สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 12-18 มี.ค. 2561

รมว.พณ.ห่วงหลังขึ้นค่าแรง 1 เม.ย.สั่งดูราคาเข้ม

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 2561 เป็นต้นไป การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำจะมีผลอย่างเป็นทางการ ถึงแม้ว่าจะการศึกษาของกรมการค้าภายใน จะพบว่าค่าแรงมีผลต่อต้นทุนการผลิตสินค้าไม่มากนัก แต่จะมีการกำชับให้ทางกรมการค้าภายใน ออกไปตรวจสอบสถานการณ์ราคาสินค้าให้เข้มงวดอย่างต่อเนื่อง เพื่อที่จะป้องปรามไม่ให้มีการฉวยโอกาสปรับขึ้นราคาสินค้าโดยไม่สมควร

ในขณะที่ นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่าในสัปดาห์หน้าจะเชิญผู้ประกอบการผลิตสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับการใช้แรงงานเข้มข้น ประกอบด้วย กลุ่มอาหารแปรรูป,สิ่งทอ,ผ้าผืน มาหารือร่วมกัน พร้อมกับวางแผนการจัดงาน Back to School ลดราคาสินค้าชุดนักเรียนรับเปิดเทอม ดูแลค่าครองชีพให้กับผู้ปกครอง

ที่มา: ไอเอ็นเอ็น, 17/3/2561

ก.แรงงาน สร้างความเข้าใจการทำสัญญาจ้าง การจ่ายค่าจ้างแรงงานประมงทะเล ตาม กม. คุ้มครองแรงงานแก่นายจ้าง

นายจรินทร์  จักกะพาก ปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นประธานเปิดโครงการประชุมชี้แจง เรื่อง การทำสัญญาจ้างและการจ่ายค่าจ้างแรงงานประมงทะเล เพื่อแก้ไขปัญหาประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม รุ่นที่ 2  ณ เดอะเกรซ อัมพวา รีสอร์ท อ.เมือง จ.สมุทรสงคราม วันนี้ (16 มี.ค. 2561) โดยกล่าวว่า “สืบเนื่องจากแบบสัญญาจ้างที่กำหนดไว้ในกฎหมาย ให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างเป็นรายเดือนโดยจ่ายผ่านบัญชีธนาคาร และนายจ้างเป็นผู้ออกค่าธรรมเนียมในการโอนเงิน ซึ่งต้องบัญญัติแบบให้สอดคล้องกับมาตรา 82 ของพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 เพื่อให้นายจ้างในกิจการประมงทะเล ได้มีความรู้ ความเข้าใจในการทำสัญญาจ้างและการจ่ายเงินผ่านธนาคาร กระทรวงแรงงาน โดยกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จึงให้กองคุ้มครองแรงงานจัดโครงการประชุมชี้แจง เรื่อง การทำสัญญาจ้างและการจ่ายค่าจ้างแรงงานประมงทะเล ในวันนี้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการทำสัญญาจ้าง และการจ่ายค่าจ้างแรงงานประมงทะเลตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ให้แก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้มีแนวทางดำเนินงานที่สอดคล้องกับข้อกฎหมายและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน พร้อมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ ในการแก้ไขปัญหา อุปสรรค เพื่อสร้างการร่วมมือในการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU Fishing)”

โดยโครงการนี้มีผู้เข้าร่วมการประชุมประกอบด้วย ผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจากภาครัฐ ธนาคารพาณิชย์ สมาคมประมง ผู้ประกอบการประมงทะเล แรงงานประมงทะเลในพื้นที่จังหวัดจันทบุรี ตราด ระยอง ชลบุรี ฉะเชิงเทรา สมุทรปราการ สมุทรสาคร สมุทรสงคราม เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ และชุมพร จำนวน 260 คน ระยะเวลาการประชุมจำนวน 1 วัน และได้เชิญวิทยากรผู้มีความเชี่ยวชาญด้านกฎหมายจากกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน มาบรรยายให้ความรู้ เรื่อง กฎหมายคุ้มครองแรงงาน แบบสัญญาจ้างลูกจ้างประมง การจัดทำบัญชีการจ่ายค่าจ้าง และการส่งเสริมแรงงานสัมพันธ์ในสถานประกอบกิจการประมงทะเล ซึ่งได้รับความสนใจจากผู้เข้าร่วมประชุม โดยมีการซักถามปัญหาและอุปสรรคตลอดการประชุมอีกด้วย

ที่มา: กระทรวงแรงงาน, 17/3/2561

สำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานลำพูนร่วมกับมูลนิธิโครงการหลวง พัฒนาคุณภาพชีวิตชาวไทยภูเขา 6 จังหวัดภาคเหนือตอนบน

นางณฐมน ปัทมะสุคนธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานลำพูน เปิดเผยว่าสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานลำพูน ร่วมกับมูลนิธิโครงการหลวง ได้ดำเนินการพัฒนาฝีมือแรงงานให้กับชาวไทยภูเขา สานต่อที่พ่อทำ สืบสานพระราชปณิธานของพ่อหลวง" เพื่อมุ่งหวังที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิตชาวไทยภูเขา 6 จังหวัดภาคเหนือตอนบน ให้มีอาชีพ โดยมีชาวไทยภูเขาจาก 6 จังหวัดภาคเหนือตอนบน ได้แก่ ลำพูน เชียงใหม่ เชียงราย พะเยา น่าน และแม่ฮ่องสอน จำนวน 40 คน

สำหรับการฝึกอบรมการพัฒนาฝีมือแรงงานให้กับชาวไทยภูเขา มีจำนวน 2 รุ่น ได้แก่ รุ่นที่ 1 หลักสูตร ช่างเย็บจักรอุตสาหกรรม ฝึกอบรมระหว่างวันที่ 5 -11 มีนาคม 2561 และรุ่นที่ 2 หลักสูตร การตัดเย็บชุดเดรส ฝึกอบรมระหว่างวันที่ 15 – 19 มีนาคม 2561

ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าวเป็นการอนุรักษ์ ภูมิปัญญาด้านหัตถกรรมดั้งเดิมของชนเผ่าและส่งเสริมการพัฒนา ประยุกต์สินค้าชนเผ่าให้เป็นที่พึงพอใจของผู้ซื้อ รวมถึงเพิ่มศักยภาพด้านการออกแบบ และด้านการตลาด ทำให้เกิดการจ้างงาน มีอาชีพ มีรายได้ สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน นำไปสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดี ชุมชนเข้มแข็งต่อไป

ที่มา: สำนักประชาสัมพันธ์จังหวัดลำพูน, 16/3/2561

แม่ค้าจันทบุรีร้องสื่อพบแรงงานต่างด้าวแย่งอาชีพคนไทย

ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวไอเอ็นเอ็นได้รับการร้องเรียนจาก นางสาวหมู (นามสมมติ) แม่ค้าขายผักสด ในตลาดสดสวนมะม่วง ตำบลตลาด อำเภอเมือง จังหวัดจันทบุรี ว่ามีแรงงานต่างด้าว สัญชาติกัมพูชา ทั้งชายหญิง กว่า 10 คน ตั้งแผงมาเช่าที่ขายผักสดกว่า 10 แผง แย่งอาชีพคนไทยโดยไม่สนใจกฎหมายไทย จากการลงพื้นที่ตรวจสอบ พบแรงงานชาวกัมพูชาเปิดแผงขายผักสด และแผงขายผลไม้กว่า 10 แผง ตามที่พ่อค้าแม่ค้าร้องเรียนจริง

โดยพบว่าแรงงานชาวกัมพูชาเปิดแผงขายผักสด และขายผลไม้อย่างโจ่งแจ้งโดยไม่เกรงกลัวกฎหมาย นอกจากนี้บางแผงชาวกัมพูชาลงทุนจ้างคนไทยมาเป็นนายจ้าง หากมีเจ้าหน้าที่มาตรวจสอบ สร้างความเดือนร้อนให้กับพ่อค้าแม่ค้าคนไทยมานาน ทั้งนี้ตลอดเวลาพ่อค้าแม่ค้าตลาดสดสวนมะม่วง เคยร้องเรียนไปยังหน่วยงานที่รับผิดชอบหลายต่อหลายครั้งแล้ว แต่เรื่องก็เงียบเฉย

จากการสอบถามนางสาวหมู เล่าว่า ในตลาดสดสวนมะม่วงมีแรงงานต่างด้าวชาวกัมพูชามารับจ้างเข็นผักและยกของหลายคน แต่จะมีบางคนเริ่มตั้งตัวโดยการไปรับผักจากตลาดโบลิ่งมาขายเอง โดยไม่มีนายจ้าง และบางคนยอมลงทุนจ้างคนไทยเป็นนายจ้าง เพื่อหลีกเลี่ยงการจับกุมและตรวจสอบจากเจ้าหน้าที่ของรัฐ ในส่วนนี้ตนเอง และเพื่อนพ่อค้าแม่ค้าได้รับความเดือดร้อนเป็นอย่างมาก ที่ผ่านมาเคยแจ้งเจ้าหน้าที่ไปแล้วแต่เรื่องเงียบหาย ทำให้มีแรงงานกัมพูชาเริ่มมาเช่าแผงขายของเพิ่มมากขึ้น ทั้งตลาดเช้าและตลาดเย็น จึงอยากวอนเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบเข้าบุกตรวจ และจับกุมดำเนินคดีตามกฎหมายให้ด้วย

ที่มา: สำนักข่าวไอเอ็นเอ็น, 16/3/2561

แนะผู้ประกันตน ม.39 ต้องส่งเงินสมทบภายในระยะเวลา 12 เดือน ให้ครบ 9 เดือน เพื่อป้องกันการสิ้นสภาพ

14 มี.ค. 2561- นพ.สุรเดช วลีอิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า สำนักงานประกันสังคมยังคงมุ่งมั่นแก้ไขปัญหาการสิ้นสภาพความเป็นผู้ประกันตนมาตรา 39 ซึ่งเกิดจากสาเหตุสิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตนเนื่องจากขาดส่งเงินสมทบ 3 เดือนติดต่อกัน หรือภายในระยะเวลา 12 เดือน ส่งเงินสมทบมาแล้วไม่ครบ 9 เดือน

"จากการรายงานข้อมูลของผู้ประกันตนมาตรา 39 พบว่ายังมีผู้ประกันตนมาตรา 39 ยังคงค้างชำระเงินสมทบงวดเดือนมกราคม 2561 มีจำนวน 87,299 ราย และค้างชำระเงินสมทบงวดเดือนธันวาคม 2560 มกราคม 2561 จำนวน 18,278 ราย ซึ่งผู้ประกันตนกลุ่มดังกล่าวสุ่มเสี่ยงต่อการขาดส่งเงินสมทบ ซึ่งจะมีผลทำให้สิ้นสภาพการเป็นผู้ประกันตนทันที ทั้งนี้ สำนักงานประกันสังคมได้ดำเนินการแจ้งเตือน เป็นหนังสือให้ผู้ประกันตนกลุ่มดังกล่าวให้รีบมาดำเนินการส่งเงินสมทบให้ครบถ้วนอย่างเร่งด่วนแล้ว"นพ.สุรเดช กล่าว

 

เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กล่าวต่อไปว่า ขอย้ำถึงผู้ประกันตนมาตรา 39 ซึ่งอยู่ในความดูแลของสำนักงานประกันสังคมในขณะนี้จำนวน 1,381,055 คน หมั่นให้ความสำคัญในการตรวจสอบการนำส่งเงินสมทบด้วยตนเองกับสำนักงานประกันสังคมอย่างสม่ำเสมอ และควรนำส่งเงินสมทบอย่างต่อเนื่อง หากผู้ประกันตนขาดส่งเงินสมทบ 3 เดือนติดต่อกัน หรือภายในระยะเวลา 12 เดือน ส่งเงินสมทบมาแล้วไม่ครบ 9 เดือน จะสิ้นสภาพการเป็นผู้ประกันตนทันที

นพ.นุรเดช  กล่างอีกว่า อย่างไรก็ดีสำนักงานประกันสังคมได้อำนวยความสะดวกในการชำระเงินสมทบของผู้ประกันตนมาตรา 39 ซึ่งมีกำหนดชำระเงินสมทบภายในวันที่ 15 ของทุกเดือนอยู่หลากหลายช่องทางด้วยกัน

นพ.สุรเดช กล่าวอีกว่า ดังนี้ จ่ายเงินสมทบได้ที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่/จังหวัด/สาขา หรือหักผ่านบัญชีเงินฝากธนาคารกรุงศรีอยุธยา ธนาคารกรุงไทย ธนาคารธนชาต ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ และธนาคารทหารไทย และธนาคารกรุงเทพ จ่ายด้วยเงินสดได้ที่ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ธนาคารกรุงไทย และธนาคารธนชาต และจ่ายผ่านระบบ Pay at Post ณ ที่ทำการไปรษณีย์ทั่วประเทศ จ่ายผ่านเคาน์เตอร์เซอร์วิสในร้านเซเว่น อีเลฟเว่น หรือจ่ายผ่านเคาน์เตอร์เซ็นเพย์ (เซ็นทรัล)

"ทั้งนี้ ผู้ประกันตนสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ 12 แห่ง สำนักงานประกันสังคมจังหวัด/สาขา/ที่ท่านสะดวก หรือโทร 1506 ตลอด 24 ชั่วโมง หากผู้ประกันตนมีข้อสงสัยสามารถสอบถามได้ที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ทั้ง 12 แห่ง สำนักงานประกันสังคมจังหวัด/สาขา/ที่ท่านสะดวก หรือโทร.1506 (เจ้าหน้าที่ให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง)" เลขาธิการ สปส.กล่าวในที่สุด

ที่มา: เนชั่นทีวี, 15/3/2561

กสร.เอาผิดนายจ้างเชียงใหม่ 2 รายไม่ปฏิบัติตาม กม.แรงงาน

นายอนันต์ชัย อุทัยพัฒนาชีพ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) เปิดเผยกรณีที่มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (HRDF) ช่วยเหลือลูกจ้างต่างด้าวสัญชาติเมียนมา จำนวน 7 คน ซึ่งหนีออกมาจากนายจ้าง และโทรศัพท์มาขอความช่วยเหลือที่จังหวัดเชียงใหม่ว่า เมื่อได้รับเรื่องดังกล่าวจึงได้ส่งพนักงานตรวจแรงงาน สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดเชียงใหม่เข้าช่วยเหลือทันที โดยร่วมกับทีมสหวิชาชีพคัดแยกผู้เสียหาย ซึ่งสรุปผลการคัดแยกได้ว่า ลูกจ้างทั้ง 7 คนเป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ จึงได้ส่งตัวเข้าพักและอยู่ในการดูแลของบ้านพักเด็กและครอบครัวเชียงใหม่ เพื่อรอการสืบสวนของตำรวจ และจากการสอบถามข้อเท็จจริงเพิ่มเติมจากลูกจ้างพบว่า ทั้ง 7 คนเป็นลูกจ้างในสวนสตรอเบอร์รี่ ตั้งอยู่ในหมู่บ้านแม่เกี๋ยะ ตำบลบ่อแก้ว อำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่

ทั้งนี้ กองบังคับการตำรวจภูธรจังหวัดเชียงใหม่ ได้สืบทราบว่ามีนายจ้าง รวม 2 คน พนักงานตรวจแรงงานพิจารณาแล้วเห็นว่าการกระทำของนายจ้างทั้ง 2 รายนี้ ไม่เป็นไปตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน สำหรับการหักค่าจ้างตามมาตรา 76 อยู่ระหว่างการรวบรวมพยานหลักฐานเพิ่มเติมเพื่อยืนยันและพิสูจน์ให้เห็นความผิด ในส่วนของคดีแพ่ง มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนาได้นำลูกจ้างทั้ง 7 คน เข้ายื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงาน สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดเชียงใหม่แล้ว เพื่อเรียกร้องค่าจ้างค้างจ่าย ค่าจ้างขั้นต่ำ และค่าทำงานในวันหยุด

ที่มา: ไอเอ็นเอ็น, 15/3/2561

ก.แรงงาน จับมือกรมราชทัณฑ์ สถานประกอบการ คัดเลือกผู้ต้องขังชั้นดี ผู้ที่กำลังจะพ้นโทษ 3.7 หมื่นคนมีอาชีพ คืนคนดีสู่สังคม

เมื่อวันที่ 14 มี.ค.61 พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานการประชุมโครงการประชารัฐ ร่วมสร้างงาน สร้างอาชีพผู้ต้องขัง ระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน ตามโครงการ "โรงงานในเรือนจำ" ณ ห้องประชุมเทียน อัชกุล ชั้น 10 กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน โดยกล่าวว่า ปัจจุบันมีผู้ต้องขังในเรือนจำทั่วประเทศ 346,470 คน จากเรือนจำทั้งหมด 143 แห่ง ส่วนใหญ่จะมีอายุตั้งแต่ 18 - 35 ปี กระทรวงแรงงานมีเป้าหมายที่จะให้ผู้ต้องขังเหล่านี้ได้เข้าร่วมโครงการ "โรงงานในเรือนจำ" โดยในปี 2561 ได้ตั้งเป้าหมายไว้จำนวน 37,000 คน แบ่งเป็นกลุ่มผู้พ้นโทษ 10,000 คน และนักโทษชั้นดี 27,000 คนซึ่งจะฝึกทักษะและฝึกอาชีพเพื่อเตรียมความพร้อมก่อนพ้นโทษ โดยจะสอบถามความต้องการของผู้ต้องขังถึงความต้องการที่จะทำงานในสถานประกอบการหรือการประกอบอาชีพอิสระ เพื่อจะได้ดำเนินการตามความสมัครใจ

ทั้งนี้ โครงการ "โรงงานในเรือนจำ" เป็นความร่วมมือในรูปแบบประชารัฐระหว่างกระทรวงแรงงาน กรมราชทัณฑ์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจากการหารือในวันนี้มีสถานประกอบการตอบรับเข้าร่วมโครงการแล้วกว่า 40 แห่ง โดยกระทรวงแรงงานจะบูรณาการทำงานร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข สำนักงาน ป.ป.ส. และกรมราชทัณฑ์ ดำเนินการคัดกรองผู้ต้องขังชั้นดี เป็นผู้มีวินัย และมีคุณสมบัติเหมาะสมที่จะเข้าร่วมโครงการฯ เพื่อให้ความเชื่อมั่นและสอดคล้องตามความต้องการของผู้ประกอบการ สำหรับลักษณะงานที่จะให้ผู้ต้องขังทำนั้น อาทิ ช่างทำทอง เย็บรองเท้าขุดลอกท่อ ตัดหญ้า ทาสีอาคาร เป็นต้น

พล.ต.อ.อดุลย์ฯ ได้มอบหมายให้กรมการจัดหางาน หารือในรายละเอียดกับกรมราชทัณฑ์ ภาคเอกชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อนเพื่อให้เกิดความชัดเจนให้แล้วเสร็จภายในต้นเดือนเมษายนนี้ จากนั้นจะลงนามในบันทึกความร่วมมือ (MOU) เพื่อทำให้เกิดการขับเคลื่อนการปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น สอดคล้องตามนโยบายรัฐบาลที่จะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมคนดีสู่สังคมอีกด้วย

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 14/3/2561

เพื่อไทยยื่นนายกฯ จี้ปฏิรูประบบจดทะเบียนแรงงานต่างด้าว เสนอใช้แอพฯคัดกรองข้อมูล พร้อมเพิ่มจุดบริการ

ร.ต.อ.วัฒนรักษ์ สุรนาทยุทธ์ คณะทำงานด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม พรรคเพื่อไทย ยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ผ่านศูนย์บริการประชาชน ทำเนียบรัฐบาล เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลปฏิรูประบบจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวเนื่องจากปัจจุบัน มีแรงงานต่างด้าวในประเทศไทยกว่า 3 ล้านคน แต่ลงทะเบียนไปเพียง 1 ล้านคน เหลืออีก 2 ล้านคนที่ยังไม่ได้ลงทะเบียน ขณะที่การลงทะเบียนจะสิ้นสุดในวันที่ 31 มีนาคมนี้ ซึ่งเหลือเพียง 15 วันเท่านั้น จึงอาจส่งผลให้แรงงานต่างด้าวที่เหลือลงทะเบียนไม่ทัน และอาจจะก่อปัญหาในอนาคต ส่วนตัวจึงเสนอให้รัฐบาลใช้แอพพลิเคชั่นออนไลน์มาคัดกรองข้อมูลพื้นฐานในเบื้องต้น รวมถึงเพิ่มจุดลงทะเบียนที่ปัจจุบันมีเพียง 80 จุดทั่วประเทศ ทำให้มีเจ้าหน้าที่บริการ และจุดลงทะเบียนไม่เพียงพอ หากใช้ระบบออนไลน์มาช่วย รวมถึงนำนักศึกษามาช่วยงานเพิ่มเติมก็จะสามารถแบ่งเบาภาระงานและทำให้การลงทะเบียนมีความรวดเร็วมากขึ้น

ทั้งนี้ ศูนย์ one stop service ควรนำหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ หรือ โมบายยูนิต มาไว้ที่จุดดังกล่าว เพื่อเป็นศูนย์เบ็ดเสร็จ และร่นระยะเวลาการเดินทางไปตรวจสุขภาพที่โรงพยาบาล ซึ่งปัจจุบันพบว่าใช้เวลาหลายวัน อีกทั้งยังพบปัญหาเรื่องภาษาในการสื่อสาร จึงอยากทำป้ายข้อความภาษาต่างๆ ไว้ที่ศูนย์ดังกล่าวด้วย

ที่มา: ไอเอ็นเอ็น, 15/3/2561

ภาคอุตสาหกรรมเตือนแรงงานปรับตัวยุคดิจิทัล

นายเจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือ สอท. เปิดเผยว่าปัจจุบันภาคอุตสาหกรรมไทย ยังประสบปัญหาขาดแคลนแรงงาน ประกอบกับต้นทุนด้านการพัฒนาและว่าจ้างทรัพยากรมนุษย์เพิ่มขึ้น ผู้ประกอบการภาคการผลิตหลายราย จึงเริ่มปรับตัวมาใช้เทคโนโลยี เครื่องจักรกลและหุ่นยนต์ เพื่อการผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีต้นทุนใกล้เคียงกัน โดยขณะนี้มีภาคอุตสาหกรรมประมาณ 30% เริ่มเปลี่ยนการใช้แรงงานคนเป็นการนำเข้าเครื่องจักรแทน โดยคาดว่าจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งผู้ใช้แรงงานจะต้องปรับตัวเพิ่มทักษะ โดยเฉพาะด้านการควบคุมกลไกการผลิตและความรู้ด้านดิจิทัล ซึ่งต้องการให้กระทรวงศึกษาธิการ มุ่งเน้นการพัฒนาบุคลากรในด้านนี้ให้ทันและเพียงพอต่อความต้องการของตลาด      

ส่วนการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำที่จะมีผลบังคับใช้ในเดือนหน้านั้น มองว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมมากนัก เนื่องจากผู้ประกอบการหลายรายได้ว่าจ้างแรงงานในอัตราสูงกว่าอัตราขั้นต่ำที่รัฐบาลกำหนดไว้อยู่แล้ว โดยประเมินว่าจะส่งผลกระทบต่อภาคบริการ โดยเฉพาะธุรกิจโรงแรมขนาดเล็ก ที่ต้องมีการจ้างแม่บ้านและพนักงานดูแล

ที่มา: ch7.com, 14/3/2561

ประกันสังคม เร่งคืนสภาพผู้ประกันตน ม.39 เผยมีสิทธิแล้วกว่า 7 แสนคน

นายสุรเดช วลีอิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน กล่าวถึงการดำเนินงานเร่งให้ความช่วยเหลือกรณีผู้ประกันตนมาตรา 39 ที่สิ้นสภาพการเป็นผู้ประกันตน ได้กลับเข้าสู่ระบบประกันสังคมอีกครั้ง โดยมีการเร่งผลักดันร่างพระราชบัญญัติการกลับเป็นผู้ประกันตน พ.ศ. ... ตามนโยบายกระทรวงแรงงาน โดย พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เพื่อให้ผู้ประกันตนมาตรา 39 ที่สิ้นสภาพ ให้ได้รับความคุ้มครองและได้รับสิทธิประโยชน์เช่นเดิม

ล่าสุดที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้มีมติเห็นชอบผ่านร่าง พ.ร.บ. ฉบับดังกล่าว และขณะนี้เตรียมเสนอสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีพิจารณาก่อนนำขึ้นทูลเกล้าเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย และประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อบังคับใช้ต่อไป อย่างไรก็ตามตัวเลข ณ 28 กุมภาพันธ์ 2561 ผู้ประกันตนที่มีสิทธิคืนสภาพการเป็นผู้ประกันตน มาตรา 39 ทั่วประเทศ มีอยู่จำนวน 758,237 คน โดยแยกเป็นผู้ประกันตนที่สิ้นสภาพเนื่องจากขาดส่งเงินสมทบ 3 เดือนติดต่อกัน จำนวน 657,244 คน และผู้ประกันตนที่สิ้นสภาพเนื่องจากส่งไม่ครบภายในระยะเวลา 12 เดือน ส่งเงินสมทบมาแล้วไม่ครบ 9 เดือน จำนวน 100,993 คน อย่างไรก็ดีหากพระราชบัญญัติการกลับเป็นผู้ประกันตน พ.ศ. ... มีผลบังคับใช้ ผู้ประกันตนกลุ่มดังล่าวจะได้รับความคุ้มครอง และสิทธิประโยชน์ตามกฎหมายประกันสังคมเช่นเดิมต่อไป

เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กล่าวต่อไปว่า ปัจจุบันผู้ประกันตนมาตรา 39 ที่อยู่ใน ความคุ้มครองดูแลของสำนักงานประกันสังคมมีอยู่จำนวนทั้งสิ้น 1,381,055 คน ขอย้ำให้ผู้ประกันตนปกป้องสิทธิของตนเอง โดยให้ความสำคัญในการตรวจสอบการนำส่งเงินสมทบด้วยตนเองกับสำนักงานประกันสังคมอย่างสม่ำเสมอ และควรนำส่งเงินสมทบอย่างต่อเนื่อง หากผู้ประกันตนขาดส่งเงินสมทบ 3 เดือนติดต่อกัน หรือภายในระยะเวลา 12 เดือน ส่งเงินสมทบมาแล้วไม่ครบ 9 เดือน จะสิ้นสภาพการเป็นผู้ประกันตนทันที สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ ทั้ง 12 แห่ง สำนักงานประกันสังคมจังหวัด/สาขา/ที่ท่านสะดวก หรือโทร.1506 ตลอด 24 ชั่วโมง ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.sso.go.th

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 13/3/2561

ธุรกิจแม่บ้านออนไลน์บูม เรียกใช้บริการผ่านแอปพลิเคชัน

การนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ในงานเเม่บ้าน เป็นโอกาสที่ทำให้กลุ่มคนรุ่นใหม่ใน จ.เชียงใหม่ รวมตัวทำธุรกิจ Start up โดยใช้ระบบออนไลน์เป็นสื่อกลาง เปิดบริการแม่บ้าน ได้รับความสนใจทั้งจากเเม่บ้านเเละเจ้าของบ้านรวมทั้งสำนักงาน

หลังมีการประกาศ พ.ร.ก.คนต่างด้าวปี 2560 ซึ่งต้องบังคับให้แรงงานต่างด้าวขึ้นทะเบียน กลุ่มแม่บ้านต่างด้าวก็ลดลง กลุ่มคนรุ่นใหม่ใน จ.เชียงใหม่ รวมตัวทำธุรกิจ Startup โดยใช้ระบบออนไลน์เป็นสื่อกลางเปิดบริการแม่บ้านผ่านเว็บไซต์ ซึ่งได้รับเป็นอย่างดีจากผู้ที่ต้องการมีงานและลูกค้าที่ไม่ต้องจ้างแม่บ้านประจำเพื่อลดต้นทุน

น.ส.ฐิติพรรณ บุญธรรม ชาวจังหวัดเชียงใหม่ จะออกเดินทางจากบ้านพัก พร้อมกับอุปกรณ์ทำความสะอาดและโทรศัพท์มือถือแบบสมาร์ตโฟนเพื่อทำหน้าที่แม่บ้านออนไลน์รับทำความสะอาดตามที่พักอาศัยของลูกค้า ที่ติดต่อใช้บริการผ่านเว็บไซต์ และแอปพลิเคชัน

ฐิติพรรณ ระบุว่า เธอมีอาชีพขายของตลาดนัดในตอนเย็น จึงมีเวลาว่างในช่วงกลางวัน เพื่อหารายได้เสริมและชอบงานที่ไม่มีข้อผูกมัด

ด้าน ปรียลักษณ์ น้อยอ่ำ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ Be Neat บอกว่า แนวคิดเริ่มต้นทำธุรกิจนี้มาจากปัญหาขาดแคลนแม่บ้านทำความสะอาด หลังรัฐบาลประกาศใช้ พ.รก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 ทำให้กลุ่มแม่บ้านต่างด้าวลดลง อีกทั้งบริษัทและเจ้าของบ้านต้องการจ้างเป็นครั้งคราว มากกว่าทำงานประจำเพื่อลดภาระรายจ่าย จึงเกิดแนวคิดในการทำธุรกิจแม่บ้านออนไลน์ขึ้นจนได้รับความสนใจจากผู้ใช้บริการจำนวนมาก

ขณะนี้มีผู้สนใจจากหลากหลายอาชีพสมัครร่วมทำงานเพื่อหารายได้เสริม มากกว่า 1,000 คน ซึ่งทั้งหมดต้องผ่านระบบคัดกรอง สัมภาษณ์ ตรวจสอบประวัติอาชญากรรม และการอบรมกฎระเบียบในการทำงานก่อนจะปล่อยออกทำงาน

หลังจากเปิดตัวแม่บ้านออนไลน์เมื่อปี 2559 ก็ได้รับความสนใจใช้บริการมากขึ้นหลายเท่าตัว จนปัจจุบันมีแม่บ้านออนไลน์ มากกว่า 1,000 คน ให้บริการในหลายจังหวัด เช่น เชียงใหม่ ภูเก็ต และกรุงเทพฯ และคาดว่าหลังจากปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ จะมีผู้ลดการจ้างพนักงานทำความสะอาดแบบประจำหันมาใช้งานแม่บ้านออนไลน์มากขึ้น

ที่มา: ThaiPBS, 14/3/2561

หมอนวดไทยทำงานในเกาหลี มีเซ็กซ์กับลูกค้า โดนแอบถ่ายแชร์ว่อนเว็บโป๊

วันที่ 13 มี.ค. “ข่าวสดออนไลน์” ได้รับการร้องเรียนจากคนไทยที่อาศัยอยู่ในประเทศเกาหลีถึงการเตือนภัยหากคิดจะมาทำงานที่นี่ โดยกรณีนี้เหตุเกิดกับสาวไทยรายหนึ่งที่มีอาชีพเป็นหมอนวดไปบริการตามบ้านลูกค้าซึ่งเป็นชาวเกาหลี โดยนอกจากนวดตามร่างกายแล้ว ลูกค้าจะมีการเจรจาต่อรองขอมีเพศสัมพันธ์โดยระบุว่าจะให้เงินเพิ่ม เมื่อมีการยินยอมแล้ว ลูกค้าคนดังกล่าวกลับแอบตั้งกล้องถ่ายคลิปขณะที่กำลังมีเพศสัมพันธ์แล้วนำไปเผยแพร่ลงเว็บโป๊ จนกลายเป็นนางเอกทางลบดังชั่วข้ามคืน

อีกทั้งยังมีรายงานว่า คนไทยที่อาศัยอยู่ในประเทศเกาหลี มักทำตัวเป็นนายหน้า หลอกว่าจะพาไปทำงาน แต่ถ้าคนที่ชวนมาเป็นผู้หญิงแล้ว หลายคนกลับโดนบังคับค้าประเวณี หรือไม่ก็ใช้เป็นแรงงานที่ผิดกฎหมายและไม่ได้จ่ายค่าแรงแต่อย่างใด

ที่มา: ข่าวสด, 13/3/2561

‘วิษณุ’โยน ก.แรงงานตัดสินใจ ให้ตั้งสหภาพแรงงานต่างด้าวได้หรือไม่

เมื่อเวลา 08.45 น. วันที่ 13 มีนาคม ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีแรงงานต่างด้าวเรียกร้องให้ออก พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ เพื่อจัดตั้งสหภาพแรงงาน จนเป็นห่วงกันว่าอาจทำให้มีอำนาจในการต่อรองกับผู้ประกอบการต่างๆ ในไทยได้ ว่าต้องให้กระทรวงแรงงานเป็นคนดูเรื่องนี้ ตนตอบไม่ได้ เพราะไม่ทราบรายละเอียด และไม่ได้เป็นผู้เจรจา จึงไม่รู้ความประสงค์ของแรงงานต่างด้าวเป็นอย่างไร

ผู้สื่อข่าวถามว่า หลายฝ่ายเป็นห่วงจะทำให้ประเทศไทยเสียประโยชน์ นายวิษณุกล่าวว่า ไม่น่าจะเป็นปัญหาอะไร เป็นการคุ้มครองแรงงานปกติ จะต่อรองอะไรก็ต่อรองภายใต้ข้อบังคับของกฎหมาย ในสัญญามีแค่นั้น เมื่อถามว่า ถ้ามีส่งมายังคณะรัฐมนตรี (ครม.) จะมีการปรับแก้หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ตอบไม่ถูก ยังไม่เห็น

ที่มา: มติชนออนไลน์, 13/3/2561

กระทรวงแรงงานเปิดให้องค์กรเอกชนขอรับจัดสรรเงินกองทุนต่างด้าวได้แล้ว

นายอนุรักษ์ ทศรัตน์ อธิบดีกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน แจ้งว่า กองทุนเพื่อการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว กระทรวงแรงงาน จัดตั้งขึ้นตามพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 เพื่อเป็นทุนหมุนเวียนสำหรับใช้จ่ายเกี่ยวกับการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวการช่วยเหลือและอุดหนุนหน่วยงานของรัฐหรือองค์กรเอกชนที่เสนอโครงการหรือแผนงานในการดำเนินการบริหารจัดการเกี่ยวกับการทำงาน การจัดสวัสดิการ การศึกษา การสาธารณสุข และการให้ความคุ้มครองด้านแรงงานแก่คนต่างด้าว โดยคุณสมบัติขององค์กรเอกชนจะต้องเป็นนิติบุคคลหรือคณะบุคคลซึ่งได้รับอนุญาตจากหน่วยงานภาครัฐในประเทศไทย ดำเนินกิจกรรมโดยไม่มุ่งหวังผลกำไรทางเศรษฐกิจหรือมุ่งหวังผลทางการเมือง และมีวัตถุประสงค์ในการดำเนินการเกี่ยวกับการจัดสวัสดิการ การศึกษา การสาธารณสุข และ/หรือการให้ความช่วยเหลือด้านแรงงานแก่คนต่างด้าว

หลักฐานที่ใช้ในการยื่นขอรับการสนับสนุนเงินจากกองทุนฯ ได้แก่

1) คำขอรับการจัดสรรเงินจากกองทุนฯ
2) หลักฐานการอนุญาตให้จัดตั้งองค์กรเอกชนพร้อมวัตถุประสงค์ขององค์กร
3) หลักฐานการแต่งตั้งกรรมการพร้อมข้อบังคับขององค์กรเอกชนที่เป็นปัจจุบัน
4) ประวัติองค์กรโดยสังเขป
5) ประวัติผลงานของผู้เสนอโครงการหรือผู้รับผิดชอบโครงการโดยย่อ
6) ผลงานหรือกิจกรรมด้านการช่วยเหลือแรงงานต่างด้าวในช่วงปีที่ผ่านมา
7) แผนที่ตั้งองค์กร โดยให้องค์กรเอกชนที่จะขอรับการจัดสรรเงินฯ จัดทำข้อเสนอของโครงการ ประกอบด้วย ยุทธศาสตร์การดำเนินงาน เป้าหมายการดำเนินงาน ผลผลิต ตัวชี้วัด และวงเงินซึ่งมีรายละเอียดที่ขอรับการจัดสรร ประมาณการรายจ่ายและแผนการใช้จ่ายเงิน เพื่อเสนอขออนุมัติต่อคณะกรรมการกองทุนฯ

ทั้งนี้ โครงการที่ขอรับการจัดสรรฯ จะต้องไม่ซ้ำซ้อนกับงบประมาณที่ได้รับการจัดสรรจากส่วนราชการหรือแหล่งทุนอื่น โดยส่งเอกสารไปที่ กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน ถนนมิตรไมตรี ดินแดง กรุงเทพฯ 10300

ทั้งนี้ สามารถดาวน์โหลดแบบฟอร์มการขอรับการจัดสรรเงินเพื่อช่วยเหลือและอุดหนุนองค์กรเอกชนได้ทาง https://www.doe.go.th/fund สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ สำนักงานกองทุนเพื่อการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว อาคารเล้าเป้งง้วน ชั้น 26 เลขที่ 333 ถนนวิภาวดีรังสิต แขวงจอมพล เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900 โทร.02-273-8773 นายอนุรักษ์ กล่าว

ที่มา: เนชั่นทีวี, 13/3/2561

ขาดแคลน! "สภาเกษตรกร"ฝึกแรงงาน-ลูกเรือประมง

12 มี.ค.61 นายสิทธิพร  จริยพงศ์ รองประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ กล่าวในการเปิดงาน“โครงการนำร่องฝึกแรงงานและลูกเรือประมงไทย” ณ สำนักงานฝ่ายฝึกอบรม ศูนย์พัฒนาการประมงแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้(SEAFDEC) ว่า จากปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคการประมงที่ต้องพึ่งพาแรงงานต่างด้าวเป็นหลัก และนำไปสู่ปัญหาในด้านต่าง ๆ ตามมาหลายประการ เช่น สหภาพยุโรป (EU) กลุ่มประเทศคู่ค้าสินค้าประมงที่สำคัญของไทย มองว่าประเทศไทยมีการใช้แรงงานที่ไม่เหมาะสม เป็นการทำการประมงที่ผิดกฎหมายขาดการรายงานและไร้การควบคุม (Illegal unreported and Unregulated Fishisg : IUU Fishing) มีการกดขี่ใช้แรงงานและค้ามนุษย์ (Slavery at Sea/Trafficking in Person)  ส่งผลด้านลบต่อภาพลักษณ์ของประเทศไทยและจะยังคงถูกจัดอันดับความน่าเชื่อถือจากประเทศคู่ค้าเป็นประเทศที่ต้องเฝ้าจับตามองต่อไป (Tier 2 watch list)  เป็นต้น  

สภาเกษตรกรแห่งชาติได้เล็งเห็นปัญหาดังกล่าว จึงได้ดำเนินการประสานงานหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องจัดตั้งเป็นคณะทำงาน เพื่อพิจารณาหารือแนวทางจัดตั้งศูนย์ฝึกแรงงานและลูกเรือประมงไทย แต่งตั้งคณะทำงานโครงการจัดตั้งศูนย์ฝึกแรงงานและลูกเรือประมงไทย โดยมีหน้าที่รวบรวม สรุปข้อมูลต่าง ๆ  กำหนดแนวทางจัดตั้งและดำเนินโครงการจัดตั้งศูนย์ฝึกแรงงานและลูกเรือประมงและจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อการเผยแพร่ขยายผลการดำเนินโครงการจัดตั้งศูนย์ฝึกแรงงานและลูกเรือประมงไทยในพื้นที่ต่าง ๆ ที่มีศักยภาพ

โดยเมื่อวันที่ 27 พ.ย.2560 สภาเกษตรกรแห่งชาติได้จัดทำข้อเสนอแนวทางการพัฒนาภาคใต้และภาคใต้ชายแดนในคราวนายกรัฐมนตรีประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)สัญจร ที่ จ.สงขลา ได้นำเสนอการดำเนินงานด้านแรงงานประมง ในการจัดตั้งศูนย์ฝึกอาชีพให้กับแรงงานไทยทดแทนแรงงานต่างด้าว  เพื่อแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่ตามมาจากการขาดแรงงานในปัจจุบัน และได้มีข้อสั่งการเห็นชอบของนายกรัฐมนตรีให้มีการดำเนินงานตามข้อเสนอดังกล่าว ตามหนังสือสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ            

นายสิทธิพร กล่าวต่อไปว่า ในระหว่างรอรัฐบาลพิจารณาจัดสรรงบประมาณสนับสนุนการดำเนินงานดังกล่าว ในคราวประชุมคณะทำงานโครงการจัดตั้งศูนย์ฝึกแรงงานและลูกเรือประมงไทย   เมื่อวันที่ 9 ก.พ.2561 ได้มีมติให้สภาเกษตรกรแห่งชาติ ร่วมกับศูนย์พัฒนาการประมงแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEAFDEC) , กรมประมง , สมาคมประมงแห่งประเทศไทย ,  กระทรวงแรงงาน ,  กรมเจ้าท่า ,  สำนักงานกิจการความมั่นคง และ กรมยุทธการทหารเรือ จัดทำโครงการนำร่อง “ฝึกลูกเรือประมงไทย” จำนวน 15 คน ในระหว่างวันที่ 12  มี.ค.  – 1 เม.ย. 2561 ณ  ศูนย์พัฒนาการประมงแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEAFDEC) จ.สมุทรปราการ และฝึกภาคปฏิบัติ ณ ท่าเทียบเรือแพปลาชาญวัฒนา 1  อ.ขนอม  จ.นครศรีธรรมราช   

โครงการนี้เป็นการนำร่องการพัฒนาแรงงานไทยตามหลักสูตรระยะสั้น ที่คณะทำงานโครงการจัดตั้งศูนย์ฝึกแรงงานและลูกเรือประมงไทย สภาเกษตรกรแห่งชาติร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาแล้วว่าสามารถที่จะสร้างความมั่นคงเข้มแข็งให้แก่อุตสาหกรรมการประมงไทย และลดการขาดแคลนแรงงานและการพึ่งพาแรงงานต่างด้าวในภาคการประมง มุ่งเน้นการเตรียมความพร้อมของแรงงาน โดยพัฒนาแรงงานไทยให้มีศักยภาพความรู้ ความชำนาญในการทำประมง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษา สถานภาพ ปัญหา อุปสรรค และกระบวนการดำเนินงาน ในประเด็นต่าง ๆ และเมื่อจบโครงการสมาคมประมงแห่งประเทศไทยจะรับเข้าทำงานโดยมีค่าตอบแทนวันละ 500 บาท รวมทั้งสวัสดิการที่จูงใจ ซึ่งจะสรุปผลโครงการเสนอให้รัฐบาลขยายผลต่อไป

ที่มา: คมชัดลึก, 13/3/2561

สปส.เผยผู้ประกันตนตอบรับทำฟันไม่สำรองจ่าย เดือนเดียวยอดสูง 1.7 แสนครั้ง

เมื่อวันที่ 12 มี.ค. 2561 นพ.สุรเดช วลีอิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กระทรวงแรงงาน กล่าวถึง ยอดผู้ประกันตนใช้บริการระบบทันตกรรมประกันสังคมแบบ “ไม่ต้องสำรองจ่าย” ในเดือนกุมภาพันธ์ 2561 ที่ผ่านมา มียอดแล้วกว่า 171,471 ครั้ง สำนักงานประกันสังคมจ่ายประโยชน์ทดแทนไปแล้ว 114,677,698 ล้านบาท ทั้งนี้ แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของปัญหาสุขภาพในช่องปากของผู้ประกันตน รวมถึงความต้องการและความพึงพอใจในการเข้ารับบริการกรณีทันตกรรมของผู้ประกันตน ปัจจุบันสถานพยาบาลเอกชน/คลินิกเข้าร่วมให้บริการแก่ผู้ประกันตนจำนวน 1,417 แห่ง รวมถึงสถานพยาบาลรัฐทั่วประเทศย้ำผู้ประกันตนโปรดสังเกตป้ายสติ๊กเกอร์ที่ระบุว่า สถานพยาบาลแห่งนี้ให้บริการผู้ประกันตนกรณีทันตกรรม “ทำฟัน” ไม่ต้องสำรองจ่าย โดยผู้ประกันตนใช้สิทธิประโยชน์กรณีทันตกรรมในอัตราค่าบริการทางการแพทย์กรณี อุดฟัน ถอนฟัน ขูดหินปูน ผ่าฟันคุด ให้แก่ผู้ประกันตน โดยไม่ต้องสำรองจ่ายเงิน วงเงินไม่เกิน 900 บาทต่อคนต่อปี

“สำหรับกรณีผู้ประกันตนเข้ารับบริการกรณีทันตกรรมในสถานพยาบาลที่ไม่ได้ทำความตกลงเรื่องการเบิกจ่าย ผู้ประกันตนสามารถนำหลักฐานประกอบด้วย ใบเสร็จรับเงิน ใบรับรองแพทย์ พร้อมสำเนาสมุดบัญชีธนาคารของผู้ประกันตนมายื่นต่อสำนักงานประกันสังคมพื้นที่ / จังหวัด / สาขาทั่วประเทศ เพื่อขอรับประโยชน์ทดแทนตามกฎหมายประกันสังคมได้ภายใน 2 ปีนับตั้งแต่วันที่เข้ารับบริการที่ระบุไว้ในใบรับรองแพทย์” นพ.สุรเดช กล่าว

นพ.สุรเดช กล่าวอีกว่า ขอเชิญชวนผู้ประกันตนหมั่นดูแลสุขภาพในช่องปาก และพบทันตแพทย์อย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอปีละอย่างน้อย 1-2 ครั้ง สำนักงานประกันสังคมพร้อมให้บริการทางการแพทย์กรณีทันตกรรมแก่ผู้ประกันตน เพื่ออำนวยความสะดวกในการเข้ารับบริการกรณีทันตกรรมแก่ผู้ประกันตนทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชนอย่างไม่หยุดนิ่ง ในอนาคตจะมีสถานพยาบาลที่รองรับผู้ประกันตนกรณีทันตกรรมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ถือเป็นภารกิจหลักของสำนักงานประกันสังคมในการที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับลูกจ้าง ผู้ประกันตน เพื่อให้ได้รับการบริการที่ดีและได้รับประโยชน์สูงสุดต่อไป

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 12/3/2561

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท