Skip to main content
sharethis

ศาลปกครองพิพากษา มธ. ไม่จ้างคทาวุธ "เคท" ครั้งพิบูลย์ เป็นอาจารย์ จากเหตุแสดงความเห็นผ่านโซเชียลไม่เหมาะสม ศาลชี้ แสดงความเห็นเช่นว่ายังไม่พอจะถือได้ว่าบกพร่องในศีลธรรมอันดี ตัดสินให้เพิกถอนการไม่จ้าง เรียกเซ็นสัญญาบรรจะภายใน 60 วันตั้งแต่คดีถึงที่สุด เคทระบุ ศาลไม่วินิจฉัยเรื่องไม่จ้างเพราะเพศสภาพ

เคท ครั้้งพิบูลย์ (ที่มา: Facebook/โรงน้ำชา)

8 มึ.ค. 2561 สำนักข่าวไทย รายงานว่า ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาเพิกถอนคำสั่งกรรมการมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไม่จ้างคทาวุธ "เคท" ครั้งพิบูลย์ ผู้ร่วมก่อตั้งเครือข่ายเพื่อนกะเทยไทยเพื่อสิทธิมนุษยชน (TGA) เป็นอาจารย์ ทั้งยังมีคำสั่งให้เรียกไปเซ็นสัญญาจ้างบรรจุเป็นอาจารย์ภายใน 60 วัน นับแต่วันที่คดีถึงที่สุด

ศาลปกครองกลางพิพากษาคดีหมายเลขดำที่ บ. 447/2558 กรณีคทาวุธ ครั้งพิบูลย์ หรือเคท ผู้ผ่านการคัดเลือกเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยตำแหน่งอาจารย์ คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ยื่นฟ้องมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และคณะกรรมการบริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1-2 โดยคำฟ้องระบุว่า ผู้ฟ้องคดีได้สมัครเข้ารับการคัดเลือกเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย สายวิชาการ ตำแหน่งอาจารย์ คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ สังกัดมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  ผู้ถูกฟ้องที่ 1 ได้ให้ผ่านการคัดเลือกแล้วแต่คณะกรรมการบริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ถูกฟ้องที่ 2 มีมติไม่ว่าจ้างให้ผู้ฟ้องคดีเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย  เนื่องจากเห็นว่าผู้ฟ้องคดีมีพฤติกรรมการแสดงออกด้วยการใช้ถ้อยคำผ่านสื่อสารทางสังคมออนไลน์ในลักษณะที่ไม่เหมาะสม และอาจกระทบต่อภาพลักษณ์ของการเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย

คทาวุธ จึงมีหนังสืออุทธรณ์ต่อคณะกรรมการบริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ถูกฟ้องที่  2 ซึ่งผู้ถูกฟ้องที่ 2 พิจารณาหนังสือแล้วมีมติยืนยันมติเดิม ผู้ฟ้องคดีจึงยื่นฟ้องต่อศาล ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่าการที่ผู้ฟ้องคดีสื่อสารทางสังคมออนไลน์เป็นวิธีสื่อสารอันเป็นสิทธิ เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นตามมาตรา 4 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557   ที่ใช้บังคับในขณะเกิดข้อพิพาทรับรองสิทธินี้ไว้ แต่สิทธิเสรีภาพในการสื่อสารทางสังคมออนไลน์ของผู้ฟ้องคดีจะต้องอยู่ภายใต้กฎหมายและระเบียบข้อบังคับของทางราชการ หากผู้ฟ้องคดีสื่อสารทางสังคมออนไลน์ไม่ได้อยู่ภายใต้ขอบเขตกฎหมาย และระเบียบข้อบังคับของทางราชการ  ผู้ฟ้องคดีย่อมไม่ได้รับการคุ้มครองตามที่รัฐธรรมนูญรับรองสิทธิและเสรีภาพไว้ ซึ่งศาลพิจารณามติของผู้ถูกฟ้องที่ 2 แล้วเห็นว่าการที่ผู้ถูกฟ้องที่ 2 มีมติไม่ว่าจ้างผู้ฟ้องคดีเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยไม่ได้เกี่ยวกับเพศสภาพ  หากแต่ผู้ถูกฟ้อง 2 ได้นำพฤติการณ์หรือการกระทำของผู้ฟ้องคดีที่สื่อสารทางสังคมออนไลน์มาใช้อ้างในการมีมติไม่ว่าจ้างผู้ฟ้องคดีเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย แต่เมื่อศาลพิจารณาพฤติการณ์หรือการกระทำของผู้ฟ้องคดีที่สื่อสารทางเฟซบุ๊ก จำนวน 4 ข้อความและอินสตาแกรม จำนวน 2 ข้อความ พร้อมภาพประกอบแล้วเห็นว่าการใช้ถ้อยคำของผู้ฟ้องคดีและภาพที่เผยแพร่ใช้ถ้อยคำไม่สุภาพและภาพไม่เหมาะสมอยู่บ้าง บางคำบางภาพ  แต่ยังไม่ถึงขนาดที่จะถือได้ว่าผู้ฟ้องคดีมีลักษณะต้องห้าม อันเนื่องจากเป็นผู้บกพร่องในศีลธรรมอันดีตามมาตรา 7(ข) (4) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ. 2547 

การที่ผู้ถูกฟ้องที่ 2 มีมติไม่ว่าจ้างผู้ฟ้องคดีเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย ตำแหน่งอาจารย์  จึงเป็นการใช้ดุลพินิจที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงพิพากษาเพิกถอนมติของผู้ถูกฟ้องที่ 2  ที่ไม่ว่าจ้างผู้ฟ้องคดีเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย สายวิชาการ ตำแหน่งอาจารย์ คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ โดยให้มีผลนับแต่วันที่คดีถึงที่สุด พร้อมข้อสังเกตและแนวทางเกี่ยวกับการปฏิบัติให้เป็นไปตามคำพิพากษาว่าให้ผู้ถูกฟ้องที่ 2 ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่เรียกให้ผู้ฟ้องคดีไปทำสัญญาจ้างเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย  สายวิชาการ ตำแหน่งอาจารย์  ตามที่สอบคัดเลือกได้ภายใน  60 วัน   นับแต่วันที่คดีถึงที่สุด

สำนักข่าวไทยยังรายงานว่า หลังฟังคำพิพากษา คทาวุธ กล่าวแสดงความดีใจ และยืนยันความตั้งใจเดิมที่จะเข้าไปเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาลตร์ พร้อมสู้คดีหากทางมหาวิทยาลัยอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด 

ในเฟซบุ๊กของเคทยังได้ลงแถลงการณ์สืบเนื่องจากคำพิพากษา โดยตั้งข้อสังเกตว่าศาลไม่ได้วินิจฉัยในประเด็นเพศสภาพโดยตรง แต่ผู้พิพากษาก็ยังมองเห็นประเด็นสำคัญว่า การที่เคทพูดและบ่นเมื่อถูกเลือกปฏิบัติเป็นพฤติการที่ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อจรรยาบรรณอาจารย์

 
เมื่อ 12 ต.ค. 2558 เคทเดินทางไปศาลปกครองเพื่อยื่นฟ้อง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นผู้ถูกฟ้องที่1 และคณะกรรมการบริหารมหาวิทยาลัย (ก.บ.ม.) เป็นผู้ถูกฟ้องที่ 2 หลังตนผ่านการคัดเลือกเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย ตำแหน่งอาจารย์ คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ซึ่งหลังจากที่ยื่นคำร้องอุทธรณ์ต่อมติของคณะกรรมการบริหารมหาวิทยาลัย(ก.บ.ม.) และมีมติ ไม่เห็นชอบจ้างตนเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยโดยแจ้งเหตุผลว่า “มีพฤติกรรมการแสดงออกด้วยการใช้ถ้อยคำผ่านสื่อสาธารณะในลักษณะที่ไม่เหมาะสม และส่งผลต่อภาพลักษณ์ของการเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย" และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็ยืนยันตามมติเดิมว่า ไม่จ้างตนเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย
 
เคท ฟ้องต่อ มธ. และ ก.บ.ม. ในข้อหาใช้ดุลยพินิจโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อย่างร้ายแรง จากกรณีที่ผู้ถูกฟ้องคดีมีมติไม่เห็นชอบให้ว่าจ้าง เคท เป็นพนักงานมหาวิทยาลัยในตำแหน่งอาจารย์คณะสังคมศาสตร์ ทั้งที่สอบผ่านข้อเขียนและสัมภาษณ์ โดยอ้างกรณีที่ เคท ได้โพสต์ภาพลิปสติกที่มีลักษณะคล้ายอวัยวะเพศชายผ่านสื่อออนไลน์ จึงเห็นว่ามีพฤติกรรมการแสดงออกด้วยการใช้ถ้อยคำผ่านสื่อสาธารณะในลักษณะที่ไม่เหมาะสม และส่งผลต่อภาพลักษณ์ของการเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย โดยในคำฟ้องได้ระบุว่าภาพลิปสติกดังกล่าวเป็นของฝากจากประเทศญี่ปุ่น เป็นการโพสต์เพื่อขอบคุณผู้ที่ซื้อฝากและเป็นการสื่อถึงเรื่องเพศวิถี และตามปกติ เคท เป็นผู้ที่ใช้สื่อออนไลน์ในการให้ข้อมูลเรื่องสิทธิมนุษยชน สิทธิชุมชน ความหลากหลายทางเพศวิถี เพศสภาพ เพราะมีประสบการณ์ทำงานวิชาการในเรื่องดังกล่าว ดังนั้นจึงเห็นว่าผู้ถูกฟ้องคดีมีทัศนคติเรื่องเพศที่ตายตัว มองความหลากหลายทางเพศเป็นเรื่องผิดปกติ รวมทั้งการที่ผู้ถูกฟ้องคดีนำสื่อออนไลน์มาเป็นดุลยพินิจในการพิจารณานั้น ถือเป็นครั้งแรกและครั้งเดียว เป็นการเลือกปฏิบัติ
 
จึงขอให้ศาลปกครองสั่งเพิกถอนมติ ก.บ.ม. ครั้งที่ 5/2558 เมื่อวันที่ 2 มี.ค.2558 และมติ ก.บ.ม. ครั้งที่ 10/2558 เมื่อวันที่ 22 มิ.ย.2558 ที่มีมติไม่เห็นชอบจ้าง เคท เป็นอาจารย์ และให้ศาลสั่งให้ ก.บ.ม.รับเคทเป็นอาจารย์คณะสังคมศาสตร์ พร้อมให้ทางมหาวิทยาลัยชดใช้ค่าสินไหมแก่นายเคท เป็นเงิน 363,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้น รวมทั้งให้ชดใช้ค่าเสียโอกาสแก่ เคท ในอัตราเดือนละ 23,700 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่า ก.บ.ม.จะรับ เคท เป็นอาจารย์ในคณะดังกล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net