Skip to main content
sharethis
ในวันสตรีสากลที่ผ่านมาในฟิลิปปินส์มีการปลดผู้พิพากษาสูงสุดหญิงผู้วิจารณ์นโยบายของรัฐบาลออกจากตำแหน่ง ขณะเดียวกันก็มี ส.ว. หญิง ที่เคยถูกรัฐบาลโรดริโด ดูเตอร์เต จับกุมพูดเสริมพลังให้ผู้หญิงและชาวฟิลิปปินส์ทุกคนลุกขึ้นสู้กับความอยุติธรรม ไม่ยอมอ่อนข้อต่อสิ่งที่สาปแช่งและทำให้พวกเธออับอาย
 
เมื่อวันที่ 8 มี.ค. ที่ผ่านมาเป็นวันสตรีสากล ขณะที่ทั่วโลกมีการเฉลิมฉลองหรือการประท้วงเพื่อเรียกร้องความเท่าเทียมทางเพศสภาพ ในฟิลิปปินส์กลับมีปรากฏการณ์ที่ มาเรีย ลัวร์เดส เซเรโน ผู้พิพากษาสูงสุดที่เป็นหญิงคนแรกของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ถูกสภาล่างลงมติปลดออกจากตำแหน่ง โดยที่เซเรโนเป็นหนึ่งในคนที่วิพากษ์วิจารณ์ประธานาธิบดี รอดริโด ดูเตอร์เต อย่างเปิดเผย
 
เซเรโน เป็นผู้พิพากษาสูงสุดที่ได้รับการแต่งตั้งมาตั้งแต่สมัยของอดีตผู้นำยเบนิกโน อากีโน โดยที่สภาล่างของฟิลิปปินส์ลงมติด้วยคะแนน 38 ต่อ 2 เสียงให้เซเรโนพ้นจากตำแหน่ง โดยที่จะมีการลงมติต่อไปในระดับสภาบนซึ่งจะทำการไต่สวนกรณีที่เซเรโนถูกกล่าวหาว่าเกี่ยวข้องกับการทุจริตคอร์รัปชัน การไม่ยอมเปิดเผยทรัพย์สินและความผิดอื่นๆ ด้วย
 
อย่างไรก็ตามเซเรโนปฏิเสธข้อกล่าวหาโดยระบุว่าเป็นการกล่าวหาที่มีแรงจูงใจทางการเมือง เธอกล่าวอีกว่าสภาพการเมืองของฟิลิปปินส์ในตอนนี้ใครก็ตามที่ถูกมองว่าเป็นศัตรูของสิ่งที่มีอำนาจนำก็จะถูกข่มเหงรังแก ข่มขู่คุกคามและถูกดำเนินคดี สภาพแวดล้อมทางการเมืองเช่นนี้เป็นทั้งความหยาบช้าและการใส่ร้ายป้ายสีผู้หญิงแทนที่จะเป็นความมีอารยธรรม
 
ดูเตอร์เตเป็นประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ที่พูดจาสามหาว หยาบคายและมักจะด่าว่ากลุ่มสิทธิมนุษยชน เขาเคยบอกวห้อดีตกลุ่มกบฏคอมมิวนิสต์ยิงอวัยวะเพศของสหายหญิงของพวกเขาโดยที่ต่อมาก็อ้างว่าเขาพูดเสียดสีเล่นๆ มีโฆษกออกมากล่าวปกป้องว่า "อย่าถือคำของประธานาธิบดีจริงจังคำต่อคำ" และบอกว่าดูเตอร์เตปฏิบัตินโยบายในเชิงปกป้องผู้หญิงและส่งเสริมสิทธิอนามัยเจริญพันธุ์
 
ในกรณีของเซเรโนนั้นดูเตอร์เตกล่าวว่าเขาไม่ได้ริเริ่มให้มีการดำเนินคดีกับเธอและขอให้รัฐสภาตัดสิน อ้างว่าเขาไม่ได้รับอนุญาตให้ก้าวก่ายใดๆ ในระบบรัฐธรรมนูญของฟิลิปปินส์ปัจจุบันการปลดผู้พิพากษาสูงสุดอาจจะใช้เวลานานกว่าสมัยอากิโน ซึ่งในสมัยนั้นมีกระบวนการปลดเจ้าหน้าที่สองรายด้วยการลงมติในรัฐสภารวดเร็วมากหลังจากได้รับข้อเสนอแนะจากกรรมการฝ่ายตุลาการ
 
แต่สาเหตุที่มีคนสงสัยในเรื่องนี้นั้นเนื่องจากว่าเซเรโนเคยวิจารณ์ดูเตอร์เตทั้งในเรื่องสงครามยาเสพติด เรื่องการประกาศใช้การปกครองแบบทหารกับตอนใต้ของฟิลิปปินส์คล้ายช่วงเผด็จการสมัยเฟอร์ดินาน มากอส ทั้งนี้ยังถูกมองว่าอาจจะเป็นแผนการที่ดูเตอร์เตต้องการแต่งตั้งฝ่ายตุลาการที่เป็นมิตรกับเขามากกว่าอย่าง บ็อบ เฮอร์เรรา-ลิม เพื่อจัดการด้านกฎหมายในกรณีนโยบายลงครามยาเสพติด
 
ในวันสตรีสากลนักการเมืองหญิงอีกรายหนึ่งของฟิลิปปินส์ เลย์ลา เดอ ลิมา ก็พูดส่งเสริมให้ผู้หญิงฟิลิปปินส์ทั่วประเทศลุกขึ้นต่อสู้กับการสาปแช่ง การทำให้อับอาย และการยุยงความรุนแรงต่อผู้หญิง ในคำปราศรัยที่มหาวิทยาลัยฟิลิปปินส์-ดิลลิมัน
 
"พวกเราพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าพวกเรายืดหยุ่น เข้มแข็ง และไม่ยอมแพ้ พวกเราสามารถปรับตัวและหาวิธีการเอาชนะอุปสรรคยากๆ ได้ พวกเราต้องสู้เพื่อสิทธิของพวกเราเอง พวกเราต้องลุกขึ้นพูดและเป็นอิสระจากภาพเหมารวมพวกเรา เรามาแสดงให้เห็นศักยภาพของพวกเราในการมีส่วนร่วมสร้างสังคมที่ยุติธรรมและถูกต้องเพื่ออนาคตของพวกเราและอนาคตของคนรุ่นถัดไป" เดอ ลีมา กล่าว
 
ส.ว.หญิง เดอ ลีมา เคยถูกรัฐบาลฟิลิปปินส์กล่าวหาในเรื่องยาเสพติดและมีการจับกุมตัวเธอมาก่อน แต่เดอ ลีมา ก็ปฏิเสธข้อกล่าวหาทุกอย่างโดยบอกว่ามันเป็นการเมืองของรัฐบาลเพราะเธอเป็นคนที่มีจุดยืนต่อต้านการสังหารผู้คนนอกกระบวนการกฎหมาย
 
"นี่ไม่ใช่การต่อสู้ของฉันคนเดียว นี่คือการต่อสู้ของผู้หญิงทุกคน นี่คือการต่อสู้ของชาวฟิลิปปินส์ทุกคนที่คำนึงถึงความถูกต้อง อย่าได้ให้ความกลัวและความอับอายปิดปากพวกเราเพราะใครก็ตามมีโอกาสจะเป็นเหยื่อได้หมดในรัฐบาลที่โหดร้ายนี้" เดอ ลีมา กล่าว
 
 
เรียบเรียงจาก
 
First female chief justice in Philippines faces impeachment, Gulf News, 08-03-2018
 
De Lima urges women to stand up for rights, Inquirer, 08-03-2018

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net