Skip to main content
sharethis

สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย แต่งดำ ค้าน MOU รมว.พลังงาน กับเครือข่ายปกป้องสองฝั่งทะเลกระบี่-เทพายุติโรงไฟฟ้าถ่านหิน พร้อมจี้  รมว.พลังงาน ลาออก แนะรัฐบาลทำประชามติถามความเห็นของประชาชน

ที่มาภาพ ศูนย์ข่าวพลังงาน 

28 ก.พ.2561 ศูนย์ข่าวพลังงาน (Energy News Center) รายงานว่า วันนี้ เมื่อเวลาประมาณ 10.30 น. กลุ่มพนักงาน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ภายใต้การนำของ พนมทวน ทองน้อย รองสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (สร.กฟผ.) จำนวนประมาณ 130 คน แต่งกายชุดดำ เดินทางมายัง ศูนย์เอ็นเนอยี คอมเพล็กซ์ ที่ตั้งของกระทรวงพลังงาน เพื่อยื่นหนังสือ ถึง ศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เพื่อขอความชัดเจน ในนโยบาย และทิศทาง พลังงานไฟฟ้าของประเทศ  โดยมี ธีระศักดิ์ จรัสศรีวิสิษฐ์ ผู้ช่วยปลัดกระทรวงพลังงาน เป็นตัวแทนของกระทรวงพลังงานรับหนังสือ  

ทั้งนี้ พนักงานจาก สร.กฟผ. ได้มีการจัดขบวนเดินถือป้าย ระบุข้อความที่เรียกร้องให้ ศิริ ลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานด้วย อย่างไรก็ตามบรรยากาศการเดินทางมายื่นหนังสือในครั้งนี้ เป็นไปด้วยความเรียบร้อย โดยที่มีเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่ มาช่วยดูแลรักษาความปลอดภัย  

ศูนย์ข่าวพลังงาน รายงานด้วยว่า พนมทวน ทองน้อย รอง สร.กฟผ. เปิดเผยกับสื่อมวลชนที่มาร่วมทำข่าว ถึงเนื้อหาสำคัญในหนังสือที่ยื่นถึง ศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน สืบเนื่องจากการไปลงนามข้อตกลงระหว่างรัฐมนตรีพลังงาน กับเครือข่ายปกป้องสองฝั่งทะเลกระบี่-เทพายุติโรงไฟฟ้าถ่านหิน ว่า  มีด้วยกัน 4 ข้อ คือ 1. ท่านเข้าใจบทบาทหน้าที่ของรมว.พลังงาน มากน้อยเพียงใดเพราะแผนการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่และเทพาได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) และอนุมัติให้ดำเนินการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม(EIA EHIA ) จากคณะรัฐมนตรี การที่สั่งยกเลิกโดยอ้างถึงการทำ MOU กับเครือข่ายปกป้องฝั่งทะเล ท่านลุแก่อำนาจไม่เป็นไปตามหลักการและระเบียบปฏิบัติที่ควรเป็นหรือไม่ 2. ท่านได้ให้ความสำคัญกับประชาชนส่วนใหญ่ในพื้นที่ที่ให้การยอมรับเสมอภาคเท่าเทียมกับกลุ่มคัดค้านหรือไม่ เพราะการทำงานของกฟผ.ตลอดเวลาทำตามคำสั่งของรัฐบาลและกระทรวงพลังงานทั้งสิ้นจนเกิดความเข้าใจแต่สุดท้ายก็ล้มแบบไม่ใยดีกลายเป็นความไม่น่าเชื่อถือในนโยบายของเจ้ากระทรวงต่อไปใครจะเชื่อถือนโยบายจากท่าน

3. ท่านให้ข่าวว่า 5 ปีจากนี้ภาคใต้ไม่จำเป็น้องมีโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่อยากทราบว่า ท่านมีข้อมูลอะไรหรือนโยบายรายวันในประเด็นความมั่นคงเชื้อเพลิงการผลิตและราคาที่ไม่เป็นภาระต่อผู้ใช้ไฟในภาพรวมอย่างไร และหากภาคใต้มีการใช้ขยายตัวและต้องมีการสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่จะต้องใช้เวลามากกว่า 5 ปีซึ่งข้อมูลตามระบบจะมีปัญหาตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นไปจะทำอย่างไร และ 4.กระบวนการผลิตไฟฟ้าปัจจุบันใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงสูงเกือบ 70% เป็นความเสี่ยงที่ท่านก็ทราบดีและการกระจายความเสี่ยงการใช้เชื้อเพลิงต้องมีความสมดุลย์ และมั่นคงในระบบของประเทศ ราคาค่าไฟไม่เป็นภาระต่อประชาชนส่วนใหญ่จะทำอย่างไร

พนมทวน กล่าวว่า วิธีการบริหารของรัฐมนตรีพลังงาน นับตั้งแต่ที่เข้ามาดำรงตำแหน่ง นั้นทำให้ผู้รับนโยบายเกิดความสับสน  โดย กฟผ.เป็นหน่วยงานรัฐ ที่พนักงานทุกคนพร้อมจะทำหน้าที่ตามนโยบายของรัฐที่ถูกต้องชอบธรรม ซึ่งไม่ใช่การสั่งการหรือกำหนดนโยบาย ตามความรู้สึก หรือสั่งการผ่านสื่อมวลชน โดยเห็นว่า รัฐมนตรีจะต้องทำหน้าที่ให้ทุกฝ่ายที่เห็นต่าง มีสิทธิแสดงความเห็น รับฟังด้วยความเท่าเทียม ด้วยหลักประชาธิปไตย มิใช่บริหารแบบเถ้าแก่ ที่มุ่งเน้นให้ตัวเองกลายเป็นพระเอก แต่หน่วยงานในสังกัดที่รับนโยบายไปปฎิบัติกลับกลายเป็นผู้ร้ายในสายตาสังคม

ทั้งนี้ สร.กฟผ.ยังไม่ได้มีการกำหนดแนวทางการเคลื่อนไหวอื่นๆ นอกจากการนัดแต่งกายในชุดดำ ในครั้งนี้ ซึ่งพนักงาน กฟผ. ที่กระจายอยู่ในต่างจังหวัดทั่วประเทศ ก็ให้ความร่วมมือและแสดงลัญลักษณ์ โดยยังรอดูท่าทีของรัฐมนตรีพลังงานและ การตอบข้อคำถามทั้ง 4 ข้อ เสียก่อน 

สร.กฟผ.ใต้ ร้องผู้ว่าฯ กระบี่ ค้าน MOU ชะลอโรงไฟฟ้า แนะทำประชามติ

วันเดียวกัน เฟสบุ๊คแฟนเพจ 'กฟผ. โรงไฟฟ้ากระบี่' โพสต์ภาพพร้อมข้อความรายงานด้วยวา  สร.กฟผ. สาขาภาคใต้ นำโดย สุวรรณ เอ่งฉ้วน ประธานที่ปรึกษา สร.กฟผ. ภาคใต้ เลอศักดิ์ เอ่งฉ้วน ประธานอนุกรรมการ สร.กฟผ. สาขาภาคใต้ และสมาชิกสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ เดินทางมายื่นหนังสือแสดงความไม่เห็นด้วยกับ MOU ที่ รมต.พลังงานกับกลุ่มเครือข่ายปกป้องสองฝั่งทะเล เทพา-กระบี่ และเรียกร้องให้รัฐมนตรียกเลิก MOU ฉบับดังกล่าว เพราะเป็นการขัดต่อคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่เคยให้ใว้เมื่อเดือน กพ. 60 ที่บอกใว้ว่าให้ กฟผ. ทำความเข้าใจกับปรัชาชนและศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมใหม่ และในขณะที่ กฟผ.ดำเนินการตามนโยบายอย่างถูกต้อง แต่ รมว.พลังงานกลับทำข้อตกลงขัดกับนโยบายของนายกรัฐมนตรี และสุดท้ายทางกลุ่มสหภาพแรงงานเรียกร้องให้รัฐบาลทำประชามติถามความเห็นของประชาชนชาวกระบี่เพื่อตัดสินใจ ที่หน้าศาลากลางจังหวัดกระบี่ ในการนี้โดย พันตำรวจโท หม่อมหลวง กิติบดี ประวิตร ผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ ได้มอบหมายให้ สมควร ขันเงิน รองผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ และศิวเรศ ธรรมวิเศษ พลังงานจังหวัดกระบี่ และศรณ์ รักรงค์ ป้องกันจังหวัดกระบี่ รับหนังสือจากกลุ่มสหภาพแรงงาน กฟผ(สร.กฟผ) สาขาภาคใต้ ณ ศาลากลางจังหวัดกระบี่

ที่มาภาพ เฟสบุ๊คแฟนเพจ 'กฟผ. โรงไฟฟ้ากระบี่'

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net