Skip to main content
sharethis

สำรวจความเห็นต่อ ‘โทษประหารชีวิต’ ว่าควรต้องมีหรือถึงเวลาแล้วที่ต้องยกเลิก ผ่านมุมมองของนักศาสนา นักสิทธิมนุษยชน และเหยื่ออาชญากรรม แล้วกลับมาถามตัวเองดูว่าคิดเห็นอย่างไร

‘โทษประหารชีวิต’ ควรมีอยู่ต่อไปหรือควรยกเลิก เป็นคำถามที่ยังไม่ได้ข้อสรุปในสังคมไทย ข้อมูลจากสมาคมสิทธิและเสรีภาพของประชาชน พบว่า คนไทยส่วนใหญ่ประมาณร้อยละ 70 ยังเห็นด้วยกับการคงโทษประหารไว้ แม้ในระยะหลังตัวเลขผู้ที่เห็นด้วยจะลดลงก็ตาม

มองในมิติด้านสิทธิมนุษยชนคำตอบชัดเจนโดยตัวมันเอง เพราะการมีชีวิตเป็นสิทธิของมนุษย์ทุกคนที่ไม่มีใครสามารถล่วงละเมิดได้ คำตอบกลับต่างออกไปเมื่อนำประเด็นนี้โยนลงสู่สังคม เป็นไปได้ว่าคดีสะเทือนขวัญที่เกิดขึ้นเป็นระยะ ความไม่มั่นใจต่อกระบวนการสืบสวนของเจ้าหน้าที่และกระบวนการยุติธรรม คือปัจจัยหนึ่งที่สังคมไทยยังยอมรับได้ยากที่จะยกเลิกโทษประหาร

‘ประชาไท’ พาไปสำรวจแนวคิดเกี่ยวกับโทษประหารชีวิต ในมิติศาสนา สิทธิมนุษยชน และจากเหยื่อผู้ได้รับผลกระทบจากอาชญากรรมว่ามีมุมมองอย่างไรต่อการยกเลิกโทษประหารชีวิต

ศาสนากับโทษประหารชีวิต

พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส จากมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เริ่มต้นด้วยการอธิบายเรื่องชีวิตว่า พุทธศาสนามองว่าชีวิตคือกายกับใจและการได้เกิดเป็นมนุษย์ถือว่าเป็นสิ่งที่ยากมาก การประหารชีวิตจึงเป็นการประหารทั้งกายและใจพร้อมกัน

“ถามต่อไปว่าพระพุทธเจ้าวางท่าทีต่อการฆ่าอย่างไร ในพรรษาที่สอง พระองค์ได้แสดงจุดยืนที่เป็นอัตลักษณ์ของพุทธศาสนาผ่านโอวาทปาฏิโมกข์ นิยามผ่านศีลห้าเป็นหลักปฏิบัติของสังคม ข้อแรกคือการไม่ฆ่าสัตว์ ปฏิเสธความรุนแรงทุกรูปแบบโดยเฉพาะการฆ่า โดยเฉพาะการฆ่าชีวิตอื่น การประหารจึงเป็นการลดทอนลมปราณของผู้ทำผิด ผู้ที่ฆ่าผู้อื่นไม่ชื่อว่าเป็นบรรพชิต บรรพชิตไม่ได้หมายถึงพระเท่านั้น บรรพชิตแปลว่าผู้เว้นจากบาป การฆ่าทุกชนิดจึงไม่สอดคล้องกับพุทธศาสนาทั้งสิ้น”

ในทางกลับกัน พระมหาหรรษากล่าวว่า การลงโทษหรือการฆ่าแบบพุทธนั้นเป็นการฆ่าแบบอริยวินัย เป็นการลงพรหมทัณฑ์ โดยผู้ที่พระพุทธเจ้าสั่งให้ฆ่าเป็นคนแรกคือพระฉันนะ ด้วยการให้พระฉันนะออกนอกพื้นที่สงฆ์ จัดพื้นที่ให้อยู่ เพื่อให้ได้วิเคราะห์ตัวเอง ทบทวนความผิดพลาด ถ้าเทียบกับปัจจุบันคือการติดคุก เมื่อถามว่าพุทธศาสนาเห็นด้วยกับการยกเลิกโทษประหารหรือไม่ พระมหาหรรษาตอบว่า

“มาวันนี้ไม่ได้มาเพื่อสนับสนุนหรือไม่สนับสนุน เพียงแต่มาอธิบายและยืนยันหลักการ อุดมการณ์ และวิธีการของพุทธศาสนาว่าให้แนวทางไว้อย่างไร แต่ว่าอะไรอยู่เบื้องหลังพฤติกรรมที่ก่อให้เกิดการฆ่า ถ้ากิเลสชักนำให้ทำไม่ดี ให้ฆ่า แล้วทำไมไม่สร้างกระบวนการขัดเกลา ประหารกิเลส แทนที่จะคิดฆ่าคน แต่คิดฆ่ากิเลส ดึงเขาเข้ามา อย่าทำให้กลัว ให้โอกาส ให้เวลา แล้วสังคมจะได้ประโยชน์จากคนที่เคยทำผิด”

ด้านสันติ เสือสมิง ผู้แทนสำนักจุฬาราชมนตรี กล่าวว่าในศาสนาอิสลามถือว่าชีวิตเป็นกรรมสิทธิ์ของพระผู้เป็นเจ้า ผู้ใดจะละเมิดมิได้

“อีกประเด็นที่ชาวมุสลิมเชื่อคือวันฟื้นคืนชีพ วันแห่งการพิพากษา สิ่งแรกที่พระเจ้าจะชำระความคือเลือด บุคคลใดละเมิดในเลือดโดยมิชอบ จะถูกชำระความในวันนั้น บุคคลใดสังหารชีวิตหนึ่งหรือสร้างความวิบัติบนหน้าแผ่นดินโลก ก็ประหนึ่งบุคคลคนนั้นได้สังหารทุกชีวิต บุคคลใดไว้ชีวิตหนึ่งก็เท่ากับบุคคลนั้นไว้ชีวิตผู้คนทั้งหลายโดยทั้งหมด มุมมองต่อชีวิต อิสลามมองเช่นนี้

“มาวันนี้ไม่ได้มาเพื่อสนับสนุนหรือไม่สนับสนุน เพียงแต่มาอธิบายและยืนยันหลักการ อุดมการณ์ และวิธีการของพุทธศาสนาว่าให้แนวทางไว้อย่างไร แต่ว่าอะไรอยู่เบื้องหลังพฤติกรรมที่ก่อให้เกิดการฆ่า ถ้ากิเลสชักนำให้ทำไม่ดี ให้ฆ่า แล้วทำไมไม่สร้างกระบวนการขัดเกลา ประหารกิเลส แทนที่จะคิดฆ่าคน"

“แต่ขณะเดียวกันในทุกข้อห้ามจะมีข้อยกเว้น ในทุกคำสั่งใช้จะมีบทเฉพาะกาล ในหลักยุติธรรมอิสลาม เมื่อคนมีหลากหลาย อิสลามกำหนดโทษประหารชีวิตไว้ พระเจ้าผู้ทรงสิทธิ์ในชีวิตกำหนดไว้ เมื่อบุคคลใดละเมิดชีวิตผู้อื่น เท่ากับละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานแล้ว แต่อิสลามวางกฎเกณฑ์ว่า การฆ่าที่เกิดขึ้นโดยเจตนา โดยไม่เจตนา หรือกึ่งมีเจตนา ในแต่ละการฆ่าจะมีบทลงโทษ แต่ทุกการฆ่าจะมีข้ออนุโลม ให้สิทธิญาติของผู้ตายว่าจะเลือกให้ดำเนินคดีถึงที่สุด ฆ่าให้ตกตามกันไปหรือไม่ เพราะอิสลามคำนึงถึงความมีจิตใจของปุถุชนธรรมดาที่มีความแค้นอยู่ในใจ จะทำอย่างไรไม่ให้เกิดการตามฆ่าล้างแค้น แต่ผ่านกระบวนการทางกฎหมาย จึงต้องมีกระบวนการ หากคดีใดมีความคลุมเครือ โทษสูงสุดเป็นอันยก”

สันติกล่าวชัดเจนว่า อิสลามมองว่าโทษประหารชีวิตจำต้องมี แต่ไม่จำเป็นต้องใช้เสมอไป ถ้าคนมีจริยธรรม ไม่ทำการละเมิดสิ่งใด กฎหมายประหารชีวิตก็เป็นหมัน

“สรุปว่าอิสลามเห็นด้วยกับโทษประหารชีวิตหรือไม่ มันไม่ใช่เรื่องเห็นด้วยกับไม่เห็นด้วย มันเป็นเรื่องการคงอยู่ของมาตรการบางอย่างเพื่อรักษาชีวิต การแก้ไขปัญหาซึ่งมีหลากหลาย มีต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ บางปัญหาถ้ามัวแต่หาต้นเหตุ บ้านก็ไหม้ทั้งหลัง เพราะฉะนั้นการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุเป็นเรื่องระยะยาว ปัญหาเฉพาะหน้าก็ต้องแก้ ระยะกลางก็ต้องแก้ ประเด็นคือต้องมองให้รอบด้าน ผมเห็นด้วยว่าการพัฒนาจิตวิญญาณเป็นเรื่องสำคัญ แต่ ณ เวลานี้ทันหรือไม่ ท่านจะฆ่ากิเลสตอนนี้ทันหรือไม่ มองความเหมาะสม นั่นแหละคือสิ่งที่ดีที่สุด ไม่ใช่ว่าควรหรือไม่ควร

“สังคมสมัยนี้อาชญากรรมยิ่งรุนแรงและเป็นเรื่องปกติ เราจะยกเลิกโทษประหารต้องพูดถึงคนที่เป็นญาติด้วย ต้องพูดถึงโอกาสที่ถูกทำลายจากน้ำมือของอาชญากรจริงๆ ไม่ใช่คนที่ถูกใส่ร้าย หลักการของพระเจ้าพระองค์ย่อมรู้ดี”

ขณะที่มงซินญอร์ วิษณุ ธัญญอนันต์ รองเลขาธิการสภาพระสังฆราชคาทอลิกแห่งประเทศไทย แสดงจุดยืนชัดเจนว่าศาสนาคริสต์ นิกายโรมันคาทอลิก ไม่เห็นด้วยกับโทษประหารและมีการรณรงค์ให้ยกเลิกมานานมากแล้ว ทั้งนี้เป็นเพราะปรัชญาของศาสนาคริสต์มีพระเจ้าเป็นจุดยืน เป็นองค์พระผู้สร้างสรรพสิ่ง จุดสร้างสูงสุดคือชีวิตมนุษย์ จุดศูนย์กลางของเราคือศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

“จุดหลักของศาสนาคริสต์ พระวจนะของพระเจ้าคือต้องเมตตาและให้อภัย ต้องรักศัตรู หลักการของทางศาสนาคริสต์คือเราต้องพัฒนาความเป็นมนุษย์ให้มีวุฒิภาวะ แต่ศัตรูตัวร้ายที่ทำให้มนุษย์ตกต่ำคือบาป ดังนั้น เราไม่อยากแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ประหารชีวิตมันง่าย แต่การพัฒนาบุคคลยากกว่า”

สิทธิมนุษยชนกับโทษประหารชีวิต

ในด้านนักสิทธิมนุษยชนอย่างจาตุรงค์ บุณยรัตนสุนทร ประธานสมาคมสิทธิและเสรีภาพของประชาชน เขาให้ข้อมูลเบื้องต้นว่า ภาพใหญ่ในระดับนานาชาติ มีสถิติจากการสำรวจคนในยุโรปในปี 2016 โดยองค์กรที่ตั้งขึ้นเพื่อต่อต้านโทษประหารชีวิตพบว่า คนช่วงอายุ 60-60ปีขึ้นไป ร้อยละ 64 ไม่เห็นด้วยกับการมีโทษประหารชีวิต ช่วงอายุ 18-34 ปี ร้อยละ 57 ไม่เห็นด้วย และช่วงอายุ 35-59 ปี ร้อยละ 55 ไม่เห็นด้วย เมื่อเฉลี่ยทุกช่วงอายุพบว่า ร้อยละ 58 ไม่เห็นด้วยกับโทษประหาร

ส่วนในอาเซียน ปัจจุบัน ประเทศกัมพูชาและฟิลิปปินส์ได้ยกเลิกโทษประหารชีวิตแล้ว โดยโทษสูงสุดคือจำคุกตลอดชีวิต ประเทศบรูไน เมียนมาร์ ลาว ยกเลิกในทางปฏิบัติ หมายความว่าไม่มีการประหารชีวิตมาเป็นเวลา 10 ปีแล้ว ขณะที่ประเทศอินโดนีเซีย มาเลเซีย เวียดนาม และไทยยังคงโทษประหารชีวิตไว้ อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยมีการประหารชีวิตครั้งล่าสุดเมื่อปี 2552 ถ้าอีก 1 ปีกว่านี้ยังไม่มีการประหารชีวิตเกิดขึ้น ก็จะครบ 10 ปี ซึ่งจะถือว่าไทยไม่มีโทษประหารชีวิตในทางปฏิบัติ

“พูดในฐานะนักสิทธิมนุษยชน จุดยืนต้องชัดเจน การประหารเป็นการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ ผมไม่เห็นด้วยกับโทษประหารชีวิตอยู่แล้ว เราทำวิจัยต่อเนื่อง พบว่าการมีโทษประหารไม่มีความสัมพันธ์กับการลดอาชญากรรม อาชญากรรมยังมีสถิติเพิ่มขึ้น พบอีกว่าอาชญากรที่ทำรุนแรงชนิดฆ่าเหยื่อ เหตุผลหนึ่งคือกลัวถูกจับได้ จะถูกประหาร จึงฆ่าเหยื่อเสียอาจจะมีทางรอด เพราะเหยื่อไม่สามารถให้การได้ ในมุมกลับการคงโทษประหารชีวิตไว้กลับเป็นตัวเร่งให้เกิดความรุนแรง”

จาตุรงค์กล่าวอีกว่า จากการสำรวจทัศนคติของประชาชนไทยต่อโทษประหาร พบว่า ร้อยละ 70 ยังเห็นด้วยกับโทษประหาร แต่ในระยะหลังสถิตินี้เริ่มดีขึ้นเมื่อมีการให้ข้อมูลและสร้างความเข้าใจต่อสังคม

“เราทำวิจัยเรื่องโทษประหารชีวิตมาอย่างต่อเนื่อง ประเทศฝรั่งเศสยกเลิกโทษประหารชีวิตมา 36 ปีแล้ว ตั้งแต่ 2524 แต่ก็ยังมีกระแสขึ้นๆ ลงๆ ของการแก้กฎหมาย ผมคิดว่าสถานการณ์หลายอย่างคล้ายกับในประเทศไทยที่ว่า ในช่วงที่มีปัญหาอาชญากรรมรุนแรงและเป็นข่าว ถ้าถามความเห็นของคนว่าเห็นด้วยกับการยกเลิกโทษประหารชีวิตหรือไม่ กระแสจะไปในทางไม่เห็นด้วย”

จาตุรงค์แสดงทัศนะว่า จากการศึกษาพบว่า คนที่เป็นอาชญากรใช้ความรุนแรงมีพื้นฐานจากความยากจน การศึกษาน้อย จึงจำเป็นต้องทำอะไรบางอย่างเพื่อให้มีชีวิตรอด โทษประหารจึงเป็นการแก้ที่ปลายเหตุ ต้องกลับมาดูที่ต้นเหตุว่าจะทำให้คนมีคุณภาพได้อย่างไร มีการศึกษา พ้นจากความยากจน และหากจะยกเลิกโทษประหารก็ต้องมีมาตรการอื่นๆ รองรับเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอาชญากรรมและความรุนแรงในสังคม

“พูดในฐานะนักสิทธิมนุษยชน จุดยืนต้องชัดเจน การประหารเป็นการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ ผมไม่เห็นด้วยกับโทษประหารชีวิตอยู่แล้ว เราทำวิจัยต่อเนื่อง พบว่าการมีโทษประหารไม่มีความสัมพันธ์กับการลดอาชญากรรม"

“การที่เราจะทำให้คนเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย ต้องให้เขาได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง ผมคิดว่ามี 2 ประเด็นที่ต้องทำไปด้วยกันคือเรื่องความยุติธรรมกับความรู้สึกแค้นที่ญาติของผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงมี ถ้าหากกระบวนการยุติธรรมก่อให้เกิดความเชื่อมั่นได้ว่าผู้ที่ถูกกระทำด้วยความรุนแรงจะได้รับความเป็นธรรม ความรู้สึกแค้นมีอยู่แล้ว แต่ถ้ากระบวนการยุติธรรมแข็งแรง ความเคียดแค้นที่มีอยู่ก็จะคลี่คลายไปได้โดยมีกระบวนการยุติธรรมเข้ามารองรับ ตรงนี้เป็นโจทย์ที่เราต้องทำ”

Sandrine Ageorges-Skinner ชาวฝรั่งเศส เธอเป็นภรรยาของนักโทษประหารชาวอเมริกันคนหนึ่ง ซึ่งสามีของเธอปฏิเสธข้อกล่าวหาว่าเป็นฆาตกรและต้องโทษมากว่า 20 ปีแล้ว และพยายามต่อสู้เพื่อให้สามีพ้นโทษด้วยการพิสูจน์ดีเอ็นเอ ได้แบ่งปันประสบการณ์ส่วนตัวในฐานะภรรยาของนักโทษประหารและประสบการณ์ในฐานะนักเคลื่อนไหวทางสังคมในประเทศฝรั่งเศส

“เริ่มจากประสบการณ์ส่วนตัวก่อน ในทางสังคมจะมีการพูดถึงผู้เสียหายและครอบครัวของผู้เสียหาย แต่ก็ยังมีความเสียหายอีกหลายด้านที่มองไม่เห็นและไม่มีใครพูดถึง สามีของดิฉันถูกตัดสินประหารชีวิตที่มลรัฐเท็กซัสเมื่อเดือนมีนาคมปี 2538 ในคดีฆาตกรรม 3 คน เราต่อสู้เรื่องนี้มา 20 กว่าปีแล้ว ซึ่งกว่าจะได้รับการตรวจดีเอ็นเอก็ใช้เวลา 15 ปี ในคดีของสามีดิฉัน 95 เปอร์เซ็นต์ของหลักฐานไม่ได้รับการตรวจสอบดีเอ็นเอ ในตอนต้นๆ มีการตรวจสอบ แต่เมื่อผลการตรวจสอบไม่พบว่าเกี่ยวข้องกับสามีดิฉัน ทางตำรวจก็ไม่ได้ตรวจสอบต่อเพราะเห็นว่าไม่เป็นประโยชน์ต่อคดี

“ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา สามีของดิฉันรอดการประหารชีวิตมาแล้ว 3 ครั้ง มีครั้งหนึ่งที่รอดอย่างหวุดหวิดเพียงแค่ 25 นาที โดยมีการแทรกแซงของศาลสูงสุดของสหรัฐฯ แต่หลังจากนั้นก็ใช้เวลาอีก 3 เดือนกว่าศาลสูงสุดจะตัดสินว่าจะรับคดีหรือไม่ สุดท้าย ศาลสูงสุดก็รับคดี ในระหว่างนั้นกฎหมายของมลรัฐเท็กซัสก็เกิดการเปลี่ยนแปลง ทำให้เข้าถึงหลักฐานในคดีได้ง่ายขึ้น อย่างไรก็ตาม ผู้พิพากษาของมลรัฐเท็กซัสก็ยังเซ็นคำพิพากษาให้มีวันที่ประหารอีกครั้งหนึ่งเมื่อปี 2554

“ตลอดเวลานี้ดิฉันได้ตั้งข้อสังเกตและเรียนรู้หลายๆ อย่างที่ไม่ค่อยได้รับการพูดถึงในสังคม เช่นผลกระทบที่เกิดกับลูกๆ ของนักโทษประหาร ทุกเวลาเขาจะต้องคิดว่าพ่อจะถูกประหารเมื่อไหร่ จะรอดหรือไม่ และบุคคลที่ได้รับผลกระทบอีกคนหนึ่งก็คือทนายแก้ต่างของจำเลย ซึ่งหลายๆ ครั้งทนายแก้ต่างถูกมองว่าทำตามหน้าที่เพียงเท่านั้น แต่ที่จริงแล้วเขาก็เป็นคนและมีจิตใจที่จะช่วยเหลือจำเลยของเขา เป็นภาระหนักเมื่อมีชีวิตของลูกความอยู่ในกำมือ และสุดท้ายต้องเสียลูกความไปก็มีผลกระทบต่อจิตใจ นอกจากนี้ ยังมีผู้คุมในเรือนจำที่รู้จักนักโทษเหล่านี้เป็นเวลาหลายปี สุดท้าย ผู้คุมเรือนจำก็ต้องมีส่วนร่วมในการประหาร มันมีผลกระทบต่อจิตใจอย่างมาก แต่ไม่มีการเยียวยา ไม่มีช่องทางที่จะได้รับการบำบัด นอกจากนี้ ทางเราก็ทำงานกับครอบครัวของผู้เสียหายด้วย จะเห็นชัดว่าโทษประหารนั้นทิ้งร่องรอยและบาดแผลทางจิตใจไว้ทุกๆ ที่”

ในส่วนของประสบการณ์การทำงาน Sandrine Ageorges-Skinner เข้าใจดีว่า การเคลื่อนไหวประเด็นนี้ในระดับนานาชาติเป็นเรื่องยากลำบาก ทุกครั้งที่มีอาชญากรรมร้ายแรงเกิดขึ้น คนในสังคมมักต้องการให้ประหารชีวิตผู้กระทำผิด เนื่องจากมนุษย์นั้นมีความรู้สึกร่วมกับผู้เสียหายและครอบครัวของผู้เสียหาย ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติของมนุษย์ที่จะมีความรู้สึกเช่นนี้ เธอเองก็ยอมรับว่าหากมีใครมาทำอะไรกับคนในครอบครัวเธอ เธอก็คงรู้สึกแค้นเช่นกัน แต่ที่จริงแล้วกระบวนการยุติธรรมไม่ใช่การแก้แค้น แต่เป็นการรักษาความสงบเรียบร้อยของสังคมและเป็นการลดทอนความรู้สึกแค้นลง

“กลยุทธ์ที่จะใช้ในระดับนานาชาติ พวกเราจะต้องคุยกัน ต้องสื่อสารกัน ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีสูตรสำเร็จที่จะผลักดันเรื่องนี้ให้ลุล่วง เพราะฉะนั้นการพูดคุยจึงยังเป็นเรื่องสำคัญที่สุด แนวคิดจากทุกๆ ฝ่ายก็เป็นประโยชน์ แต่ขณะเดียวกันก็เป็นการตัดสินใจในระดับผู้นำประเทศด้วย ซึ่งผู้นำทางการเมืองต้องเป็นผู้นำทาง ในประเทศฝรั่งเศส ผู้นำที่ยกเลิกโทษประหารในสมัยนั้นก็เห็นไม่ตรงกับประชาชนส่วนใหญ่ แต่สุดท้ายก็ได้รับการเลือกตั้งและผลที่เกิดขึ้นในสังคมคืออัตราการเกิดอาชญากรรมร้ายแรงไม่ได้เพิ่มขึ้น แต่ลดลง ถ้าเราจะแก้ความรุนแรงด้วยความรุนแรง มันก็จะเป็นวัฏจักรที่ไม่สิ้นสุด ต้องตัดวงจรนี้”

เหยื่ออาชญากรรมกับการยกเลิกโทษประหารชีวิต

พิชชาภา คำเพิงใจ แม่ของวริศรา กลิ่นจุ้ย หรือ แอ๋ม เหยื่อในคดีฆ่าหั่นศพที่มีปรียานุช โนนวังชัย หรือเปรี้ยวและพวกตกเป็นจำเลย พิชชาภาสารภาพว่า ถึงเวลานี้ยังทำใจยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ได้สักเท่าไหร่ แต่ก็เข้มแข็งกว่าช่วงแรกๆ ที่รับรู้เหตุการณ์

“มันแค้น ทุกวันนี้คำว่าแค้นมันยังไม่ลดลง คืออยากให้เขาสำนึกและได้รับบทเรียนกับที่เขาทำกับชีวิตคนคนหนึ่ง อยากให้เขาได้รับในสิ่งที่เขาทำลงไปบ้าง ทุกวันนี้เราคิดว่ามันยังน้อย เขาบอกว่าเขาตกนรก แต่เรายังไม่เห็นเขาตกนรกตรงไหนเลย”

“ไม่เห็นด้วยถ้าจะมีการยกเลิกโทษประหารชีวิต ถ้ากฎหมายประเทศไทยไม่มีโทษประหาร ต่อไปอาจจะเพิ่มคนร้ายขึ้นมาอีก จากที่เคยกลัวก็ไม่กลัว เขาอยากจะฆ่าใครก็ไม่กลัวแล้ว ...ถ้าสมมติยกเลิกจริงๆ ก็อาจจะผิดหวัง แต่เราเป็นแค่ประชาชนคนหนึ่ง คนธรรมดาคนหนึ่งที่ไม่มีสิทธิ์มีเสียงที่จะบอกว่าดีหรือไม่ดียังไง แค่เสียความรู้สึกและผิดหวังกับกระบวนการยุติธรรม”

ด้านความเห็นว่าควรยกเลิกโทษประหารชีวิตหรือไม่ พิชชาภายอมรับว่าเธอไม่เห็นด้วยกับการยกเลิกโทษประหารชีวิต

“ไม่เห็นด้วยถ้าจะมีการยกเลิกโทษประหารชีวิต ถ้ากฎหมายประเทศไทยไม่มีโทษประหาร ต่อไปอาจจะเพิ่มคนร้ายขึ้นมาอีก จากที่เคยกลัวก็ไม่กลัว เขาอยากจะฆ่าใครก็ไม่กลัวแล้ว แค่ติดคุก ก็ได้ออก อภัยโทษก็ลดลงเรื่อยๆ ห่วงตรงนี้ว่าจะเกิดขึ้นกับใครอีกหรือเปล่าถ้าไม่มีเยี่ยงอย่างให้เห็นว่ายังมีโทษประหารอยู่นะ เขาจะได้กลัวบ้างและเลิกคิดที่จะทำร้ายคนอื่นอีก จากความรู้สึกจริงๆ เลย ถ้าสมมติยกเลิกจริงๆ ก็อาจจะผิดหวัง แต่เราเป็นแค่ประชาชนคนหนึ่ง คนธรรมดาคนหนึ่งที่ไม่มีสิทธิ์มีเสียงที่จะบอกว่าดีหรือไม่ดียังไง แค่เสียความรู้สึกและผิดหวังกับกระบวนการยุติธรรม”

จากข้อมูลของนักสิทธิมนุษยชนพบว่า โทษประหารชีวิตไม่มีผลทำให้อาชาญากรรมลดลง พิชชาภาคิดอย่างไรกับข้อมูลนี้ เธอตอบว่า เธอเป็นเพียงคนธรรมดาคนหนึ่งไม่กล้าพูดถึงกฎหมาย แต่เธอยังเชื่อว่าการมีโทษประหารชีวิตอาจจะช่วยทางอ้อม ทำให้มีอาชญากรรมลดน้อยลง อย่างน้อยคนที่เห็นว่ากฎหมายมีความเด็ดขาดและเริ่มนำมาใช้อีกก็อาจจะเกิดความกลัว

“ยังมีความเชื่อว่าลดลงแน่นอน อาจจะเป็นทางเลือกอีกทางที่น่าจะเอามาใช้กับสังคมไทยทุกวันนี้ ในใจก็หวังเหมือนกับคนที่หวังเหมือนเราว่าทำไมไม่เอากลับมาใช้ แล้วคนที่คิดจะฆ่าใครต่อใคร มันก็ไม่ทำให้เขากลัว แล้วมันก็เพิ่มความรุนแรงขึ้นมาเรื่อยๆ เราไม่ยากให้ใครตายอีกหรอก แต่อยากให้เป็นเยี่ยงอย่าง อย่าให้มีเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นอีกเลย ทำให้เป็นตัวอย่างสักคดีหนึ่ง ให้เขาเห็นสักคดีหนึ่ง เอาคดีที่รุนแรงที่สุด ร้ายแรงที่สุดสักคดีก็พอ”

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net