Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ที่มา https://propelsteps.files.wordpress.com/2013/11/secularmap.png

แนวคิดโลกวิสัย (secularism) คือแนวคิดที่ว่า “รัฐกับศาสนาต้องแยกเป็นอิสระจากกัน” การแยกเป็นอิสระจากกันก็เพื่อให้หลักประกันว่า กลุ่มหรืองค์กรทางศาสนาต่างๆ จะไม่แทรกแซงกิจการของรัฐ และรัฐก็ต้องไม่แทรกแซงกิจการทางศาสนา หลักการสำคัญของแนวคิดโลกวิสัย คือ

1. ปกป้องทั้งผู้ที่เชื่อและไม่เชื่อ (believers and non-believers) หมายถึง ปกป้องเสรีภาพในเรื่องความเชื่อและการปฏิบัติทางศาสนาของพลเมืองทุกคน นักโลกวิสัยนิยม (Secularists) ต้องการนำเสรีภาพทางความคิดและมโนธรรมมาใช้กับทุกคนทั้งผู้ที่เชื่อและไม่เชื่อในเรื่องศาสนา หรือเรื่องอื่นใด อย่างเท่าเทียม ไม่ใช่ว่าพวกเขาต้องการจำกัดหรือลดทอนเสรีภาพทางศาสนาแต่อย่างใด

2. ปกป้องเสรีภาพทางศาสนา (Religious Freedom) แนวคิดโลกวิสัยปกป้องเสรีภาพทางศาสนาและความเชื่ออื่นๆ อย่างเต็มที่ ปกป้องสิทธิที่จะแสดงออกซึ่งความเชื่อทางศาสนาใดๆ ตราบที่ไม่กระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่น

ทั้งนี้เพื่อสร้างหลักประกันว่าสิทธิในเสรีภาพทางศาสนาของปัจเจกบุคคลจะต้องสมดุลกับสิทธิที่จะเป็นอิสระจากศาสนาด้วยเสมอไป

3. ปกป้องประชาธิปไตยและความยุติธรรม (democracy and fairness) ในสังคมประชาธิปไตยโลกวิสัย พลเมืองทุกคนย่อมเสมอภาคกันเบื้องหน้ากฎหมายและศาลยุติธรรม ไม่มีกลุ่มทางศาสนาหรือการเมืองที่ได้เปรียบหรือเสียเปรียบกัน ผู้ที่เชื่อและไม่เชื่อในเรื่องศาสนาย่อมมีสิทธิและมีพันธะต่อบุคคลอื่นๆ แบบเดียวกันในฐานะเป็นพลเมืองเหมือนกัน

แนวคิดโลกวิสัยให้ความสำคัญสูงสุดกับการปกป้องสิทธิมนุษยชนสากลเหนือข้อเรียกร้องทางศาสนา และยึดถือความเสมอภาคทางกฎหมาย

ทั้งนี้เพื่อปกป้องสตรี, กลุ่มคนหลากหลายทางเพศ (LGBT) และคนกลุ่มน้อยอื่นๆ จากการเลือกปฏิบัติหรืออคติทางศาสนา ดังนั้นการยืนยันความเสมอภาคทางกฎหมาย ก็เพื่อให้หลักประกันว่า บรรดาผู้ที่ไม่มีความเชื่อทางศาสนาต้องมีสิทธิแบบเดียวกันในฐานะเป็นบุคคลผู้ซึ่งมี “ตัวตน” หรืออัตลักษณ์ของตนเองเช่นเดียวกับผู้ที่มีความเชื่อทางศาสนาหรือทางปรัชญาอื่นๆ

4. ปกป้องความเท่าเทียมในการเข้าถึงบริการสาธารณะต่างๆ (Equal access to public services) โอกาสในการเข้าถึงบริการสาธารณะ เช่นโรงพยาบาล โรงเรียน การบริการจากภาครัฐในรูปแบบอื่นๆ จะต้องอยู่บนหลักการแบบโลกวิสัย นั่นคือ ต้องไม่มีการได้เปรียบหรือเสียเปรียบเพราะเหตุแห่งความเชื่อและไม่เชื่อในเรื่องศาสนา โรงเรียนของรัฐต้องเป็นกลางทางศาสนา ไม่สอน หรือปลูกฝัง สนับสนุนความคิด ความเชื่อของศาสนาใดๆ

5. ปกป้องเสรีภาพในการพูดและการแสดงออก (free speech and expression) ผู้นับถือศาสนาใดๆ ย่อมมีสิทธิที่จะแสดงความเชื่อของตนเองอย่างเป็นสาธารณะ แต่พวกเขาก็ต้องยอมรับการคัดค้านหรือการตั้งคำถามต่อความเชื่อนั้นๆ ด้วย

ความเชื่อ แนวคิด และองค์กรศาสนาต่างๆ ต้องไม่ได้รับอภิสิทธิ์ในการปกป้องจากสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออก

เพราะในสังคมประชาธิปไตย แนวคิดและความเชื่อใดๆ ต้องเปิดกว้างต่อการอภิปราย ปัจเจกบุคคลมีสิทธิในการตั้งคำถาม วิจารณ์ ตรวจสอบทุกแนวคิด

พูดอีกอย่างคือ ไม่มีแนวคิด ความเชื่อใดๆ ที่มีสิทธิพิเศษเหนือการถูกตั้งคำถาม วิจารณ์ ตรวจสอบ

อย่างไรก็ตาม แนวคิดโลกวิสัยไม่ใช่อเทวนิยม (Secularism is not atheism) อเทวนิยมไม่มีความเชื่อในพระเจ้า แน่อนว่าพวกเอธีสต์ (Atheists) สนับสนุนแนวคิดโลกวิสัยอย่างเด่นชัด แต่แนวคิดโลกวิสัยก็ไม่ได้มุ่งท้าทายศาสนาหรือความเชื่อหนึ่งใด ทั้งไม่ได้ยัดเยียดความเชื่อใดๆ แก่ใครๆ

แนวคิดโลกวิสัยเพียงแต่จัดเตรียมโครงสร้างสำหรับสังคมประชาธิปไตยที่สามารถให้หลักประกันความเท่าเทียมในพื้นที่ต่างๆ ทางสังคม เช่น ในพื้นที่ทางการเมือง, การศึกษา, กฎหมาย และพื้นที่อื่นๆ สำหรับทั้งผู้ที่มีความเชื่อและไม่เชื่อในเรื่องทางศาสนาและอื่นๆ ให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน

กล่าวอย่างสั้นๆ แนวคิดโลกวิสัยคือแนวคิดที่ยืนยันเสรีภาพ ความยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน (Secularism: freedom, fairness and human rights) เป็นสิ่งสำคัญสูงสุด

ดังนั้น แนวคิดโลกวิสัยจึงเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดสำหรับเราในการสร้างสังคมที่คนทุกศาสนาและคนไม่มีศาสนาสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างยุติธรรมและอย่างมีสันติภาพ

สำหรับรัฐโลกวิสัย (secular state) ก็คือรัฐที่นำแนวคิดโลกวิสัยมาปรับใช้ โดยมีการแยกศาสนาจากรัฐ และเคารพสิทธิมนุษยชนของพลเมืองทุกคนอย่างเท่าเทียม ไม่มีใครได้เปรียบหรือเสียเปรียบเพราะเหตุแห่งความเชื่อของพวกเขา เราสามารถสรุปลักษณะพื้นฐานของรัฐโลกวิสัยให้เห็นเด่นชัด คือ

1. ไม่สถาปนาศาสนาประจำชาติ

2. ประชาชนทุกคนเสมอภาคกันเบื้องหน้ากฎหมายโดยไม่คำนึงว่าจะนับถือศาสนาหรือมีความเชื่อใดๆ

3. กระบวนการตัดสินของศาลไม่ถูกขัดขวางหรือแทรกแซงโดยหลักเกณฑ์หรือกระบวนการทางศาสนา (เพราะไม่มีการออกกฎหมายหรือการตัดสินคดีที่อิงความเชื่อหรือหลักคำสอนทางศาสนาใดๆ)

4. รัฐไม่ให้งบประมาณ และไม่สนับสนุนกิจการและการปฏิบัติทางศาสนาใดๆ

5. ทุกคนมีเสรีภาพที่จะเชื่อ ไม่เชื่อ และที่จะเลิกนับถือ หรือเปลี่ยนศาสนา

6. นโยบายสาธารณะและบริการสาธารณะใดๆ ต้องไม่เลือกปฏิบัติบนพื้นฐานของศาสนา ความเชื่อ หรือความไม่เชื่อใดๆ

7. ปัจเจกบุคคลและกลุ่มบุคคลใดๆ ต้องไม่มีอภิสิทธิ์หรือเสียเปรียบเพราะเหตุแห่งศาสนาที่เขานับถือ, ความเชื่อ หรือความไม่เชื่อในเรื่องใดๆ

จากที่กล่าวมา จะเห็นได้ว่า รัฐไทยไม่ใช่รัฐโลกวิสัย เพราะไม่ได้แยกศาสนาจากรัฐ ศาสนาเป็นหนึ่งในสถาบันหลักของชาติ รัฐไทยให้ความสำคัญกับพุทธศาสนาเถรวาทไทยมากเป็นพิเศษ มีองค์กรศาสนาของรัฐที่มีอำนาจทางกฎหมายและเป็นกลไกสนับสนุนอุดมการณ์อนุรักษ์นิยม มีการบัญญัติในรัฐธรรมนูญให้รัฐมีหน้าที่อุปถัมภ์และคุ้มครองพุทธศาสนาเถรวาทและศาสนาอื่นๆ บัญญัติในรัฐธรรมนูญให้พระมหากษัตริย์เป็นพุทธมามกะ

รัฐไทยจึงไม่สามารถจะเป็นกลางทางศาสนา ไม่สามารถให้หลักประกันเสรีภาพ และความเสมอภาคทางศาสนาแบบรัฐโลกวิสัยได้ เช่นมีการเลือกปฏิบัติต่อชาวพุทธภายใต้การปกครองมหาเถรสมาคมและนอกการปกครองของมหาเถรสมาคม คือไม่ได้ให้ความอุปถัมภ์แก่ชาวพุทธกลุ่มสันติอโศก และกลุ่มภิกษุณีอย่างเท่าเทียมกับกลุ่มที่อยู่ภายใต้มหาเถรสมาคม เป็นต้น

ด้วยเหตุนี้ รัฐไทยจึงไม่มีความเป็นประชาธิปไตยและให้ความยุติธรรมทางศาสนาได้จริง การแยกศาสนาจากรัฐหรือการเปลี่ยนแปลงสู่ความเป็นรัฐโลกวิสัย จึงจำเป็นต้องถูกนำมาถกเถียง ช่วยกันคิด และทำให้กลายเป็นจริงต่อไป

 


แหล่งข้อมูล: http://www.secularism.org.uk/what-is-secularism.html


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net