Skip to main content
sharethis

ชวนดูความสัมพันธ์ของโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริกับ กอ.รมน. และกองทัพในสมัยสงครามเย็นจนถึงปัจจุบัน สะท้อนถึงพื้นที่นอกกรมกองของหน่วยงานความมั่นคงในวันที่ไม่ได้รบทัพจับศึกกับใคร แล้วจะมีพลเรือนไว้ทำไมถ้าทหารเป็นทุกอย่างให้หมดแล้ว

กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) มีบทบาทสำคัญในการต่อสู้กับฝ่ายคอมมิวนิสต์ตั้งแต่สมัยที่ยังเป็นกองอำนวยการป้องกันและปราบปรามคอมมิวนิสต์ (กอ.ปค.)  ในสมัยสงครามเย็น ยุทธวิธีการต่อสู้กับคอมมิวนิสต์ในระยะนั้น มีการใช้โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานไปตามพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศเพื่อเอาชนะใจประชาชนไม่ให้เข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์ด้วยวิธีการทางเศรษฐกิจและการเมือง หนึ่งในกลไกที่ทำงานสอดรับยุทธศาสตร์การพัฒนาคือโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริที่กระจายตัวไปทั่วประเทศ

ชนิดา ชิตบัณฑิตย์ อาจารย์คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เจ้าของงานวิจัย “โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ: การสถาปนาพระราชอำนาจนำในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” เขียนในงานวิจัยของเธอว่า ลักษณะของโครงการในพระราชดำริด้านการพัฒนาที่ประสานกับทหารและตำรวจเพื่อความมั่นคง เป็นลักษณะเฉพาะของโครงการที่เกิดขึ้นในยุคการพัฒนาเพื่อความมั่นคง โดยมีกลุ่มเป้าหมายหลักคือราษฎรในพื้นที่ที่เป็นฐานที่มั่นและมีการขยายตัวของขบวนการคอมมิวนิสต์ ทั้งยังช่วยบรรเทาภาระของรัฐในด้านงบประมาณและบุคลากร โดยมุ่งพัฒนาในพื้นที่ที่มีความล่อแหลมและห่างไกลความเจริญ และยังเป็นการอาศัย “พระบารมี” ในการระดมทุนสนับสนุนและช่วงชิงมวลชนอีกด้วย

ปัจจุบัน โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริหลายพันโครงการทั่วประเทศยังมีอยู่และเดินหน้าต่อไป แต่สิ่งที่น่าสังเกตคือ กอ.รมน. ยังคงมีบทบาทในการสานต่อแนวทางของโครงการในพระราชดำริอยู่ตามจังหวัดต่างๆ แม้ภัยจากลัทธิคอมมิวนิสต์จะหมดลงแล้วก็ตาม ดังที่เว็บไซต์ของ กอ.รมน. ระบุเอาไว้อย่างชัดเจนว่า

“อำนาจหน้าที่และรับผิดชอบเกี่ยวกับการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร เป็นองค์กรหลักในการบูรณาการ อำนวยการ และกำกับดูแลการปฏิบัติงานป้องกันและแก้ไขปัญหาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้เกิดความสงบเรียบร้อยของประชาชน หรือความมั่นคงของรัฐ พร้อมทั้งดำเนินการเสริมสร้างให้ประชาชนตระหนักในหน้าที่ที่จะเทิดทูน พิทักษ์และรักษาไว้ซึ่งสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ โดยให้ความสำคัญต่อการส่งเสริมให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม ทั้งในการป้องกันและแก้ไขปัญหาต่างๆ และสนับสนุนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ด้วยการน้อมนำแนวทางพระราชทาน “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” และ “ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง”เป็นหลักในการดำเนินงาน”

การที่หน่วยงานความมั่นคง ผูกพันตัวเองอยู่กับโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริจนถึงทุกวันนี้ชวนให้ตั้งคำถามถึงความสัมพันธ์ระหว่างหน่วยงานด้านความมั่นคงกับโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริทั้งในอดีตและปัจจุบัน

ประชาไทได้สืบค้นโครงการในพระราชดำริที่เกี่ยวพันกับยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคงในสมัยสงครามเย็น รวมถึงความสัมพันธ์ระหว่าง กอ.รมน. และกองทัพที่มีกับโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เพื่อแสดงให้เห็นถึงเส้นทางยาวไกลที่ตัวแสดงทั้งสามได้เดินทางมาบนยุทธศาสตร์เดียวกัน ความสัมพันธ์ดังกล่าวยังทอดยาวมาถึงวันนี้ที่ไม่ได้มีการสู้รบแล้วเมื่อ กอ.รมน. เข้ามาดูแลข่ายงานด้านการพัฒนาในภาคพลเรือนผ่านโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ

โครงการในพระราชดำริและพระราชกรณียกิจสมัยสงครามเย็น กับการสนับสนุนยุทธศาสตร์ช่วงชิงมวลชน

รศ.พวงทอง ภวัครพันธุ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกล่าวถึงความเชื่อมโยงระหว่าง กอ.รมน. กับโครงการในพระราชดำริว่า แม้เวลาพูดถึงจะพูดแยกกัน แต่ทหารคือหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนโครงการพระราชดำริ

พวงทอง ภวัครพันธุ์

“กอ.รมน. เป็นส่วนที่วางยุทธศาสตร์และแผนโดยใช้การเมืองและเศรษฐกิจในการต่อสู้ ข้อสำคัญคือโครงการพัฒนาเหล่านี้เริ่มต้นขึ้นในพื้นที่สีแดงหรือพื้นที่ที่คอมมิวนิสต์แทรกซึมเข้าไปมีอิทธิพลสูง หรือพื้นที่ที่กองกำลังคอมมิวนิสต์ยึดพื้นที่ได้ ดังนั้น พื้นที่เหล่านี้ต้องใช้กลไกกองทัพควบคู่กับการพัฒนา สิ่งที่เกิดขึ้นคือเมื่อกองทัพยึดพื้นที่จากคอมมิวนิสต์ได้ก็ตั้งหมู่บ้าน เอาประชาชนไปใส่ไว้ที่นั่น ซึ่งก็เป็นประชาชนจัดตั้งของ กอ.รมน. กลุ่มต่างๆ ให้ที่ดินกับประชาชนที่เข้าไปอยู่ ให้การอบรมศึกษาเกี่ยวกับความรักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ขณะเดียวกันประชาชนเหล่านี้ก็ช่วยเป็นหูเป็นตาว่า คอมมิวนิสต์เคลื่อนไหวอย่างไร ใครเป็นสายให้คอมมิวนิสต์”

พวงทอง ภวัครพันธุ์: 10 ปี กม.ความมั่นคงภายใน ประชาธิปไตยคือภัยความมั่นคง

“เมื่อมองกลับไปจะเห็นว่าเขาพยายามรักษาอำนาจของทหารไว้ในกลไกทางการเมืองผ่าน กอ.รมน. เช่น การจัดตั้งมวลชนที่ยังดำเนินต่อไปในหลายส่วน รวมถึงการขยายบทบาทของทหารในมิติอื่นที่ไม่ใช่มิติการสู้รบ ถ้าดูยุทธศาสตร์ของกองทัพบกและของ กอ.รมน. จะเห็นว่าภารกิจและการนิยามปัญหาความมั่นคงของไทยขยายออกไปสู่ปัญหายาเสพติด สิ่งแวดล้อม การค้ามนุษย์ การก่อการร้าย เรื่องการพัฒนาก็ยังอยู่ บทบาทไม่ได้ลดลงเลย โดยบอกว่าตัวเองสนับสนุนโครงการพระราชดำริ ซึ่งการพูดแบบนี้ไม่มีใครเถียงหรือคัดค้านได้” พวงทอง กล่าว

ผู้สื่อข่าวได้สืบค้นข้อมูลจากห้องสมุดสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.) และพบว่าในช่วงปี 2526-2527 โครงการในพระราชดำริที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อันเป็นภูมิภาคที่เป็นแหล่งซ่องสุมของกองกำลังพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) บางโครงการมีวัตถุประสงค์ระบุชัดเจนว่าเป็นการสนับสนุนปฏิบัติการในการเอาชนะพรรคคอมมิวนิสต์ ดังนี้

โครงการจัดสร้างและปรับปรุงเส้นทางเชื่อมโยงจากหมู่บ้านบ่อแก้ว - บ.ดงสามหมื่น - อ.วัดจันทร์ จ.เชียงใหม่ รับผิดชอบโดยสำนักงานเร่งรัดพัฒนาชนบท (รพช.) ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อ “พัฒนาให้ราษฎรมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น รู้จักการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสนับสนุนการปฏิบัติการด้านจิตวิทยาของรัฐจากการปลุกระดมของฝ่ายตรงข้าม”

โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ บ.ของต้น อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาชาวเขามูเซอร์ดำจำนวน 26 ครอบครัวเกี่ยวกับด้านอาชีพและการจัดระเบียบชุมชนตลอดจนก่อสร้างและบูรณะซ่อมแซมสิ่งก่อสร้างต่างๆ เพื่อเป็นการเสริมสร้างความมั่นคงให้กับครอบครัว และเพื่อให้ชาวเขารักถิ่นฐานที่อยู่ของตน มีหน่วยงานที่รับผิดชอบคือ กองทัพภาคที่ 3 และ กอ.รมน. ภาค 3

ที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีโครงการพัฒนาเพื่อความมั่นคงในบริเวณพื้นที่ อ.ละหานทราย จ.บุรีรัมย์ มีวัตถุประสงค์โครงการเพื่อจัดตั้งโครงการผลิตอาหารสำเร็จรูปเพื่อรองรับผลผลิตทางการเกษร และเพื่อปรับปรุงคุณภาพชีวิตของราษฎรให้มีความเป็นอยู่ที่ดีโดยดำเนินการทางปรับปรุงด้านการเกษตร การศึกษา ศาสนา และอนามัยไปพร้อมๆ กัน โดยมีพื้นที่ดำเนินการอยู่ที่โรงเรียนร่มเกล้า กองอำนวยการโครงการพัฒนาเพื่อความมั่นคง อ.ละหานทราย จ.บุรีรัมย์ และ 6 หมู่บ้านใน ต.โนนดินแดง อ.ละหานทราย โดย ต.โนนดินแดงในช่วงนั้นเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่มีการปะทะระหว่างกองกำลังคอมมิวนิสต์กับทางกองทัพไทย (ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์)

นอกจากนั้นยังมีโครงการสร้างความมั่นคงในชนบทที่หมู่บ้านในพระอุปถัมภ์ของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ครอบคลุมหมู่บ้านจาก จ.กาฬสินธุ์ จ.ขอนแก่น จ.ชัยภูมิและ จ.อุบลราชธานี รวมกันทั้งสิ้นจำนวน 42 หมู่บ้าน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาสภาพปัญหาและข้อมูลพื้นฐานด้านเศรษฐกิจและสังคมของราษฎรในหมู่บ้านที่อยู่ในเขตปฏิบัติการของตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) ภาค 2  และเพื่อให้ความรู้แก่ราษฎรในพื้นที่ดังกล่าวโดยการฝึกอบรมผู้นำหมู่บ้านและวิทยากรประจำหมู่บ้าน เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการประสานงานสร้างความเข้าใจระหว่างทางราชการและราษฎรตามแผนการปฏิบัติการด้านจิตวิทยาการเข้าถึงประชาชนของรัฐบาล

ความสัมพันธ์ระหว่างโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ กับยุทธศาสตร์การเอาชนะคอมมิวนิสต์ที่ดำเนินโดยกองทัพ ถูกพูดถึงในงานของชนิดา ระบุถึงเนื้อความในวารสารเศรษฐกิจและสังคม ฉบับพิเศษ ธ.ค. 2528 จัดทำโดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับกองทัพไทยในโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และ กองทัพไทย ซึ่งจัดทำโดยกองทัพ ว่า ที่มาโครงการพัฒนาเพื่อความมั่นคง หรือยุทธศาสตร์การพัฒนาเพื่อความมั่นคง เริ่มต้นในปี 2519 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ร.9 เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมทหารที่กองพันพิเศษค่ายสฤษดิ์เสนา จ.พิษณุโลก ในระหว่างที่เครื่องบินโจมตี เอฟ-5 ของกองทัพบกถูกยิงตกบริเวณเขาค้อเมื่อ 11 มิ.ย. 2519 และการสู้รบกับ พคท. ได้ยืดเยื้อนานถึง 6 สัปดาห์ พลเอกพิจิตร กุลละวณิชย์ องคมนตรีได้ให้สัมภาษณ์เล่าถึงความเป็นมา ใจความว่า วันที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ร.9 เสด็จมาที่ค่ายฯ ตนได้กราบบังคมทูลให้ทรงทราบว่า ได้พยายามปราบปรามและทำให้ราบคาบมานานแล้ว ใช้วิธีสร้างถนนเข้าไปเพื่อสนับสนุนฝ่ายเราให้สามารถควบคุมพื้นที่ให้ได้ แต่ว่าพื้นที่ยากลำบาก และการสร้างทางมีอุปสรรค พระองค์จึงซักถามว่า ทำไมราษฎรไม่ใช้ถนนหรอกหรือ จึงได้กราบบังคมทูลว่า ไม่มีราษฎรอยู่อาศัย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ร.9 จึงทรงแนะนำให้ตั้งหมู่บ้านใหม่ขึ้นสองข้างทางถนนที่สร้าง โดยเอาราษฎรอาสาสมัครที่ไม่มีที่ทำกินของตัวเอง จึงได้คัดเลือกราษฎรมาได้ 400 กว่าคน หัวหน้าครอบครัวอาสาสมัคร 400 กว่าคน แล้วนำมาฝึกและติดอาวุธ 3 สัปดาห์ที่ค่ายสฤษดิ์เสนา แต่ก็ยังนำราษฎรลงพื้นที่ไม่ได้ เพราะติดเรื่องการขออนุมัติจากกองทัพบกและ กอ.รมน. หลายเดือน

โครงการยุทธศาสตร์การพัฒนาจึงเริ่มต้นขึ้นที่พื้นที่เขาค้อ โดยมีการจัดตั้งหมู่บ้านยุทธศาสตร์พัฒนาขึ้นในพื้นที่เขาค้อ จ.เพชรบูรณ์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ร.9 ได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์จำนวนหนึ่งสำหรับเป็นทุนในการดำเนินงานครั้งแรก และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้ง “กองอำนวยการโครงการพัฒนาลุ่มน้ำเข็ก” โดยมีการจัดทำแผนงานโครงการพัฒนาทางยุทธศาสตร์ที่เรียกว่า “โครงการพัฒนาลุ่มน้ำเข็ก” ต่อมา กองทัพภาคที่3 กำหนดแผนยุทธศาสตร์ดำเนินโครงการพัฒนาลุ่มน้ำเข็กตั้งแต่ปี 2520 โดยมีกระบวนการ 4 ขั้นตอน ได้แก่

  1. ใช้กำลังทหารเข้ากวาดล้างทำลายกำลังติดอาวุธของผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ในพื้นที่เขาค้อ สะเดาพง เขาย่า และหนองแม่นา

  2. ก่อสร้างเส้นทางยุทธศาสตร์ เข้าสู่ขุมกำลังของฝ่ายผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ในพื้นที่โครงการ

  3. จัดตั้งหมู่บ้านยุทธศาสตร์ตามแนวสองข้างทาง โดยคัดเลือกราษฎรอาสาสมัครที่เคยรบ และทหารกองหนุน ซึ่งยังไม่มีที่ดินทำกินให้เข้าไปตั้งถิ่นฐาน โดยทางการจะดำเนินการจัดสรรที่ทำกินและที่อยู่อาศัย ตลอดจนจัดบริการขั้นพื้นฐานทางเศรษฐกิจและสังคมให้อย่างพร้อมมูล

  4. ดำเนินการส่งมอบพื้นที่หมู่บ้านยุทธศาสตร์ ซึ่งมีความปลอดภัยและได้รับการพัฒนาจนสามารถช่วยเหลือตนเองได้แล้วให้แก่ฝ่ายปกครองเพื่อบริหารงานตามสายงานปกติต่อไป

นอกจากนั้นยังมีการก่อตั้งโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนกว่า 700 โรงเรียน อันเป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริที่รับผิดชอบโดยกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน ซึ่งก่อตั้งครั้งแรกในปี 2499 เพื่อให้การศึกษากับประชาชนในถิ่นทุรกันดาร สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏเลย ระบุเพิ่มเติมว่า วัตถุประสงค์ของโรงเรียน ตชด. มีไว้เพื่อสอนให้การศึกษาประชาชนในถิ่นทุรกันดารได้เรียนรู้ภาษาและขนบธรรมเนียมประเพณีของไทย เป็นสื่อกลางในการสร้างความคุ้นเคยและไว้วางใจให้เกิดขึ้นระหว่างชาวบ้านและตำรวจตระเวนชายแดน

พระราชกรณียกิจบางประการยังสะท้อนถึงการทำงานร่วมกันระหว่างสถาบันพระมหากษัตริย์และหน่วยงานด้านความมั่นคง เพื่อรักษาความมั่นคงในประเทศในสมัยสงครามเย็น ในบันทึกพระราชกรณียกิจที่อยู่ในห้องสมุด กปร. ระบุว่า เมื่อวันที่ 27 พ.ย. 2524 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เสด็จพระราชดำเนินไปยังโครงการพัฒนาเพื่อความมั่นคงบริเวณห้วยปลาดุก บริเวณรอยต่อ อ.ปากชม กับ อ.เชียงคาน กิ่ง อ.นาด้วง และ อ.เมืองเลย ที่ จ.เลย  โครงการฯ นี้ กองบัญชาการหน่วยผสมพลเรือน ตำรวจ ทหาร 21 เป็นฝ่ายริเริ่มดำเนินการตามพระราชดำริเพื่อจัดที่ดินทำกิน จัดสรรที่อยู่อาศัยในรูปหมู่บ้านป่าไม้ที่มีความมั่นคงปลอดภัยให้แก่ราษฎรที่ยากจนซึึ่งถูกภัยคุกคามจากผู้ก่อการร้าย และเพื่ออนุรักษ์ป่าไม้ต้นน้ำลำธารและปลูกสวนป่าทดแทน

เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ร.9 และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พร้อมด้วยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ ไปยังพิธีรวมพลังประชาชน 16 จังหวัด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ จ.สกลนคร และได้มีการปฏิญาณตนจากกองพลังประชาชนซึ่งประกอบด้วยนักเรียน นักศึกษา นักศึกษาวิชาการทหาร ยุวกาชาด เนตรนารี สตรีอาสารักษาดินแดน ลูกเสือชาวบ้าน ลูกเสือป่าภูพาน เยาวชนในค่ายทหาร สมาคมไลออนส์ หน่วยบรรเทาสาธารณะภัย สมาคมกรรมกรสามล้อ ไทยอาสาป้องกันชาติ อาสารักษาดินแดน พลเรือน ตำรวจและทหาร จากนั้นกองพลังประชาชนจึงได้เดินแถวผ่านพลับพลาที่ประทับ

เมื่อเสร็จแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ร.9 พระราชทานพระบรมราโชวาท ความว่า  “หน้าที่สำคัญของเหล่าอาสาสมัคร นอกเหนือจากหน้าที่พลเมืองที่ประชาชนทุกคนพึงปฏิบัติก็คือ ช่วยรักษาความปลอดภัยของท้องถิ่น และป้องกันมิให้มีผู้ประสงค์ร้ายมาเบียดเบียน ไม่ว่าจะเป็นพวกที่มาโจรกรรมเพียงทรัพย์สิน หรือพวกที่หวังจะมาโจรกรรมบ้านเมืองของเรา เพื่อให้เป็นที่อยู่ของคนอื่นที่ไม่ใช่คนไทย เพราะฉะนั้น อาสาสมัครจึงต้องมีความสามัคคีเข้มแข็ง เสียสละ มีระเบียบวินัย และซื่อสัตย์สุจริต นอกจากนั้น ยังต้องฝึกฝนให้มีความรู้ ทั้งในด้านการพัฒนาตนเอง ตลอดจนวิธีการป้องกันและต่อต้านการคุกคามจากผู้ประสงค์ร้ายต่อประเทศชาติ เพื่อช่วยกันรักษาบ้านเมืองของเราให้เป็นปึกแผ่น เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันและดำรงอิสรภาพตลอดไป”

ทหารยังอยู่ในกิจการพลเรือนผ่านโครงการพระราชดำริ ชวนตั้งคำถาม พลเรือนมีไว้ทำไม

ปัจจุบัน กอ.รมน. ยังคงเดินหน้าสนับสนุนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริอยู่หลายที่ จากการค้นหาข้อมูลพบว่า กอ.รมน. ได้ใช้โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริเป็นหนึ่งในกลไกในการบรรลุซึ่งหน้าที่รับผิดชอบ ในการเสริมสร้างให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญของสถาบันพระมหากษัตริย์ ทั้งยังเป็นแกนหลักในการจัดตั้งมวลชนในท้องที่ต่างๆ

3 พ.ย.2559 หนังสือพิมพ์ คมชัดลึก รายงานว่า พล.ท.วิษณุ ไตรภูมิ ผู้อำนวยการศูนย์ประสานการปฏิบัติที่ 1 กองอำนวยการรักษาความมั่นคงแห่ง (ศปป.1 กอ.รมน.) จัดให้มีศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงใน 8 หมื่นหมู่บ้านทั่วประเทศ ศปป.1 กอ.รมน. ร่วมกับการศึกษานอกโรงเรียน (กศน.) ในการขยายผลโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพื้นที่ กอ.รมน.4 กองทัพภาค จำนวน 34 โครงการ และจัดตั้งศูนย์เรียนรู้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเกษตรทฤษฎีใหม่ ประจำตำบล จำนวน 7,424 แห่งทั่วประเทศ

นอกจากนั้นยังมีศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง กอ.รมน. ภาค 4 ค่ายสิรินธร อ.ยะรัง จ.ปัตตานี จัดตั้งขึ้นเมื่อ ตุลาคม 2551 เป็นสถานที่ศึกษาดูงานด้านเกษตรกรรม ปศุสัตว์ ประมง และสิ่งแวดล้อมโดยใช้จุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพ ปัจจุบัน กองทัพภาคที่ 4 / กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ได้ขับเคลื่อนและดำเนินการโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ และในช่วงต้นปีนี้ กอ.รมน. ยังมีการจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการปราชญ์เพื่อความมั่นคงสนับสนุนการขยายผลโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพื้นที่ จ.เชียงราย และ จ.สระบุรีอีกด้วย

แม้ภัยคุกคามจากลัทธิคอมมิวนิสต์ได้จมหายไปในกงล้อประวัติศาสตร์ แต่กลไกในการจัดตั้งมวลชน ปลูกฝังอุดมการณ์เรื่องชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ยังคงดำเนินต่อไป พ.ร.บ. การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ได้สถาปนาอำนาจและหน้าที่ดังกล่าวไว้กับ กอ.รมน. อย่างเป็นทางการ

คำถามที่น่าถามในวันนี้คือ การมีส่วนร่วมของกองทัพเช่นว่าเป็นเรื่องที่มีความจำเป็นมากน้อยขนาดไหนในยามที่ไทยไม่ได้มีสมรภูมิสงครามอย่างในอดีต ถ้าหน่วยงานความมั่นคงตีความหน้าที่รับผิดชอบจนลามมาถึงเรื่องที่หน่วยงานพลเรือนหรือประชาชนสามารถดูแลได้ ประเทศไทยวันนี้จะต่างอะไรกับสมัยสงครามเย็นที่หน่วยงานความมั่นคงกลายเป็นตัวแสดงหลัก เรามีข้อปุจฉาได้หรือไม่ว่า ปฏิบัติการทางจิตวิทยาที่ใช้สู้กับฝ่ายคอมมิวนิสต์ในวันนั้นถูกนำมาใช้กับประชาชนในวันนี้

คำถามที่นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักวิชาการประวัติศาสตร์ชื่อดังตั้งว่า “ทหารมีไว้ทำไม” อาจต้องมีการถามอีกหนึ่งคำถามขนานกันไปว่า “พลเรือนมีไว้ทำไม” สังคมเราชินชา และยอมรับกับพื้นที่นอกกรมกองของทหารใช่หรือไม่

จริงอยู่ที่หลายประเทศทั่วโลกรวมทั้งไทยให้การยอมรับให้ทหารออกมาช่วยประชาชนในยามที่ประสบภัยพิบัติร้ายแรงต่างๆ เพราะด้วยกำลังคนและทรัพยากร กองทัพคือหน่วยงานที่มีความเหมาะสมในการรับมือกับภัยอันตรายนานาชนิด แต่การมีกฎหมายอนุญาตให้หน่วยงานที่มีทหารเป็นแกนหลักกระจายเครือข่ายอยู่ทั่วประเทศ ให้อำนาจในการสร้างมวลชนของตัวเองเพื่อทำงานด้านความมั่นคงที่นิยามกว้างขวางดั่งเกษียรสมุทรเป็นเรื่องที่ควรตั้งคำถามได้ เพราะข่ายงานที่กว้างย่อมหมายถึงงบประมาณที่ต้องใช้จำนวนมหาศาล และงบประมาณจะมาจากไหนถ้าไม่ใช่ภาษีของประชาชน ประชาชนต้องมีอำนาจที่จะถาม ตรวจสอบ และตัดสินใจได้ว่าปฏิบัติการทั้งหลายตอบสนองเจตนารมณ์ของประชาชนหรือไม่ กองทัพ ทหาร หน่วยงานความมั่นคงจะถูกใช้ในปริมณฑลใดบ้าง มีโครงสร้าง อำนาจ หน้าที่อย่างไร และพลเรือนควรตรวจสอบกองทัพได้ เพราะการให้คนกลุ่มหนึ่งพกอาวุธสงคราม กินเงินเดือนจากยศและตำแหน่งนั้นย่อมมีพันธสัญญากับประชาชนผู้ให้อาญาสิทธิ์ดังกล่าวตามครรลองของระบอบประชาธิปไตย และแน่นอน ในตอนนี้ กลไกสร้างอุดมการณ์รักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ของ กอ.รมน. และการดำเนินงานของรัฐบาลทหารก็ยังคงดำเนินไปเรื่อยๆ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net