Skip to main content
sharethis

ศาลจังหวัดพระโขนงอ่านคำพิพากษาคดีแพ่งให้ 'อานดี้ ฮอลล์' จ่ายค่าเสียหายให้ บ.สับปะรดกระป๋อง 10 ล้าน จากกรณีให้สัมภาษณ์อัลจาซีรา ปี 56 ต้นสังกัดชี้เป็นการปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงออก

(แฟ้มภาพ: 29 ต.ค. 57)

27 มี.ค.2561 รายงานข่าวระบุว่า เมื่อวันที่ 26 มี.ค.ที่ผ่านมา ศาลจังหวัดพระโขนงได้อ่านคำพิพากษาคดีแพ่ง ระหว่าง บริษัท เนเชอรัล ฟรุต จำกัด โจทก์  ซึ่งเป็นผู้ส่งออกสับปะรดกระป๋อง ใน จ.ประจวบคีรีขันธ์ กับ อานดี้ ฮอลล์ จำเลย นักสิทธิแรงงานข้ามชาติชาวอังกฤษและนักวิจัยองค์กรฟินน์วอทช์ ทำผิดฐานละเมิดโจทก์โดยการกล่าวและไขข่าวแพร่หลาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 จากกรณีที่ อานดี้ ที่ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวอัลจาซีราเมื่อเดือน เม.ย. 2556

โดย ศาลตัดสินให้แอนดี้จ่ายค่าเสียหายให้กับทางโจทก์ 10 ล้านบาท นอกจากนั้นต้องเสียเงินค่าทนายโจทก์และค่าธรรมเนียมศาลอีก 10,000 บาท บวกดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 

NSP LEGAL Office ยังรายงานเพิ่มเติมด้วยว่า ทีมทนายความ เตรียมยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาต่อไป

ซอนญา วาร์เทียร์ลา ผู้อำนวยการบริหารของฟินน์วอทช์ องค์กรที่แอนดี้สังกัดขณะทำรายงานเปิดโปงการละเมิดสิทธิมนุษยชนของแรงงานโดยบริษัทเนเชอรัล ฟรุต กล่าวว่าคำตัดสินเช่นว่าเป็นสิ่งที่น่าตกใจและเป็นอุปสรรคต่อการเปิดโปงปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน

“คำตัดสินนี้ปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงออกไม่ให้มีการเปิดโปงการละเมิดสิทธิมนุษยชน” ผู้อำนวยการบริหารของฟินน์วอทช์ กล่าว

“กระบวนการยุติธรรมของไทยยังคงถูกใช้ปิดปากนักปกป้องสิทธิมนุษยชนด้วยการฟ้องร้องแบบไม่มีที่สิ้นสุด ซึ่งเป็นวิธีป้องกันข้อวิพากษ์วิจารณ์ต่อบริษัทได้อย่างมีประสิทธิภาพ” ซอนญา กล่าว

แต่เดิมศาลจังหวัดพระโขนงได้ยกฟ้องคดีดังกล่าว โดยให้เหตุผลว่าศาลไม่มีอำนาจทางกฎหมายที่จะพิจารณาคดี แต่เนเชอรัล ฟรุต ได้ยื่นอุทธรณ์ และศาลอุทธรณ์ได้มีคำสั่งให้ศาลจังหวัดพระโขนงดำเนินคดีจนสุดกระบวนการ

อานดี้ได้ทวีตบนทวิตเตอร์ส่วนตัวเกี่ยวกับคำตัดสินว่า

เพิ่งได้รับทราบจากทีมกฎหมายที่เมืองไทยเกี่ยวกับคำตัดสินของศาลจังหวัดพระโขนง ที่สั่งให้ผมต้องจ่ายเงินมากกว่า 10 ล้านบาท เป็นค่าเสียหายให้กับบริษัทเนเชอรัล ฟรุต ผมเคารพคำตัดสินของศาล แต่ก็ไม่เห็นด้วยอย่างมากและได้ให้ทีมกฎหมายของผมยื่นอุทธรณ์ผลการตัดสินที่น่าตื่นตระหนกนี้ ตัวผมเองผิดหวัง เพราะไม่คิดว่าคำตัดสินจะออกมาเป็นแบบนี้ คำตัดสินเช่นนี้สร้างความถดถอยให้กับเหล่านักปกป้องสิทธิมนุษยชน นักวิจัย นักกิจกรรมด้านแรงงานข้ามชาติ แรงงานและการย้ายถิ่น รวมถึงเป็นการกลบภาพพัฒนาการของรัฐบาลไทยและภาคอุตสาหกรรมไทยที่ได้พัฒนาคุณภาพชีวิตของแรงงานข้ามชาติ

ผมมีความเชื่อมั่นว่าความเสียหายใดๆ ที่เกิดขึ้นกับชื่อเสียงและธุรกิจของบริษัทเนเชอรัลฟรุตจากงานวิจัยของฟินน์วอทช์ที่ผมมีส่วนเกี่ยวข้อง กรณีการปฏิบัติต่อแรงงานข้ามชาติของบริษัท เกิดจากตัวบริษัท และการสนองตอบต่องานวิจัยอย่างไร้เหตุผลของฝ่ายการจัดการ ที่เป็นสิ่งที่ไม่สอดคล้องกับแนวปฏิบัติแห่งสมัยใหม่เรื่องการรับผิดชอบต่อสังคมของบริษัท (CSR)

ในฐานะคนที่อุทิศชีวิตในการปกป้องสิทธิของแรงงานข้ามชาติโดยไม่ได้หวังผลตอบแทน ถึงแม้ตัวผมเองจะไม่ได้ประพฤติตัวอย่างเหมาะสมในหลายครั้ง ผมถือว่าคำตัดสินนี้เป็นข้อท้าทายในการทีี่ผมจะหาเงินมาเป็นค่าใช้จ่ายเพื่ออุทธรณ์คำตัดสินของศาลที่ออกมา ผมจะพูดคุยกับบรรดาบรรษัทนานาชาติ รวมถึงองค์กรต่างๆ และหุ้นส่วนสำคัญของพวกเขาที่คอยสนับสนุนผมอย่างแข็งขันมาตลอด เพื่อขอแรงสนับสนุนทางการเงินมาใช้ในการอุทธรณ์ ทั้งนี้ ผมต้องขอขอบคุณฟินน์วอทช์ ทีมกฎหมายของผมและผู้สนับสนุนที่คอยช่วยเหลือกันมาอย่างต่อเนื่อง

สำหรับ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 ระบุว่า ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำต่อบุคคลอื่น โดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่า ผู้นั้นทำละเมิด จำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net