พรเพชร บอกนายกฯ ไม่ได้ส่งคืน พ.ร.ป. ส.ส. ชี้ สนช. มีสิทธิยื่นศาลตีความหากยังไม่นำขึ้นทูลเกล้าฯ

ประธาน สนช. ปัดข่าว นายกฯ ส่งคืนร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. เพื่อส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ชี้นายก และ สนช. ยังมีสิทธิยื่นขอคำวินิจฉัยจากศาลรัฐธรรมนูญ ตราบที่ยังไม่ได้นำร่างกฎหมายขึ้นทูลเกล้าฯ

หลังจากมีกระแสข่าวว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีความเห็นและส่งร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกชิกสภาผ้แทนราษฎร (ส.ส.) กลับไปยังสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อให้ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่

ล่าสุดวันที่ 27 มี.ค. 2561 พรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ได้ส่งคืนร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. กลับมายังสนช.ตามที่เป็นข่าว ขณะนี้ร่างกฎหมายดังกล่าวยังอยู่ที่นายกรัฐมนตรี จึงเป็นอำนาจนายกรัฐมนตรีที่จะตัดสินใจ 

“ผมไปประชุม คสช. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายกรัฐมนตรีได้ซักถามถึงร่างกฎหมายดังกล่าว จึงอธิบายให้ทราบถึงเหตุผลว่าเหตุใดจึงไม่ได้ยื่นตีความร่างกฎหมาย ส.ส. แต่ยื่นตีความเฉพาะร่างพ.ร.ป.ที่มาของสมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.) ซึ่งส่วนตัวผมเห็นว่าตามกระบวนการกฎหมายแล้วผู้ที่มีสิทธิ์ยื่นตีความคือ นายกรัฐมนตรีและ สนช. ซึ่งตราบใดที่นายกรัฐมนตรียังไม่นำร่างกฎหมายขึ้นทูลเกล้าฯ สนช.ก็มีสิทธิ์ที่จะส่งตีความได้ โดยนายกรัฐมนตรีมีเวลา 25 วัน(5+20 วัน) แต่ขณะนี้ยังไม่ได้รับเรื่องว่า สนช.จะยื่นตีความ” ประธานสนช. กล่าว

ด้านนัฑ ผาสุข เลขาธิการวุฒิสภา กล่าวว่า ขณะนี้ถือว่าเลยขั้นตอนของ สนช.ไปแล้ว เพราะส่งร่างกฎหมายให้นายกรัฐมนตรีแล้ว ซึ่งนายกรัฐมนตรีจะส่งกลับมาได้จะต้องมีเหตุว่าเป็นประเด็นอะไรจึงส่งกลับมา แต่ขณะนี้ยังไม่ได้รับร่างกฎหมายดังกล่าว และโดยปกติแล้วหากจะส่งร่างกฎหมายให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความจะต้องส่งก่อนที่จะยื่นให้นายกรัฐมนตรี

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ประเด็นที่ยังเป็นข้อถกเถียงกันระหว่าง กรธ. และ สนช. ในกฎหมายดังกล่าวมี 2 ประเด็น ซึ่งมีชัย ฤชุพันธุ์ได้ทำความเห็นไว้คือ 1.มาตรา 35 เรื่องการตัดสิทธิการเป็นข้าราชการการเมืองหากไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง เนื่องจากจากเห็นว่าการที่บุคคลจะเข้าไปรับตำแหน่งข้าราชการการเมืองนั้นถือเป็น เสรีภาพ ไม่ใช่ สิทธิ จึงมีความกังวลว่าจะเป็นการเขียนกฎหมายลูกเกินขอบเขตการจำกัดสิทธิตามมาตรา 95 ในรัฐธรรมนูญ 2560 และ 2.การให้บุคคลอื่น หรือกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งช่วยลงคะแนนแทนผู้พิการได้  และให้ถือว่าเป็นการออกเสียงโดยตรง และเป็นการลับ มีความกังวลว่าจะขัดต่อมาตรา 85 ของรัฐธรรมนูญ ที่กำหนดให้การออกเสียงเลือกตั้ง ส.ส. นั้นเป็นการลงคะแนนเสียงจากผู้มีสิทธิเลือกตั้งโดยตรงและลับ  การกำหนดให้บุคคลอื่นสามารถช่วยออกเสียงแทนผู้พิการได้จะทำให้การออกเสียงไม่เป็นไปโดยตรงและลับอีกต่อไป อีกทั้งศาลรัฐธรรมนูญเคยมีคำวินิจฉัยที่ 9/2549 ที่ระบุหลักการว่าการออกเสียงเลือกตั้งโดยลับจะต้องไม่ให้มีผู้ใดทราบว่าผู้ลงคะแนตัดสินใจเลือกใคร

 

เรียบเรียงจาก : สำนักข่าวไทย , มติชนออนไลน์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท