Skip to main content
sharethis
สื่อฝ่ายซ้าย LeftEast รายงานถึงการนัดหยุดงานประท้วงของอาจารย์และพนักงานภาคอุดมศึกษาครั้งใหญ่ที่สุดในอังกฤษเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว โดยมีการร่วมหยุดงานของอาจารย์และนักวิจัยจาก 60 มหาวิทยาลัย รวมถึงมหาวิทยาลัยอ็อกฟอร์ด, เคมบริดจ์, เอ็กซีเตอร์ และอิมพิเรียลคอลเลจลอนดอน พวกเขาวางแผนว่าจะมีการหยุดงานเป็นเวลา 4 สัปดาห์
 
 
2 มี.ค. 2561 สาเหตุที่พวกเขาหยุดงานประท้วงนั้น สมาชิกสหภาพแรงงานมหาวิทยาลัยและวิทยาลัยอังกฤษ (UCU) ซึ่งมีสมาชิกลูกจ้างอยู่ราว 11,000 คน ให้เหตุผลว่าหลังจากการเจรจากับองค์กรตัวแทนมหาวิทยาลัย UUK ล้มเหลว จากกรณีที่มหาวิทยาลัยทั้งหลายออกนโยบายในทำนองที่จะเป็นการลดเงินบำนาญของอาจารย์และลูกจ้างมหาวิทยาลัยและนำไปผูกกับตลาดหุ้นแทน และนั้นอาจจะยิ่งทำให้คนทำงานมหาวิทยาลัยรุ่นถัดไปได้รับเงินบำนาญน้อยลงกว่าเดิมถึงร้อยละ 40
 
รอรี อาเชอร์ ผู้ช่วยนักวิจัยปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยคอลเลจลอนดอนกล่าวว่าการประท้วงหยุดงานอาจจะเป็นการสร้างบรรทัดฐานใหม่ในการปฏิรูปภาคส่วนราชการของอังกฤษ
 
ข้ออ้างในการปรับลดสวัสดิการหลังเกษียณอายุของ UKK ล่าสุดอาศัยข้ออ้างเรื่องการขาดดุลงบประมาณและการประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นหลังการออกจากสมาชิกสหภาพยุโรปของอังกฤษ (Brexit)
 
แต่สหภาพและสื่อเอียงซ้ายก็มองว่าเรื่องนี้เป็นการทำลายความมั่นคงในหน้าที่การงานของคนทำงานภาคการศึกษาและทำลายสิทธิแรงงาน โดยที่เรื่องนี้กระทบลงไปถึงคนทำงานระดับล่าง ๆ อย่างพนักงานจัดจ้างภายนอก (outsourced) หรือภารโรง รวมถึงเรื่องการคุกคามและการข่มเหงรังแกในที่ทำงานด้วย ไม่ว่าจะเป็นการบีบให้ทำงานยาวนานกว่าข้อตกลง ซึ่งการเคลื่อนไหวของอาจารย์ทั้งหลายไม่เพียงแค่เป็นเรื่องเกี่ยวกับค่าจ้างหรือเงินบำนาญเท่านั้นแต่ยังเป็นเรื่องเกี่ยวกับสภาพการจ้างงานและผลกระทบจากการทำให้มหาวิทยาลัยเข้าสู่ระบบตลาดด้วย
 
หลังจากที่มีนโยบายการเก็บค่าเล่าเรียนในสถานอุดมศึกษาอังกฤษสมัยรัฐบาลโทนี แบลร์ ปี 2541 ค่าเล่าเรียนของนักศึกษาเพิ่มสูงขึ้นแต่ทว่าค่าแรงของคนทำงานในมหาวิทยาลัยกลับไม่เพิ่มขึ้นตามไปด้วย
 
อย่างไรก็ตามมาริยา อิวานเชวา ผู้ช่วยนักวิจัยปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยลีดส์แสดงความกังวลว่ามีการปรึกษาหารือกันน้อยเกินไปว่าจะคุ้มครองคนที่มีความเสี่ยงสูงๆ อย่างไรในการนัดหยุดงานประท้วงในครั้งนี้ ซึ่งอาจจะต้องสูญเสียอะไรมากกว่าคนอื่นเป็นหลายเท่านอกจากการสูญเสียค่าแรง อาจจะสูญเสียโครงการระยะสั้นไปด้วย แต่สุดท้ายเธอก็เริ่มหยุดงานประท้วงเพื่อแสดงความเป็นหนึ่งเดียวกับพนักงานอื่นๆ ทั้งระดับบนและระดับล่างที่ถูกจับให้ต้องห้ำหั่นกันเอง
 
ทั้งนี้ยังมีเรื่องผลกระทบที่อาจจะเกิดกับนักศึกษา มีนักศึกษาที่ล่ารายชื่อได้แล้ว 70,000 รายชื่อ เรียกร้องให้มีการชดเชยการงดชั้นเรียนแต่ทว่าพวกเขาไม่ได้เรียกร้องจากกลุ่มคนทำงานแต่เรียกร้องจากมหาวิทยาลัยโดยตรง เป็นการช่วยร่วมกดดันมหาวิทยาลัยด้วย ทางสหพันธ์นักศึกษาก็สนับสนุนการหยุดงานประท้วงของคนทำงานมหาวิทยาลัย จากการสำรวจพบอีกว่านักศึกษาร้อยละ 63 สนับสนุนการประท้วงหยุดงาน มีเพียงร้อยละ 3 เท่านั้นที่ต่อต้าน ส่วนหนึ่งเพราะนักศึกษาเหล่านี้เข้าใจเรื่องสิทธิของตัวเองในอนาคตที่อาจจะต้องเข้าไปเป็นหนึ่งในคนทำงานมหาวิทยาลัย
 
อิสกรา ครึสติก นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเบลเกรดผู้นำเสนอเรื่องนี้ในสื่อฝ่ายซ้ายเปรียบเทียบเรื่องที่เกิดขึ้นในอังกฤษกับเรื่องที่เกิดขึ้นในประเทศยุโรปตะวันออกและยุโรปกลางหลังยุคสังคมนิยมที่ได้รับผลกระทบจากการบริหารงานแบบ "เสรีนิยมใหม่" เช่นกัน การบริหารงานแบบดังกล่าวก่อปัญหาทำให้สภาพการจ้างงานย่ำแย่และทำให้ความมั่นคงในหน้าที่การงานของผู้คนลดลง แต่แนวทางบริหารแบบนี้ก็เสแสร้งพยายามทำเหมือนว่ามันเป็น "เรื่องธรมชาติ" หรือ "เรื่องธรรมดา"
 
 
เรียบเรียงจาก
 
The USS Strike: pensions are the trigger, but the strike is about discontent with academic working conditions in the UK, Left East, 26-02-2018
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net