Skip to main content
sharethis

6 มี.ค. 2561 จากเมื่อวันที่ 23 พ.ย. 60 การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยวิธีพิจารณาศาลรัฐธรรมนูญ วาระที่ 2 และ 3 โดยที่ประชุม สนช. มีมติเอกฉันท์เห็นชอบร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาศาลรัฐธรรมนูญ วาระ 3 ด้วยคะแนน 188 เสียง งดออกเสียง 5 เสียง เพื่อประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไปนั้น

ล่าสุด iLaw รายงานว่า เมื่อวันที่ 2 มี.ค.ที่ผ่านมา ราชกิจจานุเบกษาประกาศใช้ พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 เป็นกฎหมายแล้ว

iLaw ได้สรุปด้วยว่า กฎหมายฉบับนี้ มีหลักการสำคัญอย่างน้อย 3 ประการ ได้แก่ 

1) ห้ามละเมิดอำนาจศาล

การห้ามละเมิดอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ บัญญัติไว้ใน มาตรา 38 กำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจรักษาความสงบเรียบร้อยของการพิจารณาคดี ซึ่งเป็นหลักการเดียวกับการห้ามละเมิดอำนาจศาลของศาลทั่วไป 

นอกจากนั้น ยังกำหนดไม่ให้ "วิจารณ์คำสั่งหรือวินิจฉัยคดีศาลรัฐธรรมนูญ" ที่กระทำด้วยความไม่สุจริต และใช้ถ้อยคำหรือความหมายที่หยาบคาย เสียดสี อาฆาตมาดร้าย ให้เป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลด้วย 

บทลงโทษมีตั้งเเต่ การตักเตือนและการไล่ออกจากบริเวณศาล ไปจนถึงการลงโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือ ปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โดยการสั่งลงโทษนั้นต้องมีมติสองในสามจากตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งเท่ากับตุลาการฯ 6 คน จากทั้งหมด 9 คน

2) อำนาจให้คำปรึกษาข้อพิพาทองค์กรการเมือง 

อำนาจให้คำปรึกษาข้อพิพาทองค์กรการเมือง บัญญัติไว้ในมาตรา 44 ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา รัฐสภา คณะรัฐมนตรีหรือองค์กรอิสระ ที่อาจขัดต่อรัฐธรรมนูญ โดยให้องค์กรที่มีปัญหาโต้แย้งระหว่างกันอยู่มีสิทธิยื่นร้องต่อศาลได้

3) สิทธิประชาชนในการฟ้องตรงต่อศาล 

สิทธิประชาชนในการฟ้องตรงต่อศาล แบ่งเป็น 2 กรณี 

กรณีแรก หากรัฐไม่ปฏิบัติตามหมวด 5 ของรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับหน้าที่ของรัฐ ประชาชนหรือชุมชนสามารถยื่นฟ้องหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ ตามมาตรา 45

โดยมีขั้นตอน คือ เมื่อได้ร้องขอต่อหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องแล้วถูกปฏิเสธ หรือปฏิบัติหน้าที่ไม่ถูกต้องหรือไม่ดำเนินการภายใน 90 วัน ให้ผู้ฟ้องยื่นหนังสือโต้แย้งต่อหน่วยงานนั้นภายใน 30 วัน จากนั้นให้ยื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดินภายใน 30 วัน หากผู้ตรวจการแผ่นดินเห็นชอบให้ยื่นต่อคณะรัฐมนตรี หากผู้ร้องเห็นว่าคำสั่งของคณะรัฐมนตรีไม่ถูกต้อง จึงยื่นต่อศาลได้ภายใน 30 วัน ฉะนั้น อาจใช้เวลามากสุดกว่า 150 วันหรือ 5 เดือนกว่าจะยื่นตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญได้

กรณีที่สอง ประชาชนถูกละเมิดสิทธิเสรีภาพ โดยมาตรา 47 กำหนดว่า การละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพนั้นต้องเป็นการละเมิดสิทธิอันเกิดจากการกระทำของหน่วยงานของรัฐ เจ้าหน้าที่ของรัฐ และหน่วยงานซึ่งใช้อำนาจของรัฐ แต่มีข้อยกเว้นว่า ต้องไม่ใช่การกระทำของรัฐบาล และต้องไม่อยู่ภายใต้อำนาจการวินิจฉัยของศาลอื่น และหากรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายอื่นได้กำหนดกระบวนการ ขั้นตอนหรือวิธีการร้องไว้แล้ว ต้องดำเนินการตามนั้นให้ครบถ้วนเสียก่อน

โดยมาตรา 46 และ 48 กำหนดขั้นตอนให้ประชาชนผู้ถูกละเมิดฯ ยื่นคำร้องผ่านผู้ตรวจการแผ่นดินภายใน 90 วันนับแต่วันที่รู้ว่าถูกละเมิดสิทธิและให้ผู้ตรวจการแผ่นดินพิจารณายื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญภายใน 60 วัน โดยให้แจ้งผลให้ผู้ร้องทราบภายใน 10 วันหลังครบกำหนดเวลาดังกล่าว ดังนั้น ผู้ร้องจะต้องทราบผลภายใน 70 วัน แต่ถ้าผู้ตรวจการแผ่นดินไม่ยื่นคำร้องหรือไม่ทำตามเวลาที่กำหนด ผู้ละเมิดมีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลได้โดยตรง

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net