Skip to main content
sharethis

คุยกับผู้มาร่วมชุมนุมถึงเหตุผลการมา ผลเสียของโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินของผู้มาร่วมชุมนุมค้านการสร้างโรงไฟฟ้ากระบี่-เทพา ในวันที่ 6 ของการชุมนุม และเพียงสิ่งเดียวที่ตอบรับมาจากทางภาครัฐคือหมายศาล ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ปกป้องสิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อมเพื่อสันติภาพระบุ ยูเอ็นเห็นด้วยกับการยุติสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน 

  

“คิดถึงบ้าน แต่ไม่อยากกลับ ต้องชนะก่อนถึงจะกลับ”

คือปากคำจากเด็กหญิงชาวกระบี่วัย 7 ขวบที่เปล่งออกมาอย่างไร้เดียงสา ขัดกับเสียงของเจ้าพนักงานคนหนึ่งที่กล่าวกับผู้สื่อข่าวที่แวดล้อมในบริเวณนั้นว่า “ถ่ายรูป (หมายศาล) ไปเลย พวกชุมนุมผิดกฎหมาย”

ท่ามกลางอากาศร้อนจัดในเมืองกรุง เต็มไปด้วยฝุ่นควันมลพิษจากยานพาหนะ ณ องค์การสหประชาชาติ ชาวบ้านจาก อ.เทพา จ.สงขลา และ จ.กระบี่ ในนามของ “เครือข่ายปกป้องสองฝั่งทะเลกระบี่-เทพา ยุติโรงไฟฟ้าถ่านหิน" ยังคงยืนหยัดปักหลักชุมนุมในบริเวณนั้นอย่างเหนียวแน่น จากคำบอกเล่าของชาวบ้านชี้ว่า ยังมีชาวบ้านบางส่วนอยู่ในระหว่างการเดินทางจากบ้านเกิดตามขึ้นมาสมทบ และจะไม่ไปไหนจนกว่ารัฐบาลจะยุติโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน

เมื่อช่วงเช้าของวันที่ 16 ก.พ. 2561 ตัวแทนประชาชนชาวเทพาและกระบี่ที่ชุมนุมแสดงจุดยืนอยู่ที่หน้าสำนักงานองค์การสหประชาชาติ (UN) เข้าพูดคุยกับตัวแทนจากองค์การสหประชาชาติ หน่วยงานธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน องค์การอนามัยโลก (WHO) องค์การสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) และองค์การสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ เพื่ออธิบายถึงผลกระทบระยะยาวด้านสุขภาพ สิ่งแวดล้อม และวิถีชีวิตของชาวบ้านที่จะเปลี่ยนไปในพื้นที่ อ.เทพา จ.สงขลา และ จ.กระบี่ หากยังเดินหน้าดำเนินการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน

ดิเรก เหมนคร ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ปกป้องสิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อมเพื่อสันติภาพกล่าวว่า ทางองค์การสหประชาชาติมีท่าทีเห็นด้วยกับการเคลื่อนไหวเพื่อยุติการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน เพราะโครงการก่อสร้างสวนทางกับวิถีที่นานาประเทศทั่วโลกกำลังผลักดันเรื่องสิ่งแวดล้อม พร้อมยืนยันว่าไม่เห็นด้วยกับคำโฆษณาชวนเชื่อที่ว่า โรงไฟฟ้าถ่านหินเป็นพลังงานสะอาด ไม่ก่อให้เกิดมลพิษ

“ที่จริงมันเป็นแค่โฆษณาชวนเชื่อ เพราะในรายงาน EHIA รายงานที่เป็นทางการของ กฟผ. ก็บอกว่าถ่านหินที่นำเข้ามาจากอินโดนีเซียมีโลหะหนักจำนวนมหาศาล และไม่สามารถกำจัดได้หมดด้วย มีทั้งปรอท ทั้งแคดเมียม ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งทั้งนั้น อันนี้มีระบุอยู่ในรายงาน EHIA ทั้งหมด เขาก็ระบุว่าเวลาเผาแล้วมันกำจัดไม่หมด ที่เหลือก็ปล่อยออกมาทางปล่องควันแล้วเอาไปทิ้งในบ่อขี้เถ้า ฉะนั้นรายงานก็บอกอยู่แล้วว่ามันไม่สะอาด แต่ที่บอกว่าสะอาดเป็นแค่โฆษณาชวนเชื่อเท่านั้นเอง” ดิเรกชี้แจง

ดิเรก เหมนคร ยืนยันว่าโรงไฟฟ้าถ่านหินก่อมลพิษ ไม่ใช่พลังงานสะอาดดังโฆษณาชวนเชื่อ

นอกจากนั้น ดิเรกยังย้ำว่า ผู้ชุมนุมต้องการเวทีการพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผู้สนับสนุน ผู้คัดค้าน และนักวิชาการ เพื่อร่วมกันหาทางออกในประเด็นนี้ เพราะในปัจจุบันรัฐบาลและหลายองค์กรที่เกี่ยวข้องเพิกเฉยต่อข้อร้องเรียนของชาวบ้าน และยังยืนยันจะเดินหน้าโครงการต่อไป

“บรรยากาศการพูดคุยเป็นเรื่องที่สำคัญมาก การมาซักถามแลกเปลี่ยนช่วยแก้ปัญหาได้เชิญผู้สนับสนุน เชิญนักวิชาการที่ไม่เห็นด้วย และเชิญพวกเรามา พูดคุย ถกเถียงข้อมูล  ตอบคำถาม ตอบได้ตอบไม่ได้ ชาวบ้านก็เป็นคนตัดสินใจเอง” ดิเรกกล่าว

ในช่วงบ่ายของวันเดียวกัน พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลนางเลิ้งนำหมายนัดของศาลแพ่งมาติดประกาศบริเวณหน้าองค์การสหประชาชาติ ซึ่งเป็นสถานที่ปักหลักของกลุ่มผู้ชุมนุมเครือข่ายปกป้องสองฝั่งทะเลกระบี่-เทพา ยุติโรงไฟฟ้าถ่านหิน ความว่า ให้สมยศ โต๊ะหลัง จินดารัตน์ เพิ่มลาภวิรุฬห์ และกลุ่มผู้ชุมนุมคนอื่นเข้ารับฟังการไต่สวนคำร้องเรื่อง “ขอยกเลิกการชุมนุมตามพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะฯ เพื่อให้เกิดความชัดเจนเกี่ยวกับพฤติการณ์การชุมนุม” ในวันที่ 20 ก.พ. 2561 เวลา 09.00 น.

เจ้าพนักงานจาก สน. นางเลิ้งนำหมายศาลแพ่งมาแปะ หลังร้องต่อศาลให้ชาวบ้านยุติการชุมนุม

ประกาศดังกล่าวเป็นผลสืบเนื่องมาจากเมื่อวันที่ 13 ก.พ. 2561 สน.นางเลิ้ง ได้นำประกาศเรื่อง “ให้แก้ไข พ.ร.บ. การชุมนุมสาธารณะฯ” มาประกาศ อ้างว่ากลุ่มผู้ชุมนุมฝ่าฝืนพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การชุมนุมสาธารณะฯ มาตรา 16 (1)  คือ กีดขวางและก่อให้เกิดความไม่สะดวกแก่ประชาชนที่ใช้ทางเท้าและประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนนในบริเวณดังกล่าว นอกจากนั้น ยังอาจก่อให้เกิดความเดือดร้อนอันพึงคาดหมาย อาทิ เมื่อผู้ชุมนุมลงไปเดินบนถนน อาจถูกรถเฉี่ยวชนได้ โดยมีคำสั่งให้ผู้ชุมนุมทั้งหมดย้ายสถานที่ชุมนุมไปยังริมคลองผดุงกรุงเกษม ภายในเวลา 16.00 น. ของวันนั้น

หลังจากนั้น เครือข่ายปกป้องสองฝั่งทะเลกระบี่-เทพา ยุติโรงไฟฟ้าถ่านหิน ได้ยื่นอุทธรณ์ต่อผู้กำกับ สน.นางเลิ้ง เพื่อยืนยันการใช้เสรีภาพการชุมนุมในสถานที่เดิม และขอให้เพิกถอนประกาศฉบับดังกล่าว ให้เหตุผลว่า การชุมนุมครั้งนี้ปราศจากอาวุธและความรุนแรงทุกรูปแบบ และการปักหลักชุมนุมในบริเวณนั้นไม่ได้กีดขวางการจราจรบนพื้นผิวถนน การเดินสัญจรไปมาบนทางเท้าก็สามารถทำได้ตามปกติ อีกทั้งยังไม่กีดขวางทางเข้าออกของอาคารสำนักงานใดๆ บริเวณนั้น นอกจากนั้น ข้ออ้างของเจ้าหน้าที่ที่ว่าอาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุถูกรถเฉี่ยวชนก็ไม่เป็นการฝ่าฝืนกฎหมายแต่อย่างใด เนื่องจากเป็นหน้าที่ของเจ้าพนักงานเองที่ต้องดูแลอำนวยความสะดวกการชุมนุมที่ชอบด้วยกฎหมาย ตาม พ.ร.บ. การชุมนุมสาธารณะฯ มาตรา 19

ต่อมา ในวันที่ 15 ก.พ. 2561 สน.นางเลิ้งได้แจ้งผลอุทธรณ์ว่าไม่รับอุทธรณ์ เจ้าพนักงานจึงดำเนินการร้องต่อศาลแพ่ง เพื่อให้ทางเครือข่ายฯ ยุติการชุมนุม โดยทางเครือข่ายฯ ก็ต้องเข้ารับฟังการไต่สวนคำร้องในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2561 ต่อไป

ทั้งนี้ วันที่ 16 ก.พ. 2561 เป็นวันที่หก นับตั้งแต่ชาวบ้านจากเทพาและกระบี่ย้ายจากทำเนียบรัฐบาลมาปักหลักชุมนุมบริเวณหน้าองค์การสหประชาชาติ โดยก่อนหน้านั้นกลุ่มผู้ชุมนุมถูกสั่งเคลื่อนย้ายออกจากบริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาล เนื่องจากเจ้าหน้าที่อ้างอำนาจตามพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะฯ มาตรา 7 วรรคท้าย ว่าการชุมนุมดังกล่าวกีดขวางการจราจรและทางเดินเท้า จึงห้ามไม่ให้มีการชุมนุมในรัศมีไม่เกิน 50 เมตรรอบทำเนียบรัฐบาลตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

วานนี้ (17 ก.พ. 2561) ทางเครือข่ายฯ จัดกิจกรรมอดอาหารและนั่งสมาธิหน้าองค์การสหประชาชาติ โดยเชิญประชาชนผู้สนใจเข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าวด้วย เพื่อส่งใจถึงนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้รับฟังข้อร้องเรียนและยุติโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่-เทพา

นอกจากนั้น ในวันที่ 18 ก.พ. 2561 ทางเครือข่ายจะจัดกิจกรรม “รวมพล...คนไม่เอาถ่าน” เพื่อให้รัฐบาลยุติโครงการฯ ดังกล่าว เริ่มจากการอดอาหาร 9 ชั่วโมง ตั้งแต่เวลา 09.00 น. ถึง 18.00 น. และร่วมรับฟังการเสวนาเพื่อแสดงเจตนารมณ์ ตั้งแต่เวลา 16.00 น. ถึง 18.00 น. ทั้งนี้ กิจกรรมดังกล่าวจะจัดขึ้นหน้าองค์การสหประชาชาติ ด้วยแนวคิดที่ว่าให้องค์การสหประชาชาติ หนึ่งในองค์กรนานาชาติผู้พิทักษ์หลักการสิทธิมนุษยชน

เมื่อสอบถามถึงระยะเวลาการชุมนุม ดิเรก กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า ตนจะปักหลักชุมนุมอยู่ตรงนี้จนกว่าโครงการจะยุติ เพราะเชื่อมั่นเหลือเกินว่านายกรัฐมนตรีจะเห็นใจประชาชนจนรับฟังข้อร้องเรียน และนำไปสู่การยุติดำเนินการงานวิจัย EHIA และยุติโครงการไปในที่สุด

นอกจากนั้น ดิเรกยังชี้ว่า การขับเคลื่อนโดยประชาชนกลุ่มอื่นเป็นอีกหนึ่งสิ่งสำคัญมากที่ทำให้รัฐบาลมีแนวโน้มโอนอ่อนลงได้ โดยต้องส่งสารให้รัฐบาลทราบว่าการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินให้โทษอย่างไร “ผมมองว่าทุกคนต้องช่วยกันสื่อสารไปยังรัฐบาลว่าโรงไฟฟ้าถ่านหินมันทำลายประเทศไทย เราไม่เอา คือถ้าเรารักประเทศของเรา เรารักสถานที่ท่องเที่ยว เรารักอาหารทะเล เรารักคนไทยด้วยกัน ผมอยากให้ทุกคนช่วยกันสื่อสารไปยังรัฐบาลด้วยวิธีไหนก็ได้ว่าเราไม่เห็นด้วยกับโรงงานไฟฟ้าถ่านหิน เพราะมันทำลายประเทศของเรา” ดิเรกกล่าว

สำหรับดิเรก หากโครงการโรงงานไฟฟ้าถ่านหินดำเนินการแล้วเสร็จจะถือเป็นหายนะครั้งยิ่งใหญ่ของประเทศไทย เพราะโรงไฟฟ้าทั้งสองทั้งอยู่ทั้งฝั่งอ่าวไทยและทะเลอันดามัน ทำให้มลพิษจะสามารถปกคลุมทั่วทั้ง 14 จังหวัดภาคใต้ และวิถีชีวิตความเป็นอยู่ ตลอดจนอาชีพดั้งเดิมของชาวทะเลอย่างการทำประมงจะล่มสลาย

 “อยากเรียกร้องให้องค์กรทั้งหมดที่ดูแลเรื่องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหยุดหายนะอันนี้ มันเป็นหายนะครั้งยิ่งใหญ่ของประเทศไทย ถ้าเกิดขึ้นแล้วเราไม่สามารถจะเอาทรัพยากรธรรมชาติที่ดีของภาคใต้กลับคืนมาได้แล้ว หมายความว่าภาคหนึ่งของเราจะเป็นพื้นที่ที่ไม่น่าอยู่อาศัยอีกต่อไป ผมจึงมองว่าต้องเข้าใจผลกระทบของมัน และรีบหยุดโรงไฟฟ้าถ่านหินให้เร็วที่สุด” ดิเรกกล่าว

สุภาพร ตาวัน จากกระบี่ เข้ามาชุมนุมวันนี้เป็นวันนี้เป็นวันที่สิบเอ็ด หลังจากถูกสั่งเคลื่อนย้ายจากหน้าทำเนียบรัฐบาล

“ไม่มีใครที่อยากมาหรอกค่ะ ทุกคนที่นั่งตรงนี้ไม่มีใครอยากมาเลย แต่ละคนมาภาระหน้าที่ทั้งนั้น มาเพราะเดือดร้อนจริงๆ”

สุภาพร ตาวัน ผู้ชุมนุมชาวกระบี่ อายุ 30 ปี กล่าวกับผู้สื่อข่าว พร้อมให้ข้อมูลว่า ยังมีประชาชนจากกระบี่บางส่วนกำลังเดินทางมาสมทบ ชี้ว่า หากไม่เดือดร้อนจริงๆ ไม่มีใครอยากขึ้นมาอยู่ลำบาก ต้องนอนบนเกาะกลางถนนที่ไม่มีร่มเงากำบัง เต็มไปด้วยฝุ่นควันมลพิษและยุง ปราศจากสิ่งอำนวยความสะดวก โดยเฉพาะสุขา ซึ่งผู้ชุมนุมได้ดำเนินการขอรถสุขามาประจำบริเวณที่ชุมนุมจาก สน.นางเลิ้งแล้ว แต่ไม่ได้รับการเหลียวแล

 “เราไม่ใช่คนมีการศึกษาเหมือนเขา เราทำแต่งานนั้นมาทั้งชีวิตเพื่อส่งเสียลูกให้มีการศึกษา ลูกหลานเราต่อไปจะกินอะไร ปลาก็มีสารพิษ อากาศก็มีสารพิษ ที่ดินปาล์มน้ำมันก็จะไม่ส่งผลออกลูก จะให้เราไปอยู่ตรงไหน เราไม่มีที่อยู่ ถึงมีที่อยู่ก็มีแค่บ้าน แต่งานเราล่ะ ลูกหลานเราล่ะ เราจะทำมาหากินอะไรเพื่อส่งพวกเขาเรียน ถ้าเราไม่ทำงานจากทะเล” สุภาพรอ้อนวอน

ณ วันที่หกของการปักหลักชุมนุมหน้าองค์การสหประชาชาติ ชาวบ้านจากแดนใต้กว่า 100 ชีวิตยังคงชุมนุมอย่างมีความหวังต่อไป กว่า 60 ชีวิตใช้วิธีอดอาหารอย่างสันติอหิงสา แต่ยังไร้วี่แววว่ารัฐบาลจะยอมรับฟังเสียงของประชาชน   

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net