Skip to main content
sharethis

เมื่อคณะกรรมการการเลือกตั้งต้องเหลืออยู่เพียง 4 คน จากอำนาจตามมาตรา 44 ประชาไทสัมภาษณ์พิเศษ สมชัย ศรีสุทธิยากร ผู้กลายอดีตกรรมการการเลือกตั้งได้หนึ่งวัน หลายคำตอบได้รับการปลดล็อค เรื่องที่ผ่านมา เรื่องที่เกิดขึ้น และเรื่องของอนาคต ถึงเวลาถอดหน้ากาก คสช.

“จริงๆ แล้ว เขาอาจจะต้องการเอาผมออกคนเดียว แต่ยังไม่รู้จะเอาออกอย่างไร” ประโยคนี้ปรากฎในบทสัมภาษณ์ของสมชัย ศรีสุทธิยากร ในเว็บไซต์ the101.world โดยธิติ มีแต้ม แน่นอนว่านี่เป็นบทสัมภาษณ์ขนาดยาวชิ้นสุดท้ายของสมชัย ในฐานะคณะกรรมการการเลือกตั้ง

4 วันถัดมาหลังจากบทสัมภาษณ์ชิ้นนั้นได้เผยแพร่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ลงนามในคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับที่ 4/2561 เรื่องให้คณะกรรมการเลือกตั้งยุติการปฎิบัติหน้าที่ โดยสั่งให้ สมชัย ยุติการปฎิบัติหน้าที่ด้วยเหตุผลที่ว่ามีพฤติกรรมในการให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนที่ไม่เหมาะสม และได้เข้ารับการสมัครเป็นเลขาธิการ กกต. โดยที่ยังไม่ได้ลาออกจากตำแหน่งคณะกรรมการการเลือกตั้ง โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 265 ในรัฐธรรมนูญ 2560 และมาตรา 44 ในรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557

หลังจากคำสั่งประกาศในราชกิจจานุเบกษาได้ไม่นาน เราต่อสายถึงผู้กลายเป็นอดีตกรรมการการเลือกตั้ง เขาตอบกลับมาว่าพรุ่งนี้ผมจะเข้าไปเก็บของที่ออฟฟิศ คุณมาที่ศูนย์ราชการได้ไหม แล้วเดี๋ยวเราหาที่คุยกันยาวๆ

0000000

จากบทสัมภาษณ์ก่อนหน้านี้เหมือนจะรู้มาก่อนว่า ผู้มีอำนาจมีความพยายามต้องการให้คุณสมชัย ออกจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง จนท้ายสุดมีการประกาศใช้มาตรา 44 เพื่อสั่งให้ออก คุณสมชัยรู้ตัวมาก่อนหรือไม่ว่าจะมีการใช้มาตรานี้

ผมคงพูดเบื้องหลังต่างๆ มากไม่ได้ แต่เราอาจจะมองในภาพกว้างๆ ได้ว่า มีเจตนามาตั้งแต่เรื่องการเซตซีโร่ กกต. ซึ่งปัญหาสำคัญน่าจะอยู่ที่ตัวผม อาจจะประเมินได้ว่าในเมื่อท่านอื่นๆ ไม่ได้แสดงบทบาท ไม่ได้แสดงท่าทีใดๆ ออกมามากมายนัก ต่างกันกับผมซึ่งอาจจะถูกมองในสายตาผู้มีอำนาจว่า เป็นฝ่ายที่ไม่ยอมจำนนในการกระทำต่างๆ ที่ทำออกมาแล้วไม่ถูกต้อง อย่างเช่นการให้ความเห็นต่อรัฐธรรมนูญ หรือความเห็นต่อกฎหมายลูกต่างๆ หรือแม้กระทั้งแนวทางต่างๆ ที่จะมีการปรับเปลี่ยนการเลือกตั้ง ผมได้แสดงความเห็นเชิงที่ไม่เห็นด้วยในหลายๆ เรื่อง เช่นกรณีเลือกตั้งโดยมีบัตรใบเดียว กรณีที่จะให้มีหมายเลขผู้สมัครรับการเลือกตั้งไม่ตรงกันในแต่ละเขต

ฉะนั้นเหตุผลในการเซ็ตซีโร่ก่อนหน้านี้ คงไม่ได้มาจาก กกต. ท่านอื่น แต่น่าจะมาจากการที่เราเองเป็นฝ่ายที่กล้าแสดงความเห็นในเชิงที่แตกต่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงประชามติผมก็เป็น กกต. คนเดียวที่กล้าพูดว่า สิ่งที่ทาง คสช. ปราบปรามประชาชนในหลายต่อหลายเรื่องเป็นสิ่งที่ประชาชนมีสิทธิตามกฎหมายที่จะดำเนินการได้ เช่น การสวมเสื้อโหวตโนผมก็เห็นว่าทำได้ ไม่ขัดกฎหมาย การอภิปรายทางวิชาการก็สามารถทำได้ การแจกเอกสารของอาจารย์ที่มหิดลก็สามารถทำได้ แต่ในขณะเดียวกันผมก็บอกว่าอะไรที่ทำไม่ได้ เช่น เอกสารซึ่งมีข้อความที่เป็นเท็จ การโพสต์ข้อความหยาบคายก่อให้เกิดความแตกแยก หรือการปลุกระดม การที่ผมออกมาพูดในแต่ละเรื่องก็น่าจะเป็นสาเหตุส่วนหนึ่งที่เขาอาจจะรู้สึกว่า ผมไม่ได้พูดตามเขาทั้งหมด ซึ่งหากเขาต้องการเอาผมออกตอนนั้นก็สามารถใช้ ม.44 ได้ทันที แต่เขายังไม่คิดที่จะใช้

ทางออกที่เขาเลือกใช้คือการให้อำนาจ สนช. คิดเองว่า องค์กรอิสระ องค์กรไหนควรอยู่ องค์กรไหนควรจะไป โดยมีเงื่อนไขที่แตกต่างกัน ซึ่งก่อให้เกิดความไร้มาตรฐาน และทำให้เกิดเสียงครหาว่า การลงมติของ สนช. ไม่เป็นแบบแผนเดียวกันในทุกองค์กรอิสระ

ความต้องการจะให้ผมออกก็มีมาตั้งแต่ตอนนั้น เพราะไม่มีช่องทางอื่นที่จะให้ผมไป  ย้อนกลับไปก่อนเซ็ตซีโร่ก็มีการกำหนดคุณสมบัติขั้นสูงแล้วเปิดให้คนที่มีคุณสมบัติครบอยู่ต่อไป โดยเชื่อว่าจะสามารถทำให้ผมออกไปได้ แต่ผมก็พิสูจน์แล้วว่า แม้ผมจะไม่ได้เป็นศาสตราจารย์ หรือไม่ได้อยู่ในส่วนราชการเกิน 5 ปี แต่ผมทำงานอยู่ในภาคประชาชนสังคมมาไม่น้อยกว่า 20 ปี ซึ่งผมมีหลักฐานยืนยัน ในเมื่อออกผมออกจากช่องทางนี้ไม่ได้ ก็เป็นที่มาของการเซ็ตชีโร่ กกต. ทั้งหมด

ในตัวคำสั่งของหัวหน้า คสช. พูดอยู่ 2 เรื่อง หนึ่งในนั้นคือ การระบุว่าคุณสมชัยมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม ในการให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน คำถามคือการเป็นองค์กรอิสระ นั้นก็ย่อมที่จะมีอิสระในการแสดงความคิดเห็น  แต่ดูเหมือนผู้มีอำนาจมองว่าความเป็นอิสระตรงนี้คือปัญหา คุณคิดอย่างไร

โดยหลักการของการแสดงความเห็นโดยสุจริตบนพื้นฐานของกฎหมาย และเป็นไปเพื่อประโยชน์ของบ้านเมืองเป็นสิ่งที่ทุกคนไม่ว่าจะเป็นองค์กรอิสระ หรือคนในหน่วยงานอื่นๆ สามารถที่จะทำได้ ส่วนผมก็พยายามจะจำกัดกรอบการแสดงความคิดเห็นของตัวเอง เลือกที่จะพูดเพียงประเด็นที่เกี่ยวกับกฎหมายเลือกตั้ง หรือสถานการณ์การเลือกตั้ง เพื่อให้สังคมได้มีโอกาสรู้ถึงข้อเท็จจริงว่า ตอนนี้เกิดอะไรขึ้น และจะเกิดอะไรต่อไป

ถ้าหากกลับไปดูสิ่งที่ต่างๆ ที่ผมเตือนไว้ทั้งหลายมันเป็นจริงทั้งหมด และมันทำให้กระบวนการที่ควรจะเดินหน้าได้มันติดขัดทั้งสิ้นยกตัวอย่างเช่น  การลงคะแนนคัดเลือกผู้ที่จะเข้ามาเป็น กกต. ชุดใหม่ ในฝั่งของที่ประชุมศาลฎีกา ผมก็พูดตลอดเวลาว่ากระบวนการดังกล่าวขัดกับกฎหมาย และเป็นการให้ความเห็นว่าอยากจะให้ศาลถอยกลับไปประมาณ 15 วันเพื่อลงมติกันใหม่ เพื่อที่จะไม่ให้เกิดการเสียเวลาในชั้นพิจารณาโดย สนช. สุดท้ายก็ไม่ฟัง ส่วน สนช. เองก็บอกว่าไม่มีหน้าที่ไปตรวจสอบศาล และพอไปถึงในขั้นตอนของการให้ความเห็นชอบก็มีความกังวลกันว่าจะเป็นการทูลเกล้าฯ สิ่งที่ไม่เหมาะสมขึ้นไปต่อในหลวงหรือไม่ ก็เป็นที่มาของการไม่รับรอง กกต. ทั้ง 7 คน ซึ่งนี่ก็เป็นสิ่งที่ผมได้เตือนไว้ก่อนหน้าแล้ว

ประเด็นที่เกี่ยวข้องกันอีกคือ เรื่องที่การพูดว่าถ้ามีการส่งกฎหมาย ส.ส. เพื่อไปให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ ผมก็เป็นคนแรกที่บอกว่าถ้าส่งโรดแมปของการเลือกตั้งจะช้าไปอีก 2 เดือน หรือถ้าส่งกฎหมายลูก ส.ว. โรดแมปเลือกตั้งอาจจะไม่ช้า เพราะการประกาศใช้กฎหมายลูก ส.ส. ได้ยึดเวลาออกไปแล้ว 90 วัน ถ้าศาลรัฐธรรมนูญสามารถพิจารณาได้ในระยะเวลาอันรวดเร็วกรอบเวลาที่มีการขยายออกไปก็เพียงพอ หรืออาจจะช้าไปอีก 6 เดือนถ้าศาลรัฐธรรมนูญตีความว่า สิ่งที่ส่งเข้าไปเป็นการขัดแย้งในสาระสำคัญของกฎหมาย ซึ่งก็อาจจะมีโอกาสที่จะขัดแย้งกับสาระสำคัญของกฎหมาย เพราะกฎหมายฉบับนี้ชื่อว่า พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. สิ่งที่มีการส่งให้ศาลพิจารณาก็คือเรื่องของวิธีการคัดเลือก ซึ่งก็คือว่าวิธีการได้มา หากศาลเห็นว่า ขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญก็มีความเป็นไปได้ที่จะต้องร่างกันใหม่ทั้งฉบับ หากเป็นอย่างนั้นผมประเมินไว้ว่ากระบวนการร่างที่เร็วที่สุดคือ 6 เดือน ร่างใหม่ 2 เดือน เข้าสู่การพิจารณาของ สนช. อีก 2 เดือน เข้าสู่ขั้นตอนของการขึ้นทูลเกล้าและขั้นธุรการอีกประมาณ 2 เดือน ซึ่งเวลาจะยื่นก็ต้องคิดในสองทางคือทางที่ดีที่สุด กับทางที่เลวร้ายที่สุด ไม่ใช่สรุปสุดท้ายจะมาบอกว่า คสช. ไม่เกี่ยว สนช. ไม่เกี่ยว กรธ. ไม่เกี่ยว แต่เป็นศาลท่านชี้

สิ่งต่างๆ เหล่านี้ก็เป็นการพูดภายใต้กรอบของกฎหมาย ภายใต้สิ่งที่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ ภายใต้กรอบระยะเวลาที่เป็นไปได้จริง ผมจำได้ว่าก่อนหน้าที่ผมจะพูดเรื่องนี้ฝ่าย คสช. รองนายกรัฐมนตรี ก็พูดว่าไม่ว่าจะยื่นกฎหมาย ส.ส. หรือ กฎหมาย ส.ว. ก็จะไม่กระทบโรดแมป แต่พอผมพูดว่าการยื่นกฎหมาย ส.ส. จะกระทบจึงมาพูดตามกันภายหลังว่า การยื่นกฎหมาย ส.ส. จะกระทบโรดแมป

ผมไม่ได้รู้สึกว่าสิ่งที่ผมพูด หรือสิ่งที่ผมแถลงข้อเท็จจริงต่อสาธารณะนั้นเป็นความผิด มันเป็นการให้ข้อมูลที่เป็นที่เป็นข้อเท็จจริง ซึ่งอยู่บนพื้นฐานทางกฎหมาย ในฐานะที่เราดูแลตรงนี้อยู่คุ้นเคยกับกฎหมายเหล่านี้อยู่ เราก็ควรทำให้สังคมได้รับรู้ แต่ถ้าจะบอกว่าผมให้ข้อมูลต่อสังคมแล้วทำให้สับสนต่อกระบวนการ และกำหนดการการเลือกตั้ง ผมคิดว่ามันไม่ได้เป็นข้อมูลที่สับสนเลย ผมให้ข้อมูลที่เป็นจริง คนสับสนคือรัฐบาล คือคนที่อยู่ในอำนาจ ซึ่งพูดกลับไปกลับมามากกว่า

คิดว่าเลือกตั้งกุมภาพันธ์ปีหน้าจะเกิดขึ้นจริงๆ หรือไม่

ตรงนี้ผมไม่ทายแล้วกัน เพราะมันมีปัจจัยเสี่ยงอีกหลายปัจจัยที่ยังไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้างในอนาคตข้างหน้า แต่ผมก็อธิบายได้แต่ละช่วงว่า มันจะเกิดอะไรขึ้นซึ่งได้พูดไปหมดแล้ว และมันเป็นข้อเท็จจริงซึ่งถูกตั้งตามกฎหมาย

กกต. จากเดิมมีอยู่ 5 คน ตอนนี้เหลืออยู่ 4 คน จะส่งกระทบต่อโรดแมปการเลือกตั้งหรือไม่

ไม่กระทบครับ เหลืออยู่ 4 คนก็ต้องทำหน้าที่กันได้ ก็ต้องลงมติกัน 4 คน เวลาลงมติหากต้องการเสียงข้างมากก็เป็น 3 ต่อ 1 และหากผลออกมาเป็น 2 ต่อ 2 ประธาน กกต. ท่านก็มีสิทธิโหวตชี้ขาด

ก่อนหน้านี้คุณสมชัยก็สัมภาษณ์สื่อมาตลอด และก็มีหลายครั้งที่อาจจะไม่ถูกใจผู้มีอำนาจ แต่ทำไมถึงมีการใช้ มาตรา 44 สั่งให้ยุติการปฎิบัติหน้าที่ตอนนี้

ผมไม่มีความสามารถไปอธิบายในสิ่งที่เกิดขึ้นได้ แต่ยืนยันว่าสิ่งที่ผมทำก็ทำโดยสม่ำเสมอและทำโดยไม่เลือกว่าเป็นรัฐบาลไหน ในยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์คนก็เห็นว่าผมเป็นฝ่ายที่โต้แย้ง ให้ความเห็นในทางตรงข้ามในสิ่งที่รัฐบาลทำจนทำให้คนกลุ่มหนึ่งมองว่าผมเป็น กปปส. ซึ่งความจริงสิ่งที่ผมโต้แย้งก็คือหลักกฎหมายทั้งสิ้น เช่น รัฐบาลรักษาการณ์ขอให้ กกต. อนุมัติให้รัฐบาลกู้เงินจากธนาคารเพื่อการเกษตร สองหมื่นล้านเพื่อไปจ่ายเงินค่าข้าวให้ชาวนาในโครงการจำนำข้าว ผมก็เปิดรัฐธรรมนูญดูว่า รัฐบาลรักษาการณ์ไม่สามารถก่อหนี้ผูกพันไปยังรัฐบาลถัดไปได้

ผมถามท่านกิตติรัตน์ ณ ระนอง ว่า หาก กกต. อนุมัติให้มีการกู้เงินจาก ธกส. จะคืนเงินในเวลาเท่าไหร่ ท่านก็บอกว่าขายข้าวได้เท่าไหร่ก็คืน เดือนหนึ่งขายได้ประมาณพันกว่าล้าน นั่นเท่ากับว่าใช้เวลาประมาณ 20 เดือน ผมก็ถามว่ารัฐบาลรักษาการณ์อยู่ถึง 20 เดือนไหม ท่านบอกประมาณ 2-3 เดือน ผมเห็นว่านี่คือการก่อหนี้ผูกพันเลยมีความเห็นว่า ไม่สามารถให้กู้ได้

ช่วงนั้นกลไกของรัฐก็ไม่ทำให้เกิดความเรียบร้อยในบ้านเมืองได้ ผมเองโดนข้อกล่าวว่า เป็น กกต. ที่ไม่ตั้งใจจัดการเลือกตั้ง จนทำให้เกิดปัญหาวุ่นวาย ผมก็ย้อนถามกลับไปว่า ณ วันนั้นกลไกของรัฐเป็นกลไกที่สามารถทำให้เกิดความสงบได้หรือไม่ หากคุณลงไปภาคใต้จะพบว่า ผู้ว่าราชการ 11 จังหวัดสามารถเข้าศาลากลางจังหวัดได้ ตำรวจทหารก็พยายามอยู่ในที่ตั้งให้มากที่สุดไม่ออกมายุ่งเกี่ยว

การขอความร่วมมือและขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานต่างๆ เราได้รับความร่วมมือน้อยมาก เอกชน วัดวาอาราม มูลนิธิ ที่เราเคยขอใช้สถานที่ในการจัดการเลือกตั้งปฏิเสธเราหมด เพราะไม่มีใครอยากจะชักศึกเข้าบ้าน เพราะหากมีการตั้งเต๊นท์เลือกตั้ง ก็จะมีการเข้าไปทำลายบุกรุก ฉะนั้นคนเหล่านี้เขาต้องการความปลอดภัยต่อตัวเขาเองเขาก็เลือกที่จะไม่ให้ความร่วมมือ

กกต. ไม่ได้อยู่ในฐานะที่จะอำนวยการให้เกิดการเลือกตั้งได้ ผมก็สะท้อนข้อเท็จจริงให้กับรัฐบาล รัฐบาลก็พยายามให้ข้อมูลกับสาธารณะว่า กกต. ใหญ่สุด สั่งใครก็สั่งได้ ผมถามว่าคุณเป็นรัฐบาลคุณยังสั่งใครไม่ได้เลย แล้วจะให้ กกต. ซึ่งไม่มีอำนาจอะไรมากมายไปสั่งแล้วมันจะเกิดความสำเร็จได้อย่างไร แล้วก็ขอให้รัฐบาลชะลอการเลือกตั้งออกไปก่อน 2-3 เดือน เพื่อให้เหตุการณ์ความขัดแย้งต่างๆ มันคลี่คลายลง แต่รัฐบาลบอกว่าอย่างไรก็ต้องเดินหน้า แม้ว่าช่วงนั้นศาลรัฐธรรมนูญจะชี้ว่า ถ้าจะเลื่อนการเลือกตั้งก็สามารถเลื่อนได้ได้ แต่ต้องเห็นชอบทั้งสองฝั่งคือรัฐบาลกับ กกต. เมื่อรัฐบาลไม่เห็นชอบ กกต. ก็ต้องจัดการเลือกตั้ง นี่คือสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นในยุคนั้น

ในยุคของคุณยิ่งลักษณ์ ผมก็แสดงบทบาทที่ตรงไปตรงมาเพื่อบอกว่า อะไรจะเกิดขึ้น อะไรจะเป็นปัญหา ถ้าคุณเลือกตั้งต่อไปถ้ามีคนร้องศาลรัฐธรรมนูญ การเลือกตั้งจะเป็นโมฆะ สุดท้ายก็เป็นจริงและนี่ไม่ใช่ทฤษฎีสมคบคิด ผมพูดอนาคตให้ฟังแล้ว แล้วท่านไม่เชื่อ นี่ก็ชี้ให้เห็นว่าบทบาทของผมไม่ได้เป็นการไปต่อต้านรัฐบาล เพียงแต่ชี้ให้เห็นว่าอะไรจะเกิดขึ้น แต่คนก็เข้าใจผิดว่า ผมไปเรียกทหารเข้ามา ไม่ใช่หรอกครับผมทำเต็มที่แล้วแต่ทำไม่ได้จริงๆ เพราะสถานการณ์ในเวลานั้นมีการวางเฉยมีการไม่ให้ความร่วมมือ ยกเว้นตำรวจที่ให้ความร่วมมือเต็มที่ แต่หลายเรื่องก็จนปัญญา

ส่วนหลังจากมีการยึดอำนาจแล้ว มีรัฐบาลของ คสช. ก็สังเกตได้ว่า ทุกคนก็จะสงบเสงี่ยมอยู่ในภาวะที่ถูกผิดก็ทำไม่รู้ไม่ชี้ และพยายามที่จะทำให้ตัวเองปลอดภัยไว้ก่อน แต่ผมคิดว่าเมื่อตัวเองอยู่ในตำแหน่งตรงนี้อะไรที่มันผิดก็ต้องบอกว่าผิด อะไรที่ถูกก็ต้องบอกว่าถูก ยกตัวอย่างเช่น ล่าสุดมีพรรคการเมืองบอกว่าจะให้ท่านประยุทธ์เป็นที่ปรึกษาพรรค ผมก็บอกว่าเป็นได้ เป็นสมาชิกพรรคได้ หรือเป็นหัวหน้าพรรคก็ยังได้ เพราะรัฐธรรมนูญไม่ได้ห้าม แต่ในข้อเท็จจริงก่อนหน้านี้ท่านถามประชาชนว่า คสช. จะสนับสนุนพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งได้หรือไม่ ผมตอบว่าถ้าเป็นบุคคลใน คสช. ในทางส่วนตัวทำได้ แต่ถ้าเป็น คสช. ในฐานะองค์กรที่มีอำนาจทางการเมือง มีอำนาจในการใช้ ม.44 การไปสนับสนุนพรรคการเมืองอาจจะไม่เหมาะสม จะทำให้เกิดความไม่เป็นกลางเกิดขึ้น สิ่งต่างๆ ที่ผมพูดไม่ได้พูดเพราะเจ็บแค้น ไม่ได้พูดเพราะถูกเซ็ตซีโร่ จะเซ็ตซีโร่หรือไม่เซ็ตซีโร่ผมก็ต้องพูด

การที่ถามว่า คสช. จะสนับสนุนพรรคการเมืองได้หรือไม่ คนร่างรัฐธรรมนูญเองรู้ดียังไม่กล้าพูดเลย อาจารย์กฎหมาย คณะนิติศาสตร์ทั้งประเทศรู้ดีทุกคนกล้าไม่กล้าพูด ทั้งที่มันเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ว่ามันไม่เหมาะสม คนร่างกฎหมายก็อ้อมแอ้มตอบเพียงครึ่งเดียว อาจารย์มีชัยก็พูดเพียงแค่ครึ่งเดียว คสช. ตัวบุคคลสนับสนุนพรรคการเมืองได้ แต่ทำไมไม่ตอบในฐานะที่ คสช. เป็นองค์กรทางการเมือง เรื่องแบบนี้ทำไมไม่ใครออกมาชี้ พอผมออกมาชี้ก็ใช่ว่าผมจะดังขึ้น กลับยิ่งสร้างความไม่พอให้ผู้มีอำนาจมากขึ้น แต่ผมคิดว่าสิ่งที่พูดมันเป็นหลักการที่ถูกต้องของบ้านเมือง อะไรที่เป็นหลักการที่ถูกต้องก็ต้องมีคนที่กล้าออกมาพูดว่าสิ่งที่ถูกต้องคืออะไร

กลับมาที่อีกเหตุผลหนึ่งที่คำสั่งหัวหน้า คสช. ระบุไว้คือเรื่องการขัดกันแห่งผลประโยชน์ จากการไม่ลาออกจาก กกต. ก่อนที่จะไปยื่นใบสมัครรับการคัดเลือกเป็นเลขาธิการ กกต.

การสมัครเป็นเลขาธิการ กกต. เป็นการลงมาในตำแหน่งที่ต่ำกว่า ไม่มีใครเขาอยากเป็น ไม่มีใครเขาอยู่ดีๆ อยากลงไปเป็นลูกน้อง ผมคิดว่านี่ไม่ใช่เรื่องของการเอื้อประโยชน์ แต่เป็นการอยากทำงานที่เป็นประโยชน์มากกว่า เพราะว่าเลขาธิการจะสามารถทำงานในเชิงธุรการได้มากกว่าเดิม มีหน้าที่กำกับดูแลข้าราชการ สามารถอำนวยการให้เกิดความสำเร็จในภาคปฏิบัติ เราเองมีประสบการณ์ และคิดว่าตัวเองน่าจะทำได้ดี ผมถึงลงมา

ส่วนเรื่องขัดกับผลประโยชน์ไหม คือกฎหมายไม่ได้ห้าม ไม่ได้ระบุว่าจะต้องลาออกจากตำแหน่ง ยกตัวอย่างตำแหน่ง กกต. คนที่มาสมัครแต่ละคนลาออกจากตำแหน่งก่อนมาสมัครหรือเปล่า ก็ไม่มีใครลาออกสักคน พอไม่ได้รับตำแหน่งเขาก็กลับไปทำงานที่เดิม ส่วนเรื่องของการสรรหาเลขาธิการ กกต. ผมเองก็ไม่ได้ส่วนในการลงมติ ผมแจ้งแล้วว่าขอถอดตัวแทนสรรหาในส่วนของผมออก 1 คน ซึ่งเขาจะตั้งใครผมก็ยังไม่รู้ ทุกครั้งที่มีการประชุมในเรื่องนี้ผมก็ไม่เข้าประชุม ทั้ง 4 ท่านก็เป็นคนตัดสินใจ แล้วผมก็บอกท่านว่า ท่านโหวตแล้วแต่ท่านนะ ถ้าท่านคิดว่าผมเยอะไม่ควรอยู่ทำงานต่อก็โหวตไม่เอาผม ผมไม่ได้เดือดร้อน โกรธแค้น หรือเสียหน้า ท่านก็ดูเองว่าอะไรคือสิ่งที่เหมาะสมเท่านั้นเอง

ฉะนั้นเรื่องนี้กฎหมายไม่ได้ห้าม เราจะมองว่าผิดได้อย่างไร ขณะเดียวกันหากมองว่าเป็นเรื่องทางจริยธรรม เราก็มีประมวลจริยธรรมซึ่งก็มีเขียนบอกไว้ชัดเจนว่าอะไรขัดกับจริยธรรมและก่อให้เกิดความเสียหาย ซึ่งก็มีขัดตอนในการดำเนินการถอดถอนได้ ทำไมไม่ทำในส่วนนี้

ถ้าถามว่า การทำให้ผมออกจากแหน่ง กกต. มีผลอย่างไร ผมคิดว่ามันเป็นสิ่งที่ทำให้เห็นว่า คสช. มีอำนาจเหนือองค์กรอิสระทุกองค์กร นั่นคือสามารถที่จะปลดใครก็ได้ ในเวลาใดก็ได้ หากคสช.เห็นว่าเหมาะสม ดังนั้นสิ่งที่ผมเป็นห่วงในอนาคตถ้า คสช. เข้าไปมีส่วนร่วมในการแข่งขัน หรือมีส่วนร่วมในการลงสมัครรับเลือกตั้ง หรือสนับสนุนพรรคใดพรรคหนึ่งความกล้าขององค์กรอิสระต่างๆ ที่จะกำกับดูแลความเป็นธรรมจะกล้าไหม และหากมีสิ่งที่เป็นการกระทำผิดโดย คสช. เองถามว่าคนที่เหลืออยู่จะกล้าในการตักเตือนหรือดำเนินการตรวจสอบแก้ไข หรือแม้กระทั่งดำเนินการลงโทษหรือไม่ ผมเชื่อว่าไม่กล้า เพราะ คสช. เป็นคนที่สามารถเอาคนเข้า เอาคนออกได้ ซึ่งนี่เป็นเรื่องที่น่าห่วง ดังนั้นภาพของการเลือกตั้งในอนาคตจึงเป็นภาพที่น่ากังวลพอสมควร

มีคำถามจากหลายคนที่สงสัยว่าคุณสมชัยถูกปลดจาก กกต. แต่อาจจะได้รับเข้าไปทำงานใหม่ในฐานะ เลขาธิการ กกต. หรือเปล่า

ผมเชื่อว่าการส่งสัญญาณไม่เอาผมเป็น กกต. เป็นสัญญาณที่แรงพอสมควรที่จะทำให้ กกต. ที่เหลือหรือกรรมการสรรหาไม่น่าจะให้ผมเข้าไปทำหน้าที่เป็นเลขาธิการได้ ฝ่ายผู้มีอำนาจเขาไม่ต้องการให้ผมอยู่ในองค์กรนี้ แล้วถ้าฝ่ายที่เป็น กกต. หรือกรรมการสรรหา เห็นต่างขึ้นมามันก็อาจจะส่งผลต่อบุคคลเหล่านั้นด้วย แต่ผมก็ยังไม่ทราบว่ามันจะเดินไปถึงขั้นไหน กระบวนการสรรหาก็ยังต้องดำเนินต่อไป ผมยังอยู่ในบัญชีรายชื่อผู้สมัคร กระบวนการต่อจากนี้ก็จะมีการประกาศคุณสมบัติ อาจจะไม่ผ่านตั้งแต่ขั้นนี้ก็ได้ ถ้าผ่านขั้นนี้ไปก็อาจจะไปแพ้ในขั้นตอนของการแสดงวิสัยทัศน์ ซึ่งอาจจะเป็นไปได้ว่าท่านอื่นอาจมีวิสัยทัศน์ที่ดีกว่า อย่างเพิ่งไปกังวลว่าผมจะได้หรือไม่ได้ แต่ถ้าให้ผมทายโอกาสได้แทบจะไม่มีเลย

 

คุณสมชัยมองอนาคตของตัวเองต่อจากนี้อย่างไร เห็นคุณสมชัยบอกว่าอาจจะมา กกต. อีกครั้งช่วงที่มีการเรียกคุยพรรคการเมืองต่างๆ ในสถานะสมาชิกพรรค

ไม่สามารถทำได้หรอกครับ เพราะตอนนี้ผมไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคการเมือง และตอนนี้พรรคการเมืองยังไม่สามารถเปิดรับสมาชิกได้ ฉะนั้นผมเป็นสมาชิกคงไม่ได้ แต่ถ้าเขาให้ผมเป็นที่ปรึกษาผมไม่แน่ใจว่าจะเป็นได้หรือเปล่า แต่ผมคงไม่ได้มาหรอก ผมก็พูดไปอย่างนั้นเอง

ส่วนเรื่องที่ว่าจะทำอะไร ผมคิดว่า ถ้าจังหวะชีวิตอยากจะมีประมาณ 3 ช่วงจากนี้ไป ช่วงที่ 1 อาจจะเป็นช่วงของการทำงานในช่องทางที่เปิดโอกาสให้เราทำไห้ชั่วคราวก่อน เพราะการที่ผมได้รับเกียรติจากมาตรา 44 จากผู้มีอำนาจสูงสุดในบ้านให้พ้นจากตำแหน่งน่าจะเป็นของร้อน คำว่าเป็นของร้อนคือ ถ้าไปสมัครงานในช่องทางปกติต่างๆ มันก็จะนำไปสู่การถูกเพ่งเล็งเป็นพิเศษ ฉะนั้นผมคงไม่เอาตัวเองไปสร้างความเดือดร้อนให้กับใคร ฉะนั้นงานในช่วงแรกผมคงทำงานในกลุ่มองค์กรที่ไม่กังวลใจในเรื่องของการที่จะมีอิทธิพลของรัฐมาเกี่ยวข้องกับการทำงาน

ช่วงแรกที่สุดของการทำงานก็อาจจะเป็นสื่อมวลชน ในสื่อที่อาจจะไม่เกรงกลัวอำนาจรัฐมากนัก ต่อจากนี้หากคุณเห็นผมในสื่อใด สื่อหนึ่งในช่วงแรกอยากได้คิดว่าผมเป็นพวกเขา ผมคิดว่าจุดยืนในการนำเสนอของผมไม่ได้เอียงหรือเข้าข้างฝ่ายที่เป็นเจ้าของสื่อ ซึ่งผมจะเสนอข้อมูลข้อเท็จจริงอย่างตรงไปตรงมาโดยไม่ได้เข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง อย่าไปใส่ให้ผมเป็นสีเหลือง สีแดง สีฟ้า หรือสีเขียว ผมไม่เคยมีสีใดทั้งสิ้น

ช่วงที่สองหลังจากที่สถานการณ์ผ่อนคลายลง กระแสข่าวลดลง ของร้อนกลายเป็นของเย็นมากขึ้น ผมก็อาจจะไปประกอบอาชีพในวิชาชีพที่ผมเคยทำมาคือ เป็นนักวิชาการ หรืออาจจะบริหารงานวิชาการในมหาวิทยาลัยของรัฐหรือเอกชนที่ใดที่หนึ่ง ที่เขาสามารถที่จะรับเราเข้าไปทำงาน เพราะเรามีประสบการณ์ และคุณวุฒิในการบริหารงานมหาวิทยาลัยพอสมควร การเข้าไปทำงานในช่วงที่สองจะเป็นช่วงที่จริงจัง ทำงานในเชิงทำให้เกิดความก้าวหน้าให้กับองค์กรเขา ซึ่งผมเคยเข้าไปทำให้ในหลายๆ ที่แล้ว

ส่วนช่วงที่สาม เป็นเรื่องของการทำตัวให้เป็นประโยชน์ต่อสังคม นั่นคือเราไม่มีปัญหาทางด้านรายได้ สามารถที่จะอยู่ได้พอสมควรแล้ว การคิดในการที่จะทำประโยชน์ให้สังคมก็ต้องมาดูว่าเราสามารถทำอะไรได้บ้าง อาจจะเป็นอาสาสมัคร หรือทำงานองค์กรเอกชน หรืออาจจะร่วมกิจกรรมในทางการเมือง ซึ่งเป็นเรื่องที่ค่อยคิดและตัดสินใจอีกทีหนึ่งว่าจะทำอะไรได้

กรณีที่เกิดขึ้นคุณสมชัยมีความต้องการยื่นฟ้องศาลหรือไม่

ไม่มี ผมพอใจที่ไม่ได้ทำงาน กกต. คือถ้าผมเป็นตัวจริงผมพร้อมจะทำงาน แต่ถ้าต้องทำงานเพื่อรอคนใหม่มา ผมพร้อมออกตั้งนานแล้ว ถ้าเป็นตัวจริงผมทำงานเต็มที่ แต่ถ้าเป็นคนที่อยู่ไปเรื่อยๆ มันไม่มีอนาคตเพราะเขาจะมาเมื่อไหร่ไม่รู้ ต้องเก็บของไม่รู้กี่รอบ สมัครงานใหม่ก็ไม่ได้ ไปสมัครเขาก็ถามว่าคุณจะมาเมื่อไหร่ คำตอบคือไม่รู้ แล้วใครเขาจะเก็บตำแหน่งไว้ให้คุณ

หรือถ้าอยู่ไปเรื่อยๆ จนถึงช่วงที่มีการเตรียมการเลือกตั้ง การสั่งการ การให้ความร่วมมือจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมันน้อยกว่าปกติ คุณสั่ง 10 คุณได้ 5 มันเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริง การอยู่ตรงนี้แม้จะเป็นการอยู่เพื่อปฎิบัติหน้าที่มันไม่ได้เกิดประโยชน์ต่อชาติบ้านเมืองมากเท่าไหร่ และตอนนี้มีแนวโน้มว่าอาจจะหา กกต. ใหม่ไม่ทัน เท่ากับว่าก็ต้องอยู่ไปเรื่อยๆ อาจจะต้องจัดการเลือกตั้ง คำถามคือเราสบายใจต่อการจัดการเลือกตั้งในฐานะที่เป็นคนที่ไม่ใช่ตัวจริงไหม คำตอบคือเราไม่สบายใจ หากเราจัดแบบเอาหูไปนาเอาตาไปไร่จัดการเลือกตั้งให้มันเสร็จไปมันก็ทำได้ แต่ถ้าเราจะทำให้มันเกิดความยุติธรรมก็ต้องทำอย่างเต็มที่ ต้องปราบปรามการทุจริต ต้องให้ใบเหลือง ใบแดง ใครต่อใคร ถามว่าคดีความที่จะตามหลังจากเราพ้นตำแหน่งหน้าที่เรารับไหวไหม คำตอบคือเรารับไม่ไหว

สมมติว่าผมจัดเลือกตั้งเสร็จแล้วต้องพ้นตำแหน่งในเดือนถัดไป แล้วคดีความที่เกิดขึ้นหลังจากนั้น หากผมต้องไปขึ้นศาลเชียงใหม่ ศาลนราธิวาส ต้องศาลยโสธร อะไรก็แล้วแต่ทั่วประเทศ เงินใครละครับ มันก็เงินเราไม่มีใครจะมาช่วยเราในเรื่องการออกค่าเดินทาง ค่าที่พัก และก็คงไม่มีบุคคลที่เป็นฝ่ายกฎหมายของคณะกรรมการ กกต. ที่จะมาช่วยร่างเอกสารต่างๆ เราก็ต้องทำเองหมด ก็อย่างที่บอกวันนี้ผมก็สบายใจที่ได้ออกมา ออกก็ออก

ก่อนหน้าที่คุณสมชัยให้สัมภาษณ์ว่า ถ้ายังอยู่ กกต. จะไม่มีใครสามารถสั่งได้ นั่นแปลว่ามีความพยายามที่จะสั่ง ?

ที่ผ่านมาไม่มีใครสั่งผมนะ เพราะเขารู้ดีว่าเขาสั่งผมไม่ได้ ส่วนเรื่องอื่นๆ ผมคิดว่า ก็ดูจะผิดมารยาทมาเกินไปถ้าไปพูดถึงเบื้องหลังการถ่ายทำต่างๆ สรุปง่ายๆ ว่าสั่งไม่ได้ก็แล้วกัน

คิดว่าการที่ คสช. ถอดคุณสมชัยออก ถือเป็นการสร้างรอยด่างให้กับการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นหรือไม่

อันนี้ผมไม่รู้ และผมก็ไม่ได้มีหน้าที่รับผิดชอบกับรอยด่างที่ว่านั่นแล้ว

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net