Skip to main content
sharethis
นายกฯ อบต.มะเกลือเก่า เสนอ แก้ระเบียบกองทุนสุขภาพตำบลของ สปสช. เปิดช่องให้สามารถใช้งบประมาณจัดซื้อวัสดุคุรุภัณฑ์ในสถานการณ์ฉุกเฉินได้ ระบุ ทุกวันนี้โรคพิษสุนัขบ้าระบาด วัคซีนไม่พอ มีเงิน สปสช.นอนอยู่ 6 แสนบาท แต่กลับเบิกไม่ได้ เพราะกฎหมายไม่เอื้อ
 
แฟ้มภาพประชาไท 
 
เมื่อวันที่ 10 มี.ค. 2561 ที่ผ่านมานายเอกชัย พรหมพันธ์ใจ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลมะเกลือเก่า อ.สูงเนิน จ.นครราชสีมา กล่าวถึงสถานการณ์โรคพิษสุนัขบ้าระบาด ซึ่งเป็นผลพวงจากคำท้วงติงการใช้งบประมาณของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ว่า เมื่อประมาณ 3 ปีที่แล้ว สตง.ได้ท้วงติงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เรื่องการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ซึ่งโดยภาพรวมพบว่าจนถึงขณะนี้ยังมี อปท.บางพื้นที่ที่ไม่กล้าที่จะให้บริการฉีดวัคซีน เพราะกังวลว่าจะมีความผิด แต่ขณะเดียวกันก็มีหลายท้องถิ่นก็พยายามดำเนินการไปก่อน เนื่องจากเป็นสถานการณ์เร่งด่วน
 
นายเอกชัย กล่าวว่า ทุกวันนี้การฉีดวัคซีนแต่ละครั้งต้องรอประกาศของกรมปศุสัตว์ เมื่อมีประกาศแล้ว อบต.ถึงจะสามารถดำเนินการซื้อยาได้ ซึ่งจริงๆ แล้วส่วนตัวคิดว่าในเมื่อปัญหาอยู่ในพื้นที่ก็ควรเป็นหน้าที่ของ อบต. หรือเทศบาล ในการดำเนินการเพื่อควบคุมสถานการณ์
 
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมีเงินอีกส่วนหนึ่งที่น่าจะสามารถนำมาดำเนินการได้ ซึ่งเป็นงบของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ร่วมกับการสมทบจาก อปท. ในชื่อกองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่น หรือกองทุนหลักประกันสุขภาพตำบล ที่มีระเบียบข้อ 1 ว่าสามารถใช้ในกรณีเกิดโรคระบาดหรือภัยพิบัติในพื้นที่ได้ หรือที่เรียกกันว่างบฉุกเฉิน แต่ปัญหาคือระเบียบไม่เปิดช่องให้สามารถนำงบฉุกเฉินนี้มาจัดซื้อวัคซีนได้
 
“ผมเห็นว่าควรจะแก้หรือปรับระเบียบของ สปสช.ให้สามารถนำเงินฉุกเฉินออกมาใช้ได้ ที่ผ่านมาเงินของ สปสช.จะมุ่งเน้นไปที่เรื่องการจัดกิจกรรมมากกว่า เช่น การอบรม แต่ระเบียบจะกำหนดว่าในงบ 100% จะเอามาใช้ซื้อคุรุภัณฑ์ได้เพียงแค่20% เท่านั้น แต่อย่างเรื่องพิษสุนัขบ้าขณะนี้ชัดเจนว่าเริ่มมีการระบาด มันไม่ใช่เรื่องการอบรม แต่มันจะต้องซื้อวัสดุเป็นส่วนมาก ฉะนั้นระเบียบจึงไม่สอดคล้องกับสถานการณ์หรือเนื้องาน” นายเอกชัย กล่าว
 
นายเอกชัย กล่าวว่า งบกองทุนสุขภาพของ อบต.มะเกลือเก่า มีอยู่ 6 แสนบาท แต่เอาออกมาใช้ไม่ได้ ซึ่งทุกวันนี้ทางกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ก็โอนเงินมาให้ท้องถิ่นจัดซื้อวัคซีนเช่นกัน แต่ไม่เพียงพอต่อความต้องการ เช่น ปัจจุบันกรมส่งเสริมฯ โอนเงินมาให้แล้ว 4 หมื่นบาท ครอบคลุมวัคซีนให้สุนัข 1,300 ตัว แต่สุนัขในพื้นที่ทั้งหมดมีถึง 3,700 ตัว แน่นอนว่าขาดอีกเกินครึ่ง และถ้าจะไปเอาเงินจากกองทุนสุขภาพออกมาใช้ ระเบียบก็ไม่ได้เอื้อในส่วนนี้
 
“ถ้ามีการปรับระเบียบใหม่ เช่น กรณีฉุกเฉินสามารถซื้อวัสดุคุรุภัณฑ์ได้ด้วย ผมคิดว่าจะทันต่อสถานการณ์ และแก้ปัญหาได้รวดเร็วขึ้น” นายเอกชัย กล่าว
 
นายเอกชัย กล่าวอีกว่า จริงๆ แล้ว ใน พ.ร.บ.จัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เขียนเอาไว้ชัดว่าป้องกันและควบคุมโรค ส่วนตัวคิดว่าโรคพิษสุนัขบ้าเป็นโรคหนึ่งและอันตรายมาก ฉะนั้นจึงไม่ควรรอให้หน่วยเหนือเข้ามาแก้ปัญหา แต่ท้องถิ่นควรจะดำเนินการเองได้ทันที เช่นเดียวกับ เรื่องอุทกภัย ภัยแล้ง ทุกวันนี้เมื่อเกิดเหตุ อบต.ต้องทำเรื่องไปยังอำเภอ อำเภอส่งต่อให้จังหวัด จังหวัดต้องรวบรวมข้อมูลและออกเป็นประกาศ สุดท้ายมันไม่ทันต่อปัญหา ยิ่งเป็นเรื่องทางสาธารณสุขด้วยยิ่งมีความสุ่มเสียงสูง
 
“เรามองเห็นชาวบ้านมีความเสี่ยงอยู่ และเราก็มีเงินอยู่ แต่เราใช้ไม่ได้ ถ้าเราใช้เราก็ผิด เหมือนมีคนกำลังจะจมน้ำ กฎหมายบอกว่าการช่วยเหลือต้องใช้ท่อพีวีซีเท่านั้น แต่สถานการณ์จริงมันมีกิ่งไผ่อยู่ มันก็ต้องใช้กิ่งไผ่ มันเป็นเรื่องมนุษยธรรม สุดท้ายแล้วหลายท้องถิ่นก็ตัดสินใจที่จะดำเนินการไปก่อน สุดท้ายจะเป็นอย่างไรก็ค่อยมาว่ากัน” นายเอกชัย กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net