สิริพรรณ วิเคราะห์ 3 ด่านอรหันต์ที่ 'พรรคใหม่' ต้องทะลวงในการเลือกตั้งกุมภา 62

วิเคราะห์การเลือกตั้งกับ 'สิริพรรณ นกสวน สวัสดี' เปิด 3 ด่านหินที่พรรคการเมืองใหม่ต้องผ่าน ระบบบัตรเลือกตั้งใบเดียว มองโอกาสของพรรคทหาร และยุทธาสตร์ของพรรคการเมืองในวันที่นโยบายไม่ใช่พระเอกอีกต่อไป ชี้เลือกตั้งครั้งหน้าจะไม่เปลี่ยนอะไรแต่เป็นการวางรากฐานไปสู่การเปลี่ยนแปลงในอนาคต

สิริพรรณ นกสวน สวัสดี ผู้เชี่ยวชาญทางด้านสถาบันทางการเมืองจากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย

บรรยากาศทางการเมืองไทยกลับมาคึกคักอีกครั้ง หลังบรรดานักการเมืองหน้าเก่าและใหม่ พากันไปจดจองชื่อพรรคการเมืองใหม่กับทางคณะกรรมการการเลือกตั้ง จนถึงตอนนี้ทะลุครึ่งร้อยเข้าไปแล้ว นอกจากนี้ยังมี “กลุ่มคนรุ่นใหม่” ไฟแรงอีกจำนวนมาก ออกมาแสดงเจตจำนงว่าเข้าร่วมในการเลือกตั้งที่จะมาถึงในเดือน กุมภาพันธ์ 2562 นี้ (ถ้าไม่เลื่อนอีก) อย่างคึกคัก แต่เรื่องนี้พูดง่าย แต่อาจจะทำยาก สิริพรรณ นกสวน สวัสดี ผู้เชี่ยวชาญทางด้านสถาบันทางการเมืองจากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย วิเคราะห์ว่า ภายใต้กติกาการเลือกตั้งที่วางโดย คสช. โอกาสที่พรรคหน้าใหม่จะเข้าไปนั่งในสภาได้นั้นเกิดขึ้นยากพอสมควร

เปิดรับสมัครพรรคการเมืองใหม่มาได้สองสัปดาห์แล้ว เห็นอะไรบ้าง?

สิริพรรณ : เห็นความกระตือรือร้น แบบฝุ่นตลบเล็กน้อยของการจัดตั้งพรรคการเมือง น่าจะเป็นสัญญาณภาพสะท้อนของการที่เราไม่มีการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการที่ประสบความสำเร็จ ถ้านับถึงปีหน้าก็จะครบ 8 ปีพอดี มันคงเป็นภาพสะท้อนของการโหยหาการเลือกตั้ง และการมีส่วนร่วมทางการเมือง แต่ในขณะเดียวกันก็คิดว่าอาการฝุ่นตลบของการจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่ตรงนี้ มันก็ฝุ่นตลบไปหน่อย ตอนนี้มันมีประมาณร้อยกว่าพรรคเลย คิดว่าในท้ายที่สุดแล้วน่าจะมี 50 หรือ 60 พรรคที่จะได้จดทะเบียนจริงๆ หรืออย่างมาก 70 และพอถึงเวลาจริงๆ ตอนลงเลือกตั้งก็ไม่น่าจะมีพรรคที่สามารถส่งผู้สมัครระดับเขตได้ไม่เกิน 50 พรรค และพรรคที่จะได้รับเลือกเข้าไปในสภาคิดว่ายังไงก็ไม่น่าจะเกิน 15 พรรค เพราะมันจะมีด่านอรหันต์ต่างๆ ที่พรรคการเมืองใหม่เหล่านี้จะต้องผ่าน

ภาพโดย อิศเรศ เทวาหุดี

ด่านที่ 1: Primary Vote (ที่ก๊อปเขามา แต่ไม่หมด)

กระบวนการแรกคือ พ.ร.บ.พรรคการเมืองที่กำหนดเรื่องการจัดตั้งพรรคไว้สูงและยากกว่ารัฐธรรมนูญปี 2540 และ 2550 เช่น ต้องมีเงินต้นทุนพรรคหนึ่งล้านบาท การกำหนดว่าจะมีนายทุนพรรคคนเดียวไม่ได้จะต้องมีการร่วมบริจาคจากสมาชิกพรรค และเรื่องที่จะต้องส่งผู้สมัครในการทำการเลือกตั้งขั้นต้น (primary vote) ในทุกเขตที่ต้องการส่งผู้สมัคร ถ้าประเด็นนี้ไม่ถูกมาตรา 44 จัดการให้หายไปก่อน เพราะดูแล้วเป็นมาตรการที่ไม่เป็นคุณกับพรรคที่ทั้งไม่เอาทหารและพรรคที่เอื้อทหาร จึึงไม่แน่ใจว่าเมื่อไปสู่การเลือกตั้งแล้ว ขั้นตอนนี้จะยังมีอยู่หรือเปล่า แต่ถ้ายังอยู่ ก็ถือว่าเป็นด่านอรหันต์ที่สำคัญที่จะทำให้พรรคจำนวนมากตกม้าตายได้ ถ้าไม่สามารถจัดทำการเลือกตั้งขั้นต้นได้ เพราะว่ามันมีต้นทุนสูง         

หลักคิดของการเลือกตั้งขั้นต้นในสหรัฐฯ คือต้องการให้มีประชาธิปไตยในพรรคการเมือง (party internal democracy) คือไม่ต้องการให้แกนนำพรรค หรือคนไม่กี่คนภายในพรรคเป็นคนตัดสินว่าใครจะลงสมัครในนามพรรค คือต้องการให้เกิดประชาธิปไตยระดับรากหญ้า (grass-root democracy) ว่าคนที่ลงสมัครสะท้อนเสียงของประชาชนในพื้นที่จริงๆ แต่ในกรณีของอเมริกาเอง มันก็มีข้อถกเถียงว่าแม้จุดมุ่งหมายของไพรมารี่คือการลดการควบคุมของกลุ่มอำนาจภายในพรรค แต่ว่าที่ผ่านมา ผู้สมัครที่ไม่ได้รับการยอมรับจากแกนนำพรรคก็มีโอกาสน้อยมากในการจะได้ลงสมัครในนามพรรค เอาเข้าจริงๆ มันก็เป็นความย้อนแย้งในตัวมันเอง ที่แม้จะพยายามจะแก้ปัญหาการควมคุมของกลุ่มอำนาจภายในพรรค แต่ในที่สุดแล้ว พรรคก็ยังอยู่ภายใต้ชนชั้นนำอยู่ดี ตัวอย่างง่ายๆเลยคือ เบอร์นี่ แซนเดอร์ ซึ่งประชาชนชอบมาก แต่ถ้ากลุ่มแกนนำพรรคของเดโมแครตชอบฮิลลารี่มากกว่า มันก็จะมีวิธีการทำให้แซนเดอร์หายไป แต่หากมองในแง่กลับกัน ในกรณีของ ทรัมป์ ฝ่ายแกนนำของพรรครีพับบลิกกันก็ไม่ชอบทรัมป์ แต่เขาก็ยังขึ้นมาได้ ก็เป็นตัวอย่างว่าระบบไพรมารี่สามารถทำให้แกนนำพรรคไม่สามารถเลือกตัวผู้สมัครเองได้ทั้งหมด

ทีนี้ในกรณีของไทย ตัวผู้ร่างกฎหมายเขาไม่ต้องการให้พรรคถูกคุมด้วยนายทุนอย่างเช่น ทักษิณ ชินวัตร ต้องการให้พรรคมีกระบวนการที่ผู้สมัครเป็นที่ยอมรับของคนในพื้นที่ก่อน ซึ่งก็เป็นหลักคิดที่ดี เพียงแต่ว่าในประเทศไทยมันมีความย้อนแย้งคือความเป็นสมาชิกพรรคการเมืองถูกทำให้เป็นเรื่องน่ารังเกียจ เช่น ถ้าคุณจะเป็น ส.ว. คุณเป็นสมาชิกพรรคการเมืองไม่ได้ คุณจะเพิ่มฐานสมาชิกได้อย่างไรในเมื่อคุณทำให้ภาพลักษณ์ของสมาชิกพรรคกลายเป็นเรื่องน่ารังเกียจ (sinful) แล้วคุณให้สมาชิกพรรคเท่านั้นที่จะเลือกไพรมารี่โหวตได้ คุณจะไปหาสมาชิกที่ไหนมาทำการเลือกตั้งขั้นต้น เพราะการเป็นสมาชิกพรรคเป็นสิ่งที่ดูเหมือนจะไม่ได้มีคุณค่าใดๆ ในทางการเมืองเลย แถมยังจะต้องเสียค่าสมาชิกปีละ 100 บาท หรือตลอดชีวิต 2,000 บาท ซึ่งนี่ก็เป็นต้นทุนที่สูงขึ้น จึงเป็นปัญหาว่าบรรดาพรรคที่ต้องการจัดตั้งใหม่จะสามารถหาสมาชิก และระดมเงินจำนวนมากขนาดนี้ได้หรือเปล่า

โดยกฎหมายกำหนดให้ในพื้นที่ที่มีสาขาพรรรคจะต้องใช้เสียงของสมาชิก 100 คนขึ้นไปในการทำไพรมารี่โหวต และ 50 คน ถ้าไม่มีสาขาพรรค จริงๆ แล้วมันน้อยมาก ซึ่งมันทำให้ผู้สมัครบางคนสมารถไประดมญาติมาร่วมกันโหวตก็ได้มันจึงไม่ได้สร้างความชอบธรรมากพอในการหาผู้สมัครของพรรค ซึ่งปัญหาตรงนี้ไม่มีในอเมริกาเพราะ หนึ่งเขามีสมาชิกพรรคเยอะ และสองคือเขาไม่ได้บังคับว่าสมาชิกเท่านั้นถึงจะร่วมไพรมารี่โหวตได้ ของเราคือกำหนดแค่สมาชิกเท่านั้น แต่ถามว่าคนไทยใครเป็นสมาชิกพรรคการเมืองกันบ้าง? ประชาธิปัตย์มีสมาชิกพรรคมากสุดคือ 3 ล้านคน เพื่อไทยมีประมาณ 3 แสนคน พรรคอื่นที่เพิ่งจัดตั้งยังไม่มีสสมาชิกเลย ดังนั้นคนที่จะเข้าร่วมการเลือกตั้งขั้นต้นมันจึงมีน้อยมาก ในขณะที่อเมริกา สมาชิกพรรคเขาเยอะกว่า และเขาไม่ได้กำหนดให้แค่สมาชิกพรรคเท่านั้น ก็คือเราแค่ไปสมัครในวันที่จะทำไพรมารี่โหวตว่าเราจะร่วมโหวตกับพรรคเดโมแครตหรือรีพับบลิกกัน คุณก็สามารถเข้าร่วมไพรี่มารี่โหวตได้เลย คือเขาอำนวยความสะดวกและเปิดกว้างในการเลือกตั้งขั้นต้นมากกว่า และค่าใช้จ่ายในการทำไพรมารี่ก็มาจากรัฐบาลท้องถิ่น ต้องของพรรคต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเอง

ด่านที่ 2: ระบบเลือกตั้งบัตรใบเดียว

ปัญหาด่านต่อมาที่ทั้งพรรคใหม่และพรรคเก่าจะต้องเจอคือระบบเลือกตั้ง เนื่องจากมันมีบัตรเลือกตั้งใบเดียว คะแนน ส.ส. บัญญชีรายชื่อจะได้มาจากบัตรเลือกตั้ง ส.ส. ระบบแบ่งเขต มันจึงจะสร้างปัญหาในแง่ที่ว่าเนื่องจากไทยเป็นระบบสองพรรคใหญ่ครอบงำ คนส่วนใหญ่จึงมีแนวโน้มที่จะเลือกประชาธิปัตย์หรือเพื่อไทย ในบางเขตอาจจะเป็น ชาติไทยพัฒนา หรือภููมิใจไทย พูดง่ายๆ คือ พวกพรรคเก่าที่มีชื่อเสียงอยู่แล้ว ดังนั้นโอกาสที่ผู้สมัครของพรรคหน้าใหม่จะได้รับการเลือกตั้งในระดับเขตจึงมีน้อยมาก ฉะนั้นคนที่ลงสมัคร ส.ส.เขตของพรรคหน้าใหม่พวกนี้จะต้องลงไปเพื่อเป็นมดงาน หรือเป็น “เบี้ย” เพื่อทำงานให้กับผู้สมัครในบัญชีรายชื่อ พูดง่ายๆคือ ผู้สมัคร ส.ส. เขตของพรรคเล็ก รู้อยู่เต็มอกว่ายังไงก็แพ้เลือกตั้ง เพราะไม่สามารถชนะ ส.ส. เขตของพวกพรรคใหญ่ได้ ส่วนคะแนนที่ตัวเองไปหาเสียงมาก็ต้องเอามารวบรวมและบวกกันทุกเขต ที่พรรคนั้นส่งเพื่อให้ได้อย่างน้อย 65,000 คะแนน ถึงจะได้ ส.ส. บัญชีรายชื่อ 1 คน ของพรรคนั้นได้เข้าไปในสภา คุณจะเห็นว่าในระบบนี้ ผลประโยชน์ของ ส.ส.เขต กับ ส.ส.บัญชีรายชื่อจะขัดแย้งกันเอง ถ้าคุณได้ ส.ส. เขต คะแนนตรงนี้จะไม่ตกไปเป็นคะแนน ส.ส.บัญชีรายชื่อ ระบบนี้จะทำให้เกิดความขัดแย้งภายในพรรค เพราะ ส.ส.เขตเป็นเหมือนเบี้ย ที่ลงไปหาเสียงๆ ทั้งๆ ที่รู้ว่าไม่มีโอกาสชนะ แต่ต้องหาเสียงให้คนที่นั่งรออยู่ในบัญชีรายชื่อ รอคะแนนเข้าไปนั่งในสภา ดังนั้นถามว่าถ้าเราเป็น ส.ส.เขต เราอยากจะลงไหม? และพรรคเล็กจะมีเงินดึงดูด ส.ส.เขตมากพอเพื่อที่จะรวมให้ได้หกหมื่นกว่าคะแนนตรงนี้หรือเปล่า และนั่นแปลว่าถ้าเราอยู่ในพื้นที่ที่พรรคที่เราอยากเลือกไม่ส่ง ส.ส. เขตมาลง เราก็จะไม่มีโอกาสโหวตให้พรรคนั้นเลย พรรคจึงต้องมีต้นทุนทางทรัพยากรมากพอที่จะหาตัวผู้สมัคร ส.ส.เขตให้ได้มากที่สุด เพราะถ้าคุณส่ง ส.ส.เพียงเขตสองเขต คุณไม่มีทางได้ ส.ส. จากบัญชีรายชื่อ อันนี้ยังไม่นับเรื่องค่าสมัคร ซึ่งยังไม่มีประกาศออกมาอีก

ในขณะที่การเลือกตั้งที่ผ่านมาที่มีบัตรเลือกตั้ง ส.ส.เขต แยกกับบัญชีรายชื่อ พรรคพรรคหนึ่งอาจจะส่งบัญชีรายชื่อแค่สี่ห้าคน และไม่ส่ง ส.ส. เขตเลย อย่างเช่นพรรคคุณชูวิทย์ แต่เขาก็ยังได้ส.ส.จากได้บัญชีรายชื่อ ต้องบอกพรรคเล็กเลยว่าดิฉันนั่งดูผลการเลือกตั้งปี 54 ส.ส. เขตบางพรรคได้สามคะแนน ห้าคะแนน คุณอย่าคิดว่าส่งๆ ไปเถอะ เดี๋ยวคนก็สงสารได้มาซักเขตละร้อยสองร้อย หรือพันคะแนน ในความเป็นจริงมันไม่เป็นอย่างนั้น มันมีคนที่ได้ห้าคะแนน แปดคะแนน หกคะแนน โอกาสที่พรรคเล็ก จะสามารถรวบรวมเสียงให้ได้ หกหมื่อนกว่าเสียง เพื่อ หนึ่งที่นั่งในสภา จึงมีโอกาสเป็นไปได้น้อยมาก

ด่านที่ 3: พรรคเดียวกัน แต่คนละเบอร์

ประเด็นที่มันยากไปกว่านั้น อีกด่านอรหันต์หนึ่งคือ ในแง่ของการเลือกตั้ง ส.ส. แต่ละเขตที่มาจากพรรคเดียวกันจะมีเลขผู้สมัครไม่เหมือนกัน เช่นเมื่อก่อน พรรคประธิปัตย์ได้เบอร์สิบ ก็จะเบอร์สิบเหมือนกันทั้งประเทศ แต่รอบนี้ ส.ส.ประชาธิปัตย์ในแต่ละเขตจะได้เบอร์ไม่เหมือนกัน แปลว่าต่อไปนี้เราจะหาเสียงโดยใช้เลขเดียวกันทั้งประเทศไม่ได้แล้ว มันก็จะสร้างความยุ่งยากให้ผู้สมัครในการหาเสียงและลดทอนความเป็นสถาบันของพรรคการเมือง ลดทอนยุทธศาสตร์ในการหาเสียงในนามพรรคการเมือง ความเป็นยุทธศาสตร์ของพรรคในระดับชาติจะเกิดขึ้นไม่ได้ในการเลือกตั้งครั้งนี้

พรรคที่จะฝ่าด่านอรหันต์เหล่านี้เข้าไปได้ต้องมีคุณสมบัติอะไรบ้าง?

หนึ่งต้องเป็นพรรคที่มีต้นทุนทางทรัพยากร ก็คือเงินมากพอที่จะไประดมผู้สมัครของพรรคเพื่อเพิ่มโอกาสที่จะได้คะแนนเสียงจากบัญชีรายชื่อ และต้องมีเงินมากพอที่จะเสียค่าสมัคร ค่าสมาชิกต่างๆ สองคือเป็นพรรคที่อาจจะตั้งใหม่แต่จริงๆ แล้วเป็นเหล้าเก่าในขวดใหม่ คือเป็นนักการเมืองเก่าแต่มารวมตัวกันจัดตั้งพรรคใหม่ คนเหล่านี้ก็จะยังไม่ชนะ ส.ส. ระดับเขตหรอก เพราะยังไงก็ยังสู้สองพรรคใหญ่ไม่ได้ แต่เนื่องจากเขามี ส.ส.เก่าในมือ เขามีฐานเสียงพอสมควร พูดง่ายๆ คือมีความเป็นเจ้าพ่อเจ้าแม่ในพื้นที่อยู่บ้าง พรรคแบบนี้จะสามารถระดมเสียงจากเขตต่างๆ ทั่วประเทศได้ จนสุดท้ายอาจจะได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อได้อยู่บ้าง คนพวกนี้เป็นนายหน้าพรรคพอเขาเข้าไปในสภาได้ก็มักจะขายพรรคให้คนอื่น พรรคแบบที่สามคือพรรคที่มีจุดยืนทางการเมืองที่ชัดเจน ในการเลือกตั้งครั้งนี่้นโยบายจะไม่ได้เป็นตัวแปรหลัก เพราะว่ามันมียุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีเป็นตัวกำกับ นโยบายจะยิ่งถูกลดทอนจากการที่ไม่สามารถหาเสียงในนามพรรคทั่วประเทศได้ นโยบายจึงไม่ใช่ตัวแปรในการเลือกตั้งครั้งนี้ แต่เป็นจุดยืนทางการเมือง ว่าจะเอาทหาร หรือไม่เอาทหาร เอาเลือกตั้งหรือไม่เอาเลือกตั้ง คือรอยแยกในทางสังคม (social cleavages) ตอนนี้มันมีสองมิติซ้อนกันอยู่มิติแรกคือความไม่เท่าเทียมกันในการพัฒนาประเทศ ซึ่งอันนี้เป็นรอยแยกที่มีมานานแล้ว เช่นเรื่องของเมืองกับชนบทที่ไม่เท่าเทียมกัน ซึ่งประเด็นนี้ถูกพูดถึงมานานโดยฝ่ายของคุณทักษิณ ภูมิภาคที่ยากจนเช่นภาคอีสาน ภาคเหนือจึงนิยมคุณทักษิณ ภาคใต้กับกรุงเทพที่เป็นชนชั้นกลางในเมืองจึงต่อต้านเขา อีกรอยแยกหนึ่งที่เพิ่มขึ้นมาหลังปี 2006 คือคู่ขัดแย้งระหว่างฝ่ายการเมืองคุณธรรม (moral politics) กับฝ่ายประชานิยม (populism) พรรคจะต้องแสดงจุดยืนให้ชัดว่าตนยืนอยู่จุดในฝั่งไหนของสองมิติที่มันตัดกันตรงนี้ พรรคจะต้องทำอุดมการณ์ให้ชัดเจน ไม่ใช่แค่เรื่องเอาทหารไม่เอาทหาร แต่จะต้องตอบเรื่องความเท่าเทียมทางสังคมด้วย ลองคิดดูว่าจนตอนนี้ทหารยังไม่ปลอดล๊อคพรรคการเมืองเลยนั่นแปลว่าโอกาสที่พรรคจะสามารถพัฒนานโยบายให้มีความชัดเจน มันเป็นไปได้ยาก รวมถึงนโยบายของพรรคจะถูกกดทับด้วยยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ตัวนโยบายจึงไม่ใช่พระเอก แต่จะเป็นตัวอุดมการณ์ของพรรคที่จะแสดงอิทธิฤทธิ์มากกว่าในการเลือกตั้งครั้งนี้

คิดว่าคนจะเลือกเชิงยุทธศาสตร์ไหม กล่าวคืออาจจะชอบพรรคใหม่ แต่สุดท้ายก็ยังเลือกพรรคใหญ่อยู่ดีเพราะกลัวว่าถ้าเลือกพรรคเล็กแล้วจะสู้ทหารไม่ได้?

คิดว่ามีหมด คนไทยเรามีการเลือกเชิงยุทธศาสตร์มานานแล้วตั้งแต่มีบัตรเลือกตั้งสองใบ หรือยุคที่มีบัตรเลือกตั้งใบเดียวแต่กาได้หลายผู้สมัคร คนไทยก็เลือกเชิงยุทธศาสตร์ เราปฏิเสธไม่ได้ว่าคนจำนวนมากมักจะเลือกสองพรรคใหญ่ คือเลือกด้วยสมองมากกว่าใช้ทัศนคติทางการเมืองของตัวเองจริงๆ แต่การจะวิเคราะห์ว่าผลมันเป็นยังไงมันต้องดูยุทธศาสตร์ของพรรคควบคู่กันไปด้วย อย่างที่บอกว่าพรรคเล็กไม่มีโอกาสชนะ ส.ส. ระดับเขตอยู่แล้ว และมันก็ไม่แปลกที่เราจะอยากเลือกคนที่ชนะ ดังนั้นถ้าเรารู้ว่าพรรคเล็กไม่มีโอกาสชนะเราจะเลือกไปทำไม พรรคหน้าใหม่จึงจะต้องโน้มน้าวให้ประชาชนเข้าใจว่า การเลือก ส.ส.เขต ไม่ได้เลือกเพื่อให้เขาชนะระดับเขต แต่เลือกเพื่อแสดงจุดยืนทางการเมืองของพรรค ให้พวกเขาได้คะแนน ส.ส. ปาตี้ลิสต์ เข้าไปนั่งในสภา การจะประเมินยุทธศาสตร์การโหวตของประชาชนจึงจำเป็นต้องดูยุทธศาสตร์ของพรรคควบคู่กันไปด้วย ซึ่งอันนี้เป็นเรื่องยาก และความท้าทายของพรรคหน้าใหม่ทีเดียว

พรรคทหารจะประสบความสำเร็จหรือไม่?

โอกาสมีน้อยมาก ณ  ตอนนี้ถึงจะมีบางพรรคออกมาบอกว่าสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ แต่เราก็ต้องอย่าลืมว่าการสนับสนุนตรงนี้ มันเป็นเรื่องของตัวบุคคล พรรคพวกนี้ไม่ได้กล้าพูดด้วยซ้ำว่าเขาสนับสนุนระบอบทหารทั้งระบอบ เขาอาจจะพูดว่าเชียร์ประยุทธ์ แต่อาจจะไม่เอาประวิตรก็ได้ พรรคเหล่านี้จึงอิงกับตัวบุคคลเป็นหลัก เพราะทุกวันนี้ความนิยมต่อระบอบทหารก็น้อยกว่าเมื่อเทียบกับ พล.อ. ประยุทธ์ แต่ถามว่าเมื่อไปถึงตอนจะเลือกตั้ง กุมภา 62 ความนิยมตรงนี้จะยังอยู่ไหม ดิฉันคิดว่าความนิยมดังกล่าวน่าจะดิ่งลงไปในทิศทางเดียวกัน พรรคที่ออกมาสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์วันนี้ ก็จะต้งรอดูว่าเมื่อเลือกตั้งจริงๆ จะยังสนับสนุนอยู่ไหม อาจจะมีอยู่บ้าง แต่หากทิศทางปัญหาเศรษฐกิจ คอรัปชัน ยังคงเป็นไปในทิศทางนี้ มันก็ยากที่พรรคเหล่านี้จะประสบความสำเร็จ

"พูดโดยภาพรวมเลยคือระบบการเลือกตั้งนี้มันออกแบบมาเพื่อฆ่าทุกพรรค จะพรรคเล็กพรรคใหญ่ ก็เจอปัญหาหมด พรรคที่ได้ประโยชน์จากระบบนี้ที่สุดคือพรรคขนาดกลาง เช่นภูมิใจไทย ชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน หรือพลังชล เพราะพรรคเหล่านี้มี ส.ส. เขตที่มีฐานเสียงอยู่แล้ว เขาจะได้รับเลือกตั้งระดับเขต และยังจะได้คะแนนเพิ่มจากบัญชีรายชื่อ พรรคพวกนี้ก็จะได้เสียงเพิ่ม แต่มันก็คงจะไม่มากพอที่จะมาแซงประชาธิปัตย์กับเพื่อไทยอยู่ดี"

คิดว่าเพื่อไทยกับประชาธิปัตย์จะสามารถจับมือกันเพื่อต้าน คสช. ได้ไหม?

ยอมรับว่าอยากเห็นภาพสองพรรคใหญ่จับมือกัน แต่ “จับมือ” ในที่นี้ไม่ได้หมายความว่าทั้งสองพรรคจะต้องจัดตั้งรัฐบาลร่วมกัน อันนั้นถ้ามันเป็นไปได้ก็ดี แต่มันคงยากที่จะเกิด แต่เรากำลังพูดถึงการจับมือกันแม้จะไม่ได้เป็นพรรคร่วมรัฐบาล แต่จับมือกันโหวตเพื่อแก้รัฐธรรมนูญ หรือ พ.ร.บ. สำคัญๆ เพื่อปลดล๊อคการเมืองให้คลายความเป็นอำนาจนิยมลง เพราะถ้าสองพรรคใหญ่ไม่จับมือกัน พลังมันไม่พอ และตัวสถาบันพรรคการเมืองก็จะเป็นผู้แพ้ในเกมนี้ถ้าคุณไม่ลุกขึ้นมาสู้ ดังนั้นเวลาเราบอกให้จับมือกัน มันไม่ได้แปลว่าให้ต้องรัฐบาลผสมร่วมกัน แต่ให้จับมือร่วมกันโหวตร่างกฎหมายสำคัญ หรือร่วมโหวตสกัดทางนายกคนนอก หรือจะผลัดเปลี่ยนกันมาเป็นรัฐบาลก็ว่ากันไป

แปลว่าความพยายามของ คสช. ในการทำให้การเมืองไทยหลุดจากสองพรรคใหญ่ครอบงำก็ไม่ประสบความสำเร็จ?

ไม่สำเร็จ ไม่ว่าจะผ่านกลไกอะไรก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นระบบเลือกตั้งใหม่ ระบบพรรคการเมือง หรือการตั้งพรรคมาแข่ง ทั้งหมดนี้จะไม่ประสบความสำเร็จ แต่ไพ่อีกใบหนึ่งที่อาจจะใช้กับพรรคเพื่อไทยคือ การตัดสิทธิ์ทางการเมืองของรัฐมนตรีที่โหวตอุนมัติเงินเยียวยาผู้ชุมนุมเสื้อแดง ซึ่งก็อาจจะทำให้ขุนพลของพรรคเพื่อไทยหายไปเกือบสามสิบคน แต่ก็คิดว่าน่าจะยังไม่มีพรรคใดที่จะเข้ามาเบียดแซงพรรคเพื่อไทยได้อยู่ดี

สิ่งที่ต้องจับตาดูจากวันนี้ไปจนถึงวันเลือกตั้ง

  1. ดูพรรคหน้าใหม่ ดูจุดยืนของพรรคหน้าใหม่ ดูข้อเสนอและทางเลือกที่จะเป็นทางออกของความขัดแย้งในวังวนเดิมๆ อยากจะให้ศึกษาพรรคหน้าใหม่เหล่านี้ และใช้เหตุผลและข้อมูลเป็นองค์ประกอบสำคัญในการตัดสินใจ
  2. ดูยุทธศาสตร์ของแต่ละพรรค วิสัยทัศน์ในการแก้ปัญหาประเทศ และชื่อนายกที่เขาจะเสนอ เพื่อให้รู้ว่าพรรคเหล่านี้มีอุดมการณ์ทางการเมืองแบบใด
  3. ดูยุทธศาสตร์ในการวางตัวในการวางตัวผู้สมัคร ทั้งในระดับเขตและบัญชีรายชื่อ เพราะบางพรรคหน้าใหม่อาจจะมีปัญหาในการหาตัวผู้สมัคร หรือมีเงินไม่พอ อีกทั้งยังต้องก็ต้องฟูมฟักนักการเมืองรุ่นใหม่ให้ขึ้นมามีบทบาท

สิ่งที่อยากจะทิิ้งท้ายคือการเลือกตั้งครั้งหน้าที่กำลังจะเกิดขึ้นในกุมภาพันธ์ปี 62 มันจะไม่ได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแบบเปลี่ยนหน้ามือเป็นหลังมือ (drastic chage) แต่มันจะต้องรอไปจนการเลือกตั้งครั้งต่อไป การเปลี่ยนแปลงมันจำเป็นจะต้องใช้เวลาในการฟูมฟัก ซึ่งในการเลือกตั้งครั้งนี้ พรรคหน้าใหม่คงยังไม่สามารถสั่นคลอนระบบได้ทั้งหมด แต่มันจะเป็นการเลือกตั้งที่ปูฐานและวางรากฐานไปสู่การเปลี่ยนแปลงในระยะยาว และการมีพรรคหน้าใหม่เพิ่มขึ้นมามันจะเป็นการสั่นคลอนระบอบเดิม จะทำให้ตัวระบบพรรคการเมือง และระบบการเมืองในอนาคตของไทยเปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยสำคัญ

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท