายเป็นสถาบัน อย่างเลียวนาร์ด โคเฮน ทำเพลงตอนแรกคนก็บอกเป็นเพลงบ่นงึมงำๆ หรือบ็อบ ดีแลนด์ บ่นงึมงำๆ แต่ว่าพอมันยืนหยัดไปถึงขั้นหนึ่ง สังคมยอมรับ ไม่ใช่ไหลไปตามกระแสแล้วสังคมยอมรับ แต่เป็นการต้านกระแส ต้านไปเรื่อยๆๆ จนอายุ 60 ต้านไปเรื่อยๆ มันกลายเป็นสถาบัน คนก็รับฟัง คำตอบมันอาจเป็นแบบนี้ แต่คงไม่ใช่สำหรับทุกคน

เพลงที่มีอุดมการณ์การเมืองฝ่ายขวาจะถือเป็นเพลงเพื่อชีวิตด้วยไหม?

 

ณัฐพนธ์ ปานอุดมลักษณ์ นักศึกษาผู้ร่วมฟังเสวนากล่าวว่า เพลงสำหรับผมมีฟังก์ชั่นหลายรูปแบบ มีเพลงประเภทที่ไม่ได้มีเนื้อหาเกี่ยวกับการเมือง แต่มันมีเพลงที่ทำให้คนลืมด้วยว่าถูกกดขี่ ทำให้คนไม่ตั้งคำถาม ที่ทำให้คนหลุดพ้นจากความเป็นจริง วงดนตรีเองก็มีพลวัต ยุคหนึ่งเขาทำเพลงให้ฝ่ายซ้าย ยุคต่อมาเขาอาจจะทำเพลงให้ฝ่ายขวา แล้วเราจะเรียกเพลงนี้ว่าเพื่อชีวิตด้วยไหม หรือเพลงเพื่อชีวิตคือเพลงมีเนื้อหาทางการเมืองที่ไปต้านการกดขี่ ต้านฝ่ายขวาอย่างเดียว ศิลปินที่เรียกตัวเองว่าศิลปินเพื่อชีวิตแต่ตอนนี้ก็เป็นฝ่ายขวาก็มี เพลงเพื่อชีวิตจะต้องเป็นของฝ่ายซ้ายอย่างเดียวไหม หรือเป็นเพลงที่มีนัยทางการเมืองของฝ่ายขวาด้วย ซึ่งถ้าตามประวัติศาสตร์เพลงเพื่อชีวิตก็เกี่ยวกับการลุกขึ้นมาของฝ่ายซ้าย ถ้าบริบทของประเทศไทยก็คือสมัยเดือนตุลา เกิดในยุคที่ฝ่ายซ้ายพยายามสร้างศิลปะแบบนี้ขึ้นมา แต่ในตอนนี้นิยามของเพื่อชีวิตเปลี่ยนไปขนาดไหน

สงวน จุงสกุล อีกหนึ่งผู้ร่วมฟังเสวนากล่าวว่า ถ้าสมมติว่าเพลงเพื่อชีวิตคือเพลงที่มีเนื้อหาทางการเมือง ยกตัวอย่างเพลงของ กปปส. ซึ่งล้วนแต่เป็นเพลงในป่า หรือในทำนองรูปแบบนั้น และผมเชื่อว่าเขาแต่งเพลงเหล่านั้นด้วยความรู้สึกภูมิใจ อาจจะเป็นการผลิตเพลงเพื่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์ แต่มันก็เป็นเนื้อหาทางการเมืองแบบหนึ่ง นี่ถือเป็นเพื่อชีวิตหรือไม่ ท่ามกลางการต่อสู้ทางการเมืองทั้งหมด สมมติฝ่ายซ้ายแพ้ทางการเมืองระดับโลก ข้างล่างเราก็จะรู้สึกว่าการต่อสู้ทางวัฒนธรรมเราก็เพลี่ยงพล้ำ แต่มันก็เป็นการต่อสู้ที่ไม่สิ้นสุด แต่ผมคิดว่าเราก็ต้องยืนหยัดต่อสู้ในความเชื่อของเราไป และผมคิดว่าไม่ว่าจะเป็นเพลงแมสหรือไม่แมสที่มีเนื้อหาเหล่านี้ ก็ล้วนเป็นการต่อสู้ทั้งสิ้น

กิติภูมิยกตัวอย่างเพลงสองเพลงที่มีเนื้อหาทางการเมือง คือ เพลงสรรเสริญพระบารมี ซึ่งก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครองก็ทำหน้าที่เป็นเพลงชาติด้วย แต่หลังพ.ศ. 2475 ทหารรวมถึงข้าราชการพลเรือนต้องการจะมีเพลงชาติ การเกิดขึ้นของเพลงชาติไทยส่วนหนึ่งก็มีนัยทางการเมือง เป็นการต่อสู้ระหว่างคณะราษฎรกับระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ แต่ที่แปลกก็คือตอนนี้ทั้งสองเพลงกลายเป็นเพลงที่แตะต้องไม่ได้แล้ว เป็นเพลงที่จับมือกันไปแล้ว เพลงชาติก็ไม่สามารถมีใครมาเปลี่ยนทำนองได้ เพลงสรรเสริญพระบารมีอาจมีเอามาเรียบเรียงใหม่เป็นแนวคลาสสิก ป๊อบ แต่ไม่มีใครเอามาเรียบเรียงเป็นเพลงแร็พ ลูกทุ่ง

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net