Skip to main content
sharethis
คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล ร้องทางการไทย ยุติใช้กฎหมายหมิ่นประมาทคุกคามต่อผู้เสียหาย นักสิทธิมนุษยชน และนักข่าว เพียงเพราะบุคคลเหล่านี้ได้หยิบยกข้อกล่าวหาว่ามีการทรมานหรือการประติบัติที่ทารุณอื่นๆ ขึ้นมา
 
ภาพจากคลิปรายการนโยบาย By ประชาชน ซึ่ง อิสมาแอ เต๊ะ กล่าวไว้ในนาทีที่ 14.58 เป็นต้นไป https://youtu.be/JaNsOqR6AbA?t=898
 
15 ก.พ.2561 จากกรณีเมื่อวันที่ 14 ก.พ.ที่ผ่านมา แผนกฎหมาย กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ได้รับมอบหมายจาก พล.ท.ปิยวัฒน์ นาควานิช แม่ทัพภาคที่ 4 ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 เดินทางเข้าแจ้งความดำเนินคดี กับ อิสมาแอ เต๊ะ ผู้ก่อตั้งเครือข่ายสิทธิมนุษยชนปาตานี (HAP) ที่กล่าวหาว่าเจ้าหน้าที่ทหารซ้อมทรมานผู้ต้องสงสัย ผ่านรายการนโยบาย by ประชาชน ออกอากาศทางช่อง Thai PBS เมื่อวันที่ 5 ก.พ. 2561 ยื่นเอกสารและข้อมูลที่สร้างความเสื่อมเสียให้กับหน่วยความมั่นคงต่อ พ.ต.ท.ถนัด ค่ำควร รองผู้กำกับการสืบสวนสอบสวนสถานีตำรวจภูธรเมืองปัตตานี เพื่อฟ้องร้องทั้งคดีแพ่งและอาญา ทั้งปวง เอาผิดตามกฎหมายแก่บุคคลที่เกี่ยวข้องดังกล่าว อันส่งผลให้เกิดความเสื่อมเสียชื่อเสียงต่อ กองทัพภาคที่ 4 และ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า นั้น
 
ล่าสุด คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล หรือ ICJ (International. Commission of Jurists) ออกแถลงการณ์และเรียกร้องให้ประเทศไทยยุติการใช้กฎหมายหมิ่นประมาททางอาญาและทางแพ่งในทางที่เป็นการคุกคามต่อผู้เสียหาย นักสิทธิมนุษยชน และนักข่าว เพียงเพราะบุคคลเหล่านี้ได้หยิบยกข้อกล่าวหาว่ามีการทรมานหรือการประติบัติที่ทารุณอื่นๆ ขึ้นมา
 
“เป็นที่น่าแปลกใจอย่างยิ่งที่หลังจากรัฐบาลไทยได้เน้นย้ำถึงความมุ่งมั่นที่จะดำเนินการกับกรณีที่มีการกล่าวหาว่ามีการทรมาน รวมถึงการปกป้องผู้ที่ตกเป็นเหยื่อและนักสิทธิมนุษยชน กอ.รมน. กลับใช้กระบวนการยุติธรรมในทางที่ไม่ถูกไม่ควรนักเพื่อใช้กฎหมายคุกคามผู้ที่กล่าวอ้างว่าเป็นเหยื่อการทรมาน” คิงส์ลีย์ แอ๊บบอต ที่ปรึกษากฎหมายระหว่างประเทศอาวุโสประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ICJ กล่าว พร้อมระบุว่า ประเทศไทยต้องยุติการร้องทุกข์ดำเนินคดีหมิ่นประมาทต่อ อิสมาแอ เต๊ะ และประกันว่าจะมีการสืบสวนสอบสวนกรณีที่มีการกล่าวหาว่ามีการทรมานหรือการประติบัติที่ทารุณอื่นๆอย่างทันท่วงทีตามมาตรฐานและกฎหมายระหว่างประเทศ
 
ข้อกล่าวหาดังกล่าวนั้นมีความเกี่ยวโยงกับรายการ “นโยบาย by ประชาชน” ซึ่งออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ช่อง ไทย พีบีเอส เมื่อวันที่ 5 ก.พ.2561 โดยอิสมาแอ ได้อธิบายในรายการดังกล่าวว่าตนได้ถูกกระทำการทรมานและการได้รับการประติบัติที่ทารุณอื่นๆ โดยทหารไทยเมื่อตอนที่ตนยังเป็นเพียงแค่นักศึกษาในจังหวัดยะลา ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และสำหรับข้อหาหมิ่นประมาททางอาญาในประเทศไทยนั้น หากถูกตัดสินว่ามีความผิดจะต้องถูกระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปีและปรับไม่เกิน 200,000 บาท
 
“การกำหนดบทลงโทษที่รุนแรง เช่นการจำคุก และการปรับเป็นจำนวนเงินที่สูงตามกฎหมายเหล่านี้ส่งผลให้เหยื่อของการทรมานและการประติบัติที่ทารุณอื่นๆไม่กล้าที่จะก้าวออกมาเพื่อรับการชดเชยและการเยียวยาทั้งๆที่สิ่งเหล่านี้เป็นสิทธิของพวกเขาตามกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศซึ่งผูกพันประเทศไทย” ที่ปรึกษากฎหมายระหว่างประเทศอาวุโสประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ICJ กล่าว 
 
แอ๊บบอต ระบุด้วยว่า การร้องทุกข์ดำเนินคดีในครั้งนี้เกิดขึ้นทั้งๆที่ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษา ณ วันที่ 19 ต.ค.2560 ให้กองทัพบกและกระทรวงกลาโหมชดใช้ค่าสินไหมทดแทนความเสียหายแก่อิสมาแอ เต๊ะเป็นจำนวนเงิน 305,000 บาท หลังจากที่ศาลปกครองสูงสุดพบว่าอิสมาแอ เต๊ะ “ถูกทำร้ายร่างกาย” ในระหว่างถูกควบคุมตัวและถูกควบคุมตัวโดยมิชอบด้วยกฎหมายเป็นระยะเวลา 9 วัน เกินกว่าที่กฎอัยการศึก พ.ศ.2457 ให้อำนาจไว้เพียง 7 วัน
 
“และที่น่าแปลกใจยิ่งไปกว่านั้นก็คือการที่ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาออกมาแล้วว่า อิสมาแอ เต๊ะ นั้นได้ถูกทำร้ายร่างกายโดยทหารและได้มีการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนความเสียหายแก่เขาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งยิ่งทำให้การร้องทุกข์ในครั้งนี้เป็นไปอย่างไม่ยุติธรรมเป็นอย่างยิ่ง” แอ๊บบอต กล่าวเสริม พร้อมระบุด้วยว่า เมื่อปี พ.ศ. 2551 อิสมาแอ ได้ถูกจับกุมตามอำนาจกฎอัยการศึกและมีการกล่าวหาว่า อิสมาแอ ถูกซ้อมทรมานเพื่อที่จะบังคับให้สารภาพในคดีที่เกี่ยวข้องกับคดีความมั่นคง แต่ ณ ปัจจุบัน ยังไม่มีผู้ใดถูกดำเนินคดีจากเหตุการณ์ในครั้งนั้น

ICJ ยังรายงานถึงคดีอื่นๆ ที่มีลักษณะเป็นการคุกคามผ่านกลไกของกฎหมายเช่นกันในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย ดังนี้

คดีนี้เป็นตัวอย่างล่าสุดของการใช้กฎหมายโดยเจ้าหน้าที่ในทางที่ไม่ถูกต้องนัก ซึ่งรวมถึงการใช้กฎหมายเกี่ยวกับการหมิ่นประมาททางอาญาและพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ เพื่อที่จะปิดปากเหยื่อ นักสิทธิมนุษยชน และสื่อในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561 เจ้าหน้าที่ทหารได้เข้าร้องทุกข์กับเจ้าหน้าที่ตำรวจให้ดำเนินคดีหมิ่นประมาทกับเว็บไซต์  ‘Manager Online’ ซึ่งลงบทความที่มีเนื้อหาในลักษณะที่มีการกล่าวหาว่ามีการทรมานและการประติบัติที่ทารุณอื่นๆต่อผู้ต้องสงสัยในค่ายทหารสองแห่ง นอกจากนี้เจ้าหน้าที่ยังได้เรียกร้องให้สำนักข่าวชดเชยค่าเสียหายเป็นจำนวนเงิน 10 ล้านบาทจากการรายงานบทความดังกล่าว

ผู้อำนวยการ กอ.รมน. ภาค 4 ได้มอบหมายให้ พ.อ. หาญพล เพชรม่วง ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 43 ดำเนินการร้องทุกข์กล่าวโทษทางอาญาตามมาตรา 328 แห่งประมวลกฎหมายอาญา และมาตราที่ 14 (2) แห่งพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ต่อบรรณาธิการของบทความดังกล่าวของ Manager Online ซึ่งเผยแพร่บทความ “แฉ! อดีตผู้ต้องสงสัยเผยถูกซ้อมทรมานเหมือนตายระหว่างถูกคุมตัวในค่ายทหาร” เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561

เมื่อปี พ.ศ. 2554 พนักงานตำรวจก็ได้เข้าร้องทุกข์ให้มีการดำเนินคดีอาญาต่ออนุพงศ์ พันธชยางกูร อดีตกำนัน อำเภอสุไหงปาดี จังหวัดนราธิวาส ฐานแจ้งความเท็จว่าตนถูกทรมานและถูกประติบัติอย่างทารุณโดยตำรวจทีมที่มาสืบสวนสอบสวน

กรณีที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นการ “แจ้งความเท็จ” คือกรณีที่อนุพงศ์ พันธชยางกูร อ้างว่าตนได้ถูกทรมานเพื่อให้รับสารภาพว่าตนมีส่วนเกี่ยวข้องในคดีปล้นอาวุธเมื่อปี พ.ศ. 2547 ที่ค่ายทหารนราธิวาสราชนครินทร์ และการฆาตกรรมเจ้าหน้าที่ตำรวจและบุคคลอื่นอีก 3 คน

อนุพงศ์ พันธชยางกูร จึงได้แจ้งความร้องทุกข์ต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ 20 นายซึ่งอยู่ในทีมสืบสวนสอบสวน หลังจากที่คดีของเขาถูกยกฟ้องในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์

เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560 ศาลฎีกายืนตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์และได้พิพากษาให้อนุพงศ์ พันธชยางกูร ต้องโทษจำคุกเป็นเวลา 1 ปี

ในวันที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2560 นริศราวัลถ์ แก้วนพรัตน์ หลานสาวของพลทหารวิเชียร เผือกสม ซึ่งมีการกล่าวหาว่าเสียชีวิตเนื่องจากถูกทรมานระหว่างการฝึกทหารในปีพ.ศ. 2554 ในจังหวัดนราธิวาส ก็ได้ถูกดำเนินคดีในข้อหาหมิ่นประมาททางอาญา และความผิดตามพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์

ทั้งนี้ คดีดังกล่าวนั้นถูกริเริ่มดำเนินคดีโดยนายทหารรายหนึ่งที่กล่าวหาว่านริศราวัลถ์ได้กล่าวโทษว่าเขามีส่วนเกี่ยวข้องกับการเสียชีวิตของน้าของเธอ ซึ่งเกี่ยวเนื่องมาจากการที่ครอบครัวได้พยายามแสวงหาความยุติธรรมจากการเสียชีวิตดังกล่าว คดีของนริศราวัลถ์นั้นยังรอคงรอความเห็นว่าควรสั่งฟ้องหรือไม่สั่งฟ้องจากอัยการสูงสุด

ในวันที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2559 หลังจากกอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ได้ดำเนินการร้องทุกข์กล่าวโทษต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชนทั้งสาม ได้แก่ พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ สมชาย หอมลออ และอัญชนา หีมมิหน๊ะ ทั้งสามได้ไปรับทราบข้อกล่าวหาในข้อหาหมิ่นประมาททางอาญา และความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ อันสืบเนื่องมาจากการตีพิมพ์รายงานที่รวบรวมกรณีที่มีการกล่าวหาว่ามีการทรมานและการประติบัติที่ทารุณอื่น ๆ ในจังหวัดชายแดนภาคใต้โดยเจ้าหน้าที่ของไทยจำนวน 54 คดีตั้งแต่ พ.ศ. 2547 เป็นต้นมา

ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2560 กอ.รมน. ภาค 4 ส่วนหน้า ได้แถลงความประสงค์ที่จะถอนการแจ้งความการดำเนินคดีดังกล่าว และในวันที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2560 อัยการจังหวัดปัตตานีได้มีคำสั่งยุติการดำเนินคดีต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชนทั้งสาม

ก่อนหน้านี้ ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2557 กองทัพไทยก็ได้ยื่นคำร้องทุกข์กล่าวโทษเพื่อดำเนินคดีอาญากับพรเพ็ญ คงขจรเกียรติ และมูลนิธิผสานวัฒนธรรม องค์กรของเธอ เพราะทำให้หน่วยทหารพรานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ "เสื่อมเสียชื่อเสียง" เนื่องจากพรเพ็ญได้เขียนจดหมายเปิดผนึกถึงรัฐบาลไทยเรียกร้องให้มีการสืบสวนสอบสวนกรณีที่มีการกล่าวหาว่าเจ้าหน้าที่ทหารทำร้ายร่างกายชายผู้หนึ่งระหว่างการจับกุมตัว ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2558 พรเพ็ญและองค์กรของเธอได้รับแจ้งจากตำรวจว่าอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องคดีดังกล่าว

ความเป็นมา

ประเทศไทยเป็นภาคีของกติกาสากลว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (Covenant on Civil and Political Rights หรือ ICCPR) และอนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทรมาน และการกระทำอื่นๆ ที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี (Convention against Torture and other

ทั้งนี้ สิทธิที่จะเข้าถึงกระบวนการเยียวยาจากการถูกทรมานและการประติบัติที่ทารุณอื่นๆ ที่มีประสิทธิภาพ รวมถึงการที่เรื่องร้องเรียนจักได้รับการสวบสวนอย่างรวดเร็ว โดยครบถ้วน และเป็นกลาง ล้วนแต่ได้รับการประกันไว้โดย ICCPR และ CAT

ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2557 ระหว่างการพิจารณาการปฏิบัติตามพันธกรณีของไทยตามมาตรา 19 ของ CAT ตามวาระครั้งที่ 1 คณะกรรมการต่อต้านการทรมานแห่งสหประชาชาติ (United Nations Committee Against Torture หรือ คณะกรรมการต่อต้านการทรมาน) ได้แสดงความกังวลถึง "การตอบโต้อย่างรุนแรงและการข่มขู่นักปกป้องสิทธิมนุษยชน นักข่าว ผู้นำชุมชน และญาติของพวกเขา" และเรียกร้องให้ประเทศไทยใช้มาตรการต่างๆเพื่อยุติ "การกดดัน การคุกคาม และการโจมตี" ดังกล่าว และจัดให้มี "การเยียวยาที่มีประสิทธิภาพต่อเหยื่อและครอบครัวของพวกเขา"

คณะกรรมการต่อต้านการทรมานยังได้เสนอแนะว่าประเทศไทย “ควรจะใช้มาตรการที่จำเป็นต่างๆในการ (ก) หยุดการคุกคามและโจมตีนักปกป้องสิทธิมนุษยชน นักข่าว และผู้นำชุมชน และ (ข) ดำเนินการสืบสวนสอบสวนอย่างเป็นระบบเมื่อมีการรายงานว่ามีการข่มขู่ คุกคาม และการโจมตี เพื่อที่จะนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ และประกันว่าจะมีการเยียวยาที่มีประสิทธิภาพแก่เหยื่อและครอบครัวของพวกเขา”

ในวันที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2561 ICJ และศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน (Thai Lawyers for Human Rights หรือ TLHR) ได้ยื่นข้อเสนอแนะร่วมต่อคณะกรรมการต่อต้านการทรมาน โดยข้อเสนอแนะดังกล่าวได้แนะคำถามแก่คณะกรรมการต่อต้านการทรมานเพื่อสอบถามรัฐบาลไทยในการพิจารณาการปฏิบัติตามพันธกรณีของไทยตามวาระครั้งที่ 2 ที่กำลังจะถึงนี้ โดยได้รวมความกังวลเกี่ยวกับการข่มขู่หรือการตอบโต้ต่อบุคคลที่รายงานกรณีที่มีการกล่าวหาว่ามีการทรมาน การประติบัติโหดร้าย และการบังคับสูญหาย ไว้ในข้อเสนอแนะด้วย

หนึ่งในความท้าทายในการนำตัวผู้กระทำผิดในกรณีการทรมานและการประติบัติที่ทารุณอื่นๆ มาลงโทษในประเทศไทยคือการที่อาชญากรรมเหล่านี้ยังไม่ถูกบัญญัติให้เป็นความผิดตามกฎหมายภายใน

ทั้งนี้ มีรายงานว่าร่าง พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหาย ซึ่งถูกร่างโดยกระทรวงยุติธรรม โดยมีการปรึกษาหารือกับองค์กรเอกชนอื่นๆรวมถึง ICJ ถูกส่งกลับไปยังคณะรัฐมนตรีของไทย "เพื่อรับฟังความเห็นจากฝ่ายต่าง ๆ ... ทั้งจากมหาดไทย ตำรวจ ฝ่ายความมั่นคง ทหาร อัยการ"

อนึ่ง เนื่องจากไม่มีช่วงเวลาระบุไว้และไม่มีเงื่อนเวลากำหนดไว้สำหรับการพิจารณาร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวของคณะรัฐมนตรี  ก้าวย่างดังกล่าวของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (ส.น.ช.) จึงมีผลทำให้การออกกฎหมายดังกล่าวล่าช้าไปโดยไม่มีกำหนด

ในวันที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560 ICJ และ และแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล (Amnesty International) ได้จัดทำข้อเสนอแนะเพื่อการแก้ไขร่างพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายแก่กระทรวงยุติธรรม ทั้งนี้ เพื่อให้ร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวมีความสอดคล้องกับพันธกรณีของไทยตามกฎหมายระหว่างประเทศยิ่งขึ้น

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net