Skip to main content
sharethis

กลุ่มรักษ์อำเภอวานรนิวาส สกลนคร ทำพิธีกรรม บริเวณหลุมขุดเจาะสำรวจแร่โปแตช เพื่อให้สิ่งศักดิ์สิทธิช่วยขับไล่สิ่งชั่วร้ายออกไป ด้านนักวิชาการ ม.ราชภัฏสกลนคร ชี้ช่องทางร้องสิทธิตามกฎหมาย ไม่สามารถที่จะพิทักษ์สิทธิของชุมชนได้ พิธีกรรมจึงเป็นเครื่องมือการต่อสู้

ประชาชนกลุ่มรักษ์อำเภอวานรนิวาส ที่มาร่วมพิธี

7 มี.ค.2561 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ ชาววังบงน้อย หมู่ที่ 11 ต.วานรนิวาส อ.วานรนิวาส จ.สกลนคร หนึ่งหมู่บ้านที่เป็นเครือข่ายกลุ่มรักษ์อำเภอวานรนิวาส ซึ่งเป็นกลุ่มที่เคลื่อนไหวคัดค้านการสำรวจและทำเหมืองแร่โปแตชในพื้นที่ อ.วานรนิวาส กว่า 30 คน รวมตัวกันทำพิธีทางศาสนา สวดมนต์ แผ่เมตตา บริเวณหลุมดินที่เจ้าหน้าที่ บริษัท ไชน่า หมิงต๋า โปแตช คอร์ปอเรชั่น (ประเทศไทย) จำกัด บริษัทที่กระทรวงอุตสาหกรรมออกอาชญาบัตรพิเศษให้สิทธิสำรวจแร่โปแตชในพื้นที่ดังกล่าว ขุดเจาะเพื่อสำรวจหาแร่โปแตชใต้ดินในบริเวณหมู่บ้านวังบงน้อย อีกทั้งพิธีกรรมดังกล่าวยังจัดขึ้นเพื่อขอให้สิ่งศักดิ์สิทธิที่คนชุมชนนับถือช่วยปัดเป่าและขับไล่สิ่งชั่วร้ายที่จะมาทำลายสิ่งแวดล้อม ทำลายชีวิตของคนในพื้นที่ออกไปจากหมู่บ้าน

นงค์ชัย พันธ์ดา (คนถือไมค์) ตัวแทนกลุ่มรักษ์อำเภอวานรนิวาส หนึ่งในผู้ร่วมพิธีนี้

นงค์ชัย พันธ์ดา อายุ 45 ปี ตัวแทนกลุ่มรักษ์อำเภอวานรนิวาส หนึ่งในผู้ร่วมพิธีให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์กับผู้สื่อข่าวเกี่ยวกับเหตุผลที่มาทำพิธีกรรมครั้งนี้ว่า การมาทำพิธีสวดมนต์ แผ่เมตตา และขอให้สิ่งศักดิ์สิทธิบริเวณหลุมขุดเจาะสำรวจแร่โปแตชครั้งนี้ เพราะว่าต้องการขอให้สิ่งศักดิ์สิทธิที่คนในชุมชนนับถือ ช่วยปัดเป่าและขับไล่สิ่งชั่วร้ายที่จะมาทำลายสิ่งแวดล้อม ทำลายชีวิตของคนในพื้นที่ออกไป

ตัวแทนกลุ่มรักษ์อำเภอวานรนิวาส กล่าวตัวว่า สิ่งชั่วร้ายในที่นี้ก็คือโครงการทำเหมืองแร่โปแตชที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตในพื้นที่ อ.วานรนิวาส เพราะหากเกิดการทำเหมืองแร่โปแตชในพื้นที่จริง อาจจะเกิดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และวิถีชีวิตของประชาชนในพื้นที่ เป็นการละเมิดสิทธิของประชาชนชาวอำเภอวานรนิวาส โดยเฉพาะการที่หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องและทางบริษัท ไม่ยอมเปิดเผยข้อมูลที่เป็นด้านลบของโครงการทำเหมืองแร่ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิตของประชาชนในพื้นที่

“หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องและทางบริษัท มีแต่พูดถึงด้านดีของโครงการทำเหมือง เหมือนการโฆษณาชวนเชื่อให้คนในชุมชนเห็นด้วยกับการทำโครงการ” นงค์ชัย กล่าว

ตัวแทนกลุ่มรักษ์อำเภอวานรนิวาส กล่าวอีกว่า โดยเฉพาะในกรณีที่มีทหาร ตำรวจ เจ้าหน้าที่รัฐระดับท้องถิ่นคอยคุ้มกันและเปิดทางให้รถขนอุปกรณ์ขุดเจาะสำรวจแร่โปแทซ เข้ามาทำงานขุดเจาะ เมื่อวันที่ 18 ก.พ. ที่ผ่านมา ถือเป็นการส่อให้เห็นว่าเจ้าหน้าที่รัฐทำงานร่วมกับนายทุนเหมืองเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ โดยไม่ฟังเสียงคัดค้านจากประชาชนในพื้นที่

“ผมคนหนึ่งที่ภาพในวันนั้นที่เจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหารอำนวยความสะดวกให้กับรถขนอุปกรณ์ขุดเจาะสำรวจของบริษัท ฯ ซึ่งถือเป็นภาพที่ประชาชนคนธรรมดาอย่างผมรู้สึกหดหู่มาก ไม่คิดว่าเจ้าหน้าที่จะอยู่เคียงข้างนายทุนเหมือง โดยไม่สนใจเสียงคัดค้านของประชาชน” นงค์ชัย กล่าว

เมื่อถามถึงว่าการเลือกใช้ความเชื่อ สิ่งศักดิ์สิทธิของชุมชนเป็นเครื่องมือในการต่อสู้และคัดค้านโครงการทำเหมืองแร่ เพราะว่าการต่อสู้โดยการไปยื่นหนังสือร้องเรียนกับหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องเช่น อำเภอวานรนิวาส หรือสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดสกลครที่ผ่านมาไม่สำเร็จใช่หรือไม่ นงค์ชัย ตอบว่า ไม่ใช่ เพราะว่าการไปยื่นหนังสือร้องเรียนกับหน่วยงานราชการยังคงทำอย่างต่อเนื่อง เหมือนเดิม เพียงแค่พวกเราพยายามใช้วิธีการต่อสู้และคัดค้านโครงการเหมืองแร่ทุกวิถีทาง

"การทำพิธีครั้งนี้เหมือนเป็นการแสดงออกว่าพี่น้องชาววานรนิวาส ยังคงไม่เห็นด้วยกับโครงการสำรวจและทำเหมืองแร่โปแทซในพื้นที่อยู่  แต่ครั้งนี้เราใช้การต่อสู้กับโครงการฯ ใช้ความเชื่อเรื่องสิ่งศักดิ์สิทธิของคนในชุมชนในการต่อสู้และคัดค้านโครงการ” นงค์ชัย กล่าว

ผู้อาวุโสในหมู่บ้านทำพิธีสวดมนต์บริเวณหลุมขุดเจาะ เพื่อขอให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้มาช่วยปัดเป่าและขับไล่สิ่งชั่วร้ายที่จะมาทำลายสิ่งแวดล้อม ทำลายชีวิตของคนในพื้นที่ออกไป

กิติมา ขุนทอง อาจารย์สาขาวิชาสังคมศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร กล่าวถึงรูปแบบการต่อสู้ของประชาชนเพื่อปกป้องชุมชน ปกป้องวิถีชีวิต รวมถึงเรียกร้องสิทธิในการจัดการทรัพยากรในชุมชนของตนเหมือนอย่างในกรณีถือเป็นสิ่งที่น่าสนใจ เนื่องจาก เป็นกาารต่อสู้โดยใช้การปฏิบัติการแบบสันติวิธี “เป็นอาวุธ” เพื่อแสดงการต่อต้าน ไม่ยอมรับ ทั้งอำนาจรัฐที่ทำหน้าที่เอื้ออำนวยให้กับทุน และต่อต้านกับทุนข้ามชาติ

กิติมากล่าวว่า หลายคนมองปฏิบัติการดังกล่าวว่าเป็น ปฏิบัติการของผู้อ่อนแอ จึงไม่อยากให้คนมองแบบนั้นเพราะว่า ในมุมมองของประชาชนการต่อสู้ด้วยวิธีการนี้ไม่ได้อ่อนแอ  เขาสู้ทุกวิถีทางเท่าที่ทำได้

“การยื่นหนังสือ การแสดงออกทางเวทีวิชาการต่างๆ ประชาชนทำมาแล้วแต่มันก็ดูเหมือนไม่ได้ผล” กิติมา กล่าว

อาจารย์สาขาวิชาสังคมศาสตร์  ม.ราชภัฏสกลนคร กล่าวอีกว่า ช่องทางการเรียกร้องสิทธิตามกฎหมาย ไม่สามารถที่จะพิทักษ์สิทธิของชุมชนได้อย่างเต็มที่ ฉะนั้นพิธีกรรมดังกล่าว จึงเป็นรูปแบบหนึ่งของเครื่องมือการต่อสู้ของประชาชน เป็นการชี้ให้เห็นว่า ประชาชนได้เชื่อมโยงกระบวนการต่อสู้เข้ากับระบบคิดเรื่องศีลธรรม คุณธรรมที่สัมพันธ์กับทั้งสิ่งเหนือธรรมชาติและพุทธศาสนา  การอัญเชิญสิ่งศักดิ์สิทธิมาปัดเป่าสิ่งชั่วร้าย ที่จะมาคุกคามความอยู่ดีมีสุขของพวกเขา

“การใช้พิธีกรรมในการต่อสู้มันสะท้อนว่าประชาชนไร้ที่พึ่ง รัฐที่ควรจะต้องทำหน้าที่พิทักษ์รักษาสิทธิและความอยู่ดีมีสุขของชุมชน ไม่สามารถทำหน้าที่นั้นได้ แต่ยังกลับมาคุกคามประชาชน” กิติมา กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า บริษัท  ไชน่า หมิงต๋า โปแตช คอร์ปอเรชั่น (ประเทศไทย) จำกัด ได้รับอาชบัตรพิเศษสำรวจแร่โปแตชในเขตอำเภอวานรนิวาส จำนวน 12 แปลง พื้นที่116,875 ไร่ ครอบคลุม 6 ตำบล 82 หมู่บ้าน และเริ่มทำการขุดเจาะสำรวจตั้งแต่กลางปี 2559 แต่ต้องยุติลงหลังทำได้เพียง 2 หลุม เนื่องจากประชาชนในพื้นที่รวมตัวคัดค้าน ด้วยหวั่นเกรงผลกระทบต่อสุขภาพ สิ่งแวดล้อม ความมั่นคงทางอาหารและการแย่งชิงน้ำใช้ในพื้นที่ และกลายเป็นกระแสความขัดแย้งมาโดยตลอด เนื่องจากบริษัทไชน่าหมิงต๋าฯ ยังคงพยายามเปิดหลุมเจาะสำรวจใหม่ให้ได้ก่อนหมดอายุอาชบัตรในต้นปี 2563

สำหรับ หลุมขุดเจาะสำรวจบริเวณบ้านวังบงน้อยดังกล่าวถือเป็นหลุมที่ 3 ของ อ.วานรนิวาส ที่เจ้าหน้าที่บริษัทฯ นำรถขนอุปกรณ์ขุดเจาะสำรวจแร่โปแตช เมื่อวันที่ 18 ก.พ. ที่ผ่านมา โดยการขนอุปกรณ์ดังกล่าวมีเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ คอยติดตามคุ้มกันรถขนอุปกรณ์อีกด้วย

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net