Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

บทสัมภาษณ์ของคุณธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจใน BBC แม้จะเป็นบทสัมภาษณ์ที่สั้น แต่ก็สร้างผลกระทบไม่น้อยต่อความคิดทางการเมืองของไทยในยุคเผด็จการครองเมือง รวมถึงทางออกและอนาคตของประเทศ ที่คุณธนาธรเห็นว่าอยู่ในกำมือของคนรุ่นใหม่ ในบทความนี้ ผมขอ “เปลื้อง” สิ่งที่คุณธนาธรพูดถึงในบทสัมภาษณ์ใน 3 ประเด็นหลักที่ผมเห็นว่ามีความสำคัญ ก่อนที่จะสรุปว่า อะไรคือสิ่งที่คุณธนาธรมองไว้ในอนาคต

คุณธนาธรพูดถึงประเด็นแรกในเรื่องของ “breaking down of consensus” นั่นหมายถึง การที่สังคมไทยเดินทางถึงจุดแตกหักของฉันทามติทางการเมือง ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา อีลีทไทยและนักการเมืองสามารถอยู่ร่วมกันได้ในจุดหนึ่ง โดยต่างยึดมั่นในฉันทามติในรูปแบบหนึ่ง ที่จะยังพอให้การเมืองขับเคลื่อนไปได้ มีเสถียรภาพ และมีการแบ่งผลประโยชน์ทางการเมืองระหว่างกลุ่มการเมืองต่างๆ อย่างลงตัว แม้ว่าคำว่า “ลงตัว” อาจไม่ได้หมายความว่า “เท่าเทียม” แต่อย่างน้อย ผลประโยชน์เหล่านี้กลายเป็นกาวผนึกฉันทามติให้คงอยู่ นักวิเคราะห์การเมืองส่วนหนึ่งอาจมองว่า ฉันทามตินั้น ตั้งอยู่บนโครงสร้างทางการเมืองที่รายล้อมสถาบันกษัตริย์ เป็นโครงสร้างที่รวมเอาสถาบันหลัก อย่างเช่น กองทัพ และตุลาการ เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการแบ่งปันผลประโยชน์ร่วมกับรัฐบาลพลเรือน สิ่งท้าทายฉันทามตินี้มันถูกตอบโต้ด้วยการยึดอำนาจและในบางครั้งจบด้วยความรุนแรง (เช่น รัฐประหาร) แต่ไม่นานนัก ฉันทามติจะถูกสร้างใหม่ เพื่อนำเสถียรภาพกลับคืนมา

สิ่งที่คุณธนาธรกังวลใจก็คือ ความขัดแย้งทางการเมืองในครั้งนี้มันซีเรียสที่สุด นับตั้งแต่ที่ไทยเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองในปี 2475 ฉันทามติเดิมถูกทำลาย ขณะเดียวกัน ฉันทามติใหม่ยังเกิดไม่ได้ สาเหตุที่เป็นเช่นนี้ และส่วนหนึ่งปรากฏดังที่ผมกล่าวข้างต้น เพราะไทยมาถึงจุดเปลี่ยนผ่านทางการเมืองครั้งใหญ่ การสิ้นสุดลงของรัชสมัยของรัชกาลที่ 9 มาพร้อมกับการสิ้นสุดลงของฉันทามติเดิมที่ตั้งบนสถานะที่ทรงพลังของสถาบันกษัตริย์ ขณะเดียวกัน สังคมไทยได้เปลี่ยนแปลงไปด้วยตัวของมันเองด้วย ทั้งในแง่การเติบโตทางเศรษฐกิจและการพัฒนาทางสังคม ซึ่งทั้งสองปัจจัยนั้น ได้ถูกเร่งปฏิกิริยาจากรัฐบาลทักษิณและยิ่งลักษณ์ ทำให้ฉันทามติเดิมที่ตัดชนชั้นล่างออกจากโครงการสร้างอำนาจ ไม่สามารถคงอยู่ได้ต่อไป ขณะที่ฉันทามติใหม่ไม่สามารถเกิดได้ เพราะกลุ่มอำนาจเดิมต้องการสถาปนาฉันทามติเก่าที่ไม่สอดคล้องต่อการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมอีกต่อไป

ประเด็นที่สองที่คุณธนาธรกล่าวถึงคือเรื่อง “legacy of the junta” สืบเนื่องมาจากปัญหาเรื่องฉันทามติ และปัญหาที่เกิดจากกลุ่มอำนาจเดิมที่ต่อต้านฉันทามติแบบใหม่ที่จะรวมเอาชนชั้นล่างมาเป็นส่วนหนึ่งด้วยนั้น ทำให้ คสช.มีความพยายามที่จะสร้างมรดกตกทอดสืบอำนาจและผลประโยชน์ต่อไป แม้ในวันที่ฉันทามติเดิมได้ล่มสลายไปแล้ว คุณธนาธรย้ำว่า รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 คือ ภาคสองของระบอบ คสช.ซึ่งน่าจะหมายความว่า เป็น “สาธารณูปโภค” ที่ใช้ในการสืบต่ออำนาจของคณะรัฐประหาร นอกจากนี้ ยังย้ำว่า ด้วยเหตุที่รัฐธรรมนูญกลายมาเป็นภาคสองของระบอบ คสช.จึงทำให้การเลือกตั้งที่หลายๆ คนเรียกร้องในขณะนี้ยังไม่ใช่ทางออกของวิกฤตการเมืองไทยแบบถาวร กล่าวคือ การเมืองไทยไม่ได้จบที่การเลือกตั้ง เพราะอำนาจจะยังอยู่ในมือกลุ่มอำนาจเดิมตราบเท่าที่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ยังคงอยู่ คุณธนาธรพูดประหนึ่งว่า การล้มกำจัดระบอบ คสช.ไม่ได้สิ้นสุดที่การลงจากอำนาจของ คสช.และการจัดการเลือกตั้ง แต่อยู่ที่การต้องกำจัดรัฐธรรมนูญที่มีปัญหานี้ออกไปด้วย ในจุดนี้ คุณธนาธรเริ่มเอ่ยถึงความสำคัญของคนรุ่นใหม่ที่ต้องออกมาแสดงพลังมากขึ้น ต่อสู้เพื่อคงพื้นที่ยืนทางการเมือง และกู้สิ่งที่สูญเสียไปในช่วงวิกฤตทางการเมืองที่ผ่านมา ทั้งหมดเป็นภารกิจของคนรุ่นใหม่ (ที่ผมเข้าใจว่า รวมเอาคุณธนาธรเข้าไปไว้ด้วย)

ประเด็นสุดท้ายที่คุณธนาธรพูดถึงคือ “possibility of confrontation” ครับอาจฟังดูแล้วน่ากลัว แต่มันเป็นการคาดการณ์จากหลายๆ คน รวมถึงตัวผมด้วย ที่เห็นว่า การสร้างฉันทามติใหม่จะไม่ใช่ภารกิจที่โรยด้วยกลีบกุหลาบ แต่จะเป็นการต่อสู้ทั้งทางความคิด อุดมการณ์ การแย่งชิงมวลชน ผลประโยชน์ทางการเมืองและเศรษฐกิจของกลุ่มอำนาจเก่า และกลุ่มอำนาจใหม่ (ที่มีฐานบนคนรุ่นใหม่ในสังคม) คุณธนาธรพูดในเชิงอุปมาว่า การเดินทางไปสู่อนาคตอาจทำให้เราต้องละทิ้งสัมภาระบางอย่าง เพื่อแลกกับสิ่งที่เกิดใหม่ ในกระบวนการนี้ อาจต้องกระทบกระทั่งกับผู้เสียประโยชน์จากการสร้างฉันทามติใหม่ กลุ่มผู้เสียประโยชน์นี้คือกลุ่มที่มีอิทธิพลทางการเมืองและเศรษฐกิจ ดังที่ปรากฏในปัจจุบัน กลุ่มนี้ยังมีอำนาจที่ยังคงปกป้องผลประโยชน์ของตัวเองอย่างเหนียวแน่น คุณธนาธรบอกว่า คนรุ่นใหม่ที่พร้อมจะต่อสู้กับกลุ่มอำนาจเก่า อาจต้องพบกับความเสี่ยง แต่นั่นก็คือสัจธรรมที่ว่า เมื่อใครก็ตามที่กล้าแตะต้องที่มาของอำนาจ ย่อมต้องเผชิญกับความเสี่ยงเป็นธรรมดา ผมเห็นว่านี่คือพื้นฐานของการมองการเมืองในอนาคตว่าเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงการเผชิญหน้าไม่ได้

สุดท้าย คุณธนาธรพูดถึงอนาคตทางการเมืองไทย ว่าเอาไว้ไปพูดหลังการเลือกตั้ง (หรือเอาเข้าจริงๆ ต้องหลังจากการกำจัดรัฐธรรมนูญ 2560 แล้ว) เมื่อนั้น คนไทยควรได้รับโอกาสที่จะเรียกร้องว่าอยากได้อะไรจากการเมือง แต่วันนี้ คนเหล่านั้นยังไม่มีเวทีในการสะท้อนความเห็นอย่างเสรีและเป็นธรรม คุณธนาธรพูดได้กระชับว่า คนที่คิดแบบเดียวกับ คสช.เท่านั้นจึงจะมีพื้นที่ในการแสดงความเห็น ส่วนคนที่เห็นต่างจาก คสช.ย่อมไม่มีที่ยืนทางการเมือง และมิหนำซ้ำ อาจต้องเผชิญกับความเสี่ยงอีกหลายรูปแบบ

หากผมจะวิจารณ์ความเห็นของคุณธนาธร ผมคงพุ่งไปประเด็นเดียว คือเรื่อง empowerment of new generation กล่าวคือ คุณธนาธรพูดถึงโอกาสสำหรับคนรุ่นใหม่ แต่ผมยังไม่แน่ใจว่า โอกาสนั้นจะมาอย่างไรและในรูปแบบไหน ขณะเดียวกัน คุณธนาธรพร้อมที่จะประกาศตัวเป็นผู้สนับสนุนคนรุ่นใหม่เหล่านั้นอย่างเป็นทางการหรือไม่ รวมถึงการปูทางอนาคตทางการเมืองของคุณธนาธรเอง ในช่วงหลังๆ มีนักวิชาการส่วนหนึ่งพูดถึงเรื่องการส่งเสริมคนรุ่นใหม่ แต่มักเป็นการพูดที่ไม่มียุทธศาสตร์ และการสนับสนุนคนรุ่นใหม่ไม่ใช่เพียงแค่ผลักดันให้เขาเหล่านั้นออกมาอยู่ทัพหน้า จริงอยู่ อาจมีความพยายามสร้างขบวนการเคลื่อนไหวระหว่างคนรุ่นใหม่กับกลุ่มคนไทยในต่างประเทศ แต่ความพยายามนี้อยู่บนพื้นฐานของ piecemeal และไม่ได้มองภาพกว้างของสังคมทั้งหมด ทั้งในไทยและและในชุมชุนไทยในต่างประเทศ ทั้งนี้ ผมยังไม่ได้แตะประเด็นที่สำคัญกว่านั้น นั่นคือเรื่องแหล่งเงินทุน (ซึ่งในจุดนี้ คสช.ได้ออกมาพูดสกัดไว้แล้วถึงเรื่อง “ท่อน้ำเลี้ยง” ของกลุ่มผู้ชุมนุมไว้เรียบร้อยแล้ว)

สุดท้าย ผมคงต้องเห็นด้วยกับคำพูดของคุณธนาธรที่ว่า พูดเรื่องประชาธิปไตยนั้นมีความเสี่ยงสูงกว่าการปีนเขาในขั้วโลกใต้ อิทธิพลของกลุ่มอำนาจเก่ายังมีอยู่มากจริงๆ ครับ แม้จะอยู่ในช่วงขาลงก็ตาม

 

เกี่ยวกับผู้เขียน: ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ มีตำแหน่ง รองศาสตราจารย์ ศูนย์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยเกียวโต

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net