'พรรคสามัญชน' ชู ‘ประชาธิปไตยฐานราก-สิทธิมนุษยชน-ความเป็นธรรม’ หวังแก้รธน.จนถึงร่างใหม่

คุยกับ ‘กิตติชัย งามชัยพิสิฐ’ หนึ่งในคณะผู้ก่อการจัดตั้ง ‘พรรคสามัญชน’ เผยนักกิจกรรมถกตั้งพรรคกันมาเกือบ 10 ปีแล้ว ลั่นดันแก้รัฐธรรมนูญ ปชช.มีส่วนร่วม ไปจนถึงร่างและลงประชามติใหม่ เปรียบพรรคเป็นตลาดนัดที่มีภาคประชาชนนำนโยบายมาวางขาย หวังมีที่นั่งในสภา เป็นขาหนึ่งของขบวนการภาค ปชช. ในฐานะสะพานเชื่อมนโยบายเข้าสภา ยันแม้ไม่ได้ที่นั่งก็ยังทำงานต่อ

กิตติชัย งามชัยพิสิฐ หนึ่งในผู้ก่อการพรรคสามัญชน

จากที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เปิดให้มีการยื่นคำขอแจ้งการเตรียมการจัดตั้งพรรคการเมืองวันแรกเมื่อวันที่ 2 มี.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งในจำนวน 42 กลุ่มที่ยื่นคำขอนั้นมีหลายชื่อที่น่าสนใจ นอกจาก ‘พรรคเห็นแก่ตัว’ ที่สร้างสีสันและความสนใจจนสื่อแทบทุกสำนักนำไปรายงานแล้ว ยังมีพรรคที่ชื่อว่า ‘พรรคสามัญชน’ อีกพรรคที่น่าจับตามอง

ภาพตัวแทนพรรคสามัญชน เข้ายื่นคำขอแจ้งการเตรียมการจัดตั้งพรรค เมื่อวันที่ 2 มี.ค.ที่ผ่านมา

ในโอกาสนี้ประชาไทจึงได้พูดคุยกับ กิตติชัย งามชัยพิสิฐ หนึ่งในคณะผู้ก่อการจัดตั้งพรรคสามัญชน อดีตแกนนำกลุ่มพอกันที ที่ริเริ่มกิจกรรมจุดเทียนเขียนสันติภาพรณรงค์เลือกตั้ง 2 ก.พ.57 หรือ ‘อ้วน YT’ (Youth Training Center) ในแวดวงนักกิจกรรมทางสังคมที่ทำงานกับเยาวชนคนรุ่นใหม่มาอย่างยาวนาน ถึงที่มา แนวทางและนโยบายของพรรคสามัญชนว่าเป็นอย่างไรเบื้องต้น ดังนี้

นักกิจกรรมคุยกันมาเกือบ 10 ปีแล้ว จ่อจดทะเบียนพรรคตั้งแต่ปี 57 แต่รัฐประหารเสียก่อน

สำหรับที่มาของพรรคสามัญชนนั้น กิตติชัยเล่าว่าเกิดจากนักกิจกรรมกลุ่มหนึ่งมานั่งคุยกันเมื่อเกือบ 10 ปีที่แล้วที่สถานการณ์ทางการเมืองอยู่ในช่วงวิกฤต นักกิจกรรมกลุ่มนี้เติบโตมากับความขัดแย้งทางการเมือง ความขัดแย้งเรื่องทรัพยากรธรรมชาติ ทำงานเป็นเอ็นจีโอบ้าง ทำงานกับชาวบ้านบ้าง และเป็นนักกิจกรรมที่สนใจเรื่องสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย จึงได้มานั่งคุยกันว่าจะเอาอย่างไรกันต่อสำหรับการเมืองไทย ซึ่งช่วงนั้นคนที่คิดเรื่องพรรคการเมืองในหมู่เอ็นจีโอหรือนักกิจกรรมแทบไม่ค่อยมี ไปจนถึงค่อนข้างปฏิเสธแนวคิดเรื่องการทำพรรคการเมืองด้วยซ้ำ

“จึงคุยกันว่าถ้ามัวแต่ทำแบบเดิมมันก็จะได้แบบเดิม ทำกันในกลุ่มเล็กๆ ทำงานเคลื่อนไหวรณรงค์ต่อสู้เวลาที่เกิดเหตุการณ์บ้านเมืองวิกฤตพวกเราก็มารวมตัวกันต่อสู้เป็นประเด็นๆ ไป มันก็เป็นปัญหา จึงคิดกันว่ามันต้องมีพรรคการเมืองถ้าเราจะทำงานเปลี่ยนแปลงสังคมที่เป็นรูปธรรม เราต้องกล้าที่จะทำงานกับคนจำนวนมหาศาล ก่อนหน้านี้คนทำงานทางสังคมมักจะมุ่งทำกับคนกลุ่มเล็กๆ ที่สร้างการเปลี่ยนแปลงได้จริง อย่างผมก็ทำงานกับเยาวชนคนรุ่นใหม่ หรือหลายคนก็ทำงานกับชาวบ้านในหมู่บ้าน มันก็ค่อยๆ ขยับขึ้นมาก่อร่างสร้างตัวเรื่องนี้” กิตติชัย กล่าว

สำหรับเหตุผลที่เริ่มจดชื่อและจะลงสมัครรับเลือกตั้งในครั้งนี้นั้น ผู้ก่อการจัดตั้งพรรคสามัญชนกล่าวว่า ที่จริงตั้งใจจะจดทะเบียนมาตั้งแต่ปี 2557 แต่เกิดรัฐประหารเสียก่อน ถึงอย่างนั้นก็ส่งตัวแทนไปจดทะเบียนแต่ไม่สามารถจดได้ในช่วงนั้น กล่าวคือมีการครุ่นคิดกันเรื่องทำพรรคมาหลายปีแล้ว

ลั่นดันแก้รัฐธรรมนูญ ปชช.มีส่วนร่วม ไปจนถึงร่างและลงประชามติใหม่

ต่อประเด็นที่ว่ารัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันมีข้อวิพากษ์วิจารณ์ว่ามีการออกแบบระบบเลือกตั้งที่มีปัญหา แต่ทำไมยังเตรียมลงสมัครรับเลือกตั้งนั้น กิตติชัยกล่าวว่า โดยหลักการไม่เห็นด้วยกับที่มาของรัฐธรรมนูญฉบับนี้อยู่แล้ว รวมทั้งเนื้อหาก็ไม่ค่อยเห็นด้วย

“ก็นั่งคุยกันอยู่ในเรื่องนี้ว่าแล้วทำไมเรายอม เราก็มองว่ายังไงก็ต้องแก้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ แต่ว่าจะแก้อย่างไร แนวทางมันก็มีอยู่ไม่กี่ทาง ทางที่หนึ่ง เกิดการเคลื่อนไหวขนาดใหญ่ขึ้นมาลงท้องถนนแล้วต่อสู้กัน นี่คือแนวทางหนึ่ง อีกแนวทางหนึ่งก็จะเป็นเรื่องของการต่อสู้ในรัฐสภา ซึ่งก็ยากมากเพราะกลไกมันถูกวางไว้ว่าแก้ได้ยาก ดูเหมือนจะตันๆ ทั้งคู่ ดังนั้นเราก็คิดกันว่าจุดยืนหนึ่งของพรรคคือการเข้าไปแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทำอย่างไรให้มันมาจากประชาชนให้ได้มากที่สุด” กิตติชัยกล่าว พร้อมอธิบายเพิ่มเติมว่า โดยพื้นฐานแล้วรัฐธรรมนูญฉบับนี้ต้องถูกแก้โดยตัวแทนของประชาชน ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น อาจจะต้องมีกระบวนการร่างใหม่ กระบวนการลงประชามติใหม่ ซึ่งต้องมาดูความเป็นไปได้อีก แต่โดยหลักการเราคิดว่ารัฐธรรมนูญต้องมาจากประชาชน ไม่ใช่คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเขียนขึ้นมาเอง

พรรคเป็นตลาดนัดที่มีภาคประชาชนนำนโยบายมาวางขาย

ในส่วนนโยบายของพรรค ผู้ก่อการจัดตั้งพรรคสามัญชน กล่าวว่า มาจาก 2 ส่วน เนื่องจากองค์ประกอบของพรรคจะพยายามเชื้อเชิญให้ภาคประชาสังคมเข้ามาใช้พรรคให้เป็นประโยชน์

“แนวทางของพรรคจะไม่ได้มีนโยบายที่คิดมาแล้วไปขายให้ผู้มีสิทธิออกเสียง แต่โดยหลักแล้วเราจะพยายามซื้อนโยบาย ขอนโยบาย” กิตติชัย กล่าว พร้อมอธิบายว่า พรรคทำหน้าที่เหมือนร้านค้าที่มีภาคประชาชนนำนโยบายมาวาง ในเมื่อคุณทำงานมามากอยู่กับกลุ่มเป้าหมายและเห็นว่านโยบายแบบนี้จะเอื้อประโยชน์แก่คนในสังคมอย่างแท้จริง แต่ที่ผ่านมาไม่มีโอกาสได้เสนอหรือเสนอไปแล้วไม่มีใครฟัง หรือไม่รู้ช่องทางการนำเสนอ ก็มาที่นี่ มาเข้ากระบวนการประชุมสมัชชาของพรรคและสาขา เพื่อกลั่นกรองนโยบายจากพี่น้องที่เสนอเข้ามาภายใต้หลักการพื้นฐานร่วมกัน

“ที่ผ่านมาภาคประชาชนพยายามผลักดันนโยบายผ่านท้องถนนและผ่านพรรคการเมืองเดิมๆ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในแง่หนึ่งผลประโยชน์ของพรรคการเมืองแบบเดิมไม่ใช่ผลประโยชน์ร่วมกับประชาชน แต่เป็นผลประโยชน์ของนายทุนและคนชั้นสูงมากกว่า ดังนั้นนโยบายที่มาจากภาคประชาชนซึ่งมักจะขัดผลประโยชน์ของชนชั้นสูงจึงถูกปัดตกไปหลายเรื่อง ในแง่นี้พรรคสามัญชนจะเป็นพื้นที่ใหม่ของคนที่ทำงานในขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม เป็นเวที เป็นสะพานเชื่อม ให้เกิดนโยบายที่มาจากคนทำงานจริงๆ..

..อีกประการคือจะเห็นได้ว่าปัญหาใหญ่ของประเทศไทยเวลานี้คือคนจน คนเล็กคนน้อย คนชายขอบไม่มีปากเสียง ไม่มีอำนาจ จึงมักต้องพึ่งพาคนมีอำนาจ คนมีเงิน กลายเป็นสังคมที่คนรวยมีอภิสิทธิ์ มีเสียงดัง พรรคสามัญชนมุ่งหวังจะทำให้คนเล็กคนน้อย สามัญชนได้มีอำนาจ มีปากเสียงให้มากที่สุด เพื่อต่อรองกันในสังคมได้อย่างมีศักดิ์ศรี มีความเท่าเทียมเป็นธรรม” กิตติชัย กล่าว

ภาพกิตติชัย เมื่อวันที่ 3 ม.ค.57 ช่วงจัดกิจกรรมจุดเทียนเขียนสันติภาพ

3 หลักการ ‘ประชาธิปไตยจากรากฐาน สิทธิมนุษยชน ความเท่าเทียมเป็นธรรม’

กิตติชัย กล่าวเพิ่มเติมถึงกระบวนการสร้างนโยบายพรรคว่า จะมีกลุ่มเป้าหมายที่ชวนเข้ามาร่วมเสนอนโยบาย โดยมีหลักการพื้นฐานร่วมกัน 3 ข้อ คือ หนึ่ง เราเชื่อเรื่องประชาธิปไตยที่มาจากรากฐาน ประชาธิปไตยที่เป็นของประชาชน ไม่ใช่ประชาธิปไตยที่ถูกบังคับหรือส่งมาจากคนข้างบนคิดให้ สอง เคารพสิทธิมนุษยชน ที่จะแตกออกไปหลายแขนงไม่ว่าจะเป็นสิทธิชุมชน สิทธิในทรัพยากร สิทธิการศึกษา สิทธิการแสดงออก ฯลฯ และ สาม หลักการเรื่องความเท่าเทียมและเป็นธรรม อยากให้มีระบบสวัสดิการถ้วนหน้า ระบบสวัสดิการโดยรัฐ รวมทั้งโอกาสที่คนจะลืมตาอ้าปาก ไม่ใช่แค่เรื่องสวัสดิการที่รองรับอย่างเดียว ภายใต้ 3 หลักการนี้ ก็จะชวนคนที่เห็นพ้องต้องกันในประเด็นเหล่านี้มาเสนอนโยบายกัน หากมีการถกเถียงกันก็จะถกกันภายใต้หลักการร่วมนี้

ทำไมต้อง 'สามัญชน'

“นึกถึงพรรคเมื่อก่อนจะเป็นพรรคที่มีนายทุน มีคนเก่งฉลาด มีคนดี มีตำแหน่งสูงๆ มาเป็นผู้สร้างพรรค พวกเราก็คิดกันว่าแล้วคนธรรมดาสามัญล่ะ มันก็น่าจะมีพรรคสำหรับคนเหล่านี้ ที่ไม่ได้โด่งดัง ไม่ได้มีชื่อเสียงหรือความสามารถพิเศษ เราไม่ใช่คนพิเศษ มันก็น่าจะมีพรรคการเมืองสำหรับคนเหล่านี้ด้วย” กิตติชัยกล่าวถึงที่มาของชื่อพรรคสามัญชน และยังขยายความอีกว่า “เราทุกคนต่างมีความเป็นสามัญชนอยู่ในตัว พรรคเราไม่ได้ขัดแย้งกับใครในเชิงตัวบุคคล แต่แน่นอนเรามีคู่ขัดแย้งในเชิงแนวคิด คู่ขัดแย้งของเราก็คือแนวคิดที่เชื่อในการเข้ามามีอำนาจโดยไม่ผ่านการเลือกตั้ง ไม่เคารพสิทธิเสียงของประชาชน ไม่เชื่อเรื่องสิทธิมนุษยชน ไม่เชื่อในความเท่าเทียมเป็นธรรม ซึ่งเราก็อาจต้องสู้กันภายในกติกาประชาธิปไตย” 

พรรคนักกิจกรรม-เอ็นจีโอ

สำหรับคณะผู้ก่อการตั้งพรรคนั้น กิตติชัยกล่าวว่า หลักๆ จะเป็นนักกิจกรรมที่สนใจเรื่องประชาธิปไตย นักกิจกรรมที่ทำงานกับชาวบ้านในประเด็นทรัพยากร นักกิจกรรมที่ทำประเด็นเกี่ยวกับกลุ่มแรงงาน และพี่น้องชาวบ้านหลายกลุ่มหลายภาคที่กำลังต่อสู้เพื่อปกป้องชุมชนของตนจากโครงการพัฒนาขนาดใหญ่หรือจากนายทุนและรัฐ เราก็ชวนพวกเขาเข้ามา ส่วนที่จะถูกมองหรือถูกเรียกว่าเป็นพรรคนักกิจกรรมหรือพรรคเอ็นจีโอนั้น กิตติชัยกล่าวว่าฟังดูไม่สามารถเลี่ยงคำพวกนี้ได้ แต่จริงๆ แล้วพรรคสามัญชนก็ไม่ใช่พรรคของเอ็นจีโอหรือนักกิจกรรมทุกคนที่มาทำตรงนี้ แม้องค์ประกอบจะมีนักกิจกรรม เอ็นจีโอ แต่ก็มีชาวบ้านด้วย ซึ่งเรามาแบบเท่ากัน ไม่ใช่เอ็นจีโอที่มีสถานะพี่เลี้ยงหรือแกนนำชาวบ้านแบบเดิม

หวังที่นั่งในสภา เป็นสะพานเชื่อมนโยบายภาคประชาสังคมเข้ารัฐสภา

กิตติชัย กล่าวว่า พรรคสามัญชนหวังว่าถ้าสามารถเข้าไปมีที่นั่งในสภาก็จะเป็นสะพานเชื่อมนโยบายจากพี่น้องภาคประชาสังคมที่เคลื่อนไหวอยู่ข้างนอกเข้าไปสู่รัฐสภา

ผู้ก่อการจัดตั้งพรรคสามัญชนกล่าวต่อว่า แม้พรรคจะยังไม่มีงบประมาณในการส่งคนลงครบทุกเขตเลือกตั้งแต่ก็มีแผนที่จะระดมทุนอีกครั้ง โดยมองว่าเป็นเรื่องท้าทายเพราะเงื่อนไขหลายอย่างที่เป็นอุปสรรคต่อพรรคเล็ก เบื้องต้นก็ต้องทำงานหนักในการชวนคนมาเป็นสมาชิกก่อนที่จะมีการเลือกตั้งซึ่งในแง่หนึ่งก็ถือว่าเป็นการขยายตัวของแนวคิดพรรคได้อย่างดีในแง่ของความเป็นทางการ บวกกับเราเชื่อว่าพี่น้องที่เราทำงานด้วยก็น่าจะมีคนที่เห็นด้วยกับแนวทางแบบนี้และเห็นการทำงานที่ผ่านมาของพวกเรามากพอสมควร

กระบวนการที่กล่าวมาข้างต้นนั้นหากมีการเลือกตั้ง ก.พ. 62 กิตติชัยยืนยันว่า ทัน

“เลื่อน(เลือกตั้ง)ไปอีกมันก็เป็นแบบนี้ มันไม่มีทางที่จะรู้สึกว่าพร้อม 100% หรอก เราก็ทำงานได้มากขึ้นเรื่อยๆ ยิ่งเลื่อนออกไป พวกเราก็มีเวลาที่จะทำงานเพื่อสร้างกระแสความเห็นด้วย สร้างคนที่จะมาเห็นด้วยกับแนวทางมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะฉะนั้นมุมหนึ่งถ้าเลื่อนมันไม่ดีต่อประเทศแน่ๆ ในแง่ประชาธิปไตย กับอีกมุมหนึ่ง มันไม่ได้มีแค่พรรคเราพรรคเดียว ยังมีอีกหลายพรรคที่กำลังทำงานมวลชนกันอยู่(หัวเราะ)” กิตติชัย กล่าว และยืนยันว่าพรรคสามัญชนมีการทำงานมวลชนมาโดยตลอดอยู่แล้ว แม้ไม่ได้ยิ่งใหญ่อะไร ไม่ว่าจะเลือกตั้ง ก.พ.62 หรือ พ.ย.61 ก็พร้อมลงเลือกตั้ง ถ้า พล.อ.ประยุทธ์ อยากทำตามสัญญาพรรคตนก็พร้อม

"หน้าที่ของพรรคคือเตรียมตัวให้พร้อมที่สุด และลงสู่สนามการเลือกตั้ง ฟังเสียงประชาชน" กิตติชัย กล่าวย้ำ

พรรคเป็นขาหนึ่งของขบวนการภาคประชาสังคม แม้ไม่ได้ที่นั่งก็ยังทำงานต่อ

หากการเลือกตั้งที่จะถึงนี้พรรคไม่ได้ที่นั่งในสภาเลย กิตติชัยยืนยันว่าทางพรรคยังดำเนินกิจกรรมต่อ เพราะทำงานกับประชาชน ชาวบ้านกันมาโดยตลอดอยู่แล้วก็ต้องทำงานต่อแน่นอน ตนถือว่าพรรคจะเป็นอีกขาหนึ่งของขบวนการภาคประชาสังคมได้ และอยากให้ขบวนการภาคประชาสังคมได้ใช้งานพรรคแบบนี้ด้วย

“พรรคไม่ได้มีหน้าที่ทำงานเพียงแค่ลงรับสมัครเลือกตั้งเฉยๆ เรามีหน้าที่ช่วยกันจัดตั้งเป็นกลุ่มเป็นก้อนกับขบวนการภาคประชาสังคม และพอถึงเวลาเมื่อมีการเลือกตั้งเสียงเหล่านั้นจะถูกนับอย่างเป็นทางการ เมื่อไม่มีการเลือกตั้งก็ต้องขยับเรื่องอื่นต่อ ก็ต้องพูดเรื่องความเท่าเทียมเป็นธรรม สิทธิมนุษยชน และประชาธิปไตยกันต่อ” กิตติชัย กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท