Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis



ที่มาภาพ: https://www.facebook.com/Watchdog.ACT/

นับตั้งแต่กลางปี พ.ศ.2559 จนล่าสุดจากการเผยแพร่เมื่อกลางเดือนกุมภาพันธ์ 2561 ที่ผ่านมา ภาพของโครงการก่อสร้างบ้านพักข้าราชการศาลอุทธรณ์ภาค 5 บริเวณพื้นที่เชิงดอยสุเทพ ในเขตห้วยตึงเฒ่า ตำบลดอนแก้ว อำเภอแม่ริม ที่ใกล้จะแล้วเสร็จกลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ในสังคมออนไลน์ พร้อมไปกับการทำร้ายจิตใจคนเชียงใหม่ไม่น้อย

ข้อแรก เป็นเพราะเมื่อมองจากภาพถ่ายทางอากาศ (เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อเดือนมิถุนายน 2559 โดยเฟซบุ๊คของนายแพทย์ รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ พร้อมตั้งคำถามถึงที่มาของโครงการ) จะเห็นว่าพื้นที่ก่อสร้างดังกล่าวได้ ‘รุกล้ำ’ ขึ้นไปบนผืนป่าของดอยสุเทพ พื้นที่อันเป็นทั้งแหล่งธรรมชาติและสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมของคนเชียงใหม่อย่างเห็นได้ชัด ข้อสอง เมื่อมีการสอบถามถึงเบื้องหลังโครงการก่อสร้างดังกล่าวแล้วพบว่า พื้นที่ไม่ได้อยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย หากเป็นพื้นที่ของกองทัพบกที่มอบให้ศาลอุทธรณ์ภาค 5 เพื่อจัดสร้างบ้านพัก ซึ่งกรมธนารักษ์ได้ดำเนินการเกี่ยวกับการอนุญาตให้แล้วตั้งแต่ปี 2549 มีพื้นที่ทั้งสิ้น 147 ไร่ 3 งาน 30 ตารางวา

นั่นหมายความการก่อสร้างพื้นที่เชิงดอยสุเทพดังกล่าวไม่ได้ผิดกฎหมายหรือข้อบังคับของอุทยานแห่งชาติแต่อย่างใด



ภาพเปรียบเทียบพื้นที่เชิงดอยสุเทพ ก่อนเริ่มโครงการจัดสร้างบ้านพักเมื่อสองปีก่อน
ที่มาภาพ: https://pantip.com/topic/35254381

กระนั้นคำถามสำคัญจึงย้อนกลับมาอยู่ในข้อแรก ทางราชการไม่มีที่ดินอื่นแล้วหรือ ถึงต้องขึ้นไปถางพื้นที่เนินเขาดังกล่าวเพื่อทำเป็น “บ้านพัก” ให้กับข้าราชการ จังหวัดเชียงใหม่ไม่มีที่ดินว่างเปล่ามากพอที่จะปลูกสร้างบ้านพักข้าราชการโดยไม่ไปเบียดเบียนพื้นที่ธรรมชาติแล้วหรือ?

คำถามสำคัญจึงไม่ได้อยู่ที่ว่าโครงการก่อสร้างถูกต้องหรือไม่ หากเป็นว่าการใช้พื้นที่นี้เหมาะสมกับทรัพยากรธรรมชาติของเมืองที่สูญเสียไปหรือไม่

นอกจากทรัพยากรธรรมชาติ การรุกล้ำพื้นที่ทางธรรมชาติจากหน่วยราชการ (จะด้วยความตั้งใจหรือไม่ก็ตาม) ยังรวมไปถึงการทำลายทัศนียภาพของเมืองลงอย่างน่าเศร้า ซึ่งไม่เพียงพื้นที่ 147 ไร่ดังกล่าว หากเมื่อหลายปีก่อน คนเชียงใหม่คงจำกันได้ดีกับทางยกระดับบริเวณหน้าศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซ่า เชียงใหม่แอร์พอร์ท ทางยกระดับที่ชาวเชียงใหม่รวมตัวกันคัดค้าน และเสนอทางเลือกที่ดีกว่า (เช่นอุโมงค์ลอด) มาอย่างยาวนาน หากสุดท้ายทางยกระดับทางนั้นก็ถูกสร้างขึ้น พร้อมทั้งบดบังทิวทัศน์ของดอยสุเทพไปอย่างน่าเสียดาย นอกจากนั้นทางยกระดับดังกล่าวก็ไม่ได้ระบายการจราจรใดๆ เลย เพราะแทนที่จะเชื่อมตัวเมืองเชียงใหม่เข้าสู่สนามบิน หรือเชื่อมถนนจากตัวเมืองออกนอกตัวเมือง กลับกลายเป็นการเชื่อมสนามบินสู่ถนนออกนอกตัวเมือง ปัจจุบันสี่แยกมหิดลบริเวณหน้าเซ็นทรัลจึงยังเป็นหนึ่งในสี่แยกที่รถติดสาหัสไม่น้อยไปกว่าสี่แยกรินคำ

ฝ่ายราชการควรเป็นผู้นำในการพัฒนาและอนุรักษ์เมืองและทรัพยากรธรรมชาติของเมืองไปพร้อมกัน เพราะแม้จะบอกว่าที่ดินบริเวณเชิงดอยสุเทพที่เป็นปัญหาอยู่นั้นมีเอกสารสิทธิ์ถูกต้องตามกฎหมาย หากอย่าลืมว่าที่ดินเดียวกันนี้คือผืนป่าที่เป็นปอดของคนเชียงใหม่ คือมรดกทางธรรมชาติและวัฒนธรรมของลูกหลานชาวเชียงใหม่ทุกคน

หรืออย่างน้อยที่สุด คุณไม่จำเป็นต้องฟังเสียงคนเชียงใหม่ก็ได้ (อันที่จริงก็ไม่เคยเกรงใจอยู่แล้ว) แต่ควรให้เกียรติกับธรรมชาติหน่อยก็ดี

โครงการบ้านพักข้าราชการศาลอุทธรณ์ภาค 5... คุ้มแล้วหรือกับผืนป่าที่เสียไป

 

ที่มา: คอลัมน์ MY CHIANG MAI  www.chiangmaiworldheritage.net

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net