Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

1.บทนำ

เมื่อสังคมโลกเข้าสู่ยุคโลกาภิวัตน์ (Globalization) ที่การพัฒนาทางเทคโนโลยี เศรษฐกิจ และสังคม ได้ทำให้วิถีชีวิตการดำเนินของผู้คนในสังคมก็การเปลี่ยนแปลงไปด้วยเช่นกัน รวมทั้งการรับรู้ข้อมูลข่าวสารที่ไร้พรมแดนทำให้องค์ความรู้ต่างๆ กระจัดกระจายอยู่โดยทั่วไปอยู่บนโลกของอินเทอร์เน็ต ทำให้ผู้คนจำนวนหนึ่งเกิดความคิดที่ต้องการเรียนรู้ด้วยตนเองมากยิ่งขึ้น ด้วยเหตุนี้จึงเป็นการท้าทายต่อการศึกษาในระบบเป็นอย่างมาก และได้ทำให้เกิดแนวทางการศึกษาแบบใหม่ที่เรียกว่า แนวทางการศึกษาทางเลือก (Alternative Education) เป็นที่นิยมเป็นอย่างมากในต่างประเทศในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศสหรัฐอเมริกาและแคนาดา ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการสนับสนุนและผลักดันโดยภาครัฐ แต่ถึงอย่างไร กระแสของการศึกษาทางเลือกภายใต้บริบทของสังคมไทยกลับไม่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐเท่าที่ควร ส่วนหนึ่งอาจเป็นผลมาจากการขาดความรู้ความเข้าใจในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาทางเลือก

ด้วยเหตุดังกล่าว ทำให้เกิดข้อถกเถียงเกี่ยวกับการสร้างความเข้าใจในประเด็นของการจัดการศึกษาทางเลือกว่ามีหลากหลายมิติ ที่ไม่เพียงจำกัดอยู่เฉพาะการจัดการศึกษาที่นอกระบบแต่เพียงเท่านั้น แต่การทำให้การศึกษาทั้งในและนอกระบบสามารถเปิดรับแนวคิดที่หลากหลายเพื่อตอบสนองต่อความหลากหลายของผู้เรียน ที่มีความฝันและอนาคตที่แตกต่างกัน ด้วยเหตุนี้ การศึกษาทางเลือกอาจจะไม่ได้มีความหมายเพียงมิติเดียวอีกต่อไป แต่ขึ้นอยู่กับเป้าหมายของผู้เรียนว่าพวกเขาจะสามารถกำหนดชะตาชีวิตของตนเองได้หรือไม่ หรือแนวทางการศึกษาทางเลือกที่เกิดขึ้นนั้นเป็นเพียงความประสงค์ของผู้ปกครองที่ต้องการให้ลูกของตนเป็นไปตามเป้าประสงค์ของผู้ปกครอง

เค้าโครงในการนำเสนอในบทความมีลำดับการนำเสนอดังนี้ ส่วนแรก ทำการทบทวนความหมายของการศึกษาทางเลือกในสากลว่ามีอยู่ด้วยกันกี่รูปแบบ และแต่ละรูปแบบนั้นมีลักษณะความสำคัญอย่างไรบ้าง ส่วนที่สอง ข้อถกเถียงเกี่ยวกับเป้าหมายของการจัดการศึกษาทางเลือกว่ามีจุดมุ่งหมายอย่างไร และมีฐานคิดใดอยู่ภายใต้การจัดการศึกษาในรูปแบบดังกล่าว และส่วนสุดท้าย เป็นข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการจัดการศึกษาทางเลือกในอนาคตว่าควรมีลักษณะอย่างไร


2.แนวทางการนิยามความหมายของการศึกษาทางเลือก: Alternative Education

เมื่อพูดถึงการศึกษาทางเลือกหลายคนมักมีความเข้าใจว่าเป็นการศึกษานอกระบบที่ผู้เรียนไม่ประสงค์ที่จะเข้ารับการศึกษาในระบบ ที่เกิดจากความเชื่อที่ว่าการศึกษาในระบบเป็นการศึกษาที่ไร้ประสิทธิภาพ ไม่สามารถตอบสนองต่อความต้องการของผู้เรียนที่หลากหลายและอาจมีส่วนทำให้ผู้เรียนไม่สามารถเรียนรู้ในเรื่องที่ตนเองสนใจ หรือผู้เรียนไม่สามารถค้นพบตัวตนของตนเองได้ ซึ่งในประเด็นดังกล่าวยังเป็นที่ถกเถียงมาจนถึงปัจจุบันว่าการศึกษาทางเลือกกับการศึกษาในระบบรูปแบบใดสามารถตอบสนองต่อผู้เรียนได้มากกว่า  อย่างไรก็ตาม ในประเด็นที่จะกล่าวถึงดังต่อไปนี้ผู้เขียนมองว่าปัญหาสำคัญของการถกเถียงถึงประเด็นการศึกษาทางเลือกนั้น มักจะอยู่ในประเด็นของการนิยามความหมายของการจัดการศึกษาทางเลือก (Alternative Education) ซึ่งการจัดการศึกษาทางเลือกไม่ใช่เพียงแต่การจัดการศึกษานอกระบบเพียงเท่านั้น แต่ยังมีการจำกัดความที่แตกต่างออกไปด้วยที่มาและเป้าหมายของการศึกษาที่สามารถแบ่งการนิยามความหมายของการศึกษาทางเลือกได้ออกเป็น 4 แนวทาง ดังต่อไปนี้

แนวทางแรก การศึกษาทางเลือกคือการศึกษาสำหรับเด็กผู้ด้อยโอกาส หมายความว่าการศึกษาทางเลือกที่รัฐจัดสรรให้ผู้เรียนสามารถเข้าถึงการศึกษาในกระแสหลักได้ที่ถูกจัดขึ้นโดยรัฐบาลแบบเป็นกรณีพิเศษ อย่างเช่นกรณีของ Home School และการศึกษาในชุมชน ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของการจัดการศึกษาทางเลือกที่จัดขึ้นโดยรัฐ ตัวอย่างเช่นในประเทศสหรัฐอเมริกาและแคนาดา ที่มีข้อจำกัดทางด้านภูมิศาสตร์ ด้วยขนาดพื้นทางภูมิศาสตร์ที่กว้างใหญ่ ทำให้รัฐไม่สามารถจัดการศึกษาได้อย่างทั่วถึง  การแก้ปัญหาเหล่านั้นจึงเปิดโอกาสให้กับครอบครัวสามารถจัดการศึกษาได้ด้วยตนเองได้ โดยที่รัฐทำหน้าที่ในการจัดสรรงบประมาณ  องค์ความรู้ต่างๆ รวมไปถึงการฝึกอบรมครูอีกด้วย

 ด้วยเหตุนี้ ในหลายประเทศจึงได้มองการศึกษาทางเลือกในความหมายที่ว่าเป็นทางเลือกหนึ่งให้กับเด็กที่ด้อยโอกาส เพื่อให้สามารถเข้าถึงการบริการทางการศึกษาได้เช่นเดียวกับเด็กโดยทั่วไป การจัดการศึกษารูปแบบนี้ทำให้เด็กในพื้นที่ห่างไกลที่ขาดโอกาสในการเข้าสู่การศึกษาในระบบของรัฐแบบปกติ และก็ถือได้ว่า การจัดการศึกษาในรูปแบบดังกล่าวเป็น ‘การศึกษากึ่งรัฐ’ เพราะได้รับการสนับสนุนโดยรัฐบาล  การศึกษาในความหมายนี้เป็นเพียงรูปแบบหนึ่งของการศึกษาทางเลือก

แนวทางที่สอง การศึกษาทางเลือกเป็นการศึกษาในรูปแบบที่เรียกว่า ‘การศึกษาตลอดชีวิต’ (Lifelong Learning) เกิดจากเด็กจำนวนหนึ่งต้องออกจากระบบการศึกษา จึงทำให้เด็กเหล่านี้ขาดโอกาสในการเข้าสู่พื้นที่ทางเศรษฐกิจและสังคมในอนาคต ด้วยเหตุนี้ทั้งรัฐบาล รัฐท้องถิ่น และชุมชน จึงได้เปิดโอกาสให้เด็กเหล่านี้ได้เข้าไปสู่รูปแบบการศึกษา ในรูปแบบของการฝึกทักษะอาชีพเพื่อดำรงชีวิต และอาจจะรวมไปถึงการนำเอาภูมิปัญญาท้องถิ่นเข้ามาจัดการเรียนการสอนด้วย เพื่อทำให้เด็กเหล่านี้สามารถสร้างพื้นที่ของตนเองให้เกิดความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น และยังสามารถพัฒนาทักษะอาชีพที่จำเป็นต่อการเลี้ยงชีพตัวเองได้ในอนาคต ในส่วนนี้จึงเป็นความหมายของรูปแบบการศึกษาทางเลือกในความหมายที่สอง

แนวทางที่สาม การศึกษาทางเลือกในเชิงอุดมการณ์และปรัชญา ที่เป็นการจัดการศึกษาในระบบที่ในช่วงหนึ่งของสังคมไทย มีการจัดการศึกษาภายใต้อุดมการณ์เผด็จการนิยม (Authoritarianism)  มีงานของพิภพ ธงไชย  ได้พูดถึงประเด็นการศึกษาภายใต้อุดมการณ์และปรัชญา ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่ในช่วงปี พ.ศ. 2514 ที่มีการเริ่มพูดถึงประเด็นของการศึกษาทางเลือก โดยเริ่มต้นจากการตั้งคำถามกับการศึกษาทางเลือกว่าเป็นการศึกษาที่ท้าทายระบบอำนาจแบบเผด็จการทุนนิยม (Dictatorial Capitalism) และเผด็จการศักดินานิยม (Feudal Dictatorship) ซึ่งการศึกษาทางเลือกที่ได้นำมาท้าทายอุดมการณ์เหล่านั้นของพิภพ มีแนวทางการศึกษาแบบเสรีนิยมที่เปิดโอกาสให้กับประชาชนหรือเด็กได้มีโอกาสพัฒนาเจตจำนงที่เป็นอิสระของตนเอง และพัฒนาทักษะการเป็นผู้กระทำการที่สามารถตั้งคำถามกับระบบสังคมที่พวกเขาเป็นส่วนหนึ่งอยู่

ในท้ายที่สุดจึงถือว่าแนวทางดังกล่าวเป็นการศึกษาทางเลือกในเชิงของอุดมการณ์ ที่เรียกว่า การศึกษาทางเลือกในมุมมองศาสตร์การสอน (Pedagogical Perspective) หรือ ปรัชญาศาสตร์การสอน (Pedagogical Philosophy) กรณีนี้ผู้เรียนอาจอยู่ในการศึกษากระแสหลัก  แต่การเรียนการสอนจะถูกสอนด้วยศาสตร์การเรียนรู้ที่ต่างไปจากโรงเรียนปกติ การศึกษาทางเลือกในมิติของอุดมการณ์หรือปรัชญาถูกเผยแพร่อยู่ในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก ซึ่งสามารถศึกษาได้ในงาน“การศึกษาทางเลือก : การศึกษาที่นำไปสู่อิสรภาพ” ของพิภพ ธงไชย ที่ได้กล่าวถึงอุดมการณ์และปรัชญาของเอมิล (Emile)  ซัมเมอร์ฮิลล์ (Summer Hill)  และวอลดอร์ฟ (Waldorf) ทั้งหมดนี้เป็นภาพของการศึกษาในเชิงของปรัชญาแห่งการเรียนรู้ที่สามารถนำมาเชื่อมโยงกับประเทศไทยได้ทั้งสิ้น

แนวทางสุดท้าย การศึกษาทางเลือกในแบบก้าวข้ามอุดมการณ์และปรัชญา ที่เป็นแนวทางการศึกษาทางเลือกในอีกความหมายหนึ่ง ที่มีการพูดถึงในต่างประเทศอยู่พอสมควรในระดับปรัชญาและทฤษฎีการศึกษา นั่นคือการศึกษาทางเลือกที่เลือกใช้ปรัชญาการศึกษาที่ในแนวทางแบบการศึกษาเชิงวิพากษ์ (Critical Pedagogy) ของ Paulo Faire ที่เป็นการศึกษาที่ต้องการให้ผู้เรียนสามารถหลุดพ้นจากความกลัว หลุดพ้นจากวัฒนธรรมการปิดปากเงียบ และก็เรียนรู้ตัวตนของตนเองได้ภายใต้ระบบการเรียนแบบสังคมทุนนิยมโลก โดยสรุปแนวทางการศึกษารูปแบบนี้คือการศึกษาทางเลือกที่ต่อต้านปรัชญากระแสหลัก ซึ่งถ้าหากจัดการศึกษากระแสหลักเป็นแบบเผด็จการนิยม (Authoritarianism) หรือศักดินานิยม (Feudal Dictatorship) การศึกษาทางเลือกในแนวทางนี้มักจะเลือกใช้แนวทางของอุดมการณ์แบบเสรีนิยม (Liberalism) ขณะเดียวกันหากการศึกษากระแสหลักมุ่งเน้นในเรื่องของอุดมการณ์เสรีนิยม การศึกษาทางเลือกก็มักที่จะก้าวข้ามกลุ่มนี้ไปเพื่อที่จะพูดถึงในเรื่องของอุดมการณ์แบบก้าวหน้า หรือปรัชญาการศึกษาในเชิงวิพากษ์ (Critical Pedagogy) ตัวอย่างเช่น การศึกษาในรูปแบบของ Paulo Faire หรือของกลุ่มมาร์กซิสต์ (Marxism) เป็นต้น


3.ข้อถกเถียงเกี่ยวกับเป้าหมายของการศึกษาทางเลือก

ในส่วนของข้อถกเถียงเกี่ยวกับเป้าหมายของการศึกษาทางเลือก เป็นการตั้งข้อถกเถียงผ่านชุดอุดมการณ์ต่างๆ เพื่อให้เห็นทิศทางของการศึกษาในอนาคตที่มีการขับเคลื่อนภายใต้อุดมการณ์อันหลากหลายภายในสังคม ซึ่งการจะให้ผู้เรียนสามารถดำรงอยู่ภายใต้สังคมแห่งอุดมการณ์อันหลากหลายเหล่านี้ได้  จำเป็นต้องสร้างองค์ความรู้เพื่อเป็นพื้นฐานของการตั้งคำถามต่อการศึกษาในรูปแบบต่างๆ ซึ่งในส่วนต่อไปนี้จะมีข้อถกเถียงด้วยกันทั้งหมด 4 ข้อถกเถียง ดังต่อไปนี้

ข้อถกเถียงแรก ในกลุ่มแนวคิดแบบเสรีนิยม (Liberalism) มองว่าการศึกษาทางเลือกเป็นการศึกษาที่กำลังท้าทายต่อการศึกษาในกระแสหลัก ที่มีจุดมุ่งหมายในการสร้างปัญญาชนของตัวเอง ซึ่งถ้าหากอยากได้ปัญญาชนเป็นของตนเอง ในส่วนนี้หมายถึงเด็กทั่วไปทุกคนที่อยู่ในระบบประชาธิปไตยและมีเจตจำนงอิสระที่จะตั้งคำถามกับความรู้ที่พวกเขาได้รับ หรือตั้งคำถามกับระบบอำนาจที่เข้ามากดทับ อุดมการณ์แบบนี้ เป้าหมายแบบนี้ หรือการผลิตผู้เรียนแบบนี้ จะต้องอาศัยศาสตร์การสอนหรือการฝึกอบรมแบบใดจึงจะเหมาะสมที่สุด และสามารถเชื่อมโยงชุมชนหรือท้องถิ่นให้เข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างระบบการเรียนรู้แบบการศึกษาทางเลือกได้อย่างไร

หน้าตาของปัญญาชนที่จะถูกผลิตออกมาในอนาคตจะเหมาะสมกับสังคมที่เป็นประชาธิปไตย แต่ที่น่าสนใจคือเราจะสามารถสอดแทรกอุดมการณ์เหล่านี้เข้าไปสู่สถาบันการศึกษาในระบบโรงเรียนของรัฐได้อย่างไร ทั้งหมดที่กล่าวมานี้เพื่อที่จะแสดงภาพของความต้องการให้อุดมการณ์ของการศึกษาทางเลือกสามารถเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของอุดมการณ์ในการจัดการเรียนการสอนของรัฐกระแสหลัก ซึ่งคงจะเป็นกระบวนการเคลื่อนไหวใหญ่ที่จะต้องเข้าไปพูดคุยถกเถียงในเรื่องของเป้าหมายของการจัดการศึกษา และในปัจจุบันการจัดการศึกษาแบบ 4.0 มีเป้าหมายเพื่อไปรองรับกับระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม ในทางกลับกันหากเป้าหมายของการจัดการศึกษานั้นเพียงเพื่อจะไปรองรับกับระบบสังคม และสังคมซึ่งมีความแตกต่างหลากหลายซึ่งเป็นหน้าที่ที่นักวิชาการคงต้องไปถกเถียงกับต่อไปในเชิงของอุดมการณ์ และก็คุณลักษณะของเด็กต้องมีความสุข ที่อยู่ท่ามกลางสังคมที่ต้องการเด็กผู้ซึ่งเป็นผู้แบกรับภาระไปสู่สังคมที่เคารพความแตกต่างหลากหลาย และสังคมที่เป็นประชาธิปไตยแบบเต็ม แต่จุดมุ่งเน้นที่สำคัญคือการที่จะขยับอุดมการณ์ส่วนนี้เข้าไปสู่ระบบการศึกษาในโรงเรียนได้อย่างไร ซึ่งน่าจะเริ่มต้นการปฏิรูปการศึกษาในพื้นเชียงใหม่ที่เป็นพื้นถกเถียงที่น่าสนใจ

ข้อถกเถียงที่สอง กลุ่มแนวคิดมาร์กซิสต์ (Marxism) ในกลุ่มนี้คิดอยู่ตลอดเวลาว่าโรงเรียนและการศึกษาในระบบไม่เคยเป็นที่พึ่งของชนชั้นล่างเลย เพราะโรงเรียนนั้นตกอยู่ในวัฒนธรรมของคนกลุ่มใหญ่กระแสหลัก กล่าวอีกนัยหนึ่งโรงเรียนเป็นตัวแทนของรัฐและนายทุน ซึ่งถ้าหากปล่อยให้โรงเรียนจัดการศึกษาโดยรัฐและนายทุน ซึ่งนั่นหมายความว่าโรงเรียนไม่ได้เป็นพื้นที่แห่งความหวังอีกต่อไป แต่โรงเรียนกลับทำให้เด็กรู้สึกอ่อนเปลี้ยขาดพลังที่ตั้งคำถามกับชีวิตของตัวเอง จึงไม่แปลกที่เด็กจะไม่รู้จักตนเอง เพราะโรงเรียนปรารถนาที่จะกล่อมเกลาให้เด็กไม่ให้รู้จักตนเอง แต่กลับให้รู้จักอีกส่วนหนึ่งที่รัฐและทุนนิยมปรารถนาให้เด็กรู้จักและคุ้นเคย ซึ่งสิ่งเหล่านี้ทำให้เด็กไม่สามารถเข้าถึงโอกาส และไม่สามารถเข้าไปมีส่วนร่วมได้ ตัวอย่างเช่น หากเด็กไร้สัญชาติอยากจะเป็นนักบิน เด็กก็คงนึกภาพไม่ออกว่าตัวของเขาเองนี้จะเข้าไปสู่การเป็นนักบินได้อย่างไร ด้วยเงื่อนไขที่มีมากมาย ทั้งไร้สัญชาติ ขาดทุนทรัพย์ ขาดโอกาสต่างๆ เป็นต้น

แน่นอนว่าโอกาสในชีวิตที่ระบบทางการศึกษามอบให้นั้นสร้างจินตนาการเป็นสิ่งที่เรียกว่า “ฝันไปไม่ถึง” มันเป็นสิ่งที่เป็นความฝันของคนอื่นที่มันถูกนำมาสร้างในจินตนาการของเรา ในมุมมองของกลุ่มมาร์กซิสต์มองว่าโรงเรียนไม่ใช่พื้นที่แห่งความหวัง แต่เป็นพื้นที่ที่น่ากลัวเป็นพื้นที่ที่ควรเข้าไปช่วงชิงเพื่อจะจัดการกับมันใหม่ ดังนั้นการศึกษาทางเลือกในความหมายหนึ่ง คือการเข้าไปช่วงชิงอุดมการณ์และการจัดการศึกษาในกระแสหลัก

ข้อถกเถียงที่สาม กลุ่มแนวคิดสตรีนิยม (Feminism) มองว่าการศึกษาในระบบโรงเรียนทั้งหมดตั้งแต่อนุบาลไปจนถึงระดับอุดมศึกษาล้วนแล้วแต่เป็นการศึกษาที่สร้างความหมายเพื่อต้องการที่จะกล่อมเกลาให้ผู้หญิงอยู่ภายใต้อำนาจของผู้ชาย ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดในกรณีของเด็กอนุบาลที่อุปกรณ์เครื่องนุ่งห่มภายในโรงเรียนของเด็กผู้หญิงมักจะแทนความหมายด้วยสีชมพู และในเด็กผู้ชายถูกแทนความหมายด้วยสีฟ้า ซึ่งมโนทัศน์ดังกล่าวที่เกี่ยวกับการกำหนดสีกับเพศของเด็กมีที่มาจากที่ใด ซึ่งกลับครอบงำโรงเรียนอนุบาลทั้งประเทศรวมถึงพ่อแม่ผู้ปกครองด้วย เพราะฉะนั้นโรงเรียนในความหมายดังกล่าวไปเบื้องต้นจึงเป็นพื้นที่ปลูกฝังอุดมการณ์ชายเป็นใหญ่ในความหมายของทฤษฎีสตรีนิยม ในขณะนี้เองผู้หญิงที่ต้องการขับเคลื่อนให้โรงเรียนมีการเปลี่ยนตัวหลักสูตรการเรียนรู้ เจตคติของครู ปฏิสัมพันธ์ภายในห้องเรียนที่จะทำให้ผู้หญิงมีพลังอำนาจในการที่จะกำหนดชะตาชีวิตของตนเองที่สามารถสร้างภาวะความเป็นผู้นำให้กับตัวเอง และที่สำคัญการมีพลังอำนาจในการที่จะรู้ตัวเลือกในการดำเนินชีวิตของตัวเองว่าอยู่ตรงไหน ดังนั้นกระแสแนวคิดแบบสตรีนิยมก็ตั้งคำถามกับตัวความรู้และศาสตร์การสอนว่ามันไปทำให้ผู้หญิงกลายเป็นผู้พิการในเชิงของวิธีคิดและจะต้องยอมจำนนต่ออำนาจที่กดทับเสมอไป ซึ่งในท้ายที่สุดแม้ว่าผู้หญิงจะสามารถเรียนดียังไงก็แล้วแต่เพดานความก้าวหน้าของคุณก็มีข้อจำกัด มีผู้หญิงจำนวนน้อยเท่านั้นที่จะสามารถเข้าไปถึงจุดสูงสุดได้เพราะว่ามันมีค่านิยมของสังคมปิดกั้นพวกเขาอยู่

ข้อถกเถียงสุดท้าย กลุ่มแนวคิดพหุวัฒนธรรม (Multiculturalism) โรงเรียนในความหมายของพหุวัฒนธรรมนิยมได้ตั้งคำถามต่อโรงเรียนกระแสหลักว่ามันเป็นสถานที่สำหรับปลูกฝังอุดมการณ์ชาตินิยมหรือชาติพันธุ์ส่วนใหญ่ในสังคมเท่านั้น ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าในสังคมไทยนั้นเป็นแบบชาตินิยม โรงเรียนถูกปลูกฝังวัฒนธรรมชาตินิยมของรัฐชาติและของชาติพันธุ์ไทยกลุ่มใหญ่ คนชายขอบรวมถึงคนในภูมิภาคต่างๆ ก็ต้องถูกกล่อมเกลาให้ยอมรับกับวัฒนธรรมของรัฐชาติ หรือวัฒนธรรมของคนกลุ่มใหญ่ในชาติเท่านั้น เหมือนกับในความหมายของมาร์กซิสต์ที่ว่าโรงเรียนเป็นวัฒนธรรมของชนชั้นกลางที่อยู่ในตัวเมือง ในขณะนี้เด็กอาจจะไม่รู้จักตัวเองหรือรู้จักกับตัวเองได้ยากมาก เพราะเด็กอยู่ในวัฒนธรรมชายขอบที่จะต้องมารู้จักตัวเองภายใต้มิติของวัฒนธรรมของคนอื่น ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่ธรรมดาเพราะจะจินตนาการภายใต้โลกของคนอื่นนั้นเป็นเช่นไร หากจะต้องทำความรู้จักกับโลกของคนอื่นก็ต้องใช้ระยะเวลาที่ยาวนาน ยกตัวอย่างจากกรณีที่ไปศึกษาเด็กในกลุ่มของชาติพันธุ์ เด็กข้ามชาติ และเด็กชายขอบทั้งหลายว่าแม้แต่คำว่า “ช่วง ช่วง” เด็กก็ยังไม่รู้จักว่ามันคืออะไร ซึ่งครูก็ถามว่าทำไมรัฐบาลจีนถึงต้องมอบ “ช่วง ช่วง” ให้กับทางการไทย เด็กบอกว่าช่วงช่วงคืออะไรเป็นขนมหรือเปล่า

จากคำถามเหล่านี้ไม่ได้แสดงว่าเด็กนั้นโง่หรือไม่ แต่หลักสูตรต่างหากที่โง่ที่คิดว่าคำทุกคำที่เด็กในเมืองเข้าใจจะเป็นคำที่เด็กทั่วประเทศเข้าใจด้วยเช่นกัน ซึ่งในส่วนนี้แสดงให้เห็นว่าหากกลับไปวิเคราะห์แบบเรียนไทยในการศึกษาไทยนั้นจะเห็นว่ายังคงตกอยู่ในวังวนของอุดมการณ์ชาตินิยมและสอนเพียงวัฒนธรรมของไทยในภาคกลางหรือเป็นชนชั้นกลางนิยมอย่างเห็นได้ชัด

ทั้งนี้ หากเราต้องการจะสถาปนาอุดมการณ์ชายขอบก็จำเป็นต้องลุกขึ้นมาต่อสู้ให้โรงเรียนเหล่านี้เปิดพื้นที่ให้อุดมการณ์อื่นๆ เข้าไปประชันแข่งขัน เนื่องจากในโรงเรียนแบบแนวเสรีนิยม หรือว่าแนวปรัชญาการศึกษาในเชิงวิพากษ์จะเป็นการมองโรงเรียนว่าเป็นพื้นที่ที่จะให้อุดมการณ์ต่างๆ ที่กล่าวมาข้างต้นสามารถเข้าไปแข่งขันในโรงเรียนและโรงเรียนในความหมายของ ‘โรงเรียนทางเลือก’ ที่ไม่ได้จำกัดเพียงแค่โรงเรียนกระแสหลัก แต่อาจจะอยู่ในบ้านของพ่อแม่ อยู่ในวัด อยู่ในบ้านของกลุ่มภูมิปัญญาหรืออยู่ในโรงเรียนกระแสหลัก อย่างไรก็ตามโรงเรียนเหล่านี้จะต้องเปิดให้อุดมการณ์ 3 อุดมการณ์อย่างน้อยเข้าไปถกเถียงและช่วงชิงพื้นที่ทางการศึกษา 

ขณะเดียวต้องวิพากษ์ให้เห็นว่า การศึกษาทางเลือกที่จัดในบ้าน แต่ไม่ได้เปิดโอกาสให้เด็กเรียนรู้เกี่ยวกับอุดมการณ์ต่างๆ หรือแม้แต่โรงเรียนภูมิปัญญาที่ไม่ได้สอนอุดมการณ์ของสังคมที่ครอบงำอยู่แต่กลับสอนเพียงความรู้และทักษะหรือภูมิปัญญาท้องถิ่น ซึ่งภูมิปัญญาท้องถิ่นก็เป็นอุดมการณ์หนึ่งในอุดมการณ์อื่นๆ ที่จะต้องเข้ามาถกเถียงกันหรือเป็นข้อถกเถียงที่อาจพูดถึงภูมิปัญญาท้องถิ่นจำนวนหนึ่งก็ไม่เปิดโอกาสให้ลูกผู้หญิงเข้าไปสืบทอดภูมิปัญญาของตน ด้วยเหตุนี้จึงต้องตั้งคำถามกับภูมิปัญญาเหล่านี้ว่ามันท้าทายกับอุดมการณ์เพศนิยมหรือสตรีนิยมหรือไม่ เพราะเนื่องจากภูมิปัญญาเหล่านี้ได้ปิดกั้นโอกาสในการสืบทอดภูมิปัญญาของเพศหญิงหรือแม้แต่ภูมิปัญญาบางประเภทก็ไม่เปิดโอกาสให้กลุ่ม LGBT เข้าถึงภูมิปัญญาบางประเภทเปิดโอกาสให้กับผู้เรียนซึ่งจะต้องมีคุณสมบัติครบ 32 ประการในเชิงร่างกาย

ท้ายที่สุด โดยสรุปแล้วการทบทวนถึงข้อถกเถียงการศึกษาทางเลือก เราจะพบว่าเป้าหมายของการศึกษาทางเลือกไม่ควรเป็นการศึกษาที่ปิดกั้นเฉพาะผู้เรียนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งชนชั้นใดชนชั้นหนึ่ง  ชาติพันธุ์ใดชาติพันธุ์หนึ่งหรือเป็นการตอบสนองอุดมการณ์ใดอุดมการณ์หนึ่ง แต่ควรเป็นการศึกษาทางเลือกที่เปิดกว้างทางการเรียนรู้ที่อุดมการณ์และชุดความรู้ต่างๆสามารถเข้าไปประชันแข่งขัน  และให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ในสิ่งที่หลากหลายเพื่อการอยู่ร่วมกันในสังคมอนาคต รวมไปถึงการศึกษาในรูปแบบนี้จำเป็นจะต้องเรียนรู้ในพื้นที่ใดก็ได้ทั้งในระบบหรือนอกระบบ เพื่อให้ผู้เรียนสามารถสร้างโอกาสทางการเรียนรู้ที่เปิดกว้างสามารถเรียนรู้จากชุดความรู้ที่หลากเพื่อความเข้าใจและการตระหนักถึงการอยู่ร่วมกัน การยอมรับและการตั้งคำถามต่อการเรียนรู้ที่มิใช่เพียงการยัดเยียดชุดความรู้ใดความรู้หนึ่งให้กับผู้เรียน 


บทสรุปและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการจัดการศึกษาทางเลือกในอนาคต

โดยสรุปการศึกษาทางเลือก เป็นการศึกษาที่อยู่ภายใต้ที่มาและความหมายของการนิยามของการศึกษาที่แบ่งตามรูปแบบได้ 4 รูปแบบ ได้แก่ รูปแบบที่หนึ่ง การศึกษาทางเลือกแบบบ้านเรียน (Home School) ที่ครอบครัวหรือชุมชนจัดขึ้นภายใต้การสนับสนุนจากรัฐ รูปแบบที่สอง การศึกษาในรูปแบบของการศึกษาตลอดชีวิต (Lifelong Learning) เป็นการศึกษาเพื่อมุ่งให้ผู้เรียนได้เสริมทักษะอาชีพเพื่อการดำรงชีวิต รูปแบบที่สาม การศึกษาทางเลือกในเชิงอุดมการณ์หรือปรัชญา เป็นการศึกษาเพื่อปลดปล่อยผู้เรียนจากอุดมการณ์หรือการศึกษากระแสหลักที่ครอบงำทางความคิดของผู้เรียน  รูปแบบที่สี่ การศึกษาทางเลือกในเชิงวิพากษ์ (Critical Pedagogy) ของ Paulo Faire หรือ มาร์กซิสต์เป็นการศึกษาเพื่อพัฒนาให้ผู้เรียนรู้จักการตั้งคำถามต่อสิ่งที่ศึกษาและถกเถียงถึงเรื่องของอุดมการณ์การศึกษา ซึ่งเป็นไปในเชิงของการศึกษาเพื่อความก้าวหน้า (Progressive)  ทั้งนี้การศึกษาทางเลือกที่ถูกนิยามขึ้นไม่ว่าจะมีที่มาหรือการให้การนิยามในรูปแบบใด แต่การศึกษาทางเลือกย่อมเป็นการศึกษาที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อผลิตปัญญาชนเพื่อตอบเป้าหมายและสร้างคุณูปการให้กับสังคมและชุมชนที่ผู้เรียนได้อาศัยอยู่

อย่างไรก็ตาม ท้ายที่สุดสำหรับข้อเสนอแนะสำหรับการก้าวข้ามอุดมการณ์ต่างๆ หรือก้าวข้ามอุดมการณ์แห่งการศึกษาที่ตอบสนองเพียงกลุ่มคนหรือเพียงชนชั้นของตนเอง  การศึกษาจำเป็นจะต้องเปิดพื้นที่ให้อุดมการณ์หรือทางเลือกทางการศึกษาในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าพื้นที่ทั้งการศึกษาในระบบและนอกระบบ ได้มีโอกาสให้อุดมการณ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นอุดมการณ์เสรีนิยม อุดมการณ์มาร์กซิสต์ อุดมการณ์สตรีนิยมและอุดมการณ์พหุวัฒนธรรม รวมถึงอุดมการณ์อื่นในสังคมได้เข้าไปสร้างพื้นที่แบ่งปันความรู้ ความเข้าใจ ได้มีส่วนร่วมสร้างปัญญาชนที่สามารถเรียนรู้และเข้าใจตัวตนของตนเองและผู้อื่นภายในสังคมที่เป็นพหุวัฒนธรรมพร้อมทั้งสามารถพัฒนาองค์ความรู้ใหม่ๆ ให้เท่าทันต่อความเปลี่ยนแปลงของสังคม เศรษฐกิจและเทคโนโลยีในกระแสธารการศึกษาในยุคโลกาภิวัตน์แห่งนี้



หมายเหตุ: บทความนี้เรียบเรียงจากงานเสวนา “การศึกษาทางเลือก คือ การศึกษาในอนาคต” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ “งานปฏิรูปการศึกษาเชียงใหม่ครั้งที่ 3 : โอกาสเชียงใหม่ 4.0” จัดขึ้นระหว่างวันที่ 30-31 มกราคม 2561 ณ ศูนย์ประชุมและการแสดงสินค้านานาชาติเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนพรรษา จังหวัดเชียงใหม่ และเรียบเรียงโดย สรวิชญ์ เจศรีชัย และณัฐกานต์ สุคันธมาลา ศูนย์พหุวัฒนธรรมและนโยบายการศึกษา สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่


เกี่ยวกับผู้เขียน: รองศาสตราจารย์ ดร. นงเยาว์ เนาวรัตน์ ผู้อำนวยการศูนย์พหุวัฒนธรรมและนโยบายการศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net