Skip to main content
sharethis

ศาลแพ่งสั่งกองทัพบกจ่ายเงินค่าเสียหายให้มารดา สิบโทกิตติกร ซึ่งถูกซ้อมจนตายในคุกทหาร 1.8 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ขณะที่คดีแพ่งเรียกร้องค่าเสียหายกรณี ร้อยตรีสนาน ซึ่งเสียชีวิตระหว่างฝึกหลักสูตรทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ เลื่อนการพิจารณาคดี เหตุประจักษ์พยานซึ่งเป็นนายทหารไม่มาศาล

22 ก.พ. 2561 เวลา 10.30 น. ห้องพิจารณา 410 ศาลแพ่ง ถ.รัชดาภิเษก ศาลอ่านคำพิพากษาคดีที่ บุญเรือง สุธีรพันธุ์ อายุ 63 ปี มารดาของ ส.ท.กิตติกร สุธีรพันธุ์ บุตรชายที่เสียชีวิตขณะถูกคุมขังในเรือนจำทหาร เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง กองทัพบก จำเลย เรื่องละเมิด เรียกค่าเสียหายจำนวนทุนทรัพย์ 18 ล้านบาทเศษ ศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานแล้ว มีคำพิพากษาให้กองทัพบกชดใช้เงินจำนวน 1,870,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี แก่บุญเรือง สุธีรพันธุ์ ผู้เป็นมารดาต่อไป

กรณีของสิบโทกิตติกร สุธีพันธุ์ ทหารสังกัด กรมทหารที่ 23 กองพันทหารราบที่ 3 ค่ายวีรวัฒน์โยธิน มณฑลทหารบกที่ 25 จังหวัดสุรินทร์ เสียชีวิตเมื่อวันที่ 21 ก.พ. 2559 ระหว่างถูกควบคุมตัวอยู่ที่เรือนจำมณฑลทหารบก 25

ข้อมูลจากมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ระบุว่า ก่อนหน้านั้น สิบโทกิตติกร ถูกจับกุมตามหมายจับของศาลจังหวัดทหารบกสุรินทร์ ที่ 14/2558 ข้อหาให้ที่พำนัก ซ่อนเร้นหรือช่วยด้วยประการใดให้ผู้ที่หลบหนีจากการคุมขังตามอำนาจของศาลเพื่อไม่ให้ถูกจับกุมโดยตัวเขาเองถูกจับกุมตัวเมื่อวันที่ 30 ม.ค. 2559 โดยเจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจภูธรเมืองสุรินทร์ และเมื่อทำการบันทึกการจับกุมเรียบร้อยก็ถูกส่งตัวไปไปควบคุมที่ เรือนจำมณฑลทหารบก 25 ค่ายวีรวัฒน์โยธินตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ. 2559 ก่อนจะเสียชีวิตในวันที่ 21 ก.พ. ปีเดียวกัน

ภายหลังจากสิบโทกิตติกรเสียชีวิต เจ้าหน้าที่ทหารได้โทรแจ้งให้บุญเรือง สุธีรพันธ์ แม่ของผู้ตายทราบว่าลูกชายเสียชีวิตเพราะทนความหนาวไม่ไหว อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้ญาติของผู้ตายได้พยายามขอประกันตัว และขอเข้าเยี่ยมลูกที่คุกทหาร แต่กลับถูกปฏิเสธ โดยบอกเห็นเหตุผลว่าผู้ใหญ่สั่งไม่ให้ประกัน และห้ามเข้าเยี่ยม

เมื่อแม่ผู้ตายได้เดินทางไปรับศพกลับพบว่ามีร่องรอยถูกทำร้ายตามรางกาย มีรอยฟกช้ำที่คอ ใบหน้าบวมอย่างเห็นได้ชัด และยังพบว่าเสื้อที่ใส่ในครั้งแรกของผู้เสียชีวิตจะมีชื่อและต้นสังกัด ร.23 แต่หลังเสียชีวิตกลับใส่เสื้ออีกตัวซึ่งมีชื่อของทหารอีกคนและสังกัดกองทัพบก เรื่องนี้ทางญาติมองว่าน่าจะเป็นการจัดฉาก เพราะเสื้อที่ใส่อยู่ก่อนตายคงมีคราบเลือดของผู้เสียชีวิตอยู่ ซึ่งขัดแย้งกับที่เจ้าหน้าที่ทหารที่โทรไปบอกว่านอนหนาวตาย

การชันสูตรพลิกศพ และไต่สวนการตายตามกระบวนการทางกฎหมาย ซึ่งพบว่าเหตุและพฤติการณ์ที่ตายคือ มีการบาดเจ็บที่ศีรษะอย่างรุนแรงร่วมกับกระเพาะอาหารแตก เนื่องจากถูกทำร้ายร่างกาย โดยพลอาสาสมัคร 4 นาย ร่วมกันทำร้ายจนเป็นเหตุให้ถึงแก่ความตาย

เมื่อวันที่ 9 มี.ค. 2560 แม่ของผู้ตายและทนายความจากมูลนิธิผสานวัฒนธรรมได้เดินทางไปยื่นฟ้องคดีละเมิดที่ศาลแพ่งรัชดา โดยแม่ของผู้ตายเป็นโจทก์ยื่นฟ้องแพ่งกองทัพบกเป็นจำเลยในข้อหาละเมิด เพื่อเรียกค่าเสียหาย ตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 จากเหตุการณ์บุตรชายของตนเสียชีวิตระหว่างถูกควบคุมตัวภายในเรือนจำ

มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ระบุว่า โดยที่ผ่านมามีการสืบพยานโจทก์และจำเลยไปแล้ว เมื่อวันที่ 6 , 7 และ  8 ธ.ค.2560 ฝ่ายโจทก์นำพยานมาสืบต่อศาลรวม 4 ปาก ได้แก่ 1. รายงานและภาพถ่ายการชันสูตรพลิกศพในที่เกิดเหตุและขณะผ่าศพที่โรงพยาบาลสุรินทร์  พร้อมคำเบิกความในคดีไต่สวนการตาย ของแพทย์ผู้ทำการชันสูตรพลิกศพ 2.นายทหารซึ่งเป็นกรรมการสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการเสียชีวิตของสิบโทกิตติกร 3.เจ้าหน้าที่จากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) เขตพื้นที่ 3 และ 4. ตัวโจทก์ คือนางบุญเรืองฯ มารดาผู้ตาย  ฝ่ายจำเลยได้นำพยานเบิกความต่อศาลเพียง 1 ปาก ได้แก่ เจ้าหน้าที่ทหารซึ่งเป็นอัยการผู้ช่วย มทบ.25 ผู้รับมอบอำนาจจากกองทัพบก

ทั้งนี้ในคดีนี้ได้มีการไต่สวนการตายเป็นคดีหมายเลขดำที่ ช.1/2559 โดยศาลได้มีคำสั่งเมื่อวันที่ 26 ก.ค. 2559 ว่า “ผู้ตายคือ สิบโทกิตติกร สุธีรพันธุ์ ตายที่เรือนจำมณฑลทหารบกที่ 25 เมื่อวันที่ 21 ก.พ. 2559 เหตุและพฤติการณ์ที่ตายคือ มีอาการบาดเจ็บที่ศีรษะอย่างรุนแรงร่วมกับกระเพาะอาหารแตก เนื่องจากถูกทำร้ายร่างกายโดยพลอาสาสมัครสี่นาย

ร่วมกันทำร้ายจนเป็นเหตุให้ถึงแก่ความตาย” อีกทั้งปรากฎในรายงานการผ่าศพของแพทย์พบว่าภายในศีรษะมีเลือดออกใต้เยื่อหุ้มสมอง สมองบวม บริเวณทรวงอกภายในมีกระดูกซี่โครงหัก 2 ซี่  บริเวณปอดมีรอยฟกช้ำที่กลีบปอดซ้าย บริเวณท้องมีของเหลวสีน้ำตาลอยู่ภายในช่องท้องประมาณ 200 มิลลิลิตร กระเพาะอาหารแตก และมีรอยฟกช้ำเล็กน้อยที่บริเวณกลีบซ้ายของตับ  โดยรายงานการชันสูตรพลิกศพสรุปว่าสาเหตุการตายเกิดจาก มีการบาดเจ็บที่ศีรษะอย่างรุนแรง ร่วมกับกระเพาะอาหารแตก เนื่องจากถูกทำร้ายร่างกาย โดยพลอาสาสมัครทั้งสี่นายได้การกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายเป็นเหตุให้สิบโทกิตติกรถึงแก่ความตาย อีกทั้งมีพลอาสาสมัครผู้ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้คุมเรือนจำมีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะต้องรักษาความสงบเรียบร้อยภายในบริเวณเรือนจำที่ตนเป็นสิบเวรประจำวัน  มีหน้าที่รักษาความปลอดภัยต่อหน่วยงานและบุคคลผู้ต้องขัง แต่ได้จงใจสั่งการและร่วมกันกับพลทหารผู้ช่วย ทำร้ายสิบโทกิตติกร โดยทรมานและทารุณโหดร้าย และจงใจไม่แจ้งให้แพทย์ทราบถึงอาการบาดเจ็บของสิบโทกิตติกร และไม่ได้แจ้งให้ผู้บังคับบัญชาทราบ มีพฤติการณ์ข่มขู่ไม่ให้ผู้ต้องขังที่อยู่ภายในห้องขังเดียวกันช่วยเหลือสิบโทกิตติกร และได้สั่งผู้ต้องขังในห้องขังทำร้ายร่างกายสิบโทกิตติกร ที่นอนไม่ได้สติอยู่ที่พื้นห้องหลายครั้งจนกระทั่งสิบโทกิตติกรถึงแก่ความตาย

เลื่อนสืบพยานกรณีร้อยตรีสนาน เหตุประจักษ์พยานซึ่งเป็นนายทหารไม่มาศาล

ผู้สื่อข่าวประชาไท รายงานเพิ่มเติมว่า นอกจากคดีความในศาลแพ่งกรณีเรียกร้องค่าชดใช้จากกองทัพบกของสิบโทกิตติกร ยังมีคดีความในลักษณะเดียวกันอีก โดยเป็นคดีความที่ มารดาและภรรยาร้อยตรีสนาน ทองดีนอก ฟ้องกองทัพบก เรียกค่าเสียหายจากเหตุการณ์ร้อยตรีสนาน เสียชีวิตในระหว่างฝึกหลักสูตรทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ (UKBT) รุ่นที่ 11 ซึ่งเสียชีวิตเมื่อวันที่ 6 มิ.ย. 2558 โดยระหว่างการฝึกว่ายน้ำตามหลักสูตร ร.ต.สนาน ได้ถูกบังคับให้ว่ายน้ำเกินกำลังความสามารถที่ร่างกายจะทนได้ โดยว่ายน้ำไป-กลับภายในสระว่ายน้ำโดยไม่มีการหยุดพักหลายสิบรอบและเป็นเวลานาน  จนเป็นเหตุให้ ร.ต.สนานจมลงไปในก้นสระเป็นเวลานานจนขาดอากาศหายใจ

สำหรับกรณีดังกล่าว มูลนิธิผสานวัฒนธรรมแจ้งว่า เมื่อวันที่ 19 ก.พ. 2561 ผู้พิพากษาศาลแพ่งออกนั่งพิจารณาคดี หมายเลขดำที่ พ.2580/2559 ในวันดังกล่าว ฝ่ายโจทก์ มีทนายของมารดาภรรยาร้อยตรีสนานฯ ส่วนทางฝ่ายจำเลยมีพนักงานอัยการ มาศาล ส่วนพยานที่ทางฝ่ายโจทก์ได้ขอหมายเรียกให้มาเบิกความต่อศาลในวันที่ 19 ก.พ. 2561 นั้นเป็นเจ้าหน้าที่ทหารสองนายซึ่งเป็นประจักษ์พยาน ปรากฏไม่มีพยานคนใดมาศาล ทนายโจทก์จึงได้แถลงต่อศาลว่าได้ดำเนินการส่งหมายเรียกพยาน และเจ้าหน้าที่ศาลได้ดำเนินการปิดหมายแล้วตามที่อยู่ในทะเบียนราษฎรซึ่งเป็นห้องพักของหน่วยงานทหาร แต่ปรากฏว่าห้องพักของพยานทั้งสองปากนั้นได้เปลี่ยนเป็นชื่อของเจ้าหน้าที่ทหารคนอื่นไปแล้ว แสดงว่าพยานทั้งสองได้ย้ายภูมิลำเนาจากที่พักเดิมไปแล้ว ทำให้ยังไม่สามารถติดตามพยานทั้งสองปากมาเบิกความต่อศาลตามวันนัดได้ จึงขอเลื่อนนัดสืบพยานโจทก์ในครั้งนี้เพื่อติดตามพยานทั้งสองมาเบิกความต่อศาลในนัดหน้า

ด้วยเหตุดังกล่าวนี้ ผู้พิพากษาได้สอบถามพนักงานอัยการทนายจำเลยแล้ว ทนายจำเลยแถลงไม่คัดค้าน

ผู้พิพากษาได้พิเคราะห์แล้วเห็นว่า พยานทั้งสองปากเป็นประจักษ์พยานคนสำคัญในคดีและมีเหตุอันควรให้เลื่อนคดี เนื่องจากโจทก์ได้พยายามติดตามพยานแล้ว แต่ปรากฎพยานได้มีการย้ายภูมิลำเนาทำให้ไม่สามารถติดตามได้ จึงอนุญาตให้เลื่อนนัดสืบพยานโจทก์เป็นวันที่ 12 มิ.ย. 2561 เวลา 09.00 น. เป็นต้นไป ณ ศาลแพ่ง ถนนรัชดาภิเษก กรุงเทพมหานคร

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net