แก้แล้วแย่กว่าเดิม?: ร่างใหม่พรบ.อุ้มหาย-ซ้อมทรมาน ที่ไม่สอดคล้องหลักสากล

นักกฎหมายชี้ ร่าง ‘พ.ร.บ. อุ้มหาย’ ไม่เป็นไปตามมาตรฐานโลก อ้างสถานการณ์พิเศษกระทำได้ ผู้บังคับบัญชาไม่มีความผิดกรณีการทรมาน หากทหารเป็นผู้กระทำยังต้องขึ้นศาลทหาร การเยียวยาล่าช้า ด้านกระทรวงยุติธรรมให้ความหวังว่ารัฐบาลประกาศผลักดันร่าง พ.ร.บ. แต่ยังไม่รู้กรอบเวลา

 

 

12 มีนาคม 2547 คือวันที่ สมชาย นีละไพจิตร ถูกตำรวจห้านายผลักตัวขึ้นรถบนถนนรามคำแหง ขณะที่ตอนนั้นเขาเป็นทนายความให้แก่ผู้ต้องหาห้าคนในคดีก่อความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยผู้ต้องหาทั้งห้าคนอ้างว่าถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจทรมาน

12 มีนาคม 2561 คือวันครบรอบ 14 ปีที่ สมชาย นีละไพจิตร หายตัวไป อังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติและภรรยาของสมชาย กล่าวในงาน “14 ปีสมชายหาย สังคมไทยได้อะไร” ที่คณะนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ท่าพระจันทร์ว่า ตั้งแต่ศาลฎีกามีคำพิพากษายกฟ้องตำรวจห้านาย จากรณีกักขังหน่วงเหนี่ยวนายสมชาย วันที่ 29 ธันวาคม 2558 เธอก็ตั้งใจว่าจะยุติบทบาทการทวงถามความเป็นธรรมจากรัฐ แต่จะเฝ้ามองว่าแล้วรัฐจะดำเนินการอย่างไรในการให้ความยุติธรรมในกรณีเกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยเจ้าหน้าที่รัฐ และรู้สึกผิดหวังและเสียใจเป็นอย่างมาก เพราะเมื่อเกือบหนึ่งปีที่ผ่านมา กรมสืบสวนคดีพิเศษได้มีหนังสือถึงครอบครัว หลังจากที่กรมสืบสวนคดีพิเศษรับคดีนายสมชายเป็นคดีพิเศษยาวนาน เกือบ 12 ปี กรมสืบสวนคดีพิเศษมีมติที่จะงดการสืบสวน โดยแจ้งว่า การสอบสวนคดีสมชายได้เสร็จสิ้นแล้ว เนื่องจากไม่ปรากฎตัวผู้กระทำผิด

“วันที่สมชายหายตัว ญาติพี่น้องหาย ทนายที่เป็นเพื่อนหายไปหมด บางคนหลบไปอยู่ประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อนที่เป็นนักการเมืองที่อยู่ฝ่ายรัฐบาลมาที่บ้านบอกว่า ทำอะไรไม่ได้หรอก ตอนนี้เผาทิ้งไปหมดแล้ว ความหวาดกลัวเช่นนี้ทำให้เหยื่อไม่สามารถออกไปพูดอะไรได้เลย รัฐจำเป็นต้องปกป้องเหยื่อไม่ให้เหยื่อเกิดความหวาดกลัว ไม่ให้เจ้าหน้าที่ใช้อำนาจตามอำเภอใจแบบนี้ ผ่านมา 14 ปีเราน่าจะต้องแสดงความจริงใจต่อกัน พูดความจริงต่อกัน ไม่ต้องปิดบังอะไรกันอีก ดิฉันเชื่อมั่นว่าทุกสิ่งที่ได้ทำมา 14 ปีเต็มจะทำให้คนรุ่นใหม่ได้เห็นความสำคัญและคุณค่าของการปกป้องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เชื่อว่าจะมีคนรุ่นใหม่เข้ามาร่วมทำเพื่อบอกกับรัฐว่าจะต้องไม่ใช้อำนาจตามอำเภอใจอีกต่อไป” อังคณากล่าว

การบังคับบุคคลให้สูญหายถูกใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างความหวาดกลัวต่อสังคมในวงกว้าง การกระทำอันโหดร้ายดังกล่าวมีจุดประสงค์เพื่อสร้างบรรยากาศที่ไม่ปลอดภัย เพื่อหยุดยั้งการกระทำต่อทั้งบุคคลที่ถูกบังคับให้สูญหาย ชุมชมและสังคม การบังคับบุคคลให้สูญหายได้กลายเป็นปัญหาสำคัญของโลกในปัจจุบัน ซึ่งเกิดมากขึ้นกับปัญหาภายใน โดยเฉพาะเพื่อกำจัดศัตรูทางการเมือง ซึ่งเป้าหมายที่สำคัญของรัฐในการบังคับบุคคลให้สูญหาย คือนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ญาติของเหยื่อ พยาน และทนายความ และรวมถึงกลุ่มเปราะบางต่างๆ เช่น เด็ก และบุคคลพิการ อีกด้วย

แม้ไทยจะเข้าเป็นภาคีในอนุสัญญาต่อต้านการทรมาน (Convention against Torture: CAT) และลงนามในอนุสัญญาว่าด้วยการบังคับให้สูญหาย (International Convention for the Protection of All Persons from Enforced Disappearance: CED) แต่ก็ยังไม่ได้ให้สัตยาบันเข้าเป็นภาคีในอนุสัญญาว่าด้วยการบังคับให้สูญหาย เนื่องจากยังอยู่ในกระบวนการรับฟังความคิดเห็นร่าง พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย จึงถือว่ายังไม่มีกฎหมายอย่างเป็นทางการในการบังคับใช้ ลงโทษผู้กระทำผิด ไม่มีกรอบในการทำงานแก่ตำรวจหรือศาล

ในช่วง 35 ปีที่ผ่านมา องค์กร Protection International ระบุว่าประเทศไทยมีการบังคับบุคคลให้สูญหาย 90 กรณี มี 81 กรณียังไม่ได้รับการแก้ไข รวมถึงกรณีการอุ้มหายล่าสุดอย่าง พอละจี รักจงเจริญ หรือ “บิลลี่” นักต่อสู้เพื่อสิทธิชุมชนชาวกะเหรี่ยง ที่หายตัวไปตั้งแต่เดือนเมษายน 2557 และกรณี เด่น คำแหล้ ประฐานโฉนดชุมชนโคกยาวที่ต่อสู้ในประเด็นที่ทำกินและหายตัวไปเมื่อเดือนเมษายน 2559 ที่ผ่านมา

ปัญหาเมื่อกฎหมายต่อต้านการทรมานและอุ้มหายยังไม่มี

 

การทรมานและการอุ้มหายยังไม่เป็นความผิดโดยตรง ‘อุ้มหาย’ ครอบครัวไม่ถือเป็นผู้เสียหาย ฟ้องคดีเองไม่ได้

 

รณกรณ์ บุญมี คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อธิบายว่า การอุ้มหายและการทรมานโดยเจ้าหน้าที่รัฐไม่มีความผิดตามกฎหมายปัจจุบัน ทำให้ไม่เกิดมาตรการป้องกันและปราบปราม มาตรการเยียวยาผู้เสียหาย รวมถึงไม่สามารถเก็บสถิติเกี่ยวกับการอุ้มหายและการทรมานได้

คดีอุ้มหายถ้าจะฟ้องด้วยกฎหมายปัจจุบันคือการหน่วงเหนี่ยวกักขัง ตามกฎหมายอาญามาตรา 310 “ผู้ใดหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังผู้อื่น หรือกระทำด้วยประการ ใดให้ผู้อื่นปราศจากเสรีภาพในร่างกาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ” อันเป็นความผิดที่ยอมความได้ ซึ่งผู้เสียหายต้องเป็นคนฟ้องด้วยตัวเอง

และตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 5 กล่าวถึงบุคคลผู้สามารถจัดการแทนผู้เสียหายได้แก่ 1. ผู้แทนโดยชอบธรรมหรือผู้อนุบาล เฉพาะแต่ในความผิดซึ่งได้กระทําต่อผู้เยาว์หรือผู้ไร้ความสามารถซึ่งอยู่ในความดูแล 2. ผู้บุพการีผู้สืบสันดาน สามีหรือภริยาเฉพาะแต่ในความผิดอาญา ซึ่ง ผู้เสียหายถูกทําร้ายถึงตายหรือบาดเจ็บจนไม่สามารถจะจัดการเองได้ 3. ผู้จัดการหรือผู้แทนอื่นๆ ของนิติบุคคล เฉพาะความผิดซึ่งกระทําลงแก่นิติบุคคลนั้น

“ดังนั้นในกรณีการอุ้มหายทุกคดีก็ไม่สามารถมีผู้เสียหายได้ เพราะการหายไปไม่มีหลักฐานว่าตายหรือบาดบาดเจ็บ ครอบครัวจึงไม่ถือเป็นผู้เสียหาย ไม่สามารถฟ้องคดีได้ ซึ่งเป็นช่องว่างของกฎหมาย” รณกรณ์ตั้งข้อสังเกต

ในขณะคดีการทรมานโดยเจ้าหน้าที่รัฐนั้น ตามรายงาน 10 ปีกับการซ้อมทรมาน 10 ปีของความยุติธรรมที่หายไป ได้กล่าวว่า แม้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 จะมีมาตรา 32 ที่ห้ามมิให้มีการซ้อมทรมาน หรือการกระทำที่ไร้มนุษยชน ทั้งผู้ที่ถูกกระทำจะต้องได้รับการเยียวยา แต่ไทยก็ไม่เคยมีพระราชบัญญัติ หรือการเขียนไว้ในกฎหมายใดๆ ที่ได้พูดถึงการซ้อมทรมานโดยเจ้าหน้าที่รัฐจริงๆ รวมถึงไม่ได้พูดถึงการเยียวยาด้วย กฎหมายที่ใกล้เคียงที่สุด ที่ทนายมักใช้อ้างต่อศาลเมื่อมีการซ้อมทรมาน คือ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 90 ซึ่งว่าด้วย การคุมขังบุคคลโดยมิชอบ

แต่การอ้างมาตรา 90 ก็ไม่สามารถทำให้มีการไต่สวนถึงข้อกล่าวหาการซ้อมทรมานได้ เพราะเมื่อจะมีการไต่สวน เจ้าหน้าที่ก็มักจะปล่อยตัวผู้ถูกคุมขังทันที เมื่อมีการปล่อยตัว ศาลก็จะไม่ไต่สวนต่อ เพราะถือว่า ผู้ถูกคุมขังถูกปล่อยตัวแล้ว ซึ่งก็ไม่สามารถนำไปสู่การสอบสวนโทษผู้กระทำทรมานได้เช่นกัน เมื่อปล่อยแล้วศาลก็จะยกเลิกการไต่สวน เพราะถือว่า การควบคุมตัวโดยมิชอบนั้นได้สิ้นสุดลงแล้ว

DSI มีสิทธิจะรับหรือไม่รับคดี แต่ทั้งคดี ‘บิลลี่’ และ ‘เด่น คำแหล้’ DSI ไม่รับ

 

รณกรณ์อธิบายถึงกระบวนการโดยปกติเมื่อเกิดคดีการทรมานหรืออุ้มหายว่า จะต้องส่งคดีไปที่ตำรวจก่อน กรมสืบสวนคดีพิเศษ (DSI) จะดูเป็นรายคดีว่าจะรับเป็นคดีพิเศษหรือไม่ ซึ่งจะเห็นว่าทั้งคดีของ พอละจี รักจงเจริญ หรือ “บิลลี่” คดีเด่น คำแหล้ นั้น ดีเอสไอไม่รับทั้งคู่ ส่วนคณะกรรมการจัดการการร้องทุกข์เรื่องการซ้อมทรมานและถูกทำให้สูญหายที่คณะรัฐมนตรีแต่งตั้งชั่วคราวก็มีหน้าที่เพียงการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ตำรวจ ดีเอสไอ แต่ไม่มีอำนาจดำเนินการ ไม่มีอำนาจสั่งให้ดีเอสไอรับหรือไม่รับ

ไทยมีร่าง ‘พ.ร.บ. อุ้มหาย’ แล้ว แต่ทำไมยังไม่ผ่านใช้สักที

 

ประชาไทพาย้อนดูไทม์ไลน์ตั้งแต่จุดเริ่มต้นของการกำเนิดร่าง พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหายฉบับนี้ ที่ผ่านการแก้ไขมาหลายรอบ แต่ก็ยังไม่ผ่านเป็นกฎหมายเสียที กระทรวงยุติธรรมชี้แจงว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้ผ่านความเห็นชอบและได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลแล้ว ปัจจุบันกำลังอยู่ในขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็นตามรัฐธรรมนูญ  แต่ยังไม่สามารถระบุได้ว่า จะผ่านเป็นกฎหมายเมื่อไร

2 ตุลาคม 2550 ไทยเข้าเป็นภาคีในอนุสัญญาต่อต้านการทรมาน (Convention against Torture: CAT) ในยุคของพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์

รณกรณ์อธิบายว่า รัฐบาลในขณะนั้นไม่ได้มีความจริงใจในการแก้ปัญหา เพราะตอนที่คณะรัฐมนตรีมีมติว่าจะเข้าเป็นภาคีได้กล่าวว่า เพื่อเป็นการสร้างภาพลักษณ์ให้แก่ประเทศไทย โดยไม่ต้องมีการแก้ไขกฎหมาย ขณะที่กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ภายใต้กระทรวงยุติธรรม เป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่ร่างกฎหมายดังกล่าวก็ได้พยายามผลักดัน

เริ่มแรกมีการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา ให้มีเรื่องการซ้อมทรมานอยู่ด้วย แต่ร่างแก้ไขกฎหมายอาญาดังกล่าวถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจากผู้ที่ทำงานต่อต้านการทรมานว่ามีช่องโหว่จำนวนมาก เช่น ให้นิยามการซ้อมทรมานไว้แคบมาก จำกัดอยู่แค่การทำร้ายร่างกาย ข่มขืน และล่วงละเมิดทางเพศ ซึ่งในอนุสัญญาต่อต้านการทรมาน (CAT) บทที่หนึ่งนั้น ได้กำหนดว่า การซ้อมทรมาน ไม่ใช่แค่การกระทำที่ทำให้เกิดความเจ็บปวดทางร่างกาย แต่รวมถึงจิตใจด้วย

ปี 2553 ภาคประชาชนได้เสนอร่าง พ.ร.บ. ว่าด้วยเรื่องซ้อมทรมานโดยเฉพาะ ที่ครอบคลุมความผิดแบบต่างๆ อย่างกว้างขวางขึ้น และรัดกุมขึ้น ภาคประชาชนมองว่า ต้องมีกฎหมายแยกออกมาพิเศษ แค่การแก้กฎหมายอาญากับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญานั้นไม่พอ เพราะเมื่อไหร่ที่มีการประกาศใช้กฎหมายความมั่นคง เช่น กฎอัยการศึก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เป็นต้น ถูกบังคับใช้ ก็จะมีการให้อำนาจพิเศษเพิ่มกับเจ้าหน้าที่ ละเลยสิ่งที่บัญญัติไว้ในกฎหมายอาญาได้

9 มกราคม 2555 ในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ไทยลงนามในอนุสัญญาว่าด้วยการบังคับให้สูญหาย (International Convention for the Protection of All Persons from Enforced Disappearance: CED) แต่ยังไม่เป็นผลบังคับใช้ จะมีได้เมื่อมีกฎหมายเกี่ยวกับการทรมานและอุ้มหายในไทย แล้วรัฐจึงสามารถให้สัตยาบันเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาได้

จากการแก้ร่างกฎหมายว่าด้วยการซ้อมทรมานและอุ้มหายมาหลายร่าง ในปี 2559 ร่างกฎหมายฯ โดยนักกฎหมายคือ ณรงค์ ใจหาญ และ ปกป้อง ศรีสนิท ได้รับการผลักดันอีกครั้ง จนได้ยกร่างเป็น พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย และอาจเรียกว่าเป็นร่างที่ตรงตามอนุสัญญาที่สุด และเป็นครั้งแรกของโลกที่นำอนุสัญญาต่อต้านการทรมาน (CAT) และอนุสัญญาว่าด้วยการบังคับให้สูญหาย (CED) มารวมเป็นกฎหมายฉบับเดียว เนื่องจากมองว่า ผู้ตกเป็นเป้าของการซ้อมทรมานมีความเสี่ยงถูกทำให้สูญหาย เป็นการกระทำต่อเนื่อง แต่ร่างนั้นตกไป โดยรณกรณ์มีความเห็นว่า อาจเพราะร่างนั้นเป็น “เด็กดี” เกินไป

แต่หลังจากนั้นไม่ถึงเดือน วันที่ 24 พฤษภาคม 2559 คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบกับร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าว นำเข้าสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) ภายใต้กระทรวงยุติธรรม เพื่อพิจารณาและปรับปรุง แล้วนำเสนอคณะรัฐมนตรีและสภานิติบัญญัติ (สนช.) มีการตั้งคณะกรรมการเพื่อศึกษาโดย หนึ่ง- ศึกษาว่าจะต้องเข้าเป็นภาคีอนุสัญญานี้หรือไม่ สอง- ร่างกฎหมายที่เสนอไปมีเนื้อหาครอบคลุมและเหมาะสมกับสถานการณ์หรือไม่

10 มีนาคม 2560 สนช. เห็นชอบเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการบังคับให้สูญหาย แต่จะให้สัตยาบันก็ต่อเมื่อกฎหมายในประเทศไทยมีผลใช้บังคับ แต่ขณะเดียวกัน สนช. ประกาศว่า จะไม่พิจารณาร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ (ซึ่งร่างโดย ณรงค์ ใจหาญ และ ปกป้อง ศรีสนิท ที่ผ่านการแก้ไขแล้วแต่ไม่มากนัก) โดยกล่าวว่าเนื่องจากกฎหมายยังไม่สมบูรณ์ และส่งกลับมาให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) แก้ไข ซึ่งณรงค์ ใจหาญ และ ปกป้อง ศรีสนิทไม่ได้มีส่วนร่วมในการแก้ไขครั้งนี้ และร่างใหม่ที่ออกมามีหน้าตาที่เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง

นงภรณ์ รุ่งเพ็ชรวงศ์ กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ได้กล่าวว่า กระทรวงยุติธรรม กรมคุ้มครองสิทธิ ได้หารือกับกระทรวงต่างประเทศและหน่วยงานความมั่นคง ตอนนี้ประชุม 4 ครั้งเสร็จ ได้ร่างฉบับปัจจุบันซึ่งปรับปรุงล่าสุด และกำลังอยู่ในขั้นตอนรับฟังความคิดเห็น และนำเข้าเว็บไซต์ 30 วัน จากนั้นจะเสนอเข้าสู่ ครม. อีกครั้ง รัฐบาลเองก็ประกาศว่าจะสนับสนุนร่างนี้

“ระหว่างที่ พ.ร.บ. ยังไม่ผ่าน รัฐบาลได้แก้ปัญหาชั่วคราวโดยการออกมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2560 ตั้งคณะกรรมการจัดการการร้องทุกข์เรื่องการซ้อมทรมานและถูกทำให้สูญหายขึ้น มี 13 คน ส่วนใหญ่มาจากหน่วยงานรัฐ โดยให้รัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมเป็นประธาน ขณะนี้ได้นำข้อมูลทั้ง 86 กรณีที่สหประชาชาติให้มาตรวจสอบข้อเท็จจริง มีทั้งชื่อซ้ำ มีทั้งที่ติดอยู่ในเรือนจำ มีทั้งเสียชีวิต มีทั้งชื่อที่ยังตรวจสอบไม่ได้ แต่คาดว่าในเร็วๆ นี้จะรายงานความคืบหน้า 86 กรณีนี้แก่สหประชาชาติให้ได้” นงภรณ์กล่าว

ข้อดีของร่าง ‘พ.ร.บ. อุ้มหาย’ ฉบับล่าสุด ครอบครัวถือเป็นผู้เสียหาย DSI ต้องรับผิดชอบคดี

 

กรณีอุ้มหายให้ครอบครัวเป็นผู้เสียหายและสามารถเป็นโจทก์ร่วม แต่งตั้งทนายเพื่อฟ้องคดีได้

 

รณกรณ์อธิบายว่า ในอนุสัญญาบังคับให้สูญหาย (CED) ไม่ได้เขียนกฎหมายเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ แต่เป็นการผลักดันในร่าง พ.ร.บ. ของปกป้อง ศรีสนิท และณรงค์ ใจหาญ ในการอุดช่องว่าง โดยเพิ่มเข้าไปใน ร่าง พ.ร.บ. นี้ มาตรา 10 “ในคดีความผิดฐานกระทำให้บุคคลสูญหายตามมาตรา 6 ให้สามีภริยา ผู้บุพการี และผู้สืบสันดานของผู้ได้รับความเสียหายตามพระราชบัญญัตินี้ เป็นผู้เสียหายตามประมวล กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาด้วยไม่ว่าจะพบศพหรือไม่ บาดเจ็บหรือไม่” ดังนั้นครอบครัวจึงถือว่าเป็นผู้เสียหายและสามารถแต่งตั้งทนาย เข้าเป็นโจทก์ร่วม

DSI ไม่มีอำนาจปฏิเสธไม่รับคดี (ยกเว้นเจ้าหน้าที่ของ DSI เป็นผู้ถูกกล่าวหา จะเป็นหน้าที่ของพนักงานสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธิจารณาความอาญา)

 

รณกรณ์อธิบายต่อว่า คดีที่เกี่ยวกับการทรมานและบังคับให้สูญหายทั้งหมดจะขึ้นตรงต่อดีเอสไอ ดีเอสไอรับแล้วจะทำหน้าที่สืบสวน แล้วส่งไปที่ ปปช. หรือ ปปท. ซึ่งมีหน้าที่สอบสวน หลังจากนั้นหาก คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) หรือ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ปปท.) รับคดี ทำการสอบสวนแล้วจะส่งต่อไปให้อัยการ  ถ้าอัยการฟ้องก็จะไปที่ศาลอาญาทุจริตฯ หากอัยการสั่งไม่ฟ้อง แต่ ปปช. หรือ ปปท. เห็นว่าควรฟ้องสามารถฟ้องเอง หรือจ้างทนายความเอกชนฟ้องได้เลย

กรณีกลับกัน หาก ปปช. หรือ ปปท. ไม่รับคดี คดีกลับมาที่ดีเอสไอ ดีเอสไอจะสอบสวนแทน และส่งไปที่อัยการ แต่หากอัยการสั่งไม่ฟ้อง ดีเอสไอไม่สามารถฟ้องเองได้

ศาลคดีอาญาทุจริตฯ ทำหน้าที่ตัดสินคดี

 

รณกรณ์ชี้ว่า การใช้ศาลคดีอาญาทุจริตฯ แทนศาลอาญาปกติว่า ดีกว่าเพราะ หนึ่ง-เป็นศาลที่มีการใช้ระบบไต่สวน โดยศาลสามารถส่งคนไปค้นหาพยานหลักฐานได้เอง ในขณะที่ศาลอื่นใช้ระบบกล่าวหา โดยศาลจะให้ฝ่ายโจทก์กับจำเลยให้การ เสนอพยานหลักฐาน แล้วศาลจะบันทึกไว้เท่านั้น สอง-ผู้พิพากษามีประสบการณ์สูงกว่าศาลชั้นต้นทั่วไป โดยต้องทำงานมาอย่างน้อย 10 ปี สาม-หากจำเลยหลบหนีหยุดนับอายุความ สี่-จำเลยต้องมาปรากฏตัวต่อศาลหากประสงค์จะอุทธรณ์ และ ห้า-จำเลยหลบหนีระหว่างได้ประกันตัวถือเป็นความผิดต่างหากอีกฐาน แต่มีข้อเสียเพียงอย่างเดียวคือศาลนี้มีเพียง 10 ศาลทั่วประเทศ

ข้อกังวลต่อร่าง ‘พ.ร.บ. อุ้มหาย’  ตัดบางส่วนในอนุสัญญาระหว่างประเทศออก คำนิยามไม่ชัดเจน

 

ตัดบางส่วนที่อยู่ในอนุสัญญา CAT หรือ CED ออก และหลักการอื่นที่ควรใส่ แต่กลับไม่มี

 

ด้านคณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล (ICJ) และแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ได้กล่าวว่าการแก้ไขเพิ่มเติมล่าสุดก่อให้เกิดความกังวลเป็นอย่างมาก เนื่องจากมีการตัดเนื้อหาที่เป็นหลักประกันสำคัญทางกฎหมายที่จำเป็นต่อการทำให้การทรมานและการปฏิบัติหรือการลงโทษอื่นๆ ที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี และการกระทำให้บุคคลสูญหาย เป็นการกระทำที่ต้องห้ามเด็ดขาดในประเทศไทย

สัณหวรรณ ศรีสด คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล (ICJ) ได้ชี้แจ้งถึงข้อกังวลดังกล่าว ดังนี้

1. หลักการไม่สามารถผ่อนปรนได้ สัณหวรรณกล่าวว่า หลักการห้ามอ้างสถานการณ์ใดๆ ก็ตามในการทรมานหรืออุ้มหาย เมื่อตัดออกเท่ากับสามารถอ้างสถานการณ์พิเศษในการทรมานหรืออุ้มหายได้

2. หลักการห้ามผลักดันกลับไปเผชิญอันตราย ในกรณีการส่งบุคคลกลับไปยังสถานที่ซึ่งมีความเสี่ยงว่าบุคคลนั้นจะถูกทรมาน เช่น ส่งอุยกูร์กลับจีน ส่งโรฮินญากลับพม่า เมื่อตัดออกเท่ากับสามารถส่งบุคคลกลับไปในสถานที่ที่เสี่ยงว่าจะถูกทรมานได้

3. ความรับผิดของผู้บังคับบัญชา สัณหวรรณชี้ว่า ในร่าง พ.ร.บ. นี้ ผู้บังคับบัญชาต้องร่วมรับผิดชอบเฉพาะกรณีทำให้บุคคลสูญหาย ตัดการร่วมรับผิดชอบในกรณีการทรมานออก แม้อนุสัญญาต่อต้านการทรมานไม่ได้เขียนถึงเรื่องนี้ แต่อนุสัญญาบังคับให้สูญหายได้เขียนไว้

รณกรณ์ได้แสดงความเห็นเพิ่มเติมว่า เมื่อดูความเป็นจริง หากเราถูกปิดตาแล้วทรมาน เราจะไม่รู้ว่าใครเป็นคนทรมาน ทำให้ไม่สามารถฟ้องคดีอาญาได้ เพราะคดีอาญาจะต้องรู้ตัวผู้กระทำผิดจึงดำเนินคดีได้ ดังนั้นถ้าหากผู้บังคับบัญชาไม่ต้องร่วมรับผิดในกรณีทรมาน กฎหมายนี้จะไม่มีผลบังคับใช้ในความเป็นจริง

สัณหวรรณ ชี้แจงว่า ทั้ง 3 ข้อดังกล่าวต่างอยู่ในอนุสัญญาต่อต้านการทรมาน (CAT) หรืออนุสัญญาว่าด้วยการบังคับให้สูญหาย (CED) ทั้งสิ้น และนอกจากนี้ยังมีหลักการมาตรฐานอื่นที่ควรใส่อีกคือ

4. การนำคำให้การที่ได้มาจากการทรมานมาใช้ โดยร่าง พ.ร.บ. ไม่กำหนดข้อห้ามเฉพาะในการนำคำให้การและข้อมูลใดๆ ที่มาจากการทรมาน ปฏิบัติ หรือลงโทษอื่นๆ ที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม ย่ำยีศักดิ์ศรี มาเป็นพยานหลักฐาน สัณหวรรณเห็นว่า ควรมีการแก้ไขเพิ่มเติมในร่าง พ.ร.บ. เพื่อห้ามอย่างชัดแจ้งไม่ให้ใช้พยานหลักฐานนั้น

5. หลักประกันเพื่อการป้องกัน ในร่าง พ.ร.บ. ไม่มีข้อบทที่เกี่ยวกับการให้ทนายความและญาติสามารถเข้าเยี่ยมผู้ถูกควบคุมตัวได้

“การต้องชี้แจงข้อมูลเกี่ยวกับชะตากรรมและสถานที่ควบคุมตัวอย่างต่อเนื่องต่อญาติและทนายความ การกำหนดให้ต้องมีทนายความระหว่างการสอบปากคำ และให้มีการบันทึกวีดิโอและ/หรือบันทึกเสียงระหว่างสอบปากคำทุกครั้ง หลักประกันเหล่านี้ควรถูกใส่ในร่าง พ.ร.บ. และควรมีการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาให้สอดคล้องกับร่าง พ.ร.บ.” สัณหวรรณกล่าว

6. ความรับผิดทางอาญานอกเหนือจากผู้กระทำการโดยตรง สัณหวรรณชี้ว่า ร่าง พ.ร.บ. ขาดความชัดเจนส่วนความรับผิดทางอาญานอกเหนือไปจากผู้กระทำความผิดโดยตรง จึงควรมีการแก้ไขให้ชัดเจนว่าความรับผิดครอบคลุมนอกเหนือผู้กระทำการโดยตรงเพียงใด และกำหนดโทษอย่างเหมาะสมกับผู้ร่วมกระทำความผิดในรูปแบบต่างๆ

7. การปฏิบัติหรือการลงโทษอื่นๆ ที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี - ร่าง พ.ร.บ. ไม่ได้กำหดนการกระทำที่เป็นการปฏิบัติหรือการลงโทษอื่นๆ ที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี ซึ่งเป็นการกระทำต้องห้ามอย่างเด็ดขาดเช่นเดียวกับการทรมานและถือเป็นสิทธิที่ไม่สามารถผ่อนปรนได้แม้ในเวลาใดก็ตาม ควรแก้ไขให้มีความผิดทางอาญาเป็นการเฉพาะ

คำนิยามไม่ชัดเจน

 

รณกรณ์ กล่าวถึงข้อห่วงกังวลในร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้เกี่ยวกับเรื่องคำนิยามว่า

1. “การทรมาน” จากร่างพ.ร.บ. ฉบับดังกล่าว เขียนว่า “การทรมาน หมายความว่า การกระทำด้วยประการใดให้ผู้อื่นเกิดความเจ็บปวดหรือความทุกข์ทรมานอย่างร้ายแรงแก่ร่างกายหรือจิตใจ” คำว่า “อย่างร้ายแรง” เป็นคำไม่ชัดเจนและไม่แน่นอน เพราะกฎหมายโดยปกติใช้คำว่า “สาหัส” ซึ่งหมายความว่า ต้องเข้าโรงพยาบาล 21 วัน ขึ้นไป แต่คำว่า “อย่างร้ายแรง” ไม่อาจรู้ได้ว่าเบาหรือแรงกว่า “สาหัส”

รณกรณ์กล่าวเสริมว่า ทั้งนี้หนึ่งในหลักการกฎหมายอาญาคือกฎหมายต้องมีความชัดเจนแน่นอน (Nullum crimen sine lege certa) และหลักการนี้ถูกรับรองโดยกฎหมายรัฐธรรมนูญ

“ในต่างประเทศ เช่น ฝรั่งเศส เลือกที่จะบัญญัติความผิดเฉพาะเกี่ยวกับการซ้อมทรมานและบังคับให้สูญหาย แต่ไม่ให้นิยามคำว่า “การทรมาน” เพราะไม่รู้ว่าแบบไหนเรียกว่าทรมาน และแบบไหนไม่ใช่ แต่ให้ศาสตราจารย์ทางกฎหมายเขียนคำนิยามในตำราเอง ส่วนเยอรมันนีและสวิตเซอร์แลนด์เลือกที่จะไม่บัญญัติความผิดเฉพาะ” รณกรณ์ยกตัวอย่าง

2. เมื่อพูดคำว่า “จิตใจ” หมายถึงระบบการทำงานของสมอง ในประมวลกฎหมายอาญาศาลฎีกายืนยันมาตลอดว่าความรู้สึกเจ็บใจ เสียใจ หวาดกลัว ไม่ใช่การกระทำที่กระต่อจิตใจ

รณกรณ์ตั้งข้อสังเกตว่า แต่อย่างไรก็ตามอนุสัญญาต่อต้านการทรมาน เมื่อพูดถึง “จิตใจ” เขาหมายถึงความรู้สึกหวาดกลัว ความรู้สึกถูกเหยียดหยามด้วย ดังนั้นร่างพ.ร.บ. ฉบับนี้เลือกใช้คำนี้ ไม่แน่ใจว่าจะตีความเหมือนประมวลกฎหมายอาญาหรือจะไปไกลกว่านั้น

3. ร่าง พ.ร.บ. นี้ให้คำนิยาม “เจ้าหน้าที่รัฐ” ต่างจากประมวลกฎหมายอาญาซึ่งนิยามว่า คนที่ทำงานให้รัฐไม่ว่าจะได้ค่าตอบแทนหรือไม่ แต่ ร่าง พ.ร.บ. นี้ “เจ้าหน้าที่รัฐ” หมายถึง “บุคคลซึ่งใช้อำนาจรัฐหรือได้รับมอบอำนาจหรือได้รับแต่งตั้ง อนุญาต การสนับสนุน หรือการยอมรับโดยตรงหรือโดยปริยาย ให้ใช้อำนาจรัฐในการดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งตามกฎหมาย”

“พูดง่ายๆ คือลอกมาจากอนุสัญญาบังคับให้สูญหาย (CED) แต่ประเด็นคือ ยังมีอนุสัญญาต่อต้านการทรมาน (CAT) ซึ่งเขียนถึงเจ้าหน้าที่รัฐในความหมายที่กว้างกว่า นั่นคือรวมถึงการที่เจ้าพนักงานเอกชนกระทำการบางอย่างโดยเจ้าหน้าที่รัฐรู้เห็นเป็นใจ หรือเพิกเฉยไม่กระทำการใด” รณกรณ์กล่าว

4. คำว่า “ผู้มีส่วนร่วมในการกระทำความผิด” รณกรณ์ชี้ว่า คำนี้ไม่ปรากฎในประมวลกฎหมายอาญา มีแต่คำว่า ผู้ใช้ ผู้โฆษณา ตัวการ ผู้สนับสนุน การใช้คำนี้โดยไม่มีการบัญญัตินิยามทำให้เกิดความไม่ชัดเจน

รณกรณ์ยังกล่าวต่อถึงกรณีการแปลความที่ผิด โดยการแปลอนุสัญญาต่อต้านการทรมาน (CAT) มาใส่ในร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้มีจุดที่แปลผิด ในมาตรา 5 ของร่างฯ แปลมาจากคำว่า Such purposes as ซึ่งเป็นการยกตัวอย่าง 4 กรณี แต่ร่างฯ กลับเขียนเป็นการกำหนดเพียงแค่ 4 อย่างนี้เท่านั้น

ข้อกังวลในทางปฏิบัติ อาจถูกฟ้องปิดปาก หากทหารเป็นผู้กระทำยังต้องขึ้นศาลทหาร

 

สมชาย หอมลออ นักกฎหมายและที่ปรึกษาอาวุโส มูลนิธิผสานวัฒนธรรม กล่าวถึงข้อห่วงกังวลในทางปฏิบัติว่า ผู้ร้องเรียนกรณีตัวเองหรือญาติที่ตกเป็นผู้ถูกทรมานหรืออุ้มหายอาจตกเป็นผู้ต้องหาในคดีฟ้องปิดปาก หรือ ‘SLAPP’ (Strategic Lawsuit Against Public Participation) โดยเป็นการกลั่นแกล้งดำเนินคดีทั้งในทางแพ่งและอาญาเพื่อที่จะไม่ให้มีการตรวจสอบการกระทำของหน่วยงานรัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องการทรมานและการอุ้มหาย ยกตัวอย่างเช่นกรณีหนึ่ง ผู้เสียหายร้องเรียนเรื่องที่ตนเองถูกซ้อมทรมาน แต่ที่สุดก็โดนข้อหาแจ้งความเท็จ ให้การเท็จ และตอนนี้ยังอยู่ในเรือนจำ คนที่เป็นโจทก์กลายเป็นจำเลยเสียเอง เป็นอุปสรรคที่ทำให้คนไม่กล้าร้องเรียนเมื่อตนเองหรือญาติตกเป็นเหยื่อการซ้อมทรมาน อุ้มหาย 

ประเด็นที่สอง เมื่อดีเอสไอส่งเรื่องให้ ปปช. หรือ ปปท. ซึ่งมีกระบวนการไต่สวนเป็นความลับอย่างยิ่งยวด แม้สอบสวนเสร็จแล้วก็ไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดของการไต่สวน หลายคดีไม่สามารถเข้าถึงรายงานการสอบสวนหรือไต่สวนได้ แม้ปปช. หรือ ปปท. จะมีคำวินิจฉัยแล้วว่าไม่เข้าข่าย หรือไม่มีมูลเพียงพอที่จะดำเนินคดีต่อ ทำให้กระบวนการขาดความโปร่งใส

ประเด็นต่อมา สมชายตั้งข้อสังเกตว่า การซ้อมทรมานและการอุ้มหายไม่น้อยทั้งในอดีตและปัจจุบันเกิดจากการกระทำของทหาร ซึ่งการดำเนินคดีไม่ได้ตัดอำนาจของศาลทหาร ดังนั้นกรณีทหารเป็นผู้กระทำ ก็ต้องขึ้นศาลทหารอยู่ดี ยกเว้นมีการกล่าวหาว่ากระทำพร้อมกับพลเรือนก็ขึ้นศาลคดีอาญาทุจริตฯ  เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในหลายคดี เช่น คดีของอิหม่ามยะผา ก็เกิดขึ้นในศาลทหารโดยผู้เสียหายไม่สามารถแต่งตั้งทนายความเข้าไปเป็นโจทก์ร่วมได้

“ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ไม่ได้มีการแก้ไขปัญหาส่วนนี้เลย ทั้งจริงแล้วศาลทหารควรมีอำนาจพิจารณาคดีการกระทำผิดตามกฎหมายอาญาทหารเท่านั้น เช่น ทหารกระทำความผิดต่อผู้บังคับบัญชา แต่ปัจจุบันทหารขับรถชนพลเรือนตายก็ขึ้นศาลทหาร” สมชายกล่าว

สมชายยังชี้ให้เห็นถึงอำนาจของ กอ.รมน. ว่า ในสถานการณ์พิเศษที่มีประกาศกฎอัยการศึก หรือพ.ร.บ.ความมั่นคง ซึ่งให้อำนาจ กอ.รมน. อย่างเบ็ดเสร็จ ในการควบคุมหน่วยงานเกี่ยวกับความมั่นคงซึ่งมีความหมายกว้างมาก ดังนั้นการตรวจสอบถ่วงดุลกันระหว่างหน่วยงานของรัฐจะถูกจำกัด

“ส่วนในเรื่องการเยียวยา แม้อัยการสามารถขอให้ศาลมีคำสั่งพร้อมกับคำพิพากษาให้ชดเชยค่าเสียหายหรือเยียวยาแก่ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อ แต่ถ้าฟ้องคดีเองจำเป็นต้องไปฟ้องคดีแพ่งต่างหากเพื่อเรียกร้องค่าเสียหาย แม้ศาลอาจจะมีการเยียวยาให้ในเบื้องต้น แต่การเยียวยาแก่ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อของการถูกทรมานหรืออุ้มหายมีความล่าช้าเป็นพิเศษ” สมชายกล่าว

และท้ายสุดคือเรื่องคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหาย มีสัดส่วนมาจากราชการถึง 12 หน่วยราชการ สภาทนายความ 1 คน ผู้ทรงคุณวุฒิเพียง 6 คนเท่านั้น และผู้ทรงคุณวุฒิไม่มีความชัดเจนว่ามีที่มาอย่างไร ดังนั้นบทบาทของคณะกรรมที่จะอุดช่องว่างทางกฎหมายของ พ.ร.บ. ฉบับนี้จะมีบทบาทในการป้องกัน ปราบปรามการทรมานและการอุ้มหายได้มากน้อยเพียงใด ยังเป็นคำถาม

 

ล่าสุด วันที่ 20 ธ.ค. 61 ร่าง พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหาย ได้เข้าสู่การพิจารณาของ สนช. ในวาระ 2 และมีมติให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้

 
 
*แก้ไขเพิ่มเติม วันที่ 31 ธ.ค. 61 เวลา 20.29 น.
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท