Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ก่อนทนายสมชายได้หายตัวไป ประมาณสัปดาห์แรกของเดือนมีนาคม 2547 ทนายสมชายได้มาบรรยายที่ ห้องหอประชุมสำนักงานอธิการบดี ณ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ปัตตานี ซึ่งการบรรยายครั้งนั้นมีประชาชนและนักศึกษาเข้ามาร่วมรับฟังจำนวนมาก ผมและเพื่อนๆ ที่กำลังศึกษาอยู่ปี 2 และสนใจที่จะทำกิจกรรมก็ได้เข้าร่วมฟังด้วย

ทนายสมชายได้บรรยายถึงสถานการณ์ของการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อผู้ที่ถูกกล่าวหาว่ามีส่วนร่วมในคดึความมั่นคงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เช่น การซ้อมทรมานผู้ต้องหาให้รับสารภาพ และกระบวนการยุติธรรมที่ไม่เอื้ออำนวยให้แก่ผู้ที่ตกเป็นผู้ต้องหา ฯลฯ และทนายสมชายได้สรุปว่า ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มันไม่สงบก็เพราะ คนที่นี่ไม่ได้รับความเป็นธรรม โดยเฉพาะประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน

ข้อเสนอที่ทนายสมชายประกาศกลางเวทีสัมมนาครั้งนั้นคือ การประกาศล่ารายชื่อ 50,000 รายชื่อทั่วประเทศเพื่อยกเลิกกฎอัยการศึกในพื้นที่ ซึ่งวิธีการของทนายสมชายคือ การรวบรวมรายชื่อ 50,000 รายชื่อ ตามรัฐธรรมนูญ 2540 ในมาตรา 170 ว่าผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 50,000 คน เข้าเสนอชื่อร้องขอต่อประธานรัฐสภาเพื่อให้รัฐสภาพิจารณายกเลิกกฎอัยการศึก

นัยของการให้ยกเลิกกฎอัยการศึก คือ การยกเลิกอำนาจทหาร และดึงให้ทุกอย่างมาอยู่ในสภาพของระบบปกติที่ตรวจสอบได้ ซึ่งขณะนั้นอำนาจของนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร ได้รับฉันทามติจากสังคมไทย และนโยบายต่างๆ ก็ถูกหนุนเสริมจากคนในสังคมไทย เช่น การประกาศสงครามยาเสพติด ที่มีผู้เสียชีวิตโดยไม่ผ่านกระบวนการยุติธรรมกว่า 2,000 คน  และการประกาศสงครามกับพวกโจรกระจอก ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ การอุ้มคนหาย รัฐบาลทักษิณเป็นรัฐบาลที่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชน แต่ทว่าก็ยังมีกลไกต่างๆ ที่พอจะสามารถตรวจสอบ ตามกรอบรัฐธรรมนูญในขณะนั้น

หลังจากทนายสมชายเดินออกจากห้องประชุม ทนายสมชายได้ยื่นเอกสารให้แก่รุ่นพี่และเพื่อนๆ นักศึกษาที่ยื่นรอจะทักทายจับมือและกล่าวสลามต่อกัน หลายคนได้เข้าไปสลามและจับมือร่วมทั้งผมและเพื่อนๆ และทนายสมชายได้ยื่นเอกสารพร้อมกล่าวว่า "พวกคุณช่วยกันหน่อย ช่วยล่ารายชื่อให้เยอะๆ และส่งมาให้ที่ผม" 

ข้อเสนอของรุ่นพี่นักกิจกรรมสายการเมืองคือ พวกเอ็งไปล่ารายชื่อตามร้านน้ำชาและเพื่อนๆ ในสาขาที่เรียน และคุยให้เขาฟังอย่างที่ฟังมาวันนี้ พวกเราก็ไปกัน แต่วิธีการคือลำบากแลดูเหมือนยุ่งยากคือ ต้องให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งเซ็นชื่อในท้ายกระดาษและเอาบัตรประชาชนไปถ่ายเอกสาร ให้เซ็นกำกับเพื่อแนบเป็นหลักฐาน ระหว่างรวบรวมรายชื่อและลุ้นดูตัวเลขผู้เข้าลงชื่อก็เพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ พบว่าผู้ลงชื่อส่วนใหญ่ก็เป็นวัยรุ่นคนธรรมดาและมีรายชื่อเพื่อนๆ ในมหาวิทยาลัยบ้าง ที่พอให้มีความหวัง

หากทว่าหลังมีข่าวทนายสมชายหายตัวไป หลังวันที่ 12 มีนาคม 2547 ด้วยความกลัวภัยอันตราย พวกเราจึงรีบเอาเอกสารรายชื่อของผู้เข้าร่วมลงทั้งหมด ไปเก็บซ่อนใว้ที่อื่น ไม่เก็บใว้ที่หอพัก เพราะกลัวทหารมาตรวจค้น และอย่างที่คาดไม่นานหลังจากนั้น พวกผมและเพื่อนก็เจอการบุกค้นหอพักด้วยกฎอัยการศึก...

มาวันนี้ ครบรอบ 14 ปี ของการหายไปของทนายสมชาย จากข้อเสนอของเขาให้ประชาชนทั่วประเทศลงชื่อ 50,000 รายชื่อ "ยกเลิกกฎอัยการศึก" ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ กลับมาสู่ให้สังคมไทย ร่วมลงชื่อรื้อคดี "ทนายสมชาย" เพื่อให้เกิดความโปร่งใสและอิสระ ใครจะคิดว่าจากผู้ที่เรียกร้องให้เกิดความเป็นธรรมแก่คนในสังคมไทย กลับต้องมาเจอชะตากรรมแบบนี้ 

คำถามจึงมีอยู่ว่า ตลอดเวลาที่ผ่านมา สังคมไทยได้เรียนรู้อะไรบ้างในประเด็นสิทธิมนุษยชน การที่เราเรียนรู้ที่จะใช้มันเป็นแค่เครื่องมือทางการเมือง ก็นับว่าเป็นเรื่องดีกว่าที่จะใช้เครื่องมือแบบลักษณะอำนาจนิยม แต่สิ่งที่ควรจะเป็นมากไปกว่านั้นก็คือ เราควรที่จะให้ความหมายและยึดหลักสิทธิมนุษยชนในการเคารพกันและปกป้องเพื่อนมนุษยชาติด้วยกัน เห็นคนเท่ากันในโลกแห่งการเปลี่ยนแปลง

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net