Skip to main content
sharethis
แถลงการณ์นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนระบุ ผลวิจัยต่างชาติบอกว่าปลาที่ปนเปื้อนกัมมันตรังสีเกินมาตรฐานร้อยละ 1 แปลว่า 1,000 ตัวต้องมี 10 ตัว ผู้บริโภคกินปลาเท่ากับซื้อหวย วอน อย. เปิดเผยรายชื่อร้านอาหารญี่ปุ่นที่ใช้ปลาจากฟุกุชิมะ ติดฉลากหน้าร้าน "ปลาจากฟุกุชิมะ"

ศรีสุวรรณ จรรยา

6 มี.ค. 2561 ศรีสุวรรณ  จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ออกแถลงการณ์คัดค้านการนำเข้าปลาจากจังหวัดฟุกุชิมะ ประเทศญี่ปุ่น ที่มีเหตุกัมมันตรังสีรั่วไหลจากโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์เมื่อปี 2554 ที่ผ่านมา โดยข่าวจากหนังสือพิมพ์เจแปนไทม์ของญี่ปุ่นรายงานว่าประเทศไทยจะเป็นประเทศแรกที่ จ.ฟุกุชิมะสามารถส่งออกปลาดิบมาขายหลังเหตุกัมมันตรังสีรั่วไหลดังกล่าว 

แถลงการณ์เรียกร้องให้คณะกรรมการอาหารและยา (อย.) คุ้มครองสิทธิของผู้บริโภคโดยสั่งให้เปิดเผยรายชื่อบริษัทตัวแทนผู้นำเข้าและเปิดเผยรายชื่อ 12 ร้านอาหารญี่ปุ่นที่ใช้ปลานำเข้าจากฟุกุชิมะมาแล้วด้วย ได้แสดงฉลากหรือข้อมูลหน้าร้านอาหารของตนให้ชัดเจนว่าเป็น “ปลาจากฟุกุชิมะ” เพื่อให้ผู้บริโภคมีข้อมูลเพียงพอต่อการตัดสินใจบริโภคปลาดิบจากญี่ปุ่น

สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน

เรื่อง    ขอคัดค้านการนำเข้าปลาจากฟุกุชิมะและขอให้ อย.เปิดเผย 12 ร้านอาหารญี่ปุ่นให้ผู้บริโภคทราบ

ตามที่เวบไซต์หนังสือพิมพ์เจแปนไทม์ ได้รายงานว่าประเทศไทยเป็นประเทศแรกที่จังหวัดฟุกุชิมะ ของญี่ปุ่นสามารถส่งออกปลาดิบมาขายในร้านอาหารญี่ปุ่น 12 ร้านในกรุงเทพฯได้ตั้งแต่วันศุกร์ที่ 2 มีนาคม 2561 ที่ผ่านมา หลังประสบปัญหานิวเคลียร์รั่วไหลปนเปื้อนน้ำทะเล จากเหตุแผ่นดินไหวขนาด 9.0 แมกนิจูดและเกิดสึนามิเมื่อปี 2554

การนำเข้าอาหารทะเลจากฟุกุชิมะ ซึ่งมีความเสี่ยงของการปนเปื้อนของกัมมันตรังสีที่รั่วไหลลงทะเลญี่ปุ่น ชี้ให้เห็นถึงมาตรฐานการควบคุมการนำเข้าอาหารของประเทศไทยเป็นอย่างมาก เพราะทำให้คนไทยหรือผู้ที่นิยมบริโภคอาหารญี่ปุ่น มีความเสี่ยงที่จะได้รับสารกัมมันตรังสีซีเซียม (Caesium) ไม่มากก็น้อย

ทั้งนี้คณะกรรมการวิทยาศาสตร์ว่าด้วยการวิจัยมหาสมุทร (Scientific Committee on Oceanic Research) ซึ่งประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิจากหลายประเทศทั่วโลก พบว่าเมื่อปี 2011 ปลาทะเลที่จับนอกชายฝั่งจังหวัดฟูกูชิมะราวครึ่งหนึ่งมีรังสีปนเปื้อนเกินระดับปลอดภัย แต่พอถึงปี 2015 ตัวเลขกลับลดลงจนเกินลิมิตมาแค่ไม่ถึง 1% ซึ่งหมายความว่า เรานำเข้าปลามา 1000 ตัว จะมีไม่ถึง 10 ตัวที่จะมีสารปนเปื้อนเกินมาตรฐาน นั่นหมายความว่า จะกินปลาญี่ปุ่นทีนึง ก็เหมือนซื้อหวย ถ้าถูก 2 ตัวท้ายมาก็เสี่ยงมะเร็งกันหรืออย่างไร กรมประมง และคณะกรรมการอาหาร มีมาตรการในการตรวจสอบปลานำเข้าจากฟุกุชิมะทุกตัวหรือไม่ หรือตรวจสอบครั้งเดียวจบเลย

ทั้งนี้ตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 61 บัญญัติไว้ชัดเจนว่า “รัฐต้องจัดให้มีมาตรการหรือกลไกที่มีประสิทธิภาพในการคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภคด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านการรู้ข้อมูลที่เป็นจริง ด้านความปลอดภัย ด้านความเป็นธรรมในการทําสัญญา หรือด้านอื่นใดอันเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค” ขณะเดียวกนจาม พรบ.อาหาร 2522 มาตรา 25 ประกอบมาตรา 26 ก็บัญญัติไว้ชัดเจนว่า “ห้ามมิให้ผู้ใดผลิต นําเข้าเพื่อจําหน่าย หรือจําหน่ายซึ่งอาหารไม่บริสุทธิ์ มีสิ่งที่น่าจะเป็นอันตรายแก่สุขภาพเจือปนอยู่ด้วย”

ดังนั้น เป็นสิทธิของประชาชนผู้บริโภคที่จะได้รับข้อมูลที่เพียงพอในการบริโภค และสิทธิที่จะได้รับความปลอดภัยในการบริโภค ซึ่งแน่นอนว่า “สุขภาพต้องมาก่อนการค้า” การที่ราชการไทยอนุญาตให้มีการนำเข้าอาหารทะเลหรือปลาจากฟุกุชิมะ ซึ่งมีสิ่งที่น่าจะเป็นอันตรายแก่สุขภาพเจือปนอยู่ด้วย จึงเป็นการใช้อำนาจที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนจึงใคร่ขอเรียกร้องให้ อย. คุ้มครองสิทธิของผู้บริโภคโดยสั่งให้เปิดเผยรายชื่อบริษัทตัวแทนผู้นำเข้าและเปิดเผยรายชื่อ 12 ร้านอาหารญี่ปุ่นที่ใช้ปลานำเข้าจากฟุกุชิมะมาแล้วด้วย ได้แสดงฉลากหรือข้อมูลหน้าร้านอาหารของตนให้ชัดเจนว่าเป็น “ปลาจากฟุกุชิมะ” เพื่อให้ผู้บริโภคได้ใช้เป็นข้อมูลในการตัดสินใจก่อนเข้าใช้บริการด้วย ซึ่งหากยังเพิกเฉยสมาคมฯอาจใช้สิทธิทางศาลในการฟ้องร้องดำเนินคดีกับผู้ที่เกี่ยวข้องต่อไป

แถลงมา ณ วันที่ 6 มีนาคม พ.ศ.2561

นายศรีสุวรรณ  จรรยา

นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net