ใบตองแห้ง: พรรคใหม่ ‘ในฝัน’

(ซ้าย) ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ (ขวา) ปิยบุตร แสงกนกกุล (แฟ้มภาพ/ประชาไท)

 

ข่าวการจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่โดยธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ, ปิยบุตร แสงกนกกุล เป็นข่าวฮือฮาสร้างความปีติยินดี ในหมู่ “ฝ่ายก้าวหน้า” ปัญญาชนประชาธิปไตย อย่างกว้างขวาง

ว่าที่จริง เรื่องนี้รู้กัน “วงใน” มาช่วงหนึ่งแล้ว แต่ยังไม่คิดว่าจะเป็นข่าวครึกโครม อย่างที่บารมี ชัยรัตน์ โพสต์ว่า “มีคนเล่าให้ฟังว่า ธนาธร กับ ปิยบุตร จะตั้งพรรคการเมือง แต่อย่าพึ่งพูดไปนะ เป็นความลับอยู่ เมื่อกี้อ่านข่าว เจอความลับที่ว่า เขาคุยกันให้แซ่ดไปหมดแล้ว มีกูนี่แหละปิดอยู่คนเดียว”

การเป็นข่าวครึกโครม มีทั้งด้านที่น่าดีใจและน่ากังวล ว่าจะกลายเป็นเป้าถล่มของพลังอนุรักษ์นิยม แม้บางคนบอกว่ารักจะสู้แล้วมัวกลัวไม่ได้ ถึงเสี่ยงก็คุ้ม แต่ประเด็นที่ต้องคำนึงคือ ณ วันนี้ เราอยู่ในช่วงของการสถาปนาระเบียบอำนาจใหม่ที่ยังไม่นิ่ง การจัดสรรอำนาจระหว่างชนชั้นนำยังไม่ลงตัว อาจมีความพลิกผันที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้ ในช่วง 1-2 ปีข้างหน้า

พรรคทางเลือกใหม่ในยุโรปที่ประสบชัยชนะ เขาสู้กับพรรคเก่าในกติกาประชาธิปไตย ไม่ใช่ต้องสู้ทั้งเผด็จการ รัฐพันลึก (ตามนิยามของเออเชนี เมริโอ) และพรรคเก่าในเวลาเดียวกัน แถมอยู่ในสถานการณ์ที่แผ่รังสีอำมหิตระหว่างขั้วอำนาจต่างๆ อยู่เบื้องลึก

แต่เอาละ เมื่อเห็นว่าต้องจุดประกายความหวังท่ามกลางความมืดมิด ก็ต้องเดินหน้า แต่ต้องระวังอยู่ทุกขณะเช่นกัน

อะไรคือจุดเด่นของพรรคใหม่  หลังจากธนาธรให้สัมภาษณ์บีบีซีไทย ก็มีเสียงตอบรับในวงกว้าง ไม่ใช่แค่ฝ่ายประชาธิปไตยเท่านั้น เพราะสังคมไทยอยู่ในช่วงตีบตัน เบื่อทหาร เบื่อรัฐราชการ เบื่อพรรคการเมืองเก่า เบื่อคนแก่ๆ อยากเห็นผู้นำการเมืองรุ่นใหม่ อย่างจัสติน ทรูโด

ธนาธรมีภาพของ “ไพร่หมื่นล้าน” มีความเป็นนักต่อสู้ มีจุดยืนประชาธิปไตยมั่นคง เคยเป็นรองเลขาธิการ สนนท. เคลื่อนไหวกับม็อบสมัชชาคนจน กล้าหาญ อยู่เคียงข้างมวลชน กลางห่ากระสุนในวันที่ 10 เมษา 2553 ในฐานะ “ไพร่” คนหนึ่ง ไม่ใช่เศรษฐี ไม่ใช่แกนนำ นี่คือด้านที่จับใจฝ่ายประชาธิปไตย

แต่ด้านที่กว้างกว่า คือภาพของความเป็นนักบริหาร กล้าคิด กล้าเสี่ยง ปีนเขาขั้วโลกใต้ ไปลงทุนในอเมริกา เข้าใจตรงกันนะ สังคมไทยกำลังเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ ภายใต้ความผันผวนของเศรษฐกิจเสรีนิยมใหม่ ผู้คน โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ จะต้องต่อสู้ดิ้นรนในอนาคตที่ไม่มั่นคง

พูดง่ายๆ ก็คล้าย ปี 44 สังคมไทยอยากได้ทักษิณคนใหม่ คนที่มีวิสัยทัศน์ทางเศรษฐกิจ ก่อนหน้านี้ หรือแม้แต่ตอนนี้ ก็มีคนจำนวนมากตั้งความหวังกับชัชชาติ (โดยไม่จำกัดแค่คนนิยมเพื่อไทย รัฐบาลทหารยังอยากให้ไปเป็นกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ)

ที่ทางของพรรคใหม่ จึงอยู่ที่การขายความคิดเพื่ออนาคต โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ อย่างปิยบุตรพูดถึงคนอายุ 18-25 ราว 7 ล้านคน ที่ไม่เคยเลือกตั้ง ในยุคสมัยที่คนไทยใช้เฟสบุ๊ค 44 ล้านคน (เพราะพรรคใหม่คงไม่ไปแข่งใช้เงินทำป้ายหาเสียง)

ในขณะเดียวกัน พรรคใหม่ก็จะมีอีกด้านที่ขายจุดยืนประชาธิปไตย ความมั่นคงตรงไปตรงมาในหลักการ ผ่านปิยบุตร ผ่านธนาธร เป็นจุดยืนที่เชื่อมั่นได้ยิ่งกว่าพรรคเพื่อไทยกี่ขั้น คงไม่ต้องเสียเวลาพูดกัน

เพียงแต่พรรคใหม่ก็จะต้องเดินไปพร้อมกันทั้งสองด้าน “2 ขา” ไม่ใช่มีแต่ด้านจุดยืน “เข้มข้น” ที่พวกอนุรักษ์อาจมองว่า “ฮาร์ดคอร์” (เชิงอุดมคติ) เช่น แก้รัฐธรรมนูญ ลบล้างผลพวงรัฐประหาร ปฏิรูปศาล ปฏิรูปกองทัพ ซึ่งเท่าที่ทราบ พวกเขาก็เข้าใจ และมีคนรุ่นใหม่ที่จะเข้ามาร่วมคิดนโยบายเพื่ออนาคต ในด้านต่างๆ

ปมที่ยากคือการทำให้ 2 ขา balance กัน โดยไม่สามารถทิ้งด้านใดด้านหนึ่ง ถ้าอ่อนด้านขายอนาคต ก็จะเป็นได้แค่ “พรรคแดงปัญญาชน” ถ้าอ่อนด้านจุดยืน มุ่งพาสังคมก้าวข้าม ไปสู่ความหวังสู่อนาคตใหม่ มันก็จะสลิ่มหน่อยๆ แม้ได้ฐานเสียงกว้างขึ้นจากคนที่เบื่อความขัดแย้ง อยากทิ้งอดีตไว้ข้างหลัง

พรรคการเมืองต้องเดิน 2 ขา เพราะการเมืองคือเรื่องผลประโยชน์ของประชาชน พรรคพลังประชาชน พรรคเพื่อไทย กลับมาชนะเลือกตั้งในปี 51,54 ไม่เพียงเพราะถูกรัฐประหาร หรือถูกเข่นฆ่าปี 53 ซึ่งเป็นพลังขับดันในฐานมวลชน แต่ในวงกว้างก็ขาย “ทักษิณคิด เพื่อไทยทำ” ให้คนเชื่อว่าเศรษฐกิจจะดีขึ้น จากยุคขิงแก่ ยุคอภิสิทธิ์ ที่ฝืดสนิท

ทักษิณคือนักการเมืองที่เก่งที่สุด ในแง่งานขาย แปรนโยบายมาเป็นคำขวัญสั้นๆ โดนใจ “กองทุนหมู่บ้านละ 1 ล้านบาท” “30 บาทรักษาทุกโรค” (นักวิชาการคิดอย่างนี้ไม่ได้นะ ในภาษากฎหมาย ภาษาวิชาการ มันใช้คำว่ารักษาทุกโรคไม่ได้)

เพียงแต่ครั้งนี้ พรรคเพื่อไทยก็จะมีปัญหาเช่นกัน ว่าจะขายไอเดียเศรษฐกิจอย่างไร ภายใต้รัฐธรรมนูญที่บังคับไม่ให้กระดิกกระเดี้ย แถมคนตรงกลางๆ ก็ยังวิตก ว่าถ้าเพื่อไทยชนะถล่มทลายจะเกิดความปั่นป่วนวุ่นวายจนไม่ได้ทำมาหากินอีก สุดารัตน์จึงต้องพยายามขาย “ความสงบ” ที่บางคนมองว่าจ้องเกี้ยเซียะ (ความคิดเกี้ยเซียะน่ะมีตลอดแหละ แต่ในสถานการณ์นี้เกี้ยเซียะไม่ง่ายหรอก)

พูดง่ายๆ พรรคเพื่อไทยไม่สามารถชูภาพ “พรรคล้างแค้น” แม้คะแนนพื้นฐานจะมาจากมวลชนที่คับแค้นรัฐประหาร การเมืองเป็นเรื่องกว้างกว่านั้น ต้องคำนึงผลประโยชน์ปากท้องชาวบ้านด้วย (ถ้ามองประชามติ 16 ล้านเสียงต่อ 10 ล้านเสียงให้ลึกซึ้ง จะเข้าใจ) พรรคเพื่อไทยจะต้องเดิน 2 ขาเช่นกัน ขาหนึ่งมีนักสู้อย่าง จาตุรนต์ วัฒนา พิชัย ฯลฯ อีกขามีสุดารัตน์ ทำหน้าใสซื่ออาโนเนะ
 

เพื่อไทย Vs พรรคใหม่

มีคำถามว่า พรรคใหม่จะหวังฐานเสียงจากมวลชนประชาธิปไตยได้เพียงไร ในภาวะที่พรรคเพื่อไทยก็อ่อนแอ แย่งอำนาจกันภายใน ยังไม่พ้นจากทักษิณ ต้องบินไปปักกิ่งสิงคโปร์กันขวักไขว่ (ยังไม่นับความฉิบหายครั้งนิรโทษเหมาเข่ง ลักหลับตอนตีสี่)

ผมตอบว่าไม่ได้เลย หรือแทบไม่ได้ ซึ่งทำให้กองเชียร์หัวร้อนกันใหญ่ แต่เป็นความจริงนะ ผู้สังเกตการณ์หลายคนก็คิดอย่างนี้ เพราะเมื่อเข้าสู่สมรภูมิจริง มันจะเกิดการตัดสินใจเชิงยุทธศาสตร์ เทให้เพื่อไทยไว้ก่อน

แม้การเลือกตั้งครั้งนี้จะไม่ใช่แบบ Winner-takes-all อย่างที่หมอเลี้ยบชี้ แต่โดยปกติ สมรภูมิเลือกตั้งโดยเฉพาะโค้งสุดท้าย จะเป็นการประจัญบานระหว่าง 2 ขั้วใหญ่ เหลือพื้นที่ให้พรรคทางเลือกน้อยมาก ถ้ากระแสไม่แรงจริงก็จะถูกกลืนหายไป

ที่สำคัญ นี่คือการเลือกตั้งครั้งแรกหลังรัฐประหาร สำหรับมวลชนประชาธิปไตย นี่คือโอกาสของการตอบโต้ “กูไม่ยอมมึง” ใช่ละ คนต้านรัฐประหารเลือกได้ทั้งเพื่อไทยและพรรคใหม่ (จุดยืนประชาธิปไตยชัดกว่าด้วยซ้ำ)

แต่การตอบโต้ใดเล่าจะท้าทายเท่าเลือกเพื่อไทย การตอบโต้ใดเล่าจะสะใจเท่าเลือกเพื่อไทย เพื่อไทยคือผู้ถูกกระทำ ยิ่งลักษณ์คือผู้ถูกกระทำ เสื้อแดงคือผู้ถูกกระทำ มวลชนผู้คับแค้นที่รอวันนี้มานานจะเดินเข้าคูหากาเพื่อไทย เพื่อให้รู้ว่า “เสื้อแดงยังอยู่”

โปรดมองให้ลึก มันไม่ใช่แค่ความผูกพันกับทักษิณ ยิ่งลักษณ์ แต่พรรคเพื่อไทยคือพรรคของคนเสื้อแดง คือพรรคของมวลชน ที่ผูกพันต่อสู้ร่วมกันมา อย่างน้อยก็ตั้งแต่หลังรัฐประหาร 49 พฤษภา 53 เพื่อไทยชนะเลือกตั้งคือคนเสื้อแดงชนะเลือกตั้ง ยิ่งลักษณ์ถูกรัฐประหารก็คือคนเสื้อแดงถูกรัฐประหาร ความรู้สึกเป็นเจ้าของ ทำให้สิ่งที่เราพูดกันว่าทักษิณทอดทิ้งมวลชน ทักษิณเอาตัวรอด ฯลฯ ไม่ยักมีน้ำหนักอย่างที่คิด

การเลือกเพื่อไทยยังจะเป็นอารมณ์ตอบโต้ทางชนชั้น สลิ่ม ทหาร ขุนนาง อำมาตย์ พวกมึงเกลียดเสื้อแดงนักใช่ไหม เกลียดทักษิณนักใช่ไหม อยากเห็นยิ่งลักษณ์ติดคุกนักใช่ไหม พวกกูจะเลือกเพื่อไทยกลับมาให้พวกมึงดู

การเลือกพรรคใหม่ไม่ได้อารมณ์ร่วม อารมณ์สะใจ อย่างนี้นะ ต่อให้เลือกปิยบุตร นิติราษฎร์ ที่มวลชนชื่นชม

การเลือกตั้งในระบบบัตรใบเดียว ใช่ละ คะแนนไม่ตกน้ำไปไหน สมมติเขตนี้ เพื่อไทยอาจแพ้ 500 เสียง เพราะมีคนเลือกพรรคใหม่ 600 คน แต่เมื่อเอาคะแนนรวมทั้งประเทศไปคำนวณเฉลี่ยกัน จำนวน ส.ส.เพื่อไทยก็ไม่เปลี่ยนนักหรอก เดี๋ยวก็ได้บัญชีรายชื่อทดแทน

ทางทฤษฎีอธิบายได้ แต่อารมณ์คนในวันเลือกตั้ง ไม่มัวมานั่งแยกแยะหรอก ใครก็อยากชนะไว้ก่อน อย่างน้อยก็ทำให้พื้นที่ตัวเองประกาศศักดา “พื้นที่สีแดง” ขณะเดียวกัน การตั้งเป้าให้ได้ ส.ส.อันดับหนึ่ง ให้ท่วมท้นที่สุด (แม้ไม่มีทางได้เป็นรัฐบาล) ก็มีนัยสำคัญ ลองสมมตินะ สมมติเพื่อไทยได้ 220 เสียง พรรคใหม่ได้ 0 กับเพื่อไทยได้ 180 พรรคใหม่ได้ 40 อนาคตประชาธิปไตยคงดีกว่า แต่อารมณ์มวลชนอยากเห็นแบบไหนมากกว่ากัน

ผมจึงบอกว่าโอกาสของการชิงฐานมวลชนจึงน้อยมาก คนชั้นกลางประชาธิปไตยที่แน่วแน่เลือกพรรคใหม่ไม่เลือกเพื่อไทยมีเท่าไหร่กัน ตามระบบนี้ต้องลงสมัครทุกเขตทั่วประเทศ แล้วได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 1 คนต่อราวๆ 7 หมื่นคะแนน (ชนะในเขตไม่ต้องหวัง)

อย่าหวังสูง

ความหวังของพรรคใหม่จึงอยู่ที่คนรุ่นใหม่ อายุ 18-25 ราว 7 ล้านคน โดยอาจเลยไปถึงคนอายุ 30 หน่อยๆ ซึ่งก็เป็นฐานที่กว้างใหญ่ แต่ประเมินยากมาก แม้อนุมานได้ว่าคนรุ่นใหม่จำนวนไม่น้อยเบื่อสิ่งเก่า เบื่อคนแก่ที่เอาอนาคตประเทศไปพันธนาการ แต่คนรุ่นใหม่ยุค BNK48 จะออกมาเลือกตั้งไหม จะสนใจจริงจังจนแปรเป็นคะแนนเลือกตั้งได้หรือเปล่า มีคำถามเยอะไปหมด

ในมุมหนึ่งมันเป็นความท้าทาย เพราะการเลือกตั้งครั้งนี้ โซเชียลมีเดียจะมีอิทธิพลสูงมาก ตอนเลือกตั้งปี 54 ยังมีผู้ใช้เฟสบุ๊คแค่ 2 ล้านคน ปัจจุบันมี 44 ล้านคน แต่ในมุมกลับ โลกออนไลน์ก็ไม่ใช่ชีวิตจริง การกดไลค์กดแชร์ในเฟสบุ๊คไม่สามารถนับเป็นคะแนนได้ ฮิลลารี คลินตัน ยังถูกหลอกด้วยกระแสออนไลน์มาแล้ว

พื้นที่ตรงนี้จึงมีได้ตั้งแต่ไม่กี่หมื่นไปถึงล้านๆ เสียง ไม่แน่นอน แต่ก็น่าทดลอง หยั่งดูว่าคนที่ไม่เอารัฐประหาร เบื่อทักษิณ รำคาญแมลงสาบ จะมีสักเท่าไหร่ จะเปิดพื้นที่ใหม่ได้หรือไม่ เพียงแต่ในขณะเดียวกันก็อย่าหวังสูง เมื่อตั้งความหวังไว้ว่าจะเป็นการจุดประกายในความมืดมน มีคนเลือกเท่าไหร่ก็เท่านั้น มุ่งมั่นไปที่การขายความคิด รอโอกาสที่จะเกิดความเปลี่ยนแปลง (เชื่อเหอะว่าเลือกตั้งไปก็วินาศสันตะโรอีก แค่จะมีเลือกตั้งได้ไหม ยังไม่รู้เลย)

โอกาสของพรรคใหม่ ในความรู้สึกผม จึงน่าจะอยู่ที่การเลือกตั้งครั้งถัดไป ซึ่งก็เกี่ยวพันกับสถานการณ์อีกละว่าจะเกิดอะไรขึ้น (ไม่เชื่อว่ารัฐธรรมนูญ 2560 จะอายุยืน เห็นด้วยกับ อ.พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย ว่าไม่เกิน 3 ปี) ครั้งนี้น่าจะเป็นแค่การจุดประกายไฟ สร้างความหวัง แต่อย่าเพิ่งฝันบรรเจิดว่าจะเกิดได้แบบยุโรป แคนาดา ประชาธิปไตยไทยคดเคี้ยวแค่ไหนก็รู้กัน ขณะที่การเมืองเรื่องเลือกตั้ง ก็ยังมีกลยุทธ์ซับซ้อนที่อาศัยเพียงจุดยืนและความฝันเท่านั้นไม่พอ

ทั้งหมดนี้ก็หวังว่า ผมจะหน้าแตก คาดผิด ยินดีอย่างยิ่งที่จะหน้าแหก เพียงแต่ถ้าคาดถูกก็อย่าท้อ เรายังต้องต่อสู้อีกยาวนาน

  
   

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท