พบนักฟุตบอลหลายประเทศไม่มีสัญญาจ้างเป็นลายลักษณ์อักษร

‘แค่จับมือก็ผูกมัด’ พบนักฟุตบอลหลายแห่งในโลกไม่มีสัญญาจ้างและข้อตกลงเป็นลายลักษณ์อักษร โดยเฉพาะในแอฟริกา และอีกหลายแห่งพบไม่มีสำเนาสัญญาจ้างเก็บไว้กับตนเอง-ทำ ‘สัญญาสีดำ’ ช่วยสโมสรเลี่ยงภาษี เรียกร้องทางกฎหมายและสวัสดิการไม่ได้

เมื่อปี 2560 ที่ผ่านมา เฮริต้า อิลุงก้า อดีตผู้เล่นเวสต์แฮมและแซงเอเตียน เป็นตัวตั้งตัวตีในการผลักดันการบังคับทางกฎหมายให้นักฟุตบอลมีสัญญาเป็นลายลักษณ์อักษร หลังจากการสำรวจของ FIFPro พบว่านักฟุตบอลอาชีพหลายร้อยคนในแอฟริกาไม่มีสัญญาจ้างและข้อตกลงเป็นลายลักษณ์อักษร

ข้อมูลจากรายงาน 2016 FIFPro Global Employment Report ที่ได้ทำการสำรวจสถานภาพและสภาพการจ้างนักฟุตบอลผ่านแบบสอบถาม 13,876 คน ใน 87 ลีก จาก 53 ประเทศ พบว่าประมาณร้อยละ 89 ของนักฟุตบอลอาชีพในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโกไม่มีข้อตกลงเป็นลายลักษณ์อักษร

“โดยปกติข้อตกลงจะผูกมัดด้วยแค่การจับมือ” อิลุงก้า ซึ่งตอนนี้เป็นรองประธานสหภาพแรงงานนักฟุตบอลคองโกระบุ

“นักเตะในคองโกอาจจะมีรายได้ 400 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อเดือน (ประมาณ 12,000 บาท) แต่เขาก็ไม่มีอะไรที่จะพิสูจน์ได้ว่าเขาควรจะได้รับค่าจ้างนั้น ... ทุกวันนี้มีความเสี่ยงมากขึ้นว่าพวกเขาจะไม่ได้รับค่าจ้าง มันเป็นปัญหาใหญ่ในประเทศของเรา” อิลุงก้า ระบุ

รายงานของ FIFPro พบว่าร้อยละ 41 ของนักฟุตบอลที่ตอบแบบสอบถามไม่ได้รับการชำระเงินตรงเวลาโดยมีจำนวนเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 55 ในแอฟริกา ทั้งนี้ค่าจ้างเฉลี่ยสำหรับนักฟุตบอลแอฟริกันนั้นน้อยกว่า 300 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อเดือน (ประมาณ 9,400 บาท)

นักฟุตบอลที่ไม่มีสัญญาเป็นลายลักษณ์อักษรยังพบเห็นในประเทศอื่น ๆ ด้วยเช่นกัน ตัวอย่างที่มอนเตเนโกรมีถึงร้อยละ 46 และเปรูร้อยละ 20 แต่กระนั้นส่วนใหญ่แล้วแพร่หลายในแอฟริกามากที่สุด

FIFPro ยังพบว่าร้อยละ 13 ของผู้เล่น 849 คนในแอฟริกาที่ย้ายออกสโมสรเดิม ไม่มีข้อตกลงค่าธรรมเนียมการโอนย้ายสู่สโมสรอื่นเป็นลายลักษณ์อักษรอีกด้วย เป็นหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่าสโมสรในแอฟริกาพุ่งเป้าที่จะ ‘ขายนักเตะให้ได้กำไรมากที่สุด’ โดยเฉพาะ

ไม่มีสัญญาจ้างเก็บไว้กับตนเอง

ข้อมูลจากรายงาน 2016 FIFPro Global Employment Report ยังระบุว่าในภาพรวม (จากนักฟุตบอลที่ทำแบบสอบถาม 13,876 คน ใน 87 ลีก จาก 53 ประเทศ) พบว่าร้อยละ 15.70 ไม่มีสำเนาสัญญาเก็บไว้ที่ตัวเองหรือตัวแทนเลย และร้อยละ 6.60 มีเก็บไว้ที่ตัวแทนเท่านั้น เมื่อพิจารณาระดับทวีปในส่วนของผู้เล่นที่ไม่มีสำเนาสัญญาเก็บไว้ที่ตัวเองหรือตัวแทนเลยนั้นอยู่ในทวีปแอฟริกาสูงสุดร้อยละ 31 ทวีปอเมริการ้อยละ 28.10 และทวีปยุโรปร้อยละ 5.70

เมื่อลงรายละเอียดในรายประเทศ พบว่านักฟุตบอลในแคมารูนที่ตอบแบบสอบถามมีสัดส่วนสูงสุดที่ร้อยละ 65.4 ตามมาด้วยกาบองร้อยละ 60.2 ไอเวอร์รีโควสต์ร้อยละ 59.9 กัวเตมาลาร้อยละ 57.6 นามิเบียร้อยละ 56.3 และที่น่าตกใจคือประเทศที่ฟุตบอลคือลมหายใจอย่างบราซิลก็มีถึงร้อยละ 47.4 เลยทีเดียว

สัญญาฉบับสีดำ

"น่าเสียดายที่ผู้เล่นบางคนเห็นด้วยเมื่อสโมสรเสนอให้เซ็นสัญญาฉบับสีดำนี้ ... พวกเขาสนใจเฉพาะค่าตอบแทนสุทธิที่จ่ายให้กับพวกเขาและไม่สนใจว่าสโมสรจะจ่ายภาษีที่ต่ำลง หรือไม่สนแม้ว่าในอนาคตจะเกิดความเสียหายแก่พวกเขา"

รอย เวอร์มีร์ ผู้อำนวยการฝ่ายกฎหมายของยุโรปของ FIFPro

นอกจากนี้ FIFPro ยังระบุถึงกรณีตัวอย่างนักฟุตบอลอาชีพในไซปรัสที่กำลังมีปัญหาเรื่องการทำสัญญา 2 ฉบับ ที่ส่งผลต่อการได้รับค่าจ้างอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย โดย FIFPro ได้รับการร้องเรียนหลายครั้ง และให้คำแนะนำแก่นักฟุตบอล (และตัวแทน/ผู้แทน) ให้ขอสำเนาสัญญาทุกฉบับที่เซ็นลงชื่อกับสโมสรไว้

การลงนามสัญญามากกว่าหนึ่งฉบับสำหรับระยะเวลาจ้างงานเดียวกัน คือการปฏิบัติที่เห็นได้ทั่วไปในวงการฟุตบอลไซปรัส ซึ่งเป็นเทคนิคการลดต้นทุนด้านภาษีของสโมสร ทำให้ผู้เล่นมีหลายสัญญา โดยฉบับที่หนึ่งเป็นการลงทะเบียนอย่างเป็นทางการกับสมาคมฟุตบอล และฉบับที่สองซึ่งไม่ได้ลงทะเบียนกับสมาคม ในความเป็นจริงนั้นสโมสรจะจ่ายภาษีเฉพาะสัญญาฉบับแรกเท่านั้น แต่ค่าตอบแทนของผู้เล่นสัญญาฉบับที่สองจึงมักจะสูงกว่า (ฉบับที่เลี่ยงภาษี)

"บนเกาะแห่งนี้เรียกมันว่า 'สัญญาฉบับสีดำ' เนื่องจากการจ่ายเงินไม่ได้รับการเปิดเผยต่อหน่วยงานที่มีอำนาจ เพื่อเลี่ยงภาษีต่างๆ" รอย เวอร์มีร์ ผู้อำนวยการฝ่ายกฎหมายของยุโรปของ FIFPro กล่าว

ปัญหาเกิดขึ้นเมื่อสโมสรไม่ปฏิบัติตามข้อผูกพันของสัญญาฉบับที่สอง หนำซ้ำผู้เล่นก็ไม่มีสำเนาสัญญาฉบับนี้อีกต่างหาก

"ดังนั้นจึงเป็นเรื่องยากที่จะพิสูจน์ค่าตอบแทนของนักฟุตบอลว่าถูกต้องตามกฎหมาย รวมทั้งค่าชดเชยใด ๆ จากสัญญาฉบับสีดำนี้" เวอร์มีร์ ระบุ

ผลกระทบอื่น ๆ ของการลงนามในสัญญาที่ไม่ได้ลงทะเบียนคือ ไม่สามารถดำเนินคดีอาญากับสโมสรได้ และไม่ได้รับสวัสดิการเมื่อได้รับบาดเจ็บและเมื่อถูกเลิกจ้างกระทันหัน

จากรายงาน 2016 FIFPro Global Employment Report ระบุว่านักฟุตบอลอาชีพในไซปรัสกว่าร้อยละ 49 ได้เซ็นสัญญาฉบับที่สอง หรือ ‘สัญญาฉบับสีดำ’ ดังที่กล่าวไว้ข้างต้น

"น่าเสียดายที่ผู้เล่นบางคนเห็นด้วยเมื่อสโมสรเสนอให้เซ็นสัญญาฉบับสีดำนี้ ... พวกเขาสนใจเฉพาะค่าตอบแทนสุทธิที่จ่ายให้กับพวกเขา โดยไม่สนใจว่าสโมสรจะจ่ายภาษีที่ต่ำลง หรือไม่สนแม้ว่าในอนาคตจะเกิดความเสียหายแก่พวกเขา" เวอร์มีร์ กล่าว

ปัจจุบัน FIFPro ยังคงได้รับการร้องเรียนจากผู้เล่นที่ไม่ได้ลงชื่อในสัญญาและกำลังประสบปัญหาด้านการชำระเงินจากสโมสรอยู่เรื่อย ๆ

เวอร์มีร์ อธิบายว่าผู้เล่นมีสิทธิตามกฎหมายที่จะได้รับสำเนาสัญญาฉบับที่ลงนามไว้ "เป็นการละเมิดกฎหมายถ้าสโมสรไม่ยอมให้สัญญาเดิมและข้อตกลงเพิ่มเติมใด ๆ ข้อตกลงทั้งหมดที่ลงนามจะต้องแบ่งออกเป็นสามฉบับมีสำเนาหนึ่งชุดสำหรับแต่ละฝ่าย- สมาคมฟุตบอล ผู้เล่น และสโมสร "

อนึ่ง FIFPro ซึ่งเป็นสหภาพแรงงานนักฟุตบอลระดับโลก ได้ตั้งความหวังไว้ว่ากีฬาฟุตบอลนั้นต้องมีกฎหมายที่แข็งแรงและการกำกับดูแลที่ดีขึ้น เพื่อปรับปรุงสภาพการทำงานสำหรับนักฟุตบอลทั่วโลก

 

ที่มาเรียบเรียงจาก
2016 FIFPro Global Employment Report
AFRICAN FOOTBALL'S 'HANDSHAKE' DEALS (FIFPro, 19/1/2017)
FIFPRO WARNING ON DOUBLE CONTRACTS (FIFPro, 9/1/2018)
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท