Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

กรรมอย่างหนึ่งของนักวิชาการสังคมศาสตร์ที่เป็นผลพวงจากวิธีคิดแบบวิทยาศาสน์ คือการถูกบังคับทั้งทางตรงและทางอ้อมให้ผลิต “สิ่งใหม่” โดยเชื่อว่าสิ่งใหม่ในงานสังคมศาสตร์นี้จะมีประโยชน์ต่อสังคมเฉกเช่นสิ่งใหม่ในงานวิทยาศาสตร์ ปรากฏในรูปเกณฑ์การพิจารณาความดีความชอบตำแหน่งขั้นเงินเดือนผ่านงานวิจัยซึ่งกำหนดควบคุมโดยสถาบันกำกับการศึกษาต่าง ๆ ที่ลดทอนคุณค่างานวิชาการด้านอื่นลงไปขึ้นต่อมิติด้านความใหม่เป็นสำคัญ

ที่น่าตระหนกคือ การขูดรีดเอาสิ่งใหม่จากนักวิชาการไม่จำกัดอยู่เฉพาะในวิธีคิดเกี่ยวกับงานวิจัยและการพิจารณาความดีความชอบของนักวิชาการเท่านั้น แต่ยังแพร่ลามมาถึงการประเมินกิจกรรมทางปัญญาอื่น ๆ ด้วย

เสกสรรค์ ประเสริฐกุลเป็นตัวอย่างหนึ่งของผู้ที่ถูกคาดเค้นให้ผลิตสิ่งใหม่ตอบสนองผู้ชื่นชอบการบริโภคความใหม่จากงานสังคมศาสตร์ การปาฐกถาที่เสกสรรค์ได้รับเชิญไปกล่าวอย่างน้อย 4 ครั้งหลังรวมถึงงานปาฐกถาล่าสุดในหัวข้อ “ประเทศไทยในความคิด ความคิดในประเทศไทย” ในวันป๋วย อึ๊งภากรณ์ จัดโดยคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มักถูกวิพากษ์วิจารณ์ในเรื่องที่ว่า “ไม่มีอะไรใหม่” “ไม่มีคอนทริบิวชั่น”

แน่นอนว่าปาฐกถาไม่ใช่บทความวิจัยย่อมไม่จำเป็นต้องมีความใหม่เป็นองค์ประกอบหลัก แต่ก็น่าคิดอยู่ว่า “ความใหม่” หรือ “originality” มี “คอนทริบิวชั่น” อย่างไรต่อปัญหาของสังคมไทย

ถ้ายึดโยงกับปาฐกถาของเสกสรรค์ ปัญหาเรื้อรังประการหนึ่งของสังคมไทยคือโรคไร้สมรรถนะทางสิทธิเสรีภาพและเสื่อมสมรรถภาพทางประชาธิปไตย รากฐานของปัญหาบางส่วนเกิดจากชนชั้นนำหยิบยืมแนวคิดโบราณกว่าสองพันปีมาเป็นฐานรุกชิงอำนาจจากประชาชนมาไว้ในกำมือ นี่ไม่ใช่ปัญหาใหม่ ต่อปัญหานี้ปัญญาชนไทย-เทศจำนวนไม่น้อยทำการสรุปบทเรียนให้มุมมองเสนอแนวคิด “ใหม่” อย่างเป็นระบบต่อเนื่องเป็นเวลาหลายสิบปี ถึงกระนั้น สิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตยในสังคมไทยก็ยังมีสถานะลุ่ม ๆ ดอน ๆ เฟื่องฟูเป็นช่วงสั้น ลดหายเป็นระยะยาวนาน เช่นนี้แล้วคงสรุปเป็นอื่นไปไม่ได้นอกจากข้อเท็จจริงปรากฎให้เห็นว่าแนวคิดใหม่เพียงประการเดียวไม่สามารถผลักดันสังคมไปในทิศทางที่ปรารถนาได้

ข้อแตกต่างอย่างใหญ่หลวงระหว่างวิทยาศาสตร์กับสังคมศาสตร์คือ ข้อค้นพบทางวิทยาศาสตร์เพื่อแก้ปัญหาประการหนึ่ง ๆ นั้นมีลักษณะที่ไม่สามารถอยู่ร่วมกับข้อค้นพบหรือแนวคิดเดิมได้ ข้อค้นพบใหม่จะทำให้ข้อค้นพบเดิมหมดประโยชน์ลง (incommensurability) เช่น ข้อค้นพบเรื่องโลกกลมไม่สามารถอยู่ร่วมกับความคิดเรื่องโลกแบนได้ ในขณะที่ความคิดทางสังคมศาสตร์นั้นมีพลวัตพลิกแพลงผันแปรมากกว่าวิทยาศาสตร์มาก เป็นต้นว่าแนวศึกษาชนชั้นแบบช่วงชั้น (stratification) มีข้อบกพร่องในการวิเคราะห์จึงถูกเสริมด้วยแนวศึกษาชนชั้นแบบเวเบอร์และต่อมาแบบมาร์กซิสท์ กระนั้นก็ตามความคิดเรื่องชนชั้นแบบช่วงชั้นก็ยังสามารถนำมาคิดวิเคราะห์หรือประยุกต์ใช้รวมกับการศึกษาเรื่องชนชั้นแบบอื่น ๆ ได้

ลักษณะ incommensurability ของวิทยาศาสตร์ทำให้ “ความใหม่” เป็นองค์ประกอบสำคัญและจำเป็นต่อการแก้ปัญหาทางวิทยาศาสตร์

ในทางกลับกัน ทางออกของปัญหาสังคมจำนวนมากไม่ได้เป็นจริงได้ด้วยการผลิตความคิดใหม่ แต่เกิดจากการผลักดันความคิดให้เข้ากับสภาพความเป็นจริงที่ดำเนินอยู่ หลายปัญหานั้นทางออกเรียบง่ายประจักษ์ชัดติดขัดเพียงยากที่จะขับเคลื่อน และการขับเคลื่อนสังคมนั้นคือการเคลื่อนความคิดผู้คนร่วมชุมชนจำนวนมาก วิถีทางผลักดันพวกเขาอาจมิใช่การระดมความคิดใหม่รายวันเข้าไปในหัวพวกเขา แต่อาจเป็นการทำข้อเสนอใหม่ ๆ และสำคัญจำนวนหนึ่งให้กระจ่างชัด เป็นระบบ เข้าใจง่ายและทรงพลัง เพื่อจูงใจเพื่อนร่วมชุมชนให้เดินไปในทิศทางที่เชื่อว่าดีกว่าเดิม-ซึ่งจะเป็นไปไม่ได้เลยหากพวกเขาไม่เข้าใจความสำคัญของมันตั้งแต่แรก

ความสำเร็จของความพยายามที่จะทำให้ประชาธิปไตยลงหลักมั่นในอเมริกาอาจไม่ใช่การนำเสนอความคิดใหม่ ๆ รายวันเกี่ยวกับประชาธิปไตย แต่เป็นการสรุปหัวใจของมันลงเหลือเพียง 3 ประวลี คือ “ของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน”

ในแง่นี้ พลังในการขับเคลื่อนสังคมจึงไม่ได้อยู่ที่ “สิ่งใหม่” แต่เพียงอย่างเดียว แต่ยังอยู่ที่การ “นำเสนอ” ต่อสังคมด้วยรูปแบบ วิธีการและภาษาต่าง ๆ กัน ต่างกรรมต่างวาระขึ้นอยู่กับว่าเป้าหมายในการนำเสนอ ณ ช่วงเวลาหนึ่ง ๆ นั้นเพื่ออะไรและนำเสนอต่อใคร

อย่างไรก็ตาม หากย้อนกลับมาที่ปาฐกถาล่าสุดของเสกสรรค์ นี่ก็ยังมิได้หมายความว่าปาฐกถาของเขา ไม่มีอะไรใหม่หรือไม่มี originality หรือไม่มีคอนทริบิวชั่น

ชีลล์ เดอเลิซ (Gilles Deleuze) นักปรัชญาชาวฝรั่งเศสเคยกล่าวไว้ว่าหน้าที่ของนักปรัชญาคือการสร้างมโนทัศน์หรือกรอบความคิด หากพูดในระดับที่เบาลงมาหน่อยก็อาจจะกล่าวได้ว่าการผลิตรูปธรรมของความคิดเพื่อให้คนคิดได้ก็น่าจะเป็นส่วนหนึ่งของ “คอนทริบิวชั่น” ของนักปรัชญาได้เช่นเดียวกัน

อาจจะกล่าวได้ว่าความ “ใหม่” “originality” และ “คอนทริบิวชั่น” ของปาฐกถาเสกสรรค์อาจจะไม่ได้อยู่ที่ paradigm shift หากแต่อยู่ที่การหลอมความคิดนามธรรมที่ล่องลอยในสังคมลงมาเป็นรูปธรรมจนคนทั่วไปฟังแล้วเกิด “ความคิดใหม่” ในหัวของพวกเขาได้

สิ่งต่อไปนี้เป็นประโยชน์ต่อการคิดหรือไม่ การโยงให้เห็นภาพอย่างกระจ่างว่าความดีกับความไม่เท่าเทียมและอำนาจเผด็จการสัมพันธ์กันแนบแน่นอย่างไรผ่านตัวอย่าง สสส. และยังชี้เส้นแบ่งที่ชัดเจนอีกด้วยว่าการทำความดีส่วนบุคคลกับการแอบอ้างความดียึดอำนาจผูกขาดอยู่ที่ “การบังคับให้คนอื่นทำดี” หรือการหยิบยกเงื่อนไข “ราชาปราชญ์” มาแจกแจงแก่สาธารณะว่ามีอะไรบ้างนั้นก็น่าจะนับว่าเป็นคอนทริบิวชั่นสำคัญด้วยความหวังว่าอาจจะพาผู้คนที่มัวเมาเรื่องคนดีปกครองบ้านเมืองให้เหลียวมองดูข้อเท็จจริงบ้างว่าบุคคลที่พวกเขาสนับสนุนนั้นเข้าข่ายเงื่อนไขดังกล่าวกี่ข้อบ้าง

และส่วนที่เป็นคอนทริบิวชั่นอย่างสูงของเสกสรรค์อาจจะอยู่ที่การท้วงติงฝ่ายประชาธิปไตยอย่างตรงไปตรงมาในส่วนที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมพรรคการเมืองและนักการเมืองที่เป็นตัวบ่อนทำลายประชาธิปไตยด้วยน้ำมือตนเองด้วย

ปาฐกถาเสกสรรค์นั้นนอกจากศิลปะและอารมณ์ขันแล้วยังวางอยู่บนหลักทฤษฎีวิชาการกว้างขวางเข้มข้นที่พูดด้วยภาษามนุษย์ประกอบการทำการบ้านค้นคว้าข้อมูลสนับสนุนอย่างทันสถานการณ์ อีกทั้งยังมีท่าทีสนับสนุนสิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตย

ในการพูดครั้งหนึ่งของคนเราหากทำได้เช่นนี้แล้วยังถูกประนามอย่างหยาบง่าย สังคมนั้นเรียกร้องต่อผู้อื่นมากไปหรือไม่?

หากจะถกเถียงว่าเพราะเป็นเสกสรรค์ จึงต้องถูกคาดหวังสิ่งที่สูงกว่านี้ ก็อาจจะเป็นการเข้าใจผิดว่ากิเลสของท่านกับความก้าวหน้าของสังคมนั้นเป็นสิ่งเดียวกัน

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net