Skip to main content
sharethis

คดีนี้เป็นตัวอย่างให้เห็นถึง “ความเซ็นสิทีฟ” อย่างยิ่งในประเด็นการคุ้มครองสมเด็จพระเทพฯ ว่าเข้ามาตรา 112 หรือไม่ การขอเอกสารจากคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักพระราชวัง หรือแม้แต่เอกสารประกอบคดีอื่นที่เกี่ยวข้อง (เอกสารทั้งหมดเคยมีปรากฏอยู่ก่อนแล้ว) นั้นเป็นไปอย่างยากลำบากและบางกรณียังถือว่าเป็น “เอกสารลับ”

คดี 112 ที่จังหวัดกำแพงเพชรซึ่งพิพากษา “ยกฟ้อง” ไปเมื่อเร็วๆ นี้สร้างความประหลาดใจให้กับผู้ติดตามคดีการเมืองพอสมควร เมื่อประกอบกับสัญญาณต่างๆ ทางการเมือง อาจทำให้ผู้คนมีความหวังว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับคดีนี้ในทางที่เป็นคุณกับเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นหรือผู้ตกเป็นจำเลย

ความหวังนั้นอาจถูกทิศหรือผิดทางนั่นเรื่องหนึ่ง แต่สำหรับคดีนี้ หากดูในรายละเอียดเราจะพบว่าไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจนักที่ยกฟ้อง เส้นทางการต่อสู้คดีนั้นยาวไกลมาก ผ่านการทำงานหนักของทีมทนายและจิตใจอันหนักแน่นของจำเลยที่ไม่ยอมรับสารภาพเหมือนคดีอื่นๆ ในระหว่างต่อสู้คดีแม้ต้องติดคุกยาวนานโดยไม่ได้รับการประกันตัว

คดีนี้มีจำเลย 4 คน รับสารภาพไป 2 คน ศาลพิพากษาลงโทษจำคุกรวม 3 ปี 8 เดือน พวกเขาอยู่ในคุกพักหนึ่งและพ้นโทษก่อนกำหนดเนื่องจากได้รับการลดหย่อนจากการพระราชทานอภัยโทษทั่วไปในโอกาสต่างๆ ขณะที่อีก 2 คนที่ขอต่อสู้คดีนั้นติดคุกตั้งแต่วันแรกที่ถูกจับกุมเช่นกันและติดคุกยาวนานกว่าคนรับสารภาพเสียอีก ศาลพิพากษายกฟ้องในวันที่พวกเขาอยู่ในคุก 2 ปี 6 เดือนพอดิบพอดี

เหตุของคดีมาจากที่เจ้าอาวาสวัดไทรงาม จังหวัดกำแพงเพชร ได้เข้าแจ้งความกับตำรวจว่าทั้ง 4 ได้หลอกลวงและฉ้อโกงเงินวัด โดยอ้างว่าสามารถทูลเชิญสมเด็จพระเทพฯ ร่วมพิธีทำบุญตัดหวายลูกนิมิตได้ พร้อมเรียกค่าใช้จ่ายต่างๆ และปลอมเอกสารราชการของสำนักราชเลขานุการในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ แม้เจ้าอาวาสผู้เสียหายไม่ได้แจ้งข้อหาตามมาตรา 112 โดยตรง แต่ตำรวจก็ได้สั่งฟ้องโดยพ่วงมาตรานี้ด้วย และในภายหลังเมื่อเจ้าอาวาสขอถอนฟ้องโยมอุปัฏฐากหญิงหนึ่งในผู้ต้องหาก็ไม่สามารถทำได้เนื่องจากเป็นคดีอาญาแผ่นดินไปเสียแล้ว 

คดีเช่นนี้เรียกว่า “คดีแอบอ้าง” หรือการแอบอ้างสถาบันเพื่อหาผลประโยชน์ ปกติแล้วศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนจะไม่รับทำคดีเนื่องจากเป็นองค์กรที่มุ่งเน้นคดีละเมิดสิทธิและเสรีภาพโดยตรง หากแต่จำเลยคนหนึ่งคือ นพฤทธิ์ ยืนยันว่าเขาไม่รู้เห็นแต่อย่างใดในการอุปโลกน์ว่าตัวเขาเป็นหม่อมหลวงคนหนึ่งซึ่งเป็นผู้แทนสมเด็จพระเทพฯ และถูกหลอกให้เดินทางมาในงานวัดดังกล่าว ญาติของนพฤทธิ์ได้ติดต่อขอความช่วยเหลือจนศูนย์ทนายฯ รับคดีไว้ดำเนินการ ขณะที่จำเลยหญิงอีกคนนั้นใช้ทนายส่วนตัวในการสู้คดี

ภาพ จำเลยในวันฟังคำพิพากษา

เรื่องราวของนพฤทธิ์ หนุ่มอุบลฯ สู้ชีวิตผู้ไม่เคยสนใจหรือร่วมกิจกรรมทางการเมืองใดนอกจากทำมาหากินในหลากอาชีพไม่ว่านักมวย ดีเจ ครูสอนสเก็ต ฯลฯ จนกระทั่งเจอมรสุมลูกใหญ่ที่พลิกชีวิตเขาและครอบครัว สามารถอ่านได้ที่ การต่อสู้ของ ‘นพฤทธิ์’ อดีตนักมวยใน ‘สังเวียน’ คดี ม.112 ก่อนวันตัดสินที่กำแพงเพชร

ในส่วนของการต่อสู้คดีนั้น ทีมทนายประกอบด้วย ธีรพันธุ์ พันธุ์คีรี คุ้มเกล้า ส่งสมบูรณ์ วีรนันท์ ฮวดศรี ซึ่งต้องเดินทางไปว่าความยังจังหวัดกำแพงเพชรตลอดเวลาเกือบ 3 ปี โดยโจทย์หลักคือ จำเลยไม่ได้รู้เห็นกับการอุปโลกน์ดังกล่าว ที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้นและเป็นประเด็นสาธารณะก็คือ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ไม่เข้าข่ายการคุ้มครองตามมาตรา 112

ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย
พระมหากษัตริย์
พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี”

การไม่รู้เห็นกับการหลอกลวงเจ้าอาวาสนั้นใช้พยานบุคคลต่างๆ และปากคำของจำเลยเอง โดยนพฤทธิ์ยืนยันว่าไม่เคยเห็นเอกสารที่อ้างว่าถูกปลอมแปลงดังกล่าว และไม่เคยได้รับเงินหรือผลประโยชน์ใดๆ จากเรื่องราวดังกล่าวเลย ที่ไปงานนั้นก็เพราะรุ่นพี่ที่เคยสนิทกัน (จำเลยที่รับสารภาพไปแล้ว) ชวนหลายครั้งจึงรู้สึกเกรงใจและเดินทางไปด้วยกัน

ประเด็นเรื่องตำแหน่งที่ได้รับการคุ้มครองตามมาตรา 112 นั้นต้องใช้พยานเอกสารจากหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องและคำพิพากษาในคดีก่อนหน้านี้ ฟังดูเหมือนน่าจะหาคำตอบได้ไม่ยาก เพียงอ่านข้อกฎหมายก็น่าจะชัดเจน หรือเพียงสอบถามไปยังบางหน่วยงานเรื่องก็น่าจะกระจ่าง แต่นั่นเป็นความคิดที่ผิด

การหาหลักฐานเรื่ององค์รัชทายาท

แม้ปัจจุบันเราจะมีพระเจ้าอยู่หัวองค์ใหม่เป็นที่เรียบร้อย แต่ประเด็นข้อกฎหมายว่าด้วยเรื่องรัชทายาทยังเป็นประเด็นสำคัญ ในการพิพากษาจำเลยสองคนที่รับสารภาพ ฝ่ายข้อมูลของศูนย์ทนายความฯ ได้ตั้งข้อสังเกตไว้ว่า “ศาลอ่านคำพิพากษาเฉพาะส่วนการกำหนดโทษของจำเลย แต่ไม่ได้อ่านในส่วนรายละเอียดคดีและข้อวินิจฉัยทางกฎหมายต่างๆ”

เช่นกันกับคดีของชาญวิทย์ จริยานุกุล คดีที่พิพากษาไปก่อนหน้านี้ ในประเด็นขององค์รัชทายาทศาลก็ไม่ได้ระบุถึงข้อวินิจฉัยไว้เช่นกัน

การต่อสู้ในประเด็นนี้จึงยังคงมีความท้าทายและการขอหลักฐานเอกสารความเห็นจากองค์กรต่างๆ นั้นเป็นไปอย่างยากลำบาก

1. ทีมทนายเริ่มต้นจากการอ่านหนังสือที่จำเลยเขียนเอง “ประจวบ อินทปัตย์” คดีเก่าที่สิ้นสุดถึงชั้นฎีกาแล้วเมื่อปี 2547 ในชั้นศาลอุทธรณ์มีการพูดถึงข้อเท็จจริงเรื่องพนักงานสอบสวนได้สอบถามไปยังสำนักพระราชวังว่าสมเด็จพระเทพฯ เป็นองค์รัชทายาทด้วยหรือไม่ สำนักพระราชวังตอบกลับว่า “รัชทายาทมีพระองค์เดียว” อย่างไรก็ตามเมื่อทีมทนายไปค้นคำพิพากษาดังกล่าวที่ศาลฎีกกลับไม่พบเอกสาร

2. คดีชาญวิทย์ จริยานุกูล ในการพิจารณาคดีนี้เมื่อปี 2558 ปรากฏข้อเท็จจริงว่า อัยการได้สั่งให้พนักงานสอบสวนสอบข้อเท็จจริงเพิ่มโดยให้ทำหนังสือไปสอบถามสำนักพระราชวังในเรื่องนี้และสำนักพระราชวังตอบกลับมาด้วยว่าสมเด็จพระเทพฯ มิใช่องค์รัชทายาท ทีมทนายพยายามไปขอคัดเอกสารนี้ที่ศาลจังหวัดนนทบุรีที่พิจารณาคดีชาญวิทย์ แต่ได้รับการปฏิเสธ ไม่อนุญาตให้คัดถ่าย ได้มาเพียงคำเบิกความของพนักงานสอบสวนคนดังกล่าวว่าได้ทำหนังสือไปสอบถามจริงและได้คำตอบว่าอย่างไร ทีมทนายยังคงเวียนไปขอคัดถ่ายเอกสารดังกล่าวอีกหลายครั้ง และได้รับการปฏิเสธเช่นเคย

ภาพ ส่วนหนึ่งของแฟ้มเอกสารทีมทนายความที่ยื่นคำร้องเพื่อขอเอกสารต่างๆ

3. เอกสารจากคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่องนี้เริ่มต้นจากทีมทนายเห็นสเตตัสของอ.สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ที่พูดถึงประเด็นบางอย่างแล้วอ้างอิงความเห็นกฤษฎีกาในเรื่องรัชทายาท ทีมทนายจึงได้ค้นหาเอกสารดังกล่าวในเว็บไซต์ของคณะกรรมการกฤษฎีกาและพบกับเอกสารนั้นซึ่งเป็นเอกสารตอบกรมตำรวจซึ่งได้สอบถามมายังกฤษฎีกาตั้งแต่ปี 2532 ว่าสมเด็นพระเทพฯ เป็นองค์รัชทายาทหรือไม่ เพราะมีผู้ร้องมาจำนวนไม่น้อย หากไม่เป็นองค์รัชทายาทจะได้ไม่ดำเนินคดี และยังสอบถามเพิ่มเติมด้วยว่า หากไม่เข้าข่ายมาตรา 112 ตำรวจสามารถใช้ มาตรา 326 หมิ่นประมาทบุคคลธรรมดาได้หรือไม่ กฤษฎีกาตอบโดยสรุปว่า ไม่เข้าองค์ประกอบมาตรา 112 และใช้มาตรา 326 ไม่ได้เพราะมาตรานั้นผู้เสียหายต้องเป็นผู้แจ้งความเอง

ทีมทนายรีบปริ้นท์เอกสารนี้ออกมาเพื่อไปยื่นขอให้ศาลออกหมายเรียกเอกสารดังกล่าวไปยังสำนักงานกฤษฎีกา ศาลออกหนังสือให้ตามคำร้อง จากนั้นไม่นาน เว็บไซต์กฤษฎีกาปิดการเข้าถึงเอกสารดังกล่าว ทั้งยังทำหนังสือตอบกลับมายังศาลว่า ไม่สามารถส่งเอกสารความเห็นดังกล่าวให้ได้เนื่องจากเป็นข้อมูลลับ และไม่สามารถใช้สิทธิตามพ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารด้วย

ทีมทนายยังคงยื่นคำร้องต่อ ขอให้ศาลออกหมายเรียกเอกสารดังกล่าวใหม่โดยยืนยันว่าไม่ใช่เอกสารลับ มีการเผยแพร่ในเว็บไซต์กฤษฎีกาโดยตลอด (ก่อนถอดออก) หรือหากเป็นเอกสารลับ ตามกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาศาลก็มีอำนาจในการเรียกเอกสารมาใช้ในคดีโดยกำหนดวิธีการของศาลได้ และหากไม่ได้อีกก็ขอให้ศาลเรียกเลขาธิการกฤษฎีกามาไต่สวนถึงเหตุที่ไม่ส่งเอกสารดังกล่าว คราวนี้ศาลยกคำร้องไม่ออกหมายเรียก

4. ทีมทนายขอให้ออกหมายเรียกพยานบุคคลเพื่อมาให้ความเห็นในเรื่องนี้ ได้แก่ นายวิษณุ เครืองาม และ นายธงทอง จันทรางศุ แต่ศาลยกคำร้องโดยระบุเหตุผลว่าทนายยื่นคำร้องล่วงเลยเวลา 15 วันนับตั้งแต่ตรวจพยานหลักฐาน ซึ่งทนายความค่อนข้างแปลกใจการให้เหตุผลนี้เนื่องจากโดยปกติศาลมักเปิดโอกาสให้จำเลยเรียกพยานบุคคลได้เต็มที่เพื่อประโยชน์ในการต่อสู้ของจำเลย และเมื่อเปรียบเทียบกับคู่คดีจำเลยหญิงอีกคนหนึ่ง ปรากฏว่าทนายได้ยื่นคำร้องขอหมายเรียกพยานบุคคลในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน (เกิน 15 วันแล้วเหมือนกัน) แต่ศาลอนุญาต

5. ทีมทนายพิจารณาคดีประจวบ อินทปัตย์ อีกครั้ง และตัดสินใจทดลองไปขอคัดคำพิพากษาที่ศาลชั้นต้น หลังคว้าน้ำเหลวที่ศาลฎีกา ปรากฏว่าสามารถขอคัดถ่ายคำพิพากษาได้ทั้งหมด

6. ท่ามกลางความพยายามยื่นคำร้องขอคัดเอกสารของสำนักพระราชวังที่ศาลนนทบุรีนับครั้งไม่ถ้วนตลอดระยะเวลาเกือบ 2 ปีและถูกปฏิเสธทุกครั้ง จนกระทั่งใกล้วันที่ต้องสืบพยานเรื่องนี้เต็มที หลายคนถอดใจคิดว่าคงไม่ได้เอกสารนั้นแล้ว แต่ทีมทนายลองอีกหน “เราไม่มีอะไรจะเสียแล้ว” ทนายคนหนึ่งกล่าวเช่นนั้น ปรากฏว่าความพยายามนั้นสำเร็จ ได้เอกสารมาแบบหวุดหวิด 2 วันก่อนที่จะต้องสืบพยานเรื่องนี้

ท้ายที่สุด ศาลชั้นต้นพิพากษาจำเลยทั้งสอง โดยให้เหตุผลหลักว่าหลักฐานของโจทก์ไม่มีน้ำหนักเพียงพอที่จะเชื่อได้ว่าจำเลยทั้งสองได้ร่วมกระทำความผิด จึงยกคำฟ้อง ส่วนประเด็นของสมเด็จพระเทพฯ นั้นไม่มีการวินิจฉัย

คดีเกือบจะสิ้นสุด หากแต่ตามกฎหมายยังมีเวลาอีก 30 วันที่เปิดโอกาสให้อัยการและจำเลยยื่นอุทธรณ์ คดีนี้ก็คงต้องจับตาดูอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อสำนักงานอัยการสูงสุดมีคำสั่งเมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ให้ส่งคดี 112 ทุกคดีไปให้อัยการสูงสุดพิจารณาเพื่อให้ความเห็นว่าจะฟ้องหรือไม่ จะอุทธรณ์ฎีกาหรือไม่ นักวิเคราะห์มองว่านี่อาจเป็นสัญญาณลบต่อจำเลยในคดีนี้เพราะก่อนจะมีคำสั่งนี้ อัยการประจำคดีสามารถทำความเห็นได้เอง และมีจำนวนไม่น้อยเช่นกันที่สั่ง “ไม่ฟ้อง” หรือ “ไม่อุทธรณ์”

ส่วนด้านของจำเลยนั้นทีมทนายระบุว่าจะอุทธรณ์ในข้อกฎหมายเพื่อให้ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งให้ชัดเจนในประเด็นที่ยังไม่ได้พูดถึงต่อไป

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net